แมงกุดจี่ยักษ์


แมกกาซีน แปลก ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2552

แมงกุดจี่ยักษ์ 

แมลงเป็นสัตว์โลกที่อยู่คู่มนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เมื่อเอ่ยถึงแมลงกลายคนอาจจะรู้สึกรำคาญ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่คิดว่าอย่างน้อยมันก็เป็นอาหารที่น่าเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะพวกแมลงทอด แกงแมลงต่างๆ รสชาติหวานมัน แบบหาอะไรมาแทนไม่ได้ แมลงหลากหลายชนิดถูกสรรหามาทำอาหาร หนึ่งในแมลงที่เป็นอาหารอันโอชะของคนไทย ซึ่งแม้มันจะอยู่กับสิ่งที่น่ารังเกียจที่สุดอย่าง “ขี้” ของเสียที่ไม่น่าแตะต้อง แต่เราก็ยังสรรหาไปขุดกันจากใต้ดินขึ้นมารับประทาน นั่นคือ แมลงกุ๊ดจี่ยักษ์หรือกุ๊ดจี่ขี้ควาย ( dung beetle )  

โดยปกติแล้วเจ้ากุดจี่หรือด้วงมูลสัตว์ในประเทศไทยมีประมาณ 237 ชนิด กุดจี่บ้านมีขนาดเล็กเป็นที่รู้จักพบเห็นทั่วไปตามหมู่บ้านแหล่งชุมชนที่มีมูลสัตว์  แต่แมลงเบ้ากุดจี่ยักษ์หรือกุดจี่ขี้ควาย ( dung beetle ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heliocopris bucephalus Fabricius เป็นแมลงสวยงาม มีลูกเบ้าขนาดใหญ่เกือบเท่า  ลูกเปตองและ   ลูกเทนนิส เส้นผ่าศูนย์กลางลูกเบ้าประมาณ 6.5 - 8.5 เซนติเมตร ลำตัวแมลงเบ้ากุดจี่ส่วนอกกว้าง 2.2 - 3.0 เซนติเมตร ลำตัวยาว 3.6 - 5.0 เซนติเมตร แหล่งที่พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในธรรมชาติจะพบในพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีดินลักษณะเป็นดินทรายละเอียด พื้นที่ที่มีความสูงระดับน้ำทะเล  170 เมตร ที่มีหญ้าเป็นไม้พื้นล่าง ในบริเวณพื้นที่ ที่ชาวบ้านนำฝูงควายขึ้นมาเลี้ยงให้กินหญ้าบนเขา และยังพบว่าแมลงกุ๊ดจี่อาศัยอยู่ในขี้ช้างด้วย โดยในภาคเหนือซึ่งมีช้างเยอะ กุ๊ดจี่ก็จะไปวางไข่ไว้ในขี้ช้าง  

แม้จะเป็นแมลงที่อยู่ในขี้ควายแต่กลับมีคุณประโยชน์และแสนมหัศจรรย์ รู้หรือไม่ว่าแมลงเบ้ากุดจี่นั้นเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ : กินได้ ขายได้ น่าสนใจ เพาะเลี้ยงให้เป็นอาชีพเสริมได้

ประโยชน์ของแมลงกุดจี่ยักษ์นั้นมีตั้งแต่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องมาจากแมลงกุ๊ดจี่จะเก็บมูลควายไปกินเป็นอาหาร ทำให้ช่วยกำจัดมูลควายให้ไม่เกิดการทับทมของมูลสัตว์จนส่งกลิ่นเหม็น และในระหว่างที่มันสร้างเบ้าด้วยมูลและดินนั้น แมลงกุ๊ดจี่จะกินมูลควายและย่อยสลายขับถ่ายออกมาทำให้ดินร่วนซุยอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชเกษตร นอกจากนี้แมลงกุ๊ดจี่ยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นแมลงสวยงามที่มีคุณค่าควรแก่การสะสม โดยสามารถนำมาเซ็ทตัวขายเป็นของที่ระลึก เป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติเพราะเขาไม่เคยเห็น โดยมีขายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ราคาตัวละ 100 -300 บาทเลยทีเดียว และแมลงกุ๊ดจี่ยังเป็นแมลงสันทนาการชุมชนในหมู่บ้านต่างๆนิยมนำแมลงกุ๊ดจี่มาเล่นแข่งกันเป็นกีฬามวยปล้ำ ทำให้ได้รับความเพลิดเพลินและเชื่อมสัมพันธ์กันในหมู่บ้าน                    

ในด้านอาหารแมลงกุ๊ดจี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแมลงกินได้ที่อร่อย กล่าวกันว่าอร่อยเสียยิ่งกว่าไข่มดแดง ชาวภาคอีสานและภาคเหนือนิยมบริโภคกันมาก เนื่องจากลำตัวใหญ่  เนื้อมาก สามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น จี่  ย่าง   ต้ม  ทำแกงอ่อม  แกงป่า ตำน้ำพริก ห่อหมก แกงผักหวาน เป็นต้น มีคุณค่าอาหารและมีประโยชน์ต่อร่างกาย  โดยในน้ำหนักแมลงสด 100 กรัม        จะประกอบด้วยโปรตีน 17.2 กรัม สารแป้งน้ำตาล 0.2 กรัม    เส้นใย 7.0 กรัม ให้พลังงาน 108.3 กิโลแคลอรี่ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุแคลเซียม 30.9. มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส  157. 9 มิลลิกรัม โปรตัสเซียม 287.6  มิลลิกรัม บี1,บี2 และ           ไนอาซีน  3.44 มิลิลกรัม  อีกด้วย

 

ส่วนเรื่องมหัศจรรย์ของเจ้าแมลงกุ๊ดจี่นั้น เชื่อหรือไม่ว่า ชาวอียิปต์โบราณนับถือแมลงกุดจี่ชนิดนี้เป็นเทพเจ้าผู้ให้กำเนิดใหม่ เนื่องจากลักษณะของลูกแมลงเบ้ากุดจี่ ที่ตัวแม่ต้องทำการปั้นลูกเบ้า...เหมือนห่อแบบมัมมี่ และยังเชื่อกันว่าแมลงกุ๊ดจี่เป็นเครื่องนำโชค ดังจะเห็นมีภาพเขียนและภาพแกะสลักตัวแมลงกุดจี่ที่ฝาพนังกำแพง และในอดีตชนชาติอียิปต์ โบราณเช่นกัน ได้เขียนจารึกไว้ในสุสานฝังศพกษัตริย์ อียิปต์ โดยนับถือว่าแมลงกุดจี่ คือ เทพเจ้าองค์ หนึ่ง...!!!

และธรรมชาติของแมลงกุ๊ดจี่ยังเรียกได้ว่าจัดเป็นแมลงที่มีคุณธรรม ทำงานหนักตลอดชีวิต และมีชีวิตยืนนานที่สุดมากกว่าแมลงชนิดอื่นๆ ตัวเมียสามารถ   มีชีวิตนานถึง 13 เดือน เพราะตัวแม่แมลงเบ้ากุดจี่จะดูแลเฝ้าเลี้ยงดูตัวอ่อนจนกว่าลูกของมันจะฟักออกมาแล้วจึงค่อยตาย  

กุ๊ดจี่มีช่วงชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 ปี ตัวผู้มีหน้าที่จะช่วยกลิ้งขนอาหารเพื่อปั้นลูกเบ้า จะพบตัวผู้ตั้งแต่ปลายเมษายนถึงเดือนธันวาคมและสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานประมาณ 8 เดือน ส่วนตัวเมียมีหน้าที่วางไข่และ  ดูแลตัวอ่อน ตัวเมียจะเริ่มปั้นลูกเบ้าจากมูลควายและวางไข่ใส่ในลูกเบ้าลูกละ 1 ฟอง หลังจากนั้นจะปั้นลูกเบ้าพอกใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นอาหารของตัวอ่อนใช้ในการเจริญเติบโตอยู่ในลูกเบ้าและพอกปิดทับด้วยดินทราย ในธรรมชาติสามารถขุดพบลูกเบ้ากุดจี่อยู่ในโพรงมีจำนวน 5, 7, 9 และ 11 ลูกต่อโพรง  

ตัวอ่อน มีลักษณะเป็นตัวหนอนโค้งรูปตัวซี มีขาจริง     3 คู่ ตัวอ่อนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเป็นตัวหนอนขนาดใหญ่ ต่อจากนั้นจะเข้าดักแด้  ระยะดักแด้ เป็นช่วงหยุดนิ่งไม่กินอาหารและจะเปลี่ยนรูปร่างจากหนอนเป็นตัวสีขาวมีระยางค์ส่วนต่างๆคล้ายตัวเต็มวัยและเจริญเติบโตจนกลายเป็นตัวเต็มวัยสมบูรณ์มีลำตัวสีน้ำตาลแดงอยู่ในลูกเบ้า หลังจากนั้นแมลงเบ้ากุดจี่จะกัดลูกเบ้าพร้อมดันตัวออกมาจากลูกเบ้าและขุดคุ้ยดินโผล่ขึ้นมาบนพื้นผิวดินเพื่อสืบพันธุ์และเจริญเติบโตใหม่ต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้ตัวเมียจะดำรงชีวิตอยู่ในโพรงกลิ้งลูกเบ้าจนกระทั่งลูกเบ้ากุดจี่ฟักเป็นตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์ออกมาตัวแม่กุดจี่จึงตาย 

ลูกแมลงเบ้ากุดจี่ที่เจาะลูกเบ้าออกมาและขึ้นจากโพรงใต้ดินขึ้นมาบนพื้นดินจะเริ่มออกหาอาหารกินมูลควายเป็นอาหาร ดังนั้นทันทีแมลงเบ้ากุดจี่ออกมา ตัวแมลงจะเริ่มคลานและมุดลงใต้กองมูลสัตว์มูลควายทันทีเพื่อกินเป็นอาหาร หลังจากนั้นเริ่มขุดรูกลวงลงไปทำโพรงลึกลงไปในดินเพื่อเก็บอาหาร และขุดทำโพรงใหญ่เพื่อทำเป็นที่ผสมพันธุ์และวางไข่ วนเวียนกันเป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป  

หรือถ้าใครคิดว่าไปขุดเบ้ากุ๊ดจี่ตามท้องทุ่งแล้วมันไม่ทันใจ อยากจะลองเลี้ยงแมลงกุ๊ดจี่ดูหรืออยากจะเลี้ยงเป็นอาชีพนั้นก็สามารถทำได้ อาจารย์ลีลา กญิกนันท์ ผู้วิจัยและทำโครงการสนับสนุนการเลี้ยงแมลงกุ๊ดจี่ให้เป็นแมลงเศรษฐกิจนั้น ได้แนะนำว่า ให้สร้างกรงเลี้ยงแมลงและการสร้างบ่อเลี้ยงแมลงด้วยท่อซีเมนต์ แต่ต้องติดมุ้งลวดหรือมัดปิดผูกขอบปากบ่อไว้เพื่อกันแมลงบินหนีตลอดจนป้องกันศัตรูและแมลงชนิดอื่นเข้าอยู่อาศัยในบ่อเลี้ยงแทน   โดยใส่จำนวนพ่อแม่พันธุ์ จำนวนบ่อละ 1 คู่  ซึ่งจะง่ายและสะดวกต่อการจัดขุดหาแมลงต่อไป ส่วนการให้อาหารก็ต้องเตรียมมูลควายสดๆใส่ในกรงเลี้ยงทันทีหลังจากปล่อยแมลงใส่กรง ช่วงเดือน พ.ค. - มิย. ระยะนี้แมลงจะยังไม่ผสมพันธุ์กันแต่จะเก็บอาหารเล็กน้อยเพียงเพื่อบริโภคของแต่ละตัวไว้ จึงใช้อาหารไม่มาก ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. เป็นช่วงเริ่มมีการผสมพันธุ์และวางไข่ จะมีความต้องการเก็บอาหารจำนวนมาก ระยะนี้แมลงตัวผู้และตัวเมียจะมาร่วมกันโดยขุดสร้างโพรงอาศัยขนาดใหญ่เพื่อเก็บอาหารสะสมไว้และใช้อาหารปั้นลูกเบ้าเพื่อวางไข่และปั้นลูกเบ้าให้ขยายใหญ่ขึ้นเพื่อเก็บอาหารสำหรับเลี้ยงตัวอ่อนตลอดทั้งปี โดยให้ปริมาณอาหาร 1 กองมูลควายต่อแมลง 1 คู่ 

 

แมลงกุดจี่ยักษ์เลี้ยงไม่ยาก เป็นอาชีพเสริมรายได้ให้ครอบครัว ร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติในการช่วยกันเลี้ยงเพื่อป้องกันแมลงสูญพันธุ์ และหยุดการขุดหาจากธรรมชาติเพื่อบริโภคเปลี่ยนเป็นเลี้ยงเพื่อบริโภค  หลังจากเพาะขยายพันธุ์แล้วยังสามารถเก็บแมลงขายได้

 

ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่อาจารย์  ลีลา   กญิกนันท์       กรมป่าไม้ สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ งานกีฏวิทยาป่าไม้ ชั้น 4               อาคารสุรัสวดี เลขที่ 61 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900 โทร  0-2561-4292-93   ต่อ 453,467                                                                                     

                                                                                              

             

        

     

                                                               

                                                                                            

           scarab

http://www.insecta-inspecta.com/beetles/scarab/index.html

 

 

หมายเลขบันทึก: 279151เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2009 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แมลงกุดจี้ยักษ์ หรือ ขี้เบ้า(ภาษาเหนือ) เดี๋ยวนี้หายากไปทุกที เพราะไม่ค่อยมีคนเลี้ยงวัวควายกันแล้ว สมัยก่อนตอนเล็ก ชอบตามผู้ใหญ่ไปขุดแมลงชนิดนี้มากิน มาขาย หากไปถูกฤดู ถูกที วันหนึ่งได้เป็นกระสอบ แมลงกุดจี่ยักษ์เป็นอาหารหายากตามฤดูกาล ทำนำพริกอร่อยครับ

สวัสดครับ ผมเห็นด้วยว่าปัจจุบัน หายากขึ้น ผมโทรกลับบ้านให้ที่บ้านเมื่องกาญฯ แต่หาไม่ค่อยได้ ไม่เหมือนตอนเป็นเด็ก ๆ และตอนนี้ผมสนใจจะเลี้ยงแมงกุดจี่ ผมจะหาพันธ์ได้จากที่ไหนครับ

ขอบคุณสำหรับความเห็นและเรื่องของแมงกุดจี่ที่นำมาถ่ายทอดให้ได้รู้กันนะค่ะ

ถ้าสนใจจะเลี้ยงแมงกุดจี่รบกวนติดต่อทาง

อาจารย์ลีลา กญิกนันท์ กรมป่าไม้ สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ งานกีฏวิทยาป่าไม้ ชั้น 4 อาคารสุรัสวดี เลขที่ 61 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900 โทร 0-2561-4292-93 ต่อ 453,467

อาจารย์เป็นผู้ศึกษาในเรื่องนี้และมีโครงการแนะนำให้เลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ค่ะ ข้อมูลในงานเขียนนี้บางส่วนก็มาจากอาจารย์ค่ะ

ในอียิปต์โบราณเชื่อว่า เทพ Khepri สร้างดวงอาทิตย์ขึ้นใหม่ทุกวันแล้วกลิ้งออกมาตามแนวนอนในตอนเช้าและกลิ้งกลับไปในตอนเย็น เช้าก็สร้างดวงใหม่ออกมาทุกวัน

ในสุสานของราชวงศ์อียิปต์มีภาพวาดแสดงถึงพระอาทิตย์ เทพเจ้าและมีแมลงปีกแข็งเกี่ยวข้องด้วยเหมือนเป็นสัญลักษณ์ถึงพระอาทิตย์ยามเช้า

เมื่อ Scarab วางไข่ไว้ตามซากศพของสัตว์ ไม่นานก็จะมีแมลงเกิดขึ้นมาจากซากศพ ชาวอียิปต์เชื่อเรื่องการเกิดใหม่และเชื่อว่า Scarab สามารถเกิดมาได้จากสิ่งที่ตายแล้ว

Scarab เหล่านี้เป็นสัญญลักษณ์ที่สำคัญในพิธีกรรมการฝังศพของอียิปต์โบราณ

มีการให้ความเห็นจากนักวิชาการถึงความเชื่อเกี่ยวกับ Scarab ว่าอาจมาจากลักษณะการเจริญเติบโตในช่วงที่เป็นดักแด้ซึ่งปีกและขาถูกหุ้มมิดชิดคล้ายกับมัมมี่ นอกจากนั้นก้อนอึที่มีไข่แมลงอยู่ภายในถูกเก็บไว้ในโพรงใต้ดินซึ่งมีทางเข้าอยู่ด้านบนซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสุสานของกษัตริย์อียิปต์โบราณเช่นกัน

ผมอ่านแล้วก็มีความสนใจอยู่ แต่ผมว่ามันจะทำอยากนะ จะไปเอาขี้ควายสดมาจากไหนขี้ควายแห้งยังจะไม่มีให้เห็นและจะมีตลาดรับซื้อหรือเปล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท