พาไปจับกุ้ง


ประเดิมเรื่องราวแรกที่แบ่งปัน...เมื่อมีโอกาสตามไปดูฟาร์มกุ้ง

เมื่อหลายวันก่อนมีโอกาสตามไปดูฟาร์มกุ้ง...ก็เลยเก็บมาเล่าสู่กันฟัง เป็นการประเดิมเรื่องราวแรกที่ขอแบ่งปันในบล๊อค..สัพเพเหระ..ของป้าอ้นนะคะ....

 

พูดถึงการทำฟาร์มกุ้ง หรือ ที่หลาย ๆ คนในวงการโดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงมักเรียกว่า.. นากุ้ง..นั้น...ถือว่าเป็นอาชีพทางการเกษตรหลักอาชีพหนึ่งของเกษตรกรไทยเราเลยทีเดียวนะคะ  ว่ากันว่าแต่ละปีบ้านเรามีผลผลิตกุ้งเลี้ยงที่ว่านี้กันเป็นหลักหลายแสนตันเชียวคะ...นี่นับเป็นตันนะคะ หากจะนับเป็นกิโลฯ แบบเวลาที่เราเดินไปซื้อของในตลาดก็ต้องเอาหลักพันคูณเข้าไป...ในปีที่ผ่านมามีบันทึกทางสถิติบอกว่าไทยเราผลิตกุ้งเลี้ยงรวมประมาณ 5 แสนตัน...นั่นก็หมายถึง 500 ล้านกิโลกรัม...มาถึงตรงนี้เชื่อว่าทุกคนร้องอ๋อ ...หากคูณด้วยเพียงราคากิโลกรัมละ  100 บาท (ซึ่งในความเป็นจริงราคาอาจสูงกว่านี้) รวม ๆ แล้วมูลค่าของผลผลิตก็ร่วมห้าหมื่นล้านต่อปีเชียวค่ะ...นับเป็นสินค้าเกษตรหลักลำดับต้น ๆ ที่ทำรายได้เข้าประเทศเลยทีเดียว...นี่ยังไม่นับมูลค่าเพิ่มซึ่งเกิดจากการแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก และ การจ้างงานอีกมากมายจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องของการผลิตสินค้าอาหารซึ่งมีกุ้งที่ว่านี้เป็นวัตถุดิบนะคะ.

ว่าแล้วป้าอ้นก็ไปเรื่อยจนถึงเรื่องส่งออกซะนู่นแนะ...เอาเป็นว่าเกริ่น ๆ กันพอเรียกน้ำย่อยให้ถึงบางอ้อว่าไอ้ภาพรวมของการเลี้ยงกุ้งเป็นยังไง...วันหลังคงมีโอกาสได้เล่าให้เวียนหัวกว่านี้เเกี่ยวกับเรื่องการเเลี้ยง..เรื่องการแปรรูป...และการส่งออก พร้อมตัวเลขอีกมากมาย....แต่วันนี้เราไปเที่ยวนาดูเขาจับกุ้งกันดีกว่า...

 

อ้อ...แต่เดี๋ยวก่อนนะคะ...ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งหากไม่พูดถึงซะตอนนี้ก็อาจขาดอรรถรส เหมือนกินตำไทยไม่ใส่ปูดอง...อร่อย...แต่ยังขาดอะไรชอบกล...

 

ก่อนพาไปจับป้าอ้นต้องขอเล่ารายละเอียดรูปพรรณสันฐานก่อนนะคะ...คือว่าการเลี้ยงกุ้งบ้านเราเนี่ยเริ่มกันมาร่วมสามสิบปี หรือ กว่านี้ทีเดียวคะ ประวัติที่มาที่ไปไว้ค่อยเล่าวันหลัง แต่ที่ต้องบอกวันนี้ก็คื่อชนิดของกุ้งทะเลที่เราเลี้ยง ๆ กัน...ประเทศไทยเริ่มเลี้ยงกุ้งในเชิงเกษตรอุตสาหกรรม ..คือเลี้ยงกันเยอะ ๆ มาก ๆ เพื่อผลผลิตต่อเนื่องในเชิงอุตสาหกรรม (เอ๊ะ...ป้าอ้นนี่พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก...) โดยเลี้ยงพันธุ์ที่เขาเรียกว่า กุ้งกุลาดำ หรือเป็นภาษาฝรั่งเศัพท์แสงทางวิทยาศาสตร์ว่า Penaeus monodon เจ้ากุ้งกุลาดำ หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า กุ้งกุลา บางคนก็เรียก กุ้งดำ ที่ว่านี้ เป็นกุ้งในแถบทะเลบ้านเรานี่เอง เลี้ยงกันมาพัก ใหญ่ ๆ (นับสิบ ๆ ปี) ก็เจอปัญหาแก้ไม่ตกเรื่องโรคระบาดในการเลี้ยง เกษตรกร หลาย ๆ รายต้องเริ่มถอยห่างเพราะไม่ประสบความสำเร็จ จนมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อรัฐบาลมีมติยอมให้มีการนำเข้ากุ้งทะเลเพื่อการเพาะเลี้ยง ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมประมง  กุ้งที่ว่านี้ก็คือ กุ้งวานาไม หรือ กุ้งขาว หรือ Penaeus vannamei นั่นเองคะ

 

แล้วหน้าตาของกุ้งขาวและ กุ้งดำที่ว่านี้เป็นไงละ กุ้งกุลาดำเป็นกุ้งจากทะเลในแถบบ้านเรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือทะเลในแถบทวีปเอเซีย ส่วนกุ้งขามวานาไมเป็นกุ้งมาจากทะเลแถบอเมริกาใต้ แถว ๆ เอควะดอร์โน่นแน่ะคะหน้าตาก็เลยแตกต่างกันพอประมาณ ก็เหมือน ๆ กับคนเรานี่ละคะ คนไทย คนเอเซียรูปพรรณก็แตกต่างจากคนทางแถบโน้นเมือนกัน เราจมูกแบน ตาตี่ เขาจมูกโด่ง ตาโต อะไร..อะไร..แบบนี้ละคะ ...

 

กุ้งกุลาดำ มีลายพาดขวางบนลำตัวชัดเจน ฝรั่งจึงเรียกว่า Black Tiger Shrimp ส่วนสีสรรติดไปทางเข้มหน่อย ส่วนใหญ่จะหนักไปทางน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม เอ...แล้วทำไมไม่เรียก Brown Tiger …อันนี้ป้าไม่ทราบเหมือนกัน เพราะเป็นเพียงนักวิชาเกินหาใช่นักวิชาการไม่...แล้วก็อีกประเด็น....หัวโตกว่ากุ้งขาวหน่อย ลองดูในภาพนะคะ     

 

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                กุ้งกุลาดำ: พอจะมองเห็นลายบนลำตัวนะคะ สังเกตุที่ปลายหางนะคะจะมีสีเข้มทีเดียว

 

กุ้งกุลาดำ: ส่วนภาพนี้หลังเสียชีวิตแล้ว...รอชันสูตร....เห็นลายพาดบนลำตัวชัดเจน สีสรรตั้งแต่เข้มมากไปจนถึงเฉดอ่อนก็มีให้เห็น

กุ้งขาววานาไม  สังเกตุจะพบว่ามีจุดเล็ก ๆ มากมายบนเปลือก รูปร่างเพรียวกว่ากุลาดำเล็กน้อยเพราะหัวเล็กกว่า สีค่อนข้างเสมอกันทั้งตัว และดูใส ๆ กว่ากุลาดำ เนื่องจากมีเปลือกที่บางกว่าเล็กน้อย พูดง่าย ๆ ว่าผิวบางว่างั้นเถอะ

 

เอาละคะ ดูรูปร่างหน้าตากันแล้ว เราก็ไปจับกันได้เลย .....ในสมัยแรก ๆ ที่บ้านเราเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การจับกุ้ง หรือนำกุ้งที่เลี้ยงได้ขึ้นจากบ่อนั้นต้องอาศัยช่วงจังหวะน้ำขึ้นน้ำลงเป็นปัจจัยสำคัญด้วย  ต่อมามีการพัฒนารูปแบบบ่อเลี้ยงและเทคนิครวมถึงการใช้เครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วย วิธีการจึงมีความหลากหลายยิ่งขึ้น อาจจะพูดได้ว่าเทคนิคแพรวพราวว่างั้นเถอะ...ยิ่งเมื่อเราหันมาเลี้ยงกุ้งขาวซึ่งส่วนใหญ่มีความหนาแน่นต่อตารางเมตรมากขึ้น และกุ้งขาวก็ทนทานกว่าไม่ใจเสาะแบบที่โบราณเขาว่า ขี้ขึ้นไปอยู่บนหัวง่ายเหมือนกุ้งกุลาดำ จึงเกิดเทคนิคในการจับเพียงบางส่วน  ที่เหลือก็เลี้ยงต่อไปเพื่อให้ได้ขนาดตัวใหญ่ขึ้น  อันนี้เองเป็นที่มาของปริมาณผลผลิตที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีนี้ จนมีผู้เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นให้ติดเบรคกันบ้าง ม่ายงั้นอาจเสียสมดุลย์เพลี่ยงพล้ำ ผลิตเยอะต้นทุนบาน...แต่ยังได้ตังค์เท่าเดิม.. ฮา...

 

กลับมาเข้าเรื่องเราดีกว่า...คราวนี้ที่ป้าจะพาไปชมเป็นการจับกุ้งเพียงบางส่วน ไม่ได้จับหมดบ่อ หรือคว่ำบ่อตามภาษานากุ้ง..ไอ้การจับแบบนี้ บางคนก็เรียกแบบฝรั่งว่า พาเชี่ยน พาเชี่ยน (ออกเสียงอย่างนี้จริง ๆ) ซึ่งมาจากคำว่า partial harvest นั่นเอง  การจับกุ้งแบบนี้มักจะต้องลงมือกระทำการอย่างนิ่มนวลเพื่อไม่ให้กระทบมากเกินไปกับกุ้งที่เหลือไว้ในบ่อเลี้ยง เพราะหากไม่ระมัดระวังเผลอ ๆ ต้องกลับมาจับคว่ำบ่อในวันรุ่งขึ้นเพราะกุ้งที่ตั้งใจจะเลี้ยงต่อพลอยขาดใจตายตามไปด้วย ผลผลิตเลยไม่ได้ตามเป้ากันพอดี... 

 

ส่วนใหญ่ทีมจับจะมีความชำนาญและรู้ใจกุ้งเป็นอย่างดี บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นเลยทีเดียว  เริ่มจากการค่อยๆนำอวนล้อมลงไปใต้น้ำอย่างนุ่มนวล ซักพักจึงหว่านอาหารเพื่อเรียกความสนใจให้กุ้งเข้ามาในบริเวณอวนล้อมอยู่  พอประมาณว่ากุ้งเข้ามาอยู่ในวงล้อมพอสมควรก็เริ่มลงมือ ค่อย ๆ รวบอวน ทีมต้องทำงานประสานกันม่ายงั้น หากตาข่ายเกิดพัลวัลกันก็อาจเสียหายได้ เพราะรวบอวนคราวหนึ่งนั้นเข้าหลักร้อยสองร้อยกิโล  หากไม่ระมัดระวังทั้งกุ้งและคนจับอาจติดอยู่ในแห ซึ่งที่จะแย่ที่สุดก็คนจับนั่นละคะเพราะกรีที่หัวกุ้งนั้นคมอย่าบอกใครเชียว  เมื่อรวบเข้ามาอยู่ในวงพอประมาณจึงเริ่มใช้ตะกร้าตักกุ้งขึ้นจากบ่อ ลำเลียงชั่งน้ำหนัก เพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ซื้อซึ่งอาจเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป หรือ พ่อค้าคนกลางผู้นำส่งสินค้าไปยังตลาดค้ากุ้งนั่นเอง

 

เตรียมการ

 

พอประมาณว่ากุ้งว่ายเข้ามากินอาหารในปริมาณสมควร จึงค่อย ๆ รวบแหเข้ามา

 

กุ้งที่เตรียมนำขึ้นมาจากบ่อ....จับได้โขอยู่ทีเดียว

ตักขึ้นโดยตะกร้าเพื่อชั่งน้ำหนัก และขนส่งไปต่อไปค่ะ

 

ขนาดของบ่อเลี้ยงกุ้งในบ้านเราส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 3-6 ไร่ โดยเฉลี่ย  ซึ่งขนาดที่ว่านี้ไม่มีเกณฑ์ตายตัว  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และ เทคนิคของแต่ละคน (เทคนิคอีกแล้ว ใช่ค่ะ ยืนยันว่าคำนี้ใช้เยอะที่เดียวในวงการนี้)  

ฟาร์มที่ป้าอ้นได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมในวันนั้นเป็นฟาร์มขนาดกลาง มีจำนวนบ่อเลี้ยงทั้งหมดรวมประมาณ 30 บ่อ ขนาดต่าง ๆ กันไป แต่ก็เฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้น วันนั้นจับกุ้งขึ้นมาประมาณ 2 ตันเชียวค่ะ นี่เพียงบางส่วนนะคะ 

ป้าอ้นต้องขอขอบคุณ คุณจรัล เจ้าของฟาร์มซึ่งกรุณานำชมการจับกุ้ง รวมถึงให้ข้อมูลสาระน่าสนใจหลายประการทีเดียวในวันนั้น  อันเป็นที่มาของเรื่องสัพเพเหระของป้าอ้นในวันนี้ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างกับชาว gotoknow ที่กรุณาติดตามมาจนถึงบรรทัดนี้นะคะ อย่างน้อย คงพอให้เห็นภาพขบวนการตอนขั้นหนึ่งของกุ้งที่เลี้ยงอยู่ในบ่อ ว่าถูกจับขึ้นมาอยู่บนจานเราได้อย่างไร แล้วพบกันใหม่ค่ะ....

 

ป.ล. ป้าอ้นต้องขอขอบใจน้องหมาก บั๊ดดี้ตัวน้อย (แต่ร่างยักษ์) ของป้า มา ณ ที่นี้ที่ช่วยคนแก่สายตาฝ้าฟางพิสูจน์อักษรก่อนโพสต์...ขอบใจนะลูกนะ...

 

หมายเลขบันทึก: 293596เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สนุกและได้ความรู้มากครับพี่อ้น

เอาไว้วันไหนน่าจะนัดกันพาเด็กๆไปดูเค้าจับกุ้งกัน และขอกินกุ้งที่บ่อด้วยดีกว่า 555

มีประเด็นที่สงสัยรบกวนพี่อ้นให้ความรู้เพิ่มเติมด้วยครับคือ

๑.ทำไมต้องจับแบบ Partial หรือว่าจับแบบนี้ชาวนากุ้งได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ??? แต่ตอนจับก็ไม่มีโอกาสเลือกกุ้งที่ได้ขนาดขึ้นมาก่อนไม่ใช่หรือครับ

๒.แล้วตอนนี้กุ้งกุลาดำ หายไปไหนหรือเปล่าครับ

๓.มีการเพาะพันธุ์ลูกกุ้งขาวเองในบ้านเราหรือยังครับ เพราะมูลค่ามันมหาศาลมาก จากประสบการณ์ของตัวเองในวงการเกษตรบอกตัวเองว่า ไอ้ที่เราเห็นคือผลผลิตที่ขายได้นั้น กำไรมันได้ไม่เท่ากับ การขายพันธุ์ เช่น ธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์ และกิ่งพันธุ์ ทำกำไรให้คนสวน และ พ่อค้า ได้มากมาย โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ ในวงการกุ้งก็น่าจะคล้ายคลึงกัน ถ้าเราไม่สามารถผลิตเองได้ หรือผลิตได้แล้วคุณภาพสู้พ่อค้าลูกกุ้งนำเข้ารายใหญ่ไม่ได้ อนาคตของเกษตรกรก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน เพราะเปรียบเมหือนกับการรับจ้างเลี้ยงกุ้งเท่านั้นเอง

๔.ความนิยมในการบริโภค ระหว่างกุ้งกุลาดำ และ กุ้งขาว ในแง่การตลาดและผู้ทานครับ

สวัสดียามเย็นค่ะ....

ป้าอ้นขอบคุณมากสำหรับความคิดเห็นอันก่อให้เกิดกำลังใจขึ้นอีกโข...สงสัยจะต้องจัดทริปพาเด็ก ๆ ไปดูนาพากินกุ้งซะแล้วซิ...แต่ห้ามลงไปเล่นน้ำนะคะ..

ป้าอ้นขอตอบคำถามแต่ละประเด็นเลยนะคะ

1) การจับแบบ partial

ปรกติในการเลี้ยงเราจะนับจำนวนลูกกุ้งที่ปล่อยลงในบ่อเป็นจำนวนตัวต่อตารางเมตรคะ กุ้งขาวมีความทนทานกว่ากุ้งกุลาดำ ดังนั้นจำนวนตัวต่อตารางเมตรจึงสูงกว่า แต่เขาก็มีข้อกำหนดนะคะว่าไม่ควรเกินเท่าไหร่ เพื่อผลการเลี้ยงที่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเค็มของน้ำ และ เทคนิค (เทคนิคอีกแล้วแต่เป็นความจริง) ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นกุ้งกุลาดำอาจเลี้ยงประมาณ 40-50 ตัว/ตรม. แต่ถ้าเป็นกุ้งขาวเขาอาจจะเริ่มที่ 80-120เชียวคะ ดังนั้นเมื่อเลี้ยงได้สักระยะ ก็ต้องจับบางส่วนเพื่อลดความหนาแน่น แล้วเลี้ยงส่วนที่เหลือต่อไป ส่วนเรื่องขนาดไม่มีโอกาสเลือกแน่นอนคะ แต่ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ ขนาดมักจะสม่ำเสมอคะ แต่ก็มีเล็กใหญ่ในช่วงแคบ ๆ ซึ่งเราก็ต้องมาคัดขนาดกันหลังจับคะ

2)กุ้งกุลาดำก็ยังคงเลี้ยงกันอยู่บ้างนะคะแต่สัดส่วนน้อยมาก อาจจะน้อยกว่าร้อยละ10 สำหรับในบ้านเรา แต่ที่อื่นยังเยอะอยู่คะโดยเฉพาะ เวียตนาม และ อินโดนีเซีย

3)ในบ้านเรามีการเพาะลูกกุ้งขาวเองมาหลายปีแล้วคะ ซึ่งส่วนใหญ่เพาะจากพ่อแม่พันธุ์นำเข้า แต่การวิจัยเพื่อเพาะพ่อแม่พันธุ์ในบ้านเราเองก็มีด้วยนะคะ แล้วไว้วันหลังป้าอ้นจะเล่าต่อในเรื่องนี้คะ

4)อืม...ดำ หรือ ขาว อะไรอร่อยกว่ากันนะ ว่ากันตามตลาดต่างประเทศตอนช่วงแรก ๆ กว่าบ้านเราจะผลักดันกุ้งขาวไปแทนกุ้งดำได้ก็หืดขึ้นคอที่เดียวละคะ แต่ประเด็นหลักกลับเป็นเรื่องสีสรรนะคะ รสชาดอาจมีผลบ้างคะ แต่ถ้าถามป้า ป้าว่าอร่อยกันไปคนละแบบคะ แต่ความเห็นอันนี้ใช้เป็นแนวไม่ได้นะคะเพราะป้าเป็นประเภทลิ้นจรเข้คะ...

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูล

ปิดเทอมนี้สงสัยต้องจัดทริป ดูนาพากินกุ้ง ซะแล้ว 555

เมื่อเดือนที่แล้ว บังเอิญว่าได้เป็นวิทยากรรับเชิญให้กับน้องๆ ป.ตรี คณะทรัพยากรธรรมชาติ มอ.เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจการเกษตร คุยไปคุยมา ก็ได้ไอเดียโดยบังเอิญแล้วก็เลยได้โอกาสบอกกล่าวให้พวกน้องเค้าฟังเพื่อใครขะนำไปขยายผลต่อ

ไอเดียที่ว่าก็คือ การนำธุรกิจการท่องเที่ยวมาผสมรวมกับการเกษตร หลักๆก็คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ต้องมีที่ทำกินระดับ 10 ไร่ขึ้นไปอยู่แล้ว เจียดๆมาซัก 1-2 ไร่มาทำที่พักที่มีมาตรฐาน ความสะอาดและ ปลอดภัย ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ให้มาสัมผัสกับบรรยากาศของการทำเกษตร ใครมีนาข้าวก็พานักท่องเที่ยวไปปลูกข้าว เกี่ยวข้าว และอื่นๆกิจกรรมเกี่ยวกับข้าว หรือแม้แต่ ทำตัวสบายๆนอนพึ่งพุงแบบชาวนาก็ได้

ใครมีสวนยางก็พานักท่องเที่ยวเข้าสวนกรีดยาง พาเด็กๆเก็บลูกยาง มาเล่นต่อยลูกยางให้เจ็บมือเล่นๆ หรือทอยงูกินหางกัน

ใครมีนากุ้ง ก็เหมือนกัน กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดไปจนถึงจัด PRAWN BUFFET มื้อเย็นก็ยังได้เลย

เพราะผมเชื่อว่ามีผู้บริโภคอย่างเราๆนี้แหละ รู้จักต้นข้าว ต้นยาง และกุ้งจากตำราเรียนและในตลาดเท่านั้น ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นมายังไง และพวกเค้าก็น่าจะอยากทำความรู้จักด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าญี่ปุ่น ถ้าเค้ามีโอกาส เค้าน่าจะชอบที่จะไปพักผ่อน ในนากุ้ง ดูวิถีชาวนากุ้ง ที่เค้าไม่เคยพบเคยเห็นในญี่ปุ่น เค้ารู้จักแต่ ตัวกุ้ง เท่านั้น (ไม่รู้ว่ารู้จักน้องกุ้งหรือเปล่า???)

การที่ผู้บริโภคได้สัมผัสวิถีของธรรมชาติ สัมผัสถึงความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผู้เป็นรากฐานของสังคมไทยและเศรษฐกิจไทย จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ตามหลักปรัชญาที่ว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ถ้าพี่อ้นมีโอกาสลองพูดคุยไอเดียนี้กับชาวนากุ้งดูหน่ะครับ เผื่อมีคนสนใจ ไม่สงวนลิขสิทธ์ของไอเดียครับ

อยากเลี้ยงกุ้งมังกรครับ ฮา...

กุ้งกุลาร้องไห้มีไหมพี่ อยากเห็น ฮาอีก.....

ยินดีต้อนรับเข้าชุมชนคนชอบเขียนนะครับพี่อ้น (ยังไม่แก่เลยครับป้า)

น่าสนใจทีเดียวเลยคะคุณหนึ่ง...เผลอ ๆ อาจทำโฮมสเตย์ ชวนมาลองสัมผัสบรรยากาศจริง และลองเลี้ยงดูพอเป็นกระสาย...แต่อาจจะต้องแยกโซนนิดนึงนะคะ เนื่องจากโดยปรกติต้องมีการดูแลและป้องกันเรื่องการปนเปื้อนบ้าง แต่ฟาร์มกุ้งใหญ่ (คือบ่อเลี้ยง)ไม่ค่อยเข้มงวดคะ ต่างจากฟาร์มเพาะลูกกุ้ง หรือพ่อแม่พันธุ์...น่าสนใจคะ.. น่าสนใจ..อาจมีที่พักในละแวกใกล้เคียง และ ก็สร้างบรรยากาศร่มรื่นเล็กน้อย เนื่องจาก ในนากุ้งนั้นแสนร้อนทีเดียวในช่วงกลางวัน เพราะมักจะต้องเลี่ยงการมีต้นไม้ใหญ่ ไม่งั้นบรรดานกทั้งหลายจะพากันมามากมาย...ดูเหมือนเขากลัวนกกันมากทีเดียวคะ เพราะเป็นพาหะนำโรคได้...วันหลังหากมีโอกาสป้าจะเก็บเรื่องเลี้ยงมาเล่ากันยิบ ๆ เลยคะ...หรือจัดทริปทัศนศึกษาเลยดีกว่านะคะ...โวตค่ะ...

ขอบคุณคะคุณหมอที่แวะเข้ามาทักทาย แถมด้วยกำลังใจ และการต้อนรับ นี่ถ้าเป็นนักเรียนเพิ่งสอบเข้าก็นับเป็นการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่...อ้อว่าแต่ว่าอย่ารับน้องโหดนะคะ...ฮา(ด้วย)...

ยินดีปรีดาจังค่ะ (ถือว่า)ได้รับคำชมว่าไม่แก่..ภาพนี้ลงทุนปีนตึกขึ้นไปแอ๊คชั่นจะได้ดูทะมัดทะแมง แสดงว่าได้ผล...

เข้ามาตามไปจับกุ้งด้วย

ป้าอ้นอย่าลืมแวะเข้าไปชมหลานที่

http://s686.photobucket.com/albums/vv230/number9_2009/

ป้าแวะเข้าไปชมหลานแล้วค่ะน้องโอ (เอ...ต้องแทนตัวว่าเหล่ากิ๋มซินะถึงจะถูกต้อง) น่ารัก..แก้มยุ้ยชวนหยิกทั้งคุณแม่คุณลูกทีเดียว...เห็นแล้วชวนให้นึกถึงบั๊ดดี้ตัวน้อยร่างยักษ์ของป้าเมื่อวัยเดียวกัน เต็มอุ้มซะ... เดี๋ยวต้องหาเวลาไปฟัดซะหน่อย...ฝากบอกหลานว่าอย่ารีบโตนัก...นี่ก็เกือบ 5เดือนแล้ว ยังไม่ได้เจอกันเลย..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท