รัฐธรรมนูญมาตรา 67 เดทล็อคของกระทรวงอุตสาหกรรม


ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้ เป็นการยอมรับต่อสาธารณะว่าโรงงานทุกประเภทตามบัญชีท้ายประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำ EIA ตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม’35 เป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67

                    ผลพวงจากมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติว่าจากนี้ไปการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการ 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ

                    1. ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน

                    2. จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และ

                    3. ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

 

                    ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานเพียง 2 ขั้นตอนคือ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และจัดรับฟังความคิดเห็นตามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เท่านั้น ส่วนองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่จะทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินโครงการนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งแต่อย่างใด

 

                   ในขณะที่ภาคประชาชนได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ในทันที่ตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกระบวนการ EIA และ HIA ที่ต้องปรับให้มีคุณภาพมากขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น พร้อมๆกับผลักดันให้เร่งออกกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ถ้าไม่ดำเนินการให้ครบถ้วนก็จะฟ้องร้อง

 

                   ในฟากฝั่งของหน่วยงานที่ต้องอนุมัติ ให้ก่อสร้างโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ก็มีความยุ่งยากไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ที่ขณะนี้มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ได้ยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือยื่นคำขอยายโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่กระทรวงอุตสหกรรมก็ยังไม่กล้าอนุมัติ เพราะยังไม่ชัดเจนว่าโรงงานประเภท/ชนิดใดบ้างที่เข้าข่ายว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ ตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฯ เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดรายละเอียดในเรื่องนี้ไว้ (อย่างครบถ้วน)

 

                   ทางออกของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

                    1. ให้โรงงานตามบัญชีท้ายประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำ EIA ตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม’35 เป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง

                    2. ก่อนพิจารณาคำขออนุญาตของโรงงานตามข้อ 1 ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน โดยวิธีการให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงาน EIA ออกตามมาตรา 46 และ 51 ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม’35

                    3. ในการพิจารณาคำขออนุญาตโรงงานตามข้อ 1 ให้ผู้อนุญาตตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 พิจารณาเฉพาะโรงงานที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามมาตรา 49 ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม’35 แล้วเท่านั้น

 

                    ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้ เป็นการยอมรับต่อสาธารณะว่าโรงงานทุกประเภทตามบัญชีท้ายประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำ EIA ตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม’35 เป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่จะต้อง     ศึกษาทั้ง EIA และHIA ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และที่สำคัญคือต้องให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อน

 

                    มีบางโครงการที่ผ่านEIA รวมทั้งจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว (ไม่ว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ก็ตาม) แต่บางโครงการก็ผ่าน EIA แล้วแต่ไม่มีได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

 

                    โครงการเหล่านี้ยังอนุมัติให้ดำเนินการไม่ได้ เพราะยังไม่มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาให้ความเห็น

 

                    แล้วองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อยู่ที่ใด

หมายเลขบันทึก: 245913เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2009 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลายคนรู้ว่ามีปัญหา แต่แทบจะไม่มีใครคิดแก้ปัญหาเลย น่าเศร้าจริงๆ

ตอนนี้ไม่กระทบอะไรนะเห้นทำงานหากินกันเจริญเติบโต HIA แถวมาบตาพุดนะ รวยๆทั้งนั้น ขนาดร้านขายหมูปิ้ง ,ส้มตำไก่ย่างวิเชียร 9ล9. มี VIGO ขับกัน HIA มัน AUTO อยุ่แล้ว...คนกินดีอยุ่ดี คือ HIA ไม่เจ็บไม่ไข้=EIA

คนทำงานอยู่นี่ เขาจบมหาลัยกันทั้งนั้นรวมกันอยุ่ที่นี่มีกี่ มหาลัย กี่ประเทศ ??...เขารู้ดี...รู้จริง....ไม่ต้องเสียเงินจ้างดอก....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท