ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้ ตอนที่ 2


ผู้เขียนมองต้นไม้เหล่านั้นเหมือนจิตใจพนักงาน ที่บอบช้ำ และต้องการเยียวยา ผู้เขียนเรียกว่า "บำบัดด้วยธรรมชาติ"

ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้  แบ่งเป็น  3  ตอน

ตอนที่ 2

"เกิดอะไรบ้างที่คาดไม่ถึง"

"ใช้มุขอะไร?"

"กระตุ้นอย่างไร?"

         การทดสอบจิตใจพนักงานเกิดขึ้นหลายครั้งระหว่างที่ผู้ขียนเยียวยาพวกเขา    การลงมือทำงานชิ้นเล็กๆด้วยมือของเราเอง  เช่น การเช็ดกระจกอาคาร เพื่อเตรียมต้อนรับแขก  ซึ่งต่อมาพนักงานกลุ่มช่างก็ทนดูผู้เขียนไม่ได้  ส่งทีมออกมาช่วยเหลือกัน  งานอื่นที่อาจต้องจัดจ้างภายนอก เช่น การเขียนป้าย  ก็ถูกจัดทำขึ้นภายในเอง จากพนักงานอีกกลุ่มหนึ่ง  เหลือกลุ่มสุดท้ายที่ผู้เขียนให้เวลาเยียวยาสภาพจิตใจเขาต่อไป จากผลกระทบของปัญหา

         ความมุ่งมั่นที่จะทำงานชิ้นเล็กๆของผู้เขียนให้สำเร็จ ทั้งต่อหน้าและลับหลังเจ้านาย  ทำให้ผู้เขียน เริ่มได้รับการยอมรับจากกลุ่มเงียบ  และทำให้ผู้เขียนได้ Information ในการบริหารจัดการ แบบวัฒนธรรมองค์กร  ช่องว่างระหว่างผู้เขียนกับพนักงานค่อยๆเล็กลง และได้รับความยำเกรง ซึ่งเริ่มต้นจากความอ่อนน้อมถ่อมตนของเราเองนั่นแหละ

         ผู้เขียนมักท้าทายพนักงานให้พนันว่า ผู้เขียนจะตัดสินใจอย่างไร? ในทางเลือกต่างๆ  หรือเหตุการณ์ ที่พวกเขาเคยประสบ ...ว่าจะเป็นไปตามประวัติศาสตร์องค์กร หรือไม่?   การดำเนินเรื่องราวต้องซับซ้อนหลายชั้น เพราะต้องให้เรื่องนั้นคลายปมที่มีอยู่ค่อนข้างมาก และไม่ส่งผลกระทบ หรือกระทบน้อยที่สุด พนักงานยิ้มออกมาได้แม้จะทุกข์  คนไทยชอบพนันขันต่อ  จริงๆ คือชอบเสี่ยง และชอบงานที่ท้าทายนั่นเอง  ผู้เขียนไม่ได้มุ่งตำหนิเขา เรื่องการเล่นหวย แต่ยุให้เขานำความชอบภายใน ออกมาเล่นกับผู้เขียน

         ผู้เขียนได้เพื่อน โดยที่ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังว่าจะมี และหาได้  คำว่าเพื่อน  สำหรับผู้เขียน คือ  กล้าวิพากษ์หรือเตือนกันต่อหน้าในข้อบกพร่อง และมีการยอมรับฟัง  ผู้เขียนจึงเริ่มสนุกกับ เรื่อง Culture Change โดยไม่รู้ตัว

         ตลอดระยะเวลาของการรวบรวมข้อมูล  ผู้เขียนมักเดินดูพื้นดิน ต้นไม้ ต้นหญ้า หรือนก ภายในอาณาเขต มากกว่า 100 ไร่  และพยายามจัดแจกันจากดอกหญ้า ดอกไม้ที่ไม่ต้องซื้อหา ยกเว้นโอกาสพิเศษ ผู้เขียนจะหาซื้อดอกไม้แปลกๆมาตั้ง และนับว่าได้สร้างบรรยากาศที่ดีในการประชุม สิ่งเหล่านี้ยืนยันต่อผู้เขียนว่า องค์กรมีทรัพยากรคนที่เป็นเพชร ไม่ใช่พลอย   การสัมผัสดินฟ้าอากาศ ทำให้เราเกิดความเบิกบานสดชื่น ผ่อนคลายความเครียด สิ่งเหล่านี้คงเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างแปลกของผู้เขียน ...เป็นผู้หญิงทำไมไม่กลัวงู ผู้ชายยังกลัว?  เดินทำไม ทำไมไม่นั่งรถ?  เป็นต้น 

         เรื่องความเชื่อทางดินฟ้าอากาศ เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ในชนบท   มีเหตุบังเอิญหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น  การขุดพบชิ้นส่วนประกอบถังบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งยังประกอบไม่แล้วเสร็จ  ซึ่งผู้เขียนได้สั่งงานแรมโบ้ช่วยทำงานนี้  และได้รับการสนับสนุนจากผู้จัดการฯส่งลูกน้องแรมโบ้2 แรมโบ้3 มาสมทบ  การขุดครั้งนี้ เริ่มต้นจากการขุดหาสายไฟทองแดงที่ไม่ใช้งานเป็นจำนวนมากพอควร พอจะเปลี่ยนเป็นตัวเงินให้เจ้าของได้จับจ่ายช่วงปลายเดือน  เจ้านายดีใจ ระคนแปลกใจที่ไม่ต้องซื้อหา หรือลงทุนสำหรับชิ้นส่วนที่ขาดหายไปในตอนแรก เป็นมูลค่าเพิ่ม    ผู้เขียนดีใจที่ค้นพบ แรมโบ้ 3 คน ในโรงงาน มีพละกำลังในระดับหัวแถวทีเดียว  กิจกรรมนี้ได้รับความร่วมแรงร่วมใจ จากพนักงานท่านอื่นๆด้วย ผู้เขียนภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น    ไม่มีใครตำหนิใครอีก พนักงานรุ่นติดตั้งฯ ช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุของชิ้นส่วนที่หายไปนี้   ...พวกเขาได้เรียนรู้ เรื่องการบริหารจัดการ เรื่อง 5 ส ไปทีเดียว "เหตุเพราะฝนตก จึงมีพนักงานนำแผ่นเหล็กดังกล่าวมารองพื้นดินที่เป็นหลุม เพื่อให้เป็นทางผ่าน  และไม่มีการเก็บอุปกรณ์นี้ไว้รวมในกลุ่มเดียวกัน  เวลาผ่านจากวันเป็นเดือน จึงพากันลืมแล้วว่าชิ้นส่วนกระจัดกระจายที่ใดบ้าง"

         เมื่อได้โอกาส และเป็นจังหวะที่เหมาะสม  ผู้เขียนจึงใช้ภาวะผู้นำทางวัฒนธรรม บริหารจัดการกิจกรรมรวมใจขึ้น   กิจกรรมแรก ผู้เขียนมุ่งไปที่ กล้าไม้เฉลิมพระเกียรติ ที่เหี่ยวเฉา รอวันตาย  ผู้เขียนคิดว่า ต้นไม้เหล่านี้ถูกเอ่ยอ้างเอาโอกาสเฉลิมพระเกียรติขอมาจากหน่วยงานราชการ โดยผู้เขียนเป็นผู้จัดพิมพ์เอกสาร  พนักงานในองค์กรเดินผ่านไปมาทุกวัน  เห็นต้นกล้าเริ่มตายลงมากบ้างน้อยบ้างย่อมมีสภาวะจิตใจที่เหี่ยวเฉา    ยิ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า  ไม่เตรียมแผนพื้นที่การปลูกเสียก่อน ตั้งแต่วันที่ขนย้ายต้นกล้าเข้ามา  โดยเฉพาะช่วงที่มีการขนอุปกรณ์ชิ้นส่วนเหล็กต่างๆ และมีการเผาหญ้า ทำให้ไอร้อนเหล่านั้นมาทำร้ายต้นไม้เล็กๆเหล่านี้     ผู้เขียนจึงขอแรงกลุ่มพนักงานที่พอมีความเข้าใจเรื่องธรรมชาติต้นไม้  ทำการคัดแยก รื้อต้นที่ตายออก เหลือประมาณ  700 ต้น จากที่ขอมา 1500 ต้น  และขนย้ายต้นกล้าที่รอดเหล่านั้นมาฟื้นฟูด้วยธรรมชาติที่ข้างรั้ว  ซึ่งสำรวจชัยภูมิแล้ว มีความเหมาะสม เรื่องแสงแดด ลม น้ำ คล้ายเรือนเพาะชำ   ผู้เขียนมองต้นไม้เหล่านั้นเหมือนจิตใจพนักงาน ที่บอบช้ำ และต้องการเยียวยา ผู้เขียนเรียกว่า "บำบัดด้วยธรรมชาติ"

         ถุงดินที่เหลือเนื่องจากต้นกล้าตายไป  ผู้เขียนนำมาเพาะเมล็ดดอกบานชื่น ซึ่งมาจากความอนุเคราะห์ของพนักงาน  และเมล็ดดอกหงอนไก่ ซึ่งผู้เขียนได้จาก แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวหน้าวัดหนองเสือ  ต่อมาเราเฝ้ามองการเจริญเติบโตของกล้าดอกไม้  2 ชนิด ท่ามกลางเสียงความเห็นด้านลบและด้านบวก   ...เรื่องธรรมดาของ  ค คน...  เมื่อต้นกล้าโตเต็มที่ ก็เป็นโอกาส ที่ผู้เขียนต้องการแก้ไขความผิดพลาดเดิมขององค์กร  ด้วยการรวมใจพนักงานช่วยกันปลูกดอกบานชื่น และดอกหงอนไก่  ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่บริเวณศาลเจ้าที่  จุดศูนย์รวมจิตใจของพนักงาน  สิ่งที่สวยงามจึงถูกเนรมิตขึ้นอย่างมหัศจรรย์ อย่างไม่น่าเป็นไปได้

 

         ตลอดระยะเวลาที่ผ่านไปๆ ธรรมชาติแท้ๆ หล่อหลอมจิตใจคน  ผู้ชายที่แข็งแกร่ง จับงานเหล็ก งานช่าง กลับมีการพัฒนาจิตใจที่อ่อนโยน จากคำพูดหยาบ  เป็นการเกิดมีมารยาท  ความกรงใจ เข้าใจปรัชญาการดำเนินชีวิต  ท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาที่คนมีต่อคนเสมอ  และเมื่อเกิดสิ่งที่ดีงาม สวยงาม  คนก็มุ่งยึดเป็นที่พักพิงใจ  เกิดความโลภ โกรธ หลง ให้เห็นในกริยาอาการต่างๆ  การให้อภัยซึ่งกันและกันตลอดเวลา ทำให้องค์กรเดินไปเรื่อยๆ ดื่มด่ำความสุข  เจ้าของก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มได้สัมผัสความแปลกใหม่นี้นับแต่คิดสร้างโรงงานมา  ตัวผู้เขียน  มีหลายเหตุผล ในการพิสูจน์คน  วัดปรัชญาการบริหาร  และทำเรื่องการพัฒนาคน 

 

         ผู้เขียนจึงเข้าใจ จากสิ่งที่ทุ่มเทลงมือปฏิบัตินั่นเองว่า  คนมักตัดสินคนอื่น และวิพากษ์ บนพื้นฐานของมุมมองและประสบการณ์ของตนเองเท่านั้น  หรือนัยหนึ่ง คือตีความบนทัศนคติของตนเอง ซึ่งจะบวกหรือลบ ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา จึงคล้ายกับคนไทยไม่มีความสามัคคี หรือทีมเวอร์ค  แต่เมื่อค่อยๆพูดจาอธิบายเหตุอธิบายผลกัน จะนับว่าคนไทยนั้นมีข้อดีอยู่มาก  ผู้เขียนจำต้องให้โอกาส และใช้เวลาในการพิสูจน์ เพียงให้ได้ลงมือกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์   ผู้เขียนยอมรับว่า ทัศนคติของตนเองต่อคนเปลี่ยนแปลงไปมาก...   คล้ายได้จัดการกับสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา  ...คนก็เป็น เช่นนี้แล   รัก โลภ โกรธ หลง   ณ เวลาหนึ่ง แต่ละผู้แต่ละนามควรได้อะไร ไม่ได้อะไร ก็แล้วแต่ธรรมชาติ กำหนด...

 

ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้  ตอนที่ 1

ยกระดับงานควบคู่กับการเรียนรู้  ตอนที่ 3

หมายเลขบันทึก: 198895เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2008 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท