ธรรมะขีดเส้นใต้ ๖: นายเหตุผลถาม....พุทธทาสตอบ [มาทำความเข้าใจกันก่อนตอบ]


อุปมาอย่างเสือหรือสิงห์ เมื่อถูกยิงด้วยลูกปืน หรือลูกศร แทนที่จะมัวกัดลูกปืน หรือลูกศรอยู่ กลับกระโดดไปยังทางที่ลูกศรหรือลูกปืนถูกปล่อยมา, เพื่อกัดคนซึ่งใช้ปืนหรือลูกศรประหารมัน, ต่างกับสุนัขซึ่งถ้าใครเอาไม้ไปแหย่มัน แทนที่จะตรงไปกัดปรปักษ์ของมัน กลับไปกัดไม้นั่นเอง

ธรรมะขีดเส้นใต้ ๖: นายเหตุผลถาม....พุทธทาสตอบ

[ มาทำความเข้าใจกันก่อนตอบ ]

สวัสดีครับ

           บทความนี้อาจยาวสักหน่อย  อาจทำให้หลายท่านใจร้อนอยากฟังคำตอบจากท่านพุทธทาสโดยไว  แต่ใจเย็นๆ หน่อยครับ  เพราะท่านอาจารย์ได้ตอบแต่ละคำถามอย่างละเอียดสักหน่อย  เราค่อยๆ ย่อยกันทีละข้อก็แล้วกันนะครับ

           ด้วยเวลาอันจำกัด  และมีภาระต้องทำ  เนื่องจากบทความนี้ยาวหน่อย  ผมต้องทะยอยพิมพ์  แล้วตรวจทานอย่างน้อยก็สองรอบ  เพื่อกันความผิดพลาด  ฉะนั้นอดใจรอหน่อยนะครับ

           ในบทความนี้ยังไม่ถึงคำตอบที่เราต้องการ  แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อย  ที่เราจำเป็นต้องอ่านเพื่อปูพื้นทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อน  ว่าพุทธศาสนาของเราคืออะไร  มุ่งเน้นเรื่องอะไร  ไม่งั้นคงตีความกันไปต่างๆ นานา  แล้วเถียงกันไปไม่รู้จบ(อย่างน้อยก็ในความคิดเราเอง)

เชิญรับฟังได้เลยครับ

 


        ข้าพเจ้า  ได้อ่านปัญหาต่างๆ ของ  นายเหตุผล  แล้ว  อดชมและสงสารความมีใจกล้าหาญของเธอไม่ได้, แม้ข้าพเจ้าจะไม่ทราบน้ำใจของเธอว่า  เธอกล่าวออกมาด้วยความสุจริตแห่งความรู้สึกเพื่อคิดค้นหาความจริง  หรือว่าด้วยเจตนาทุจริตคิดเหยียบย่ำพุทธศาสนาก็ตาม  แต่ถึงหากว่าเธอมีแนวคิดตกอยู่ในประการหลัง  ข้าพเจ้าก็ขอชอบเธออยู่นั่นเอง;  เพราะข้าพเจ้าคิดว่าอย่างน้อยที่สุด  คงมีครั้งหนึ่งที่เธอเคยใช้เวลาตรึกตรอง  หาเหตุผล  ในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว.  แต่ยังไม่พบหรือสมใจของเธอเท่านั้น.

        ข้าพเจ้าเองเป็นภิกษุรูปหนึ่ง  ในจำนวนภิกษุทั้งหลายที่รักและเคารพต่อพระรัตนตรัย,  จึงเป็นหน้าที่โดยตรงที่จะทำอย่างดีที่สุดของเพศภูมิและความรู้ความสามารถของข้าพเจ้า  ในอันที่จะแก้วาทภัยอันมีผู้สาดเทลงบนพระศาสนาอันเป็นที่รักและเคารพของข้าพเจ้า,  อีกอย่างหนึ่ง  ข้าพเจ้าออกรู้สึกสงสาร  นายเหตุผล  มาก.  ที่ข้าพเจ้าว่าสงสารนี้  ขออย่าให้ใครๆ หมายว่า  ข้าพเจ้าสงสารเธอโดยประการที่เกี่ยวกับความที่เราถือกันว่า  เป็นสุขในโลก,  ซึ่งในทางนี้ข้าพเจ้าคิดว่า  เธอคงมีสุขมาก  อย่างน้อยที่สุดต้องมากกว่าข้าพเจ้า : เธออาจเป็นคุณหลวง  คุณพระ;  เธออาจเป็นนักเรียนที่สำเร็จมาจากนอกอย่างใหม่ถอดด้าม,  หรืออย่างใหม่ที่สุดของเวลาที่สุดของวันนี้;  เธออาจเป็นคนมีความรู้เชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์แห่งการสร้างมนุษย์;  เธออาจเป็นนักล่าสัตว์,  แลนักดื่ม,  แลเธออาจเป็นอะไรต่ออะไร  อีกมากมาย  ตามที่เธอชอบ,  ตามที่เธอเห็นว่าดีกว่ามีสุขกว่าผู้ที่ถือพุทธศาสนา.  ความอาจเป็นไปได้  ที่กล่าวข้างต้นนั้น  เราอาจเห็นได้จากเงาฉายแห่งใจของเธอในรูปตัวอักษรที่เธอผูกเป็นปัญหาถามไป,  แต่ว่าข้าพเจ้าสงสารความรู้สึกของเธอที่เห็นพระพุทธศาสนา,  ซึ่งแม้โลกที่เจริญแล้วด้วยอารยธรรมโดยมาก  ก็ยังเห็นว่าเป็นศาสนาที่มีหลักศีลธรรมอันประเสริฐ,  ชอบด้วยเหตุผลและเข้ากันได้กับทางวิทยาศาสตร์นั้น  ว่าเป็นศาสนาแห่งความทุกข์,  เป็นศาสนาอันไม่มีเหตผลไปเสียได้.  ความสงสารไม่ใช่ความขึ้งเคียดเกลียดชัง  ที่ทำให้ข้าพเจ้าเขียนจดหมายนี้.  ข้าพเจ้าขอให้  นายเหตุผล  ใช้ความยุติธรรมแลปัญญาอันสุขุมซึ่งพ้นจากอารมณ์อคติทุกชนิด  พิจารณาคำตอบของข้าพเจ้าอีกสักครั้ง.  ข้าพเจ้าคิดว่า นายเหตุผล มีความคิดและปัญญา  สมชื่อที่เธอเลือกตั้งขึ้นแล้ว. (ข้าพเจ้าคิดว่านามนี้คงเป็นนามแฝง  ถ้าเป็นความจริง  ข้าพเจ้าขออภัย)  เชื่อว่า  ถึงไม่มาก  เธอคงได้รับความรู้ความเห็นในเหลี่ยมดีของพุทธศาสนาบ้าง  และถ้าความหวังของข้าพเจ้าไม่พลาด,  บางทีในเวลาต่อไปเธอคงไม่ด่วนลงความเห็นว่า องุ่น, เปรี้ยว หรือ หวาน แน่,  จนกว่าเธอได้ลิ้มรสองุ่นแล้ว.

        ก่อนที่ข้าพเจ้าจะตอบปัญหาของ  นายเหตุผล  เป็นข้อๆ ไป  ขอให้ข้าพเจ้ากล่าวเรื่องพระพุทธศาสนาแต่ย่อๆ สักหน่อย  เหมือนกับการกรุยทางแห่งแนวความคิดที่เราจะจูงมือกันไปหาจุดหมาย.  มันเป็นสิ่งที่เหมาะอย่างยิ่ง  ที่เราจะต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของพุทธศาสนา  ก่อนที่เราจะออกความเห็น  หรือตีค่าของพุทธศาสนา.  เพราะเพชรพลอยอย่างดีมีราคา  อาจเป็นของไม่มีประโยชน์และไม่มีค่า  แก่ผู้ที่ไม่รู้จักคุณค่าของมัน : เราจะตีราคาเพชรพลอยให้ถูกต้องอย่างไรได้,  ในเมื่อเรายังไม่รู้จักเพชรพลอยที่แท้, และที่ไม่แท้.

        พระพุทธศาสนา  หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อะไร  นอกจากคำสั่งสอนอันประหนึ่งแผนที่บอกทาง  ซึ่งนำตรงไปสู่จุดหมายที่สุด คือ ความดับทุกข์.  ทำนองเดียวกับกฎเกณฑ์ของคณิตศาสตร์  ที่เป็นหลักคิดให้พบผลลัพธ์ที่แน่นอนฉะนั้น.  ผลที่ผู้ปฏิบัติพุทธศาสนาหวัง  ก็อย่างเดียวกันกับที่นักปฏิบัติอื่น,  ที่นอกไปจากพุทธศาสนาเขาหวังกัน : คือ  หวังผลแห่งความพ้นทุกข์,  และเหมือนกับศาสนาอื่นๆ  ในข้อที่ว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นจากปัญหาแห่งทุกข์  และการพ้นทุกข์,  คือหมายความว่า  เพราะทุกข์มีอยู่ในโลก  จึงเกิดมีศาสนาขึ้นเพื่อหาทางพ้นทุกข์  ถ้าไม่มีทุกข์แล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาสนา  เพื่อสอนให้พ้นทุกข์.  เราพึงเข้าใจว่าความทุกข์เท่านั้นที่ทำให้เรารู้ว่ามีความสุข;  ความทุกข์เท่านั้นที่ทำให้คนคิดหาทางพ้นทุกข์,  และความทุกข์เท่านั้นที่ทำให้เกิดศาสนา  และหลักปรัชญา  ตลอดถึงคณะการเมือง  และลัทธิต่างๆ  เช่น  คอมมิวนิซั่ม, โซชลิซั่ม,  แลอิซั่ม  อะไรๆ อีกตั้งร้อยแปดพันเก้านั้น  จะไม่โผล่รูปโผล่นามขึ้นให้เรารู้จักดอก.  รวมความว่าทุกๆ ลัทธิ  ทุกๆ ศาสนา  ที่มีมาแล้วในอดีต,  ที่มีอยู่ในปัจจุบัน  และที่จะมีมาอีกในอนาคตก็ตาม  ล้วนแต่มีความมุ่งหมายเพื่อจะสะสางปัญหาของทุกข์เท่านั้น.  เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า  คนไม่รู้ความมุ่งหมายของศาสนา  หรือที่รู้ในทางศาสนา  อย่างงูๆ ปลาๆ บางคน  ทั้งไทยทั้งเทศร้องปาวๆ ว่า “ศาสนาเป็นยาเสพติด; ศาสนาเป็นของจำเป็นแต่สำหรับคนงมงาย  และศาสนาเป็นสิ่งที่ขัดความเจริญของโลกปัจจุบัน,”  เหล่านั้นเป็นต้นก็ตาม,  แม้กระนั้นก็ยังมีส่วนมากแห่งชนเกือบทุกๆ ชาติ  เกือบทุกส่วนของโลกที่กล่าวว่า “ศาสนาเป็นของคู่กับชีวิต  อันจะพรากจากกันมิได้.”แม้ว่าศาสนาทุกๆ ศาสนา  มีความเห็นร่วมกันในข้อที่ว่า  มีความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมาย,  แต่ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันในข้อที่ว่า  ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์.  การที่มีความเห็นต่างกันในข้อนี้  ก็เพราะเห็นทุกข์  และเห็นเหตุเกิดของทุกข์ต่างๆ กัน  เหตุนี้จึงทำให้เกิดการบัญญัติตั้งลัทธิแลศาสนาขึ้นต่างๆ  ตามความเข้าใจเรื่องทุกข์ของครูเจ้าลัทธิ  และคณะศาสดาจารย์ต่างๆ  แห่งลัทธิแลศาสนานั้นๆ.  ใครเห็นว่าทุกข์มีขึ้นกับมนุษย์  เพราะมนุษย์ทำผิดถูกพระเจ้าสาปแช่ง  ก็สอนให้มนุษย์อ้อนวอนพระเจ้า;  ใครเห็นว่า  มนุษย์ได้รับทุกข์เพราะทำกรรมที่เป็นบาป  ก็สอนให้มนุษย์ทำกรรมที่เป็นบุญ:  ใครว่าทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่ความจน  ก็สอนให้คนทำการงานเพื่อมั่งมี,  ตลอดถึงว่าเมื่อใครเห็นว่าทุกข์เพราะไม่มีสุรากิน  ก็จัดการหาทางทำสุราขึ้น  เป็นต้น.

        ความเห็นของพระพุทธศาสนา  ไม่ตรงกับศาสดาอื่น  คือเห็นความทุกข์  เช่น  แทนที่จะเห็นว่าความเกิดเป็นของดีมีสุข,  กลับเห็นว่าเป็นทุกข์  เพราะถือว่าความเกิดเป็นทางให้เกิดทุกข์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเกิด  เช่น  ความแก่  ความเจ็บ  และความตาย  เป็นต้น  เกิดขึ้นตามกัน.  หลักสำคัญของพุทธศาสนา  คือให้เห็นว่า  อะไรเป็นทุกข์,  เมื่อเห็นจริงแล้วก็หาเหตุของทุกข์  จนถึงกับหาทางที่จะให้ถึงซึ่งความดับทุกข์,  หรือพูดให้สั้นๆ กว่านี้คือ  พุทธศาสนาสอนให้รู้เหตุรู้ผล  และสอนให้เราทราบว่าสิ่งทั้งปวงมาแต่เหตุ : เหตุยังมีอยู่  ผลก็คงมีอยู่;  เหตุสิ้นไป  ผลก็ดับไป;  ผลจะดับไป  เพราะเหตุดับไป.  เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะดับผล  ต้องสาวหาเหตุ  แล้วไปดับที่เหตุ.  อุปมาอย่างเสือหรือสิงห์  เมื่อถูกยิงด้วยลูกปืน  หรือลูกศร  แทนที่จะมัวกัดลูกปืน  หรือลูกศรอยู่  กลับกระโดดไปยังทางที่ลูกศรหรือลูกปืนถูกปล่อยมา,  เพื่อกัดคนซึ่งใช้ปืนหรือลูกศรประหารมัน,  ต่างกับสุนัขซึ่งถ้าใครเอาไม้ไปแหย่มัน  แทนที่จะตรงไปกัดปรปักษ์ของมัน  กลับไปกัดไม้นั่นเอง.  ฉะนั้นเราจึงไม่ต้องประหลาดใจ  ในเมื่อทราบว่า  พระพุทธเจ้า  แทนที่จะสอนวิธีดับความแก่,  ความเจ็บ,  ความตาย  และความทุกข์โทมนัสต่างๆ  ด้วยการเยียวยาด้วยธาตุวัตถุภายนอก  อย่างโลกโดยมากกระทำและเข้าใจกัน,  แต่กลับทรงสอนวิธีดับความเกิด  ด้วยการปฏิบัติธรรมดันเป็นปัจจัยนำไปสู่การดับกิเลสซึ่งจะทำให้เกิดเรื่อยไป;  เพราะการคิดดับความแก่  ความเจ็บและความตาย  โดยไม่คิดดับความเกิดนั้น  ย่อมเป็นความคิดที่ไม่ตรงกับเหตุที่แท้จริง;  เพราะตราบใดที่ยังมีการเกิด,  การแก่  เจ็บ  ตาย  ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น.

        มีข้อควรจำไว้อย่างหนึ่งว่า  พุทธศาสนาหรือธรรมอันพระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ขึ้นนี้  ไม่ได้เป็นของพระองค์  ไม่ได้เป็นของชาวสิงหล  พม่า  สยาม  และของใครโดยเฉพาะ  แต่ว่าเป็นของโลกเป็นของประจำโลก  แลเป็นสิ่งที่ประชาชนของโลก  ไม่เลือกชาติ  ชั้น  วรรณะ  ทั้งหมดทั้งสิ้นควรรู้และควรปฏิบัติตาม,  และถ้าใครปฏิบัติตามก็จะเห็นผลแลได้ผลจริง,  ถ้าแม้นว่าผู้ปฏิบัติรู้ความหมายและไม่ปฏิบัติโดยงมงาย.


คราวหน้า  รับรองว่าได้อ่านคำตอบได้อย่างจุใจแน่นอนครับ

ธรรมะสวัสดีครับ
หมายเลขบันทึก: 86902เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
พุทธศาสนา อาจจะเข้าไม่ได้ กับลัทธิชาตินิยม แบบ 100%

ครับคุณวีร์

  • หากเรายึดติดอะไรที่สุดโต่ง  ก็อาจเข้ากันยากกับพุทธศาสนาครับ
  • แต่อย่าหวัง 100 % เลยครับผมว่าได้สัก 50% ก็น่าชื่นใจเรา
  • แม้แต่เราเองที่มั่นใจว่ารักพุทธศาสนา 100% นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจพุทธศาสนาได้จริงๆ ครับ
  • ถึงเราจะชาตินิยมจ๋าเพียงใด  ขอแค่คนส่วนใหญ่รักษาศีลห้าได้ไม่ด่างพร้อย  ก็ถือว่าสุดยอดแล้วครับ
  • แล้วไทยเราที่ประกาศว่าเป็นเมืองพุทธล่ะ  ทำได้เท่าไหร่กันนะ?

สวัสดีค่ะคุณธรรมาวุธ

เบิร์ด " พร้อม " ที่จะรออ่านคำตอบของท่านพุทธทาสไปทีละข้อ..โดยไม่เกิด " ความอยาก " แล้วค่ะ..^ ^

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ใจเย็นๆ ไว้ดีแล้วครับ พอดีผมพิมพ์ไม่ทันครับ อิอิ
  • อ้อ จะบอกหลายครับว่าผมเข้า profile คุณเบิร์ดไม่เคยสำเร็จเลย มันหน้าตาแปลกๆ และก็ช้ามาก วางยาหรือเปล่าครับ :-)

สวัสดีค่ะคุณธรรมาวุธ

เบิร์ดก็เข้าบล็อกของตัวเองไม่ค่อยได้เหมือนกันค่ะ..ช้าแล้วก็หลุด..บางครั้งก็ต้องใช้เวลานาน..พิสูจน์ได้เลยนะคะว่าไม่ได้วางยา..^ ^

ถึงจะเข้าได้ช้า..แต่ก็อยากบอกว่าบ้าน ( บล็อก ) นี้ยินดีต้อนรับคุณธรรมมาวุธเสมอค่ะ ( ถึงแม้เจ้าของบ้านอาจจะเข้าไปรออยู่ไม่ค่อยทันก็ตาม แหะ..แหะ.. )

เข้ากันไม่ค่อยได้ แต่ว่าพยายามจะผูกศาสนา กับชาตินิยม เข้าด้วยกัน ผมก็เป็นห่วงอยู่
ดูว่าวางยาหรือเปล่า อาจจะใช้ FireKeeper ได้นะครับ :-P
P

เข้ามาอ่านทบทวน....

เคยอ่านตอนแรกๆ บวช โน้นแหละ...

หลวงพี่มีปรกติไม่อ่านหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสมานานสิบกว่าปีแล้ว...

ยุคนั้น มีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ และคนกำลังเชื่อวิทยาศาสตร์ แต่ยุคนี้...

เจริญพร

P

กราบนมัสการครับพระคุณเจ้า

  • กระผมดีใจมากครับที่พระคุณเจ้าแวะมาเยี่ยมบล็อกผมครับ
  • อ่านแล้วต่อมอยากรู้เกิดทำงานครับ  ยุคนั้นมีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ และคนกำลังเชื่อวิทยาศาสตร์  แต่ยุคนี้... เป็นยังไงครับ? (หรือเลิกเชื่อวิทยาศาสตร์กันแล้ว)

กราบงามๆ 3 ครั้งครับ

 

P

...... ที่ละไว้

หมายถึง ยุคนี้ ไม่เหมือนยุคโน้น สถานการณ์และความเชื่อของคนเปลี่ยนไป.....(ส่วนยุคนี้ จะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีคำตอบของตัวเองได้)

เมื่ออ่านก็ควรคิดถึงบริบทของยุคโน้น...ประมาณนี้

แต่มิใช่ว่าข้อเขียนยุคโน้น ไม่สามารถสะท้อนยุคนี้ได้เลย...

เจริญพร

ขอบพระคุณครับพระคุณเจ้าที่ตอบเร็วทันใจเหลือเกิน

กราบ 3 ครั้งครับ

แวะมาบอกว่าชอบตอนที่เขียนไว้ว่า พระพุทธเจ้าสอนวิธีให้รู้จักดับความเกิด มากๆ ค่ะ

รออ่านตอนต่อนะคะ

P

ดีใจครับที่อาจารย์ชอบ

นี่แหละครับเป็นจุดเด่นของพระพุทธศาสนาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท