"ครู" ในบทบาท "นักวิชาการ" : รู้มา 100 สอนเพียง 1 ... (สอนเก่ง สอนเป็น)


ปกติไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทไหน "หนังสือแปล" เป็นหนังสือที่ไม่ค่อยชอบอ่าน เพราะคนแปลมักจะแปลแบบคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค ยิ่งอ่านยิ่งไม่สนุก

เหมือนคนไทยไม่ตลกมุขฝรั่ง ฝรั่งไม่ตลกในมุขคนไทย ประมาณนั้นแหละ

แต่เล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับครูผู้สอนเล่มหนึ่งที่เขียนโดยครูชาวญี่ปุ่น ชื่อ Tetsuya Yasukochi แปลโดย รศ.ดร.ศักดา ดาดวง อดีตนักเรียนญี่ปุ่น ปัจจุบันท่านอยู่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หนังสือชื่อ "สอนเก่ง สอนเป็น" ของสำนักพิมพ์สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)

 

 

ผมแทบไม่ต้องใคร่ครวญเลย ทั้ง ๆ ที่สตางค์ในกระเป๋ามีน้อยมาก แต่ก็ตัดสินใจซื้อทันที เปิดดูแล้วมีมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับการเรียนการสอนด้านการศึกษาในไทย

 

นำเสนอประเด็นการสอนหนึ่งแล้วกันนะครับ

 

 

"ครู" ในบทบาท "นักวิชาการ" : รู้มา 100 สอนเพียง 1

 

"มาสอน 1 โดยรู้แค่ 1" นั้นผิดมหันต์...

 

ขอเริ่มต้นจากความเป็น "นักวิชาการ" ของผู้เป็นครูเสียก่อน

แม้สถานะจะเป็นผู้สอน แต่ก็ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด "รู้มา 1 ส่วนแล้วเอาไปสอน 1 ส่วน" นั้นไม่ได้เรื่องแน่ ผู้สอนจะต้องเรียนรู้มามากถึง 100 ส่วน แล้วจึงจะนำมาสกัดหรือตกผลึกให้เข้มข้นจนเมื่อนำมาสอนได้เป็นเพียง 1 ส่วน

ตัวอย่างเช่น หากกล่าวถึงวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของผู้เขียนแล้ว ถ้ากำลังสอนเรื่องการแบ่งประเภทของ "คำกริยาที่นำหน้าด้วย to (ทู)" ในวิชาไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ แล้วรู้เพียงแค่มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ก็นับว่าผิดถนัด

สิ่งที่ต้องรู้คือ แต่ละประเภทมีที่มาอย่างไร พร้อมทั้งยกตัวอย่างและมีตัวอย่างที่ใช้งานจริงอะไรบ้าง ฯลฯ ดังนั้นการสอนเกี่ยวกับ "คำกริยาที่นำหน้าด้วย to" หากไม่มีตัวอย่างประโยคมากมายอยู่ในสมองไว้ก่อน ก็จะเข้าใจยาก ผู้ที่มีความรู้เพียงผิวเผินหรือครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั้น เมื่อให้อธิบาย ยิ่งอธิบายจะยิ่งงง และกลับทำให้เข้าใจยากยิ่งขึ้นไปอีก

การทำให้ "เข้าใจง่าย" นับเป็นหัวใจของการสอนเลยทีเดียว ซึ่งการจะทำให้ "เข้าใจง่าย" นั้น ผู้สอนต้องมีความรู้สะสมไว้มหาศาล แล้วคัดกรองว่าส่วนไหนสำคัญ ส่วนไหนไม่สำคัญ และสกัดหรือตกผลึกส่วนสำคัญเหล่านั้น ส่วนที่ไม่สำคัญก็ต้องตัดทิ้งไป แล้วหาบทสรุปซึ่งจะช่วยเพิ่มความอยากเรียนอยากรู้ของผู้เรียนได้

ในทางกลับกัน ผู้ที่มีความรู้เพียงน้อยนิด ไม่สามารถขมวดประเด็นสำคัญให้สรุปลงไปได้ ก็จะไปอธิบายรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็พูดวกไปวนมา สรุปไม่ลง จนในที่สุดก็เลยไม่รู้อะไรเป็นอะไร

 

บทบาท "ผู้สอน" จำเป็นต้องถ่ายทอดความรู้ของตนให้ผู้เรียนได้รู้กันทั่วไป

ยิ่งไปกว่านั้น ทางด้านผู้เรียนก็จะจับตามอง "ท่าทาง" รวมทั้ง "พฤติกรรม" ของผู้สอน ชนิดตาไม่กระพริบ

พ่อแม่ที่เอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ วัน ๆ เอาแต่ดูทีวี ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แม้จะดุว่าให้ลูก ๆ ต้อง "ตั้งใจเรียน" ก็คงยากที่ลูก ๆ จะเชื่อฟัง หรือเจ้านายที่ทำตัวสบาย ๆ จะมาสั่งลูกน้องให้ต้อง "ตั้งใจทำงาน" ก็คงไม่มีใครใส่ใจ

ความหมายลึก ๆ ของคำกล่าวที่ว่า "ครูก็คือนักเรียนที่ดี" โดยหลัก ๆ แล้วผู้เขียนคิดว่า หมายถึง การแสดงให้ลูกน้อง ลูกศิษย์ และลูกหลาน เห็นถึงความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมา ดังนั้น ผู้สอนเองก็จำเป็นต้องเรียนรู้ไม่มีวันจบเช่นกัน

 

.............................................................................................................

 

คนเป็นครู รู้มา 100 ส่วน สอนเพียง 1 ส่วน แต่เป็น 1 ส่วนที่คัดสรรแล้วว่า เด็ก ๆ จะฟังแล้ว "เข้าใจง่าย"

ซึ่งตรงหลักการสอนว่า สอนจากสิ่งที่ "ยาก" เป็นสิ่งที่ "ง่าย" คือ หน้าที่ของครู

ไม่ใช่ สอนจากสิ่งที่ "ยาก" ให้ "ยากกว่า" แบบนั้น นักเรียนหนีออกนอกห้องหมด

หรือไม่ก็พาลเกลียดวิชานั้นไปโดยปริยาย

ใช่หรือไม่ครับ ไม่เชื่อลองนึกถึงตัวเองตอนเด็ก ๆ ดู ว่า เรารักหรือเกลียดวิชาไหนบ้าง

สาเหตุหนึ่งอาจจะมี "ครูผู้สอน" นั่นแหละ

อยากจะทำ "บุญ" หรือ "บาป" ก็เลือกเอาเองเถอะ

เส้นบาง ๆ กั้นเพียงนิดเดียวเท่านั้น

 

และ ครู คือ ผู้ที่ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดชีวิต

 

 

หนังสือเล่มนี้เขาดีจริง ๆ เหมาะสมคนเป็นครูไม่ว่าจะมือใหม่ หรือ มือเก่า

ลองเดินหาดูตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ ของจังหวัดท่านดูนะครับ

บุญรักษา ทุกท่าน

 

.............................................................................................................

 

ขอบคุณหนังสือดี ๆ ...

ยาสุโคชิ, เท็ตสึยะ.  สอนเก่ง สอนเป็น.  กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), 2554.

(รศ.ดร.ศักดา ดาดวง, ผู้แปล)

 

หมายเลขบันทึก: 435701เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2011 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีค่ะ

เห็นชื่อบันทึกก็น่ากลัวเกรง  เข็ดขยาดค่ะ  อ่านแล้วก็ชอบ แต่บังเอิญไม่ทราบความเป็นไป  เพียงแต่ได้ยินคนอื่นเขาคุยกันมาตามสภากาแฟว่า

"ตราบใดที่ครูเก่ง คนเรียนก็ต้องเก่ง  ครูบรรเลง ๑ เพลงให้เด็ก ๑๐ คน  แต่เด็ก ๑๐ คนต้องบรรเลงได้คนละ ๑ เพลงเป็น ๑๐ เพลง" ค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ทำหน้าที่ครูนะคะ

มิต้องกลัวเกรง หรือ เข็ดขยาด ครับ พี่ จันทน์รักษ์ ;)...

เป็นเพียง "กระบวนยุทธ์" ที่ใช้สำหรับฝึกปรือคุณครูดี ๆ เท่านั้นครับ

หมายถึง อยากเป็นครู ห้ามหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้

มิฉะนั้น ก็สอนความรู้เก่า ๆ เมื่อ 20 - 30 ปีที่ผ่านมาโน้น

ความรู้มันขึ้นสนิม น่ะครับ ;)...

ขอบคุณครับ ;)...

สวัสดีค่ะอาจารย์ สรุปได้ชัดเจนมากๆค่ะ ครูควรจะรู้ลึกซึ้งและเข้าใจในสิ่งที่สอนเป็นอย่างดี ขยายให้มากเท่าที่จะทำได้นะคะ ครูจึงต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และยอมให้ศิษย์สอนในเรื่องที่ครูตามไม่ทัน กิกิ เทคโนโลยีสมัยใหม่ๆๆ BB

นั่นแหละครับ คุณครู Rinda ความหมายของคำว่า "รู้มา 100 สอนเพียง 1" ;)...

ครู ไม่ใช่ ฟอสซิล ไงครับ อิ อิ

ขอบคุณครับ ;)...

อยากเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความแตกฉานของครูมากกว่า

การรู้ลึกและรู้จริง ทำให้เกิดการพลิกแพลงได้

เพราะสุดยอดของสุดยอดก็คือการพลิกแพลงได้ทุกกระบวนท่า

และต่อยอดเชื่อมโยงกับทุกสรรพสิ่ง ลื่นไหล

ตามสบายครับ ท่าน ผอ.วัฒนา คุณประดิษฐ์ ;)...

ไม่ Fixed คำ แต่เป็นกระบวนยุทธ์เดียวกันครับ

ขอบคุณนะครับ ...

ป.ล. เดินทางเข้าเชียงใหม่เมื่อไหร่ แจ้งทางเมล์ให้ทราบด้วยนะครับ

ผมแพ็คของรอแล้วเนี่ย ;)...

น่าจะเปลี่ยนเป็นคำว่า เป็น "ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้" เป็น จะดีมากๆยิ่งขึ้นไปนะครับ...

สวัสดีค่ะ

"...คนเป็นครู รู้มา 100 ส่วน สอนเพียง 1 ส่วน แต่เป็น 1 ส่วนที่คัดสรรแล้วว่า เด็ก ๆ จะฟังแล้ว "เข้าใจง่าย"

เป็นหัวใจของการสอนเลยค่ะ

ขอบคุณเรื่องดีๆค่ะ

ครูบ้านเราใช่จะต้องรู้เรื่องสอนอย่างเดียวซะที่ไหน

ต้องรู้เรื่องอื่นๆ..อีกบานตะไท พะเรอเกวียน

จนเรื่องที่จะสอน...บางทีก็ไม่ได้แสดง...เฮ้อ!!!!

จะไปหาอ่านดูค่ะ..ขอบพระคุณอาจารย์ที่แนะนำนะคะ..^^

บังเอิญหนังสือใช้คำนี้ครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ;)...

นำเสนอมาแค่บทบาทเดียวครับ นอกจาก "นักวิชาการ" ก็ยังมี "นักแสดง", "ศิลปิน", "หมอดู" และ "หมอรักษาโรค" อีกครับ

"นักวิชาการ" แค่บทบาทแรกที่พูดถึง

ขอบคุณครับ ;)...

นั่นนะสิครับ พี่ ครู ป.1 ;)...

รู้มากมาย แต่ตอนใช้ดัน "ลืม" ซะก่อน เพราะเรื่องมันเยอะ ;)...

ขอบคุณครับ

ยินดีและขอบคุณครับ คุณ ครูแป๋ม ;)...

สอนไม่เก่ง...สอนไม่เป็น...สอนไม่ดี....แต่เสนอหน้าอยากจะสอน..คงจะไม่มีใครล่ะมั๊งคะนอกจากครูเตี้ยอึดนี่ล่ะม๊าง

.เรียนจบบรรณารักษ์มาแต่ดั๊นสอบลงโรงเรียนประถมเลยไม่มีวิชาให้สอน..สมน้ำหน้าตัวเอง..เจงๆๆนิรู้งี้เรียนศิลป์ดีกว่า

แต่ก็พอถูไถไปได้เรื่อยๆจะสอนวิชาอะไรก็คิดว่าน่าจะสอนได้แต่คงไม่เริ่ดสแมนแตนเหมือนครูที่เขาเรียนมาแต่เด็กสมัยนี้เก่งไม่ต้องสอนมากรู้ไปหมด555

ขอบคุณครับ คุณครูบรรณารักษ์ เตี้ยอึด ;)...

อ่านแล้วทึ่งจริงๆค่ะอ.เสือ เกิดมาเพื่อเป็นคุณครูโดยแท้ :)

ส่งกำลังใจกับการงาน และรร.แห่งความสุข สำเร็จราบรื่นดั่งปรารถนา

แล้วจะติดตามเก็บตก อ่าน ชมภาพ มุมมองแปลก มิเปลี่ยนแปลงเจ้า :)
 

ยินดีและขอบคุณมากครับ คุณ Poo ;)...

เป็นหนังสือที่ดีจริงๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท