การเดินทาง : The last lecture


นั่นคือสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ที่เราเลือกได้คือเลือกวิธีการตอบโต้ เหมือนที่เราไม่สามารถเปลี่ยนไพ่ที่จั่วมาได้ แต่เราจะเล่นไพ่อย่างไรในมือต่างหาก

จริงๆผมไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือแปล หากหนังสือเล่มนั้นสะดุดตาก็เพียงจับเปิดๆแล้วก็ผ่านเลยไป แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้ต้องหยิบมาอ่านเป็นจริงเป็นจัง

 

หนังสือเล่มหนึ่ง เพียงหน้าปกก็เรียกร้องความสนใจเร้าใจให้นักอ่านแบบผม ข้อความที่พาดหน้าปก  “ปรากฏการณ์สร้างแรงบันดาลใจครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลก” ทำให้ผมต้องตั้งคำถามในใจว่า ในหนังสือเล่มนี้มีอะไรดี และสิ่งดีๆที่ว่านั้น สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้จริงหรือ?

 

สังเกตว่าหนังสือดีๆ มักมีการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในช่วงระยะเวลาไม่ห่างกันมากนัก ไม่น่าจะเป็นเพราะแรงโฆษณาแน่  ของดีย่อมได้รับการกล่าวขาน เหลือบมองชื่อผู้แปลที่หน้าปก     คุณวนิษา เรซ หรือที่รู้จักกันนาม “หนูดี” ก็เป็นบุคคลที่ชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

 

ด้วยเหตุผลหลายๆประการที่นักอ่านแบบผมให้คะแนนในใจเงียบ เลยตัดสินใจซื้อ “The last lecture” เดอะลาสต์เลกเชอร์ พ็อคเก็คบุ้กเล่มขนาดพอดีเป็นสมบัติส่วนตัว

Thelastlecture

 

เดอะลาสต์เลคเชอร์ เป็น เรื่องราวของ แรนดี เพาซ์ ศาสตราจารย์หนุ่ม ที่เลือกจะบอกลาโลกใบนี้ด้วยสิ่งที่ศาสตราจารย์แบบเขาจะทำได้ดีที่สุด นั่นคือการปาฐกถาในหัวข้อ “เลกเชอร์ครั้งสุดท้าย”

 

คุณวนิษาได้เขียนความในใจในการแปลหนังสือเล่มนี้ว่า เธอแปลหนังสือเล่มนี้ด้วยน้ำตา...เริ่มต้นด้วยความสงสารและเอาใจช่วยให้เขาอยู่ชีวิตรอดให้นานที่สุด...ตัวละครหลักในหนังสือ คือ แรนดี เพาช์  ที่เขาบอกว่ามี “ช้างเบิ้มในท้องของเขา”  ซึ่งเขาหมายถึง “มะเร็งตับอ่อน” หลายสิบก้อนในตับ ที่เป็นเสมือนระเบิดเวลา นับถอยหลังการมีชีวิตอยู่ของเขา

 

หากคุณรู้วันที่คุณจะลาโลกนับจากวันนี้...คุณจะคิดและทำอะไร?  หนังสือเล่มนี้เป็นจารึกเรื่องเล่าของ แรนดี้ เพาช์  ทุกช่องไฟของอักษร คือความงดงามของการมีชีวิตอยู่ คุณค่าของเวลาที่เป็นเหมือนสิ่งที่มีคุณค่าภายใต้ห้วงเวลาที่เหลืออยู่ มีความหมายทุกๆเสี้ยววินาที  

 

“ผมเป็นพ่อของลูกเล็กๆสามคน และได้แต่งงานกับหญิงสาวในฝัน ผมสามารถเลือกที่จะโศกเศร้าเสียใจกับตนเองได้ แต่ผมรู้ดีว่าความรันทดใจไม่มีประโยชน์อันใดเลย ไม่ว่าครอบครัวหรือตัวผม” นั่นเป็นเหตุผลการมีชีวิตอยู่ต่อ...และเลือกที่จะใช้เวลาแสนจำกัดที่เหลืออยู่ของ แรนดี เพาช์

 

การปาฐกถา ในหัวข้อ “เลกเชอร์ครั้งสุดท้าย” กลายเป็นประเพณีในมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ทั้งหลายจะถูกขอให้คิดทบทวนโดยครุ่นคิดถึงความตายของตัวเองและบรรยายถึงสิ่งที่พวกเขาคิดว่าสำสัญที่สุด มีค่าที่สุดสำหรับเขา และครั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เป็นเวลาของ แรนดี เพาช์ กับบทบาทสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตที่เหลืออยู่...แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เขามีเงื่อนไขมากเกินกว่าจะก้าวขึ้นเวทีที่ประชุมและพูดออกไปอย่างที่ใจเขาปรารถนา เมื่อ “เจ” ภรรยาเขาไม่เห็นด้วย และยังให้เหตุผลว่า เขาควรใช้เวลาในการเตรียมตัวและปาฐกถาครั้งนี้ สำหรับลูกและครอบครัว

 

และในที่สุดเขาก็สามารถไปปาฐกถาได้ แม้ว่าต้องผ่านการบีบคั้น กดดันทางจิตใจมากมายก่อนที่จะถึงวันที่เขารอคอย  เรื่องราวก่อนเตรียมปาฐกถาในหอประชุมอันทรงเกียรติ พร้อมกับผู้ชมมากมายที่ไปรอฟัง และหนึ่งในนั้นคือ ภรรยาของเขา

 

“ช้างตัวเบิ้มที่อยู่ในท้อง”   เรนดี เพาช์ พูดถึง ก้อนมะเร็งที่เติบโตอยู่ในตับของเขาจากภาพซีทีสแกน  และมีประโยคหนึ่งที่จับใจ เขาได้บอกว่า “ นั่นคือสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ที่เราเลือกได้คือเลือกวิธีการตอบโต้ เหมือนที่เราไม่สามารถเปลี่ยนไพ่ที่จั่วมาได้ แต่เราจะเล่นไพ่อย่างไรในมือต่างหาก”

 

๖๑ บทในหนังสือเดอะลาสต์เลกเชอร์ ที่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความตายอันน่าพรั่นพรึง หากแต่เป็น การประมวลเอาประสบการณ์ของแรนดี เพาช์ ที่เขาก้าวผ่านอุปสรรค การช่วยให้คนอื่นบรรลุฝัน และการใช้ชีวิตในทุกขณะอย่างเต็มที่ เป็นเสมือนผลรวมของความคิดที่งดงาม สงบนิ่ง สร้างแรงบันดาลให้กับหลายคนที่คิดว่ายังมีเวลาเหลือเฟือแล้วใช้ชีวิตแบบลืมตาย  (เพราะ “เวลาเป็นสิ่งเดียวที่คุณมี...และวันหนึ่งคุณอาจจะรู้ได้ว่า คุณมีเวลาเหลือน้อยกว่าที่ตัวเองคิดไว้”)

 

ดังนั้นบทสรุปของทุกสิ่งที่แรนดีเรียนรู้ที่จะเชื่อ ปาฐกถาครั้งนี้เป็นเรื่องของ “การมีชีวิตอยู่”

บทสรุปที่มากคุณค่า ทำให้เราเรียนรู้และย้อนกลับมาทบทวนตัวเอง เกิดสติและตื่นรู้เพื่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างสมบูรณ์ และไม่ประมาท  ทั้งหมดเป็นความรู้สึกที่ผมได้หลังจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ หากทางพุทธศาสนานั่นหมายถึง “มรณานุสติ” เป็นความจริงที่เราต่างหลีกหนี และลืมไปชั่วคราว แต่เราต้องน้อมรับความจริงที่เป็นสัจธรรมของชีวิตได้ด้วยใจที่เบิกบานและองอาจ

 

ปรากฏการณ์สร้างแรงบันดาลใจครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลก การบรรยายครั้งสุดท้าย ของแรนดี้ เพาช์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน  ที่จะทำให้คุณ “เข้าใจชีวิต และเปลี่ยนชีวิต” ไปจากเดิม

-         ติดอันดับ 1 The New York Times Bestseller  20 สัปดาห์

-         ดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 ล้านครั้งในเดือนแรก

-         แปลแล้วกว่า 30 ภาษา


 

The last lecture  เดอะลาสต์เลกเชอร์,แรนดี เพาช์ และเจฟฟรีย์ ซาลโลว์ เขียน

ฉบับภาษาไทย โดย วนิษา เรซ (หนูดี)

พิมพ์ครั้งที่ 15 –กรุงเทพ บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ราคาเล่มละ 175 บาท

 

 

อ้างอิง : http://www.youtube.com/watch?v=mIysXLiA5s0&feature=related

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 224577เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (47)
  • พี่เอกครับ
  • ขอยืมอ่านบ้างครับ
  • อิอิ
  • พี่เอกสบายดีไหมครับ
  • พรุ่งนี้  ผม อาจารย์ขจิต พอลล่า และ  จะไป
  • ช่วยอาจารย์ แฮนดิ้ อบรม แถว ๆ ซอย รางน้ำ พี่เอกไปด้วยกันไหม
  • ว่างไหมครับ
  • งานเข้าหรือเปล่า
  • อิอิ

 

พี่เอกคะ พอลล่าชอบมากเลยเรื่องนี้ ดังมากๆ อยากอ่าน อิอิ.... แซงพี่โย่งเม้นก่อนมีสาระ ฮ่าๆๆ

เวลาเดียวกัน แต่ต่างกันตรงส่วนสูง อายุ น้ำหนักเลยชนะไปครับพี่น้อง

มีการจองอย่างรวดเร็ว... :)

 น้องครูโย่ง หัวหน้า~ natadee

พรุ่งนี้ผม ไปกาญจนบุรีครับ มีอีกงานหนึ่งครับ กลับ กทม.คงเย็นๆครับ และมีงานต่อในช่วงเย็น..ไว้โอกาสหน้าครับ

มีโอกาสเจอ ให้ยืมอ่านครับ

น้องpaula ที่ปรึกษา~natadee

มีโอกาสอ่านนะครับ...ค่อยๆอ่าน ค่อยๆย่อย  หรือชมจาก youtube ก็จะเห็นภาพรวมชีวิตของ ดร.เพาช์ ได้ครับผม

อ่านหนัังสือเเล้วจินตนาการตาม มาดูวีดีโอในนี้ ก็สนุกมากขึ้นครับ

เดี๋ยวจะไปหามาอ่าน

ขอบคุณที่แนะนำ

สวัสดีค่ะ

หากคุณรู้วันที่คุณจะลาโลกนับจากวันนี้...คุณจะคิดและทำอะไร?

“เวลาเป็นสิ่งเดียวที่คุณมี...และวันหนึ่งคุณอาจจะรู้ได้ว่า คุณมีเวลาเหลือน้อยกว่าที่ตัวเองคิดไว้”

**   **   **    **   **   **

จากประสบการณ์ตรง เห็น รับรู้การจากพรากอยู่เนือง ๆ

ระหว่างกดแป้นพิมพ์ เสียงรถพยาบาลพร้อมเสียงไซเรน  มีตรงมาสู่โสตประสาท

เป็นเรื่องธรรมดา ไปแล้ว สำหรับคนในโรงพยาบาลอย่าง พี่

 

เราสอง พ่อ-แม่ เคยพิจารณาเรื่องความตายกันเป็นระยะ ๆ จนสรุปพอได้

1.จะไม่ ไม่พูดคุยกันแบบ "คุณน่าจะรู้ว่า..." เราจะพยายามคุยกัน แสดงความรู้สึก กันแบบ ตรงไปตรงมา

แต่ควรมีศิลปะ ในการใช้ ปิยวาจา

2.จะรัก ทุ่มเทความรัก สอน อบรมบ่มนิสัย  แก่ลูกของเรา ชนิดที่เขาอยู่ ดำรงชีวิตต่อไปด้วยตัวเองได้ ข้อคิดนี้มาหลังจากอ่านหนังสือ"พ่อแม่ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า"

3.เขียน บันทึก ประวัติศาสตร์ ส่วนตัวของเราสองคน บุพการีของเราสองคน บุคคลที่มีความสำคัญต่อเราสองคน ..รวมไปถึง บุคคลในสังคม โลก ที่เราเห็นว่าควรเป็น บุคคลต้นแบบแก่ลูกเราได้

โดยช่วยกันเขียน และ พี่เองค่อย ๆ นำมาเรียงร้อย ดังทีเห็นในบันทึกนั่นแล

4.เขียน เรียบเรียงพัฒนาการ ความสำเร็จ ความไม่สำเร็จ ของตัวลูก เพื่อให้เขานำมาอ่านทบทวนเมื่อโต

5....คงมีอีก ยาวแล้ว ค่อยมาต่อค่ะ

 

ไม่แน่ว่าเมื่อเราสองหรือสามหรือ..คนก็ตามแต่  เดินทางแยกจากกันไป  เราอาจต้องจากพรากกันนิรันดร์

ไม่มีแม้อ้อมกอดโอบสัมผัส

ไม่มีแม้ถ้อยคำสัญญาต่อกัน

ศัตรูที่แท้จริงของเรานั้นคือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ซึ่งกำลังคืบคลานเข้ามาอยู่ทุกขณะ นะคะ

 และทุกชีวิตต้องบ่ายหน้าเข้าไปสู่  ความตายด้วยกันทั้งสิ้น

แทนที่จะมองผู้อื่นในแง่ร้าย  เราน่าจะเอาเวลาและกำลังสติปัญญามาคิด สิ่งที่สร้างสรรค์ มาตั้งใจทำความดีจะดีกว่า

...พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนให้เราเจริญมรณานุสติไว้เสมอ จะได้เกิดความ ไม่ประมาท มองโลกและชีวิตให้ตรงตามความเป็นจริง รู้จักให้อภัย ใจจะได้เป็นสุข
ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

สงสัยเราจะเหมือนกันคุณเอก :) ... นิสัยส่วนตัว ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือแปลครับ อาจจะเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยมันอยู่ในหนังสือเล่มนั้นน่ะครับ

แต่เล่มนี้ .. เคยเห็นพี่หม่อม ดาวลูกไก่ พูดว่า งานหนังสือปีนี้ จะซื้อแน่ ๆ ...

ผมก็ได้มีโอกาสจับอยู่หลายครั้ง .. แต่ยังครับ ยังไม่ตัดสินใจ

จนกระทั่ง ลองเปิดอ่านอีกที ... โฮ๊ะ มันเป็นความรู้สึกของ "ครู" ผู้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยนี่นา

อยากอ่านแล้ว ๆ ผมก็เลยซื้อก่อนคุณเอกนิดหน่อย เลยยังอ่านไม่จบครับ

ดีแล้วครับ ผมอ่านหนังสือช้า คุณเอกลุยทางบันทึกเลยครับ

สนับสนุน ยกมือสองข้างเลย :)

มีความสุขครับ คุณเอก :)

เราซื้อเล่มปกแข็งมาอ่ะ อ่านจบแล้ว แต่ดู clip มาก่อนนานมากแล้วและตามไปดูเว็บไซต์จนวันสุดท้ายของเขาเลย เขาเข้มแข็งมากนะ ทัศนคติต่อการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลือนี่สุดยอด คุ้มค่าที่เกิดมาบนโลกนี้ หลายอย่างที่ทำให้เราได้คิดเหมือนกัน เคยมีคนบอกเราว่า...ให้ใช้ชีวิตเหมือนกับเหลือเวลาอีกวันเดียวบนโลกนี้ แล้วทุกอย่างในชีวิตมันจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าสิ่งที่เราคิด มอง วิตก หรือยึดติด จะเห็นแท้จริงว่าอะไรมีค่าควรแก่การใส่ใจ อย่าให้ต้องรอถึงวันสุดท้ายของชีวิตแล้วค่อยคิดได้

เห็นเอกเขียนเรื่องนี้แล้วนึกได้ว่าอยากเล่าเรื่องนึง เราเคยคิดอยากชวนกันทำ "โครงการทำดีวันละอย่าง" ทำดีนี่ไม่ได้หมายถึงต้องไปช่วยใครแบบฮีโร่นะ แค่ทำในสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ตลอดเวลาโดยไม่ลำบากแม้แต่น้อย เช่น ถามสารทุกข์สุขดิบคนรอบข้างอย่างจริงใจไม่ใช่แค่บทสนทนาประจำวัน รับฟังในเวลาที่คนอื่นต้องการพูดอะไร หยุดรถให้คนข้ามถนน ช่วยแม่ล้างจาน ใส่ใจเด็กเล็กๆ และให้ความสำคัญกับความคิดเขา โทรหาญาติผู้ใหญ่พูดคุยหรือไปเยี่ยม ฯลฯ ถ้าทุกคนยอมทำเรื่องเล็กน้อยง่ายๆ แบบนี้ทุกวัน สังคมคงมีอะไรดีๆ มากขึ้น

สวัสดีคะคุณคุณเอก

หนังสือดีมีประโยชน์

ทำให้คิดถึงเผื่ออนาคตต่อไป

ต้องได้วางแผนไว้เพื่อลูก

พี่ ศิริวรรณ ลองไปหาอ่านดูนะครับ บางประโยคทำให้ต้องคิดทบทวนกับตัวเอง...  :)

 

พี่หมอเล็ก  ภูสุภา เป็นมรณสติที่งดงาม ครับ หากครอบครัวมีโอกาสได้คุยเรื่องนี้ด้วยกัน จะรักกันมากขึ้น จะเอื้ออาทรกันมากขึ้น

อ่านแล้วมีความสุขครับ... 

พี่ Sasinand  ทุกสิ่งสร้างสรรค์ที่เราควรทำ เพราะเหตุผลว่า "เรามีเวลาน้อย"  ขอบคุณมากครับ

อ.Wasawat Deemarn  ผมเขียนเป็นต้นฉบับแนะนำหนังสือน่าอ่านนะครับ ...มีบางบทบางตอนพูดถึงเรื่องราวของคนเป็นครูที่ทรงพลังที่สุดเลยนะครับ...  :)

ซูซาน Little Jazz   ใช่เลยครับ การตะหนักถึงเรื่องนี้ทำให้ใจเราละเอียดมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ท่าทีการปฏิบัติของเราต่อเพื่อนร่วมโลกเชิงบวกมากขึ้น

ขอบคุณครับพี่ ประกาย~natachoei  ใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุดนะครับ..

ให้กำลังใจทุกท่านครับ

 

:)

ได้ชมรายการของโอปราห์ วินฟรีย์ ตอนเชิญดร.แรนดี้ เพาช์ มาสนทนา แค่ช่วงสั้นๆเขาพูดได้จับใจมากๆ สร้างพลังใจและความหมายของชีวิต ให้ผู้คนเยอะทีเดียวค่ะ เป็นคนหนุ่ม หล่อด้วย ฉลาดมาก แต่นี่แหละชีวิต มรณานุสติเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ากับการได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์นะคะ

  • สวัสดีครับ
  • เวลาเป็นสิ่งเดียวที่คุณมี...และวันหนึ่งคุณอาจจะรู้ได้ว่า คุณมีเวลาเหลือน้อยกว่าที่ตัวเองคิดไว้

  • ตอนนี้ก็นับวันเวลาทำงานและดูแลครอบครัวให้มีความสุขให้มากที่สุดครับ
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีดีครับ
  • อย่าลืมมาถ่ายรูปราชบุรีบ้างนะครับ

สวัสดีค่ะ

คงเหมือนคุณเอก คือ ไม่ชอบอ่านหนังสือแปล

เหลือบมองบนแผงหนังสืออยู่หลายครั้ง

ได้อ่านบันทึกคุณเอก คงต้องตัดสินใจซื้ออ่านซะแล้ว

วันนี้คงได้ฤกษ์ สอย เล่มต้นฉบับ

หยิบขึ้นหยิบลงหลายครั้ง

สามีบอกว่า อ่านในเวบก็ได้ แต่อยากเก็บค่ะ

(เล่มแปล รอยืมจากคุณเอกไง ;P)

หลังจากผ่านมรสุมชีวิตต่าง ๆ นานา ผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาแล้ว ทุกช่วงวินาทีของชีวิตล้วนแล้วแต่มีค่าทั้งนั้น สรุปแล้วบทเรียนครั้งนั้น ชีวิตเราทุกชีวิตมีคุณค่ามากมาย และคิดว่าทุกวินาทีเราทำประโยชน์ได้อีกหลาย ๆ อย่างให้กับคนรอบข้าง และสังคมที่เราอยู่

สวัสดีครับ อาจารย์คุณนายดอกเตอร์ ครับ

หนังสือเล่มนี้มีหลายบท ที่ทำให้ผมได้ฉุกคิด แม้ว่า หนังสือแปลสำนวนอาจไม่สวยและเป็นธรรมชาติเท่าวรรณกรรมไทย (ผมคิดนะครับ) แต่ก็ได้ความหมายที่เป็นสากล..

นึกถึง มรณานุสติ ...ด้วยครับ

 

 

ขอบคุณที่แนะนำหนังสือดี ๆ ให้รู้จักมากขึ้นครับ

พี่บุญยฤทธิ์Col.boonyarit  ครับ

เวลาที่เหลือ ใช้ให้คุ้มต่ามากที่สุดนะครับ ...เราก็ไม่รู้ว่าจะหมดเวลาเมื่อไหร่...

มีความสุขกับการทำงานด้วยนะครับ หากมีโอกาสอยากไปเที่ยวราชบุรีบ้างครับ!!

สวัสดีค่ะ

***"นึกถึงเพลง อย่าให้ถึงวันนั้นเลย"

***สิ่งดีๆรอบตัวแค่ดิดถึงก็เป็นสุข

***การมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญมากเกินไป จนลืมบันทึกสิ่งดีงามไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ช่างน่าสียดาย

ขอยืมๆๆๆ ด้วยค่ะพี่เอก... ไปอ่านบล็อกพอลล่าด้วยค่ะ ขอบคุณล่วงหน้า ค่ะ อิอิ

P จาก คคห 11 เห็นด้วยกับน้องซาน  น้องซานคิดอะไร ๆ ดี ๆ ได้บ่อย ๆ จังค่ะ

เอ้าคิดต่อยอด เป็นรูปธรรมขึ้นมาอีกหน่อยสิคะ(กองเชียร์)  เห็น คอมพ์ที่ประกอบเองก็ อื้อ ฮือไปทีแล้ว

มีอะไรที่ช่วยได้ จะช่วยค่ะ

*พี่ได้หนังสือแล้วค่ะ* ชอบจังเลย

รอ รักเล่มเล็ก นะคะ

(มาใช้งานห้องรับแขกบ้านน้องเอกซะเลย อิ อิ)

ถ้าทุกคนมี"สติ"ในการใช้ชีวิต ระลึกถึง"ความตาย"วันละหน ทุกคนจะใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่า  และจะไม่มีคำว่า"พรุ้งนี้ก็สายเกิน"

  •  ทุกวันนี้  หลายคนมีชีวิตอย่างหดหู่ ไม่อยากอยู่.....แต่ไม่กล้าตาย

ขอบคุณสำหรับรายการหนังสือดีๆที่แนะนำค่ะ

  • สวัสดีค่ะคุณเอก ชอบหนังสือเล่มนี้มาก
  • อยากอ่านตั้งแต่มีการประชาสัมพันธ์ทาง นสพ.มติชน ช่วงสัปดาห์การอ่านหนังสือ เมื่อเดือนที่แล้ว
  •  หลายๆๆคนย่อมมีความรู้สึกใกล้ตาย โชคดี (หรือร้ายนะ?)ก็อาจจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก
  •  ในช่วงเวลานั้น ก็อยากจะทำสิ่งที่เป็นประโชยชน์มากที่สุด ค่ะ
  • สำหรับท่านนี้ ใครได้รับฟังการบรรยายครั้งสุดท้ายของท่านถือว่าเป็นผู้ที่โชคดีที่สุดนะคะ
  • คิดว่าท่านคงจะถ่ายทอดองค์ความรู้ออกมาให้หมด
  • ขอบคุณค่ะ
  • พี่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อเดือนตุลา เพราะเพื่อนฝากซื้อ
  • ข้อคิดที่ได้ เรามักละเลยคนหรือสิ่งที่อยู่ใกล้ แต่เราจะใส่ใจคนที่อยู่ห่างออกไปมากกว่า
  • อาจไม่ค่อยดูแลกัน หรือละเลยขาดการเอาใจใส่ ไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะมีเวลาอีกเท่าไหร่ ทำดีต่อกันไว้ดีที่สุดนะคะ

ขอบคุณ คุณเอก....

ขอบคุณสมาชิกทุกท่าน....ดิฉันมีโอกาสได้รู้จัก gotoknow และสมัครเป็นสมาชิก แรก ๆ มีความเข้าใจว่า โลกแห่งวิชาการ แต่จริง ๆ แล้วทุกอณูของ gotoknow คือ ความจริง....ของทุกสิ่งในโลก

ขอบคุณ นักเดินทางที่มีสารพัน ขอคิดและเรื่องเล่าดี ๆ ที่ทำให้คนคนหนึ่งที่เหนื่อยกับบทบาทของชีวิต ท้อแท้และล้ากับการเดินทาง ได้ค้นพบแรงกายและแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป.....ฐาวรา

หวัดดีค่ะ...

ช่วงนี้ยุ่ง ๆ ค่ะ

ถ้าว่างจะลองไปหาอ่านดู

วันนี้อบรม วิจัย R2R

อาจารย์พูดถึง หนังสือเล่มนี้ให้หามาอ่านให้ได้

  • สวัสดีครับคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
  • มาหาหนังสือดีๆ อ่านครับ
  • คุณจตุพรการันตีขนาดนี้ ผมคงต้องไปหาอ่านบ้างแล้วครับ
  • ได้ข่าวว่าคุณพอลล่ายกฐานะคุณจตุพรให้เป็นพี่ชายคนรอง
  • เหมาะสมทุกประการครับ
  • สบายดีอยู่นะครับ

เป็นหนังสือที่อ่านสนุกบนความเศร้า

รับรู้ถึงพลังของความรัก และสิ่งที่ฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง

รู้สึกว่าการทำตัวให้หลุดออกจากบ่วงตม เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งของวันที่เหลืออยู่

และเ "แรนดี้" เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง...

จึงได้ซื่อเป็นของขวัญให้เพื่อน...โดยแอบอิงอ่านจนจบเล่ม

ขอบคุณ คุณ"หนูดี" ผู้แปล...ที่ทำให้อ่านรู้เรื่อง...

  • สวัสดีค่ะ
  • "คุณวนิษา เรซ หรือที่รู้จักกันนาม หนูดีก็เป็นบุคคลที่ชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว "
  • แสดงว่า ชื่อเสียงของบุคคล มีผลต่อการตัดสินใจนะคะ
  • การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า คือ สิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีดีค่ะ

อาจารย์เอก

  • ผมว่าทุกอย่างอยู่ที่จังหวะและเวลา
  • ผมก็กำลังรอจังหวะและเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่เหมือนกันครับ

อยากอ่านมากๆ..คงต้องไปหามาให้ได้แล้วนะคะ

เพิ่งอ่านจบเหมือนกันครับ

เลยคว้า ไล่ล่าแสงตะวัน มาอ่านต่อ

มรณสติกันให้หนำใจเลยครับช่วงนี้

หนังสือเล่มนี้ดีมากเลยคะ อ่านแล้วรู้สึกเศร้า สะเทือนใจ และสงสาร และรู้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่

แวะมาหาหนังสือที่ถูกคัดสรรแล้วอ่านค่ะ เราเลือกไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะทำไสิ่งดีงามด้ ขอบคุณค่ะ

คุณเอกคะ พี่โอ๋กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ค่ะ น้ำตาซึมไปแล้วเหมือนกันท่ามกลางบรรยากาศคริสต์มาสเสียด้วย ได้ออกมาเป็นบันทึกนี้ค่ะ 

  • กะว่าจะมาชวนคุณน้องเอกไปเยี่ยมพี่โอ๋เห็นว่าเขียนเรื่องเดียวกันเลย
  • พี่โอ๋มานี่ซะแล้ว ^_^
  • ขอบคุณค่ะที่แนะนำหนังสือดี ๆ ให้ข้อคิด
  • พรุ่งนี้จะไปหามาอ่านค่ะ
  • น้องเอกสบายดีนะคะ
  • รักษาสุขภาพด้วยนะคะ หนุ่มกิจกรรม :)

โอย อ่านแค่บันทึกก็นึกอยากอ่านแล้ว

ตามไปดู video บน Youtube ของเค้าแล้วน้ำตาซึมเลยค่ะ

ขอบคุณน้องเอกและพี่โอ๋นะคะ สำหรับน้ำตาตอนตีสี่ของครูปูค่ะ

บันทึกนี้...ยังไม่ได้ตอบ comment เลย

ต้องขออภัยทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ครับ

คุณอังคณา... ลองซื้อมาอ่าน และ มาเล่าสู่กันฟังนะครับ

พี่หมอเล็ก...อย่างน้อยซื้อไว้เพื่อเก็บไว้อ่าน ซ้ำแล้วซ้ำอีกก็มีความสุขดีนะครับ

ขอบคุณครับ คุณ กิติยา...เวลา วารี ไม่รอใคร สำคัญที่สุดคือเราได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดเเล้วหรือยัง... :)

น้องต่าย (ดอกไม้บานในใจเรา) น้องผ่านอะไรมาเยอะ เรื่อง "ปางตาย" ก็ผ่านมาเเล้ว พี่ว่าเห็นสัจธรรมบางอย่างเเล้วนะครับ :)

ยินดีครับ คุณ ธรรมดา ...ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ น้องพอลล่า พี่ตามไปอ่านแล้ว ขอบคุณมาก

คุณ คนของกาลเวลา...หนังสือดีๆ ควรค่าแก่การอ่านครับ ลองหาซื้อมาอ่านดูนะครับ

พี่เอื้องแซะ  หากอ่านแล้ว นำมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

พี่นารี... อ่านแล้ว คล้ายๆกับ "มรณานุสติ" นะครับ

คุณฐาวรา...เปิด Blog หรือยังครับ ...จะติดตามอ่านครับ

คุณ Windy หายงานยุ่งแล้ว ไปหาอ่าน จากนั้น มาเล่าสู่กันฟังด้วยนะครับผม :)

พี่ประกาย...ขอบคุณมากครับ ป่านนี้คงเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้เเล้วสิครับ :)

 

แวะมาเยี่ยมพี่เอก

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอบคุณมากครับพี่ liverbird
ผมสบายดีครับ ต้องขอบคุณพอลล่าที่เขาช่วยดัน...เป็นกำลังใจที่ดีครับ

 

tuk-a-toon  พี่ตูน...อย่างวน้อยก็มีพี่ตูนการันตีว่าหนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดที่ดี...ขอบคุณครับ

 

อ.หมอ.เต็มศักดิ์

เป็น มรณานุสติ ที่เป็นแบบฝรั่งแต่ สุดท้ายคือ การปล่อย - วาง และข้อคิดที่ดี หลายบทหลายตอนเลยครับ :)

 

ศน.Add

ตอนนี้คงอ่านจบแล้ว...นะครับ  ขอบคุณมากครับ..

 

คุณปรีด์ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

"ไล่ล่าแสงตะวัน" น่าสนใจดีครับ เอาไว้ติดตามบันทึกคุณปรีด์ดีกว่า

 

คุณ meaw

หนังสือเล่มนี้ดีมากเลยคะ อ่านแล้วรู้สึกเศร้า สะเทือนใจ และสงสาร และรู้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่

เป็นอารมณ์ของผมเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบเลยครับ

 

สวัสดีครับ พี่โอ๋ กับ krutoi  และครูปู

นอกจากอ่านเรื่องของ แรนดี้ แล้ว ยังมีวิดิโอของเขาบน internet ลองหาชมนะครับ ...เราจะได้เห็นภาพด้วยครับ

 

 

ขอบคุณทุกท่านมากครับ

 

พึ่งจะอ่านจบครับ คิดว่าเป็นหนังสือที่ดีทีเดียว

.. สำหรับบางประโยค พอแปลมาแล้วงงนิดหน่อย ผมว่าเราน่าจะหาคำเรียกตรงๆ นะครับ

เช่นคำว่า หันหัวหลอก, หรือ อย่างบทที่ว่า "เอาจริงเอาจัง" ดีกว่า "ทันสมัย" .. ยังอ่านไม่เข้าใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท