285 เสือข้าวสุก...


...”ผมทำบาปมามาก ผมตัดไม้ทำลายป่ามามาก ผมไม่เชื่อว่าป่าจะหมด แต่มันหมดจริงๆ เมื่อผมมีชีวิตอยู่ ผมต้องล้างบาปด้วยการสร้างป่าชุมชน สร้างคนรุ่นใหม่”....

ปี 2539 ผมมีโอกาสเข้าร่วมงานกับองค์กร Save the Children (USA) ที่นครสวรรค์ ซึ่งมีกิจกรรมใหญ่ร่วมกับ มูลนิธิหนองขาหย่าง โดยมี สปก.เป็นแม่งาน ทำงานพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก DANCED (องค์กรความร่วมมือในการพัฒนาของประเทศเดนมาร์ค) เป็นงานพัฒนาชุมชนที่เน้นอนุรักษ์กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง ผมรับผิดชอบพื้นที่ชายป่า อ.แม่เปิน และแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีแนวเขตป่าห้วยขาแข้งมากกว่า 100 กม. มูลนิธิหนองขาหย่างรับผิดชอบพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานี     

ผมมีทีมงานมากกว่า 20 คน ที่ประจำอยู่ที่บ้านลาน อ.แม่เปิน คลุกคลีกับชาวบ้าน ซึ่ง 90 % เป็นพี่น้องชาวอีสานที่อพยพไปหาที่ทำกินใหม่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา สมัยหนึ่งพื้นที่แถบนั้นมีนายทุนบุกรุกเอาพื้นที่ชายป่ามาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วก็ขายถูกๆให้ชาวอีสาน    

จากการตระเวนไปประชุมตามหมู่บ้านต่างๆ ทำให้ผมรู้จัก ลุงฉ่ำ คุ้มครอง วัย 70 กว่าปี แต่แข็งแรง ผิดวัย ลุงฉ่ำให้ความสนใจเรื่องการออมทรัพย์มากพยายามสนับสนุนเพื่อนบ้านให้สนใจและร่วมกันตั้งกลุ่มขึ้น... 

วันหนึ่งผมนั่งอยู่ที่สำนักงานในหมู่บ้านนั่นเอง ลุงฉ่ำเดินมาหาผมแล้วคุยกัน... อาจารย์ผมมีเรื่องอยากปรึกษา.. ผมอยากทำป่าชุมชน เห็นอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ไปพูดหลายครั้งแล้ว ผมสนใจอยากจะทำ  ผมมีที่ดินที่มีสภาพป่าอยู่ อยากตั้งเป็นป่าชุมชนครับ... 

นักพัฒนาอย่างผมเมื่อได้ยินชาวบ้านพูดอย่างนี้.. หัวใจมันพองโต มีไม่บ่อยนักที่ชาวบ้านเดินมาหาแล้วบอกว่าอยากทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบนี้ ส่วนใหญ่มาเรื่องการทำมาหากิน หนี้สิน ผลผลิตขายไม่ได้ พืชเป็นโรคแมลง ฯลฯ.. ผมฟังลุงฉ่ำอยู่พักใหญ่ จึงชวนเพื่อนร่วมงานออกไปดูพื้นที่กัน   

บริเวณที่ลุงฉ่ำอยากทำป่าชุมชนนั้น ติดชายป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1,700 ไร่หากเราสามารถสนับสนุนพื้นที่แห่งนี้ และทุกๆจุดที่อยู่ชายขอบป่านี้ให้เป็นป่าชุมชนก็เท่ากับเราสร้างรั้วให้ป่าห้วยขาแข้งด้วย ผมมองเห็นหลักสำคัญนี้จึงสนับสนุนความปรารถนาของลุงฉ่ำเป็นล้นพ้น 

วันต่อมาผมไปคุยกับลุงฉ่ำเป็นการส่วนตัว เพื่ออยากทราบด้านลึกว่าเป็นใครมาจากไหน มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไมจึงมีแนวคิดนี้ขึ้นมาได้...    

 ------------------------

ผมเป็นคนลานสัก(จ.อุทัยธานี) อพยพกันมาตั้งแต่ปี 2500 โน้น... มากัน 20 กว่าคน ตรงนี้ป่าอุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำท่าบริบูรณ์ เรียกบ้านเขาหล่นเขาแหลม  ป่าทึบมองไม่เห็นแสงตะวัน... ลุงฉ่ำเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะป่าไม้สมัยนั้น ..เราตัดไม้ใหญ่ๆลงมามากมาย ก่ายกันจนเดินไม่ติดพื้นดิน เผาทิ้งไปเปล่าๆปลี้ๆแล้วเอาพื้นที่ปลูกข้าวโพด สมัยนั้นผมไม่เชื่อว่าป่าจะหมด ผมไม่เชื่อจริงๆ... ลุงฉ่ำยืนยันความรู้สึกเช่นนั้น  ...แต่มันก็หมดจริงๆ เพราะคนอพยพกันมากขึ้น ต่างก็ตัดโค่นไม้กันเหมือนดายหญ้า....  

แถบนี้ไม่ค่อยมีใครเข้ามา เพราะทึบน่ากลัว จะมีก็พวกโจร ที่เขาเรียก เสือ ที่ปล้น ฆ่าคนตายแล้วหนีตำรวจเข้ามา เสือดังๆทั้งนั้น ผมนับได้ถึง 11 คน มันก็มาหาผม มาขอข้าวกิน มาขอที่พัก ผมก็ให้มันกินให้มันพัก ไม่รู้จักกี่คนต่อกี่คน หลายคนก็ฆ่ากันเองตาย  ก็ผมอีกนั่นแหละที่ต้องไปเผามันทิ้งไป  มีบางคนมันสงสัยผมจะเป็นสายให้ตำรวจจะฆ่าผมก็มี แต่มันสำนึกในข้าวปลาที่ผมหาให้มันกิน.. นี่แหละต่อมาใครต่อใครก็เรียกผมว่า ลุงฉ่ำ..เสือข้าวสุก” (ข้าวสุกเป็นสำนวนภาคกลางที่เรียกข้าวที่หุงแล้ว พร้อมกิน ว่าข้าวสุก) ในที่สุดพวกเสือทั้งหลายก็ทยอยโดนตำรวจฆ่าตายจนหมดสิ้น... 

ลุงฉ่ำคิดอย่างไรจึงจะเอาที่ของลุงมาทำเป็นป่าชุมชน..ผมซัก ..ก็ผมมีที่ดินมาก  ผมมาอยู่ก่อนใครๆ ก็เอาที่ดินไว้มาก ลูกๆผมก็มีหลายคนผมก็แบ่งไปให้ทุกคนแล้วไม่เดือดร้อนอะไร ที่เหลือนี่ผมไม่ให้ใคร ผมจะเอาทำป่าชุมชน..ลุงฉ่ำขยายความ ..ก็ผมไม่คิดว่าป่าไม้มันจะหมด น้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์มันก็แห้งขอดลงทุกวัน ปลาปูที่เคยได้กินได้หา เดี๋ยวนี้หายากเต็มที ยิ่งคนอพยพมาอยู่มาก ของพวกนี้ก็หมดเร็วขึ้นเป็นทวีคูณ ผมเห็นว่าลูกหลานมันจะไม่ได้กินเห็ด ไม่ได้กินหน่อไม้แล้วในอนาคต  เข้าป่าใหญ่ก็ไม่ได้(หมายถึงป่าห้วยขาแข้ง) เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จับ  มันมีทางเดียวคือ ปิดป่าแห่งนี้ทำเป็นป่าชุมชนให้พืชพันธุ์ธรรมชาติมันฟื้นขึ้นมาแล้วค่อยให้ลูกหลานเข้าไปเก็บกิน แต่ห้ามหาเอาไปขาย... ลุงฉ่ำสาธยายแนวคิดให้ผมฟัง..  

ผมยกมือไหว้ลุงฉ่ำ แล้วพูดว่า ..สาธุ..ลุงฉ่ำคิดถูกแล้ว หากไม่ช่วยกันรักษาป่า อนุรักษ์ป่าไม้วันนี้ ลูกหลานก็ไม่เหลืออะไร เพื่อนบ้านใกล้ ไกลก็ไม่มีของป่ากิน อย่างที่เคยได้กิน  แม้ว่าป่าห้วยขาแข้งจะอุดมสมบูรณ์ เขาก็ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปทำมาหากินแล้ว ไม่ไกลจากตรงนี้ คุณสืบ นาคะเสถียร ท่านใช้ชีวิตท่านสังเวยการอนุรักษ์ป่าไม้ ลุงฉ่ำทราบดี ทำไมคนดีดีอย่างคุณสืบต้องลงทุนชีวิตเช่นนั้น.....

------------------------- 

เราคุยกันนาน และครั้งแล้วครั้งเล่าจนเข้าใจเจตนารมณ์ทั้งสองฝ่ายกันอย่างดี โครงการตั้งป่าชุมชนจึงเกิดขึ้น เราจัดงานบวชป่าชุมชน เชิญผู้ใหญ่ทางราชการมาร่วมพิธี รับรู้และสนับสนุน เราทำแนวเขตป่า ปลูกป่าเสริม ทำแนวกันไฟ ....ฯลฯ.....และมอบเงินกองทุนไว้ให้ก้อนหนึ่ง เพื่อให้คณะกรรมการป่าชุมชนใช้จ่ายในกิจกรรมดูแลรักษาป่า.. 

กิจกรรมป่าชุมชนเจิญงอกงามเร็วเกินคาด เพราะลุงฉ่ำ เสือข้าวสุก เป็นคนจริง ทำจริงและนำเพื่อนบ้านปกป้องป่าอย่างจริงจัง กฎกติกาถูกตั้งขึ้นอย่างเหมาะสมแล้วลุงก็ยังตระเวนไปพบชาวบ้านอื่นๆใกล้เคียง เล่าให้ฟังถึงการทำป่าชุมชนของลุง และเล่าถึงกติกา การใช้ประโยชน์จากป่า มิได้ห้ามเข้าไปหากิน แต่ห้ามเอาไปขาย และจะปิดป่าเป็นช่วงๆเพื่อให้ป่าฟื้นตัว      

ผมย้ายงานไปประจำกรุงเทพฯก่อนเข้าดงหลวง มุกดาหาร แต่ก็ติดตามข่าวคราวจากเพื่อนๆน้องๆที่เกาะติดพื้นที่อยู่ทราบว่า จากการตระเวนไปเช่นนั้นของลุงฉ่ำ และจากการที่เพื่อนบ้านคนอื่นๆแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมป่าชุมชนของลุง เห็นความสำเร็จ เห็นประโยชน์การตั้งป่าชุมชน เพียงไม่กี่ปี ชุมชนต่างๆที่ติดป่าห้วยขาแข้ง และบริเวณเขาแม่กระทู้ อ.แม่วงก์ก็ตั้งป่าชุมชนขึ้นตามกันมา จำนวน 19 ป่า และรวมเป็นเครือข่ายใหญ่ป่าชุมชนแม่วงก์ มีจำนวนพื้นที่ทั้งสิ้น 37,000 ไร่ โดยทีลุงฉ่ำ คุ้มครองเป็นประธานเครือข่าย  

สิบกว่าปีมาแล้วที่ลุงฉ่ำยังคงรับหน้าที่ดูแลป่าแห่งนี้ ลุงฉ่ำคิดว่างานนี้ต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่ด้วย จึงเอาพื้นที่ป่า 1 ไร่เป็นสถานที่ให้เยาวชนเข้าไปศึกษาทำวิจัยเรื่องทรัพยากรในป่ามีอะไรบ้าง ต้นไม้มีกี่ชนิด อะไรที่กินได้ อะไรที่เป็นสมุนไพร ..สัตว์มีกี่ชนิดอะไรบ้าง ธรรมชาติมันเกื้อกูลกันอย่างไร... พาเยาวชนไปศึกษาดูงานที่ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนรุ่นเก่าที่จะล้มหายตายจากไปในที่สุด... 

ผมเทิดทูนจิตสำนึกลุงฉ่ำที่หายากยิ่งในสังคมนี้ แม้ลุงฉ่ำเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แถมหลุดออกมาจากก้นบึ้งของป่าเขาที่เป็นแดนหลบลี้ของโจรผู้ร้ายในอดีต แต่ลุงฉ่ำคุ้มครองตระหนักในสิ่งที่คนใหญ่โตในสังคมนี้ป่าวประกาศว่าจงช่วยกันดูแลป่าไม้...  

...ผมทำบาปมามาก ผมตัดไม้ทำลายป่ามามาก ผมไม่เชื่อว่าป่าจะหมด  แต่มันหมดจริงๆ เมื่อผมมีชีวิตอยู่ ผมต้องล้างบาปด้วยการสร้างป่าชุมชน สร้างคนรุ่นใหม่....

ผมยังจำคำพูดนี้ของลุงฉ่ำ คุ้มครอง เสือข้าวสุก..ผู้เฒ่าที่ผู้มีจิตสำนึกสูงส่งเหลือเกิน.... 

เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมคิดถึงมากจริงๆ..

--------------------------

ข้อมูลบางส่วนจาก: วิทยาลัยการจัดการทางสังคม สำนักงานกรุงเทพฯ เลขที่ 97 ซอยพหลโยธิน 19/1 หมู่บ้านพหลโยธินกอล์ฟ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 0-2939-4577-8, 0-2939-4859 โทรสาร 0-2939-4860

หมายเลขบันทึก: 164616เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2008 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 02:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

นึกถึงคำโบราณที่กล่าวว่าคุณข้าวแดงแกงร้อน...การให้ที่พัก ให้น้ำ ให้อาหารทำให้คนที่เป็นเสือสมัยนั้นก็ยังละเว้นไม่เข่นฆ่า....แต่สมัยนี้..ถอนหายใจยาวเลยค่ะ

คุณลุงฉ่ำเยี่ยมยอดจังเลยนะคะ ใจถึง นักเลง คนจริง มุ่งมั่น..มีที่ไหนเลี้ยงข้าวน้ำให้คนที่เป็นเสือ..แล้วยังยกที่ดินตั้ง 1,700 ไร่ทำป่าชุมชนเพราะแบ่งให้ลูกๆ " พอ " แล้ว..แถมยังเป็นประธานในการจัดตั้งคุ้มครองป่าชุมชนร่วมกับการขยายเครือข่ายและปั้นคนรุ่นต่อไปขึ้นมาอีก..อย่างนี้สิคะที่แฟ้มบุคคลขอปรบมือให้

" พอ " เมื่อไหร่.. " มี " เมื่อนั้นนะคะพี่บางทราย..อย่างเราพอกับการตัดไม้ทำลายป่า เราก็มีป่าขึ้นมาทันตา..ป่า น้ำ ดิน น้ำมัน อากาศ ฯลฯทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เค้ามีสมดุลที่เปราะบางเหลือเกินนะคะ กว่าเค้าจะสร้างขึ้นมาให้เราใช้ได้ต้องใช้เวลานานเนาว์ แต่เราใช้แป๊บเดียวเอง..

ขอบคุณมากๆค่ะที่ทำให้เบิร์ดยิ้มกว้างในวันที่กำลังคิดงานไม่ออก อิ อิ อิ

 

 

 

สวัสดีค่ะ

- ก่อนอื่นขอโมทนาสาธุกับความคิดของลุ่งฉ่ำ

- บันทึกนี้ดีมากค่ะขออุ๊อิ๊บเป็นวิทยาทานในค่ายเยาวชนร่วมสรางสื่อรณรงค์รถโลกร้อน  ในวันท่ ๑๕ - ๑๗ มี.ค. ๕๑  ที่ ร.ร. บางลี่ค่ะ

- ขอบคุณนะคะที่ช่วยเปิดความคิดแจ่ม ๆ ใหh

- ว่างๆ เรียนเชิญ ที่บันทึกเรื่องเล่าเล่น ๆ ของครูพรรณา ผิวเผือกนะคะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์บางทราย

  • เป็นเรื่องเล่าที่ inspire มากค่ะ  น่านิยม
  • อยากให้มีคนอย่างลุงมาก ๆ ที่ปางมะผ้าจัง
  • แถวนี้เวลาขับรถผ่านป่าเขาก็ใจหาย แรงคนแท้ ๆ แต่ถากถางกันได้เกลี้ยงเกลาเหลือเกิน
  • เคยถามชาวเขา ขอไม่ระบุเผ่า  ว่า
  • "อีกหน่อย  ถ้าพวกเธอ ถางป่า ถางเขามาก ๆ แล้วน้ำแห้ง พวกเธอจะทำอย่าไร  จะไปอยู่ไหน"
  • พวกเขาตอบแบบ ซื่อ ๆ ว่า
  • "เราก็จะลง  ไปอยู่ข้างล่างสิ"

 

ท่านครูบาครับ

บางทีคนเราจินตนาการไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในอนาคต คนที่เป็นใหญ่เป็นโต พรรคพวกมากมาย ตำรวจก็มีทหารก็มี แถมมีเงินมากมายยังจินตนาการไม่ออกว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าจะไม่สามารถรักษาตำแหน่งอันสูงส่งได้ อนุญธยาเจริญสุดขีดก็ล่มสลาย กรุงโรมก็ล่มสลายทั้งที่มีทหารแกร่งเก่งที่สุด

ป่าไม้สุดลูกหูลูกตา ใหญ่เล็กนานาลุงฉ่ำคิดว่าไม่มีวันหมด  แต่ลุงฉ่ำคิดผิด มันหมดภายในชีวิตขิงลุงฉ่ำเองด้วยซ้ำ บ้านเมืองเรามีบุญที่ลุงฉ่ำฉุกคิดและกลับตัวใหม่ จากตัดเป็นปลูก รักษา ฟื้นฟู และสั่งสอนลูกหลาน  นี่แหละคนจริง ที่เรากราบไหว้ได้สนิทใจ โดยไม่ลังเลแม้แต่น้อยครับ

  • งดงามเกินคำพูดครับ
  • ขอบพระคุณครับอาจารย์
  • รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

หวัดดี น้องสาวคนเก่ง P 2. เบิร์ด


คำโบราณที่กล่าวว่าคุณข้าวแดงแกงร้อน...การให้ที่พัก ให้น้ำ ให้อาหารทำให้คนที่เป็นเสือสมัยนั้นก็ยังละเว้นไม่เข่นฆ่า....แต่สมัยนี้..ถอนหายใจยาวเลยค่ะ

          ใช่แล้ว ประสบการของครอบครัวพี่ที่วิเศษชัยชาญก็มีในเรื่อง  นี้  แค่คนนั้นเคยมากินข้าวที่บ้านมื้อเดียว  ถูกว่าจ้างให้มายิงหลายเขย เมื่อเขารู้ว่าเป็นใครเขาไม่ทำ แถมยังมาบอกให้ระมัดระวังตัวอีก ...สัจจะ 

คุณลุงฉ่ำเยี่ยมยอดจังเลยนะคะ ใจถึง นักเลง คนจริง มุ่งมั่น..มีที่ไหนเลี้ยงข้าวน้ำให้คนที่เป็นเสือ..แล้วยังยกที่ดินตั้ง 1,700 ไร่ทำป่าชุมชนเพราะแบ่งให้ลูกๆ " พอ " แล้ว..แถมยังเป็นประธานในการจัดตั้งคุ้มครองป่าชุมชนร่วมกับการขยายเครือข่ายและปั้นคนรุ่นต่อไปขึ้นมาอีก..อย่างนี้สิคะที่แฟ้มบุคคลขอปรบมือให้

          จริงๆแล้วลุงฉ่ำเป็นนักเลงใหญ่คนหนึ่งไม่งั้นก็ลำบาก แต่นักเลงโบราณนั้น ถือสัจจะยิ่งนัก และผู้มีคุณนั้นทดแทนกันไม่จบ สำนึกดีนั้นมันสอดขึ้นมาในคนที่เป็นนักเลง คิดดูเถอะ แกพูดอะไรขึ้นมาคนก็เอากะแกหมดิเพราะเป็นคนจริง ทำจริง ม่งมั่น  มานะ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นประโยชน์ และแกทำในที่ดินของแกที่ยกให้เป็นสาธารณะ แค่นี้ก็สังคมก็ยกมือท่วมหัวสาธุกันเซ็งแซ่ไปทั่วป่าห้วยขาแข้ง ปัจจุบันมีแค่คนใหญ่โตใช้อำนาจวาสนาฮุบที่สาธารณะโดยไม่กลัวบาปบุญคุณโทษ 

" พอ " เมื่อไหร่.. " มี " เมื่อนั้นนะคะพี่บางทราย..อย่างเราพอกับการตัดไม้ทำลายป่า เราก็มีป่าขึ้นมาทันตา..ป่า น้ำ ดิน น้ำมัน อากาศ ฯลฯทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เค้ามีสมดุลที่เปราะบางเหลือเกินนะคะ กว่าเค้าจะสร้างขึ้นมาให้เราใช้ได้ต้องใช้เวลานานเนาว์ แต่เราใช้แป๊บเดียวเอง..

ป่าห้วยขาแข้งสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคนี้ ยกเว้นป่าทางใต้ของเวียตนามนะครับ   พี่เคยนั่งเฮลิคอปเตอร์ดู 2-3 ครั้งแล้วสมัยทำงานที่นั่น สมบูรณ์มากๆ ปัจจุบันทุกปีตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปเราเริ่มตั้งเวรดูแลไฟป่ากันแล้ว ซื้อเครื่องมือดับไฟป่าแจกชาวบ้านให้ช่วยกันดับไฟป่าเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ ปีปีหนึ่งเกิดไฟป่ามากมาย เพราะย่อมมีคนเข้าป่าหลงหูหลงตาเจ้าหน้าที่

ป่าห้วยขาแข้งเป็นอีกหนึ่งมรดกโลกที่เมืองไทยได้รับเกียรติ์นั้น

ขอบคุณมากๆค่ะที่ทำให้เบิร์ดยิ้มกว้างในวันที่กำลังคิดงานไม่ออก อิ อิ อิ

คิดไม่ออกบอกพี่บางทรายซิ อิอิอิ

สวัสดีครับคุณครู ไม่มีรูป  3. พรรณา

- ก่อนอื่นขอโมทนาสาธุกับความคิดของลุงฉ่ำ

- บันทึกนี้ดีมากค่ะขออุ๊บอิ๊บเป็นวิทยาทานในค่ายเยาวชนร่วมสร้างสื่อรณรงค์ลดโลกร้อน  ในวันท่ ๑๕ - ๑๗ มี.ค. ๕๑  ที่ ร.ร. บางลี่ค่ะ

- ขอบคุณนะคะที่ช่วยเปิดความคิดแจ่ม ๆ ให้

ด้วยความยินดีครับคุณครู กิจกรรมค่ายเยาวชนควรทำมากๆ  พาเด็กไปสัมผัสของจริง แล้วเขาจะได้รับประสบการณ์ตรง ไม่เบื่อ และไฝ่เรียนรู้

- ว่างๆ เรียนเชิญ ที่บันทึกเรื่องเล่าเล่น ๆ ของครูพรรณา ผิวเผือกนะคะ

เอาไปเลย

แล้วผมจะตามไปเยี่ยมบ้านครับ

  • นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ไม่สายเกินไปที่จะกลับมาบำรุงโลก
  • โลกของเรา จักรวาลของเรา
สวัสดีครับน้องกาแฟ  P  4. coffee mania
  • เป็นเรื่องเล่าที่ inspire มากค่ะ  น่านิยม
  • อยากให้มีคนอย่างลุงมาก ๆ ที่ปางมะผ้าจัง
  • แถวนี้เวลาขับรถผ่านป่าเขาก็ใจหาย แรงคนแท้ ๆ แต่ถากถางกันได้เกลี้ยงเกลาเหลือเกิน

เมื่อเราบินผ่านน่านไปลาว เข้าจนถึงหลวงพระบาง ใจหายไปหลายวาบ เหี้ยนเตียน โล่งโจ่ง แปนเอิดเติด จริงๆ หากคนเราไม่มีสำนึกและลุกขึ้นมาทำ มาลงมือจริงๆ

  • เคยถามชาวเขา ขอไม่ระบุเผ่า  ว่า
  • "อีกหน่อย  ถ้าพวกเธอ ถางป่า ถางเขามาก ๆ แล้วน้ำแห้ง พวกเธอจะทำอย่าไร  จะไปอยู่ไหน"
  • พวกเขาตอบแบบ ซื่อ ๆ ว่า
  • "เราก็จะลง  ไปอยู่ข้างล่างสิ"

เจ็บไหมล่ะ เจ็บจริงๆ หากมนุษย์ทั้งหมดคือคนคนเดียว ภาพจริงที่เกิดขึ้นที่น้องกาแฟกล่าวก็คือ มนุษย์ฆ่าทำลายตัวเอง  เหมือนไปยืนอยู่บนกิ่งไม้ แล้วเอามีดมาฟันกิ่งไม้ที่ตัวเองยืนอยู่ เดี๋ยวก็ตกหล่นลงไป... เฮ่อ..สู้กันต่อไปครับ

สวัสดีครับน้อง P  6. นายสายลม อักษรสุนทรีย์

  • งดงามเกินคำพูดครับ
  • ขอบพระคุณครับอาจารย์
  • รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

น้องมะเดี่ยวสบายดีนะครับ ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ น้องออต P 9. ออต

  • นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ไม่สายเกินไปที่จะกลับมาบำรุงโลก
  • โลกของเรา จักรวาลของเรา

หากเรามาช่วยกันมากขึ้นเท่ากับเราช่วยบำรุงโลกอย่างน้องออตกล่าวครับ    ไม่แน่ในอนาคตรัฐบาลหนึ่งในวันข้างหน้าอาจจะออกกฏหมายว่า ทุกคนต้องปลูกต้นไม้คนละ 10 ต้นต่อปี ใครไม่ปลูกผิดกฏหมายเอาไปเดินป่าหาเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า 10 กิโลกรัม ...อิ...อิ...

อนุโมทนากับคุณลุงสุกด้วยค่ะ ประทับใจในเรื่องราวมาก เดี๋ยวนี้หาคนจริงแบบนี้ได้น้อยลงเรื่อยๆ  ดีใจที่อย่างน้อยก็มีคนริเริ่มทำอะไรดีๆ ที่สำคัญคือทำอย่างต่อเนื่อง และทำเพื่อทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

นับถือจริงๆ ค่ะ ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟังนะคะ 

อาจารย์กมลวัลย์ครับ

ผมพบคนอย่างลุงฉ่ำน้อยมากครับที่ ก้าวเข้ามาหาเราเองด้วยจิตใจแบบนี้ ส่วนใหญ่ เราเข้าไปปลุกแล้วปลุกอีก ต้องใช้เวลา ใช้กำลังภายใน ใช้การฝึกอบรม ศึกษาดูงาน พูดคุยกันมากมายกว่าจะตื่นขึ้นมา  แต่ลุงฉ่ำ แก่เดินเข้ามาหาเราเองเลยครับ ผมยังประทับใจจนถึงวันนี้ นักเลงจริงอย่างลุงฉ่ำนี้ มูลนิธิโลกสีเขียวต้องให้กำลังใจคนแบบนี้ครับ

มีครับสังคมเรายังมีคนดีๆแฝงในสังคมเราโดยไม่เปิดเผยตัวตน หากไม่หยิบมาเล่า เราก็ไม่รู้กันครับ  และอีกจำนวนมากที่เป็นนิรนามแต่ทำประโยชน์เหลือเกิน...ท่านเหล่านั้นแหละของจริง...ครับอาจารย์ครับ

ขออนุญาตนำขึ้น "บันทึกเด่นจากบล็อก" ใน www.kmi.or.th ด้วยนะครับ
  • เยี่ยมเลยครับพี่บางทราย
  • อึ้งๆมากๆๆ
  • เท่าที่ทราบ
  • สมัยก่อนทำงานอนุรักษ์
  • เดินทางรอนแรมไปแถวห้วยขาแข้งเหมือนกัน
  • เสียดายไม่ได้พบเสือข้าวสุก
  • อยากให้นักการเมืองบ้านเราคิดแบบนี้บ้างจัง
  • ทำไงดีละครับพี่

สวัสดีครับ คุณ P 15. Thawat

ขออนุญาตนำขึ้น "บันทึกเด่นจากบล็อก" ใน www.kmi.or.th ด้วยนะครับ
ด้วยความยินดีครับคุณธวัช  อ.สินีจาก RDI ฝากความคิดถึงมาครับ

สวัสดีครับน้องขจิต(หล่อ) P  16. ขจิต ฝอยทอง

  • เยี่ยมเลยครับพี่บางทราย
  • สมัยก่อนทำงานอนุรักษ์
  • เดินทางรอนแรมไปแถวห้วยขาแข้งเหมือนกัน
  • เสียดายไม่ได้พบเสือข้าวสุก
  • อยากให้นักการเมืองบ้านเราคิดแบบนี้บ้างจัง
  • ทำไงดีละครับพี่
  1. เห็นสาวๆหลายท่านเขาใส่คำว่าสวย พี่เลยใส่ให้น้องขจิตว่าหล่อ อิอิ
  2. พี่ทำงานที่นั่นประมาณปี พ.ศ. 2538-2542 ครับ ตระเวนห้วยขาแข้ง โดยไปกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้พอสมควร  ชอบมาก ภูมิใจที่บ้านเรามีป่าสมบูรณ์แบบนี้ เหลือแต่ดูแลกันให้ดีเท่านั้น
  3. ป่าห้วยขาแข้งปัจจุบันมีนายพรานบุกรุกบ้าง แต่การที่เป็นมรดกโลก เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงเข้มงวดมาก การเข้าป่าจึงเล็ดลอดสายตาบ้างแต่ไม่มาก 
  4. ปัญหาที่สำคัญคือไฟป่าครับ  ปีปีหนึ่งมรไฟป่านับหลายร้อยครั้ง บางปีเป็นพันครั้ง เราให้ชาวบ้านช่วยดูแลรอบๆที่เขาอยู่อาศัย อย่าจุดไฟ  แต่ก่อนเขาเก็บข้าวโพดเสร็จก็เผา มันก็ลามเข้าป่า หลังโครงการไปทำงานแถบนั้น เราให้เขาเอาต้นข้าวโพดมาทำปุ๋ยหมัก และให้กรรมการป่าชุมชนที่กระจายตัวรอบป่า ทำแนวกันไฟ แล้วเอาต้นไม้ไปปลูกเป็นแนวยาวเป็นร้อยกิโลเมตร  แล้วช่วยกันดูแล  ทราบว่าได้ผลดีมาก
  5. เราเอาสะเดาให้เขาเพาะกล้าแล้วปลูกตามแนวเขต ชาวบ้านสามารถเอาสะเดาไปกินได้ เอาไปทำน้ำหมักไล่แมลงได้ และสารพัดประโยชน์
  6. ทุกปีพี่สมพงษ์ สุทธิวงษ์ พี่ใหญ่แห่งป่าห้วยขาแข้งจะจัดงาน วันมรดกโลก เอาชาวตามแนวเขตป่าไปรวมตัวกัน ทบทวนงาน แลกเปลี่ยนกัน และมีดนตรีเพื่อชีวิต  ทราบว่าพี่สมพงษ์สุขภาพไม่ค่อยดีจึงจัดเป็นปีสุดท้ายแล้ว
  7. ปัญหาที่สำคัญที่เราแทบไม่เชื่อว่าเป็นปัญหาของป่าห้วยขาแข้งคือ พระธุดงค์ครับ จะมีพระจำนวนหนึ่งชอบเดินทางไปด่านเจดีย์สามองค์เมืองกาญจน์ บ้านขจิตแหละ แล้วเดินทางผ่านป่าห้วยขาแข้งไปออกที่อุทัยธานี  นัยว่า ใครผ่านป่ามานี้ได้ เจ๋งมากๆ พระธุดงค์กลุ่มนี้มักเป็นพระหนุ่มๆที่เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ และการอยู่ยงคงกระพัน เมื่อเดินป่าก็จะมีติดไฟต้มน้ำกินน้ำชา กันแล้วดับไฟไม่เรียบร้อย ก่อให้เกิดไฟป่าไหม้ บ่อยครั้งอยู่
  8. มีครั้งหนึ่งพี่บินดูด้วยเฮลิคอบเตอร์ของป่าไม้ พบกลุ่มพระธุดงค์กลุ่มหนึ่งกำลังพักผ่อน ตากจีวรเหลืองป่าเลย และมีแม่ชีสาว 2-3 รูปอยู่ด้วย  เราคิดได้ร้อยแปดว่ามันเหมาะสมหรือไม่เหมาะที่ธุดงค์จะต้องมีแม่ชีไปด้วย
  9. อีกครั้งหนึ่งพี่ขับรถผ่านป่าห้วยขาแข้งจะออกไปอุทัยและนครสวรรค์ พระธุดงค์กลุ่มหนึ่ง โบกรถพี่ขอให้ไปส่งที่นครสวรรค์จะเดินทางต่อไปอีสาน  พี่ก็รับขึ้นมา มี 4 รูป เป็นพระหนุ่ม ท่านไม่สำรวมสมกับการปลีกวิเวกมาหามิติของการปฏิบัติธรรม สบัดจีวรเปิดไหล่ หลา และลายสักเต็มตัวไปหมด หน้าตามีรอยแผลเป็น แสดงถึงการตีรันฟันแทงกันมามากเชียวหละ พูดจาไม่มีสำรวมเลย พี่นึกไปถึงว่า เอ เป็นพระหรือแค่ห่มผ้าเหลืองกันแน่....
  10. ชีวิตเราต้องการทรัพยากรธรรมชาติจากป่าอีกมากมาย  ยารักษาโรคอีกมาหอาจค้นพบจากพืช หรือสรรพสิ่งในป่านี้ การนำน้ำเชื้อสัตวืป่ามาผสมกับสัตว์เลี้ยงในบ้านอาจจำเป็นเพื่อยกระดับสายพันธุ์ให้แข็งแรงมากขึ้น ก็ต้องการสัตว์จากป่า สมุนไพรอีกจำนวนมากรอการวิจัยค้นคว้า ตัวยาใหม่ๆ  พืชป่าบางชนิดอาจมีคุณสมบัติเป็นอาหารชั้นเลิศของการมีชีวิตที่ยั่งยืนนาน  อีกมากมาย  ที่เรายังคาดไม่ถึง และยังไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง  อีกมากมายที่รอนักวิทยาศาสตร์บ้านเรามาช่วยกันศึกษาค้นคว้า
  11. พี่ได้คุยกับนักป่าไม้ว่า  ห้วยขาแข้งคือที่ซับน้ำฝน แล้วไหลลงเขื่อนศรีนครินทร์  แล้วชลประทานก็ทำคลองส่งน้ำเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำน้ำประปาจำนวนหนึ่ง ..... คนกรุงเทพฯไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ทราบ  อนาคต คนกรุงเทพฯต้องขึ้นไปป่าห้วยขาแข้งช่วยกันปลูกป่า  หรือมีส่วนในการอนุรักษ์ป่าเพื่อน้ำประปา  เชานอาจจะต้องออกเงินตามจำนวนน้ำที่ใช้เพื่อเอาไปบำรุงรักษาป่า เป็นต้น...นี่อนาอคตอาจจะถึงขนาดนั้นนะครับ
  12. นักการเมืองหรือ....ไม่อยาก...เซด...มันปวด...เฮด ..อิอิ
  13. อ้อ แถม...รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรรุ่นน้องพี่นะ คนบ้านเดียวกัน และภรรยาเขาเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับพี่สมัย ม1-ม3 (จุ๊..จุ๊.ภรรยาเขาเป็นนักเรียนรุ่นพี่...อย่าเอ็ดไป..) ไม่รู้จะคุยกันรู้เรื่องหรือเปล่าเนียะ

ตอนไปห้วยขาแข้ง ไปเยี่ยมป่าชุมชนห้วยรังที่เขาหินเหล็กไฟด้วยค่ะ

เคยไปคุยกับชาวบ้านที่ป่าชายเลนลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และ ป่าเขาคอกที่จังหวัดบุรีรัมย์  ชาวบ้านสะท้อนปัญหาเหมือนๆกันค่ะว่า  ป่าเคยอุดมสมบูรณ์  ก็เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่ากันเต็มที่  คิดว่ายังไงๆป่าก็ไม่หมด  แต่ที่คิดไม่ถึง คือ ป่าหมดจริงๆ  แล้วชาวบ้านจึงต้องหันมาเริ่มต้นใหม่ ด้วยการช่วยอนุรักษ์ป่า...

ครั้งหนึ่งชาวบ้านจากภาคเหนือที่เดินเท้ามาเรียกร้อง พรบ.ป่าชุมชน พูดให้ชาวธรรมศาสตร์ฟังว่า  ....ชาวบ้านกับชาวเมืองที่แท้ก็มีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเส้นเดียวกันคือ ป่าต้นน้ำทางเหนือกับแม่น้ำเจ้าพระยา  ตอนนี้คนต้นน้ำมาเรียกร้องจากคนท้ายน้ำให้หันมาร่วมมือกันเพื่อรักษาต้นน้ำ ต้นทางของสายเลือดนี้ .

... แต่ดูเหมือนคนกรุงเทพฯจะ "ไม่ get".....เศร้าเลย

สวัสดีครับ อาจารย์ P 19. ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ตอนไปห้วยขาแข้ง ไปเยี่ยมป่าชุมชนห้วยรังที่เขาหินเหล็กไฟด้วยค่ะ

เคยไปคุยกับชาวบ้านที่ป่าชายเลนลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และ ป่าเขาคอกที่จังหวัดบุรีรัมย์  ชาวบ้านสะท้อนปัญหาเหมือนๆกันค่ะว่า  ป่าเคยอุดมสมบูรณ์  ก็เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่ากันเต็มที่  คิดว่ายังไงๆป่าก็ไม่หมด  แต่ที่คิดไม่ถึง คือ ป่าหมดจริงๆ  แล้วชาวบ้านจึงต้องหันมาเริ่มต้นใหม่ ด้วยการช่วยอนุรักษ์ป่า...

แหม..อาจารย์ไปลุ่มน้ำปะเหลียน ภรรยาผมเป็นคนตรัง และหลานชายเคยพาไปที่ปะเหลียนไปดูป่าชายเลนเหมือนกัน 

เป็นข้อเท็จจริงครับอาจารย์ครับ  ผมไม่เคยคิดว่านกอีกาตัวดำๆมันจะหมดไปจากภาคกลางบ้านผม  ไม่เคยได้ยินเสียงอีกามานานแล้ว  สมัยผมเด็กๆตากปลาแห้งที่ชานบ้านต้องเอาตาข่ายคลุม  มิเช่นนั้นนกอีกามันโฉบมาขโมยปลาไปกินครับ  เดี๋ยวนี้อีกาหายไปหมดแล้ว เพราะมันไม่มีอาหาร เพราะเกษตรกรใช้ยาปราบศัตรูพืช ใช้สารเคมีมากมายจนห่วงโซ่อาหารของนกอีกานั้นขาดไป หมดไป.... นี่เป็น อินดิเคเตอร์ อย่างหนึ่งนะครับ 

 

ครั้งหนึ่งชาวบ้านจากภาคเหนือที่เดินเท้ามาเรียกร้อง พรบ.ป่าชุมชน พูดให้ชาวธรรมศาสตร์ฟังว่า  ....ชาวบ้านกับชาวเมืองที่แท้ก็มีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเส้นเดียวกันคือ ป่าต้นน้ำทางเหนือกับแม่น้ำเจ้าพระยา  ตอนนี้คนต้นน้ำมาเรียกร้องจากคนท้ายน้ำให้หันมาร่วมมือกันเพื่อรักษาต้นน้ำ ต้นทางของสายเลือดนี้ .

... แต่ดูเหมือนคนกรุงเทพฯจะ "ไม่ get".....เศร้าเลย

ผมคิดว่าอาจจะต้องให้ถึงวิกฤติน้ำมากกว่านี้ หรือเปล่า เราน่ะเมามายกับการบริโภต ตั้งหน้าหาเงินแล้วซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ไม่สนใจการได้มาของสิ่งที่บริโภคนั้นๆ..

เราเป็นคนเล็กๆก็ก้มหน้าทำงานต่อไปครับ

  • กว่าจะได้อะไรมา
  • เราก็สูญเสียเกือบสูญสิ้น
  • คิดได้ ได้คิด ลงมือทำเถิดจะเกิดผล
  • ขอส่งความรักความคิดมาค่ะ
  • http://gotoknow.org/blog/remotesensing/164866

สวสัดีครับพี่สาวใหญ่

 

ยังดีนะครับที่ลุงฉ่ำเกิดสำนึกสูงสุดที่หันหลังกลับแล้วมาสร้าง สร้าง สร้าง หลังจากที่ทำลาย ทำลายมามากมาย

ผมไปเยี่ยมพี่ใหญ่มาแล้ว

ชื่นชมและประทับใจในเรื่องราวของ "ลุงฉ่ำ...เสือข้าวสุก" มากเลยค่ะ แต่ที่ประทับใจมากกว่าคือ คนเขียนเรื่องของลุงฉ่ำค่ะ

หากคุณบางทรายมีเวลาและโอกาส อยากเรียนเชิญมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ให้ลูกศิษย์ด้วยนะคะ ขุมความรู้ที่คุณบางทรายสะสมไว้นั้นมี "คุณค่า" มากมายทีเดียวค่ะ

ที่ภาคตะวันตกเราก็ล้อมวงคุยกันเรื่องพวกนี้เหมือนกันค่ะ เดือนที่แล้วคนทำงานด้านป่าชุมชนไปถอดบทเรียนกันที่เมืองกาญจน์ค่ะ ...ถอดไปก็คิดถึงพี่สืบไปค่ะ....

ทรัพยากรบนโลกนี้มีพอสำหรับคนทุกคน แต่ไม่พอสำหรับคนโลภแม้เพียงคนเดียว...

คำถามก็คือทำอย่างไรที่เราจะรู้จัก "พอ" ค่ะ ....เป็นคำถามที่มีผู้รู้หลายท่านได้ให้คำตอบไว้แล้ว..... แต่ก็คงเป็นเหมือนอีกหลาย ๆ เรื่องคือ ก็รู้แล้ว แต่ไม่ทำ...ก็แล้วจะทำอย่างไรดี???

 

สวัสดีครับ P 23. ดร. ทิพวัลย์ สีจันทร์

ชื่นชมและประทับใจในเรื่องราวของ "ลุงฉ่ำ...เสือข้าวสุก" มากเลยค่ะ แต่ที่ประทับใจมากกว่าคือ คนเขียนเรื่องของลุงฉ่ำค่ะ

ขอบพระคุณมากครับอาจารย์ครับ 

ผมเพียงเป็นสื่อกลาง ที่มีเวทีนี้ ก็อยากเอาชาวบ้านมาอยู่บนเวทีนี้ด้วยครับ เวทีอย่างนี้ มีแต่พวกเราที่เป็นคนชั้นกลาง มีความรู้ มีความสามารถ มีกำลัง มีช่องทาง  แต่ชาวบ้านเขาไม่มี หรือมีน้อยมาก น้อยมากๆ แต่ชาวบ้านนั่นแหละเป็นคนทำ ทำ ทำ....น่ะครับ อย่างที่ท่านอาจารย์ทราบดี เพราะอาจารย์คลุกคลีกับ SIF มา(ผมก็ทำด้วยครับ แต่ผมเป็นคณะทำงานประเมินผล SIF ร่วมกับ ดร.มณีมัย ทองอยู่ แห่ง มหาวิทยาลันขอนแก่นให้ ADB ครับ และผมเองก็เอาแง่คิดนั้นลงไปใช้ในชุมชนอีก

ผมยังคิดว่า เอ ทำไมงานพัฒนาชนบทต่างๆ ไม่ใช้มุมมองการพัฒนาแบบ ทุนทางสังคมแบบเต็มๆบ้าง  แต่เป็นการสรุปบทเรียนจากที่ผ่านมาและกลับเอาไปทำงานอีก  ผมคิดว่า ไหน แผนชาติ ที่ 9 ที่ 10 จะเพิ่ม จะเน้น จะพัฒนาทุนทางสังคม  แต่สาระรูปธรรมยังไม่เห็นเลยครับ  ผมจึงพยายามดึงไปใช้ในงานที่ผมรับผิดชอบอยู่ครับ  พยายาม ครับ เพราะในโครงการที่ผมรับผิดชอบมิใช่มีผมคนเดียว อีกหลายคนเขาเฉยๆ หรือเขาก็เน้นส่วนที่เขาสนใจครับ

หากคุณบางทรายมีเวลาและโอกาส อยากเรียนเชิญมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ให้ลูกศิษย์ด้วยนะคะ ขุมความรู้ที่คุณบางทรายสะสมไว้นั้นมี "คุณค่า" มากมายทีเดียวค่ะ

หากมีเวลาผมยินดีครับอาจารย์ครับ

ที่ภาคตะวันตกเราก็ล้อมวงคุยกันเรื่องพวกนี้เหมือนกันค่ะ เดือนที่แล้วคนทำงานด้านป่าชุมชนไปถอดบทเรียนกันที่เมืองกาญจน์ค่ะ ...ถอดไปก็คิดถึงพี่สืบไปค่ะ....

ท่านพี่สืบเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่  และการตื่นตัวทางด้านนี้มามากขึ้น  แต่รูปธรรมที่ต่อเนื่องจากภาครัฐยังน้อย มีแต่ภาค NGO และราชการบางหน่วย เช่น มหาวิทยาลัย บางส่วน วิทยาลัยบางแห่ง คณาจารย์บางท่าน ท่านทำอยู่  แต่พลังมันไม่เต็มที่  ไม่เหมือนทุ่มเงินแสนล้านสร้างรถไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ เพราะที่นั่นเป็น first priority สำหรับนักการเมือง....ชาวบ้านนั้น หรือและสิ่งแวดล้อมนั้น เป็น priority หลังๆ มากๆ

ทรัพยากรบนโลกนี้มีพอสำหรับคนทุกคน แต่ไม่พอสำหรับคนโลภแม้เพียงคนเดียว...

ใช่ครับอาจารย์ครับ

คำถามก็คือทำอย่างไรที่เราจะรู้จัก "พอ" ค่ะ ....เป็นคำถามที่มีผู้รู้หลายท่านได้ให้คำตอบไว้แล้ว..... แต่ก็คงเป็นเหมือนอีกหลาย ๆ เรื่องคือ ก็รู้แล้ว แต่ไม่ทำ...ก็แล้วจะทำอย่างไรดี???

ในฐานะที่ทำงานกับชาวบ้าน เราก็กระตุ้นเขา สร้างเขา  แต่ก็ไม่ง่ายครับ เพราะ สังคมปัจจุบันมันก้าวไปสู่ยุค "โลกาธนาวัตฒ์" ผมไม่ทราบว่าจะเรียกอะไร  คือ ทุกคน ทุกครอบครัว มีเงื่อนไขที่ต้องใช้เงิน ความพอเพียง และพึ่งตนเอง พึ่งพากันและกันจึงเป็นเรื่องสวนค่านิยม สวนกระแสเต็มที่ ต้องมีสำนึกสูงมากๆที่จะก้าวเข้ามาเต็มตัวในการทำเรื่องนี้

ผมพบว่า คนที่ทำตามอุดมการณ์ดังกล่าวมักเป็นคนมีสติ มีความคิด และฉลาดที่จะทบทวนชีวิตแล้วเห็นค่าของการสรุปบทเรียน และเกิดสำนึกเฉียบพลัน  

ผมพบว่าคนที่ทำตามอุดมการณ์ดังกล่าว มีฐานเดิมอยู่แล้ว คือ เรียบง่าย ประหยัด ขยัน มีสติ คิด และช่างสังเกตุกฏเกณฑ์ธรรมชาติแล้วรู้จักปรับเอามาใช้

ผมพบว่ามีบ้างเหมือนกันที่เป็นคนทั่วไปเกิดการอิ่มตัวในโลกและเกิดแรงเหวี่ยงกลับกลายเป็นแรงกระตุ้นแรงสุดในการก้าวเข้ามาทำตามอุดมการณ์ดังกล่าว  แต่น้อยมาก

งานฝึกอบรมต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบหากต้องการหวังผลว่าคนผ่านการฝึกอบรมจะต้องมีผลเปลี่ยนแปลงด้วย

...แหมผมว่าซะยาวเลยครับอาจารย์ครับ...

น่าจะมีใครนำความคิดของลุงฉำไปดำเนินการกับสัตว์นำในทะเลบ้างนะคะ เพราะว่าวันหนึ่งสัตว์นำอาจหมดจากทะเลก็ได้

สวัสดีครับคุณ 25. dtonimit 

น่าจะมีใครนำความคิดของลุงฉำไปดำเนินการกับสัตว์นำในทะเลบ้างนะคะ เพราะว่าวันหนึ่งสัตว์นำอาจหมดจากทะเลก็ได้

 

เห็นด้วยครับ ผมว่าสัตว์น้ำของเราก็วิกฤติเหมือนกันนะครับ หากไม่รณรงค์กันจริงๆ เราอาจจะไม่มีปลาทะเลบริโภค ก็ได้ หรือมีราคาแพงมากๆก็ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท