พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน “จ่าทวี” : จากความชอบส่วนตัวสู่การเผยแพร่สู่สังคม


           พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน “จ่าทวี”  เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลของ จ่าสิบเอก  ดร.ทวี  บูรณเขตต์  ก่อตั้งเมื่อปี 2533  จัดตั้งขึ้นหลังจากที่ท่านได้รวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านที่สะสมไว้เป็นจำนวนมากมาจัดแสดง  พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไทยในอดีตซึ่งบ่งบอกถึงภูมิปัญญาชาวบ้านได้อย่างน่าสนใจ  และดำเนินการเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมศึกษาหาความรู้โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมทั้งนี้ด้วยอุดมการณ์ ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมอย่างเสมอภาคกัน

 

"อีหัน"  เครื่องมือดักงู

          พิพิธภัณฑ์นี้ก่อกำเนิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงชีวิตจิตใจของ จ่าทวี ชาวบ้านธรรมดาๆ ผู้สร้างตัวเองขึ้นมาจากความยากจน เคยรับราชการทหาร ต่อมาออกจากราชการเพื่อรับจ้างปั้นหล่อพระพุทธรูป จนมีกิจการโรงหล่อพระเป็นของตนเอง และกิจการนี้เองที่ช่วยให้  จ่าทวี พอมีทุนทรัพย์ซื้อหาข้าวของมาเก็บสะสมตลอด 30 ปี 

          ย้อนกลับไปเมื่อแรกเริ่ม จ่าทวี  มีความสนใจและตระหนักในคุณค่าของเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านต่างๆ   เป็นอย่างมาก   ถึงขนาดที่ว่า นำเงินครึ่งหนึ่งที่ได้จากการทำงานไปขอแลกซื้อข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้นจากชาวบ้าน รวมแล้วเป็นหมื่นๆ ชิ้น ซึ่ง จ่าทวี มีความตั้งใจจะสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ 

          ต่อมาปี  2526  จ่าทวี จึงได้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ขึ้นตามความตั้งใจ โดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้คนรุ่นหลังได้รู้จักรากเหง้าของตนเอง และรู้สึกภาคภูมิกับภูมิปัญญาปู่ย่าตายายของตน โดยไม่เก็บค่าเข้าชม  มีเพียงตู้รับบริจาคตามศรัทธาเท่านั้น  แต่เพียงแค่ตู้รับบริจาคอย่างเดียวรายได้ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งหลังจากที่ทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกินรายได้มาถึง 19 ปี โดยไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง  เดือนกรกฎาคม ปี 2546   จึงเป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์จ่าทวี ได้เริ่มเก็บค่าเข้าชมจากผู้ที่มาชมพิพิธภัณฑ์  ซึ่งรายได้ตอนนี้เรียกว่าพอเลี้ยงตัวเองได้

          ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี มีอาคารจัดแสดงอยู่ 3 หลัง
          - อาคารจัดแสดงหลังแรก  เป็นที่จัดแสดงภาพถ่ายเก่าๆ ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพิษณุโลก เช่น รูปการออกตรวจราชการในอดีต รูปเหตุการณ์ไฟไหม้เมืองพิษณุโลกเมื่อปี 2500 ฯลฯ
          - อาคารจัดแสดงหลังที่ 2 เป็นอาคาร 2 ชั้น จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไทยในอดีตที่ส่วนใหญ่ได้มาจากบริเวณภาคเหนือตอนล่าง เช่น เครื่องมือจับปลา ดักนก ดักหนู ดักลิง รวมไปถึงเครื่องดนตรี และของเล่นเด็กในสมัยก่อน ทั้งยังมีมุมจำลองส่วนต่างๆ ของบ้านเรือนสมัยก่อน เช่น ครัวไฟ   เรือนอยู่ไฟหลังคลอดบุตร เป็นต้น
         - อาคารจัดแสดงหลังสุดท้าย เป็นที่จัดนิทรรศการชาวโซ่ง หรือที่เรียกกันว่า ลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ ในจังหวัดพิษณุโลก ที่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรีมานานนับชั่วอายุคนแล้ว

          และตอนนี้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี  มี คุณพรศิริ บูรณเขตต์  ลูกสาวคนเล็กของจ่าทวี  เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์รวมทั้งนำชมพิพิธภัณฑ์เอง  และด้วยความที่ คุณพรศิริ  เป็นคนรุ่นใหม่  คุยสนุก  และใช้การเล่าเรื่องในการนำชมได้อย่างน่าสนใจ  เด็กนักเรียนจึงชื่นชอบและชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองพามาชมพิพิธภัณฑ์ที่นี่กันเป็นประจำ

         พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ตั้งอยู่ที่ 26/138 ถ.วิสุทธิกษัตริย์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000  เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท นักศึกษา (มาเป็นหมู่คณะ) 20 บาท นักเรียน (มาเป็นหมู่คณะ) 10 บาท พระภิกษุ สามเณร นักบวช ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. 0-5521-2749, 0-5530-1668

          เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่ดำเนินการโดยชาวบ้าน  แต่ทำด้วยใจรักและตั้งใจจริง  ดังนั้นหากใครที่มีโอกาสได้ผ่านไปแถวๆ จังหวัดพิษณุโลก อย่าลืมแวะเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี”  เพื่อมาเรียนรู้ชีวิต ความคิด ความเชื่อ และภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายของเราเอง รวมทั้งยังเป็นการให้กำลังใจและสนับสนุน  ให้ความตั้งใจดีของชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งได้บรรลุตามความใฝ่ฝันส่วนตัว  ที่ไม่ต้องการเก็บความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทยไว้คนเดียว  แต่ยังต้องการถ่ายทอดเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและสังคมอีกด้วย

หญิง  สคส.

หมายเลขบันทึก: 92199เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

พึ่งไปมาเมื่อวันที่ 14 พ.ย.50นี้เองค่ะ ชอบมากเลย สนุกมากเลยคะ ได้ทำว่าวด้วย ขอถามนิดนึงนะคะว่า คุณพรศิริ บูรณเขตต์ใช่พี่ปูหรือเปล่าคะ

หนูว่าอัตราของผู้ใหญ่แพงไปนะคะ เพราะบางคนไม่ใช่นักศึกษา ไม่ใช่เด็ก อยากเข้าไปขม วันว่างๆ งาน ก้อเสียดายตังค์คะ

ในฐานะไม่ใช่นักท่องเที่ยว

มีสาระมากเลยคับอาจารย์ชมรมสั่งให้มาหาความรู้และเอามาเล่าขอบคุณคับ

น่าไปมากค่ะ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าให้ความสำคัญมากกว่านี้

ค่าเข้าชมก็ไม่แพงเลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าเทียบกับความกว้างของสถานที่และ ค่าดูแลรักษา

อยากจะบอกทุกคนว่า เงินทุกบาทที่เสียในการเข้าชมนั้นยิ่งกว่าคุ้มค่า เมื่อคุณลองเสียเงินเข้าไปชมสักครั้งคุณจะบอกว่า 20 / 50 มันน้อยไป ถ้าเทียบกับความรู้ที่ได้ และเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆที่ได้จากของทุกชิ้นที่อยู่ในนั้นที่จะบ่งบอกให้คุณรู้ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของบรรพบุรุษของคุณ ลองเสียเงินเข้าไปชมสักครั้งสิคะ แล้วความคิดในแง่ลบของคุณจะเป็นไป.......เพื่อนพิธภัณฑ์

ดีมากครับได้ความรู้มากเลยครับ

ไปดูมาแล้ว อยากไปอีก และ อยากเอามาทำ พิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้านตนเองจังเลย เห็นพระของหมู่บ้านรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้เอาไว้เยอะ อยากทำแบบที่กล่าว ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท