ช้างไถนา


แมกกาซีนแปลก วันที่ 21 สิงหาคม 2552

ช้างไถนา

 

ช้าง! สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รู้หรือไม่ว่าตั้งแต่แรกเกิดมันก็มีน้ำหนักมากถึง 120 กก.แล้ว ช้างมีอายุขัยเกือบเท่ากับคนคือประมาณ 50 – 70 ปี มีบันทึกไว้ว่าช้างที่อายุมากที่สุดมีอายุถึง 82 ปี และช้างยังเป็นสัตว์ที่อุ้มท้องนานถึง 22 เดือน นานที่สุดในบรรดาสัตว์บก

ช้างในโลกปัจจุบันมี 2 สายพันธุ์ คือช้างแอฟริกันและช้างเอเชีย ส่วนช้างยุคโบราณมี 2 ประเภท ได้แก่ช้างแมมมอธ  ที่มีงายาวและโค้ง มีขนยาวปกคลุมตัวจากความหนาวเย็น เป็นช้างที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆในภาพยนตร์การ์ตูนยุคน้ำแข็ง ช้างแมมมอธนั้นอาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งเมื่อ 4.8 ล้านปีก่อน สูญพันธุ์ไปเพราะถูกมนุษย์ยุคหินล่า และช้างสี่งาซึ่งเป็นบรรพบุรุษของช้างปัจจุบัน ที่เรียกว่าช้างสี่งาเพราะหัวของมันมีลักษณะยาวและมีงา 4 อันหรือ 2 คู่ยื่นออกมาจากขากรรไกรบนและล่าง มีชีวิตอยู่เมื่อ 16-1.6 ล้านปีก่อน ในประเทศไทยพบซากขากรรไกร ฟันและงา ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา

ในโลกของชาวฮินดูมีพระพิฆเนศวรเป็นเทพเจ้าที่มีรูปกายเป็นมนุษย์อ้วนเตี้ย ท้องพลุ้ย มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว เป็นเทพแห่งปัญญาและการขจัดอุปสรรคในการประกอบกิจการงาน ช่วยนำมาซึ่งความสำเร็จและความร่ำรวย และทุกๆปีจะมีเทศกาลคเณศจตุรถี นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ จัดขึ้นในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุดแก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วอินเดียและทั่วโลก มีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเข้าพิธีบูชา จากนั้นจะแห่องค์เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายต่างๆ ถนนหนทางทั่วทุกหนแห่งจะมีแต่ผู้คนออกมาชมการแห่องค์เทวรูปนับร้อยนับพันองค์ ผู้ศรัทธาทุกคนแต่งชุดส่าหรีสีสันสวยงาม ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี ฯลฯ แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล ดังรูปจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพิธีนี้

สำหรับช้างกับคนไทยนั้นเรียกได้ว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ในอดีตบรรพบุรุษของเราใช้ช้างเป็นพาหนะในการทำศึกสงคราม ปัจจุบันช้างไทยยังคงรับใช้คนไทยในหลายด้าน แม้ว่าอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตไม่ว่าจะเป็นการใช้ช้างลากซุง ไปจนถึงการต้อนรับนักท่องเที่ยว เป็นพาหนะให้นักท่องเที่ยวขึ้นขี่หลังชมเมือง เป็นนักแสดงช้าง โชว์ความสามารถพิเศษ เช่น วาดรูป เต้น เล่นกายกรรม แต่รู้ไหมว่าช้างไทยของเรายังสามารถช่วยชาวนาในการไถนาแทนควายหรือรถไถได้อีกด้วย

เป็นที่รู้กันดีว่าเราใช้ความในการไถนา ทุกวันนี้เราสามารถพบควายได้ทั่วไป เช่น ในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทราย Sahara ก็มีการเลี้ยงควาย ในบราซิลบนเกาะ Marajo ในลุ่มแม่น้ำ Amazon ก็มีควาย ในอังกฤษท่าน Earl of Cornwall ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้า Henry ที่ 3 เคยเลี้ยงควาย แต่อากาศหนาวในอังกฤษทำให้ควายล้มตายหมด สำหรับชาวเขมรนั้นก็รู้จักเลี้ยงควายมานานประมาณ 600 ปี ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า คนอินเดียรู้จักเลี้ยงควายมานานร่วม 4,500 ปีแล้ว ส่วนคนจีนเริ่มหัดเลี้ยงควายหลังคนอินเดียประมาณ 1,000 ปี แม้แต่ในอียิปต์ก็มีภาพวาดของควายบนผนัง พีระมิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวอียิปต์รู้จักเลี้ยงควายเป็นสัตว์ไถนานานประมาณ 1,200 ปี แต่ไม่เคยมีปรากฎว่าที่ใดมีการนำช้างมาไถนา

ช้างไถนา! มีที่เดียวในประเทศไทย ที่บ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงบ้านนาเกียนที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ชาวกะเหรี่ยงจำนวน 5 หมู่บ้านใน ต.อมก๋อย ยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำนาดำแบบขั้นบันได และปลูกพืชไร่เพื่อเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่มีที่ทำกินอยู่บนเขาหรือไม่ก็บริเวณเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,2001,600 เมตร ซึ่งสภาพดินค่อนข้างแข็ง มีหินปะปนอยู่มาก หากไถนาโดยใช้แรงควายจะทำงานได้น้อย แต่ถ้าใช้รถไถนาเดินตาม ชาวบ้านก็ไม่มีทุน อีกทั้งรถไถนาไม่เหมาะกับการใช้งานบนพื้นที่ลาดเอียง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง ไม่มีสัตว์เลี้ยง หรือพาหนะชนิดใดที่ชาวกะเหรี่ยงอมก๋อยเห็นว่าเหมาะสมเท่ากับการใช้แรงงานจากช้าง

                แต่ก่อนจะนำช้างมาไถนาได้นั้น ก็ต้องผ่านการฝึกช้างเสียก่อน พะอุควา ตระกูลเสาวภาพ ควาญช้าง พังแม่งาดี แห่งบ้านสบอมแฮด ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เล่าถึงขั้นตอนการฝึกช้างว่า การนำช้างมาไถนา ไม่ใช่เลือกตัวใดก็ได้ พ่อเชื่อว่า ช้างทุกตัวสามารถฝึกไว้ใช้งานได้ แต่สำหรับการฝึกเพื่อไถนาพ่อจะเลือกช้างตัวเมีย อายุ 6-7 ปีขึ้นไป ที่ไม่เลือกตัวผู้ เพราะการไถนาเป็นงานกลางแจ้ง หากวันไหนอากาศร้อนมากๆ ช้างพลายอาจจะตกมันได้ ซึ่งมันจะเป็นอันตรายต่อตัวเราและช้าง

  เมื่อเลือกช้างได้แล้ว พ่อเฒ่าทีแฮ จะเริ่มฝึกโดยการให้ช้างคลึงขอนไม้ไปมา ให้คุ้นเคยกับการออกคำสั่ง ขั้นต่อไปให้ลากไม้ และเดินวนสนามไปมา ก่อนจะให้ทดลองสวมคันไถ ซึ่งทำขึ้นเฉพาะ แล้วก็ฝึกไถ กว่าช้างจะไถนาได้จริงก็กินเวลาไปกว่าครึ่งปี เมื่อฝึกเสร็จก่อนลงมือไถนาต้องตรวจสอบสุขภาพใจและกายของช้างอย่างถี่ถ้วน เช่น กินอาหารและน้ำอิ่มหรือยัง เท้าทั้ง 4 ข้างมีบาดแผลไหม และควรเริ่มงานในตอนเช้า เพื่อไม่ให้ช้างร้อนเกินไปอาจหงุดหงิดได้
            การไถนาด้วยช้างมีข้อแตกต่างจากการไถนาปกติตรงที่ การไถนาด้วยควายหรือควายเหล็กใช้คนเพียง 1 คนเท่านั้น แต่การไถนาโดยใช้ช้างต้องใช้คนถึง 3 คนเป็นอย่างต่ำ โดยคนแรกคือ ควาญช้างบังคับช้าง คนที่สอง รับหน้าที่จูงช้างให้เดินตามแนวที่ต้องการไถ และคนสุดท้ายจับคันไถ โดย 1 แรงช้าง เท่ากับ 4 แรงวัวหรือควาย นั่นหมายความว่าช้าง 1 เชือก ลากคันไถได้ตั้งแต่ 1-4 คันไถ แถมยังไม่ต้องพักเหนื่อย เพราะการไถนาถือเป็นงานเบาสำหรับช้าง เมื่อเทียบกับงานลากไม้ซุง

และเมื่อวันที่ 8 เดือนที่ 8 ที่ผ่านมา บนพื้นที่ 8 ไร่ โดยใช้ช้าง 8 เชือก เวลา 08.08น. 
ที่แปลงนาข้าวอินทรีย์ บ้านแสนดอยรีสอร์ท แอนด์ สปา หมู่บ้านในฝัน ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ ก็ได้มีการจำลองการใช้ช้างไถนาให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่าบ้านเรามีการใช้ช้างไถนามากว่า 100 ปี โดยเริ่มตั้งแต่การทำพิธีฮ้องขวัญข้าวและฟ้อนปูจาผีฟ้านาข้าวแบบกระเหรี่ยง โดยมีผู้แต่งกายแบบชาวเขากระเหรี่ยงโบราณมาทำพิธีและร่ายรำอยู่กลางทุ่งนา จากนั้นนายพระนายและนายฮาเกินได้ขึ้นหลังพลายสมใจและพังขวัญจิตจากปางช้างแอลลี่ อ.แม่แตง เพื่อไถนา 1 รอบ โดยมีควาญช้างชาวกะเหรี่ยงปะกากญอให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่จะทำพิธีดำนาเพื่อปลูกข้าว 4 สายพันธุ์ในแปลงนาเนื้อที่ 8 ไร่ คือข้าวหอมมะลิสันป่าตอง ข้าวก่ำดอยสะเก็ด ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมนิล ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเก่าแก่ของท้องถิ่น โดยงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีหลายท่านในจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานต่างๆ อาทิ ททท.เชียงใหม่, ปางช้างแอลลี่, พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงา ฯลฯ ซึ่งภาพงานได้ถูกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆของประเทศไทยทำให้คนไทยและทั่วโลกได้มีโอกาสเห็นภาพช้างไถนาของจริงและต้องขอขอบคุณภาพถ่ายตัวอย่างบรรยากาศงานสวยๆในครั้งนี้จากนายโย่ง http://www.cm108.com มา ณ ที่นี้ด้วย

ส่วนใครที่อยากเดินทางไปชมของจริงก็ไปกันได้ที่อำเภออมก๋อย แต่ต้องสำรวจเส้นทางกันให้ดีๆเพราะช่วงฝนตก เส้นทางจะค่อนข้างเดินทางลำบากต้องอาศัยรถโฟวิวโดยคนขับที่ชำนาญทางจึงจะขึ้นไปได้ แต่ถ้าขึ้นไปแล้วรับรองว่าคุ้มเพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับอากาศบริสุทธิ์แล้ว วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่นี่น่าสนใจมาก ชาวบ้านยังแต่งกาย ใช้ภาษาพูดแบบเดิม และมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมการเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงวัวโล๊ะไม้ล้อ (พันธุ์พื้นเมือง) ชมการเต้นจะคึต้อนรับนักท่องเที่ยวของชาวมูเซอ การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวกะเหรี่ยง การตีกลองสะบัดชัย การเต้นรำของชาวกะเหรี่ยง ชาวม้ง ฯลฯ

 

 

หมายเลขบันทึก: 297006เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขออนุญาติติดรูปไว้ก่อนน่ะค่ะ

ขอบคุณที่นำความรู้มาให้  ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ที่ครูอ้อยเอ็นดูและรักเป็นหนักหนา  ช้างทำนา ที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ขอบคุณค่ะ ครูอ้อย นอนดึกจัง รักษาสุขภาพด้วยน่ะค่ะ

ครูอ้อยชินกับการนอนดึกแล้วค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

เข้ามาดูช้างไถนาครับ .... แหะๆ

สวัสดีคุุณกิตติยา

ผมนายยานักศึกษาราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี แต่ศูนย์เรียนอยู่ที่นครราชสีมา เป็นนักศึกษา ป.โทปี2 กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องวิกฤคอาขีพชาวนาที่ขาดผู้สืบทอดทางสายพันธ์ของจังหวัด... อยากจะไดัรูปภาพที่มีคนกำลังไถ่นา ถ้าคุณมีช่วยส่งภาพมาให้หน่อย ถ้าคุณมีแนวคิดอะไรดีๆ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ช่วยเล่าสู่กันฟังบ้างนะ เพราะที่โคราชส่วนมากจะใช้รถไถ่ จึงไม่มีภาพที่จะไปหาถ่ายได้ เหลือถ้าคุณกิตติยามีเพื่อนที่มีความรู้เรื่องนี้ ช่วยถามเพื่อนหน่อยว่าเรื่องของผมนี้จะพอทำได้หรือเปล่า เพราะผมเป็นคนชนบท ไม่คอยมีเทคโนโลยี่ในการค้นหา ใช้แต่มือถือต่อเน็ต มันช้าแบบสุดๆสำหรับคนชนบทที่นักการเมืองบางคนเรียกว่าพวกรากหญ้าแบบผม ถ้าไม่มีอาขีพทำนา ประชาชนในประเทศจะเอาข้าวที่ไหนทาน ใช่ใหม่ครับ

ถ้าคุณกิติยามีไอเดียดีๆ ช่วยหาให้สักเรื่องนะครับ

จากหนุมชนบทโคราช

ยา

(กำลังรอคำตอยอยู่นะครับ จนกว่าเน็ตจะหมดเวลา)

อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องช้างที่อายุ 82 ปีครับ ว่าบันทึกใว้ช่วงปีอะไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท