เรื่องเล่าจากดงหลวง 96 ชีวิตที่ไม่ได้ผ่านเครื่องกรอง


ความจริงวัฒนธรรม ประเพณี ระบบคิด และความเชื่อต่างๆในชุมชนดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมานานนั้น หากพิจารณากันแล้วเกือบทั้งหมดก็คือเครื่องกรองขยะชีวิต ขยะสังคมนั่นเอง แต่ชุมชนถูก ระบบ Modernization เคลือบขยะให้เป็นสิ่งพึงปรารถนา เข้ามาในชุมชนจนแยกไม่ออกว่านั่นคือขยะ

   ผู้บันทึกอยากถามสมาชิกหมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพฯหรือที่ไหนๆว่าท่านเอาน้ำดึ่มมาจากไหนกัน ซื้อบริษัทขายน้ำ? ซื้อเครื่องกรองน้ำไว้ใช้เอง?  หรือท่านที่อยู่กรุงเทพฯน้ำประปากรุงเทพฯดึ่มได้ ?? หรือใช้น้ำบาดาลมาดึ่ม ??  หรือ ?? 

แต่ผู้บันทึกใช้น้ำจากเครื่องกรองน้ำของบริษัทที่มีชื่อแห่งหนึ่ง ใช้มาหลายปีแล้ว ผู้บันทึกเชื่อในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถจะผลิตเครื่องกรองน้ำที่ได้น้ำมีคุณภาพ  แต่เราต้องไปพึ่งพาบริษัทตลอดไป ซึ่งเป็นระบบธุรกิจสมัยนี้อยู่แล้วที่ต้องการผลิตของมามัดลูกค้าให้ต้องพึ่งพาอะไหล่ตลอดไป  เมื่อครบกำหนดเราต้องเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ คิดไปก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตสมัยใหม่ในเมืองไปแล้ว เราพยายามคิดประหยัดโดยไม่อยากซื้อน้ำกินทีละถังใหญ่ๆมาตุนไว้พอหมดก็สั่งมาอีก จะเก็บน้ำฝนมากินเหมือนโบราณนั้นเลิกพูดเลย นี่เองที่ใครต่อใครกล่าวกันว่าน้ำแพงกว่าน้ำมัน เอ้า... ลองพิจารณาน้ำบรรจุขวดซิ เป็นเช่นนั้นจริงๆ 

แต่ผู้บันทึกอยากหยิบประเด็นที่ว่าระบบการกรองน้ำของบริษัทต่างๆ จะเป็นดังนี้ แต่ก่อนก็กรองแบบเครื่องกรองมาตรฐาน  ต่อมาก็กล่าวว่ากรองด้วยระบบ Reverse osmosis และฆ่าเชื้อด้วยระบบผ่านแสงอุลตร้าไวโอเลต ในระบบน้ำบรรจุขวดขาย แต่ระบบเครื่องกรองก็จะเป็นแบบถ่านคาร์บอนและแผ่นกรองที่ละเอียดยิบสามารถกรองนั่นกรองนี่ได้ขนาดเล็กเท่านั้นเท่านี้  และมีแสงอุลตร้าไวโอเลตอีกเพื่อฆ่าเชื้อโรค เอาเป็นว่ามีความเชื่อถือสูง จึงตัดสินใจซื้อมาติดตั้งที่บ้าน 

เชื่อถือเพราะเวลาเปลี่ยนไส้กรอง เราพบว่าน้ำประปาที่เห็นว่าสะอาดนั้น เมื่อผ่านเครื่องกรองแล้วยังสามารถเก็บ Particle เล็กๆได้อีกมากมาย จนแผ่นกรองตันไปเลยเมื่อทิ้งไว้นานๆ และหลอดแสงอุลตร้าไวโอเลตก็เปลี่ยนทุกปี ระบบน่าที่จะทำหน้าที่ของเขาและได้น้ำที่บริสุทธิ์พอสมควรแก่การดึ่มกินสำหรับคนเราได้  จะเห็นว่าหากเราต้องการน้ำสะอาดเราก็สามารถจัดการให้ได้น้ำสะอาดได้  เราก็ไม่ต้องเสี่ยงในการดึ่มน้ำที่ไม่สะอาด 

ผู้บันทึกเลยนึกไปถึงชุมชนชนบทที่ทำงานอยู่ว่า เออ...เราได้ทำ เครื่องกรอง ที่มีประสิทธิภาพมา กรองขยะสังคม ออกไปจากการรับรู้ด้วยอายตนะทั้งภายในและภายนอกของเราในแต่ละวันอย่างไรบ้าง  พบว่าไม่มี หรือมีน้อยมาก  คิดไปเรื่อยเปื่อยจนถึงว่า เอ้าสื่อมวลชนที่ใครต่อใครกล่าวหาว่าเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ค่อยได้ กรองสื่อ สู่สาธารณะ หรือหลุด  

หน่วยงานรับผิดชอบไม่สามารถทำอะไรในเชิงรุกได้เลย มีแต่วิ่งตาม การวิ่งตามนั้นมันไม่ใช่การกรองแล้ว มันเป็นการแก้   แล้วชุมชนชนบทที่เป็นเป้าใหญ่ของระบบการค้า ธุรกิจในหลายแขนง สังคมเราไม่มีกระบวนการกรองเลย ปล่อยเป็นอิสรเสรี ไม่ว่าในระดับไหน ตรงข้ามหน่วยงานที่น่าจะมีส่วนสำคัญในการ กรอง หลายครั้งก็สนับสนุนการไหลบ่าของขยะสังคมด้วยซ้ำไป   

แล้วที่สร้างชุมชนเข้มแข็งนั้นน่ะ มีเครื่องกรองอะไรเกิดขึ้นบ้างไหม มากน้อยแค่ไหน มีตัวอย่างเครื่องกรองขยะสังคมที่ไหนบ้าง ดูจะไม่มี ไม่เคยได้ยินเลย 

แต่อาจจะมีในระดับปัจเจกชน เช่นผู้อาวุโสแห่งชนบทต่างๆ หรือนักปราชญ์ส่วนใหญ่ท่านเหล่านั้นมีเครื่องกรองที่ระบบคิด ทัศนคติ ความตั้งมั่น และยืนหยัด ล้วนเป็นปัจเจกชนทั้งสิ้น  ที่เป็นชุมชนดูจะมีแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทยคือ ชุมชนอโศกทั้งหลายนั่นเอง  

ความจริงวัฒนธรรม ประเพณี ระบบคิด และความเชื่อต่างๆในชุมชนดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมานานนั้น หากพิจารณากันแล้วเกือบทั้งหมดก็คือเครื่องกรองขยะชีวิต ขยะสังคมนั่นเอง  แต่ชุมชนถูก ระบบ Modernization เคลือบขยะให้เป็นสิ่งพึงปรารถนา เข้ามาในชุมชนจนแยกไม่ออกว่านั่นคือขยะ อ่อนแอเกินไปที่จะใช้วัฒนธรรม ประเพณี ระบบคิด และความเชื่อต่างๆของสังคมเดิม ให้เป็นเครื่องกรองแล้วคัดขยะออกไปจากวงจรชีวิต อย่างรู้เท่าทัน   

นี่คือสาเหตุความยากจนกระมัง  นี่คือสาเหตุแห่งปัญหาสังคมกระมัง นี่คือหลุมดำของสังคมที่วิ่งตาม Globalizations กระมัง 

เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ จะช่วยกันสร้างเครื่องกรองกันอย่างไรดี ?

หมายเลขบันทึก: 95980เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2007 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ

ได้อ่านแล้ว ได้ความรู้ดีค่ะ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

  • ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สะสมกันมา
  • กระตุ้นกันก็หลายครั้ง ผ่านเลยมาและก็เลยไป สะสมเป็นดินพอกหางหมูเลยค่ะ 
  • หน่วยงานที่เข้ามาดูแลเห็นขยะแต่ไม่เก็บ จนกว่ากลิ่นนั้นจะออกมาทำให้เหม็นจึงค่อยเก็บแต่เก็บแล้วก็ยังมีกลิ่นนี่แหละค่ะ ถ้าเก็บแต่แรกก็ไม่เหม็น 
  • เข้าทำนองวัวหายแล้วจึงล้อมคอกนั่นแหละค่ะ
  • ขอบคุณค่ะเข้าประเด็นได้ถูกจุดสังคมจริง ๆ
  • ไปๆมา ก็จะต้องพึ่งพา อาศัย ใครๆไปทุกเรื่องๆๆๆ
  • แม้แต่น้ำดื่ม ผมใช้วิธีเอาสมุนไพรมาต้ม อย่างน้อยเราก็จะได้ดื่มน้ำสุก ถึงจะเปลืองไฟฟ้าแต่ก้ไม่ไปง้ออาไหล่เครื่องกรองน้ำอย่างที่อาจารย์เล่า
  • ชาวบ้านที่ใช้เตาถ่านหุงต้ม ทำกับข้าวเสร็จแล้ว ไฟยังค้างอยู่ในเตา ก็ยกหม้อต้มน้ำไปตั้ง
  • เราก็จะได้น้ำดื่มที่ปลอดภัย

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

ชอบ..มากถึงมากที่สุดเลยค่ะกับคำตอบนี้..เด็ดขาดจริงๆ ^             ^

สวัสดีครับ ท่านsasinanda

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยม

สวัสดีครับคุณน้อง Ranee

"เข้าทำนองวัวหายแล้วจึงล้อมคอกนั่นแหละค่ะ"

สังคมเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต้องตั้งสติดีๆ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับครูบา

เห็นด้วยกับครูบาล้านเปอร์เซนต์

ผมคิดว่าหมดอายุเครื่องนี้ก็เลิกกัน ต้มน้ำกินอย่างครูบากล่าวครับ  ความจริงก็ต้มบ้างบางครั้งอยู่แล้วนะ ด้วยชีวิตที่ไม่ได้อยู่บ้าน เลยไม่ได้ฉุกคิดเรื่องส่วนตัวเท่าไหร่ มัวไปคิดเรื่องชุมชน

สวัสดีน้องเบิร์ด

คิดว่ากระบวนการพัฒนาประเทศชาติเราไม่ได้ ทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เกิดเรื่องทีก็แก้กันทีหนึ่ง เป็นการวิ่งตามอย่างน้องราณีกล่าว

เป็นประเด็นที่คนทำงานพัฒนาต้องคิดมากขึ้น

 สวัสดีตอนดึกครับ...

ผมก็ใช้เครื่องกรองน้ำที่ใช้หลอดยูวีมาหลายปีครับ...ตอนนี้เปลี่ยนเครื่องที่มีเทคโนโลยีในการปรับโมเลกุลของน้ำครับ...ทำให้เหมือนกับน้ำตามธรรมชาติให้มากที่สุด...ห่วงสุขภาพลูกครับ

ตอนผมไปบวชอยู่...ที่วัดไม่มีหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือ ทีวีเลยครับ..(ไฟฟ้าก็ใช้เครื่องปั่นเอา)...แต่ข่าวสารความเป็นไปในโลกก็ได้จากท่านเจ้าอาวาสนำมาเทศน์ให้ฟัง(ทำหน้าที่กรอง)...โดยให้ข้อคิดไปด้วย...เหมือนเป็นการกรองสิ่งทางโลกไม่ให้เข้ามาภายในวัดครับ...ไม่เหมือนกับวัดในเมืองที่มีสื่อทุกอย่าง...ใจคนก็เตลิดตามไปนะครับ....พระก็มีใจแตกเหมือนกันนะครับ...สึกเลยก็มี...

นี้ขนาดในวัดนะครับ...แล้วในระดับประเทศจะเป็นอย่างไรถ้าไม่ทำอะไรกัน...

โอชกร

ตอนนี้เครื่องกรองของภายนอกใช้ไม่ค่อยได้ค่ะ เสียและตกรุ่น ไม่ทันขยะสังคมในปัจจุบันไปเสียแล้ว

ดิฉันเลยคิดว่าต้องสร้างเครื่องกรองประจำตัวของแต่ละคน แต่ก็นั่นแหละค่ะ เวลาที่จะสร้างเครื่องกรองประจำตัว ก็ต้องมีคนทำหน้าที่กรองให้ดูก่อน แล้วคนแต่ละคนจึงจะมีเครื่องกรองประจำตัวได้...

ตอนนี้เลยเน้นสร้างเครื่องกรองส่วนตัว ... เพื่อที่ว่าอาจจะได้ไปกรองอะไรๆ ให้ลูกศิษย์ได้บ้างค่ะ..

สวัสดีครับน้องโอชกร

ยอดเยี่ยมเลยช่วงบวชที่พระอาจารย์ท่านช่วยกรองให้ พี่ก็มีประสบการณ์คล้ายๆกันครับ พระอาจารย์ของพี่แนะนำพระทุกรูปไม่ควรอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ท่านจะกล่าวเองในเรื่องต่างๆ ตรงกันครับ ท่านแนะนำให้เราปฏิบัติมากๆอย่ามัวไปอ่านเรื่องทางโลกอยู่เลย  จริงอย่างท่านกล่าว เพราะ 3 เดือนนั้นเผลอนิดเดียวสิ้นสุดเวลาบวชเสียแล้วครับ

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับว่าเราต้องสร้างเครื่องกรองของเราเอง อย่าไปคอยภายนอกสร้างเครื่องกรองอาจจะผิดหวัง

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท