สุดยอดกาแฟจากขี้ชะมด เพียงพอน และน้ำลายลิง!


แมกกาซีนแปลก ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2552

สุดยอดกาแฟจากขี้ชะมด เพียงพอน และน้ำลายลิง!

                กาแฟสินค้าธรรมชาติที่มีการซื้อขายกันมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากปิโตรเลียม ผลกาแฟได้ถูกมนุษย์นำมาผ่านกรรมวิธีต่างๆก่อนนำมาทำเป็นเครื่องดื่มแสนอร่อยซึ่งมีเกรด มีราคาต่างกันตามแหล่งที่มา แม้แต่กาแฟที่ถูกถ่ายออกมาพร้อมมูลสัตว์อย่างเจ้าตัวชะมดก็ยังกลายเป็นกาแฟที่มีราคาแพงที่สุดในโลกได้ หรือล่าสุดกาแฟที่ถูกคายทิ้งจากปากเจ้าลิงวอกก็ยังมาแรงแซงหน้ากาแฟขี้ชะมด

ปัจจุบันวัฒนธรรมการทานกาแฟที่แพร่หลายทั่วโลกทำให้กาแฟยิ่งมีการแข่งขันสูงและมีความเจาะจงเรื่องพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ต้องมีการระบุถึงประเทศ ภูมิภาค บางครั้งต้องบอกว่าปลูกที่พื้นที่ไหนบริเวณไหน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกาแฟอาจจะถึงกับต้องประมูลกาแฟโดยดูว่าเป็นล็อตหมายเลขเท่าใด  แม้แต่เหล่าเกษตรกรเองบางครั้งจะใส่ปุ๋ยต้นกาแฟยังต้องดูแสงเงาจากพระจันทร์กันเลยทีเดียว แหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของโลกได้แก่ จาไมกา เป็นแหล่งผลิตกาแฟบลูเมาน์เทนที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก ซึ่งปลูกบนยอดเขาสูง,บราซิล ผลิตกาแฟเป็นอันดับ 1 ของโลก ยี่ห้อมีชื่อคือ บราซิเลียน ซานโตส (Brazillian Santos), โคลัมเบีย ผลิตกาแฟเป็นอันดับ 2 ของโลก กาแฟที่มีชื่อคือ ซูรีโม (Suremo), ฮาวาย กาแฟขึ้นชื่อคือ โคน่า (Kona), อินโดนีเซีย ชวา [Java] ซึ่งมีวิธีการปลูกแบบพิเศษคือการบ่มในโกดังพิเศษเพื่อให้เมล็ดกาแฟเปลี่ยนสี และมีรสชาติที่ดี จนผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า กาแฟแมนเฮลิงและอันโกลาของชวา มีรสชาติดีกว่าบลูเมาน์เทนและโคน่าเสียอีก, อินเดีย มีกาแฟรสชาติเฉพาะตัว ชื่อมอนซูน มาลาบาร์ (Monsooned Malabar), เอธิโอเปีย ประชากร 1 ใน 4 ของประเทศมีรายได้จากอุตสาหกรรมกาแฟ กาแฟที่นี่มีลักษณะเฉพาะเนื่องจากมีกาแฟป่าปะปนอยู่ แต่นี่ก็เป็นสาเหตุให้รสชาติมีความไม่แน่นอนสูงด้วยเช่นกัน กาแฟที่มีชื่อเสียงคือ ฮารา ลองเบอรี่ (Harrar Longberry)  ซีดาโม (Sidamo) และคาฟฟา (Kaffa) และที่ เคนยา [Kenya] ซึ่งที่นี่พิถีพิถันเรื่องคุณภาพมาก กาแฟที่มีคุณภาพที่สุดคือ "เคนยา AA" 

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกาแฟสายพันธุ์ธรรมดาทั่วไป แต่มีกาแฟสายพันธุ์หนึ่งได้ชื่อว่า รสชาติเป็นเลิศ และมีราคาแพงที่สุดในโลกอีกด้วย กาแฟนี้มีชื่อว่า Kopi Luwak หรือ กาแฟขี้ชะมด

ชะมดนั้นในสมัยโบราณชาวอาหรับรู้จักมันเป็นอย่างดีเพราะพวกเขานำกลิ่นของมันมาสกัดเป็นน้ำหอม กลิ่นที่ได้จากชะมดเป็นสิ่งที่ชะมดขับจากกระเปาะของต่อมคู่ใกล้อวัยวะสืบพันธ์ของทั้งตัวผู้และตัวเมียที่เช็ดเอาไว้ตามต้นไม้ กลิ่นนี้ถ้าหากต้องการต้องจับชะมดมาขังไว้แล้วจะได้กลิ่นที่ชะมดเช็ดเอาไว้ตามกรง           ชาวอาหรับได้นำเจ้ากลิ่นชะมดนี้ไปผสมกับปูนขาว และพวกเขาก็นำปูนขาวที่ได้ไปใช้สร้างสุเหร่า (Mosque) และพระราชวัง ซึ่งก็ทำให้ได้สุเหร่าและพระราชวังที่มีกลิ่นหอมไปทั่วทั้งเมืองและนี่คืออีกหนึ่งที่มาจากเรื่องเล่าถึงคำว่า "City of Fragrances" นั่นเอง ในประเทศไทยที่จังหวัดเพชรบุรีก็มีการเลี้ยงชะมดเช็ดไว้เพื่อนำเอาน้ำมันไปทำน้ำหอมเช่นเดียวกัน

แต่ชาวอาหรับคงจะคิดไม่ถึงว่านอกจากน้ำหอมจากชะมดแล้ว มูลหรือของเสียที่มันขับถ่ายออกมานั้นยังสามารถเอามาทำกาแฟที่มีรสชาติแสนอร่อยได้ด้วย คำว่า Kopi ในภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า  กาแฟ ส่วน Luwak หมายถึง ชะมดพันธุ์ Paradoxurus ที่อาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อรวมทั้งสองคำ ก็คือ Kopi Luwak [อ่านว่า โกปิ ลูวะ] หมายถึง กาแฟขี้ชะมดนั่นเอง สาเหตุที่เรียกชื่อเช่นนี้ก็เพราะกาแฟชนิดนี้เป็นผลผลิตที่ออกมาพร้อมกับขี้ชะมดจากไร่บนเกาะสุมาตรา โดยชาวไร่กาแฟจะเลี้ยงชะมดพันธุ์พื้นเมืองนี้ไว้ในไร่กาแฟและปล่อยให้มันกินผลของกาแฟสุกที่อยู่ในไร่ เมื่อชะมดถ่ายมูลของมันออกมาก็จะมีเมล็ดกาแฟติดออกมาด้วย ชาวไร่ก็จะนำมาผ่านกรรมวิธีทำเป็นกาแฟออกขาย

ส่วนที่มาของกาแฟขี้ชะมดแท้จริงเกิดจากการที่ชาวอินโดไปเดินป่า แล้วพบเห็นขี้ชะมดมีกาแฟที่ไม่ถูกย่อยยังคงเป็นรูปเมล็ดอยู่จึงเกิดความเสียดาย เอามาล้าง และลองคั่วชงทานดู ปรากฏว่าได้รสชาติและกลิ่นที่หอมหวน แปลกใหม่ เข้มข้น แบบที่โรบัสต้าเดิมให้ไม่ได้ [กาแฟโรบัสต้า ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มข้นของ Body แต่อ่อนหรื่อกลิ่นและรสชาติ] ต่อมาจึงเกิดการเพาะเลี้ยงชะมด ในไร่กาแฟอย่างเป็นล่ำเป็นสันขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าโรบัสต้า โดยการันตีรสชาติด้วยยอดนักชิมกาแฟอย่างเจ้าชะมดเนื่องจากตามธรรมชาติชะมดจะเลือกกินเฉพาะเมล็ดกาแฟที่สุกดีแล้วเท่านั้น ส่วนรสชาติเมื่อขับถ่ายออกมาแล้วดีกว่าเดิมนั้นเชื่อกันว่าเกิดขึ้นจากการที่ขณะที่ผลกาแฟอยู่ในท้องของตัวชะมด เมล็ดจะผสมกับเอมไซม์และสารเคมีที่อยู่ในกระบวนการย่อยของมัน ทำให้กาแฟชนิดนี้มีกลิ่นและลักษณะเฉพาะตัว แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาดเพราะขั้นตอนในการทำกาแฟก็จะเหมือนการทำกาแฟชนิดอื่นๆ คือมีการเอามูลชะมดมาล้างออกให้หมด นำไปตากแดด และคั่วด้วยความร้อนก่อนนำไปบริโภค

อย่างไรก็ตามด้วยขั้นตอนการได้มาของกาแฟขี้ชะมดซึ่งยากแสนยากเช่นนี้ทำให้ทุกๆปีที่ผ่านมามีกาแฟลูวัคออกจำหน่ายเพียงประมาณ 200 กิโลกรัมเท่านั้น ในราคา 1,200-4,500 ดอลลาร์ต่อกก. หรือคิดเป็นเงินไทยก็ตกอยู่ที่ประมาณ 41,700 156,375 บาท จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คอกาแฟนับล้านๆ คนทั่วโลก ยังไม่เคยลิ้มลองกาแฟราคาแพงดังกล่าว ส่วนถ้าใครอยากจะลองชิม ร้านกาแฟหรูบางร้านในเมืองไทยเราก็มีให้ชิม แต่ก็นานๆจะเห็นนำเข้ากันมาสักทีซึ่งราคาต่อแก้วก็ต้องจ่ายกันไม่ต่ำกว่า 500 บาท และล่าสุดมีเกษตรกรในแถบที่ราบสูงของประเทศเวียดนามประเทศเพื่อนบ้านเราแห่กันเลี้ยงเจ้าตัวเพียงพอนซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับพังพอนและชะมดซึ่งชอบกินผลกาแฟสุขเช่นกัน เพื่อนำมูลของมันมาทำกาแฟขายในราคาแพงไม่แพ้กับราคากาแฟขี้ชะมดของอินโดนีเซีย!  

กาแฟขี้ชะมดโดนล้มแช้มป์ โดย "กาแฟลิง"

             แต่กาแฟขี้ชะมดและเพียงพอนที่ว่าแปลกแล้ว ยังต้องชิดซ้ายเมื่อเจอกับกาแฟที่เกษตรกรชาวเอเชียต้องใช้ความอดทนตามเก็บเมล็ดที่ลิงพันธุ์พื้นเมืองคายทิ้งไว้ ซึ่งโดยปกติเกษตรกรมักไม่ชอบลิง เพราะพวกมันมักเป็นตัวการทำลายพืชไร่ แต่สำหรับชาวไร่กาแฟชาวไต้หวันกลับยินดีและเต็มใจให้ลิงภูเขาพันธุ์ฟอร์โมซา ซึ่งเป็นลิงพื้นเมืองของไต้หวันเข้ามาเก็บกาแฟที่เขาปลูกไว้กินตามสบาย เนื่องจากลิงพวกนี้จะกินแต่เนื้อสีแดงของกาแฟแล้วคายเม็ดออกโดยไม่กินเมล็ดเพราะย่อยไม่ได้ จากนั้นเกษตรกรจะไปเก็บเมล็ดกาแฟที่ลิงคายทิ้งไว้ มาคั่วเป็นกาแฟรสเลิศและขายได้ราคา โดยกาแฟพันธุ์ที่นำมาปลูกให้ลิงกินนี้ เป็นพันธุ์ "อะราบิก้า" และต้องปลูกที่ระดับความสูงเกิน 600 เมตรขึ้นไป โดยแต่ละปีสามารถเก็บกาแฟลิงได้เพียง 300 กิโลกรัม ในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเมษายนซึ่งกาแฟลิงนั้นมีราคาตกปอนด์ละ 60 เหรีญสหรัฐ หรือ ตกกิโลกรัมละ กว่า 4 พันบาท  และล่าสุดยอดกาแฟน้องใหม่มาแรงจากลิงดังกล่าวที่มีชื่อเรียกว่า India Devon Estate 795 Arabica ปรุงจากเมล็ดกาแฟที่ลิงวอกในอินเดียบ้วนออกมา (ลิงวอก / Rhesus Monkey ชื่อวิทยาศาสตร์ Macaca mulatta พบในภาคเหนือของไทย ในจีน และอัฟกานิสถานด้วย) ได้รับคะแนนยอดเยี่ยมเป็นอันดับหนึ่งจากประธานคณะกรรมการตัดสินการปรุงกาแฟชิงแชมป์โลก โดยได้รับคะแนนถึง 98 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 ในขณะที่กาแฟขี้ชะมดได้ 74 คะแนน ผู้เชี่ยวชาญเผยว่ากาแฟลิงกลิ่นหอมยวนใจ รสชาติกลมกล่อมปิดท้ายด้วยรสหวานฉ่ำลิ้น เป็นผลมาจากเมล็ดกาแฟที่ลิงเลือกไปกินเปลือกนอกและบ้วนส่วนที่เหลือออกมาเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์และสุกเต็มที่ และในเดือนมิถุนายนนี้ ร้าน 49th Parallel ได้เปิดขายกาแฟลิงปรุงแบบ Espresso ที่สาขาในแวนคูเวอร์ ถ้วยละ 2.36 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 75.50 บาท แม้จะไม่แพงเท่ากาแฟขี้ชะมดแต่ก็เป็นกาแฟที่มาแรงมากในขณะนี้ มีรายงานว่าชาวไร่กาแฟในอินเดียได้นำเมล็ดกาแฟที่ลิงบ้วนทิ้งมาปรุงดื่มกันมานานแล้ว แต่ดื่มแบบนำมาผสมกับเมล็ดกาแฟที่เก็บจากต้น จนภายหลังได้ทดลองรสชาติกาแฟลิงล้วนๆเมื่อไม่นานมานี้และพบว่ารสชาติโดนใจกว่าจึงเป็นที่มาของกาแฟลิงดังกล่าว



หมายเลขบันทึก: 279155เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2009 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ลองแล กาแฟดอยช้าง ของไทย ดูบ้างต๊ะ

หากเอากาแดอยช้าง 2 ส่วน ผสม กาแฟโรบัสต้า สุราษฏร์ฯ ชุมพร หรือกระบี่ 1 ส่วน

ชงออกมา รสชาติ สุดยอดครับ

ขอบคุณที่แนะนำค่ะ

สงสัยต้องลองเอาสูตรนี้ไปชงชิมดูบ้างแล้ว

เป็นคอกาแฟ แต่ไม่กล้ากินกาแฟจากขี้ชะมดจริงๆ อี้

เคยอ่านเมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่ละเอียดเหมือนในบันทึกนี้ครับ ขอบคุณมากครับ

ตอนนี้มี Kopi Luwak มาจำหน่ายแล้วครับ นำเข้ามาจาก Indonesia สั่งซื้อได้ที่ http://coffeelover.weloveshopping.com/

หรือที่ร้าน Arcobaleno เชียงใหม่ http://www.arcobaleno-cm.com/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท