เล่าการเดินทางด้วยภาพ ปักกิ่ง ๔


หนึ่งในเจ็ดมหัศจรรย์ของโลก กำแพงเมืองจีน ที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากไปเยียน

เล่าการเดินทางด้วยภาพ

ปักกิ่ง ตอน

เมื่อตอนที่แล้วพวกเราได้ไปทานเป็ดปักกิ่ง  ไปดูงิ้วปักกิ่ง   และเที่ยวกำแพงยักษ์เมืองจีนเป็นที่สนุกสนานกันทีเดียว   บางท่านเคยไปเที่ยวมาแล้วก็ได้ถือโอกาสทบทวนความทรงจำที่ดีๆอีกครั้งพร้อมทั้งนำถาพสวยๆมาฝากอีกด้วย    บางท่านที่ยังไม่ได้ไปเที่ยวอยากทราบประวัติความเป็นมาของกำแพงเมืองจีน   ลุงขอถือโอกาสเล่าให้ฟังเสียวันนี้เลย

ณ หุบเขาทางทิศเหนือของกรุงปักกิ่ง (เป่ยจิง) กำแพงเมืองจีนขนาดมหึมา ทอดยาวคดเคี้ยวดังงูยักษ์จากยอดเขาหนึ่งสู่อีกยอดหนึ่ง ช่างเป็นส่วนอันน่าตื่นตาที่สุดของกำแพงยาวที่สุดซึ่งมนุษย์สรรค์สร้าง แนวกำแพงเริ่มจากป้อมเจี๋ยหยูกวน ที่ตีนเขาฉีเหลียนซาน อันเป็นดินแดนแห้งแล้งทางทิศตะวันตก ตัดผ่านทะเลทราย ทุ่งหญ้า แม่น้ำ หุบเขา และแนวป่า ไปจรดแม่น้ำยาลูทางตะวันออกซึ่งติดพรมแดนประเทศเกาหลี กำแพงพาดผ่านภาคเหนือของจีนทั้งภาค ยาวถึง  ๓,๒๐๐   กิโลเมตร แต้ถ้านับรวมส่วนที่สร้างแยกออกจากตัวกำแพงใหญ่ด้วยจะมีความยาวทั้งสิ้นถึงประมาณ ๖,๕๐๐ กม. 

เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีก่อน แคว้นต่างๆ ทางเหนือของประเทศจีนที่เป็นศัตรูกันต่างก็สร้างกำแพงล้อมอาณาจักรของตน ในช่วง ๒๒๑ ปีก่อนคริสต์ศักราช เจ้าชายแห่งแคว้นฉินซึ่งเป็นหนึ่งในแถบนั้นได้รวมดินแดน ๖ แคว้นเป็นอาณาจักรเดียว แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีนทรงพรนามว่าฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) พระองค์ทรงให้ทำลายกำแพงกั้นแว่นแคว้นเดิมยกเว้นกำแพงด้านทิศเหนือ แล้วโปรดให้สร้างเพิ่มเติมเชื่อมต่อกันเพื่อปกป้องดินแดนของพระองค์จากพวกฮวนและชนเผ่าอิสระต่างๆ ทางเหนือ ในศตวรรษต่อๆ มา จักรพรรดิองค์อื่นๆ ได้ต่อเติมกำแพงนี้ให้ยาวออกไปอีก  โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ฮั่น  (๒๐๖ ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ.  ๒๐๐) และ ราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘-๑๖๔๔)

กำแพงส่วนใหญ่ที่เห็นในปัจจุบันสร้างในสมัยราชวงศ์หมิงเมื่อ  ๓๐๐-๖๐๐ ปีก่อน เพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกมองโกล (ราขวงศ์หยวน) ซึ่งถูกราชวงศ์หมิงขับไล่ไปจากจีน กำแพงส่วนใหญ่สร้างจากหินและอิฐ ส่วนที่ใหญ่โตที่สุดอยู่ระหว่างด่านจูหยงกวานทางเหนือของนครปักกิ่ง กับด่านซานไฮกวนใกล้ชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันออก 

           เมืองหน้าด่าน ๑๑ แห่ง นับจากเมืองเหลียวตงทางตะวันออกถึงเมืองจางหยีในมณทลกานสูทางตะวันตก ต่างรับหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างกำแพงไปเมืองละส่วนใช้ทหารประจำการเกือบ ๑ ล้านคนและกรรมกรที่ถูกเกณฑ์มาอีกจำนวนกว่าล้าน พวกทหารยามประจำกำแพงมีตราประจำตัว การติดต่อสั่งงานระหว่างผู้บังคับบัญชาชั้นรองนั้นใช้วิธีเขียนลงบนแผ่นป้ายแล้วให้ม้าใช้ไปส่ง 

            แม้ว่าอิฐและปูนที่ใช้จะผลิตใกล้ทำเลก่อสร้างแต่ก็ยังต้องใช้แรงงานคนหรือลาขนขึ้นไปในที่สูงมีการใช้แผ่นหินขนาดใหญ่อยู่บ้าง ยางแผ่นหนักประมาณ ๑ ตัน ซึ่งลากกันขึ้นมาได้อย่างไรก็ยังเป็นปริศนาอยู่ บางก้อนอาจใช้กว้านซึ่งประกอบด้วยรอกกลมๆ กับด้ามมือหมุนสำหรับดึง หินตรงมุมกำแพงนั้นบางครั้งตรึงไว้ด้วยเดือยเหล็ก โดยเทเหล็กหลอมใส่ในช่องหินที่เจาะเตรียมไว้แทบทุกส่วนของกำแพงมีแผ่นป้ายจารึกชื่อคณะวิศวกรรมและหัวหน้าช่างติดไว้ แต่สำหรับคนงานอีกมากมายซึ่งตายในหน้าที่ ก็มีตัวกำแพงนี้เองที่เป็นอนุสรณ์โดยปริยาย 

         กำแพงแต่ละส่วนมีความสูงและกว้างต่างกันไปกำแพงในแถบป๊าต้าหลิง ทางเหนือของปักกิ่งสูงประมาณ ๖ เมตร   ซึ่งกว้างพอให้ทหารม้า   คน  หรือทหารเดินเท้า ๑๐ คนเดินแถวเรียงหน้ากระดานได้ ส่วนที่ด่านเจียวซานกวานในเทือกเขาเหียนซาน ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นทะเลนั้นกำแพงกว้างเพียงประมาณ  ๔๐ ซม. ในแถบที่กำแพงค่อนข้างกว้างจะมีใบเสมาสูงประมาณ ๑.๘ เมตรเรียงรายอยู่สองฟากกำแพง และมีป้อมทุกระยะประมาณ ๑๘๐ เมตร (ระยะ ๒ ช่วงธนู) บางป้อมเป็นเพียงที่หลบแดดหลบฝน บางป้อมมีห้องนอนและที่เก็บของ และยังมีแท่นคบเพลิง  (บางแท่นอยู่ห่างจากตัวกำแพงออกไป)  ตั้งไว้ทุกระยะประมาณ ๑๕  กิโลเมตร  เพื่อใช้ส่งสัญญาณไฟไปยังอีกฟากหนึ่งของอาณาจักรได้ภายใน ๒๔ ชม. 

กำแพงเมืองจีน ๑

 

 กำแพงเมืองจีน ๒

กำแพงเมืองจีน เมื่อ ๑๐ ปีก่อน (คส ๑๙๙๘)

 

กำแพงเมืองจีน คส. ๑๙๙๔

ลุงชอบปีนกำแพง

ภาพปักกิ่งช่วงฤดูหนาว  หิมะตก

คำสำคัญ (Tags): #ท่องเที่ยว
หมายเลขบันทึก: 197012เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

                  แวะมาชมภาพสวยๆ  สาระดีๆค่ะ

                                ขอบคุณค่ะ

              

 

  • สวยจังเลยครับ
  • น่าไปเที่ยวมากๆ เลย
  • ยิ่งมีปักกิ่งเกมส์ด้วยครับ
  • ขอบคุณ คุณสายธารและคุณ WaTan  ที่แวะมาเที่ยวกำแพงเมืองจีนกับลุง  ยังมีภาพสวยๆจะนำมาบันทึกวันอาทิตย์หน้า
  • แล้วพบกันครับ

Ni Hao ค่ะ ตามอ่านมานานแต่ไม่ค่อยได้เขียน วันนี้เลยขอแวะมาบอกว่าชอบอ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของคุณลุงค่ะ : )

你好 เช่นเดียวกันครับ คุณ Little Jazz 下星期天见

ภาพสวยมากครับ...

และบล้อกได้บรรยากาศของความเป็น"จีน" ไว้อย่างเพียบพร้อม

ขอบคุณมากครับ

ชวนคุณอาไปเที่ยวอัมพวา กับผมครับ เหมือนสายธาราแม่กลองรำพัน : เที่ยวอัมพวา ไปชมสาวงามบางคนที

 

อรุณสวัสดิ์ค่ะคุณลุงหนุ่มนาข้าว

* กำแพงจีน ยิ่งใหญ่ ตระการตา

* สุดขอบฟ้า สุดสายตา พาสุขสันต์

....

เห็นบรรยากาศ หิมะ แล้วอยากสัมผัสจังเลยค่ะ

แต่คงหนาวยะเยือกนะคะ ... ขอบคุณค่ะ

ให้คุณลุงมีความสุข ทุกวี่วัน ค่ะ  ...

สวัสดีครับคณลุงพูดเมืองจีนก็ทำให้นึกถึงนายผีและกาพย์กลอนของนายผีนะครับ

หนิวกุ่ยเสอสิน โดย อัศนี พลจันทร (นายผี)

คว้างคว้างกลางฟ้ามาวันนี้         ใจจ่ออยู่ที่เทียนอันเหมินไถ
หนิวกุ่ยเสอเสินสำแดงแรงใด      เต่างูกรูไกรกระเกริกเกรียวกราว

คว้างคว้างมากลางฟ้า              สุดสายตาอันยาวยาว
ว่องว่องตะวันวาว                    ตะวันออกก็อาบทอง
ยุดรถพระอาทิตย์                     จะเป็นเถ้าและใครลอง
พวกฉวยโอกาสปอง                 จะป่วยเปล่าอย่าปรารมภ์
เต่างูอันกรูเกรียว                      กันมาแยกเขี้ยวคืออาจม
สรวมใส่ชฎาชม                       ชะคืนรูปช่างเร็วไว
อ้าฟ้าทลายหรือ                       อย่าสำคัญบ่เป็นไป
เป็นตายจะยืนใน                      สนามรบของแรงงาน
โลกนี้เป็นของเรา                     ผู้เหนื่อยยากจะบันดาล
ใช่โลกเหล่าสามานย์                 อันแสร้งร้อยมาลัยเหม็น
คิดถึงประธานเหมา                   ก็กระเปร่ากระปรี้เป็น
กำลังอันแล่นเอ็น                      ก็ตึงเคร่งบ่หย่อนคลาย
ประกาศิตประธานเหมา               นั้นกำหนดชะตาตาย
พวกภูติและผีพราย                    ที่ลิงโลดในนรกานต์

ที่มา รำลึกถึงนายผี จากป้าลม / วิมล พลจันทร 2463-2545. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2533 หน้า 156-157

สวยมากครับ ขอบคุณที่พาเที่ยวครับ

เข้ามาเก็บเกี่ยวในรอยประสบการณ์...ครับ

เข้ามาติดตามเรื่องราวของคุณลุงค่ะ พยายามจะส่งรูปกำแพงเมืองจีนช่วงคริสมาสปีที่แล้วแต่ยังไม่สำเร็จค่ะ.. และจะพยายามต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท