212 นึกถึงกิจกรรมหลัง 14 ตุลา


ช่วงหลัง 14 ตุลาเราตั้งพรรคขึ้นในมหาวิทยาลัยส่งทีมงานชิงตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษา และก็ได้รับเลือก กิจกรรมหนึ่งที่เราทำคือจัดค่ายจรขึ้นในพื้นที่ อ. แม่ทา จ. ลำปาง เป็นหมู่บ้านชนบทที่ห่างจากตัวอำเภอไปไม่ไกลมากนัก  

ผู้สนใจส่วนใหญ่เป็นเพื่อนๆ น้องๆฝั่งสวนดอก ไม่ว่าคณะแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ เภสัช มีคณะสังคม มนุษย์ วิทยาศาสตร์ เกษตร และศึกษาบ้าง รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 กว่าคน เราไม่ได้ไปก่อสร้างถาวรวัตถุอะไร แต่เราจะสร้างคน โดยเราไปพักที่โรงเรียนใหม่แห่งหนึ่งในหมู่บ้าน ที่ติดกับป่าเห้ว (ป่าช้า) ห้องน้ำก็ไม่มี ผู้ชายต้องปีนรั้วข้ามไปเอาฝาโลงศพที่เขาทิ้งในป่าเห้วมาประกอบเป็นห้องส้วมแบบง่ายๆ ไม่มีไฟฟ้าเราใช้เทียนและตะเกียง เวลาจะไปห้องน้ำทีก็ยกโขยงกันไปเป็นกำลังใจ อิ อิ 

รูปแบบค่ายเน้นการศึกษาชนบท โดยจัดแบ่งชาวค่ายออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 4-5 คน ผสมกันทั้งชายและหญิง  ก่อนไปเราตกลงกันว่าให้ทุกกลุ่มออกไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แล้วกลับมาพบกันที่โรงเรียนแห่งนี้ มาคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน 

กลุ่มเรามีน้องพยาบาลผู้หญิงไปด้วย 1 คน เราเดินตั้งแต่สายวันนั้นจนเกือบค่ำ ต่างก็เหนื่อยอ่อนเพราะคิดไม่ตกว่าจะไปนอนที่ไหนกัน ระหว่างทางที่เราเดินไปเราสังเกตว่ามีเสียงดังเหมือนกบไฟฟ้าใสไม้ เมื่อเราเดินเข้าใกล้เสียงเหล่านั้นก็หยุดเงียบหมดอย่างผิดสังเกต เราบอกทุกคนหยุดปรึกษากันก่อนว่าจะเอาอย่างไรดีค่ำคืนนี้ บางคนเสนอไปพักวัด บางคนเสนอไปบ้านผู้ใหญ่บ้าน และบางคนบอกย้อนกลับไปนอนที่โรงเรียน 

ไม่มีข้อสรุป ขณะนั้นมีเกวียนบรรทุกอ้อยมาเต็มและจอดลงใกล้ๆ ผู้อยู่บนเกวียนบังคับวัวเทียมเกวียนมานั้นเป็นสตรี ผมจึงออกไปคุยด้วยพร้อมกับถามว่าตัดอ้อยเอามาทำอะไร เอามาจากไหน ปลูกเมื่อไหร่ ปลูกกี่ไร่ มีแรงงานกี่คน ค่าจ้างเท่าไหร่ น้ำท่าดีไหม ฯลฯ ขณะที่เราตั้งคำถามเราก็ช่วยเขาขนอ้อยลงจากเกวียน เพื่อนๆ น้องๆเห็นต่างก็มาช่วยกัน พร้อมกับแนะนำตัวว่า เราเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปิดเทอมเลยออกเยี่ยมชนบท 

เมื่อเจ้าของเกวียนทราบเช่นนั้น และจากพฤติกรรม สีหน้าที่เราแสดงออก เธอก็ออกปากถามว่าแล้วจะไปนอนที่ไหนกันคืนนี้  เราบอกยังไม่มีที่นอน แค่นั้นเอง เธอก็ชวนทั้งหมดไปนอนที่บ้านเธอ ทีมเราดีใจกันว่าคืนนี้มีที่นอนแล้วเรา ตกค่ำ หลังจากอาบน้ำเสร็จไม่รู้ว่าใครต่อใครมากับเต็มบ้านไปหมด หลังจากคุยกันจึงทราบว่า ชาวบ้านเขาอยากรู้จักว่าคนแปลกหน้าเป็นใครมาเดินในหมู่บ้าน เมื่อทราบต่างก็โล่งอก เพราะ บ้านนี้ทำไม้เถื่อน โดยเอาท่อนไม้สักบ้าง ตอไม้สักบ้างมากลึงทำลูกกรงขายบ้าง ทำเป็นของใช้ต่างๆบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเขานึกว่าเราคือสายตำรวจมาสืบ... 

วันต่อๆมาเราเดินไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ตอนค่ำเราเห็น พิธีลงข่วง ของท้องถิ่น คือ ลูกสาวเกือบทุกบ้านจะเอาเสื่อมาปูที่ลานดินหน้าบ้านมีตะเกียง เอาเครื่องแยกเมล็ดฝ้ายมาทำการแยกฝ้ายที่เรียกว่า อีดฝ้าย เราเห็นเด็กวัยรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ เดินมาเป็นกลุ่มเล็กบ้างใหญ่บ้างมานั่งลงคุยกับสาวหน้าบ้านนั้น เป็นทำนองเกี้ยวสาว พูดจาหยอกล้อกัน เอาผลไม้ เอาน้ำมาสู่กันกิน เสียงหัวเราต่อกระซิกกัน ส่วนพ่อแม่ก็นั่งจุดตะเกียงอยู่บนบ้าน นานเข้าก็กระแอมเสียทีหนึ่ง นัยว่ามีพ่อแม่นั่งฟังหนุ่มสาวคุยกันอยู่นะ 

เด็กหนุ่มกลุ่มใหม่เดินมา กลุ่มเดิมก็ลุกจากไปบ้านอื่นๆต่อ ไม่เห็นมีตีกัน ไม่เห็นมีทะเลาะแย่งสาวกัน ไม่เห็นฉุดพรากอนาจารกัน กลุ่มเราบางคนก็เดินไปคุยกับสาวบ้าง บ้างก็ขึ้นบนเรือนไปคุยกันพ่อแม่  เมื่อครบวันที่ เจ็ด เราก็เดินทางกลับไปที่โรงเรียนรวมกลุ่มกัน ต่างมีเรื่องราวมาคุยเก ทับกันสนุกสนานว่าพบสิ่งนั้นสิ่งนี้

เราใช้เวลาที่โรงเรียนนั้นอีก 2 วันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเข้าเยี่ยมลาผู้นำท้องถิ่น เราทราบว่าวันนี้จะมีการเอาศพสาวตายทั้งกลม มาทำตามประเพณีที่ป่าเห้วข้างโรงเรียนที่พักเรานี้  พวกเราตื่นเต้น ทั้งกลัวทั้งอยากดูประเพณีท้องถิ่น  เมื่อพิธีแห่ศพมาเรารวมกลุ่มกันไปดูประเพณีโดยเฉพาะเพื่อนๆที่เป็น แพทย์ พยาบาล ต่างบอกว่า โชคดีนี่เป็นกรณีศึกษา  บ่ายวันนั้นแดดจัดมาก เราไปคอยที่ป่าช้าอยู่แล้ว และสัปเหร่อมาเตรียมสถานที่ไว้หมดแล้วพร้อมจะรับศพ 

เราเห็นซุ้มทางผ่านเขาเอาใบมะพร้าวมาทำเป็นครึ่งวงกลม ทุกคนต้องผ่านประตูนี้เท่านั้น เราเห็นถังน้ำส้มป่อยวางอยู่ข้างๆประตูใบมะพร้าวนั้น มีน้ำเต็มสำหรับล้างหน้าก่อนเดินออกจากประตูนั้นกลับบ้านและห้ามเหลียวหลังมามองกองฟอนเผาศพอีก เมื่อศพมาถึงสัปเหร่อเอาศพออกจากโลง แล้วทำพิธีทางไสยศาสตร์ท้องถิ่น คือเอาตะปูหมอ(สัปเหร่อ)มาตอกที่มือสองข้าง ตอกที่หน้าผาก บอกว่าเป็นการสกัดจุดมิให้วิญญาณออกไปอาละวาด แล้วหมอก็ทำพิธีเอาเคียวหมอผ่าท้องศพเอาเด็กในท้องออกมา เขาบอกว่าต้องแยกแม่แยกลูก เอาลูกฝัง แต่เอาแม่เผา.....ฯลฯ ผมยืนดูไม่เท่าไหร่ก็เป็นลมล้มพับตรงนั้นเอง เดือดร้อนน้องหมอหิ้วมานอนดมยาดมที่โรงเรียน 

คืนนั้นเรามานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ท่ามกลางกลิ่นกองฟอน นี่คือกิจกรรมบางส่วนของนักศึกษาสมัย หลัง 14 ตุลา เราทำเช่นนี้หลายรุ่น เปลี่ยนสถานที่ไปกัน เราพบว่า นักศึกษาที่ก่อนและหลังเข้าค่ายจรนั้นมีทัศนคติต่อชนบท ต่อสังคม ต่อการทำหน้าที่ของตนเองเปลี่ยนไป หลายคนบอกว่า เขาไม่เคยเข้าใจชนบทมาก่อนเลยว่ามีวิถีชีวิตจริงอย่างไร ฯลฯ และเขาบอกว่า เราจะจบออกไปรับใช้สังคมตามบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพแต่ละคนอย่างเข้าใจ 

เราคุยกันยาวนาน ยันสว่าง แต่ปรากฏว่าคืนนั้นไม่มีใครเข้าห้องน้ำเลยครับ....  

14 ตุลาปีนี้ที่ผ่านมา คิดถึงเพื่อนค่ายจรครั้งนั้นๆ….

เป็นอย่างไรกันบ้างเพื่อนรัก

คำสำคัญ (Tags): #14 ตุลา#ค่ายจร
หมายเลขบันทึก: 139199เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

วันต่อๆมาเราเดินไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ตอนค่ำเราเห็น พิธีลงข่วง ของท้องถิ่น คือ ลูกสาวเกือบทุกบ้านจะเอาเสื่อมาปูที่ลานดินหน้าบ้านมีตะเกียง เอาเครื่องแยกเมล็ดฝ้ายมาทำการแยกฝ้ายที่เรียกว่า อีดฝ้าย เราเห็นเด็กวัยรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ เดินมาเป็นกลุ่มเล็กบ้างใหญ่บ้างมานั่งลงคุยกับสาวหน้าบ้านนั้น เป็นทำนองเกี้ยวสาว พูดจาหยอกล้อกัน เอาผลไม้ เอาน้ำมาสู่กันกิน เสียงหัวเราต่อกระซิกกัน ส่วนพ่อแม่ก็นั่งจุดตะเกียงอยู่บนบ้าน นานเข้าก็กระแอมเสียทีหนึ่ง นัยว่ามีพ่อแม่นั่งฟังหนุ่มสาวคุยกันอยู่นะ 

เอามาแลกเปลี่ยนด้วยครับ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดโพธาราม จังหวัดมหาสารคามครับ ประกอบเรื่องเล่าตอนนี้ได้ดีมาก ๆ ออตชอบรูปนี้มากครับ

  • น้องออต  โห ทำไมมันเข้ากันดีแท้เลย
  • ขอบคุณมาก มากครับที่เอารูปมาประกอบให้เห็นภาพวิถีไทยโบราณที่หาดูยากแล้ว
  • เพราะไอ้หนุ่ม อีสาวไม่อยู่บ้านอีกต่อไปแล้ว
  • เราไม่เห็น ภาพเช่นนี้ในชีวิตจริงอีกต่อไปแล้ว นอกจากการสาธิตตามการแสดงใหญ่ๆ หรือภาพฝาผนังอย่างที่ออตกรุณาเอามาให้ชม
  • เด็กรุ่นหลังนึกไม่ออกว่าวิถีแต่เก่าเขามี "ระยะห่าง" ระหว่างชายหญิงอย่างไร เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สัมผัสมารยาทที่ชายมีต่อหญิงสาว และสาวที่มีต่อชายหนุ่ม ต่างอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
  • วิถีชีวิตที่มีคุณค่าแบบนั้นจะเอาเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ได้อย่างไร
  • ออต พี่นึกถึงรูปแบบนี้ที่ออตมีอยู่ทั้งหมด มาจัดชุดวิถีชีวิตแล้วเอาไปทำเป็น VDO หรือสื่ออื่นๆพร้อมคำอธิบาย หรือแบบไหนก็ได้ ให้คนรุ่นใหม่ได้ชม เรียนรู้ แลกเปลี่ยน ฯลฯ
  • โอ้ คิดไป ก็มีงานมากมายที่ควรทำนะ ออตนะ
  • ขอบคุณครับ ออต
  • สิ่งที่ท่านทำตอนเป็นนักศึกษา คือหัวใจของอุดมศึกษา เพราะศึกษาที่มีอุดมการณ์
  • สถาบันไหนไม่เอาอุดมการณ์มาเรียนมำออกแบบในเชิงการเรียนการสอน จะแห้งเหี่ยว ไม่ดูดำดูดีสังคม
  • ไม่เข้าใจว่ากิจกรรมนักศึกษาแบบนี้หายไปไหน
  • อุดมศึกษากำลังทำอะไรกันอยู่
  • เป็นเนื้อหาที่สมบูรณ์แบบมาก แม้แต่การจะจัดประชุม สมศ ต้นเดือนหน้า ก็หาได้มีเรื่องอย่างนี้ไม่ แม้แต่ระดับนโยบายก็เข้าไม่ถึง กรรมแท้ๆๆ

ท่านครูบาครับ

  • ผมเองก็คิดอยู่ว่ากิจกรรมแบบนี้มันหายไปไหนหมด
  • แม้แต่การฝึกงานของนักศึกษาถือเป็นเรื่องบังคับ ออกชนบทเหมือนถูกบังคับมา เอาแต่โทรศัพท์ถึงใครก็ไม่รู้
  • ท่านครับอยากทำอะไรต่ออะไรตั้งเยอะแยะไปหมดนะครับท่าน

เป็นกิจกรรมที่อ่านแล้ว...?ไม่เข้าใจเท่าไหร่สงสัยสมัยนกกับพี่มันคงต่าง กัน .....ฮิฮิฮิ

  • สานต่อแล้วนะครับ
  • ความฝันเล็ก ๆที่ปลายทางครับ
  • แต่จะเดิน แม้บทบาทเล็ก ๆในเทอมสั้น ๆ
  • ที่นี่ครับ http://gotoknow.org/blog/thaiphon/139605

บันทึกนี้เป็นเหตุการณ์(ประวัติศาสตร์ ) และเป็น อุดมการณ์ อย่างที่ครูบาพูดจริง ๆ ครับ ผมคิดประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน

           เราศึกษาความรู้  แต่ไม่ศึกษาชีวิต

           เราศึกษาเหตุการณ์  แต่ไม่สนอุดมการณ์

           เรื่องภาพเขียนฝาผนังที่คุณออตนำมา มันเชื่อมโยงได้จริง ๆ ครับ  ที่อีสานยังมี คำพูดนี้อยู่นะครับ "ลงข่วง"  แต่วิธีการก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยอยู่บ้าง 

            ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ P 5. รัตน์ชนก

  • ขออภัยที่ตอบช้าเพราะไปร่วมชุมนุมศิษย์เก่า มช.มา 2-3 วันไม่ได้แตะคอมเลยครับ
  • ยุคสมัยมันต่างกันอย่างที่น้องว่าแหละครับ สมัยของพี่นั้นกระแสแสวงหาทางเลือกของนักศึกษามันสูงมาก บรรยากาศในมหาวิทยาลัยมีแต่ 2 ขั้วคือเที่ยวงานบอลล์ กับออกค่ายพัฒนาชนบท
  • การออกค่ายพัฒนาชนบทเป็นกระแสเรียกร้องให้นักศึกษาควรศึกษาเข้าใจชนบทและออกไปทำประโยชน์ให้ชนบทในรูปแบบต่างๆ สมัยนั้นคือการออกค่ายส้รางโน่นสร้างนี่ ช่วยชาวบ้านทำนั่นทำนี่ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาไปด้วย  แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เรามักเรียกกันว่ากลุ่ม activist ใหม่ คือเน้นการศึกษาทำความเข้าใจสังคมว่ามันเป็นอย่างไรมาอย่างไรจึงมาถึงวิกฤตสมัยนั้น (14 ตุลา)  
  • นักศึกษากลุ่มนี้จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มทำกิจกรรมเช่น ทำหนังสือพิมพ์อิสระในมหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นวิภาควิจารย์สิ่งที่ไม่ดีงามต่างๆของมหาวิทยาลัย ของนักศึกษา เลยออกไปถึงสังคมนอกมหาวิทยาลัย
  • นักศึกษากลุ่มเหล่านี้จะรวมตัวกันเสนอตัวเป็นตัวแทนนักศึกษาเข้าไปเป็นนายกองค์การนักศึกษา ปรับเปลี่ยนการทำกิจกรรมในรูปแบบใหม่ๆที่เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาและมหาวิทยาลัยและสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
  • นักศึกษากลุ่มนี้จะอ่านหนังสือ ตำราต่างๆกันเป็นกองๆ อ่านแล้วก็เอามาถกกัน อ่านแล้วก็เอามาตั้งวงเสวนากันว่าคนเขียนเสนอสิ่งนั้น เราคิดอย่างไร อ่านมากจริงๆ ตรงข้ามกับพวกเที่ยวงานบอลล์เขาอ่านเฉพาะหนังสือเรียนแล้วก้ไปเต้นงานบอลล์ตามคณะต่างๆจัดกัน สนุกลูกเดียว
  • นักศึกษากลุ่มนี้ บางครั้งก็เชิญนักพูดดังๆสมัยนั้นมาเปิดเวทีพูดคุยกัน อภิปรายกัน จัดบ่อยมาก เป็นการสร้างบรรยากาศให้ในมหาวิทยาลัยมีความคึกคักทางกิจกรรมเพื่อบ้านเมืองมากขึ้น
  • และในที่สุดกลุ่มของพี่คิดกันว่า มีเพื่อนๆที่ไม่เข้าใจชนบท และสนใจจะออกไปศึกษาชนบทกันตามเงื่อนไขของเราคือช่วงปิดเทอม เราก็คิดรูปแบบค่ายศึกษานี้ขึ้นมาเราเรียกค่ายจร เพราะจรยุทธไปเรื่อยๆ ออกหมู่บ้านนี้ไปหมู่บ้านโน้น ดังที่เล่ามา  สาระที่เขียนลงคือเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งที่ประทับใจในการจัดคราวนั้นและเอามาบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ผ่านหูผ่านตาบ้างว่า คนรุ่นก่อนๆเขาทำกันแบบนี้  คนรุ่นนี้คิดอะไร ทำอะไรกัน  จะทำให้ดีกว่ารุ่นก่อนๆได้อย่างไร
  • การลงไปแบบ เบอะ บะ ไม่มีอะไรในหัวมีเพียงเจตนาจะไปรู้จักคน วิถีชีวิต เห็นอะไรก็หยิบเอามาคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน สมัยนี้เรียก AAR สมัยนั้นเรียกการวิเคราะห์ร่วมกัน
  • สิ่งที่ได้คือ เพื่อนๆที่เรียน หมอ เภสัข ทันต เทคนิค พยาบาล ฯลฯ หลายคนเป็นลูกผู้ดีมีเงินจาดเมืองหลวง เมืองใหญ่ๆ ไม่เคยเข้าใจชนบทแบบที่ออกไปสัมผัสจริงๆ เขาก็เห็น เขาก็รู้ แม้ถึงวันนี้เขายังพูดถึงค่ายจรครั้งนั้นกันเลยว่าได้ทีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนมุมมองของชีวิตเขาต่อสังคม และมีส่วนสำคัญต่ออาชีพหมอที่เขาทำอยู่ในปัจจุบัน  แน่นอนครับบางท่านกลายเป็นหมอชนบทที่มีคุณค่าต่อชาวบ้านมากๆ พยาบาลบางท่านอุทิศตัวเพื่องานคนไข้ชนบทมากกว่าที่เคยเห็น
  • เราได้สิ่งเหล่านี้ครับ
  • ไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอน  ไม่มีการกำหนดไว้ในกระบวนการศึกษาในมหาวิทยาลัยครับ แต่พวกเราทำกันเอง
  • น่าสนใจมากครับน้องครับ 

สวัสดีน้องออต

  • ยอดเยี่ยมจริงๆ ต้องอย่างนี้ซี จึงจะเกิดการต่อยอด เอ้า เชียร์

สวัสดีครับน้อง P 7. mr. สุมิตรชัย คำเขาแดง 

  • ขออภัยนะครับน้องที่ตอบช้า พี่ไปร่วมชุมนุมศิษย์เก่ามาครับ
  •  พอดีครับรอบ 14 ตุลา พี่ก็เลยหยิบเอาเรื่องนี้มาเขียน เป็นความหลังที่ประทับใจเรื่องหนึ่ง และส่งผลดีต่อคนต่อสังคมครับ
  • ออตเอารูปมาใส่ มันลงตัวจริงๆครับน้องครับ
  • แล้วเจอะกันนะครับที่เฮฮาศาสตร์ 3 ดงหลวง
  • ตอนหนุ่มๆไปนอนที่ อ.แม่ทาบ่อย  แต่ไม่เคยผิดผีนะครับ   อิอิ  ลงข่วงไม่เคยเห็น  เป็นศิลปินเดี่ยวชอบบุกขึ้นบ้านไปนั่งคุยคนเดียว  ทางบ้านผมเรียกว่า ไปอู้สาวครับ 
  • แต่อยู่ที่ จ.ลำพูน นะครับ  ลงจากเขาขุนตานก็ถึง  สมัยโน้นต้องลอดถ้ำขุนตานไปครับ  ไม่แน่ใจว่าบางทรายจำผิดรึเปล่า ?  อิอิ 
  • อู้สาว กับ   แอ่วสาว คนละเรื่องนะครับ  อิอิ

เรียนคุณหมอคนชอบวิ่งครับ

  • หากผมสับสนเรื่องภาษาต้องขออภัยด้วยครับ
  • ขอบคุณครับที่มาช่วยแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกให้ถูกต้อง

คุณบู๊ท ครับ

AAR มันย่อมาจากอะไรนะ  ช่วยบอกเป็นวิทยาทานให้ด้วย  อยากรู้ครับ

ถ้าออกค่ายไปตามหมู่บ้านกันวันนี้จะได้เก็บภาพคนหนุ่มสาว กำลังเดินพูดอยู่คนเดียวกับอะไรน้าที่เขาเสียบเข้าไปในรูหู  หรือไม่ก็มีสายรุงรัง ทั้งเสียบหู ทั้งห้อยคอ  ในรูปแบบขอสื่อสารไร้พรมแดน  คุยแบบไม่อั้น  แต่ก็อย่างน้อยได้สัมผัสกับบรรยากาศของท้องทุ่งและป่าเขาได้บ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ ติดหูติดตา มาเป็นความทรงจำเล็ก ๆ ก็ยังดีครับ

ยอดเยี่ยมเลยเพื่อน "นิคม"

ขออภัยตอบช้าไป

AAR= After Action Review

BAR=Before Action Review

เป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการ KM=Knowledge Management  จริงๆเราใช้มานานแล้ว แต่ก่อนเราเรียกการประชุมเตรียมงานก่อนดำเนินงาน(BAR) และเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงานก็มานั่งสรุปบทเรียนหาจุดบกพร่องหาจุดที่จะทำให้ดีที่สุดในการดำเนินการครั้งต่อไป (AAR)

ดังนั้น หลังการจัดสัมมนา, ประชุม, workshop, ฝึกอบรม, ก็ควรทำ AAR และเช่นเดียวกันก่อนทำก็ควรทำ BAR

ศัพท์แสงมันมีใหม่ๆออกมาเรื่อยๆครับ จนตัวย่อเต็มไปหมดแล้ว 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท