ทบทวนเรียนรู้กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสหสาขา : การสนทนากลุ่ม (Focus Gruop)


"...การผสมผสานกระบวนการและระเบียบวิธีดังกล่าวนี้เข้าไป ก่อให้เกิดผลเชิงกระบวนการ ซึ่งทำให้การวิจัยมีพลังทางวิชาการและพลังการจัดการความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม ระหว่างดำเนินการวิจัย เกิดขึ้นไปด้วย จัดว่าเป็นพัฒนาการของการวิจัยทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา ขยายออกจากการใช้ความเฉพาะกลุ่มและเฉพาะทางเป็นตัวตั้ง สู่การเชื่อมโยงความเป็นจริงของสังคมมากยิ่งขึ้น.."

           สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีวิธีสนับสนุนการทำวิจัยวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่น่าสนใจมาก  

         มีบางมิติที่สามารถผสมผสาน กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (Participatory Learning) และปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนพลังปัจเจกในแนวการทำงานประชาคม (Civic Action) แบบอ่อนๆ ผ่านขั้นตอนต่างๆของการวิจัย  โดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ของ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Professsional  Group Sharing and Discussion) ในขั้นการพัฒนาเครื่องมือและวางแผนการวิจัย เพื่อที่นักศึกษาจะสามารถปรับปรุงในทุกองค์ประกอบและดำเนินการวิจัยให้บรรลุความคาดหวังต่างๆได้อย่างดีที่สุด 

         รูปแบบและกระบวนการ คือ

         (๑) นักศึกษา  ทบทวนองค์ความรู้  เดินไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ  ซึ่งองค์ประกอบหลักในเบื้องต้นคือ  ผู้เชี่ยวชาญในด้านทฤษฎีที่นักศึกษาทำวิจัย  ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษาภาคทางการ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเรียนรู้และการพัฒนาทางสังคม 

         (๒)  ลักษณะการจัดคณะกรรมการ  เน้นความเป็นบูรณาการหลายมิติอยู่ในตนเองของผู้เชี่ยวชาญ  นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ  นับแต่ระดับท้องถิ่น  ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

         (๓)  กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ค้นหาผ่านการมีทุนทางสังคมกับอาจารย์ที่ปรึกษา หรือกับสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา ทางใดทางหนึ่ง  เช่น  เคยเป็นกลุ่มทำวิจัยร่วมกัน  เป็นศิษย์เก่าจากสถาบันการศึกษาบางระดับด้วยกัน  เคยเป็นเครือข่ายและคณะกรรมการทำงานร่วมกัน 

         (๓)  นักศึกษาพัฒนาประเด็นสำคัญเพื่อจัดสนทนากลุ่มกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับกลุ่มที่ปรึกษา  รวมทั้งขอคำแนะนำในการเชิญผู้เชี่ยวชาญ  ๑๐  คน  โดยประมาณ

         (๔) ดำเนินการจัดสนทนากลุ่ม เป็นเวลาครึ่งวัน  หรือประมาณ  ๓-๔  ชั่วโมง โดยนักศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ  มีอาจารย์ที่ปรึกษาให้การดูแลอย่างใกล้ชิด

         (๕)  รูปแบบและกระบวนการ เป็นการจัดสนทนากลุ่มทางการวิจัย ตามมาตรฐานทั่วไป คือ

  • มีประเด็นแน่ชัดแจ้งล่วงหน้า และพูดคุยกันไปตามลำดับ
  • จัดโต๊ะการสนทนาเป็นรูปตัวยู หรือรูปวงกลม
  • ติดป้ายชื่อผู้ร่วมสนทนาทุกคน
  • ผู้ดำเนินการสนทนา หรือนักวิจัยอยู่ในตำแหน่งเป็นประธาน
  • มีผู้ช่วยสอง-สามคน  ช่วยจดบันทึก  และบันทึกการสนทนาด้วยการถ่ายภาพ-วิดีทัศน์
  • ทำบรรยากาศให้กันเอง ปล่อยห้องการสนทนาให้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระยะหนึ่ง
  • เริ่มการสนทนาโดยแนะนำตนเองทุกคน นักวิจัยขออนุญาต และแจ้งแนวทางการสนทนาในประเด็นที่เตรียมการไว้ต่างๆ 

         การสนทนาครอบคลุมประเด็นต่างๆ คือ

  • แนวคิด วิธีคิด และทรรศนะทางวิชาการ ที่ควรสะท้อนลงสู่การดำเนินการวิจัยและมีนัยต่อการสร้างสรรค์
  • การพัฒนาเครื่องมือการวิจัย
  • การทบทวนทฤษฎี  องค์ความรู้  ปัญหา  และความเชื่อมโยงของภาคปฏิบัติในโลกความเป็นจริงของสังคมไทย
  • การออกแบบการทดลอง ในการวิจัยเชิงทดลอง
  • การเก็บรวบรวมข้อมูล
  • แนวการวิเคราะห์  อภิปราย และสรุปผลการวิจัย

        การวิจัยทางการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้  โดยเฉพาะการวิจัยที่มุ่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาในระดับปริญญาโท ซึ่งผสมผสานกระบวนการและระเบียบวิธีดังกล่าวนี้เข้าไป  ก่อให้เกิดผลเชิงกระบวนการ  ซึ่งทำให้การวิจัยมีพลังทางวิชาการและพลังการจัดการความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม  ระหว่างดำเนินการวิจัย เกิดขึ้นไปด้วย จัดว่าเป็นพัฒนาการของการวิจัยทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา  ขยายออกจากการใช้ความเฉพาะกลุ่มและเฉพาะทางเป็นตัวตั้ง  สู่การเชื่อมโยงความเป็นจริงของสังคมมากยิ่งขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 216445เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2008 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาอ่านและลงชื่อไว้ครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ครับ

กระบวนการน่าสนใจดีครับ หากเราลดขั้นตอนบางอย่าง ทำกลุ่มให้การพูดคุยเป็นธรรมชาติมากขึ้น น่าจะลดความเป็นทางการ(formal) ลง

ในกลุ่ม นศ.ก็น่าจะทำได้ และวิทยากรกระบวนการ ควบคุมโดยมีกระบวนการแบบหลวมๆ

ผลผลึกของความคิดที่ได้อาจจะต่างกัน

อีกอย่างครับ ดูจากบันทึกที่ได้ list หัวข้อที่มากเกินไป ประเด็นสนทนาก็หลากหลาย ผู้จดบันทึก ต้องเก่งในการจับประเด็น ส่วน วิทยากรกระบวนการ ก็คงต้องดูในภาพรวมเพื่อให้ครอบคลุมประเด็น

ขออนุญาตร่วมเรียนรู้ด้วยกับอาจารย์ ครับผม

---------------------------------------------

วันนี้ผมมาที่กระบี่ เพื่อทำกระบวนการกลุ่ม เพื่อถอดบทเรียนตามแผนพัฒนาจิต ของ มูลนิธิสดศรี ในเนื้อหากระบวนการที่เกิดขึ้นจะนำมาแลกเปลี่ยนกันในบันทึกต่อๆไปของผม รบกวนอาจารย์ให้ข้อเสนอแนะด้วยครับ 

ที่กระบี่ มีคนทำงานแนวสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่น่าสนใจมากหลายแห่ง บางชุมชน มีบริบทการทำงานที่น่าสนใจมากเป็นที่สุด เช่น ทำงานกับชุมชนไทยมุสลิมร้อบเปอร์เซนต์ และคนทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งเป็นมุสลิม ทว่าไปทำงานในชุมชนไทยพุทธร้อยเปอร์เซนต์อีกเหมือนกัน คุณจตุพรมีทักษะการทำงานกับกลุ่มวัฒนธรรมย่อยทางภาคเหนือมาก คงช่วยคนทำงาน และได้เรียนรู้เยอะแยะไปด้วย

ลองแวะไปดูหน้าแรกของคุณกวิน เลยได้ทราบว่าทำงานอยู่โรงพยาบาลสรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ บ้านผมเลย ที่นั่นมีคนทำงานชุมชนมือดีๆเยอะเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท