มุมคิดที่ชวนติดตาม : เพียงธรรมดาของเส้นแบ่งทางความคิด ขยับปรับเปลี่ยนสักนิดเพื่อการพัฒนาสังคมอุดมปัญญา


ถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจ / ผู้ทำมากกว่าผู้นำเพียงอย่างเดียว / ปราชญ์ชาวบ้านคุณค่าทางวิชาการที่มีชีวิต / รอคอยแต่ไม่คอยรอ / ภาพที่มีประสิทธิผลเพื่อความยั่งยืนของผลที่มีประสิทธิภาพ

     อัลฮัมดุลิลละฮฺ (ขอบคุณพระเจ้า) กับการได้กลับมาจรดปลายปากกาในสังคมออนไลน์แห่งนี้กับห้วงเวลาของสถานการณ์บ้านเมืองในเรื่องราวต่างๆทางความคิดในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติสุดท้ายแผนปรองดองแห่งชาติจะเคลื่อนไปได้มากน้อยเพียงใด ความคาดหวังของสังคมชนในชาติจะเป็นจริงหรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือมุมคิดทางพลังปัญญาที่นำเสนอภาพสื่อสะท้อนสังคมอย่างน่าขบคิดในฐานรากมากกว่ากรอบคิดของฐานยอดที่สุดท้ายก็ต้องติดกรอบทางความคิดของตัวเอง

     สิ่งที่ผมจะเขียนเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนก็คือ สืบเนื่องจากที่เมื่อวานได้รับการเชื้อเชิญจากท่าน อ.บงกช  นพวงศ์  ณ อยุธยา โดยการประสานงานของนักวิจัยประจำศูนย์ศึกษาฯ คุณอิสมาอีล  เจ๊ะนิ เข้าร่วมฟังพลังขับเคลื่อนทางปัญญาของมิติชุมชนที่มีชีวิต (ขอขอบคุณทั้งสองท่านมา ณ โอกาสนี้อีกครั้ง) สิ่งที่น่าคิดสำหรับผมมีหลากหลายประเด็นในการร่วมสัมมนาขับเคลื่อนในครั้งนี้ มุมคิดที่บางครั้งเราเองก็อาจจะจำเป็นต้องนึกถึงถ้วยกาแฟที่หูจับทางซ้ายมลายความคิดภาพถ้วยกาแฟที่มีหูจับทางขวาบ้างเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างมีภาพที่มีประสิทธิผล เพื่อความยั่งยืนของผลที่มีประสิทธิภาพ

             

(ภาพข้อมูลจาก www.google.com)

 

ประเด็นที่ ๑  รอคอยแต่ไม่คอยรอ

       เวลาแห่งการรอบางครั้งก็สร้างคุณค่ามากกว่าคำว่า "เบื่อกับการรอคอย" คณะทำงานที่ได้ร่วมกันตัดสินใจเข้าร่วมในครั้งนี้ใช้เวลาในการรอตามเวลานัดหมายที่กำหนดเก็บเกี่ยวประสบการณ์องค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านแห่งชุมชนบ้านบาราโหม จ.ปัตตานี อย่างแบเลาะฮฺ สิ่งที่น่าค้นหาของปราชญ์ชาวบ้านผู้นี้ คือ วิถีคิดของมุมคิดที่น่าติดตามมากกว่าตำราทางวิชาการการสร้างงานตามนโยบายของนักบริหารจัดการ ระหว่างนั่งรอองค์ประชุมจากภาคส่วนต่างๆกระบวนการทางพลังปัญญาก็ไม่ควรจะคอยรอปล่อยให้เวลาหลุดลอยล่องไปอย่างไร้ประโยชน์ การได้นั่งพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านอย่างแบเลาะฮฺ สร้างความประทับใจแก่พลังขับเคลื่อนอย่างเสียงเล็กๆ แบเลาะฮฺได้พูดคุยถึงสิ่งที่ผมเรียกว่ามิติสังคมพลังสังคมที่มีคุณค่าได้อย่างน่าคิดโดยยิบยกเรื่องราวใกล้ตัวที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของแบเลาะฮฺ ผมขอเรียกทฤษฎีนี้ว่า "แห...มหัศจรรย์" แบเลาะฮฺบอกว่าวิถีชีวิตทางสังคมมิติขับเคลื่อนสังคมที่มีคุณภาพและยั่งยืนหากเราเริ่มต้นจากการถักถอต่อประสานสอดรับปรับเปลี่ยนการทำงานแบบแหอวน คือ การเริ่มต้นถักทอในมุมรอบข้างเล็กๆไปสู่ความสำเร็จของสังคมรอบกว้างในมุมใหญ่การประสานของแหอวนก็จะเป็นอวนแหที่มีประสิทธิภาพ ตรงนี้น่าสนใจครับว่าแบเลาะฮฺใช้พื้นที่ความคิดทางพลังปัญญาใช้หลักการดะวะฮฺ (เผยแพร่) การอยู่อย่างพอเพียงและเพียงพอของชีวิตได้อย่างน่าครุ่นคิดและใคร่ครวญทวนทบให้ตามติดในมุมมองคือเริ่มต้นจากการสอนผู้คนที่อยู่ในครอบครัวแล้วขยายต่อไปสู่ชุมชน อาทิ แบเลาะฮฺเล่าว่าเมื่อก่อนหลังจากวันรายอหลายผู้มากคนจะพาลูกๆไปเที่ยวสวนสัตว์ตามคำร้องเรียกของเด็กน้อยในหมู่บ้านต่างๆ ลูกแบเลาะฮฺเองก็เป็นเฉกเช่นเด็กทั่วไปคืออยากไปเที่ยวสวนสัตว์เหมือนเด็กๆทั่วไป แบเลาะฮฺไม่ทำให้ลูกผิดหวังพาลูกๆนั่งรถมอเตอร์ไซค์ตระเวนทั่วชุมชนบ้านไหนเลี้ยงเป็ดแบเลาะฮฺก็พาไปบ้านนั้น บ้านไหนมีลิงก็ไปดูลิง บ้านไหนมีไก่วิ่งไปมาก็พาไปดูไก่  บ้านไหนมีนกสั่นไหวรอบกรงพาไปดูนก ครบหนึ่งวันแบเลาะฮฺบอกว่านี่ไงสวนสัตว์ (เป็นสวนสัตว์ที่มีคุณค่าแต่เรามักมองข้ามชอบเดินรอยตามความฟุ่มเฟือยและมองข้ามสิ่งรอบๆตัวที่มีอยู่) สุดท้ายลูกๆแบเลาะฮฺก็ได้เที่ยวสวนสัตว์เหมือนคนอื่นๆ

       บอกตามตรงเลยครับว่าผมนั่งฟังแบเลาะฮฺพูดคุยหลากหลายเรื่องราวแล้วอยากบอกว่าท่านคือปราชญ์ชาวบ้านที่น่าตามติดในวิถีคิดจริงๆ

           

คณะทำงานกลุ่มเสียงเล็กๆกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับปราชญ์ชาวบ้านอย่างแบเลาะฮฺ

แห่งชุมชนบ้านบาราโหม จ.ปัตตานี

แบเลาะฮฺ (ปราชญ์ชาวบ้านคุณค่าทางวิชาการที่มีชีวิต) 

คุณอิสมาอีล เจ๊นิ (นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีชีวิตในจิตวิญญาณของนักวิจัยจริงๆ )

และ อ.อเนก นาคะบุตร  (นักพัฒนาของเมืองไทยตัวจริง)

 

ประเด็นที่ ๒ ถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจ (การทำงานสามฝ่าย รัฐ ประชาชน และนักวิชาการ)

    เมื่อการประชุมขับเคลื่อนเริ่มขึ้นจากการเข้าร่วมของหลายภาคส่วนในพื้นที่พิเศษ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงฯ  กลุ่มผู้นำเยาวชน  กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลจากเกาะสาหร่าย  เครือข่ายอาสาสมัครจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย   กลุ่ม นป.ศพชต.  และ ศพชต. ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้านทุกๆท่าน สิ่งที่ที่ส่งให้ผมสะดุดฉุดคิดทวนทบในคำพูดในการขับเคลื่อนร่วมขยับฐานความคิดในการทำงานของทุกภาคส่วนคือการพูดคุยนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มประมงพื้นบ้านจากเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล ที่บอกเล่าเรื่องราวการทำงานเชิงระบบที่มีอยู่จริง คือ การฝากข้อคิดที่ชวนขบคิดของคำว่า "ถูกต้องกับถูกใจต้องแยกจากกันให้ได้ในความหมาย" กล่าวคือ การทำงานของรัฐกับประชาชนนั้นควรคำนึงถึงความถูกต้องในวิถีทางของชาวบ้านอันเกิดจากจิตบริสุทธิ์ที่ว่าหากสิ่งที่ชาวบ้านคิดท่านต้องการพัฒนา(รัฐ) ก็ควรจะให้เป็นไปตามฐานความคิดความต้องการอย่างแท้จริงของชุมชนเพื่อภาพแห่งผลที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนของชุมชนคนฐานรากที่จะเป็นพลังสำคัญในการขยับขับเคลื่อนสังคมนำสู่การพัฒนาขยายวงกว้างต่อไป มิใช่เพียงแค่คิดว่าถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ (ท่าน) ฉันก็ไม่เอา อาทิ เขาต้องการเลี้ยงไก่ในบริบทพื้นที่แต่เรากลับเอาปลาให้เขาเลี้ยงเพื่อจะได้เกื้อกูลหล่อเลี้ยงนายทุนต่อไป นี่คือสิ่งที่น่าคิดเพราะหากแผนปรองดองแห่งชาติจะขยับขับเคลื่อนต่อไปอย่างมีคุณค่านั่นหมายถึงว่าประเทศชาติต้องหันกลับมาทวนทบจุดเริ่มต้นของการส้รางความปรองดองที่เริ่มต้นจากฐานรากมากกว่าการสร้างอุดมมายาคติของสังคมบนฐานความคิดในจินตนาการ

กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล

 

ประเด็นที่ ๓ ผู้ทำมากกว่าผู้นำเพียงอย่างเดียว

      ภาพสรุปที่เป็นมิติใหม่ทางความคิดที่อยากจะนำเสนอ คือ ภาพมิติการทำงานที่ผสมกลมเกลียวของ ผู้นำท่านนึงกับผู้คนชุมชนในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้เขียนเองได้เพียงแต่รับรู้ว่ามันอาจมีอยู่จริง แต่ไม่เคยไปเดินบนลู่วิ่งของความจริงนั้นและวันนี้ก็ได้เห็นภาพสะท้อนมุมมองของแบเลาะฮฺที่พูดอกมาจากใจและเต็มปากตลอดระยะเวลา ๑ ปีของความเป็นเพื่อน (ผู้เขียนขอใช้ว่าท่านทั้งสองเป็นเพื่อนทางความคิดที่ลงตัวจริงๆ) ของชาวบ้านผู้มากประสบการณ์คนนี้กับผู้นำทางฝ่ายรัฐที่เป็นมากกว่าข้าราชการสร้างงานในพื้นที่ เพราะท่านคือคนพัฒนาพื้นที่(ทีมีชีวิต) จริงๆ ผู้นำนักพัฒนาผู้นี้คือ ผอ.ศพชต. (ท่านพลโทกิติพันธ์  นพวงศ์ ณ อยุธยา)  ที่กำลังจะโยกย้ายการทำงานในภารกิจทางราชการไปเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิ(พิเศษ)กองทัพบกคนใหม่  ตลอดระยะเวลาที่ได้มองดูการทำงานของท่านเพิ่งจะพบว่าผู้นำแบบนี้ก็มีเหมือนกันไม่นั่งร้านอาหารหรูๆยามพักเที่ยงในภารกิจกับชาวบ้านก็นั่งทำงานร่วมกัน ไม่ผูกไทล์ใส่สูทเพื่อสร้างการแบ่งชนชั้นทางสังคม อันนี้คือภาพที่ผมสัมผัสมันจริงๆ และเมื่อวานหลังจากได้ยินแบเลาะฮฺพูดคุยในเรื่องราวที่ผ่านมากับท่าน ผมเองก็ได้สัมผัสบรรยากาศความเรียบง่ายของท่านจริงๆจังๆครั้งแรกใต้ร่มไม้ร่วมกับคณะทำงานเสียงเล็กๆ ในการได้นั่งพูดคุยสนทนากับห้วงเวลาทางความคิดและการพัฒนาขับเคลื่อนต่อไปในความคาดหวังกับการก่อเกิดศูนย์บูรณาการแห่งชาติ บรรยากาศที่ได้สัมผัสมันคือภาพความอบอุ่นกับการก่อเกิดแนวทางการพัฒนาอย่างสมานฉันท์ในพลังอันทรงคุณค่าอย่างยั่งยืน เพราะเท่าที่เห็นและสัมผัสในระยะเพียงไม่กี่ครั้งคราที่ผ่านมา คือ ผู้นำท่านนี้เป็นผู้ทำ (ลงมือเอง) มากกว่าเป็นผู้นำเฉกเช่นคนอื่นๆทั่วไป ค่ำไหนนอนนั้นจะมีสักกี่คน เข้ากับผู้นำศาสนา เข้ากับกลุ่มเยาวชน และเครือข่ายต่างๆได้จะมีสักกี่คนบนพื้นที่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางความคิดแห่งนี้

     ณ ห้วงเวลานับจากนี้ได้แต่หวังว่าเรื่องราวดีๆจะค่อยๆขยับขับเคลื่อนก่อเกิดสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมต่อไป แม้อาจต้องใช้เวลายาวนานสักเพียงใด ด้วยความหวังและดุอาอฺ ความบริสุทธิ์ใจเท่านั้นจะนำพาเรื่องราวความประทับใจหวนกลับคืนมาและสร้างพลังทางใจในการอยู่ร่วมกันของคนในชาติโดยเฉพาะพื้นที่ที่หลายคนให้นิยามความเป็นพิเศษต่อไป 

        สิ่งทิ้งท้ายที่อยากนำเสนอและชวนขบคิดกัน คือ ความป็นผู้นำในการเป็นนักพัฒนาอย่าง อ.อเนก  นาคะบุตร อดีตผู้อำนวยการ sift ที่ว่าทำไมข่าวที่ออกไปในมุมของคนพื้นที่คือความโหดร้ายน่ากลัวผมลงมาทำงานในพื้นไม่เห็นจะมีอะไรหนักหนาสาหัสอย่างที่เป็นข่าวเลยหรือสื่อที่ออกไปคือสิ่งที่เราต้องใคร่ครวญทวนทบในความเชื่อกับการสัมผัสพื้นที่จริงๆ  (วัลลอฮฺอะลัม)

                                                                    ณ  มุมหนึ่งทางความคิด

                                                                    ๑๕.๑๘ น. /  ๑๙ ก.ย. ๒๕๕๓

                                                                     By...เสียงเล็กๆ

หมายเลขบันทึก: 395805เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ดีมากในการเล่าเรื่อง เป็นประโยชน์มาก

ขอบคุณมากครับท่าน

Ico32

ลุงเอก

หากเรื่องเล่าเพียงเล็กน้อยของบัทึกจะร่วมสร้างประโยชน์และความเข้าใจร่วมกันได้บ้างในสังคมมันก็น่าจะรังสรรค์เรื่องราวเหล่านั้นในพื้นที่สืบต่อไปครับ

เป็นกำลังใจในการทำงานของลุงเอกด้วยครับ

ประเด็นแรก ที่ติดใจ "ทำไมข่าวที่ออกไปในมุมของคนพื้นที่คือความโหดร้ายน่ากลัว ! " ผมเองก้สงสัยครับ และขอตอบ...ความโหดร้ายน่ากลัว เลือด ความตาย มันคือจุดขาย ของสำนักข่าว และคนที่เสพย์สื่อจากข่าวที่โปรายปรายไปทุกที่นั่นแหละจะรับมุมด้านกระสุนที่ทำลายล้าง สั่งสมความคิดคนที่เสพย์ข่าวนานแรมเดือนแรมปี ทัศนคติในมุมคนต่างถิ่นที่มีต่อคน 3 จชต นั้นกลายเป็นว่าไม่มีความปลอดภัยเลย ใช้ชีวิตกันอย่างไร และที่เคยเจอ ร้อยละ 99 ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ใน 3 จว ชายแดนใต้จะถามผมด้วยคำถามสุดป๊อบปูล่าว่า "ไม่กลัวเหรออยู่ที่นั่น" "คนที่นั่นเขาอยู่กันยังไง" ล่าสุด มีคนมาถามผมว่า จริงเหรอที่ "ศาสนาสอนให้ฆ่าคน" ......................? น่าคิด

ผมมองว่า สื่อมีส่วนทำลายพื้นที่ 3 จชต มาก! ด้านลบถูกนำเสนอทุกวัน .. ด้านบวก.. มีให้เห็นบ้างแต่ .. แห้งกรังเหลือเกินนานๆ มีสักครั้ง

เคยเอ่ยปากชวนเพื่อนมาเที่ยว 3 จชต. เพื่อนตอบกลับมาว่าจะมีชีวิตรอดกลับมามั้ยเนี่ยะ ...น่าคิด(ครั้งที่2) อะไรทำให้คนๆนี้คิดแบบนี้?

มาประเด็นที่ 2 "ปราชญ์ชาวบ้าน" ในความเห็นมุมของการพัฒนา ปราชญ์ชาวบ้านสำคัญ และคิดว่า เป็นจุดเชื่อมระหว่างชาวบ้านกับ จนท. นักพัฒนา สามส่วน ผมว่าไปได้ไกลและยั่งยืน บางทีการมีเวทีประชาคม จชต. ที่มาจากทุกภาคส่วน รับเสียงสะท้อนจริงๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายแห่งชาติ

" เขาต้องการเลี้ยงไก่ในบริบทพื้นที่แต่เรากลับเอาปลาให้เขาเลี้ยงเพื่อจะได้เกื้อกูลหล่อเลี้ยงนายทุน " ผมเห็นด้วยและเห็นมาเยอะแล้วครับ ส่อให้เห็นว่า ความต้องการจริง กับคนกำหนดนโยบาย ไปกันคนละทาง.. นโยบายในปัจจุบันไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนจริงๆ.. แต่เป็นช่องทางแสวงหากำไรสำหรับคนบางกลุ่ม.. เท่านั้น!

สุดท้าย มองทุกประเด็น เป็นเรื่องของการบริโภคแทบทั้งสิ้น บริโภคนิยมเพื่อแสวงหากำไร กระทั่งสื่อ มาถึงเรื่องของนโยบายสู่ภาคสนาม เพื่อผลกำไรของนายทุน... แทบทั้งสิ้น

........ มันคือความเห็นจากหลืบเล็กๆ มุมอาจจะไม่กว้างเท่าไรนัก.......

เร่ร่อน

ขอบใจมากเพื่อน

เร่ร่อน

มุมคิดของนายสื่อสะท้อนให้เห็นคุณค่าความรู้สึกของการตระหนักรักและเรียนรู้พื้นที่แห่งนี้จริงๆ คมเข้มเต็มเสียงสะท้อนที่หลายๆฝ่ายควรได้ยิน

ถึงเวลาแล้วเพื่อนที่คนเฉกเช่นนายจะต้องกลับมาพัฒนาพื้นที่นี้อีกแรงครับ

ด้วยความหวังและดุอาอฺ

มีมุมคิดมาให้คิดหลายมุมดีจังครับ...

สิ่งที่เห็น ณ ตอนนี้หลาย ๆ กลุ่ม หลาย ๆ ภาคส่วนเริ่มเล็งเห็นแล้วนะครับว่า แนวทางการแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูปที่ส่งตรงมาจากส่วนกลางใช้ไม่ได้กับในพื้นที่นะครับ...

ความจริงที่เป็นอยู่ซึ่งถูกสะท้อนจากปราชญ์ในพื้นที่น่าจะเป็นข้อมูลหรือแนวทางที่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหานะครับ...

เสียงเล็ก ๆ ที่สะท้อนความจริงจากพื้นที่ เริ่มมีคนได้ยินมากขึ้นและมากขึ้นแล้วนะครับ และหวังว่าสักวันเสียงเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้นะครับ...

(แวะมาแลกเปลี่ยนมุมคิดยามดึกครับเด๊ะ)...

น่าสนใจมากครับ เป็นเรื่องพื้นๆ ที่ลึกซึ้ง ทั้งสืบสานภูมิปัญญา ทั้งกล้าหาญในการนำ ทั้งร่วมพลังหลายฝ่ายเข้าสรรค์สร้าง ขอบคุณสำหรับเรื่องดีดีในยามเช้าเช่นนี้

ขอบคุณมากๆๆครับบังว่าที่ (ดร.)

Ico32

Mr.Direct

อยากให้หลากหลายผู้คนเข้ามาเติมเต็มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกสิ่งที่ได้สะท้อนกัน ผมเชื่อครับว่าสักวัน (อินชาอัลลอฮฺ) สังคมจะพัฒนาไปสู่แนวทางที่ดีขึ้นหากเราทุกๆคนช่วยกันเท่าที่เราจะทำได้ในแต่ละภาคส่วน

  อัลฮัมดุลิลละฮฺ...มากครับที่จะมีคนอย่างบัง ความคิดแบบบังจะลงมาช่วยพื้นที่อีกแรงในเวลาอันใกล้นี้แม้จะอยู่กันคนละมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่เป็นไรเพราะยังไงใจคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะสื่อประสานการงานเพื่อพัฒนาสังคม ด้วยความหวังและดุอาอฺครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์

Ico32

นาย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย)

เป็นเรื่องพื้นๆ ที่ลึกซึ้ง ทั้งสืบสานภูมิปัญญา ทั้งกล้าหาญในการนำ ทั้งร่วมพลังหลายฝ่ายเข้าสรรค์สร้าง เพราะมันคือการงานที่ต้องร่วมกันสานต่อครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท