ต้องรอให้พร้อมก่อนหรือ จึงจะเปิดคลินิกเท้าผู้ป่วยเบาหวาน


ไม่มีอะไรเลย ก็ทำงานได้

        จากการคุยกับเพื่อนๆที่ทำงานด้านเท้าผู้ป่วยเบาหวานมาระยะหนึ่ง พบว่าปัญหาหลักคือ งานจะมาหยุดที่การประเมินเท้าผู้ป่วยเบาหวาน แล้วหยุดแค่นั้น ซึ่งจริงๆแล้วยังมีในเรื่องการรักษาแผล การป้องกันการกลับมาของแผล และเรื่องการดูแลสุขภาพเท้า คล้ายๆกับการตรวจสุขภาพผู้ป่วย แล้วบอกว่าคุณเป็นมะเร็งนะ แล้วจบแค่นั้น ไม่มีการรักษาใดๆ ต่อไป เราจะปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่กับปัญหาอย่างนี้หรือ?

      วิธีการที่ดีคือต้องมีเวทีหรือช่องทางให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบริการโดยตรง เป็นการลดขั้นตอน และสร้างที่พึ่งให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาเท้าชา แผลได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบุคลากร ให้เป็นสถานที่ฝึกฝนทักษะในการรักษาแผล วิจัย และสร้างสรรค์ผลงานเฉพาะทาง ตลอดจนเป็นศูนย์การส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลข้างเคียงได้อีกด้วย นั่นคือ การจัดตั้งคลินิกเท้าผู้ป่วยเบาหวาน

        โรงพยาบาล บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดี ในการพัฒนางานด้านการดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งถือว่าปัจจุบันเป็นผู้นำด้านนี้ของเขต 6 ภาคกลางเลยทีเดียว

     

          "พี่เห็นขอทานคนหนึ่งที่ตลาด พอมองไปใกล้ๆ พี่จำได้ว่าเป็นคนไข้เบาหวานของพี่ พอถูกตัดขา ก็โดนให้ออกจากงาน ลูกก็ยังเรียน เลยต้องมาหาเงินด้วยวิธีนี้"

   เป็นบทสนทนาระหว่างผมกับ พี่สายฝน ม่วงคุ้ม พยาบาลที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง หลังจากที่ผมถามว่าทำไมถึงอยากมาทำงานด้านเท้าเบาหวาน

      ก่อนที่จะลำลากัน จากนั้นเราก็ได้ติดต่อกันเป็นระยะๆ และได้ยินมาว่างานด้านนี้ที่โรงพยาบาลบ้านโป่งกำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง  

      งานเท้าเบาหวานที่นี่ เริ่มต้นจาก" 0 " ศูนย์ในที่นี้คือไม่มีอะไรเลยแม้กระทั่งความรู้  ไม่มีแม้แต่สถานที่ และอุปกรณ์ บางอย่างที่ขาดเหลือก็ได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์หญิง มนัญญา วรรณไพสิฐกุล แพทย์อายุรกรรมโรคไตโรงพยาบาลบ้านโป่ง ผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ได้จัดซื้อมาให้ด้วยงบประมาณส่วนตัว

       แพทย์หญิงมนัญญาซึ่งเป็นแพทย์อายุรกรรมโรคไต ท่านพบว่าผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ที่มาตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกและที่มาทำการล้างไตส่วนใหญ่ มักจะมีปัญหาแผลที่เท้าเสมอๆ จึงผลักดันคลินิกเท้าผู้ป่วยเบาหวานจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

   

 

  คลินิกเท้าผู้ป่วยเบาหวาน ที่แทรกตัวอยู่หลังที่นั่งรอตรวจ OPD

        เริ่มต้นจากเอาฉากกั้นไปกั้นเป็นห้องเล็กๆบริเวณOPD ที่ผู้ป่วยรอพบแพทย์ โดยมีแค่เตียงตรวจ 1 เตียงกับโต๊ะวางของ ทำงานด้านประเมินและหัตถการต่างๆ  อุปกรณ์ส่วนใหญ่ก็ยืมเค้ามา มาจากห้องฉุกเฉินบ้าง พอใช้เสร็จก็ส่งเค้าคืนเพื่อฆ่าเชื้อ ไม่ได้ซื้อเพิ่มอะไร

       ต่อมาก็ย้ายหลายครั้ง เพราะกีดขวางการจราจร จนไปหยุดที่มุมห้อง คิดว่าจะไม่ย้ายไปไหนอีกแล้ว เพราะประชิดมุมทั้งสองด้านแล้ว

  

        รอบนี้ย้ายไปต่อไม่ได้ เพราะติดมุมแล้ว

       ต่อมาพี่สายฝน สามารถสอบเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก  ต้องลาออกเพื่อศึกษาต่อทันที แต่ก่อนไปพี่ฝนได้แตะมือเปลี่ยนให้ คุณจันทร์ฉาย ตระกูลดี มาสานต่องานด้านนี้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของที่นี่ 

    พบกันครั้งแรก พี่จันทร์ฉายพาคนไข้มาที่สถาบันราชประชาสมาสัยอย่างงงๆ ซักถามทุกอย่าง ร่วมกับได้ตระเวน ไปหาความรู้จากทุกที่ ศิริราชเอย เทพธารินทร์เอย ที่มีการจัดอบรมเรื่องเท้าเบาหวาน และกลับมาเริ่มทำงาน ทันที เพื่อสานต่องานของพี่สายฝน ที่มีผู้ป่วยรอคอยการรักษาจำนวนมาก

        แล้วก็เริ่มตรวจประเมิน (เริ่มจากศูนย์อีกครั้ง) พร้อมกับมีหัตถการง่ายๆ เช่น การขูดหนังแข็งรอบๆแผล(Callus) เพื่อสนับสนุนการหายของแผล การสอนผู้ป่วยเรื่อง self care หลังๆนี่ได้ข่าวว่า อัดเสียงใส่เท็ป แล้วเปิดให้ผู้ป่วยฟังตอนทำหัตถการ เพราะวันหนึ่งต้องพูดเป็นสิบๆรอบ อีกอย่าง ประมาณว่า กรอกหูเข้าไปเลย อัดเข้าไป อัดเข้าไป มากี่รอบ ก็ฟังทุกรอบ จนจำขึ้นใจ

      หากแผลไหนดูไม่ไหวก็ส่ง สถาบันราชประชาสมาสัย เพื่อตัดรองเท้าพิเศษ(รองเท้าแตะ) และเก็บข้อมูลทุกอย่าง ชนิดว่า งานทุกอย่างไม่ให้กระเด็นไปไหน ข้อมูลนำมาใช้ประเมินหมด

   สิ่งที่น่าแปลกใจคือที่นี่ ไม่มีอุปกรณ์ครบครัน เน้นด้าน Foot care ขูดหนังแข็งรอบๆแผล ให้ความรู้ในการดูแลตนเอง แต่สามารถรักษาแผลที่ส้นเท้าใหญ่ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รักษาค่อนข้างยากได้  ซึ่งตอนนี้ได้ยินมาว่าเริ่มทำการเข้าเฝือกแบบ Total contact  แล้วด้วย เก่งจริงๆ

      ปัจจุบัน Foot clinic แห่งโรงพยาบาลบ้านโป่ง เป็นห้องส่วนตัวที่ได้รับความกรุณาต่อเติมเป็นพิเศษจากนายแพทย์สุวัฒน์ ตนายะพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และยังได้รับรางวัลดีเด่นจากหลายสถาบัน ดังนี้

       - รางวัลพิเศษประเภททีมงานดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จากสมาคมต่อมไร้ท่อ

       -รางวัลประเภททีมงานดูแลผู้ป่วยเบาหวานในงาน HA Forum

       ด้านทีมบุคลากรได้รับเชิญไปบรรยายเป็นวิทยากร และร่วมอภิปรายเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานหลายครั้ง

      

               ผู้อำนวยการเปิดตัว Foot Clinic

   

     Diabetes Foot Clinic โรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี

     

     วันเปิดคลินิกมีแขกมาร่วมงานและช่วยงานคับคั่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มารับบริการ เฟอนิเจอร์บางอย่างผู้ป่วยก็ยกมาให้ แม้กระทั่งพระสงฆ์ที่มาทำพิธีเปิดและเจิมก็เป็นผู้ป่วยเบาหวานของทางคลินิกเอง แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้

  

  

      ผลลัพธ์ที่เป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึงความสามารถของคลิกนิกเท้าเบาหวานได้อย่างตรงไปตรงมา  

  ผลการดำเนินงาน                                 2547         2548        2549

  จำนวนผู้ป่วย admit จากแผลที่เท้า   2.33%    1.23%    1.28%

 อุบัติการณ์แผลและการตัดอวัยวะ     30.26%    18.0%     16.1%

    โดยปี 2547 เป็นปีที่เริ่มดำเนินโครงการเกี่ยวกับเท้าผู้ป่วยเบาหวาน จะเห็นได้ว่ามีการลดลงของเวลาการนอนโรงพยาบาลและการตัดอวัยวะ อย่างเห็นได้ชัดในปีต่อมา

              ส่วนทางอ้อมคือการได้ช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถมีชีวิตได้อย่างปกติ ไปเที่ยวกับลูกหลานได้อย่างสบายใจไม่ต้องเอา set ทำแผลไปด้วย ไปบ้านคนอื่นก็ไม่ต้องกลัวน้ำเหลืองเปื้อนบ้านเค้า แทบจะเป็นการให้ชีวิตใหม่กับคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องเท้าผู้ป่วยเบาหวานเลยที่เดียว

       ไม่น่าเชื่อว่างานที่ต้องเริ่มจากศูนย์ถึงสองครั้งสามารถก้าวมาได้ไกลถึงปัจจุบันและผมเชื่ออย่างยิ่งว่าจะสามารถพัฒนาได้ไกลกว่านี้แน่นอนครับ

       หวังว่าเรื่องราวความสำเร็จของโรงพยาบาลบ้านโป่ง จะเป็นแรงจูงใจให้กับหลายๆที่ ที่จะเริ่มงานเรื่องเท้าผู้ป่วยเบาหวาน

  

หมายเลขบันทึก: 126138เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2007 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ กับเรื่องเล่าที่แบ่งปันประสบการณ์ดีๆ

แลวจะรออ่านนะครับ กับเรื่องหน้า

เห็นด้วยอย่างมากกับ ธิติ เลยครับ  เรามักทำงานตอนเริ่มต้นได้ แต่ตอนกลางกับตอนจบไม่ค่อยจะมี นี่ก็กำลังพยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ได้ดั่งใจเลย

โรงพยาบาลบ้านโป่งที่เล่ามา เป็นแรงบันดาลใจที่ดีเลยครับ

เป็นหัวหน้า สอ.แต่จบ ชีพ เลยอยากทำหน้าที่ ชีพอีกหน้าที่หนึ่งดีใจมากเลยได้เรียนรู้สิ่งดีๆเพราะกำลังเริ่มงานเท้าเบาหวานจะเริ่มคัดกรองในวันอังคารที่ 6 ตค.52 KM จากน้องพยาบาลสอ.เครือข่าย จะใช้สถานที่คลินิคแพทย์แผนไทยในสอ. จะติดตามความรู้ไปตลอดค่ะ ได้ผลหรือมีปัญหาอะไรจะเรียนปรึกษาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท