นิสัยรักการอ่าน ไม่ใช่พันธุกรรม ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เกิดจากการปลูกฝัง


โลกของการอ่านกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งในรูปลักษณ์ของสิ่งที่อ่าน รสนิยมของคนอ่าน เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงขนาดของสิ่งพิมพ์ด้วย แต่ไม่ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การอ่านก็มียังมีความสำคัญอย่างไม่มีวันลดหายไปอย่างแน่นอน

การอ่าน เป็นกระบวนการ ที่สำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้และพัฒนาคน  เพราะโลกแห่งการเรียนรู้  มิได้จำกัดอยู่แต่ภายในห้องเรียนเท่านั้น ข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศต่างๆ  มีอย่างมากมาย และไปมาหากันอย่างรวดเร็วมาก เหมือนย่อโลกให้เล็กลงไปเรื่อยๆ  แม้คนที่อ่านหนังสือออก แต่ไม่ชอบอ่าน  ก็ยากที่จะพัฒนาสติปัญญาไปให้ทันกับความก้าวหน้าของโลกได้
การอ่านเป็นการเปิดโลกทัศน์  อย่างที่มีคนกล่าวกันว่า หนังสือคือหน้าต่างของโลก  เป็นวิธีที่ทำให้เราได้ความรู้ที่ง่ายที่สุด สบายที่สุด และถูกที่สุดด้วย  ในโลกนี้มีอะไรให้เรียนรู้มากมาย  จนตาย ก็รู้ไม่หมด  ถ้าเราไม่สามารถจะไปสัมผัสกับสิ่งนั้นได้ด้วยตนเอง  การอ่านจะช่วยให้เรา จินตนาการถึงสิ่งที่เรายังไม่มีโอกาส ได้ไปสัมผัสด้วยตนนเองได้



แต่ก็มีการกล่าวถึงกันมากว่า เยาวชนไทย  ไม่ค่อยรักการอ่านหนังสือ
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2548 ระบุว่า ประเทศ ไทยมีผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ ถึง 22.4 ล้านคนหรือเกือบ 40%  ของประชากรทั้งประเทศ ด้วย เหตุผลว่าชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า ขณะที่เด็กที่มีอายุ 10-14 ปี กว่า 60% ให้เหตุผลใน การไม่อ่านหนังสือว่า เพราะไม่ชอบ และไม่สนใจ
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มี สถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่ม ส่วนเวียดนาม มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 60 เล่ม
ขณะที่คนไทยมีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 2 เล่ม นับว่าการอ่านหนังสือของคนไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤต   ซึ่งปัญหานี้ ไม่ซับซ้อน ต้นเหตุมักจะมาจาก....

1. ผู้ปกครองไม่ค่อยได้สนับสนุน  ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านตั้งแต่เด็กๆ แม้จะเป็นหนังสือการ์ตูน หนังสืออ่านเล่นๆบ้างก็ตาม เพราะขึ้นชื่อว่า หนังสือแล้ว ก็จะต้องเกิดประโยชน์อยู่บ้าง ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

ตัวดิฉันเอง อยู่ในครอบครัวที่ คุณพ่อ เป็นนักอ่านตัวยง ที่บ้านมีหนังสือมากมาย จำได้ว่า ดิฉัน มีความสุขเหลือเกิน ที่ได้ค้นหนังสือในตู้มานั่งอ่าน  นอนอ่านหนังสืออย่างสบายใจ ไม่ค่อยชอบไปเที่ยวนอกบ้าน อย่างเด็กๆหรือ  วัยรุ่นทั่วไป และเมื่อ มีครอบครัว แม้จะมีภาระหน้าที่การงานมาก  แต่ก็จัดสรรเวลา อ่านหนังสือ ให้ลูกฟัง  ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กมากๆ  จนสามารถอ่านได้อย่างรวดเร็ว จับประเด็นถูกต้อง ด้วยตัวเอง ในเวลาต่อมา


2. ระบบการเรียน การสอน มีการมอบหมายงานให้เด็กค้นคว้า เพื่อให้เด็กเข้าสู่ห้องสมุดน้อยไป ไม่ใช่ว่าอาจารย์โรเนียวมาให้เสร็จ พิมพ์แจก แล้วเด็กไม่ต้องค้นอีกแล้ว  ซึ่งทำให้เด็ก ไม่จำเป็นต้องอ่าน ต้องค้น หนังสือเพิ่มเติมอีก
3. มีสิ่งอื่น ที่ดึงดูด ความสนใจของเด็กมากว่า เช่น วิทยุ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ อินเทอร์เน็ตฯลฯ เหล่านี้ เป็นอุปสรรคสำคัญในการอ่าน สิ่งที่จะช่วยได้คือ การทำหนังสือ ให้มีรูปเล่มน่าสนใจ  มีเนื้อหาหลากหลายประเภท และมีราคาที่ไม่แพง
4.ประเทศเรา โดยภาพรวม มีห้องสมุดน้อยไป ที่มีอยู่ ก็มีหนังสือน้อยไป  และไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว แม้แต่ในสถานศึกษา ก็มีหนังสือ น้อยไป อาจจะเป็นเพราะได้รับงบฯมาจำกัด
5.ห้องสมุดบางแห่ง ขาดบรรณารักษ์ ที่จบด้านนี้มาโดยตรง หรือ ไม่มีบทบาท ในการเลือกหนังสือเข้ามาในห้องสมุดเอง
6.ห้องสมุดบางแห่ง มีช่วงเวลา เปิดปิด เร็วไป ถ้าเปิดได้ถึงค่ำเลย ก็จะดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้คนไปใช้บริการได้มากๆ  หลังเลิกเรียน ก็ไปเข้าห้องสมุดได้ แต่ถ้าเป็นห้องสมุดประชาชน  ปัจจุบันนี้ มีการเปิดบริการจนถึงดึกๆ และไม่เว้นวันหยุด  ห้องสมุดจึงเป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้ที่ขุดกันได้ไม่รู้จักหมด

ปัจจุบัน  สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจ การอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2551 โดยเก็บรวบรวม ข้อมูลในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน พ.ศ. 2551  มีรายละเอียดค่ะ....



ถ้าจะรณรงค์ ให้เด็กๆรักการอ่านมากขึ้น ก็อาจจะเป็นเรื่องของการพยายามสร้างค่านิยม  การให้ของขวัญด้วยหนังสือ การบริจาคหนังสือ การให้หนังสือแก่เด็กๆ ที่ทำความดี   การนำหนังสือไปถวายพระที่วัดที่มีโรงเรียนอยู่ด้วย  ของชำร่วยในงานต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ สื่อต่างๆ เช่นวิทยุ โทรทัศน์  น่ามีรายการสั้นๆสัก 5 นาที   แนะนำหนังสือ สำหรับเด็กๆแต่ละวัย  ตามละครต่างๆ ก็อาจมีเขียนบท ให้พระเอก  นางเอก เป็นนักอ่าน นักประพันธ์ ให้ผู้ชมประทับใจ และนำมาเลียนแบบต่อไป

แต่ก็เป็นที่น่าดีใจว่า ปัจจุบัน คุณแม่สมัยใหม่ทั้งหลาย หันมาให้ความสำคัญ ในเรื่องการปลูกฝังลูกน้อยในเรื่องการอ่านอย่างจริงจัง ตั้งแต่ลูกยังไม่ลืมตามาดูโลก   ที่ประเทศอังกฤษ หรือญี่ปุ่น เขามีโครงการบุ๊กสตาร์ต (book start) โดยเชื่อมั่นว่า การจะสร้างนิสัยให้ลูกหลานอ่านหนังสือ ต้องเริ่มเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ขณะนี้ให้เริ่มกันตั้งแต่เด็กอายุ 4 เดือน ให้ใช้วิธีอ่านให้ฟังเพื่อกระตุ้น ซึ่งไปตรงกับการทำงานของสมองมนุษย์ 
คนเรา มีเซลล์สมองที่ทำงานเป็นเซลล์สมองจริงๆ ประมาณแสนล้านเซลล์ แต่ละเซลล์ถ้าเรากระตุ้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้มากเท่าไหร่  ก็จะทำให้มีการเชื่อมต่อเซลล์กับเซลล์อื่นๆได้เร็ว เช่น เซลล์ที่มองเชื่อมกับเซลล์ที่คิด หรือเซลล์ที่ได้ยินเชื่อมกับเซลล์ที่คิด การงอกของเซล มีมากมายนัก เด็กที่ไม่ได้รับการเรียนรู้ ไม่ได้รับการสื่อสาร การเชื่อมต่อของเซลล์จะน้อย



  ลูกจะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางหนังสือ ที่แวดล้อมตัวเขาอยู่ พ่อก็อ่าน แม่ก็อ่าน แล้วลูกจะไปไหนเสีย   ต้องหยิบอ่านไปด้วยแน่นอน คือ ให้การอ่านเป็นกิจวัตรประจำวันสำหรับชีวิต เหมือนการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ  ให้เด็กมีหนังสือเป็นมิตรที่ดี  เวลาอ่านหนังสือ เขาจะมีหนังสือเป็นเพื่อน  จะไม่เป็นคนขี้เหงา


จากนักอ่าน เป็นนักเขียน ::  นักเขียนทุกคนมักเป็นนักอ่านตัวยง  เพราะหากรับข้อมูลมาก ก็จะทำให้สามารถกลั่นกรองข้อเขียนออกมาได้มากด้วย
หนังสือ...เป็นสีสันแห่งชีวิต



"ถ้าชาติใด เมืองใด ให้ความสำคัญกับการอ่าน ชาตินั้น เมืองนั้น จะมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และการเมือง เมื่อคนเราอ่านหนังสือไม่หยุด ความรู้ การขยายผลของประสบการณ์มวลรวม สมาธิ และความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้น อีกทั้งการอ่านหนังสือที่หลากหลายเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่เติบโตแข็งแรง  สามารถแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปให้ความร่มเย็นกับผู้อื่น  เป็นที่พักพิงที่แสนสุขสบาย
ในที่สุดจะออกดอกออกผลเป็นลูกไม้แห่งการอ่านที่จะตกใกล้ต้น และไกลต้น งอกงามเป็นต้นไม้ต้นใหม่ขึ้นอีกมาก"  คำกล่าวข้างต้นเป็นแนวคิดของ รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ ค่ะ  ในวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี


ปัจจุบันโลกของการอ่าน กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ  ทั้งในรูปลักษณ์ของสิ่งที่อ่าน รสนิยมของคนอ่าน เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์  รวมไปถึงขนาดของสิ่งพิมพ์ด้วย  ไม่ว่าจะเป็น  E-Book   หนังสือพิมพ์แจกฟรี  ขนาดของหนังสือพิมพ์  ที่เล็กลง แบบหนังสือTabloid  ที่ดึงดูดความสนใจของคนวัยหนุ่มสาวที่เป็นหัวใจของการโฆษณา ข้อได้เปรียบของ Tabloid ก็คือความเล็กที่สะดวกต่อการถืออ่านในรถไฟ  รถแท็กซี่  รถเมล์ หรือเป็นการฆ่าเวลา ในการนั่งคอยอะไรสักอย่าง    หรือแม้แต่การอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารจากอินเทอร์เน็ต ฯลฯ



ล่าสุด รูเพิร์ท เมอร์ดอก ให้สัมภาษณ์พิเศษที่ Fox Business Channel ของเขาเอง ว่า "อนาคตของหนังสือพิมพ์ต้องเป็นดิจิตัลแน่" แต่อาจจะต้องใช้เวลา 10 ถึง 15 ปี ก่อนที่คนอ่านจะปรับตัวเป็นดิจิตัลเต็มตัว
เขาบอกว่า สื่อทั้งหลายจะต้องเริ่มคิดสตางค์กับคนอ่านเนื้อหาจากเว็บที่ ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะฟรี

เมอร์ดอกมั่นใจว่า   หนังสือพิมพ์ในอนาคตจะยังทำทำรายได้จากคนอ่าน  และยังมีการลงแจ้งความต่างๆ  แต่หนังสือพิมพ์อนาคตจะแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจาก อาจจะไม่พิมพ์บนกระดาษ แต่เนื้อหาจะไปอยู่บนเครื่องมือที่ถือไปไหนมาไหนได้สะดวก โดยที่จะมาทางอากาศ และจะup date ทุกชั่วโมงหรือสองชั่วโมง และเมอร์ดอกยังบอกว่า จะต้องมีการจ่ายเงินสำหรับเนื้อหาของสื่อบนเว็บและอุปกรณ์เคลื่อนย้ายได้ทั้งหลายในอนาคต

เครื่องมือดังว่านี้ เช่น    Amazon Kindle  ซึ่งเป็น เครื่องอ่านหนังสือพิมพ์, ตำราและเอกสารที่ไม่ต้องใช้กระดาษ   เครื่องอ่านหนังสือรุ่นใหม่นี้จะนำไปสู่ "สังคมไร้กระดาษ" หรือ "Paperless society" อย่างเต็มรูปแบบต่อไป

ทุกองค์กรที่เกี่ยวพันกับเรื่องของหนังสือ   กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และถูกกระทบอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ซึ่งสาเหตุ  คงหนีไม่พ้นปัญหาการเงิน กับปัญหาการรุกไล่เข้ามาของเทคโนโลยี่ 

  แต่ไม่ว่า  จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร  การอ่านก็มียังมีความสำคัญอย่างไม่มีวันลดหายไปอย่างแน่นอน    ดังคำกล่าวของ เซอร์ ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาเมธีชาวอังกฤษที่ว่า "การอ่านทำคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 261779เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (213)

การอ่านเป็นพฤติกรรมการรับสารที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฟัง
ปัจจุบัน การนำเสนอความรู้ ข้อมูล ข่าวสารและงานสร้างสรรค์ ตีพิมพ์ อยู่ในหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ มากมาย
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรต้องส่งเสริมลูกให้รักอ่านเอาเรื่อง ให้เด็กเกิด skillในการอ่าน (ที่มากกว่าการอ่านเพื่อสอบ) แม้กระทั่งการให้ลูกๆ มีหน้าที่รับผิดชอบงานภายในบ้านให้มากขึ้น (นอกเหนือจากการอ่านหนังสือเพื่อไปสอบ) ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เด็กๆ มีความรอบรู้และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ


สวัสดีค่ะ

ตามมาอ่านบันทึกใหม่ค่ะ ห้องสมุดที่ต่างจังหวัดของดิฉันไม่ค่อยมีค่ะ ลูกดิฉันก็อยู่ต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีห้องสมุดอ่าน แต่ถ้าโตขึ้นก็คงจะเอาลูกมาเรียนที่ กทม. เพราะว่ามีที่ศึกษาค้นคว้ามากกว่า จะได้มีรู้มากขึ้น มีความคิดความอ่านที่ทันต่อเหตุการณ์ ขอบคุณค่ะ ที่นำบันทึกดีมาให้อ่านอยู่เรื่อยๆ ค่ะ

  • ธุ  คุณพี่ศศินันท์ค่ะ..

ต้อมก็คิดอย่างนั้นค่ะ  เพราะหากเทียบจากตัวเอง    พ่อต้อมเป็นคุณครูผู้รักการอ่าน  และต้อมก็อ่านๆๆๆ หนังสือออกตั้งแต่เล็กแต่น้อยในขณะที่เด็กคนอื่นวิ่งเล่น    แต่พ่อไม่เคยบังคับนะคะว่าต้องอ่าน  

เพราะต้อมเห็นพ่ออ่าน และ...อ่านแล้วมีความสุขต่างหาก

  • การอ่านทำให้การใช้ภาษาของเด็กดีด้วยค่ะ  ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งมีความรู้ที่จะแลกเปลี่ยนต่อยอดเป็นทอด ๆ ไป
  • กำลังเม้นท์อยู่มีสายด่วนโทร มา  แล้วจะแวะมาใหม่ค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดี ครับ คุณP

วันนี้ ผมเกี่ยวก้อย คุณ sila มาอ่านบันทึก ดี ดี ช่วงเบรก พอดี ครับ
สมัยเด็ก ๆ ซึบซับการอ่านหนังสือ จากการนั่งรอการกลับบ้านพร้อม พี่ชาย พี่สาวที่อยู่ ร.ร.เดียวกัน  ซึบซับการอ่านหนังสือที่นำมากองไว้ตรงหน้า เป็นตั้ง ๆ และคิดในในว่า...ต้องอ่านสิ่งที่วางอยู่ตรงหน้าให้
หมด....และก็หมด จริง ๆ
        เป็นความพยายาม...ที่มีจุดมุ่งหวัง
        และผลของความพยายาม ก็รายงานผลให้เราทราบ
        มาถึง ณ วันนี้
ขอบพระคุณ มาก ครับ

และคิดในในใจว่า...ต้องอ่านสิ่งที่วางอยู่ตรงหน้าให้ หมด....และก็หมด จริง ๆ

ถ้าพรรคการเมืองใด มีนโยบายหลักในการหาเสียงเลยว่า...

  • จะปลูกฝังให้เยาวชนรักการอ่านให้จงได้

ปัจจุบันมีความเห็นโดยทั่วไปว่า บ้านเมืองมีปัญหาที่คน ถ้าจะพัฒนาคน การส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่าน น่าจะเป็นนโยบายระยะยาวในการสร้างคนสร้างชาติ...

ก็ได้เพียงแค่บ่น เท่านั้น !

เจริญพร

สวัสดีครับ

คุณกฤษณา แนะนำเข้ามาอ่าน

ผมก็เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันครับ เพราะผมได้ซึมซับ ได้ประสบการณ์มาจากคุณตา และคุณยาย ชอบอ่านหนังสือ แต่คุณพ่อ คุณแม่ ผมไม่ชอบอ่านหนังสือ ผมว่าอ่านหนังสือแล้วสนุกดี และได้ความรู้ด้วย

ผมเองให้ความสำคัญกับการอ่านของเด็ๆมาก ช่วงก่อนเปิดเทอม พาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก่อนไป  ผมให้อ่านหนังสือ ประวัติศาสตร์ไปก่อน เป็นการปูพื่น  ทำให้เด็กยิ่งมีความอยากเรียนรู้มากขึ้นด้วยครับ
โรงเรียนที่ลูกเรียนอยู่ ส่งเสริมให้เด็กๆรักการอ่านดีทีเดียว

สวัสดีค่ะ คุณกฤษณา
ขอบคุณค่ะ ที่เข้ามาอ่านเป็นคนแรก เรียกว่า เป็นแฟนกันเลยนะคะ
จริงๆ ดิฉันเข้าใจว่า ห้องสมุดที่ต่างจังหวัดมีมากขึ้นแล้ว เป็นห้องสมุดประชาชนด้วยค่ะ จะค้นหาให้ค่ะ แต่ตอนนี้ ต้องรีบไปธุระ ติดไว้ก่อนนะคะ ตอนนี้ มีรายชื่อห้องสมุด ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปก่อนนะคะ
แต่นั่นแหล่ะค่ะ จะให้มีหนังสือมากอย่างในเมืองใหญ่ๆ อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย
ส่วนตัว คิดว่า แม้ไม่มีหนังสือมากมาย แต่การเรียนรู้ เกิดขึ้นได้ทุกที่ เพราะธรรมชาติของการเรียนรู้คือ...
1.เรียนรู้ตรงจากสิ่งใกล้ตัว จากธรรมชาติรอบตัว
2.เรียนรู้จากสิ่งง่ายๆในชีวิตประจำวัน ไม่ยากหรือซับซ้อน
3.เรียนรู้จากประสาทสัมผัสของเด็กเอง จะเรียนรู้ได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากนะคะ
4.เรียนรู้จากที่ผู้ใหญ่สอนอยู่ทุกวัน
ตอนนี้ เข้าใจว่า ลูกคุณกฤษณายังเล็กอยู่มาก แค่นี้ ก็อาจจะพอก่อนก็ได้ค่ะ
 

สวัสดีค่ะ น้อง เนปาลี  3
สำหรับน้องเนปาลี ไม่แปลกใจค่ะ   ที่น้อง จะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบขนาดแต่งกลอนเก่ง เขียนหนังสือเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ในทางตัวอักษรมากมาย ชื่นชมมากด้วยใจจริงนะคะ
วัยเด็ก คือช่วงวัยแห่งการศึกษาเรียนรู้ ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสำเร็จการศึกษา นอกจากพ่อแม่แล้ว ครู อาจารย์ มีบทบาทสำคัญมากในการช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ มีสติปัญญา  มีความสามารถ และเพื่อเติบโตขึ้น เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมค่ะ
แต่การสอนสมัยนี้ ดีกว่าสมัยพี่ตอนเด็กๆค่ะ เพราะมีระบบการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิด การเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็พวก Self Creative Learning เเป็นการสอนที่ครูพยายามให้เด็กไปค้นคว้ามาเองด้วยค่ะ
ซึ่งการสอนแบบนี้ เด็กๆ ต้องเป็นคนที่สามารถอ่านคล่อง จับใจความได้เร็วๆ หรือเรียกว่า อ่านเอาเรื่องน่ะค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ Sila Phu-Chaya 4
สำหรับคุณศิลา เข้าใจว่า ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ทั้งหมด คุณคงต้องใช้การอ่านอย่างมากเชียวนะคะ รับรองได้ คุณต้องเป็นคนที่อ่านหนังสือเร็วมากๆด้วย
ห้องสมุดตามโรงเรียนต่างๆ อาจจะมีไม่ครอบคลุมทุกแห่ง  ที่มีหนังสือมากพอและสื่อที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา 

ในบ้านเรา  คอมพิวเตอร์ถูกใช้ในการเล่นเกมมากกว่าเวลาที่ใช้ในศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากบทเรียนบนคอมพิวเตอร์ พอเรียนรู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์ในโรงเรียนแล้ว ก้าวต่อไปก็เป็นการเล่นเกมทั้งๆ ที่ไม่เคยมีการสอนวิธีการเล่นเกมกันในโรงเรียน

ถ้าคอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ใช้เรียกดูข้อมูลได้สะดวกกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้แล้ว  คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย คงมีบทบาทในการให้ความรู้กับผู้คนมากขึ้น  และคงจะมีบทบาทกับการเรียนการสอนของลูกหลานของพวกเรามากขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี ไม่วาจะมีหนังสือหรือสื่อการสอนที่ทันสมัยมากขึ้นเพียงไร เด็กทุกคนก็ต้อง มีตวามสามารถ ในการอ่านได้ก่อน และต้องอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว  รวดเร็วด้วย
การอ่านต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆเล็กๆ ซึ่งหนังสือที่ดึงดูดเด็กๆได้เป็นอย่างดี ไม่พ้นหนังสือการ์ตูน สีสันสวยๆ อย่างนี้นะคะ

สวัสดีคะคุณ แสงแห่งความดี 5

อย่างที่เขียนในบันทึกว่า คนที่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ใช่คนขี้เหงาค่ะ ระหว่างรอเวลาอะไรสักอย่าง ระหว่างเดินทาง ที่เราไม่ได้เป็นคนขับ เรารอได้อย่างไม่กระวนกระวาย เพราะเรามีหนังสือเป็นเพื่อนค่ะ
ดิฉันเคยไปรอเครื่องบินที่ล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด ตั้ง 3-4 ชั่วโมง ถ้าไม่มีหนังสือ คงแย่เลยค่ะ หงุหงิดตาย

ดังนั้น คุณจึงเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ที่ใช้เวลารอคอย ให้เป็นประโยชน์
จำได้ว่า มี โครงการ รวมพลังรักการอ่าน
ตั้งแต่ ท่าน น.พ.เกษม วัฒนชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เป็นองคมนตรี  รับหน้าที่ประธานโครงการ "รวมพลังรักการอ่าน" ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการจะให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันทำให้คนไทยรักการอ่านหนังสือ และขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว น.พ.เกษมจึงเป็นบุคคลหนึ่งที่จะตอบคำถามได้ดีว่า "พวกเราจะทำอย่างไรให้คนไทยรักการอ่าน"

ซึง คำตอบของท่านคือ.......ผมคิดว่ามาจากผลพวงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้มีการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมกันมองปัญหาบ้านเมือง พวกเรามองด้านการศึกษา ก็มาถึงการร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา
ถามว่าตอนนี้คนของเราอยู่ที่ไหน พอสำนักงานสถิติแห่งชาติโยนตูมลงไปให้ประชาชนรู้ว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ย 3 นาทีต่อคนต่อปี คนก็ตกใจกันหมดว่าเป็นไปได้อย่างไร
นี่คือกระบวนการที่ทำให้คนไทยตระหนักว่า เราต้องช่วยกัน จะให้กระทรวงศึกษาธิการทำฝ่ายเดียวไม่ได้ จะให้โรงเรียนทำอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันเกิดภาวะสะท้อนกลับไปยังพ่อแม่ที่ถามตัวเองว่า พ่อแม่จะช่วยอะไรได้บ้าง
นักการศึกษาเอย หมอเอย จะจัดกลุ่มกันไหม อย่างสมาคมไทยสร้างสรรค์ก็มีการจับกลุ่มกันไปทำที่ขอนแก่น มีมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี 2544 บอกว่าเรามาช่วยกันดีไหม รวมทั้งหนังสือพิมพ์มติชนเองก็มีโครงการระดมทุนหาหนังสือให้ห้องสมุด ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยคิดตรงกันว่า เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการแสวงหาความรู้หรือการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนรวมทั้งคนไทยด้วย จึงได้มีโครงการรวมพลังรักการอ่านขึ้น

พอดีไปเจอ เว็บของโรงเรียนแห่งหนึ่ง กำลังทำโครงการนี้อยู่พอดี มีรายละเอียด ที่น่าสนใจ ที่นี่ค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณสาระดีๆนะคะ

เป็นเพราะว่าวัฒนธรรมการอ่านเราไม่เข้มแข็งคะ

ดูต่างประเทศสิคะ...หนังสือไม่ค่อยห่างกายเลย

....กราบ สวัสดี นะคะ ....การปลูกฝังลูกน้อยในเรื่องการอ่านอย่างจริงจัง ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง ยังไม่ลืมตามาดูโลก และก็เริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่แบเบาะ เป็นเรื่อง ที่ครอบครัว พี่พอ น้องเพียง ตั้งใจ และมุ่งมั่น เลยนะคะ ทุกครั้งที่พาเข้าร้านหนังสือ สัญญา กับ สาวน้อยว่า ให้ซื้อหนังสือได้ 1 เล่ม อีกหนึ่ง ความตั้งใจ คือ บ้านที่จะสร้างใหม่ ขอมีห้องหนังสือ ของครอบครัว เรา ไว้เป็นศูนย์รวมนักอ่านของบ้าน พี่พอ น้องเพียง ค่ะ .....ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลดี ดี เน้อ เจ้า

คุณ แสงแห่งความดี คะ มีข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

ที่ประเทศอังกฤษ และ ญี่ปุ่น มีโครงการบุ๊กสตาร์ต (book start) ที่เชื่อมั่นว่า การจะสร้างนิสัยให้ลูกหลานอ่านหนังสือ ต้องเริ่มเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
ขณะนี้เขาให้เริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 4 เดือน ให้ใช้วิธีอ่านให้ฟังเพื่อกระตุ้น ซึ่งไปตรงกับการทำงานของสมองมนุษย์
ซึ่งมีวิจัยจากอเมริกาเอาเด็กที่อยู่ในห้องคลอดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งพยาบาลพยายามลูบหน้าลูบหลัง
อีกกลุ่มหนึ่งป้อนนม 3 มื้อแล้วทิ้งไว้ในที่เลี้ยงเด็ก ปรากฏว่ากลุ่มที่สองมีการพัฒนาอารมณ์ การพัฒนาการด้านภาษาดีกว่ากลุ่มแรก
โครงการ บุ๊กสตาร์ตคือ  เห็นว่า  ต้องมีหนังสือสำหรับเด็กเล็ก ต้องมีกระบวนการที่ทำให้แม่หรือพี่เลี้ยง อ่านหนังสือ  ให้เด็กฟังตั้งแต่เล็ก เป็นกระบวนการเรียนรู้ให้กับเซลล์สมองของเด็ก ได้เป็นอย่างดี

  • ดีใจจังที่คุณ Sasinand แวะไปเยี่ยม แล้วก็อายด้วยที่ไม่ได้แวะมาสวัสดีนานมากๆเลย
  • หลานกอหญ้าตอนนี้ขึ้นป.4 แล้วค่ะ ยังขยันทำการบ้านด้วยตัวเองตามเดิม  เธอไม่ชอบเรียนพิเศษ เลยบอกให้ขยันและตั้งใจเรียนเอง
  • โชคดีที่ลูกชอบอ่านหนังสือค่ะ..ก็เล่านิทานให้ฟังตอนเด็กๆ พอโตพูดได้เก่งแล้วก็ให้เขาเล่านิทานจากจินตนาการของเขาให้เราฟังแทน  เวลาวันเกิดรางวัลก็เป็นหนังสือที่ให้เลือกเองค่ะ
  • แล้วเผอิญพ่อแม่ก็ชอบอ่านหนังสือให้เห็นด้วยค่ะ  เลยซึมซับไปโดยชอบธรรม 

ผมว่า เรื่องนี้ เด็กดูผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างครับ

  • พ่อแม่บอกลูกให้ไปอ่านหนังสือ แต่ตนเองไม่อ่าน เด็กก็คงงง หรือว่าคิดในใจ ว่า พอหนูโตอย่างพ่อ หนุก็จะเลิกอ่านเหมือนกัน

ลืมไปครับ เราพูดถึงแต่พ่อแม่ที่มีเงินซื้อหนังสือให้ลูกอ่าน

วันนี้เพิ่งฟังรายการวิทยุ พูดถึงเด็กต่างจังหวัดในโรงเรียนจนๆ พ่อแม่ไม่มีทางสนับสนุนหรือปลูกฝังอะไรได้เลย แค่หาเช้ากินค่ำก็สายตัวแทบจะขาดอยู่แล้ว

ในรายการนั้นก็มุ่งเป้าไปที่ครูชั้นประถมครับ และมี โครงการหนังสือฟรีแบบหมุนเวียนกันในกลุ่มโรงเรียน ซึ่งน่าสนใจมากครับ จะแก้ปัญหา knowledge divide ได้ระดับหนึ่ง

แวะมาทักทายค่ะ การปลูกฝังการรักการอ่าน เป็นสิ่งจำเป็นมากๆค่ะ

การอ่าน  ทำให้เกิดการเรียนรู้มากมายค่ะ

มีความสุขมากมายนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ผมมอง 2 ประเด็นหลักๆ ครับคือ แบบ กับ สภาพที่เอื้อ ผมเองมีนิสัยหลายอย่างด้านการเรียนรู้ที่เหมือนกับพ่อ เหมือนกับปู่ครับ ซึ่งไม่ต้องถามว่าได้มาอย่างไร เพราะซึมซับจากคำว่า แบบครับ ส่วนสภาพที่เอื้อ ซึ่งผมไม่ได้เจาะจงไปที่เพียงสภาพแวดล้อม แต่เมื่อไปถึงคนรอบข้างๆ เด็กๆ ด้วยครับ ผมจำได้ว่า ผมแค่คุยว่า ครูเล่าเรื่องราชาองค์หนึ่งให้ฟังที่โรงเรียน ปู่ถามว่า อยากรู้เพิ่มไหม ผมตอบว่า ครับ บ่ายวันนั้นเลยครับ ปู่ปั่นจักรยานออกไปตลาด แล้วก็ซื้อหนังสือมาให้เล่มหนึ่งครับ ที่สำคัญปู่จะถามบ่อยๆ ว่า อ่านจบแล้วยัง

นมัสการค่ะ ท่าน BM.chaiwut 
ท่านบอกว่าพรรคการเมืองใด มีนโยบายหลักในการหาเสียงเลยว่า...จะปลูกฝังให้เยาวชนรักการอ่านให้จงได้   ส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่าน น่าจะเป็นนโยบายระยะยาว  ในการสร้างคนสร้างชาติ...ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ลูกที่ฟังนิทานที่แม่เล่าซ้ำอยู่นั่นแล้ว   หรือบางทีมีเทปนิทานมาเปิด เป็นการสื่อให้เด็กรู้เรื่องคุณงามความดีก็อยู่ในนิทาน  อะไรที่เป็นสิ่งดีๆ เป็นเรื่องที่เราจะสอนอะไรเด็ก  เราก็ใช้วิธีอ่านให้ฟังก่อน  ต่อไป เมื่อเด็กอ่านหนังสือเป็น ก็จะติดการอ่านหนังสือ เป็นนิสัยต่อไปจนตลอดชีวิตค่ะ
มีเรื่องเล่า ที่เกี่ยวกับการสอนศีลธรรมเด็กหน่อยค่ะ  เป็นวิธีที่โรงเรียนหนึ่งได้ผลดี แก้ปัญหาเด็กไม่ยอม อ่าน ได้ 

พอดี เมื่อค่ำนี้ ขณะนั่งรถกลับบ้าน ฟังวิทยุมาตลอดทาง ได้ความรู้ว่า การเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาของสถานศึกษา   เป็นการปฏิบัติตามระเบียบการเชิญธงชาติสยาม โดยประกาศใช้ครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๗๙
และทุกๆโรงเรียน  จะยังมีกิจกรรมที่สำคัญอีก ๒ อย่าง ที่โรงเรียนปฏิบัติเหมือนกันคือ สวดมนต์ไหว้พระและ ฟังการอบรมจากครู

แต่การเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาของ  โรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสนอ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งมีนายถาวรชัยจักร เป็นผู้อำนวยการแล้วกลับมีความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วๆ ไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ การเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ มีการกล่าวคำปฏิญาณตน ที่สำคัญคือ นายถาวรจะยืนเล่านิทานธรรมะและนิทานชาดก ก่อนเคารพธงชาติทุกๆ เช้า ให้นักเรียนกว่า ๒,๕๐๐คน ฟัง โดยไม่เคยซ้ำเรื่องกันเลย และทำมาติดต่อกันเป็นปีที่ ๖ แล้ว ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า ผอ.ถาวร คือ นักเทศน์หน้าเสาธง ก็ได้

เพราะโรงเรียน ไม่สามารถบรรจุวิชาศีลธรรมไว้ในหลักสูตรได้เพราะเวลาเรียนมีขอบเขตจำกัด ครั้นจะให้นักเรียนไปอ่านหนังสือศีลธรรม  นักเรียนก็ไม่ยอมอ่าน  โรงเรียนจึงใช้วิธีทำหลักสูตรโดยบรรจุวิชาศีลธรรมไว้ในพิธีกรรมหน้าเสาธง ๑ ชั่วโมง โดยจะแบ่งกับรอง ผอ.อีก ๓ คน มาช่วยสอนและช่วยเล่านิทานธรรมะ ทั้งนี้แต่ละคนต้องเขียนแผนที่จะพูดแต่ละวันด้วย  เมื่อรวมแล้ว นักเรียนจะมีความรู้ด้านศีลธรรมครอบคลุมทุกเรื่อง นี่คือเหตุผลของนายถาวร

นอกจากนี้  ทางโรงเรียนยังได้กล่าวอีกว่า...."พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ท่องจำหลักคำสอน การท่องจำหลักคำสอนได้ทุกข้อ   หรือจะสู้การปฏิบัติตามหลักคำสอนเพียงข้อเดียว  ถ้านักเรียนมีศีลธรรม มีวินัย รู้หน้าที่ สิ่งที่ตามมาคือ การเอาใจใส่ต่อการเรียน  เอาใจใส่ต่อการอ่าน  มีความเพียรพยามยาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนเก่งนั่นเอง"
 

สวัสดีค่ะคุณพิเชษฎ์ 8
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและเล่าประสบการณ์ของตัวเองว่า คุณตา คุณยาย มีอิทธิพล ในด้านการปลูกฝังการอ่านให้คุณมาก แต่ที่คุณพ่อคุณแม่ ไม่ชอบอ่านหนังสือมาก  ก็อาจเป็นเพราะ มีสื่ออย่างอื่นๆมากมาย ที่เข้ามาแย่งที่การอ่านไป เช่น วิทยุ ทีวี ภาพยนต์ เพลง ฯลฯ และประกอบกับอาจมีงานมากรัดตัวจน   ไม่มีเวลาจะนั่งเงียบๆ  อ่านหนังสือได้กระมังคะ เพราะคนเรานี่ เวลา จะอ่านหนังสือ บรรยากาศที่เอื้ออำนวยอย่างหนึ่งคือ บรรยากาศ  ที่ไม่อึกกะทึกครึกโครมมากนะคะ

ทราบว่า คุณมีครอบครัวแล้ว  และตั้งใจให้ ลุกเป็นเด็กรักการอ่านเช่นกัน
มีปัญหาอย่างหนึ่งว่า   หนังสือเด็กของเรามีนักเขียนไม่พอ  ที่ผ่านมาเราต้องไปเอาหนังสือต่างประเทศมาแปล   ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรนัก แต่ก้อยากให้มีนักเขียนคนไทย ที่เขียนเกี่ยวกับหนังสือเด็กๆมากขึ้นค่ะ   ถึงเวลาแล้วที่สำนักพิมพ์ทั้งหลายจะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับหนังสือสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนมากขึ้นกว่านี้นะคะ

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ  ดิฉันทราบว่า มีมาตรการหลายอย่างที่ดีมาก  เช่น มาตรการห้องสมุดโรงเรียน   จัดเวลาให้เด็กได้อ่านหนังสือ ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กอยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว  ต้องมีการมอบหมายงานให้เด็กค้นคว้า เพื่อให้เด็กเข้าสู่ห้องสมุด ไม่ใช่ว่าอาจารย์โรเนียวมาให้เสร็จ พิมพ์แจก แล้วเด็กไม่ต้องค้นอีกแล้ว
ซึ่งทำให้เด็ก   ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือ  ถ้าเป็นอย่างนี้ห้องสมุดไม่ต้องมีก็ได้
จริงๆโรงเรียนควรมีหนังสือดีๆ   แล้วจัดระบบการสอน  เปิดเอกาสให้เด็กเข้าไปอ่านหนังสือให้มากขึ้นมากๆ


สวัสดีค่ะ

สี่ชอบบันทึกนี้จังค่ะ ชัดเจนมากในความรู้สึกค่ะ

ตัวสี่เองตอนเป็นเด็ก แม่จะซื้อหนังสือการ์ตูนให้อ่านเป็นประจำ จึงติดนิสัยการอ่าน อ่านทุกประเภททุกชนิดค่ะ ไม่มีกิจกรรมอื่นนอกจากการอ่านหนังสือค่ะ

พอโตมาแม้จะมีอย่างอื่นมาแทรกบ้าง ก็ยังคงอยากอ่านหนังสือ อ่านความคิดของคนอื่นค่ะ แม้แต่เล่นเกมก็ยังจะอ่านว่าตัวละครในเกมส์พูดอะไรกัน สี่จึงไร้ความสามารถในการเล่นเกมส์เป็นที่สุดค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆ ฉบับนี้อีกครั้งค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ เดช 9
คุณเป็นคุณพ่อที่เอาใจใส่ลูกดีมากๆเลยค่ะ สนับสนุนให้ลูกอ่านปูพื้นไปก่อนไปชมพิพิธภัณฑ์จริงๆด้วย ยอดคุณพ่อเลยค่ะ

ตอนนี้ ห้องสมุดประชาชน ก็เริ่มมีมากขึ้นแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจพอสมควรค่ะ เช่น โครงการพัฒนาห้องสมุดประชาชนมีชีวิต ในการสนับสนุนของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาห้องสมุดชุมชน สู่การเป็นห้องสมุดมีชีวิต  ตามมาตรฐานสากลและตามประกาศสมาคมห้องสมุดฯ และร่วมสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ระยะเวลาโครงการ 3 ปี คือ 1 มกราคม 2551 - 31 ธันวาคม 2553 งบประมาณ ในปีแรก แห่งละ ไม่เกิน 300,000 บาท ปีต่อไป ขึ้นอยู่กับแผนการดำเนินงาน

ห้องสมุดที่ได้รับการสนับสนุนประจำปี 2550 มีดังนี้
 1. ห้องสมุดประชาชนอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

2. ห้องสมุดประชาชนอำเภอคำเขื่องแก้ว จังหวัดยโสธร

3. ห้องสมุดประชาชนอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี

4. ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี อำเภอทองผาภูมิ

5 . ห้องสมุดประชาชนอำเภอฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา้

อ่านบันทึกพี่แล้วมีข้อคิดเห็นส่วนตัวนิดหนึ่งว่า

"การรักการอ่านหนังสือ"ในพฤติกรรมสังเกตุ

น้องคิดว่า มันมากับพันธุกรรมด้วยนะคะ

แน่นอนสิ่งแวดล้อมและการเหนี่ยวนำ หล่อหลอม..สำคัญแน่ ๆ

แต่บางคน บางครอบครัว ทุ่มซื้อหนังสือให้ลูก แล้วมาพร่ำบ่นให้เราฟังว่า ไม่เห็นลูกหยิบอ่านเลย

เมื่อค่อย ๆ ตะล่อมพูดคุยกัน พ่อ แม่ ผู้ใหญ่ในบ้านเขา ไม่มีใครเคยหยิบอ่านเช่นกัน ไม่มีใครเป็นต้นแบบในการอ่าน..สิ่งแวดล้อมนี้มีมาก่อนหรือเปล่า? คือเขาเหล่านั้นไม่รักการอ่าน หรือมีมาทีหลัง? คือเดิมรักการอ่าน แต่ยุ่งกับธุรกิจ ธุรกรรม จนไม่มีเวลาอ่านอีกต่อไป

น่าคิดต่อนะคะ

 

ที่น้องคิดถึงส่วนพันธุกรรมเพราะสังเกตุคนใกล้ตัว เราสามคน พ่อแม่ลูก

สังเกตุที่ประเภทหนังสือที่สนใจเลือกอ่าน อันนี้เหมือนมาทางพันธุกรรม

เราเลือกหนังสือคล้ายกันมาก ระหว่างพ่อ-ลูก แม่-ลูก

พ่อ-ลูก ชอบอ่านวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, แนว ๆ เศรฐษศาสตร์ และประวัติศาสตร์(ซึ่งแม่แทบไม่หยิบเลย)

แม่-ลูกชอบอ่าน ภาษาต่าง ๆ ไทย เช่นสุภาษิตโวหารคำพังเพย เราเลือกซ้ำกันบ่อย, ภาษาญี่ปุ่น..สนุก, ปรัชญา เราชอบหนังสือของนักเขียนกลุ่มเดียวกัน, หนังสือภาพวาด หรือเชิงจิตวิทยาของ จิมมี่ เหลียว..เป็นต้น

ส่วนเรื่องท่าทางการ(นอน)อ่านของลูก น่าจะมาจากการเลียนแบบพฤติกรรม หรือ เห็นมาตามสิ่งแวดล้อมค่ะ

ท่าอ่านหนังสือของลูก เหมือนคุณพ่อเปี๊ยบเลยค่ะ คือ

นอนอ่าน !!!

สวัสดีค่ะคุณ แดง14

เรื่องวัฒนธรรมการอ่านเราไม่เข้มแข็ง ก็ท่าจะจริงค่ะ ...เพราะถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การอ่านของไทยเทียบกับของฝรั่งแล้ว จะเห็นว่าช่วงเวลาที่คนไทยอ่านหนังสือแพร่หลายนั้นสั้นมาก คือประมาณตั้งแต่ รัชกาลที่ 5 ลงมาเท่านั้น ก่อนหน้านั้นคน "ฟัง" หรือ "ดู"  หนังสือกันมากกว่า

ใน สังคมโบราณโดยส่วนใหญ่ของเรา  ตัวหนังสือและการอ่านออกไม่ได้เป็น สิ่งที่แพร่หลายทั่วไป   หนังสือ จะมีแต่พวก กฎหมาย สัญญาการค้า หรือ หนังสือสำคัญๆต่างๆ
ดังนั้น  ตำแหน่ง  "เสมียน" ในสังคมโบราณหลายแห่งด้วยกันจึงเป็นคนมีเกียรติอันสูง อยู่ใกล้ชิดกับอำนาจ   (นางวันทองสอนพลายงามว่า "ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ")

สมัยดิฉันเด็กๆ ผู้ใหญ่ ห้ามเดินข้ามหนังสือ เพราะจะทำให้อ่านหนังสือไม่ออก
คุณทวดของดิฉันบางท่าน อาจอ่านหนังสือไม่ออก แต่ชอบให้คนอื่นมาอ่านให้ฟัง โดยเฉพาะ ลูกหลาน  ดังนั้น เราจึงพบเห็นเสมอว่า คนในชนบท ที่อายุมากๆ มักอ่านหนังสือไม่ออก  แต่มีหูที่ฟังเสียงได้

ไม่ใช่แต่ประเทศเรานะคะ  แม้แต่ในสังคมกรีกซึ่งใช้ตัวหนังสือแยะมาก แต่ก่อนหน้าสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช  งานกวีนิพนธ์ส่วนมากไม่ได้เผยแพร่ผ่านตัวหนังสือ แต่ผ่านละครหรือความทรงจำ คนโบราณๆ ทุกชาติ ชอบดูละครกันมากค่ะ
ส่วนในปัจจุบันนี้  ในความเห็นของดิฉัน  ยังไม่มีสื่ออะไรมาแทนหนังสือได้  ในโลกตะวันตก  แม้คนจะเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ง่าย   แต่หนังสือกระดาษก็ยังขายดีอยู่   เว็บไซต์ขายหนังสือ มีการพัฒนามากขึ้น ประชาสัมพันธ์มากขึ้น  ทำุให้คนอยากซื้อหนังสือกระดาษมาอ่าน  และเมื่อเป็นการขายตรงแก่ผู้ซื้อ  ก็ยิ่งทำให้หนังสือราคาถูกลงด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ ครูใหม่ บ้านน้ำจุน  15

ตอนนี้ มีพ่อแม่ที่ตระหนักมนเรื่องการส่งเสริมการอ่าน ให้ลูกรักหนังสือ มากขึ้นทุกทีนะคะ หลายๆคนค่ะ ที่ตั้งใจไว้แบบคุณเลยว่า...ความตั้งใจ คือ บ้านที่จะสร้างใหม่ ขอมีห้องหนังสือ ของครอบครัว เรา ไว้เป็นศูนย์รวมนักอ่านของบ้าน พี่พอ น้องเพียง ค่ะ ....

อยากให้ประเทศเรา มีวัฒนธรรมการอ่านให้มากขึ้น   เพราะแม้ขณะนี้  เศรษฐกิจของคนไทยและระดับการศึกษาของไทยจะขยายตัวมากขึ้น  แต่คนที่รักการอ่าน ก็ยังมีน้อยไปมากๆค่ะ  และแถม วัฒนธรรมการอ่านเรา ยังไม่ทันจะเข้มแข็งเลยกล่าว  สื่อทันสมัยอื่นๆ ก็ถาโถมเข้ามาเสียแล้ว
พ่อแม่สมัยนี้ เห็นความสำคัญในการอ่านนิทานให้เด็กๆฟัง ซึ่งก็มี
เหตุผลนะคะ

เพราะ นิทานมักจะถูกโยงให้คู่กับเด็กมานาน เป็นสื่อที่ดีที่สุดในการที่ผู้ใหญ่จะสื่อกับเด็ก
โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยสารพิษของสื่อรอบตัวที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก    นิทานแทบจะเป็นสื่อชนิดเดียวในเวลานี้ที่สามารถสื่อกับเด็กเล็กๆได้ดีที่สุด และแยบยลตรงประเด็นมากที่สุด   เพราะมีเนื้อหาใกล้ตัวเด็ก และผู้ใหญ่ก็สามารถเลือกเพื่อให้มีเนื้อเรื่องเหมาะที่จะบอกเล่าหรือสอนเด็กได้

สวัสดีค่ะคุณ โรงเรียนพ่อแม่ 17
ดีใจจริงที่เข้ามาแลกเปลี่ยน  เวลาผ่านไปรวดเร็ว  คุณบอกว่า....•หลานกอหญ้าตอนนี้ขึ้นป.4 แล้วค่ะ ยังขยันทำการบ้านด้วยตัวเองตามเดิม เธอไม่ชอบเรียนพิเศษ เลยบอกให้ขยันและตั้งใจเรียนเอง  •โชคดีที่ลูกชอบอ่านหนังสือค่ะ  ดีใจด้วยค่ะ เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ จะขยันและเป็นนักอ่านมากกว่าเด็กผู้ชายนะคะ
เรื่องการอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการปลูกฝัง  และซึมซับจากสิ่งแวดล้อม หากผู้ใหญ่ละเลยสิ่งเหล่านี้ แล้วก็บ่น ๆ  ว่าทำไมลูกไม่รักการอ่านหนอ หรือทำไมลูกไม่ชอบอ่านหนังสือ ก็คงเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ทำตัวเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกนี่ 

 ที่บ้านพี่ มีเด็กเล็กๆ เราอ่านนิทานกันทุกวันจริงๆ ...
นิทานเป็นหลาย ๆ สิ่งในชีวิตจริงๆ   ที่ไม่ใช่แค่ความฝัน ไม่ใช่แค่จินตนาการ  นิทานเป็นสะพานสำคัญมากและสวยงามมากที่ผู้ใหญ่ใช้เชื่อมไปถึงเด็ก ทำให้ผู้ใหญ่เข้าไปอยู่ในใจของ เด็ก ๆ ได้อย่างแยบยลค่ะ
บางวัน เราก็อ่านนิทานที่เกี่ยวกับสุขภาพกัน บางวันก้เรื่อง ช้างน้อยใจอารี บางวันก็เน้นเรื่องธรรมชาติใกล้ตัว

แต่ที่ชอบที่สุดคือ  นิทานสร้างความผูกพันในครอบครัว ถึงแม้ว่าการพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรามีเนื้อเรื่องสนุกสนาน มีคำสวยๆ มันจะจูงใจในการพูดคุยได้มากกว่าค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณนะคะที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการอ่าน

และได้ทราบเกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่าน...

และดีใจที่มีส่วนเลี้ยงลูกให้รักการอ่าน...ค่ะ

ขอบคุณที่ไปให้กำลังใจนะคะ

เด็กที่ป่วยก็อยากอ่านนะคะ...หนูยังคิดถึงการเรียน

(นางวันทองสอนพลายงามว่า "ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ")ต่อด้วยว่า เจ้าจงอตส่าห์จำสม่ำเสมียน ใช่ไหมครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่พ่อแม่กระตุ้นให้ลูกรักการอ่าน ถ้าไม่พาเข้าห้องสมุดก็พาไปร้านหนังสือครับ ผมพาลูกไปร้านหนังสือบ่อยมาก ๒-๓ วันครั้งเพราะอ่านหนังสือเยอะ ที่อ่านหนังสือเยอะเพราะพ่ออ่านเยอะ หนังสือผมมีเป็นตู้ๆ และของลูกที่เป็นหนังสือดีๆก็เก็บไว้อีก ๑ ตู้ เอาไว้ให้หลานอ่านกันต่อครับ อิอิ

สวัสดีค่ะอาจารย์ นาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี 18
อาจารย์ บอกว่า....ผมว่า เรื่องนี้ เด็กดูผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างครับ
เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
นอกจากผู้ใหญ่ในครอบครัวจะต้องทำให้เป็นตัวอย่างในเรื่องของการอ่านแล้ว เมื่อไปโรงเรียนๆก็ต้องสนับสนุนเรื่องการอ่านให้มากๆเช่นกัน ต้องมีห้องสมุด  ที่มีหนังสือเพียงพอให้เด็กๆได้อ่านและค้นคว้าเรื่องที่สนใจด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายการเรียน ให้เรียนอย่างสนุก "Joyful Learning"
เดี๋ยวนี้ มีโรงเรียนอยู่หลายแห่ง ทั่วประเทศที่เหมาะสมกับคำว่า  "Quality School" ที่เข้าใจว่า เด็กๆมีศักยภาพ มีความฉลาดได้ในหลายรูปแบบ ที่เรียกว่า multiple intelligences ค่ะ 
แต่มีอีกประเภทหนึ่งที่เคยเห็นนะคะ คือ ผู้ใหญ่ ที่บ้านสะสมหนังสือมากมาย  คือการสะสมหนังสือเหมือนการสะสมอย่างอื่นๆ จนเป็นนักสะสม  แต่บางที ก็ไม่ค่อยได้อ่าน สิ่งที่สะสมไว้เท่าไร   บาง คนสะสมหนังสือเหมือนสะสมวัตถุที่รักบางอย่างโดยไม่ได้อ่านเลย อย่างนี้ เด็กๆ อาจไม่ได้รับอิทธิพล ในการเป็นนักอ่าน สักเท่าใดกระมังคะ

19. นาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

ลืมไปค่ะ อาจารย์เล่าว่า วันนี้เพิ่งฟังรายการวิทยุ พูดถึงเด็กต่างจังหวัดในโรงเรียนจนๆ พ่อแม่ไม่มีทางสนับสนุนหรือปลูกฝังอะไรได้เลย ....
ในรายการนั้นก็มุ่งเป้าไปที่ครูชั้นประถมครับ และมี โครงการหนังสือฟรีแบบหมุนเวียนกันในกลุ่มโรงเรียน ซึ่งน่าสนใจมากครับ จะแก้ปัญหา knowledge divide ได้ระดับหนึ่ง

รู้สึกจะมีสมาคม อยู่สมาคมหนึ่งเขาเอาหนังสือไปให้เด็กที่อีสาน  ปรากฏว่าพอหนังสือไปถึง เด็กคว้าหนังสือ แล้วเอาไปอ่านกันคนละมุม  จนทีู่ห้องสมุด เกือบจะไม่มีหนังสือเลย
เลยรู้สึกกันว่า  เด็กไทยไม่ใช่ไม่อยากอ่านหนังสือ  หรืออ่านกันแค่ 3 นาที  แต่อาจจะเป็นเพราะเราไม่มีหนังสือให้เขาอ่าน  หรือเขาไม่มีโอกาสได้อ่านก็ได้ นะคะ  และอีกอย่างที่จะช่วยได้ คือ ตามอำเภอต่างๆ ควรต้องมี ห้องสมุดประชาชนด้วยค่ะ

ถ้าจะบริจาคหนังสือ จะติดต่อ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้...
ตอนนี้เขา กำลังมุ่งเรื่อง ห้องสมุดประชาชน ชักเริ่มมีมากขึ้นแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจพอสมควรค่ะ เช่น โครงการพัฒนาห้องสมุดประชาชนมีชีวิต ในการสนับสนุนของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

ห้องสมุดที่ได้รับการสนับสนุนประจำปี 2550 มี 5 จังหวัดคือ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดอุทัยธานี อำเภอทองผาภูมิกาญจนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา้
สังเกตว่า....องค์กรที่สนับสนุน เรื่องการเรียนรู้ ของประชาชน มากเป็นพิเศษ มักอยู่ในภาคการเงิน ภาคอุตสาหกรรมใหญ่ๆ...

สวัสดีค่ะคุณ @..สายธาร..@ 20

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2548... ระบุว่า ประเทศ ไทยมีผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ ถึง 22.4 ล้านคนหรือเกือบ 40% ของประชากรทั้งประเทศ ด้วย  เหตุผลว่าชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า ขณะที่เด็กที่มีอายุ 10-14 ปี กว่า 60% ให้เหตุผลใน การไม่อ่านหนังสือว่า เพราะไม่ชอบ และไม่สนใจ

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่มี สถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่ม ส่วนเวียดนาม มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 60 เล่ม
ขณะที่คนไทยมีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 2 เล่ม
นับว่าการอ่านหนังสือของคนไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤต ฟังดูแล้วน่าใจหายน่ะค่ะ  คงถึงเวลาแล้วที่ เราทุกคนต้องร่วมมือกันส่งเสริมให้ เด็กไทยรักการอ่านมากขึ้นนะคะ

และมีการสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี) ปี 2551

1. การอ่านหนังสือของเด็กเล็ก การอ่านหนังสือของเด็กเล็ก ในที่นี้หมายถึงการอ่านหนังสือในช่วงนอกเวลาเรียน ซึ่งเด็กเล็กอ่าน ด้วยตัวเอง รวมทั้งการที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังด้วย
1.1 อัตราการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน จากผลการสำรวจ พบว่า เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 36.0 เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง มีอัตราการอ่านหนังสือใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 36.7 และร้อยละ 35.2 ตามลำดับ)
แต่อัตราการอ่านหนังสือของเด็กเล็กมีความแตกต่างกันระหว่างเขตการปกครองและภาค
โดยในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเขตเทศบาล
เด็กเล็กในกรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด (ร้อยละ 45.3) ส่วนภาคตะวันออก-เฉียงเหนือเด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด (ร้อยละ
31.3)

สวัสดีค่ะอาจารย์  จารุวัจน์ 21
อย่างอาจารย์ เรียกได้ว่า มีต้นแบบดี ทั้งคุณพ่อ คุณปู่ แถมสิ่งแวดล้อมก็ยังเอื้ออำนวยค่ะ ไม่ต้องสงสัยว่า อาจารย์ต้องส่งต่อคุณสมบัตินี้ ให้แก่ลูกๆแน่นอน เรียกว่า เชื้อ ไม่ทิ้งแถว ลูกไม้ หล่นไม่ไกลต้นค่ะ 
การชอบอ่านหนังสือ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากๆของความฉลาดทั้งหลายที่จะตามมานะคะ


เคยมีเรื่อง น้องฝ้าย ด.ญ.ปัณฑารีย์ คลื่นสุวรรณ หนูน้อยวัย 4 ขวบ ได้สร้างความฉงนให้เกิดขึ้นกับสังคม เพราะเด็กน้อยคนนี้มีความรอบรู้เรื่องไดโนเสาร์จนถูกขนานนามว่าเป็นเด็กอัจฉริยะค่ะ
ซึ่งวิธีการสร้างเด็กให้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ผู้ใหญ่ยังยากที่จะกระทำได้นี้  พอไปสอบถามจากคุณจริยา คลื่นสุวรรณ ที่เป็นคุณแม่ ซึ่งคุณจริยาบอกว่า จุดเริ่มต้นอาจจะมาจากคุณปู่ที่ซื้อตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ มาให้   โดยคุณปู่จะสอนเรื่องประเภทของสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า จนมาถึงไดโนเสาร์
สิ่งที่ทำให้น้องฝ้ายเริ่มสนใจจริงๆ  ขอให้คุณแม่ซื้อหนังสือให้  หลังจากนั้นจะคอยถือหนังสือมาถามว่าตัวนี้ชื่ออะไร เป็นอย่างไร จะจำได้เกือบหมด พอเริ่มเห็นว่าลูกสนใจก็พยายามสนับสนุน และที่สำคัญต้องพยายามเรียนไปพร้อมๆ กับลูก หาข้อมูลมาพูดคุยกัน   นักวิชาการบอกว่า น้องฝ้ายมีแววโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์

ที่ศูนย์อัจฉริยภาพเด็ก สภากาชาดไทย  ให้เรานำบุตรหลานเข้าทดสอบแวว ความสามารถพิเศษ  มีเปิดบริการในวันอาทิตย์ด้วย เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่จะสะดวกพาบุตรหลานมาที่ศูนย์ฯ ได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ โดย ศูนย์อัจฉริยภาพเด็ก สภากาชาดไทย สามารถทำการทดสอบและค้นหาแววได้ตั้งแต่อายุ 3-15 ปี

ขั้นตอนการให้บริการ
1. ขั้นกลั่นกรองแวว ความสามารถ เป็นการระบุความถนัดและความเป็นอัจฉริยะอย่างกว้างๆ โดยใช้คู่มือทดสอบแวว ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ โดยได้พัฒนามาจาก แบบสำรวจแววด้านต่างๆของเด็ก ที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศได้ทำไว้
2. ขั้นระบุแนวโน้มความถนัด โดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่หลากหลาย ซึ่งก็คือสื่อ ใบงาน เกมต่างๆ ของมุมทั้ง 11 มุม ที่เด็กทุกคนจะต้องเข้าทั้งหมด 12 ครั้ง โดยจะมีผู้ที่คอยสังเกตและรายงานผู้เชี่ยวชาญ
3. ขั้นยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญโดยผู้เชี่ยวชาญ ที่จะสามารถวินิจฉัยและระบุแวว ความสามารถของเด็กได้ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ดูแลลูก ทำความเข้าใจกับลูก ตลอดจนส่งเสริมลูกไปให้ถูกทาง
ประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับคือ
1. ได้พัฒนาการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
2. ค้นพบวิธีการคิดใหม่ๆ ส่งผลให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น
3. ได้เรียนรู้จากแบบตัวอย่างต่างๆของนักคิดทั่วโลก
4 รู้จักและเข้าใจศักยภาพของตนเองมากขึ้น เป็นการค้นพบตัวเอง
5. ได้ฝึกฝนพัฒนาสมองทุกส่วน โดยเฉพาะทักษะความคิด
6. ได้พัฒนาสติอารมณ์ของตนเอง
7. ได้เรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วน
8. ได้พัฒนาทักษะทางสังคม

 สวัสดีค่ะน้อง  สี่ซี่
ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ
เรื่องการอ่านหนังสือนี่ พี่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ให้เวลากับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษกับลูกค่ะ ตอนลูกยังอ่านไม่ออก ก็ต้องอ่านให้เขาฟังก่อน...
ยิ่งเวลา  เล่านิทานก่อนนอน ลูกจะคลุกคลีกับแม่ เวลาก่อนนอนจะเป็นช่วงมหัศจรรย์มาก ที่แม่สอนทุกอย่างให้ลูกได้ เพราะเป็นเวลาสบายๆ  แม่ได้พูดคุยกับลูก เล่าเรื่อง จับมือลูก กอดลูกขณะเล่านิทาน  ลูกรับรู้ได้เลยว่า แม่รักลูกแค่ไหน ยิ่งแม่เล่านิทานที่เป็นคำคล้องจอง  ลูกก็จะได้ฟังเสียงแม่ที่อ่อนโยน ได้ฟังคำเพราะๆ เป็นวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีมากค่ะ

พอโตขึ้นมา การอ่านยิ่งทวีความสำคัญใหญ่  เป็นรากฐานของความรู้ทั้งมวล  คนฉลาด คนเก่ง จะเป็นนักอ่านแทบทั้งนั้นนะคะ  มีคำกล่าวว่า....
All leaders are readers

แต่การอ่าน มักจะเปลี่ยนไปตามช่วงวัย
ในวัยเด็ก
เราอ่านหนังสือการ์ตูน  อ่านแบบเรียน/ตำราเรียนตามหลักสูตร 
พอวัยรุ่นก็อ่าน นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น
วัยทำงานอ่านนิตยสาร  และวัยสูงอายุอ่านหนังสือเกี่ยวกับคำสอนทางศาสนา

และประเภทของหนังสือที่คนทั่วไปอ่านนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน
จะเป็นหนังสือพิมพ์ เป็นประเภทของหนังสือที่มีผู้อ่านสูงสุด  รองลงมาคือ นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น และนิตยสาร 

เคยมีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือนะคะ ส่วนใหญ่ ก็เหมือนๆกับที่ทุกคนคิดคือหนังสือควรมีราคาถูกลง   รวมทั้ง ควรมีเนื้อหาสาระน่าสนใจ และการมีห้องสมุดประจำหมู่บ้านหรือชุมชน จะช่วยได้มากขึ้นค่ะ

ส่วนเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Digital Divide) อย่างที่กำลังรณรงค์กันอยู่  ก็มีการติดตามข่าวอยู่ตลอดเวลา เห็นว่า เรายังล้าหลังกว่า มาเลเซีย  และยิ่งล้าหลังกว่า ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ ภูสุภา  26
ดีใจมากที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ
ที่คุณหมอว่า บางคน บางครอบครัว ทุ่มซื้อหนังสือให้ลูก แล้วมาพร่ำบ่นให้เราฟังว่า ไม่เห็นลูกหยิบอ่านเลย สงสัย ซื้อแต่หนังสือ แต่ไม่ได้ลงมืออ่านให้ลูกเห็นนะคะ ถ้าอย่างนั้น ประโยชน์ ก็ได้ไม่มากค่ะ
แต่ อย่างครอบครัวคุณหมอ เป็นนักวิชาการกันทั้งครอบครัว ชอบอ่านหนังสือ และอ่านไปด้วยกันทั้งครอบครัว ไม่มีข้อกังขาเลย น้องภู ต้องชอบอ่านแน่นอนค่ะ

แต่ความชอบอ่านหนังสือ ประเภทไหน พี่ว่า มีส่วนเป็นพันธุกรรม เพราะเด็กเล็กที่บ้านพี่ก็เป็น ชอบแบบเดียวกับที่พ่อเขาชอบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้บอกเลยว่า ให้ชอบแบบไหน สุดท้าย พี่ว่า  อาจเป็นการผสมผสานกันระหว่าง ความชอบ ความถนัด ที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้ค่ะ
ส่วนเรื่องท่าทางการอ่าน พี่คิดว่า ก็เช่นเดียวกันค่ะ คือทั้งเป็นการเลียนแบบ และเป็นท่าถนัดที่ส่งต่อกันมาค่ะ

ในเรื่องปัญหาสังคมปัจจุบัน  ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ และ ความไม่รู้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการไม่อ่านหนังสือที่ดี
เหตุผลอาจเกิดจาก การที่ไม่มีทุนทรัพย์ซื้อหนังสือ ดังนั้น ห้องสมุดจึงต้องเป็นแหล่งสร้างคนให้เป็นคน  โดยห้องสมุดสามารถสร้างความเท่าเทียมทางปัญญาได้นะคะ    ห้องสมุดยิ่งดี คนในสังคมก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น  ยิ่งมีหนังสือที่หลากหลายมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะเป็นการดียิ่งเท่านั้น 
ห้อง สมุดในยุคปัจจุบันก็ไม่ได้น่าเบื่อเหมือนที่ใครๆคิดกันก่อนหน้านี้ พี่แวะไปที่ห้องสมุดที่เป็นสมาชิกบ่อยๆค่ะ   พบคนที่เข้ามาใช้บริการอินเทอร์เน็ต    หน้าตาอิ่มเอิบกับการท่องโลกไร้พรมแดนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  จะใช้ก็แค่เพียงจิตใจที่มีความมุ่งมั่น ใฝ่หาความรู้ ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จให้กับชีวิตของผู้เรียนรู้เท่านั้นค่ะ 

สวัสดีค่ะคุณ แดง 30

เห็นภาพน้องที่ป่วยแล้ว สงสารมากค่ะ ถึงเขาจะป่วย แต่เขาก้ยังเป็นเด็ก ยังชอบเล่นสนุกสนานเมื่ออาการดีขึ้น และชอบอ่านหนังสือ หรือฟังคนอื่นอ่านให้ฟังค่ะ
รู้สึกจะมี กิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ที่ไปเยี่ยมเด็กป่วย และไปอ่านหนังสือให้ฟังบ่อยๆนะคะ อ่านพบแล้วยังรู้สึกตื้นตันและชื่นชมมากๆค่ะ


มีข่าวเรื่องการอ่านค่ะ   องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เปิดตัวห้องสมุดดิจิทัลให้คนทั่วโลกเข้าใช้ได้ในวันที่ 21 เมษายน 2552 นี้ เว็บไซต์ห้องสมุดแห่งนี้ พัฒนาโดยหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน   เปิดโอกาสให้เข้าถึงสื่อหายากได้ฟรี เช่น หนังสือหายาก แผนที่ ต้นฉบับตัวเขียน ภาพยนตร์ และรูปภาพจากทั่วโลก ให้บริการถึง 7 ภาษา ได้แก่ อาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส รัสเซีย และ สเปน

Launch of the World Digital Library

Official launch of the World Digital Library by the Director-General of UNESCO, Dr. Billington, Director of the Library of Congress and in presence of representatives of national libraries from all over the world.

ลองดูที่นี่ก็ดีค่ะ NSDL is the Nation's online library for education and research in
Science, Technology, Engineering, Mathematics.

"World Heritage Memory"

  • แต่ก่อนพี่เขี้ยวก็ไม่ชอบการอ่าน
  • แต่พอมาเป็นสมาชิก g2k
  • พี่เริ่มอ่านมากขึ้น
  • เพราะต้องเข้ามาเม้นแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ
  • ในสังคมไซเบอร์นี้
  • เพื่อให้มีความรู้และสามารถ ลปรร  ต่อยอด
  • กับเพื่อนๆได้อย่างสนุก
  • และขอบคุณสำหรับทุกบันทึก
  • ที่ได้อ่าน ณ.ที่นี้ด้วยจ้า

สวัสดีค่ะ

พอดีเปิดมาอ่านค่ะ ได้ยินว่ามีห้องสมุดกาญจนาภิเษก ทราบไหมค่ะว่ามีที่ไหน

สวัสดีค่ะท่านอัยการ อัยการชาวเกาะ 31
ใช่ค่ะ.....(นางวันทองสอนพลายงามว่า "ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ")ต่อด้วยว่า เจ้าจงอตส่าห์จำสม่ำเสมียน ใช่ไหมครับ)

พี่เองเรียนและอ่าน วรรณคดีไทย มามาก และก็ชอบอ่านด้วยค่ะ อย่างเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ก้ดีในหลายๆด้านนะคะ เช่น ....
...... สำนวนโวหาร  ดี ใช้ถ้อยคำสามัญแต่ไพเราะ การบรรยายใช้ถ้อยคำเหมาะสมกับ ท้องเรื่อง  บทกลอนคมคาย ดูดดื่มใจ ได้รสวรรณคดีทุกรส
........บุคลิกภาพของตัวละครก็คงเส้นคงวา ตลอดจนเนื้อเรื่องและลีลากลอนก็ราบรื่นสอดคล้องกัน
.......ความสมจริงทั้งเหตุการณ์ ตัวละคร สถานที่และถิ่นฐานบ้านเมืองถูกต้องตามภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ หมู่บ้าน ตำบล ทิศทาง ระยะทาง ตัวละครมีชีวิตจิตใจและมีความสมจริง
........เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดชีวิตของคนในสังคมไทยในสมัยก่อนได้อย่างดี

แต่เรื่อง ลายมือนี้  ไม่ใช่ลายบนฝ่ามือ หากแต่หมายถึงลักษณะความสวยงามของการเขียนตัวหนังสือ  หลายคนมักจะมีปัญหา เขียนไม่สวย ตอนเด็ก ๆ มักจะโดนคุณครูดุว่าลายมือเหมือนไก่เขี่ย อย่างพี่เอง ลายมือ ก็ไม่ค่อยสวยค่ะ แต่ไม่หวัดจนเกินไป พออ่านได้ ไม่เหมือนคุณพ่อ คุณแม่ ลายมือ สวยทีเดียว

ยังจำความรู้ ตอนที่เรียนอักษรศาสตร์ได้อยู่....
  ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นลูกชายชาวบ้าน ลูกขุนนางคหบดี แม้แต่ลูกเจ้านาย ต่างก็เรียนหนังสือกันที่วัด กับพระอาจารย์ หรือพระภิกษุ คือไปเป็นลูกศิษย์วัด ในสมัยโบราณผู้มีกำลังทรัพย์จึงมักศรัทธาสร้างวัด ประการหนึ่งก็เพื่อเป็นที่เรียนของลูกหลานทั้งของตนเองและลูกชาวบ้าน
 หากใครมีลายมือสวยงาม มักหากินได้ด้วยการรับจ้างเขียนหนังสือ จดบัญชี คัดหนังสือ เป็นที่ต้องการของเจ้าขุนมูลนาย  โดยเฉพาะกรมอาลักษณ์ มักเรียกพวกนี้ว่า ‘เสมียน' หากชื่อ มั่น ก็เรียกว่า  ‘เสมียนมั่น' เป็นต้น
ต่อมา  เสมียนเหล่านี้เมื่อได้เข้ารับราชการ  ทำงานเป็นที่โปรดปรานของเจ้านาย มักจะได้ดีมียศศักดิ์ไปตามๆกัน  และเสมียนบางคน ที่มีความสามารถ  มักเป็นผู้แต่งกลอนเพลงยาวถวายพระเจ้าแผ่นดิน   เนื่องในงานพิธีต่างๆอีกด้วย
ดังนั้น ความหมายของคำว่า "เสมียน" ในสังคมโบราณ  จึงเป็นคนมีเกียรติอันสูง อยู่ใกล้ชิดกับอำนาจ หรือมิฉะนั้นก็เป็นนักบวช นะคะ

ผ่านเข้ามาอ่าน เป็นคนชอบอ่านหนังสือค่ะ เลยอ่านบันทึกนี้เพลินเลย

สวัสดีค่ะคุณ มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)  39
แสดงว่าการเป็นสมาชิก โกทูโน นี้มีประโยชน์มากเลยนะคะ ทำให้พวกเรา เป็นนักอ่านมากขึ้น  สำหรับผู้ใหญ่ เรามีแหล่งเรียนรู้มากมาย แต่ที่เป็นห่วงคือ เด็กๆค่ะ
แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กๆอย่างหนึ่ง  ในโรงเรียน คือห้องสมุด เช่น กรณี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงจัด 
ห้องสมุด กาญจนาภิเษก พระราชทาน ค่ะ
ปัญหาตอนนี้คือ ทำอย่างไร จึงจะให้ทุกโรงเรียน มีห้องสมุดที่มีคุณภาพพร้อมสื่อที่มีคุณภาพด้วย
ถึงจะไม่มีห้องสมุดที่มีคุณภาพ  เท่ากับห้องสมุดกาญจนาภิเษก แต่ในห้องสมุด ขอให้มี       1. มีหนังสือใหม่ๆให้มากขึ้น ให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น
                       
2.ครูเองก็ต้องอ่านด้วยเพื่อพัฒนาตัวเอง เพื่อจะนำไปพัฒนาเด็กๆอีกทีด้วย

สวัสดีค่ะคุณจุรี 44
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านค่ะ
ดิฉันคิดว่า เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ต้องปลูกฝัง นิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ ตั้งแต่เขายังอ่านไม่ออกโดยการอ่านให้ฟังก่อนตั้งแต่เด็กอายุ 4 เดือน เป็นต้นไป
ส่วนเด็กเล็กๆ 2 - 5 -6 ขวบ  โดยธรรมชาติ จะเป็นคน self-centered มาก ไม่ค่อยรู้ว่า โลกภายนอก กับโลกภายใน ใบเล็กๆของเขาต่างกันอย่างไร เท่าไรนัก เด็กทุกคน ชอบฟังนิทาน ไม่มียกเว้นสักคน  ซึ่งจริงๆแล้ว เขาชอบ rhythm and sounds ควบคู่กับ จินตนาการมากที่สุด

พอช่วงอายุ 5 ขวบ ถึง 9 ขวบ
เด็กมักจะชอบเ รื่องแ บบ fantasy หรือชอบแบบ poetry

พอ อายุ 9-12 ขวบ  มัก ชอบเรื่องแนววิทยาศาสตร์  หรือเรื่องที่อิงความจริงๆ  ชอบเรื่องการผจญภัยแบบ  pseudo-realistically  masked  adventure magical background
และชอบถามคำถามว่า ‘how?' and ‘why?‘ to ‘what?
ต่อจากนี้ 12-15 ปี น่าจะไปแนว การผจญภัย แ ละเรื่องน่าตื่เนต้นมากขึ้น แนวนิยายวิทยาศาสตร์  ก่อนที่จะขึ้นวัยทีนเอจ เด็กจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มสนใจเพศตรงข้าม มีความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น จึงจะสนใจหนังสือแนวผจญภัย นิยายตื่นเต้น สอบสวน ลึกลับ  บางคนก็ชอบเรื่องนิยายประโลมโลก เพ้อฝัน ด้วยค่ะ

คือสรุปว่า ความสนใจในการหนังสือ จะเปลี่ยนแปลงไปตามวัยของเด็กค่ะ ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่นับรวมหนังสือเรียนนะคะ ที่เขาต้องให้ความสนใจเป็นหลักอยู่แล้ว

สวัสดีค่ะ คุณสุนิสา 40
 โครงการห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก เกิดขึ้น เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ เป็นปีที่ 50 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539
กรมสามัญศึกษาได้จัดให้มีโครงการจัด "ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ กาญจนาภิเษก" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ
และกรมสามัญศึกษาพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนต่างๆ ให้เข้าร่วมโครงการ  คัดโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเกียรติประวัติที่ดีงาม ร่วมทั้งมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านอาคารสถานที่และบุคลากร ตลอดจนด้านงบประมาณสนับสนุน

เดี๋ยวนี้ มีอยู่หลายโรงเรียนเหมือนกันค่ะ เช่น ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาฯ  โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยสุราษฏร์ธานี   โรงเรียนสตรีวิทยา  เป็นต้นค่ะ ต่อไป คงจะขยายไปทั่วประเทศมากขึ้นค่ะ

คนเราคงขาดห้องสมุดไม่ได้ เพราะหนังสือเป็นอาหารของสมองและจิตใจ ถ้าคนเราไม่อ่านหนังสือ เราจะมีเวลาว่างมาก
ถ้าดูโทรทัศน์  เราจะสนใจรายการที่น่าสนใจสำหรับเรา  คนทำรายการ  ต้องทำให้ภาพ และเสียงมากระทบประสาท  แบบผิวเผิน  ลีลาต้องรวดเร็ว  ผู้ชมไม่มีเวลาคิด เพียงแต่รู้สึกเพลินๆ หรือมีความรู้สึกร่วม เช่น สงสาร  โกรธ หรือเอาใจช่วยฝ่ายนั้นฝ่ายนี้
ถ้าให้โอกาสผู้ชมคิดนานๆ  เรื่องก็จะจืดไป
  แต่เมื่อคนเราอ่านหนังสือ เรามีเวลาคิดไตร่ตรองเรื่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน  ตามความคิดของเรา ซึ่งน่าจะกว้างขวางกว่าค่ะ

หวัดดีคับ..

แวะมาอ่านสาระดีๆ คับ เพราะกู๊ดดี้ก็รักการอ่านเหมือนกันคับ

เมื่อก่อนตอนประมาณขวบครึ่ง จะชอบให้คุณแม่อ่านเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ครั้งละหลายๆ เที่ยว แล้วก็เริ่มจำเนื้อหาได้ ทั้งๆ ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก

แต่เดี๋ยวนี้ช่วงก่อนเข้าอนุบาล จนตอนนี้เข้าอนุบาลมาได้ 4 วัน จะชอบการอ่านที่ซ้ำซ้อนมากขึ้นคับ

ที่บ้านจะรับหนังสือ Hi Five ซึ่งจะมีเกมส์ต่างๆ ให้เล่น และที่กู๊ดดี้ชอบมากสุด คือ เกมส์จับผิดรูปภาพ และเกมส์หาสิ่งของตามศัพท์ที่เขาให้มาคับ ช่วงนี้หลังอ่านนิทานก่อนนอน ก็จะชอบเล่นเกมส์ในหนังสือทุกวันเลยคับ

ส่วนห้องสมุดที่ชอบไปก็คือ ห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์เด็กคับ เพราะเงียบ สงบ และเย็นดี

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

บันทึกนี้ชอบและถูกใจสุด ๆ ค่ะ

"นิสัยรักการอ่าน ไม่ใช่พันธุกรรม ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เกิดจากการปลูกฝัง"
เป็น "สัจพจน์" คือ เป็นความจริงโดยไม่ต้องทำการพิสูจน์...ค่ะ
เพราะตัวน้องเอง มีแม่ที่อ่านหนังสือไม่ได้ พ่ออ่านได้แต่หนังสือจีน แต่ทั้งคู่เป็นผู้ที่ปลูกฝังให้ลูก ๆ "หาความรู้" ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ ทั้งดู ฟัง อ่าน คุยกับคนมีความรู้ค่ะ
มี เคล็ดลับที่น่าจะไม่ลับแล้ว สำหรับการปลูกฝังนิสัยการรักการอ่านให้เด็ก ๆ (ซึ่งจะได้ติดเป็นนิสัยที่ดีต่อไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่) ก็คือ "การตั้งคำถามที่ดี" ค่ะ น้องใช้วิธีการกับหลานสามใบเถาที่บ้าน ด้วยการตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ ที่คิดว่าเขาน่าจะได้รู้ มีการตั้งสินบนเล็ก ๆ ค่ะ เช่น หากตอบคำถามได้ถูกต้องและถูกใจ...ให้เลือกกิจกรรมที่อยากให้พาไปทำได้ หรือ เลือกหนังสือที่ชอบได้หนึ่งเล่ม ...
ผลที่ปรากฏในช่วงปิดเทมอเกินความคาดหมาย เด็ก ๆ อ่านหนังสือได้หลายเล่ม เพราะเขาไปหาคำตอบจากหนังสือ จากระบบอินเทอร์เน็ต ค่ะ
 และหากเด็ก ๆ จะชอบอ่านการ์ตูน ก็ไม่ควรห้ามแต่เลือกและคอยสังเกตหนังสือที่เด็ก ๆ อ่าน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนให้เขาได้รับความรู้ที่ถูกต้อง...จะดีกว่าค่ะ
การห้ามอ่านหนังสืออ่านเล่น ... จึงไม่ควรเกิดขึ้นเลยค่ะ
ตัวน้องพัฒนาการชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กด้วยการติดการ์ตูนค่ะ นิสัยการอ่านจะเริ่มจากการอ่านเรื่องสนุก ๆ ง่าย ๆ ที่ชอบนั่นเอง
ขอบคุณบันทึกดี ๆ ค่ะ
(^___^)

 สวัสดีค่ะคุณแม่น้อง goody krub 46

ตาม ไปอ่านบันทึก วันแรกที่น้องไปโรงเรียนอนุบาลน่ารักมากค่ะ คุณแม่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กมากนะคะ อย่างนี้ต่อไป น้องต้องเป็นนักอ่านตัวยงค่ะ ดิฉันเอง เคยมีลูกและได้ศึกษาเรื่องการอ่านเขียนของเด็กมาพอควรค่ะ และก็เป็นอย่างที่ทฤษฏีว่าไว้เลย....

สำหรับเด็กๆแล้ว อายุที่เขาจะสามารถอ่านได้คือ อายุ 5-6 ขวบ เหตุผลคือ ก่อนหน้าอายุดังกล่าว สมองเด็กๆยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นจะ decode printed letters และผสมคำออกมา หรือผูกประโยคได้ อาจจะมีเด็กบางคน ที่สามารถอ่านออกได้ก่อนอายุ 5 ขวบ แต่ส่วนใหญ่ อ่านออกเป็น คำๆ ไม่ได้อ่านออกจากกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงๆ

ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และรักการอ่านคือ "indirect instruction" หรือการสอนโดยอ้อม ก็คือ ให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือมาตั้งแต่เล็กๆ มีคนอ่านนิทานสนุกๆให้ฟัง หน้าที่ของเราคือ แสดงให้ลูกเห็นทุกวันว่า หนังสือ มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ สนุก มากๆ
พออายุ 1-2 ขวบ ลุกจะชอบหนังสือ และเสียงเล่าที่มีจังหวะจะโคน และชอบให้เล่าเรื่องซ้ำๆอยู่อย่างนั้น จนคนเล่าเบื่อจะแย่แล้ว แต่เด็กไม่เบื่อ พออายุ 2-3 ขวบ ลูกจะชอบ หนังสือที่มีเรื่องราวมากขึ้น แต่เป็นเรื่องง่ายๆ และต้องมีรูปด้วย

เมื่ออายุ 3 ขวบ เด็กจะอ่านชื่อเขาออกแล้วด้วย แต่ต้องแยกออกมาจากตัวอักษรอื่นๆที่มีมากๆไปก่อน เป็นการ identify ตัวอักษรที่คุ้นเคย รวมทั้งจำ signs และ logos ของชื่อร้านดังๆต่างๆ   ช่วงนี้ เป็นช่วงที่มีความสำคัญสำหรับเด็กมาค่ะ เป็นการแสดงว่า ลูกเข้าใจ ตัวอักษรที่แสดงถึง ชื่อต่างๆเหล่านั้น ต่อไปนี้ ก็จะเริ่มเข้าสู่การเรียนรู้ที่จะอ่านแล้วค่ะ
พวกหนังสือ ก.ไก่ ข.ไข่ จะเข้ามามีบทบาทมากช่วง 3 ขวบนี้แล้วค่ะ

  พอดีไปอ่านพบบทสัมภาษณ์ คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเครือซีเมนต์ไทยพอดี .....ที่กล่าวถึง  วัฒนธรรมการอ่าน ของ เครือปูนฯค่ะ
 
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลพวงจากการเป็นนักอ่านตัวยง ที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรทำให้พนักงานในเครือทั้งหมดเกาะติดอยู่กับวิธีคิดวิธีบริหารจัดการสมัยใหม่ ด้วยการเรียนรู้และได้รับการถ่ายทอด
ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี มีส่วนสำคัญทำให้ "SCG" สามารถยืนอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตระลอกแล้วระลอกเล่า รวมทั้งวิกฤตการเงินโลกครั้งล่าสุด ที่องค์กรทั้งเล็กใหญ่ต่างเผชิญกับปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ขอบคุณมากค่ะ คุณศศินันท์.. ((แวะมาดูอีกรอบ))

เพราะช่วงนี้ น้องกู๊ดดี้ จะถามมากกว่าปกติ (ปกติก็ถามอยู่แล้ว) แต่ตอนนี้จะถามลึกซึ้งลงไปอีก

เวลาอ่านหนังสือจะชอบอักษรภาษาอังกฤษมาก ชอบสะกด และจำได้บางคำค่ะ

ส่วนภาษาไทย ตอนนี้ชอบเล่นคำ เช่น ปอ อู ปู ไม้เอก อ่านว่า ปู่ อย่างนี้ค่ะ

เวลาเข้า internet น้องกู๊ดดี้จะเข้าเองเลย และจะ search หาคำว่า "พัดลม" ใน google จะหาเองบนแป้นพิมพ์เลยค่ะ จะจำตัวอักษรได้  (เป็นเด็กที่ชอบพัดลมมาก) แต่ที่บ้านจะพยายามไม่ให้เล่นเนตนาน เพราะห่วงเรื่องสายตาค่ะ

ตอนเด็กๆ ที่น้องกู๊ดดี้เริ่มพูด ที่บ้านจะใช้วิธี ชี้แต่ละคำ และอ่านให้ฟังทีละตัว หลังจากนั้นให้อ่านตามค่ะ กู๊ดดี้จึงชอบอ่านหนังสือ และใช้คำศัพท์ตามหนังสือ ที่บางครั้งเด็กๆ ไม่ค่อยใช้กัน เช่น "คุณแม่คับ เรามีหน้าที่ต้องไปโรงเรียนใช่ไหมคับ ส่วนคุณพ่อมีหน้าที่ต้องไปทำงานใช่ไหมคับ" เป็นต้นค่ะ

ขอบคุณสำหรับสาระที่มีประโยชน์นำไปใช้ได้จริง ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะ goody krub
ดีใจจริง ที่เข้ามาเยี่ยมอีกค่ะ พอดีมีประสบการณ์จริงอยู่ ณ เวลานี้เลย ก็ถือโอกาสนำมาแลกเปลี่ยนค่ะ เด็กวัยนี้ เข้าใจเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ง่ายๆแล้วค่ะ

เด็กวัย 3 ขวบนี้ ชอบ simple songs and nursery rhymes  มากๆ ถูกใจจริงๆ
ก็เพราะ การที่เด็กได้ร้องเพลงซ้ำๆอยู่หลายๆหน  เช่น "Row, Row, Row Your Boat "
เด็กจะจำเนื้อร้องและท่าทางการเต้นได้
มันเป็นความสุข ความสำเร็จ ในระดับเด็กๆ the sheer joy of mastering something
(ผู้ใหญ่ เลยนำเอาความชอบทำอะไรซ้ำๆของเด็กมาเป็นประโยชน์ ในเรื่องวินัย ได้สบาย...กิน นอน เล่น อาบน้ำ...)

เหมือนเล่านิทานเรื่องเดิมๆให้เขาฟังจนเขาจำได้ และจะคอยแซงเราพูด ในตอนท้ายของทุกประโยคนั่นเอง นั่นคือ เด็กได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่เราเล่าแล้ว ไม่ใช่แค่ฟังเฉยๆ

เด็กๆวัยนี้ พูดคล่องแล้ว แต่บางทีไม่เข้าใจความหมายของคำบางคำค่ะ เช่นคำว่า สัญญา ...เราอนุญาตให้เขาเล่นต่อได้อีก 5 นาที แต่เขาต้องสัญญาว่า จะเลิกและเข้านอนนะ  ส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยเข้าใจ อยากจะเล่นต่อ ถ้าจะเลิก ก็มักจะเป็นเรื่องว่า เบื่อไปเอง ต้องให้โตอีกหน่อย จึงจะเข้าใจความหมายของคำบางคำได้
ประสบการณ์ของดิฉัน  การเล่านิทานจะช่วยได้มากๆค่ะ อย่าไปให้ลูก ทำในสิ่งที่เขาเอง ในวัยนี้ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจจะดีที่สุด

 
ดีจังที่น้องกู๊ดดี้ ชอบฟังนิทาน ชอบหนังสือ วันหยุดพาไปที่ห้องสมุดบ้างก็ดีนะคะ แนะนำที่นี่ค่ะ

สวัสดีค่ะน้องคนไม่มีราก  47

ดีใจมากค่ะที่มาเยี่ยม และบอกว่า "นิสัยรักการอ่าน ไม่ใช่พันธุกรรม ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เกิดจากการปลูกฝัง" เป็น "สัจพจน์" คือ เป็นความจริงโดยไม่ต้องทำการพิสูจน์...ค่ะ

ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ของน้อง ที่ปลูกฝังความรักในหนังสือ และการอ่านให้แก่ลูกๆทุกคน นี่คือ มรดกอันล้ำค่าค่ะ และนำมาส่งต่อให้แก่หลานๆ ให้เป็นคนคุณภาพในสังคมต่อไปได้อีก
  "การตั้งคำถามที่ดี"  .
..เป็นวิธีที่ดี ในการกระตุ้นให้เด็กมีความกระตือรือล้นที่จะเสาะหาความรู้ได้ด้วยตนเองนะคะ
 
ระบบอินเทอร์เน็ต  ตอนแรกๆ เติบโต เพราะนักวิทยาศาสตร์อยากจะแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน และต่อมาก็มีบทบาทเข้ามาในทุกภาคส่วนมากขึ้นๆ
คนที่มีความรู้  และคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ก็แบ่งปันในสิ่งที่คุณรู้ให้คนอื่นได้รู้ด้วย
   การแบ่งปันความรู้เป็นเรื่องสนุก มันเป็นธรรมเนียมของการใช้อินเทอร์เน็ตมายาวนาน นอกจากนั้นยังทำให้โลกดีขึ้นด้วย

ส่วนใหญ่เด็กๆที่อ่าน หนังสือได้แล้ว จะติดการ์ตูนค่ะ  และ ใช่เลยค่ะ ที่นิสัยการอ่านจะเริ่มจากการอ่านเรื่องสนุก ๆ ง่าย ๆ ที่ชอบนั่นเอง
และอีกอย่างหนึ่งคือ  ทำให้บ้านของเรา มีบรรยากาศที่เหมาะแก่การอ่านด้วยนะคะ  Make Our Home a Reading-Friendly Environment
เพราะพวกเราทุกคน มักจะมีมุมโปรด อยู่มุมหนึ่ง ที่ชอบนั่งลงอ่านหนังสือ ที่สุด สำหรับเด็ก ก็เช่นกันค่ะ
บางบ้าน ก็คิดกิจกรรมสนุกๆ ให้สมาชิกอยู่กันพร้อมหน้า
โดยให้มีการทำอาหารร่วมกันและล้อมวงกินด้วยกัน กิจกรรมนี้ คือการทำอาหารค่ะ มีหนังสือ cookbooks for children เยอะเลย ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และการที่เด็กจะสามารถ ทำอาหารง่ายๆได้เอง เป็นเรื่อง ดี สำหรับเขาไปตลอดชีวิตเลยค่ะ

สวัสดีค่ะ

มีคนแนะนำเข้ามาให้อ่านค่ะ ตอนนี้ลูกชายอยู่อนุบาลและใกล้จะถึงวันเกิดแล้ว ไม่รู้จะซื้ออะไรให้ที่กระตุ้นให้รักการอ่านหนังสือ ขอคำแนะนำหน่อยค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • วันนี้ได้นำโจทย์จากบันทึกนี้ไปให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ช่วยกันคิด
  • ได้คำตอบว่า...อยากจะอ่านหนังสือแต่ไม่มีเวลาอ่าน ช่วยพ่อแม่ทำงาน เมื่อทำงานเสร็จก็ได้แต่รีบทำการบ้าน อยากอ่านหนังสือดี ๆ แต่ราคาแพง หนังสือในห้องสมุดมีแต่หนังสือเรียนน่าเบื่อ หนังสือที่ชอบตามลำดับคือนิตยสารซีเครท การ์ตูนขำขัน การ์ตูนธรรมะ อยากได้ห้องสมุดใหม่ อยากได้ Internet ความเร็วสูง อยากได้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ
  • ....การอ่านที่ดีมาจากการฝึกฝน  ตอนแรกไม่ชอบอ่าน เมื่อคุณครูฝึกให้อ่าน จึงทำให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เหมือนใคร เกิดความคิดใหม่ ๆ และอยากจะติดตามอ่าน
  • และ.... การอ่านหนังสือทำให้มีความสามารถในการเขียนดีกว่าเดิม  เพราะจำเหตุผลและข้อคิดมาจากหนังสือ
  • ขอขอบพระคุณ..บันทึกนี้คือสื่อดีค่ะ

ขอปรบมือให้ค่ะ...ชอบจัง

"นิสัยรักการอ่าน ไม่ใช่พันธุกรรม ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เกิดจากการปลูกฝัง"

สวัสดีค่ะคุณสุภาวดี
ยินดีที่เข้ามาอ่านค่ะ ลูกชายอยู่อนุบาล ก็น่าจะอยู่ประมาณ 3.5 - 5 ขวบนะคะ 
บันทึกนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับหนังสือและการอ่าน จึงจะขอแนะนำ

1.เรื่องหนังสือค่ะ  การอ่านหนังสือกับลูกวัยอนุบาลนี้ ดิฉันเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดค่ะ ยังไง ก็ต้องหาเวลาให้ได้ โดยเฉพาะเวลาก่อนนอนนะคะ ตอนนี้ มีหนังสือสำหรับเด็กๆน่าอ่าน รูปเล่มสวยงาม เรื่องก็ดีๆ มากมายค่ะ
2.ชุด  doctor's kit  หลังจากอ่านหนังสือ เด็กอาจชอบเล่นสมมุติ สนุกๆได้ค่ะ คิดเป็นเรื่อง เป็นราวได้เลย  เลือกชุดที่มี  stethoscope, reflex tester, fake syringe, a blood pressure pump. 
3. ชุดระบายสีต่างๆ
4.ชุดเกมฝึกความจำ ฝึกสมอง
5.ชุดตัวสัตว์ต่างๆ  ชุดครอบครัวสัตว์ ที่มีบ้าน  มีอาหาร มีโต๊ะเก้าอี้เป็นต้น 

6.ชุดเครื่องครัว 7. ชุดตัวต่อ ที่ให้เด็กๆมาต่อเป็นรูปร่างต่างๆเองเป็นต้นค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ  add

ขอบคุณค่ะที่แวะมา  เรื่องการอ่านนี่ ดีที่สุดต้องปูพื้นตั้งแต่เด็กยังเล็กมากนะคะ

เดี๋ยวนี้ ตามโรงเรียนก่อนอนุบาล เขาก็ปูพื้นการเรียนในหมวดสำคัญๆแทบจะทุกวิชา แต่แทรกเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับการเล่น จนเด็กไม่รู้สึกค่ะ คิดว่า เป็นการไปเล่นกับเพื่อนสนุกๆ
ตามโรงเรียนก่อนอนุบาล นอกจากจะมีสอน  group gymnastics, สอนเล่น games, การเข้าสังคม  มรรยาทต่างๆ ก็มีการสอนอ่านเบื้องต้น เช่น ก ข หรือ a b c d   สอนนับเลข  สอนพื้นฐานทางเคมีผ่านการเรียนทำอาหาร และสอนร้องเพลง ดนตรีกับศิลปะ เป็นต้นค่ะ
ทุกโรงเรียนพยายาม จะสอนให้เด็กๆ ให้เป็นนักอ่านที่ดี นะคะ
เพราะ good readers กับ  poor readers ไม่เหมือนกัน

  • อ่านอีกรอบ
  • พี่เขี้ยวจะบอกว่าเดี๋ยวนี้
  • กรมอนามัยได้นำโครงการ book start
  • มาต่อยอดจากโรงเรียนพ่อแม่
  • เริ่มใช้กับเด็กๆแล้ว
  • โดยเริ่มตั้งอายุ ข1-2 ปีแรก
  • แต่ความจริงเขาได้เน้นในแม่ตั้งแต่ยังไม่คลอด
  • ให้อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง
  • ในโครงการโรงเรียนพ่อแม่

  ถือโอกาสส่งเข้านอนเลยจ้า

สวัสดียามดึกค่ะ

เจ้าของบ้านหลับหรือยังเอ่ย...

 

พี่สาว   แจ้งกรุ๊ปเลือดหรือยังคะ

 

ผลการสำรวจกรุ๊ปเลือดชาวบล็อก ...กรุ๊ป A

 

เป็นข่าวดีค่ะคุณ มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

โครงการหนังสือเร่มแรก Bookstart มาต่อยอดที่โรงเรียนพ่อแม่ เริ่มใช้กับเด็กๆแล้วโดยเริ่มตั้งอายุ  1-2 ปีแรก

จริงๆแล้ว ทราบข่าวมาว่า โครงการหนังสือเล่มแรกด้เริ่มเริ่มดำเนินการในประเทศไทย มาระยะหนึ่งแล้ว แต่อาจจะยังไม่แพร่หลายมากนักค่ะ
เป็นโครงการที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการอ่านของคนไทยให้สูงขึ้น โดยเริ่มต้นที่เด็กวัย 6-12 เดือน   ด้วยการส่งเสริมให้พ่อแม่ลูกมีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสือ
เพื่อสร้างพื้นฐานการอ่านและสานสัมพันธ์ในครอบครัว ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยนิสัยรักการอ่าน  โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรของรัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรท้องถิ่นในการรณรงค์โครงการ

โครงการนำร่องในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2546 ในรูปแบบงานวิจัย ระยะเวลา 1 ปี โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพื้นที่

แต่ ณ ปัจจุบัน คงต่อยอดไปอีกมากแล้วนะคะ ดีจัง

สวัสดีค่ะคุณครูคิม 53
ดีจัง ค่ะ ที่มีเด็กๆเข้ามาอ่าน และช่วยกันคิดหาคำตอบ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ จะมีความคิดดีๆมากแล้วค่ะ เด็กๆเขาอยากอ่าน แต่ไม่ค่อยมีเวลา และไม่ค่อยมีหนังสือดีๆเพียงพอด้วย

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจ การอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2551 โดยเก็บรวบรวม ข้อมูลในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน พ.ศ. 2551
จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 53,000 ครัวเรือน การสำรวจที่ผ่านมาสำรวจเฉพาะการอ่านหนังสือของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
แต่ การสำรวจ  ครั้งนี้ได้เพิ่มเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก (ผู้ที่มี อายุต่ำกว่า 6 ปี) และการอ่านหนังสือพิมพ์ของประชากร อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปด้วย


การอ่านหนังสือของเด็กเล็ก
การ อ่านหนังสือของเด็กเล็ก ในที่นี้หมายถึงการอ่านหนังสือในช่วงนอกเวลาเรียน ซึ่งเด็กเล็กอ่านด้วยตัวเอง รวมทั้งการที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง ด้วยวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือ

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือ

พบว่า วิธีการรณรงค์ที่ได้รับการเสนอแนะมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ
1.หนังสือควรมีราคาถูกลง ร้อยละ28.7
2.หนังสือควรมีเนื้อหาสาระน่าสนใจร้อยละ 22.0
3.ควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้านหรือชุมชนร้อยละ 19.8

เขาสำรวจ  เวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/ นอกเวลาทำงาน
สำหรับผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมด   ใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 39 นาทีต่อวัน

โดยกลุ่ม เยาวชนใช้เวลาอ่านหนังสือฯ เฉลี่ย 46 นาทีต่อวัน มากกว่ากลุ่มวัยอื่นที่ใช้เวลาอ่านหนังสือฯ ใกล้เคียงกันคือ ประมาณ 37-39 นาที ต่อวัน
มีรายละเอียนด ที่นี่ค่ะ

กรณี ที่มีการพูดกันมากว่า ห้องสมุดมีน้อย และยังมีหนังสือน้อยอีก ก็คงจะเป็นปัญหาจริงๆ เพราะถ้าเด็กๆมีหนังสือ ให้เลือกอ่านน้อย ความชอบในการอ่านก็ลดน้อยไปด้วยค่ะ อีกปัญหาหนึ่ง คือ ความสามารถในการอ่านของเด็กเองย่อมสุดแต่วิจารณญาณและพื้นฐานของผู้อ่านด้วย    บางคนอาจอ่านผ่านๆไป  โดยไม่สนใจ  แต่บางคนอาจมองลึกลงไปเห็นคุณค่าของหนังสือนั้นเป็นอย่างยิ่ง  คุณค่าทางสติปัญญา จึงมิใช่ขึ้นอยู่กับหนังสือเท่านั้น   หากขึ้นอยู่กับผู้อ่านด้วย


นอกจากนี้ คือ เด็กไม่มีเวลาอ่านเพราะต้องช่วยงานบ้าน
ซึ่งก็เป็นสาเหตุมาจากเรื่องเศรษฐกิจค่ะ พอครอบครัว มีปัญหานี้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ไม่มีเวลา ที่จะมาเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็กได้ เพราะมัวไปยุ่งกับงานการค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ °o.O ปลายฟ้า O.o°

ขอบคุณค่ะที่มาเตือนเรื่องกรุ๊บเลือด ไม่ลืมค่ะ ไม่ลืม....
มีข่าวดีๆมาบอกค่ะ....องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เปิดตัวห้องสมุดดิจิทัลให้คนทั่วโลกเข้าใช้ได้ในวันที่ 21 เมษายน 2552 นี้
เว็บไซต์ห้องสมุดแห่งนี้ พัฒนาโดยหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน เปิดโอกาสให้เข้าถึงสื่อหายากได้ฟรี เช่น หนังสือหายาก แผนที่ ต้นฉบับตัวเขียน ภาพยนตร์ และรูปภาพจากทั่วโลก ให้บริการถึง 7 ภาษา ได้แก่ อาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส รัสเซีย และ สเปน

และ....A digital library, free to the world and free to all
Brewster Kahle and the people at The Internet Archive    (http://archive.org) have an ambitious dream: to make an archive of all human knowledge and to make the archive available to everyone on the globe.

จะเห็นได้ว่า  การอ่านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาแต่เป็นโบราณกาล  และจะต้องมีสืบทอดต่อไป หากมนุษย์ ไม่มีนิสัยในการอ่าน วัฒนธรรมคงสูญสิ้นไปนานแล้ว   วัฒนธรรมต่างๆ เช่น ภาษา การเมือง การประกอบอาชีพ การศึกษา กฎหมาย ฯลฯ เหล่านี้อาศัยหนังสือและการอ่านเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เจริญขึ้นทั้งนั้น  หนังสือและผู้อ่าน จึงอาศัยกันและกันเป็นเครื่องสืบทอดวัฒนธรรมของมนุษย์ตลอดมาจนทุกวันนี้

สวัสดีตอนเช้าที่สดใสค่ะ

...^__^...

มาอ่านคำตอบพร้อมเพิ่มพูนอาหารสมองค่ะ...

มาชวนพี่ทานอาหารสุขภาพ  ข้าวยำสมุมไพร ที่มีทั้งผักปลอดสารเคมีและดอกไม้ต่าง ๆ น้ำยำปรุงจาก น้ำตาลอ้อยและเต้าเจี้ยวเคี่ยวค่ะ

น้องชอบอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ... ที่สวยงามด้วยสีสัน เพราะอาหารไม่ใช่ให้เพียงคุณค่าแก่ร่างกายเท่านั้น ยังต้องให้คุณค่าแก่ "จิตใจ" ด้วยค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะน้องคนไม่มีราก

พี่ชอบข้าวยำสมุนไพรมาก ทั้งอร่อย สีสันสวยงาม และมีประโยชน์มากๆนะคะ
เรื่อง อาหารนี่ มีหลายคนที่รู้จัก แพ้อาหารบางชนิดค่ะ แต่มักเป็นพวกอาหารทะเล นม และช็อกโกแลตเป็นต้น   พี่เอง ไม่ค่อยแพ้อาหาร แต่จะแพ้พวกแอลกอฮอล ดังนั้นพวกไวน์ หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล พี่จะไม่ทานค่ะ

พี่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง  จึงแพ้อาหารที่มีแอลกอฮอลผสม  ไปค้นอ่านมา ได้ความอย่างนี้ค่ะ เลยเอามาฝาก  เป็นบทความสั้นๆจาก Harvard Medical School

A food allergy is an immune system response to a food that the body mistakenly believes is harmful.
Once the immune system decides that a particular food is harmful, it creates specific antibodies to it. The next time the individual eats that food, the immune system releases massive amounts of chemicals, including histamine, to protect the body. These chemicals trigger a cascade of allergic symptoms that can affect the respiratory system, gastrointestinal tract, skin, and/or cardiovascular system.
Scientists estimate that more than 12 million Americans have food allergies. That's one in 25, or 4 percent of the population
The incidence of food allergy is highest in young children - one in 17 among those under age 3.
About 3 million children in the U.S. have food allergies.
Food allergy is believed to be the leading cause of anaphylaxis (ภาวะภูมิแพ้ที่ไวต่อโปรตีน )outside the hospital setting, causing an estimated 50,000 emergency department visits each year in the U.S.
ที่ เล่าเรื่องนี้มา ไม่มีอะไรหรอกค่ะ จะโยงว่า นี่คือ ผลดีจาการ อ่าน ค่ะ ทำให้เรามีความรู้ขึ้นมากมายเลยค่ะ อิๆๆๆๆ (ยิ้มๆ) พยายามจะให้เข้ากับหัวข้อเรื่องของบันทึกนีค่ะ    และจะเป็นข้อเตือนใจ ให้เราเลี่ยงอาหารที่มีเคมีสังเคราะห์ผสมลงไป ให้มากที่สุดด้วยนะคะ

  • ดิฉันชอบอ่านหนังสือมากค่ะ ....
  • สมัยเด็กๆ ที่บ้านค้าขาย ... ตอนนั้นมักจะห่อของด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารเก่าๆ ยังไม่ได้ใช้ถุงพลาสติกเยอะเหมือนในปัจจุบัน  ... คุณแม่จะรับซื้อหนังสือพิมพ์เก่า หรือนิตยสารเก่าๆ เพื่อมาใช้ห่อของ ...
  • แต่ทุกเล่มต้องผ่านตาดิฉันเสมอในการเลือกเล่มที่สนใจเก็บไว้อ่านก่อนนำไปใช้งาน
  • ปัจจุบันชอบซื้อ ... อ่าน ... ให้คนอื่นยืมอ่าน ... และเก็บอย่างดี ... ค่ะ   แต่สายตาไม่ค่อยดีนัก .. อ่านไม่ได้นานเหมือนเมื่อก่อนค่ะ
  • ขอบคุณข้อมูลดีๆ ของคุณศศินันท์ และสาระดีๆ จากความเห็นทุกๆ ความเห็นค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ Bright Lily 64

ดีใจจริง ที่เข้ามาอ่าน ไม่ได้ทักทายกันนานพอสมควรนะคะ
สมัยพี่เด็กๆ ก็เหมือนกันค่ะ คนขายจะห่อของด้วยหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีพลาสติก บางที ถุงกล้วยแขกที่ซื้อมา มีอะไรดีๆ ให้อ่านเยอะเหมือนกัน พี่ก็ชอบอ่านค่ะ  พูดถึงเรื่องนี้ คงจำกันได้นะคะ
  วันที่ 2 เมษายน 2552 เมื่อเวลา 16.00 น. ที่วัดสวนแก้ว ต.บางเลน อ.บางใหญ่ นนทบุรี พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ทำพิธีเปิด อนุสาวรีย์โฉนดถุงกล้วยแขก โดยมี นายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว มาร่วมงานและเล่นดนตรีในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชนพอประมาณมาร่วมงานด้วย

ในเรื่องของการอ่านของเด็กเล็กๆ ต้องมีการสอนอย่างถูกวิธี เด็กจึงจะอ่านได้เร็วและถูกต้อง Learning to read is not a natural process--it requires systematic and well informed instruction.

ส่วนเด็กที่มีปัญหาการอ่าน เช่น อ่านแล้ว ยังไม่เข้าใจที่อ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเพราะ เด็กใช้เวลามากไป ในการอ่านคำ แต่ใช้เวลาน้อยไป ในการจำ และการทำความเข้าใจ ในสิ่งที่อ่านค่ะ เคยพบคนบางคน ที่มีลักษณะนี้ค่ะ คือ อ่านช้า และไม่ค่อยเข้าใจ ในสิ่งที่อ่าน

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

ขอบคุณบทความเรื่อง ที่พี่นำมาฝากค่ะ

คนไม่มีรากแพ้แอลกอฮอล์ทุกชนิดเช่นกันค่ะ จะมีผื่นทั้งตัว คลื่นไส้ และจะถ่ายท้องทันทีค่ะ...

ความจริง อาการแพ้ ก็คือ กลไกที่ร่างกายช่วยป้องก้นเราไว้จากสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับเรานั่นเอง...

ตอนนี้น้องกำลังสนใจเรื่อง Fructose malabsorption   เนื่องจากในผักผลไม้มักมี น้ำตาลฟรุกโตสจำนวนมาก  ดังนั้นพบว่าผู้ที่ชอบทานผัก ผลไม้บางคนมีอาการไม่พึงประสงค์จากปริมาณฟรุกโตสในผลไม้ เช่น ท้องอืด เรอ มีลมในลำไส้มาก ... ซึ่งคงต้องระวังไว้บ้าง แต่การวิจัยในเมืองไทยยังพบน้อยมาก ๆ ค่ะ 

(^___^)

ขอบคุณพี่ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ KRUPOM 65

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมค่ะ

เรื่องเด็กบางคนที่มีปัญหาใน การอ่าน อาจจะยังมีอยู่บ้าง แต่ปัจจุบัน การสอนก้าวหน้ามาก ปัญหานี้จึงน้อยลงๆ
ที่เด็กมีปัญหาเรื่องการอ่านเพราะ โรงเรียนนั้นๆ ที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กใช้ ภาษาพูดมากๆ หรือ บางทีเด็กมีปัญหาการได้ยิน
สิ่งที่ผู้ปกครองจะช่วยได้มากๆคือ การต้องพูด และอ่านหนังสือ ให้เด็กฟังบ่อยๆ ทุกวันๆ
บางที มีความเชื่อกันว่า เด็กวัยเตาะแตะ หรือ ก่อนอนุบาล  ถ้าให้มีการหัดพูดได้มากกว่า 1 ภาษา  และให้มีชั่งโมงการเรียนการอ่าน การร้องเพลง ที่สนุกสนานมากหน่อย  จะช่วยมาก
และพ่อแม่ ต้องให้ลูกๆ รู้สึกว่า ช่วงเวลาการอ่านหนังสือกับพ่อแม่นั้น เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์ ขอบพระคุณที่ไปแวะเยี่ยมเสมอๆค่ะ เรื่องนี้พอดีกับมีผู้อ่านไปถามถึงว่าคนญี่ปุ่นเขาปลูกฝังเด็กอย่างไร เด็กจึงรักการอ่าน เลยมีคำตอบแม้ไม่ได้จำเพาะว่าเป็นชาติใด

นุชคิดว่าประเทศที่เขาส่งเสริมการอ่านแล้วเขายังส่งเสริมการลงมือปฏิบัติ อ่านแล้วไปพบไปสัมผัสของจริง ทำให้เชื่อมโยงตัวหนังสือกับชีวิตได้ จึงสนุกในการเรียนรู้นะคะ

คุณพี่พูดถึงถุงกล้วยแขก ใช่เลยค่ะตอนนุชเป็นเด็กแกะถุงกล้วยแขกอ่านเป็นประจำ

สวัสดีค่ะน้อง คนไม่มีราก  67

เรื่องน้ำตาลนี้ มีอยู่หลายชนิด และระดับความหวานก็ไม่เท่ากัน ถ้าระดับความหวานของน้ำตาลซูโครส เป็น 100 น้ำตาลฟรุกโตส จะเป็น 170 เรื่องนี้ พี่ก็ไม่ทราบในรายละเอียด และไม่เคยมีปัญหาเรื่อง digestive disorder เพราะน้ำตาลค่ะ แต่เคยเห็นคนอื่นเป็นเหมือนกัน คงต้องดูที่ชนิดอาหารด้วยนะคะ เช่น..
แอปเปิ้ล มี ฟรุกโตส 6.04 / องุ่น 5.33 / สตรอเบอรี่ 2.40 /แครอท 0.85 / หอมหัวใหญ่ 1.09 /น้ำผึ้ง 34-41 เปอร์เซ็นต์

มีรายงานนี้มาฝากค่ะ......Dietary fructose induces abdominal symptoms in patients with fructose malabsorption, but there are no published guidelines on its dietary management.

และที่นี่ค่ะ...Abstract:
Summary: Fructose is found widely in the diet as a free hexose, as the disaccharide, sucrose and in a polymerized form (fructans). Free fructose has limited absorption in the small intestine, with up to one half of the population unable to completely absorb a load of 25 g. Average daily intake of fructose varies from 11 to 54 g around the world. Fructans are not hydrolysed or absorbed in the small intestine.

Absorption capacity of fructose in healthy adults. Comparison with sucrose and its constituent monosaccharides.

Fructose absorption was quantified with lactulose standards. Significant hydrogen production (greater than or equal to 20 ppm rise of breath hydrogen) was found after challenge with 10% solutions of 50, 37.5, 25, 20, and 15 g fructose in eight, seven, five, four and one subjects, respectively. ถ้าพบอีก  จะมาเติมให้อีกนะคะ ยังอ่านไม่พบค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • มาติดตามอ่านเพื่อหาโจทย์ไปให้เด้กช่วยกันคิดค่ะ
  • ขออภัยคะ..เด็ก ๆไม่ได้เข้ามาอ่านบันทึกนี้หรอกค่ะ..ครูคิมได้นำโจทย์จากบันทึกนี้ไปให้เด็กช่วยกันคิดค่ะ
  • ขอขอบพระคุณกับการได้อ่านข้อคิดเห็นของสมาชิกค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ คุณนายดอกเตอร์ 69

ยินดีมากค่ะ ที่อาจารย์เข้ามาเยี่ยม เห็นว่าชีพจรลงเท้ามากเลยนะคะ และยังมีงานวิชาการอีก ไม่ค่อยจะว่าง
เรื่องการอ่าน ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆ โดยประสบการณ์ของพี่คือ....

ให้มีการพูดคุยกับเด็กมากๆ  หลังจากอ่านนิทานแล้ว  ก็ถามกลับหรือให้เด็กเล่าว่า เมื่อกี้ เราอ่านเรื่องอะไรกัน เขาชอบอะไร ตรงไหน และทำไม มันถึงเป็นแบบนี้ คือถามกลับแบบง่ายๆ สนุกๆ....  who, what, where, why, when and how โดยพี่จะ พูดถึงความคิดของพี่ดังๆด้วยว่า เราคิดอย่างไร และแลกเปลี่ยนกับเขา ให้เกิดการโต้ตอบขึ้น อย่างไม่ซับซ้อน
และช่วงเวลาการเล่านิทาน ควรเป็น ช่วงเวลาที่เงียบๆด้วย ไม่มีเสียงเอะอะอึกทึกค่ะ
อยากให้เขามีสมาธิด้วย เพราะ การที่เด็กอ่านตัวหนังสือออก ก็ยังไม่ได้หมายความว่า เขาจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด
ถ้าได้พาออกไปเห็นของจริงๆ ก็จะสนุก และข้าใจมากขึ้น อย่างที่อาจารย์บอกค่ะ


สวัสดีค่ะคุณ ครูคิม 71

ตอนเด็กยังเป็นเด็กเล็กๆ  คุณครูสอนให้รู้จัก basic reading skills  แต่พอโตขึ้น เด็กโตต้องอ่านคล่อง และรู้ความหมาย ของเรื่องที่อ่านเป็นอย่างดี จนสามารถจะ หยิบยกหัวข้อบางหัวข้อมาสนทนาต่อยอด  หรือวิเคราะห์ต่อได้

การจะเด็กๆระดับนักเรียนมัธยม
  รักการอ่าน  ตามประสบการณ์ของพี่แล้ว

1.คงต้องพยายามให้นักเรียนได้มีโอกาสอ่านทุกวัน  ไม่เว้นแม้แตช่วงหยุดเทอม  ยิ่งอ่านมาก หลากหลาย ยิ่งจะชอบอ่านค่ะ ไม่ว่าหนังสือวิชาการ สารคดี หรือหนังสือนิยาย
สมัย พี่เป็นเด็ก อ่านมากเสียจนโดนดุว่า อ่านมากเกินไป อ่านทุกอย่างค่ะ นิยายสืบสวน นิยายเพ้อฝัน  นิยายอิงวิทยาศสาตร์ก็อ่านค่ะ ส่วนเวลาเรียน ก็อ่านหนังสือเรียน
2. ให้เด็กจัดห้อง จัดวางหนังสือ ให้เป็นระเบียบ น่าอ่าน ไม่ใช่วางจนรกไปหมด ก็ไม่มีอารมณ์อยากอ่าน
3.ช่วงวัยนี้ เด็กต้องอ่านเข้าใจในเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี เพราะผ่านวัย ฝึกฝนการอ่านเริ่มต้นมาแล้ว
4.บางที เด็กๆอ่านๆไปแล้ว ติดตรงคำศัพท์  หรือ มีบางส่วนไม่เข้าใจ ก็ให้ผ่านไปก่อน อ่านต่อไป เพื่อให้รู้ Concept ของเรื่อง แล้วจึงหันกลับมา อ่านตรงที่ติดไว้อีกที แล้วจะเข้าใจหมด

5.Good writers are good readers...บางคนอยากเป็นนักเขียน เมื่อโตขึ้น แต่จะเป็นไม่ได้ ถ้า ไม่ได้เป็นนักอ่านที่ดี
ดังนั้น การรู้ไวยากรณ์ การเรียนรู้ศัพท์ การสะกดให้ถูกต้อง  เป็นสิ่งจำเป็น  เมื่ออ่านเก่ง  ก็จะเขียนได้เก่งขึ้น

สวัสดีค่ะSasinand

***"ถ้าชาติใด เมืองใด ให้ความสำคัญกับการอ่าน ชาตินั้น เมืองนั้น จะมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม"

***การสร้างนิสัยรักการอ่านเป้นพื้นฐานของการสร้างชาติ

***ชอบบันทึกนี้มากค่ะ ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะคุณ กิติยา เตชะวรรณวุฒิ 74

ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ
เด็กๆพอโตขึ้น จนขึ้นมัธยม 4-6 แล้ว ตอนนี้เขาจะได้ใช้ วิชาการอ่าน ที่ฝึกมาจนชำนาญได้อย่างเต็มที่เลยค่ะ
วัย นี้ มักจะได้รับการบ้านจากอาจารย์ให้ไปอ่านหนังสือมาล่วงหน้า ก่อนที่จะมาเข้าชั้นเรียน และเขาอาจต้องมีหน้าที่ลุกขึ้นสรุปพร้อมวิเคราะห์ให้อาจารย์ฟังด้วยนะคะ
นอกจากนี้ การเข้าชั้นเรียน นักเรียนต้องฝึกฝนในด้าน Take  good notes ซึ่งนักเรียนจะต้องเข้าใจในเนื้อหา ที่อาจารย์สอน แล้วมาจัดเรียงลำดับใหม่ ทำบทคัดย่อสำหรับตัวเองด้วย นี่เป็น key  skill  ที่เด็กโตจะต้องมีตลอดไปจนจบการศึกษา

จริงๆ สิ่งเหล่านี้ ผู้ปกครองก็ช่วยได้อีก โดยนั่งลงด้วยกัน และให้ลูกเล่าให้ฟังว่า อะไรคือใจความของเรื่องนี้ ให้ลูกจดโน๊ตย่อๆไว้เลย  เพราะเรื่องการย่อความนี้สำคัญมากในการเรียนชั้นสูงๆต่อไป
"note-making" = making meaning from information.

Effective notetaking is an important skill that many college students have not mastered.
บันทึกนี้ เริ่มจาก การอ่าน ที่ต้องฝึกฝนสำหรับเด็กๆเล็กๆ จนมาถึงระดับเด็กโตแล้วค่ะ เป็นการพัฒนาการมาอย่างเป็นขั้น เป็นตอน ที่ต้องการๆฝึกฝนจริงๆ


สวัสดีค่ะ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการอ่านด้วยค่ะ เห็นด้วยค่ะว่าการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อนาคตเด็กสดใส ไม่ใช่เกิดจากพันธุกรรมหรือพรสวรรค์ เป็นพรแสวงที่ผู้ใหญ่ควรถือเป็นหน้าที่ ดาวลูกไก่และพี่น้องอาจได้รับการปลูกฝังมาตามแบบฉบับ แต่การถ่ายทอดลงถึงลูกๆ ก็ยอมรับว่าให้ได้ไม่เท่าที่เคยได้รับ ไม่อยากโทษปัจจัยแวดล้อมปัจจุบันที่มีทั้งอินเทอร์เน็ต เกม สิ่งล่อลวงให้เด็กหลงทางจนเกิดข่าวหน้าหนึ่งบ่อยมาก(ข่าวล่าสุดเด็กกระโดดตึกเพราะเรื่องเกมใช่ไหมคะ แล้วสื่อก็ออกมาพาดพิงการอบรมเลี้ยงดู) โทษตัวเองถูกต้องที่สุดนะคะ

พี่สาวเป็นนักอ่านนักเล่าเรื่องจนลูกชายได้จินตนาการ สร้างงานเกี่ยวกับการเขียนจนได้รางวัลด้านการประกวดหนังสือ สำหรับลูกสาวของดาวลูกไก่ ในด้านการปลูกฝัง คงเหมือนพ่อแม่ธรรมดาทั่วไปที่จะเลือกหาหนังสือที่เหมาะกับวัยของเค้ามาเรื่อยๆ และเลือกจะใช้เวลาระหว่างการทำหน้าที่แม่ที่ดี รับส่งลูกเรียนพิเศษ ด้วยการมีหนังสือติดมือให้เค้าเห็นเป็นความเคยชิน เมื่อเค้าเริ่มอยากอ่านเอง ก็ยอมให้เค้าเป็นคนเลือก แต่เรากลั่นกรอง หนังสือการ์ตูนขายหัวเราะเล่มละ 12 บาท เป็นหนังสือที่สร้างนักอ่านตัวเล็กๆ ให้เขยิบขึ้นไปอ่านวรรณกรรมเยาวชนมากมาย หลายคนดูถูกหนังสือประเภทขำขัน ขายหัวเราะมหาสนุก ทำให้พลาดโอกาสการเรียนรู้จากการสร้างประสบการณ์อ่านของเด็กไปอย่างน่าเสียดายนะคะ (ลูกอ่านสามปีเต็ม ตั้งแต่ประถมสาม หนังสือออกเดือนละสองเล่ม มีสองสามชื่อที่ลูกเลือกอ่าน อย่างเช่น หนูหิ่น ปังปอนด์ ไอ้ตัวเล็กที่เหมาะกับเยาวชนคือไม่มีภาพหวือหวา)

ถึงแม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมแย่งเวลารักการอ่านของเด็กสมัยใหม่ไปให้เกมออนไลน์ หรือการแชท การเขียนไดอารี่ ฯลฯ ก็ตาม แต่อินเทอร์เน็ตก็ยังมีด้านดีที่ทำให้คนเราเข้าถึงสื่อความรู้ด้านสิ่งตีพิมพ์มหาศาลที่พัฒนาเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการรู้สำหรับครอบครัวที่มีแนวทางพัฒนาบุตรหลานแบบต่างขั้ว ให้ถ่างกว้างมากขึ้นๆ ได้ด้วย ครอบครัวไหนทำงานในแวดวงการศึกษาถือว่าโชคดีที่วิ่งตามวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศทัน(แม้กระนั้นก็ยังหอบแฮกค่ะ)

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับเด็กมีเยอะมากในฐานข้อมูลของบริษัทที่ผลิตซึ่งส่วนมากเป็นรายการแถมให้อ่านฟรีๆ (เพราะ e-Books วิชาการมีราคาแพง ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วโลกบอกรับมูลค่ามหาศาล คงจะคุ้มกับการลงทุนจนเกินพอแล้ว จึงคืนกำไรให้สังคมนะคะ) สำคัญว่าพ่อแม่ผู้ปลูกฝังความรักการอ่านให้เด็กของตัวเองจะเห็นประโยชน์ตรงนี้ไหมนะคะ

Net06 

ภาพนี้เป็นตัวอย่างหนังสือในฐานข้อมูลหนึ่งซึ่งหลายมหาวิทยาลัยบอกรับค่ะ (สังเกตสัญลักษณ์ PULINET และตรามหาวิทยาลัย แปลว่าอ่านได้ ลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกเพื่อยืมอ่าน จองอ่าน กลับมาอ่านอีกเมื่อไรก็ได้ บุคลากรสังกัดมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคสืบค้นอ่านได้ภายใต้เงื่อนไขการใช้งานและ IP Address ค่ะ)

ตอนนี้ดีใจที่ลูกสาวเริ่มเปรยว่าจะอ่านวรรณกรรมต้นแบบชุดที่กำลังเป็นที่กล่าวขานในวัยรุ่นรักการอ่าน ชุด TWILIGHTผลงานเขียนของ Stephenie Meyer (สเตเฟนี เมเยอร์) ก็ดีใจค่ะที่เห็นความพยายามตั้งใจ เหตุผลคงเป็นเพราะเด็กกรุงเทพฯ ส่วนมากจะอ่านวรรณกรรมต้นฉบับมากกว่าที่มีการแปลมา เชื่อว่านี่เป็นข้อดีจากโลกการสื่อสารในระบบออนไลน์ของวัยรุ่นที่สื่อถึงกันนะคะ (และเห็นความคิดที่จะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของตัวเองกับเพื่อนกลุ่มใหม่ในอนาคต)

ขอบคุณค่ะที่ได้ให้ร่วมแบ่งปัน รู้สึกยังมีอีกหลายเรื่องเลยค่ะที่อยากพูดถึงเรื่องนี้ (จะโดนแซวว่าน่าเปิดบันทึกหนึ่งบันทึกไหมคะ)

สวัสดีครับพี่ศศินันท์

(ผม)หายไปนาน กลับมาก็แวะมาอ่านบันทึกของคุณพี่ พอดีว่ากำลังทำงานเกี่ยวกับ 21st century skills and literacy เห็นว่าเกี่ยวข้องกับหัวข้อบันทึกนี้เลยอยากเอามาแลกเปลี่ยนกัน

อย่างที่รู้กันว่าในอเมริกานั้นมีทักษะสำคัญสามประการที่เขาผลักดันกันมากในการเรียนการสอน K-12 คือ 3R ซึ่งหมายถึง reading, ’riting (writing), and ’rithmetic (arithmetic) ปัจจุบันนี้เขาว่ามันไม่พอกับตลาดงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคน technology & information literacy กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญ

นักวิจัยและนักวิชาการหลายๆ คนออกมาอ้างกันว่าผู้ใหญ่ต้องเข้าใจเด็กสมัยนี้ว่าไม่ได้บริโภคสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียว และสื่ออื่นๆ ที่มาทางอินเตอร์เน็ตนั้นมีบทบาทมากขึ้นๆ ทุกที อย่าง social networking ที่เราใช้กัน (gotoknow ก็ใช่) นั้นมีอัตราการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นในช่วงปีที่ผ่านมา

ความฝันอันสูงสุดของนักวิชาการคือเด็กสมัยนี้ต้องมีความสามารถในการบริโภคสื่อเหล่านี้และสื่อสารผ่านสื่อเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกจริยธรรม สื่อเหล่านี้เขาเรียกรวมๆ กันว่า transmedia ครับ ในปี 2012 ทางอเมริกาจะบรรจุ technological literacy เข้าเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบวันความรู้ระดับชาติ

แน่นอนครับว่าแนวความคิดนี้กระทบถึงวิธีการจัดการเรียนการสอนลงไปถึงระดับราก การเปลี่ยนวิธีการสอนการประเมิณนั้นจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ จะให้เด็กมาสอบ multiple choice แบบเดิมนั้นคงไม่สามารถวัดทักษะอะไรได้มาก แต่ก็มีการพยายามกันอย่างมากในเวลานี้

พิมพ์จนเหมื่อยเลย ไว้เดี๋ยวหายเหมื่อยกลับมาพิมพ์ต่อนะครับ

สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ

  • อ่านบันทึกนี้ชอบค่ะ
  • ทำให้อยากอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นค่ะ
  • ปกติหลาน ๆ จะชอบอ่านหนังสือมาก
  • เป็นหนังสือการ์ตูนบ้าง
  • หรือเรื่องสั้นเกี่ยวกับเด็ก ๆ
  • หลานสาวอยู่ป.4 ชอบอ่านหนังสือเรื่องราวของหนูหิ่นค่ะ
  • ซื้อทุกเดือนทุกเล่มจะต้องเป็นเจ้าของค่ะ
  • หลานชอบให้พาไปร้านหนังสือค่ะ
  • มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลานชายอยู่ ป. 3  พาไปร้านหนังสือแถว ๆ จังหวัดนครปฐม เป็นร้านหนังสือเก่าแก่มีหลายชั้นค่ะ
  • หลานชายดีใจมาก วิ่งไปมาแล้วบอกว่าหนังสือแยะมาก
  • เดินเปิดอ่านอยู่นานมาก จนป้าต้องบอกเลือกได้แล้วจะซื้อเล่มไหน
  • แต่หลานชายถามว่า ป้าจะให้ซื้อได้กี่เล่มค่ะ
  • มีความภูมิใจที่หลาน ๆ ทุกคนชอบอ่านหนังสือ
  • แล้วก็เห็นด้วยกับพี่น่ะค่ะ ให้ส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือ
  • หนังสือที่เขาชอบค่ะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติค่ะ และให้ กศน.ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ  การอ่านเป็นหัวใจสำคัญและกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ค่ะ

ขอบคุณบันทึกที่อ่านแล้วมีความสุขน่ะค่ะ

 

ก๋ารฟังฟังเพื่อหื้อ        ฮู้หลาย
ก๋ารอ่านอ่านมากมาย   ใฝ่ฮู้
ก๋ารเขียนสื่อเป็นลาย    ลักษณ์เพื่อ อ่านนา
ฟังอ่านเพื่อเขียนอู้       อื่นผู้อ่านฟัง.

สวัสดีคะ

เข้ามาอ่านด้วยความตื่นเต้นที่ได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้นคะ

ต่อไปนี้คงต้องฝึกการอ่านให้ลุกหลานและตัวเองมากๆๆคะ

ขอบคุณมากคะ

สวัสดีค่ะดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี 76
ความเห็นของคุณดาวลูกไก่ น่าเปิดเป็นอีกหนึ่งบันทึกหนึ่งจริงๆค่ะ
อ่านเพลินดีจริงๆค่ะ อ่านสนุกมากๆ คนเราพอเขียนถึงเรื่องที่เป็นเรื่องของเรา หรือ ประสบการณ์จริงของเรานี่ มันเป็นธรรมชาติดีนะคะ
นึกถึงคุณพ่อพี่ค่ะ ที่เป็นนักอ่าน และนักเขียนด้วยค่ะ ซึ่งก็เนื่องมาจากการอ่านมากนั่นเอง พี่น่ะ ไม่ได้เศษเสี้ยวเลย
และที่เล่าว่า...พี่สาวเป็นนักอ่านนักเล่าเรื่องจนลูกชายได้จินตนาการ สร้างงานเกี่ยวกับการเขียนจนได้รางวัลด้านการประกวดหนังสือ ดีใจด้วยค่ะ...

เด็กเหมือนแท่งปริซึม ที่ไม่สามารถสร้างแสงแห่งความงาม ที่เกิดจากศักยภาพภายในของมันให้เห็นได้ ถ้าไม่มีใครมาหยิบจับออกมาเล่นกับแสง
ความสามารถของเด็กที่มีอยู่ภายใน มีความงามแห่งการเรียนรู้ที่แตกต่างกันและรอเวลา รอโอกาสในการพัฒนาจาก พ่อแม่ ครูและสังคม


และ ถ้าลูกสาวอยากจะอ่านหนังสือเรื่อง TWILIGHT ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะเราจะได้อรรถรสมากกว่าฉบับแปลมากค่ะ สมัยพี่เรียนอักษาศาสตร์ พี่ก็อ่านมากจากฉบับภาษอังกฤษ  ดีกว่าอ่านฉบับแปล ไม่ใช่คนแปลๆไม่เก่ง แต่ภาษาแต่ละภาษา มันมีความลึกซึ้งของตัวเอง แปลยังไง  ก็ไม่ได้อรรถรสอย่างกับต้นฉบับ

การแปลหนังสือให้ดีนั้นต้องทำสองอย่างคือแปลให้ถูกเป็นอย่างแรก และแปลอย่างมีศิลปะเป็นอย่างที่สอง  และอย่างที่สองนี่แหละที่ไม่ง่ายเลย ไม่ใช่แค่รู้สองภาษาอย่างดีเท่านั้น  แต่ต้องดีถึงขนาดที่จับความหมายของ แต่ละคำ, วลี, ประโยค, สำนวน ฯลฯ ที่ได้น้ำหนักและนัยะของความหมายให้พอดีด้วย
และขอขอบคุณความรู้เรื่อง  ห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (Provincial University Library Network = PULINET) ด้วยค่ะ เพิ่งทราบนี่ละค่ะ
วันหลัง เปิดบันทึกใหม่เรื่องนี้แล้ว จะขอเข้าไปรับความรู้ด้วยค่ะ พี่ชอบค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ คุณแว้บ 77
ดีใจมากค่ะ ที่คุณแว้บมาเยี่ยม เห็นตั้งแต่เช้า แต่พอดีต้องออกจากบ้านไปทั้งวัน เลยเพิ่งจะมาตอบค่ะ ช้าไปหน่อยจริงๆ
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ  ที่คุณแว้บบอกว่า ...  3R ซึ่งหมายถึง reading, ’riting (writing), and ’rithmetic (arithmetic) ปัจจุบันนี้ ไม่พอกับตลาดงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว technology & information literacy กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญ
โลกเราตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก  คำว่า Globalization นี่เป็นเรื่องจริงที่เราเห็นๆกันอยู่ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างเช่น 
วิกฤติเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ก็เป็นผลจาก กระแส Globalization นี้เหมือนกัน

ขอออกนอกเรื่องนิดหนึ่งค่ะ....คือเรื่องนี้ค่ะ...
The First Disaster Of The Internet Age
หลังจากเหตุการณ์ dotcom bubble ปี 2000-2001 Greenspan ก็มองเห็นอนาคต ของผลที่จะเกิดกับวงการ finance ในเวลาอีกไม่นานเกินรอ
จริงๆแล้ว Internet มีประโยชน์กับโลกการเงินอย่างมากมายมหาศาล electronic trading เกิดขึ้นได้ ทุกแห่งในโลก ลดค่าใช้จ่ายด้านค่าธรรมเนียม จนเกือบเป็น 0
ในที่สุด นักลงทุน สามารถติดตาม การเคลื่อนไหว ของราคาหุ้น จากทุกมุมโลก ความสะดวกนี้มีมานาน สะสมเข้าๆ จนกระทั่ง เกิด สิ่งที่น่าจะเรียกว่าเป็น อุบัติเหตุ คือ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ที่เรากำลังเห็นๆอยู่ในขณะนี้ 

Internet กลายเป็น ตัวการหนึ่ง ที่ก่อให้เกิด credit crisis ครั้งนี้
Internet เป็นสิ่งที่เชื่อมต่อคนต่อคน และกลุ่มคน ต่อกลุ่มคนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เกิดสังคม with narrow affinities มีความชอบ รสนิยม ความคิด ความอ่าน คล้ายคลึงกัน คล้อยตามกันง่ายยิ่งขึ้น 
ประเด็น ของเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินนี้ คือ มีพวก Wall Street wiseguys ที่ใช้ข้อมูลต่างๆที่มีอยู่อย่างท่วมท้น รวมทั้งข้อมูลการเงิน ที่คนทั่วๆไป ไม่ค่อยทราบ เพราะเป็นศัพท์เฉพาะ ตัวย่อเฉพาะ รู้กันในหมู่นักการเงิน นักลงทุน 
คิดค้น หาวิธีการที่ยอกย้อน ซับซ้อน ให้เป็น complex derivatives มูลค่า trillions of dollars
(from credit default swaps to collateralized debt obligations to residential mortgage-backed securities, not to mention the corresponding three- and four-letter abbreviations. There's also data on current account deficits and yield spreads.) 
เล่นกันไป เล่นกันมา เหมือนเล่น videogames-with instant messages พากันเล่นกันทั่วโลก ใครไม่เล่น ก็จะดูเป็นว่า อยู่คนละพวก ละกลุ่ม ไม่ฉลาด และจะตกขบวนรถไฟแห่งความมั่งคั่ง จนเกิดเรื่องวิกฤติใหญ่ อย่างที่เป็นอยู่
Greenspan บอกว่า....Now, by contrast, we are in the midst of the first financial crisis of the mature Internet age-a crisis caused in large part by the tightly coupled technologies that now undergird the financial system and our society as a whole.

ตอนนี้ เราพูดกันถึงเรื่อง Digital Divide กันมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ที่เข้าถึง  information technologyกับคนที่เข้าไม่ถึง ในโลกนี้ มีคนแค่ประมาณ  276 ล้านคนจากพลเมืองโลกทั้งหมด 6พันล้านคน ซึ่งน้อยกว่า 5% ที่เข้าถึง  internet 
ดังนั้น ตั้งแต่การประชุม G-8 ที่ Okinawa จึงได้มีการกลงร่วมกันว่า จะต้องมีการช่วยเหลือให้คนได้มีโอกาสเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารจาก internet ให้มากขึ้น
พี่เห็นด้วยเลยค่ะว่า เด็กสมัยนี้ต้องมีความสามารถในการบริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูก จริยธรรม 
transmedia )
แต่ถ้า  ในปี 2012 ทางอเมริกาจะบรรจุ technological literacy เข้าเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบวันความรู้ระดับชาติ แล้วประเทศเรา จะบรรจุไว้ในหลักสูตรเมื่อไรคะอาจารย์...
อยากให้อาจารย์คุยให้ฟังด้วยค่ะ พี่ไม่ค่อยจะทราบเรื่องในวงการศึกษาเท่าใดค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ สุนันทา  78
อ่านความเห็นของคุณสุนันทาพลาง นึกภาพไปพลางที่บอกว่า  ภูมิใจที่หลาน ๆ ทุกคนชอบอ่านหนังสือค่ะ
เมื่อ 29 เม.ย. 2552   นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ว่า
ครั้งนี้เป็นการประชุมนัดแรก โดยมีเป้าหมายให้การส่งเสริมรักการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง
วันที่ 2 เม.ย.เป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี กำหนดให้เป็นวันส่งเสริมรักการอ่าน และผลการประชุมวันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ 3 ยุทธศาสตร์ คือ....
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ทำให้คนไทยทุกคนอ่านหนังสือแตก หรืออย่างน้อยที่สุดอ่านภาษาไทยแตก
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ต้องการสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน และยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสิ่งแวดล้อมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างแท้จริง

แม้แต่เรื่อง การอ่านอักษรเบรลล์  ก็มีการแข่งขันการอ่านแบบมาราธอน ชิงถ้วยรางวัลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๒ ณ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยค่ะ

นอกจากจะอ่านหนังสือได้แล้ว....ทักษะการอ่านก็สำคัญ
อ่านแล้วต้องเก็บใจความด้วยความเข้าใจได้    และยังต้องสามารถเอาประเด็นสาระสำคัญนั้นมาใช้ได้ด้วย ไม่ใช่อ่านแล้วพอถามอะไรไป ไม่รู้เรื่อง....อะไรก็นึกไม่ออก ประเทศที่อยู่ระดับต้นในทักษะของการอ่านมีอะไรบ้าง ฟินแลนด์ แคนาดา แล้วก็นิวซีแลนด์   จะเห็นได้ว่า  การอ่านมีผลต่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในชาตินั้นๆจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ KRUPOM  79
ขอบคุณที่ให้กำลังใจค่ะ เมื่อมีการฝึกฝนในเรื่องการอ่านเบื้องต้นแล้ว .......
ต่อไปคือ การอ่านเร็ว ซึ่งก็ต้องฝึกฝนอีกค่ะ คนเราพออ่านหนังสือได้เร็วขึ้น ก็จะมีความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน มากขึ้น ปกติ คนเราจะอ่านหนังสือได้ 200คำ ต่อนาที โดยมีความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน 60%
แต่ถ้าคนอ่านหนังสือเร็ว จะอ่านได้มากถึง 1000คำต่อนาที โดยมีความข้าใจ 85% ความเข้าใจมักจะไปตามระดับความเร็ว
เพราะสมองจะเห็นภาพรวมได้กว้างขึ้น การอ่านหนังสือ จบเล่มเร็วขึ้น ทำให้เหนื่อยน้อยลง และมีสมาธิในการอ่านมากขึ้นด้วย เทคนิคคือ ต้องเคลื่อนไหวสายตาให้เร็วขึ้น ระหว่างฝึกฝนพยายามมองตามความเร็วตัวอักษรที่ปรากฏขึ้นให้ทัน และจำให้ได้มากที่สุด พยายามระวังอย่าอ่านแบบออกเสียงในใจค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ ทนัน ภิวงศ์งาม 80
ดีใจที่เข้ามาอ่านค่ะ เรื่องการอ่านนี้ เป็นเรื่องสำคัญนะคะ
ดิฉันเคยรู้จักคนที่อ่านหนังสือค่อนข้างช้า สิ่งที่ตามมาคือ เรียนหนังสือไม่ดีนัก
ดิฉันเลยมาคิดว่า เป็นเพราะอะไรที่ทำให้เราอ่านหนังสือได้ช้า
สาเหตุหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะ เป็นการอ่านคำต่อคำ ทำให้อ่านได้ช้าลง และมีการเข้าใจผิดว่า การจะอ่านต่อไปได้ดี  ก็ต้องเข้าใจสิ่งที่อ่านผ่านมาแล้วอย่างเข้าใจถ่องแท้เท่านั้น
ซึ่งการอ่านให้เร็วขึ้น  ดิฉันคิดว่า  เราคงต้องกวาดตาไปอ่านเป็นกลุ่มคำ แล้วขยายการมองภาพให้กว้างขึ้น การจะอ่านให้เร็ว ต้องให้การอ่านลื่นไหลไปเหมือนสายน้ำนะคะ การอ่านแบบติดๆขัดๆ จะทำให้เราทำความเข้าใจกับสิ่งที่อ่านได้ยากขึ้น

สวัสดีค่ะคุณ  แม่ต้อย  81
ขอบคุณที่มาอ่านค่ะ
เราคุยกันเรื่องการอ่านให้เร็วต่อนะคะ
มีเพิ่มเติมจากประสบการณ์ว่า ถ้าเราอ่านออกเสียง เราจะอ่านได้ช้าลงค่ะ เพราะความคิด  จะไปเร็วกว่าการอ่านเสมอ  การอ่านออกเสียงจึงทำให้พื้นที่สมองเราเสียไปเปล่าๆค่ะ แทนที่จะไปทำความเข้าใจกับสิ่งที่อ่าน กลับไปคำนึงถึงการพูดแทน  และก็อย่าอ่านหนังสือใกล้เกินไป เพราะเราไม่สามารถกวาดสายตาไปให้ไกลได้มากนักค่ะ

แวะมาทักทายนะคะ

Take care

มีความสุขในทุกๆวัน นะคะ

สวัสดีครับ  มารับกระบวนการปลูกฝังสิ่งดีดีให้ หลานม่อน   ม่อนชอบเข้าร้าน หนังสือ  สนใจจิ๊กซอ ก-ฮ และ A-Z  สามารถต่อได้ด้วยครับ ขอบพระคุณที่มีแต่สิ่งดีดีงามมาฝากพวกเราเสมอ  ขอให้ท่านและครอบครัวพบแต่ความสุข ความเจริญ โชคดีครับ

 

สวัสดีค่ะคุณ KRUPOM 

วันนี้ วันอาทิตย์ ยังมีแก่ใจมาทักทายนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ
จริงๆแล้ว คนเราอาจไม่ต้อง จะต้องอ่านให้เร็วๆ ในทุกๆเรื่องก็ได้นะคะ
บางเรื่อง อ่านช้าๆ จะได้อรรถรสมากกว่า อ่านไป คิดไป ทำความเข้าใจกับทุกๆคำที่ผู้เขียนๆ โดยมากมักจะเป็นหนังสือพวก ปรัชญาและพวกวรรณกรรมต่างๆ และนอกจากนี้ ช่วงนี้คนเราก็ต้องการให้ชีวิตช้าลงด้วยค่ะ เพราะมีเรื่องให้เครียดเยอะแล้ว  เป้าหมายชีวิต ของคนเรา คือ  ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข มีความภูมิใจในตนเอง พอใจในชีวิตและมีความสงบทางใจนะคะ


สวัสดีค่ะ คุณ  @..สายธาร..@  89
ได้อ่าน เรื่อง
การรณรงค์ให้เด็กชาวอังกฤษอ่านหนังสือ น่าสนใจค่ะ

โครงการบุ๊กสตาร์ตเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2535 หลังจากพบว่าเด็กในประเทศอังกฤษอ่านหนังสือไม่ค่อยออก โดยมูลนิธิบุ๊กทรัสต์ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในเบอร์มิงแฮม ส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่วัยทารก โดยทำการทดลองครั้งแรก 300 ครอบครัว

ส่วนที่ญี่ปุ่นเริ่มเมื่อปี 2543 เริ่มได้ไม่นานแต่มีความจริงจังและขยายตัวเร็วกว่าอังกฤษ เพราะรัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องการอ่านมาก และมีองค์กรมารองรับ องค์กรพัฒนาท้องถิ่นก็เอาด้วย ระบบห้องสมุดก็ดี ฉะนั้นถุงหนังสือเล่มแรกจึงได้ผล ปีนั้นจึงกลายเป็นปีแห่งการอ่านของเด็กญี่ปุ่น และเริ่มมีการนำโครงการ 'Bookstart' มาใช้ส่งเสริมการอ่าน ปัจจุบันโครงการนี้กระจายสู่ชุมชนและท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางและ จริงจัง

ลการทดลอง พบว่า หลังจากนั้น 5 ปีเด็กๆ ในโครงการมีความสามารถในการอ่านและการคิดคำนวณสูงกว่าเด็กทั่วไปอย่างชัดเจน นอกจากนี้เด็กที่เข้าร่วมโครงการมีความสนใจการอ่านหนังสือสูงกว่าเด็กนอกโครงการถึง 3 เท่า หลังจากได้รับหนังสือเล่มแรกเป็นเวลา 2 ปี

สำหรับประเทศไทย มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก สโมสรไลออนส์และคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้ริเริ่มโครงการ "Bookstart Thailand" เปิดตัวโครงการไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2546 ที่ลานนิทานอ่านสนุก เทศกาลหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เ ช่นกันค่

สวัสดีค่ะ นายประจักษ์~natadee 90
หลาน ม่อนน่ารักจังค่ะ ดีแล้วค่ะที่หลานชอบเข้าร้าน หนังสือ  และสนใจจิ๊กซอ ก-ฮ และ A-Zด้วย เราต้องปลูกฝังให้เขารักการอ่านตั้งแต่เด็กๆเลยนะคะ
แม้แต่กรมอนามัยเอง  ก็รณรงค์เรื่องนี้มากค่ะ
เปิด เผยว่า  ปี 2550 เด็กไทยมีพัฒนาการผ่านเกณฑ์ทดสอบคุณภาพครอบครัวไทยน้อยลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แนะพ่อแม่ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการแก้ไข วอนดูแลเอาใจใส่ให้ลูกรักการอ่าน ควบคู่ไปกับทางด้านอาหาร

 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เคยร่วมจัดการประชุมโครงการหนังสือเล่มแรก และเสวนาเรื่อง หนังสือในการบำบัด ภายในงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 6 

นพ. โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถิติการทดสอบคุณภาพครอบครัวไทย ตั้งแต่ปี 2542-2550 พบว่า ปี 2542 เด็กไทยผ่านเกณฑ์มีประมาณ 72% ปี 2547 ผ่าน 71% แต่ปี 2550 เด็กไทยผ่านเพียง 67.7% เท่านั้น และทำให้เห็นได้ว่า เด็กไทยมีพัฒนาการแย่ หรือยิ่งโตยิ่งโง่ 
ซึ่ง วิธีการทดสอบคุณภาพครอบครัวไทย มี 4 วิธี ได้แก่ 1.ดูความสามารถในการพูด ตอนนี้เด็กไทย 78% ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 2.กล้ามเนื้อมัดใหญ่ หรือการเดิน คลาน 3.กล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการใช้มือ และ 4.ด้านเข้าสังคม ทั้ง 3 วิธี เด็กไทย 90% ผ่านเกณฑ์ แต่ถ้าดูการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน พร้อมกัน พบว่า มีเด็กเพียง 67% เท่านั้นที่ผ่าน

นพ. โสภณกล่าวต่อว่า โครงการหนังสือเล่มแรก หรือบุ๊กสตาร์ท  จะเป็นโครงการที่มุ่งหวังให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัว ด้วยกระบวนการสร้างความรักร่วมกัน

ผลปรากฏว่า ปัจจุบัน ครอบครัวไทยและเด็กไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้น 
ล่าสุดคือ  เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)พร้อมด้วย  นายแพทย์ชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน ร่วมกันแถลงข่าว "สธ. มอบของขวัญวันเด็ก ปี 2552″

นายวิทยากล่าวว่า ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2552 ต้อง การให้เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้เด็กไทยรักการอ่าน โดย สธ.จะดำเนินโครงการหนังสือเล่มแรก หรือบุ๊ก สตาร์ต (Book Start) ด้วยการมอบการ์ตูนพระมหาชนกให้เป็นของขวัญและหนังสือเล่มแรกสำหรับเด็กที่ เกิดในวันที่ 10 มกราคม 2552 
ซึ่ง ตรงกับวันเด็กแห่งชาติ โดย สธ.จะจัดส่งหนังสือเล่มแรกผ่าน อสม.ไปมอบให้กับเด็กด้วยตนเอง และ อสม.จะต้องรับเป็นแม่คนที่ 2 ของเด็ก ทำหน้าที่ไปเยี่ยมเยียน เล่านิทานและให้ความรู้ในการเลี้ยงดูบุตรกับพ่อแม่มือใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าหนังสือจะส่งถึงมือเด็กภายใน 1 เดือนนับจากวันที่เด็กเกิดค่ะ

เห็นรูปให้อ่านได้     เป็นคำ
เห็นอักษรก็นำ        อ่านได้
เห็นคำนั่นก็ทำ        ให้อ่าน ได้นา
เห็นวลียาวขึ้นไซร้   อ่านได้ใจความ
.
เห็นประโยคอ่านได้     ใจความ
เห็นแผ่นกระดาษงาม   อ่านได้
เห็นบทหนึ่งสองสาม    ก็อ่าน ได้นา
เห็นเล่มหนังสือไซร้     อ่านได้จบความ
.
จักฝึกให้อ่านได้         ตามความ
ต้องฝึกตั้งแต่ยาม       อ่อนน้อย
อ่านรูปอ่านข้อความ   ฝึกอ่าน นานา
จนกว่าจักอ่านถ้อย     อ่านร้อยเรียงความ.

สวัสดีจ๊ะ  มีความสุขนะคะ

คนสวยมาเม้นแล้วน๊า

สวัสดีค่ะ

แวะมาทักทายพี่ด้วยความระลึกถึงค่ะ

มาส่งข่าวว่า ระหว่าง 25-30 พค.52 ศูนย์หนังสือจุฬา ฯ จัดมหกรรมหนังสือช่วยชาติ ลดราคาหนังสือ สูงสุด 80 % ค่ะ มีหนังสือดี ๆ มากมายเลยค่ะ

จัดที่ อาหารจามจุรีสแคว์ หัวมุมถนนพญาไท ตรงกันข้ามกับวัดหัวลำโพงค่ะ อาคารนี้เป็นแหล่งช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ฯลฯ สะดวกมากค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะคุณ ทนัน ภิวงศ์งาม  94
ขอบคุณที่แต่งกลอนให้อย่างไพเราะมากค่ะ
วันนั้ เห็นข่าวว่า แม้แต่ท่านนายกรัฐมนตรี ก็สนับสนุน ให้เด็กไทย รักการอ่านมากๆค่ะนายกฯ

ห่วงการใช้ภาษาในเน็ตฝากราชบัณฑิตยฯดูแล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบางวัลราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ ให้แก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น
โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ภาษาเป็นมรดกของชาติที่ทุกคนต้องร่วมกันอนุรักษ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต ที่มีผลด้านการสื่อสาร จึงรู้สึกเป็นห่วงการใช้ภาษาในอินเตอร์เน็ต ที่มีผลด้านการเปลี่ยนแปลงของภาษา ดังนั้น ราชบัณฑิตยสถานจึงต้องเผชิญหน้าและยอมรับการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันต้องอนุรักษ์ให้มีการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้ภาษาที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้องด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า แม้ว่าตนเองจะใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนับสิบปี แต่ไม่เคยลืมภาษาไทย เพราะบิดาให้ความสำคัญและปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ให้มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปลูกฝังกับเยาวชนไทย โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะมีการมอบหนังสือให้กับแม่ที่คลอดลูกเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก

"ราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ" เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้เลือกเฟ้นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถในการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมของบุคคล โดยผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นซึ่งมีคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เป็นประธาน

อันประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ๒ รูปแบบ ได้แก่ การจัดแข่งขันทักษะการใช้ภาษาไทยของเยาวชน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕-๖ ของโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงรวม ๑๗ จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น ๓๐๑ คน จาก ๑๒๑ โรงเรียน โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องแสดงความสามารถการใช้ภาษาไทยให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งด้านการเขียนสะกดคำ การอ่านออกเสียง การฟังเพื่อย่อความ และการพูดสะกดคำ ซึ่งมีเยาวชนผู้ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น ๑๒ คน

สวัสดีค่ะคุณ KRUPOM 95

พอดีไป อ่านพบคำที่น่าสนใจ คือคำว่า ไทร ที่ไม่ได้อ่านว่า ไซ เลยนำมาเล่าให้ฟังค่ะ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยาม ไทร [ไซ] ว่าเป็นนามของชื่อไม้ต้นในสกุล Ficus วงศ์ Moraceae มีหลายชนิด เช่น ไทรย้อย (F. benjamina L.) ไทรย้อยใบทู่ หรือ ไฮฮี (F. microcarpa L.f.)
หรือ แม้แต่คำควบกล้ำ ทร- อื่น ๆ เมื่อประสมสระในภาษาไทย ในพจนานุกรมฯ จะอ่านออกเสียง ซ ทั้งสิ้น เช่น โทรม [โซม] แทรก [แซก] ทรุด [ซุด] ทราย [ซาย] ทราบ [ซาบ] ทราม [ซาม] ทรัพย-, ทรัพย์ [ซับพะยะ-, ซับ] ทรวง [ซวง] ทรวด [ซวด] ทรง [ซง] ทรู่ [ซู่] ใช้ในภาษากลอน เป็นกริยา แปลว่า ลากไป, คร่าไป ทรอ [ซอ] คำโบราณ แปลว่า ซอ เช่น เสียงสารสังคีตขับทรอท่อ

แต่ ที่ไม่ออกเสียง ซ ก็มี ทร- [ทอระ-] เป็นคําอุปสรรค แปลว่า ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี, เช่น ทรชน ทรยศ และ โทร- [โทระ-] เป็นวิเศษณ์นําหน้าศัพท์ แปลว่า ไกล เช่น โทรคมนาคม [-คะมะ-, -คมมะ-]

  และยังมีคำ ทับศัพท์จากภาษาอังกฤษตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานนั่นเอง ปรากฏในหนังสือรวมศัพท์บัญญัติต่าง ๆ ยกตัวอย่างจากหนังสือศัพท์วิทยาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เช่น ไทรแอด(triad) ไทรคลินิก (triclinic) ไทรแซ็กคาไรด์ (trisaccharide) ทั้งหมดนี้อ่านออกเสียงควบกล้ำ ทร เขียนเป็นคำอ่านว่า [ไทฺร]
มีรูปเด็กหัดอ่านและร้องเพลงมาฝากค่ะ

เวลาเราเห็นคำว่า  ไทรโอด (triode) เราจะไม่อ่านว่า ไซโอด นะคะ.

สวัสดีค่ะน้อง   คนไม่มีราก
ขอบคุณมากที่ส่งข่าวค่ะ วันไหนว่างจะแวะไป เห็นอาคารจามจุรีสแควร์แล้วค่ะ น่าเข้าไปมาก สวยนะคะ

พี่เห็นว่ามีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ราคาถูกมาก แค่ 20 บาท   มีตั้ง 126 หน้า  เป็น หนังสือที่รวบรวมศัพท์ต่าง ๆ ที่มักอ่านและเขียนไม่ถูกต้อง เรียงตามลำดับอักษร ก-ฮ และ การอ่านคำวิสามานยนามที่สำคัญ เช่น คำวิสามานยนามทั่วไป ชื่อจังหวัดและอำเภอ ชื่อ ถนน ตรอก ซอย ในเขตกรุงเทพมหานคร ฯลฯ ตลอดจนการอ่านตัวเลขต่าง ๆ และการอ่านเครื่องหมายต่าง ๆ

จัดพิมพ์โดยเงินทุนพิมพ์ตำรา ถ้าไปจะซื้อสักเล่มค่ะ

สวัสดีค่ะ เข้ามาติดตามอ่าน รอบสอง อยากจะบอกว่า ทั้งข้อความในบันทึก ไปจนถึง ข้อความ ที่แสดงความคิดเห็น เป็นข้อมูลที่เยี่ยมยอดมาก จริง ๆนะคะ ขออนุญาต เก็บบันทึกไว้นะคะ

สวัสดีครับคุณSasinand

แวะมาทักทายนะครับ

โอ้โห ผมเพิ่งเปิดมาเจอ และรู้ว่าบันทึกนี้ข้อมูลเพี๊ยบบบ!!! ^_^

และการแลกเปลี่ยนความเห็นกันก็หลากหลาย ได้ความรู้เยอะมากๆๆๆ

อ่านยังไม่หมดวันนี้แน่ครับ 555 แต่ขอแวะมาชื่นชมก่อนนะครับ

อ้างอิงได้เลยใช่มั้ยครับ ผมจะได้ชวนเพื่อนมาอ่าน ^^

ขอบพระคุณมากเลยนะครับ...เจ๋งจัง ^_^

 เดือนมิถุนายน 2552 จะมีการเปิด 6 พื้นที่ 6 โครงการให้เด็กไทยใช้วันหยุดอย่างมีมันสมอง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แจ้งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ว่า เนื่องจากสสส.และภาคีเครือข่าย (แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ฃ เครือข่ายครอบครัว , สถาบันรามจิตติ) ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน" ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะเปิดตัว 6 โครงการที่สำคัญคือ

1. Happy Family Day เพื่อเปิดแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวในวันหยุด โดยการออกบัตรส่วนลดให้กับครอบครัวในการเดินทางและการเข้าชมแหล่งเรียนรู้ 
2. สวนสาธารณะ มีชีวิต 390 แห่งทั่วประเทศ ให้เด็กไทยได้ใช้ประโยชน์ ด้วยการปลุกให้สวนสาธารณะมีชีวิตผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
3. ถนนเด็กเดิน ให้เด็กมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ทั้งด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา 
4. เพิ่มพื้นที่สื่อวัยมันส์ ผ่านทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ 
5. ปลูกฝังเด็กไทยรักการอ่าน ผ่านโครงการ book start หนังสือเล่มแรกของเด็ก และหนังสือดีๆ ให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย 
6. ห้องสมุดดิจิตอล เพื่อเป็นคลังความรู้บนโลกออนไลน์

ทั้งนี้ก่อนเปิดตัวงาน จะมีการเปิดเว็บไซด์ www.thaikid.in.th เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารแบบใหม่ระหว่างนายกฯและเด็กเยาวชน เพื่อสอบถามความคิดเห็นของเยาวชนในประเด็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่เด็กอยากเห็น

ขอบคุณๆครูใหม่ บ้านน้ำจุน  มากๆค่ะที่ให้กำลังใจ ถ้าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง ก็เชิญค่ะ

ตอนที่ดิฉันเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม ยังจำคนๆหนึ่งได้ ที่เขาอ่านหนังสือช้ามาก กว่าจะได้สักหน้า ต้องใช้พลังจริงๆ   นึกหาคำตอบอยู่ในใจ ก็นึกไม่ออก ต่อมาอีกนาน จึงนึกออกค่ะว่า...การอ่าน ก็คือ กระบวนการหาความหมายของตัวอักษรนั่นเอง
บางคนชอบอ่าน อ่านแล้วรู้สึกสนุก ยิ่งอ่านอะไรที่ตื่นเต้น ยิ่งสนุก เช่น นิยาย นิทาน หรือ การ์ตูนขำๆ สมัยก่อน ดิฉันชอบอ่าน พล นิกร กิมหงวนมากค่ะ อ่านแล้ว หัวเราะอยู่คนเดียว
การที่เด็กบางคนไม่ชอบอ่านหนังสือ มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น ครูสอนไม่เก่ง น่าเบื่อ ครูดุเกินไป หรือ บางคน มีปัญหาด้านร่างกาย
ขั้นแรกสำหรับเด็กๆหัดอ่าน คงต้องเริ่มที่ หนังสือที่น่าอ่าน ที่มีรูปเยอะๆ มีเสียง และมีตัวอักษร ต่อไป ก็ต่อด้วย คำๆต่างๆ หัวข้อสั้นๆที่ดึงดูดความสนใจ และการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ และลื่นไหล ไม่สะดุด กึกกัก

เมื่อเด็กเริ่มอ่านออก และสามารถอ่านได้เอง  บางที เด็กๆจะรู้ว่า ตัวเองอ่านผิดในบางตอน และเมื่อไม่เข้าใจความหมาย เด็กก็จะหันกลับไปอ่านทวนเอง และทำความเข้าใจกับเรื่องที่อ่านได้เองค่ะ ประสบการณ์การอ่านก็จะค่อยๆเกิดขึ้นค่ะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านอีกรอบพร้อมกับชมภาพประกอบสวย ๆ ค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านค่ะคุณ  adayday 101    ถ้าเพื่อนๆอยากอ่านก็ดีซีคะ ดีใจเลยค่ะ ตอนแรกคิดว่า บันทึกนี้จะน่าเบื่อด้วยนะคะ เพราะหัวข้อเรื่องก็ธรรมดาๆค่ะ

ขอเล่าประสบการณ์ที่เคยเห็น คนที่อ่านหนังสือออก แต่อ่านช้าอีกหน่อยค่ะ เป็นการวิเคราะห์นะคะ ไม่ได้ ไปดูถูกอะไรเขา ตอนที่เป็นเด็กๆด้วยกัน คิดไม่ออกค่ะ มาคิดออกเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว

คือ คนที่อ่านช้า เป็นเพราะเขาไปตั้งหน้าตั้งตาอ่านตัวอักษรทีละคำๆ
เขาไม่ได้ไปเน้น การทำความเข้าใจกับเรื่องที่อ่าน ดังนั้น พออ่านมาจนจบประโยค หรือจบย่อหน้าหนึ่งๆ ก็เลยลืมความหมาย หรือใจความของเรื่องไปหมดแล้ว เขาไปจดจ่อกับคำทีละคำมากไป ไม่ทำความเข้าใจกับเนื้อหาหรือ ส่วนประกอบอื่น เช่น รูปภาพประกอบ ดังนั้น เมื่อ เขาไม่สนุกกับการอ่าน ผลที่ตามมาคือ ไม่ชอบอ่านหนังสือค่ะ
ทีนี้ ถ้าเราอยากให้เด็กๆรักการอ่านหนังสือ เราคงต้องหาวิธีจูงใจให้เด็กชอบหนังสือก่อน
เช่น ถ้าเด็กเล็กๆมากๆ ต้องเป็นหนังสือรูปภาพ กับตัวอักษร ให้รูปภาพชี้นำตัวอักษร คือเดาจากภาพได้
หนังสือที่มีเสียงก็ดี ช่วยในการสะกดคำ ต่อด้วย  เล่นให้ตัวอักษรต่อกัน ถ้าต่อถูก จะมีเสียงออกมาเช่น ch  + ur +ch = church เป็นต้นค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

มาอ่านคำตอบและขอบคุณหน้งสือที่พี่แนะนำค่ะ...

ขอแก้ไขข้อมูลเรื่องการจัดงานหนังสือด้วยค่ะ...เมื่อวานช่วงบ่ายแวะไปที่อาคารจามจุรีสแควร์ จึงพบว่าเขาจัดที่ชั้น 4 ไม่ใช่ชั้น 1 จัดที่ร้านของ CU book และมีโปรโมชั่นนี้ไปจนสิ้นเดือนมิถุนายนค่ะ...

ข้อมูลเพิ่มเติมคือ ที่บอกว่าลดราคาหนังสือนั้น ยังไม่เป็นระบบนักค่ะ เพราะต้องไปหยิบหนังสือมาเพื่อตรวจสอบราคาที่คอมพ์ ไม่ได้ติดราคาไว้ให้เห็น ... ซึ่งทำให้ไม่ค่อยสะดวกนัก และสำหรับนิสิตหรือบุคลากรจุฬา ฯ ก็จะได้สิทธิ์ลด 10-15  % จากการซื้ออยู่แล้ว ส่วนหนังสือที่ลดราคามาก ๆ ถึง 50-80% นั้น ก็เป็นจำพวกตำราต่าง ๆ มากกว่าค่ะ

ขอบคุณหนังสือที่พี่แนะนำค่ะ จะไปลองมาใช้ค่ะ  หากพบแล้ว จะซื้อมาฝากพี่ด้วยค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะคุณสุนันทา  ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

จำได้ว่า  คำว่า read นี่ มีใช้เป็น idiom หลายคำเหมือนกันนะคะ  มีมาฝากค่ะ เช่น 

read like an open book----คล้ายว่า คนๆนี้ อ่านง่าย เหมือนอ่านหนังสือ ที่อ่านมาแล้ว
read a lecture----โดนเทศนา อะไรทำนองนั้นค่ะ Dad read us a lecture after the teacher phoned and complained.

read between the lines----พิจารณาแล้วอย่างละเอียดอีกที เห็นว่า....
read into---มองลึกๆลงไปอีกใน....เจตนา
read out of----ถอนชื่อบางคนออกจากกลุ่ม...
read someone's mind---อ่านใจได้ว่า...
read up---สามารถไปศึกษามาได้  ไปอ่านมาได้...
ready---พร้อมแล้ว

ตามประสบการณ์อีกนั่นละค่ะ ที่เห็นว่า การอ่านใจคนอื่น น่าจะมีการสังเกตกิริยาท่าทางร่วมด้วย เช่น การมองไปทางอื่น  บีบมือ ถูคอ ดึงหู ขยับเสื้อผ้า ยิ้มเจื่อนๆ เคาะนิ้ว อะไรอย่างนี้ เป็นต้นค่ะ

กราบสวัสดี พี่ศศิ อีกรอบนะคะ ขออนุญาต พี่ศศิ ที่บันทึก นี้ นะคะ

เห็นด้วยกับพี่ศศินันท์ค่ะ

รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนช่างอ่านในบางเวลา เพราะโตขึ้นมากับหนังสือต่วยตูน ต่วยพฃตูนพิเศษ และพลนิกร กิมหงาน

วันเกิดทีได้หนังสือเป็ของขวัญ ที่รักสุดใจ คือ ลอร์ดร้อยฟอนเติ้ลรอย...ยังเก็บถึงปัจจุบัน

และรักการเยวเป็นชีวิตจิตใจ เพระโตมากับ อสท. ค่ะ

ขอบคุณๆ สิริพร ทิวะสิงห์ tuk-a-toonที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ

พี่เองก็ชอบอ่านหนังสือสนุกๆ อย่างเช่น ต่วย ตูน พล นิกร กิมหงวนมาเหมือนกันค่ะ...หนังสือสนุกๆแบบนี้ ทำให้เป็นคนอารมณ์ดีและติดหนังสือด้วย
ความหมายของคำว่า การศึกษาหรือการเรียนรู้นี่กว้างมากนะคะ การศึกษาหรือการเรียนรู้ คือ อย่างเดียวกัน แต่มองคนละมุม
"การศึกษา" (Education) จะมองในแง่มุมของ "ผู้จัด" แต่การเรียนรู้(Learning) จะมองในมุมของ ผู้เรียน  การศึกษาคือกระบวนการเรียนรู้ของคน และสังคม สังคมก็เรียนรู้ด้วย ลำพังคนแต่ละคนไม่พอ ต้องเรียนรู้กันทั้งสังคม เราสามารถเรียนรู้ไปด้วยกัน ไปพร้อมกันได้ ประเทศชาติจึงจะก้าวหน้า
การถ่ายทอดความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอ่าน การเขียน การคำนวณ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ก็เป็นการศึกษาทั้งหมด
การเรียนรู้เริ่มมาตั้งแต่เด็กเล็กๆ ยังพูดไม่ได้ แต่ เกิดการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบตัวเขาอยู่ทุกอย่าง และการเรียนรู้กับทักษะต่างๆ  ก็เพิ่มพูนขึ้นทีละน้อยๆ จากประสบการณ์ของเขาเอง จนกระทั่งถึงวัยไปเข้าโรงเรียน ไปเรียนรู้แบบเป็นระบบมากขึ้น ที่เรียกว่าschooling และต่อยอดไปเรียนรู้ขั้นสูงๆขึ้นต่อไป

สิทธิในการต้องได้รับการศึกษา จึงจัดว่า เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ปี 1952 ใน Article 2.... the first Protocol to the European Convention on Human Rights obliges all signatory parties to guarantee the right to education.

และต่อมาก็เป็นที่ตกลงกัน ในระดับโลกด้วยค่ะ   the United Nations' International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights of 1966 guarantees this right under its Article 13.....1. The States Parties to the present Covenant recognize the right of everyone to education.
They agree that education shall be directed to the full development of the human personality and the sense of its dignity, and shall strengthen the respect for human rights and fundamental freedoms.
They further agree that education shall enable all persons to participate effectively in a free society, promote understanding, tolerance and friendship among all nations and all racial, ethnic or religious groups, and further the activities of the United Nations for the maintenance of peace.


ขอบคุณน้อง คนไม่มีราก  106  มากค่ะ
ดีจังค่ะ คุยกับคนรักหนังสือนี่ เลยได้ข้อมูลดีๆนะคะ
จริงๆ แล้ว ประเทศเรา ให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้นๆนะคะ น่าดีใจที่เห็นความก้าวหน้า โครงการ Education for All Goals by 2015 ของยูเนสโก คงจะเป็นจริงได้ไม่น้อยทีเดียว
    ประเทศเรา ยังมีความเหลื่อมล้ำเรื่องการศึกษาอยู่ คงต้องเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งนะค
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆเล็กๆที่กำลังจะเติบโตต่อไป ต้องได้รับการสนับสนุนให้เติบโตขึ้นมาอย่างพร้อมทุกด้าน ไม่ว่า จะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา และสังคม โดยเฉพาะอย่ายิ่ง เด็กที่ด้อยโอกาส ขาดแคลน  เด็กกำพร้า เด็กในชนกลุ่มน้อย เด็กที่ติดเชื้อ HIVเป็นต้น
ขอบคุณน้องมากค่ะ ที่เอื้อเฟื้อเรื่อง หนังสือ เกรงใจมากๆเลยค่

ไปอ่านมาแล้วค่ะ ครูใหม่ บ้านน้ำจุน น่ารักมากๆทั้งพี่ทั้งน้องค่ะ

คุณครูคงทราบเรื่อง  โครงการ Education for All Goals by 2015 ของยูเนสโกแล้วนะคะ ที่มี 6 ระดับด้วยกันคือ   1.  เด็กๆเล็กๆที่กำลังจะเติบโตต่อไป
ระดับที่ 2 คือระดับเด็กชั้นประถม ที่ต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับและเรียนฟรีทุกคน เด็กๆทุกคน ต้องไปโรงเรียน และต้องเรียนจบชั้นประถมศึกษา
ระดับที่ 3
ระดับมัธยม จนถึงระดับผู้ใหญ่ ที่ต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ระดับ 4 คือ
อย่างน้อย ประชาชนไม่ว่า จะเป็นคนกลุ่มใด และอยู่ส่วนไหนในประเทศ  50% ต้องรู้หนังสือ โดยเฉพาะผู้หญิง
ระดับที่ 5   
ทั้งเด็กหญิง เด็กชาย ต้องได้รับโอกาสและสิทธิเท่าเทียมกัน ในการได้รับการศึกษาจากรัฐ
ระดับที่ 6   ต้องมีการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐาน  ในทุกๆด้าน

เด็ก 5 ขวบ อย่างลูกสาวของคุณครู มักอ่านหนังสือออกแล้ว   สำหรับเด็กๆแล้ว อายุที่เขาจะสามารถอ่านได้คือ อายุ 5-6 ขวบ
เหตุผลคือ ก่อนหน้าอายุดังกล่าว สมองเด็กๆยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นจะ decode printed letters และผสมคำออกมา หรือผูกประโยคได้
อาจจะมีเด็กบางคน ที่สามารถอ่านออกได้ก่อนอายุ 5 ขวบ แต่ส่วนใหญ่ อ่านออกเป็น คำๆ ไม่ได้อ่านออกจากกระบวนการของการอ่าน ที่เกิดขึ้นจริงๆ( direct instruction)

  การสอนการอ่าน  ครูมักจะสอนเด็กๆอนุบาล ให้อ่านโดยเขียนเป็นคำๆ ในกระดาษแข็ง เป็นการ์ด ค่อยๆหัดอ่าน พอชักคล่อง ครูก็มักจะเริ่มสอนให้อ่านในหนังสือแล้ว โดยมักเป็นหนังสือเล่มโตๆ เห็นง่ายๆ มีรูปสวยๆ และให้อ่านพร้อมๆกันทั้งกลุ่มเลย เด็กๆจะสนุกด้วย
แต่ช่วงที่เด็กๆจะรู้สึกมั่นใจในการอ่าน ต่อเมื่อ เด็กๆเข้าใจวิธีอ่านออกเสียงคำนั้นๆออกมา เข้าใจว่า ตัวอักษรประสมกันได้แบบไหน และอ่านออกเสียงออกมาได้อย่างไร  ใช่ไหมคะ  ตัวเองจำได้ค่ะ ว่าตอนเด็กๆ ครูสอนแบบนี้ ตอนนี้ ไม่ทราบว่า มีเทคนิคใหม่ๆอะไรอีกไหม

สวัสดีครับคุณ Sasinand  ขอบคุณที่เข้าไปเยี่ยมเยียนกัน  แน่นอนครับนิสัยรักการอ่านไม่ใชพรสวรรค์อย่างแน่นอน  เพราะรักการอ่านจึงรักการเขียนครับ

 

 

สวัสดีค่ะคุณ นายก้ามกุ้ง  ขอบคุณที่มาเยี่ยมที่บันทึกนี้ค่ะ เรื่องการฝึกฝนเด็กๆให้อ่านหนังสือออก และอ่านได้คล่องๆ ถือ เป็นการฝึกรากฐาน ในการศึกษาที่สำคัญมากๆให้เด็กเลยนะคะ

จากการสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ  เรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี) ปี 2551 

1. การอ่านหนังสือของเด็กเล็ก การอ่านหนังสือของเด็กเล็ก ในที่นี้หมายถึงการอ่านหนังสือในช่วงนอกเวลาเรียน ซึ่งเด็กเล็กอ่าน ด้วยตัวเอง รวมทั้งการที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังด้วย
 อัตราการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน
จากผลการสำรวจ พบว่า เด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 36.0 เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง มีอัตราการอ่านหนังสือใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 36.7 และร้อยละ 35.2 ตามลำดับ) แต่อัตราการอ่านหนังสือของเด็กเล็กมีความแตกต่างกันระหว่างเขตการปกครองและภาค โดยในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเขตเทศบาล
เด็กเล็กในกรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด (ร้อยละ 45.3) ส่วนภาคตะวันออก-เฉียงเหนือเด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด (ร้อยละ
31.3)
สังเกตว่า เด็กผู้ชายอ่านหนังสือมากกว่าหน่อย  ไม่มีเหตุผลแจ้งไว้ค่ะ
และยังมีเด็กอีกมาก  ที่ไม่ได้อ่านหนังสือ   ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ แต่ถ้าหาสาเหตุจริงๆ ก็คงไม่ยากค่ะ

  • สวัสดี  ตอนเช้า นะคะ
  • มาติดตามอ่าน  ข้อมูล เพิ่มเติม 
  • และมีหนังสือ  ที่ทำด้วยมือ  ตัวเอง  เพื่อลูก เพื่อเด็กๆ มาฝากคุณพี่ ศศิ เจ้า

อ้อ หนังสือ ชุด นี้ มีลูกสาว ทั้งคน เป็นนางเอก ด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

มาด้วยความระลึกถึงค่ะ

ส่งภาพนี้มาให้พี่ชม เพื่อความผ่อนคลายค่ะ

(^___^)

เรื่องราวของท่านน่าสนใจมาก แต่ตัวหนังสือเล็กไป  สว.(สูงวัย)อ่านแล้วมันเพ่ง เพ่งแล้วก็ตาลาย กรุณาพิมพ์ตัวใหญ่ด้วยคะ จะมาติดตามอ่านและวิเคราะห์หัวข้อ ว่าเขียนถึงอะไร

เป็นคนรักการอ่าน  เช่นกัน  ตามจริงตัวหนังสือขนาดนี้ ถ้าข้อความน้อยๆ ก็พออ่านได้  แต่ถ้าข้อความมากๆ หลงบรรทัด ตาลายเลย

รักการอ่าน จึงรักการเขียนด้วยคะ เรื่องราวของท่านน่าสนใจทั้งนั้นเลย  กรุณาพิมพ์ใหญ่เท่านี้ จะสะดวกอ่านคะ ขอบคุณคะ

 

สวัสดีค่ะคุณ เกศนี 115
ขอบคุณค่ะดอกไม้ชนิดนี้ หายาก และเพิ่งจะเคยเห็นนี่เองค่ะ ขอบคุณค่ะ

ขออนุญาต เล่าถึงเรื่องการอ่านต่ออีกหน่อยนะคะ
เรื่องการอ่านนี้ มีเด็กๆมาคุยด้วย เหมือนกันว่า การอ่านหนังสือ สำคัญอย่างไร
ซึ่งคงต้องถามกลับไปว่า ถ้าเกิดเขาอ่านหนังสือไม่ออกแล้ว  คุณภาพชีวิตจะเป็นอย่างไร แม้อ่านออกแต่ไม่ชอบอ่านเลย อ่านแล้ว ง่วงทุกที ก็จะทำให้โลกของเขาแคบมากๆ
ซึ่งเหตุผลของการที่จะเป็นคนที่รักการอ่าน หรือ อ่านหนังสือมากขึ้น สรุปได้คร่าวๆดังนี้ค่ะ....
1.การอ่านหนังสืออก ทำให้เราอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยขึ้น เช่น ถ้าป่วย แล้วอ่านฉลากยาไม่ได้ หรือ อ่านได้อย่างกระท่อนกระแท่น จะอันตรายสักแค่ไหน ทั้งกับตัวเองและเด็กๆของเรา หรือเวลาขับรถไป พวกป้ายสัญญาณต่างๆก็สำคัญเหลือเกิน ถ้าขับผิดทาง จะเป็นอย่างไร

2.งานอาชีพดีๆทั้งหลาย ล้วนแต่ต้องการคนที่มีวิชาความรู้ พอเข้าไปทำงาน ก็ต้องพบกับการทำหรืออ่าน  reports  หรือ  memos  แน่ๆ คนที่อ่านไม่คล่อง ต้องใช้เวลามากกว่าในการอ่าน ทำความเข้าใจ คนที่มีความก้าวหน้าในงาน ล้วนแต่เป็น  good reading และมี  comprehension skills.

3.การอ่านช่วยพัฒนาในด้านจิตใจ และสมอง อวัยวะทุกส่วนต้องมีการเคลื่อนไหว ออกกำลัง การอ่านและการทำความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน  เป็นการออกกำลังสมองและสายตา การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง และการหัดให้เด็กอ่าน จะทำให้เด็กมีทักษะในด้านภาษายิ่งขึ้นมาก และช่วยในการฝึกการฟังด้วย  คนส่วนใหญ่ชอบพูด แต่ไม่ค่อยชอบฟัง

4.  การอ่านทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ
จากหนังสือ หรือแม้กระทั่ง ใน Internet ปัจจุบัน เราอยู่ในโลกของข่าวสาร ถ้าเราไม่ชอบอ่าน แล้วเราจะรู้ข่าวสารนั้นๆ ได้อย่างไร

5.การอ่านช่วยให้เราเกิดจินตนาการ ยิ่งเด็กๆ จะมีจินตนาการที่ไปได้ไกลๆ คนที่ไม่ชอบอ่าน จินตนาการจะแคบ  

6. เวลาเราอ่านหนังสือให้เด็กๆฟัง บางทีเราสามารถกระตุ้น ความคิดสร้างสรรค์ของเขาได้ ด้วยการลองถามว่า ตอนต่อจากนี้ไป เขาคิดว่า เรื่องจะดำเนินไปอย่างไร หรือ ถ้าจบแล้ว เด็กอาจมีความคิดว่า น่าจะจบอีกแบบนะ ตามที่เขาคิดขึ้นมา  หรือ ลองให้เขาวาดภาพที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาก็ได้

7. คนที่เป็นนักอ่าน จะมีภาพลักษณ์ที่ดี  สามารถพูดคุย วิเคราะห์ วิจารณ์ในเรื่องต่างๆในวงสนทนาได้อย่างคล่องแคล่ว

8. การที่ได้อ่านหนังสือผ่านตาบ่อยๆ ทำให้เขียนและสะกดคำได้ไม่ผิด บางที ได้พบศัพท์ใหม่ๆ จำไว้ และอาจได้ใช้ในกาลต่อไป การที่ได้อ่านประโยคหรือคำพูดต่างๆที่อยู่ในหนังสือ ทำให้เข้าใจคำศัพท์นั้นๆ มากกว่า  definitions หรือ cold facts ใน  dictionary

9. มีคำกล่าวว่า  "The pen is mightier than the sword." เป็นเรื่องจริงอย่างมาก ที่เราเห็นตัวอย่างมามาก  ข้อคิดเห็นต่างๆที่เขียนเผยแพร่ มีพลังสูง ที่อาจเปลี่ยนสังคมได้ ทั้งดีขึ้น หรือเลว การได้อ่านข้อเขียนเหล่านั้น และแสดงความเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย อาจช่วยสังคมได้ ไม่ให้เลวร้ายได้ 
10.การอ่านออกเขียนได้ ทำให้ผู้คนฉลาดขึ้น และไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม  ที่ต้องฟังแต่ผู้อื่นมาชี้นำอยู่อย่างเดียว

ม่อนเอาดอกกุหลาบ ควีนสิริกิต์ จากพระตำหนักภูพิงฯมาฝาก ครับ

ขอบคุณๆ ครูใหม่ บ้านน้ำจุน  116 มากค่ะ หนังสือของเด็กๆน่ารักนะคะ น่าอ่านด้วยค่ะ พอดีมีเด็กๆวัยใกล้เคียงกับน้องพอและน้องเพียงอยู่ใกล้ๆด้วย จะเรียกเขามาดูค่ะู่

การอ่านหนังสือ มิใช่เป็นแค่ทักษะที่เด็กๆต้องมีเพื่อการเล่าเรียนให้จบการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นทักษะ ที่เราต้องใช้ไปตลอดชีวิตเลยนะคะ ยิ่งชอบอ่านเท่าไร สมองเราได้ออกกำลัง จะทำให้ไม่เป็นโรคสมองเสื่อมด้วยค่ะ
บางคน มีความชอบความสนใจอะไรเป็นพิเศษ ก็สามารถหาอ่าน เรียนรู้ได้เอง เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว จนเรียกว่า รู้อย่างแตกฉานเลยก็ได้ค่ะ
อย่าง คุณพ่อพี่เอง ไม่ได้เรียนด้านการเกษตรมาก่อน แต่ได้สนใจเลี้ยงกล้วยไม้ รวมทั้งเพาะพันธุ์เอง เลี้ยงเนื้อเยื่อเอง ท่านก็ไปหาหนังสือ พฤกษศาสตร์ทั้งหลายมาอ่าน จนมีความรู้ เพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ ป็นกล้วยไม้ที่จดทะเบียนสากลเลยค่ะ หรือ คนที่อยากรู้เรื่องสุขภาพของตัวเอง เช่น คนเป็นเบาหวาน ก็สามารถเรียนรู้เรื่องโรคนี้ และการปฎิบัติตัว ได้อย่างลึกซึ้ง โดยไม่ต้องไปหาหมอบ่อยๆก้ได้ค่ะ

คนที่ชอบอ่านจนเป็นนัก อ่านนั้น  ไม่ได้มองการอ่านว่า เป็นความจำเป็นพื้นฐานเท่านั้น แต่กลับกลายเป็น ความเพลิดเพลิน ความสุขอย่างมากๆของเขาทีเดียวนะคะ

อ้อ ลืมบอกคุณครูใหม่ บ้านน้ำจุน 117 ว่า

ในวารสาร the journal Social Science Quarterly....Darby E. Southgate, MA, and Vincent Roscigno, Ph.D., of The Ohio State University วิจัย ว่า เด็กวัยประถมและวัยรุ่นที่เรียนหรือเล่นดนตรีด้วย จะทำให้เรียนดีขึ้น ในเรื่องของการอ่านและคำนวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กรุ่นหนุ่มสาว ที่เรียนมัธยมปลาย
สงสัยจะจริง เพราะเด็กๆของครอบครัวของพี่   เรียนดนตรีกันหมด และก็มีผลการเรียนที่น่าพอใจ เรียนได้เกียรตินิยมหลายคนเลยค่ะ...

Music is positively associated with academic achievement, especially during the high school years.

Adolescents involved with music do better in school

February 10th, 2009 A new study in the journal Social Science Quarterly reveals that music participation, defined as music lessons taken in or out of school and parents attending concerts with their children, has a positive effect on reading and mathematic achievement in early childhood and adolescence.


ขอบคุณภาพจาก 
chocolatess.exteen.com/20081101/music

ขอบคุณน้อง คนไม่มีราก มากๆค่ะ ดอกไม้สวยมากๆอีกแล้ว พี่ผ่อนคลายเป็นปกติค่ะ แม้ว่า วันนี้ อาจจะธุระยุ่งสักหน่อยก็ตาม ดอกอะไรคะ สวยอีกแล้ว คล้ายๆจะเคยเห็น แต่จำไม่ได้ค่ะ
เรื่องการอ่านนี่ เราเคยเชื่อมาตลอดว่า Bedtime stories จะช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องภาษาพูด และน่าจะเรียนรู้เรื่องการอ่านดีขึ้น
แต่ก็มีการวิจัยมา อีกแล้วค่ะว่า  Bedtime stories may not teach reading.


University of Guelph psychology professor Mary Ann Evans.
วิจัย ออกมาว่า การที่เด็กจะอ่านออกได้นั้น เด็กจะต้องสนใจอยู่กับตัวอักษรและจำตัวอักษรได้ แต่นี่เด็กเล็กๆก่อนอนุบาล   มักจะสนใจแต่รูปภาพเสียส่วนใหญ่
ดังนั้น เธอจึงแนะว่า แทนที่จะอ่านนิทานเฉยๆ เราควรชี้ไปที่ตัวอักษรด้วย

สงสัย ท่าจะจริงค่ะ เพราะถ้าพี่ชี้ไปที่ตัวอักษรด้วย   เด็กของพี่ เขาจะจำตัวอักษรได้ ไปเห็นที่ไหนก็จำได้ อ่านชื่อตัวเองและชื่อทุกคนในครอบครัวออก  ทั้งที่อายุยังไม่ถึง 3 ขวบ แต่พี่ว่า เป็นความจำเท่านั้นค่ะ ยังอ่านไม่ออกจริงๆ เพราะสำหรับเด็กๆแล้ว  อายุที่เขาจะสามารถอ่านได้คือ อายุ 5-6 ขวบ
เหตุผลคือ ก่อนหน้าอายุดังกล่าว สมองเด็กๆยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นจะ decode printed letters และผสมคำออกมา หรือผูกประโยคได้

  • อย่านอนดึกนักนะคะ
  • เดี๋ยวไม่สบาย
  • แหม..เหมือนพุดกับตัวเองด้วย  อิอิ
  • ไปนอนแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะ

มีสาระดีๆ มาฝากมากมายเช่นเคยนะคะ

ขอให้มีความสุขมากๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

ขอบคุณข้อมูลจากงานวิจัยดี ๆ ค่ะ จากข้อมูลที่พี่ให้แสดงว่า...นิทานก่อนนอนน่าจะช่วยในด้านการส่งเสริมจินตนาการและปลูกฝังความคิดดี ๆ ให้เด็ก ๆ ได้มากกว่าการเรียนรู้เรื่องการอ่านและการเขียนนะคะ

ดอกที่นำมาฝากเป็นดอกไม้กระถางเล็ก ๆ ชื่อ ปีกผีเสื้อ ค่ะ

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

(^___^)


สวัสดีค่ะคุณ. สุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ราชภัฏพระนคร อ.กระนวน จ.ขอนแก่น  119
และขอบคุณที่ให้กำลังใจเป็นอย่างมากเลยค่ะ อ่านแล้วอ่านอีกค่ะ อิๆๆๆ
เรื่องตัวหนังสือนั้น พยายามแก้ไขด้วยการเว้นวรรค และขึ้นบันทัดใหม่หรือมีรูปคั่นมากหน่อย เพื่อเป็นการพักสายตานะคะ อย่าเพิ่งเบื่ออ่านนะคะ ทุกเรื่องที่เขียน ก็เป็นประสบการณ์ของตัวเอง บวกกับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เสริมเข้ามาค่ะ

เรื่องการอ่านหนังสือก่อนนอนให้เด็กเล็กๆฟัง ก็อย่างที่คุยกับน้อง คนไม่มีราก ฟังว่า
Bedtime stories may not teach reading ..124

และอีกที่หนึ่งคือ  คุณJennifer Dobbs, an assistant professor of developmental studies at Purdue University, บอกว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องมาพิจารณาใหม่นะว่า  ในช่วงก่อนนอน เด็กจะเริ่มง่วงแล้ว  ดังนั้นการอ่านนิทานตอนนี้  อาจจะไม่ได้ช่วยในเรื่องการส่งเสริมการออ่านให้เด็กๆ แต่เป็นการเสริมในด้านการสร้างจินตนาการ  จากการเล่าเรื่องพร้อมรูปภาพที่สวยงาม  และถือว่า เป็นช่วงเวลาที่อบอุ่นที่ลูกๆ มีโอกาสใกล้ชิดกับพ่อแม่มากๆ เป็นเวลาคุณภาพสำหรับพ่อแม่ลูก เป็นการกล่อมนอนเสียมากกว่า it is kind of like reading as a tranquilizer

แต่ถ้าอยากจะส่งเสริมให้เป็นการสอนอ่านจริงๆ  ควรทำเป็นแบบ  dialogic reading.... a more active form of reading that encourages input from the child
วิธี Dialogic reading 
จะช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะในการหัดอ่านมากกว่า พอไปโรงเรียน ก็จะเรียนการอ่านได้เร็วขึ้น
วิธีที่ดีคือ ต้องเปิดโอกาส ให้เด็กเป็นผู้เล่าเรื่องให้เราฟังบ้าง หลังจากอ่านนิทานเรื่องนั้นๆจบแล้ว และมีการคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้เล่า กับเด็ก ซึ่งน่าจะเป็นคำถาม ที่ถามทวนเรื่องที่เล่าไปแล้วอย่างสบายๆ (ทั้งนี้ เด็กต้องโตพอจะเล่าเรื่องได้แล้ว พูดคล่องแล้ว ประมาณ 3-4 ขวบ) 
เรื่องนี้ โดยส่วนตัว ก็ทำอยู่บ้าง คือพอเล่าอะไรให้เด็กฟัง( และต้องเป็นเรื่องที่เขาชอบและสนใจ )เขาจะนำกลับไปเล่าให้คนอื่นๆรวามทั้งตัวเราเองฟังต่อ
เราจะรู้เลยว่า เด็กมีความเข้าใจในเนื้อหาแค่ไหน  เล่าได้ถูกต้องไหม เมื่อเด็กมีความสนใจในเรื่องที่เล่าให้เขาฟัง ก็ทำให้เกิดความสนใจอยากจะอ่านให้เป็นด้วยตัวเขาเอง การสอนการอ่าน จะง่ายขึ้นค่ะ

มาชม อ่านมากรู้มากนะครับ

สวัสดีในเช้าที่อากาศสดชื่นค่ะ

ดีใจที่พี่ได้รับหนังสือแล้ว...

เป็นข่าวที่ช่วยให้เช้านี้สดใสและเบิกบาน และน้องได้ยิ้มและมีความสุข เพราะได้ทำสิ่งที่เป็นมงคล คือ การได้ตอบแทนกับผู้ซึ่งถือว่าเป็น "ครูบาอาจารย๋" คนหนึ่งค่ะ

(^___^)

สวัสดีจ๊ะ  มีความสุขวันหยุดนะจ๊ะ

ทักทายวันสบายๆ

  • แวะมาทักทายว่าระลึกถึงค่ะ
  • และอยากบอกว่าเห็นด้วยกับคุณแสงแห่งความดีที่เสนอชื่อคุณSasinand  ...แม้คุณ Sasinand จะบอกว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่ก็ขอเรียนว่าศิลาเชื่อว่าบันทึกทุกบันทึกของคุณ Sasinand อยู่ในดวงใจหลายร้อยดวงค่ะ
  • ช่วงนี้งานยุ่งและป่วยด้วย แต่ก็แวะมาอ่านบันทึกนี้แล้ว รวมทั้งความเห็นที่น่าสนใจมากค่ะ
  • สมัยก่อน คุณแม่ชอบเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน ...แม้ว่าเวลาใกล้นอนจะไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการจดจำ แต่ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการผูกพันอย่างที่คุณ Sasinand กล่าวมาจริง ๆ ค่ะ ชอบคำแนะนำนี้มากค่ะ

Very good story. I do hope Thai children love to read and will be the strength population in the future because they are well education by reading to gain moreand more knowledge.

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

แวะมาส่งรอยยิ้ม...เพิ่มพลังชีวิตค่ะ...

ภาพนี้ขอมาจากบันทึกของพี่ส้มค่ะ

มือไวไปนิดค่ะ ตั้งใจจะบอกพี่ว่า...

อยากเสนอชื่อพี่เป็นบล็อกเกอร์ในดวงใจค่ะ แต่ตรวจสอบตามที่มีเกณฑ์กำหนดไว้ พบว่าพี่มีบันทึกไม่ถึงจำนวนที่ตั้งไว้

จะว่าไป น้องคิดว่า...จำนวนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของเนื้อหาที่สื่อสารและให้ประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่เมื่อเป็นเกณฑ์ที่ตั้งไว้แล้ว เราในฐานะของสมาชิกก็ต้องปฏิบัติตามค่ะ...

สรุปท้ายโดยไม่คิดจะ "ยาหอม" พี่ว่า... พี่เป็นสุดยอดคุณภาพ บล็อกเกอร์ในดวงใจของน้องค่ะ

(^___^)

จริงๆค่ะ เกิดจากการปลูกฝังจริงๆเลยค่ะ เพราะว่า หลานของตัวเอง โชคดีที่ว่าเราในฐานะเป็นน้า ทำงานอยุ่ห้องสมุด พาหลานมาเล่นที่ทำงาน ทำให้หลาน เกิดความสนใจ หยิบมาดู จนอ่านและกลายเป็นชอบอ่านหนังสือไปเลย ทุกวันนี้หลานเรียนเก่ง (ไม่ได้ชมกันเอง) แต่คิดว่ามันขึ้นอยู่กับการปลูกฝังและทำให้เค้าเห็นด้วยนะค่ะ

ขอบคุณนะค่ะบทความนี้เป็นประโยชน์มากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)  125
ขอบคุณที่เป็นห่วงในสุขภาพค่ะ บางทีอาจนอนดึกบ้าง แต่ก็ตื่นสายค่ะ นอนไม่เคยต่ำกว่า 8 ชั่วโมงค่ะ
เรามาคุยกันถึงเรื่องการอ่านของเด็กๆมามากแล้วนะคะ พอดีมีเรื่อง การอ่านที่เป็นของผู้ใหญ่เข้ามาเป็นข่าว ซึ่งก็พอจะไปได้กับเรื่อง Digital Divide ที่ทางโกทูโนกำลังรณรงค์อยู่พอดี....

คือมีข่าวว่า...รูเพิร์ท เมอร์ดอก  an Australian-born global media mogul.    ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า "อนาคตของหนังสือพิมพ์ต้องเป็นดิจิตัลแน่" แต่อาจจะต้องใช้เวลา 10 ถึง 15 ปี ก่อนที่คนอ่านจะปรับตัวเป็นดิจิตัลเต็มตัว

หาดูการสัมภาษณ์ ได้จาก Fox Business Channel ของเขาเอง เขาบอกว่า  สื่อทั้งหลายจะต้องเริ่มคิดสตางค์กับคนอ่านเนื้อหาจากเว็บที่ ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะฟรี

เมอร์ดอก บอกว่าหนังสือพิมพ์ในอาคตจะยังทำทำรายได้จากคนอ่าน และยังมีการลงแจ้งความต่างๆ  แต่หนังสือพิมพ์อนาคตจะแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างมาก 
เนื่องจาก อาจจะไม่พิมพ์บนกระดาษ แต่เนื้อหาจะไปอยู่บนเครื่องมือที่ถือไปไหนมาไหนได้สะดวก  โดยที่จะมาทางอากาศ และจะup date ทุกชั่วโมงหรือสองชั่วโมง

เมอร์ดอกบอกว่า  จะต้องมีการจ่ายเงินสำหรับเนื้อหาของสื่อบนเว็บและอุปกรณ์เคลื่อนย้ายได้ทั้งหลายในอนาคต
เครื่องมือแบบนี้ เช่น  Amazon Kindle The Kindle hardware devices use an electronic paper display and download content over Amazon Whispernet using the Sprint EVDO network. Kindle hardware devices can be used without a computer.
เป็นเครื่องอ่านหนังสือพิมพ์, ตำราและเอกสารที่ไม่ต้องใช้กระดาษอีกต่อไป
เครื่องอ่านหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่นี้จะนำไปสู่ "สังคมไร้กระดาษ" หรือ "Paperless society" อย่างเต็มรูปแบบ
หนังสือพิมพ์ชื่อดังสามฉบับคือ New York Times, Washington Post และ Boston Globe ตกลงให้เขาเอาเนื้อหาขึ้น Kindle ใหม่ในราคาลดพิเศษ แต่จะให้เฉพาะคนที่อยู่ในเขตที่หนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษของสามฉบับนี้ไปไม่ถึงเท่านั้น

ส่วนตัวคิดว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก ในการคาดคะเนของ รูเพิร์ท เมอร์ดอก แต่อาจจะไม่ถึง 15 ปี จากนี้ก็ได้ 
  Digital Divide มีหลายระดับ  ของประเทศเรา อาจอยู่ในระดับที่อาจจะมีความเหลื่อมมากหน่อย

ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง เป็นของธรรมดา
ความเปลี่ยนแปลง  เป็นผลมาจากวิวัฒนาการทาง ความคิดของมนุษย์ทั้งสิ้น เรามักใช้คำว่า "change" และ transformation  เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงมีทั้งแบบค่อยเป็น ค่อยไป จนถึงการเปลี่ยนแปลงแบบข้ามขั้นตอน
 แต่การเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์นี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป สามารถคาดการณ์ได้ ไม่ทำให้คนช็อกนะคะ

สวัสดีครับ คุณพี่ Sasinand

สำหรับตัวผมเอง ไม่ได้ถูกปลูกฝังมาแต่เด็ก จำได้ว่าสมัยเด็ก ไม่เคยอ่านหนังสืออะไรเลย

มาเริ่มอ่านตอนเข้ามหาลัย จำได้ว่ามีเพื่อนเอาหนังสือเรื่อง "เวลาในขวดแก้ว" ของคุณประภัสสร เสวิกุล มาให้ยืมอ่าน ความรู้สึกขณะนั้นสนุกมากครับ วางไม่ลง และผมว่านับตั้งแต่จุดนั้นผมก็ได้ก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการอ่านอย่างเต็มที่

ปัจจุบันนี้ ผมก็ยังคงอ่านอยู่อย่างต่อเนื่องนะครับ เป็นการอ่านตามความสนใจของตัวเองที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงชีวิต อย่างตอนนี้ ก็จะเป็นแนวปรัชญา การพัฒนาตนเอง ทั้งทางโลก และทางจิตวิญญาณเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เน้นแนวศาสนานะครับ

....

เรื่องการรักการอ่าน ผมคิดว่าถ้าจะรณรงค์ให้เด็กๆ  ต้องทำให้หนังสือนั้นมีความสนุกนำ แล้วมีสาระแบบไม่ให้รู้ตัว ผมเห็นจากหนังสือการ์ตูนความรู้ ของเกาหลี ที่ สนพ. นานมี นำมาแปลขายดีเป็นเทน้ำเทท่า  ยอมรับเลยว่า ทำให้เด็กรักการอ่านได้ดีทีเดียวครับ (สังเกตจากลูกผมเองนะครับ)

ผมคิดว่า การทำให้คนรักการอ่าน อาจจะต้องการกลยุทธ์ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย

วัยเด็ก อาจเป็นการ์ตูน

วัยรุ่นอาจเป็นแนวผจญภัยในแบบที่วัยรุ่นชอบ

วัยผู้ใหญ่ก็อาจเน้นไปที่ความสำเร็จในชีวิต

ก็คงคล้ายๆ กับที่คุณพี่ได้เสนอแนะไว้แล้วน่ะครับ

โดยรวมๆ ผมคิดว่า หากอยากทำให้คนอ่านในเรื่องใด คงต้องหา "กุศโลบาย" เพื่อดึงความสนใจ สร้างความอยากอ่านให้ได้ก่อน  แล้วเนื้อหาสาระก็ค่อยๆ ทยอยจัดมาให้เนียนๆ ครับ

....

ส่วนเรื่องเครื่องอ่านหนังสือของ Amazon นั้น  ผมคิดว่าขณะนี้ อาจจะเกิดยาก  สำหรับผม หนังสือแท้ๆ จะให้ความรู้สึกที่ดีกว่าในการอ่าน 

แต่ในอนาคต ก็ต้องรอดูครับ ว่าสุดท้ายจะสะดวกขนาดไหน ใช้พลังงานเยอะหรือเปล่า  จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ขนาดไหน สำนักพิมพ์ต่างๆ จะตายไปไหม

แต่ผมว่า อย่างไรก็ตาม นักเขียนก็ยังหากินได้ต่อไป ตราบใดที่ยังมีนักอ่าน

....

ขอบคุณครับสำหรับ บันทึกดีๆ มีคุณภาพ ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง

สวัสดีค่ะน้อง คนไม่มีราก 127

ขอบคุณที่มาอ่านอีกค่ะ เลยมีเรื่องเล่าต่ออีกนิดค่ะ

มีการศึกษามาจาก  Kamal de Abrew, Cornell Ph.D. '81, and a professor at the American National College in Sri Lanka, tests a child in the Sinhala language Learning ว่า Teaching young children how to speak a second language is good for their mind.... report two Cornell linguistic researchers  at the Cornell Language Acquisition Lab (CLAL)

สมัยก่อน คนไม่อยากให้ลูกหลานไปเรียน 2 ภาษาในคราวเดียวกัน เพราะอาจเป็นสาเหตุของความสับสนและการเรียนล่าช้าไป แต่ปัจจุบัน มีการศึกษามาว่า....กลับทำให้เด็กมีความสนใจและมีสมาธิ ในการเรียนมากขึ้นค่ะ และยังจะทำให้การเรียนต่อๆไปในอนาคตดีขึ้นด้วย

เรื่องนี้ คงจะจริง เพราะเด็กคนจีน ที่เรียนอ่าน เรียนเขียน ทั้งภาษาไทยและจีน ก็ไม่เห็นใครมีปัญหาเลยสักรายนะคะ และต่อมา ก็ยังแถม ภาษาอังกฤษเข้าไปอีก ก็ไม่สับสน
พี่เองเรียน ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นด้วย ก้ไม่รู้สึกวุ่นวายอะไร

แต่สำหรับเด็กเล็กๆ การจะให้เด็กเรียนภาษาที่สองได้เร็ว คือ ให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นภาษานั้นๆ และยิ่งให้เรียนภาษาที่สอง ตั้งแต่อายุน้อยๆเท่าใด ก็จะเรียนรู้ได้เร็วเท่านั้น

สวัสดีค่ะคุณ อรวรรณ  126

อย่างที่กล่าวไว้ ในบันทึกด้านบนว่า ทุกองค์กรที่เกี่ยวพันกับ เรื่องของหนังสือ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และถูกกระทบอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งสาเหตุ คงหนีไม่พ้นปัญหาการเงิน กับปัญหาการรุกไล่เข้ามาของเทคโนโลยี่

The New York Times Co. กำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

จึงเกิดมี David Geffen มหาเศรษฐี ที่ Forbes คาดว่า มีเงินราว $4.5 billion เข้าขั้น global megawealthy กำลังสนใจจะเข้ามาถือหุ้น หรือซื้อหุ้นทั้งหมด
เขา เป็นคนที่รวยมาจากแวดวง Hollywood หรือ media industry ผลิตและขายเพลงอมตะของนักร้องต่างๆ เช่น Joni Mitchell และ the Eagles
กับ ดูแล DreamWorks คนใกล้ชิดเขาบอกว่า ถ้าGeffen ได้เป็นเจ้าของ หนังสือพิมพ์ New York Times ก็ตั้งใจจะให้เป็น nonprofit เพราะต้องการที่จะรักษาสถาบันสื่อเก่าแก่ของสหรัฐฯแห่งนี้ให้เป็นหลักของ สื่อคุณภาพ
ก่อนหน้านี้ ก็เคยพยายามจะขอซื้อหุ้น LA Times มาทีหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จค่ะ

ในเรื่องภาษานี้ มนุษย์คือผู้สร้างสรรค์ภาษา (a language maker) โลกเรามีภาษาพูดอยู่ ประมาณ 5-6000 ภาษา เพื่อใช้ในการสื่อความหมายซึ่งกันและกันอย่างมีระบบ ภาษามนุษย์จะมี โครงสร้างคำ ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาวรรณกรรม อย่างเป็นเรื่อง เป็นราว
ถ้า จะมีแต่ภาษาพูดอยู่อย่างเดียว ความเป็นชาติ และวัฒนธรรมต่างๆจะไม่ค่อยเจริญ บางทีก็สูญหายหมด ภาษาที่วิวัฒนาการตกทอดมาจนถึงปัจจุบันส่วนใหญ่ จึงมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน
ภาษาที่เป็นที่นิยมพูดกันมากในโลก มี 200 ภาษา Mandarin Chinese มีคนพูดเป็นภาษาของตนในประเทศ    ประมาณ 874 ล้านคน   ภาษาอังกฤษ มีคนใช้เป็นภาษาพูดในประเทศตน 341 ล้าน ตามมาเป็นอันดับ 3 ค่ะ

เมื่อ มีภาษา ก็ต้องมีการอ่าน และการเขียนแน่นอน ไม่ว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ หนังสือ อย่างไรก็ตาม การอ่าน ก็ยังต้องอยู่ยืนยงตลอดไปค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

เห็นด้วยเลยค่ะว่าการอ่านนั้น คุณพ่อ คุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีค่ะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ชอบอ่านก็จะชอบสรรหาหนังสือต่างๆให้ทั้งตัวเองและลูกๆ เมื่อลูกๆเห็นพ่อ แม่อ่านก็อยากจะอ่านด้วย ...

ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เรียนประถมต้นค่ะ เพราะเห็นคุณพ่อ คุณแม่อ่าน...หนังสือบางเล่มอ่านสนุกมากอ่านจถึงเช้าก็มีค่ะ แต่เดี๋ยวนี้อ่านกลางวันทั้งวันก็อ่านค่ะ ... แต่หนังสือวิชาการหนักๆ เวลาอ่านก็ต้องพักบ้างค่ะ...

สวัสดีค่ะคุณ KRUPOM 129

เด็กๆเล็กๆ ที่ยังอ่านหนังสือเองไม่ได้  จะชอบให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือ หรือ เล่านิทาน ให้ฟัง ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น เรื่องหนึ่งๆ ก็หลายหน

บางคน จะแปลกใจว่า ทำไม  simple songs / nursery rhymes/ นิทานซ้ำๆ   เด็กๆจึงชอบมากๆ  ถูกใจจริงๆ

ก็เพราะ การที่เด็กได้ร้องเพลงซ้ำๆอยู่หลายๆหน  "Row, Row, Row Your Boat "
เด็กจะจำเนื้อร้องและท่าทางการเต้นได้  หรือ การได้ฟังนิทานเรื่องเดิมๆ ที่
เขาจำได้  และจะคอยแซงเราพูด ในตอนท้ายของทุกประโยคนั่นเอง 
นั่นคือ
 ด็กได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่เราเล่าแล้ว ม่ใช่แค่ฟังเฉยๆ
มันเป็นความสุข ความสำเร็จ ในระดับเด็กๆ ..... the sheer joy of mastering something

(ผู้ใหญ่ เลยนำเอาความชอบทำอะไรซ้ำๆของเด็กมาเป็นประโยชน์ ในเรื่องวินัย  ได้สบาย...กิน นอน เล่น อาบน้ำ...)

พอโตเป็นผู้ใหญ่  คนบางคน ก็ยังเป็นคนที่เรียกว่า
Re-reader โดยเฉพาะ การอ่านหนังสือประเภท  literature การอ่านซ้ำไปมา อย่างดื่มด่ำในรสของภาษา ไม่เร่งรีบ ไม่ตื่นเต้นที่จะรู้ว่า ตอนจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร  ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของบางคนเหมือนกันนะคะ

ส่วนตัวแล้ว มีหนังสืออยู่บางประเภทเหมือนกันที่ อ่านซ้ำๆบ่อยมากคือ หนังสือตำราอาหารกับหนังสือเรื่องการจัดสวน การเลี้ยงต้นไม้  การปลูกผักสวนครัว  และเรื่องสุขภาพ เป็นต้น เพราะมันมีรายละเอียดมาก จำไม่ค่อยจะได้น่ะค่ะ


มีเก้าอี้ตัวโปรด ในสวนที่มักนำหนังสือ คู่มือทำสวนไปอ่านซ้ำไปซ้ำมาด้วยค่ะ

ขอบคุณน้อง คนไม่มีราก ที่ส่งหนังสือให้ ถูกใจมากค่ะ อย่าคิดว่า พี่เป็นครูบาอาจารย์อะไรเลยค่ะ ขอเป็นพี่สาวที่ดีก็พอแล้วค่ะ จริงๆนะคะ ภูมิใจที่มีน้องสาวที่น่ารักอย่างนี้ด้วยค่ะ รูปใบไม้สีเขียว ให้ความรู้สึกถึงความสดชื่น ดีมากนะคะ

มีเรื่อง
Obama อ่านอะไร มาฝากค่ะ
และมีหนังสือ ที่พี่ชอบอ่านเพลินๆ สบายๆ คือ พวกหนังสือท่องเที่ยว หนังสือผักผลไม้  ตำราทำกับข้าว จัดสวน จัดบ้าน สุขภาพค่ะ

ส่วนท่านประธานาธิบดี ในรูปกำลังอ่านหนังสือ ที่เกี่ยวกับประเทศจีนปัจจุบันค่ะ
Fareed Zakaria's "The Post-American World."
China's is indeed the most incredible success story in history .


สวัสดีีค่ะอาจารย์ umi  ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ

อาจารย์คงมีประสบการณ์การสอนลูกเล็กๆอ่านมาแล้วนะคะ   เราคงต้องสอนเด็กเล็ก ในเรื่องของ Oral Language มากที่สุด และต่อมาคือ การสอนอ่านอย่างเป็นขั้น เป็นตอนแต่สนุกสนาน ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ ต่อไป

ที่โรงเรียนของเด็กตัวเล็กๆ อายุ 2 ขวบ 10  เดือน ( เด็กวัยนี้ พูดเก่งแล้ว) ที่บ้านดิฉัน เห็นคุณครูเขา มีการสอนการอ่านแบบนี้ เกือบทุกวันค่ะ
1.อ่านหรือเล่านิทานให้เด็กๆฟัง 
2. พยายามกระตุ้นให้เด็กๆมีส่วนร่วม ในการตอบคำถาม หรือเล่าเรื่องย้อนให้ฟัง หรือ จินตนาการว่า เขาอยากให้เรื่องดำเนินต่อไปอย่างไร

3. ให้เด็กๆแสดงความคิดเห็นว่า ชอบ ไม่ชอบเรื่องที่เล่า อย่างไร
4. ให้เด็กๆเล่าเรื่อง ที่เขามีประสบการณ์คล้ายๆในเรื่องที่เล่าบ้าง
5.Highlight interesting words ในหนังสือ หรือเรื่องที่เล่า
6.ให้เด็กๆ ช่วยกันเก็บหนังสือเข้าที่ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย


รู้สึกว่า เด็กๆชอบกิจกรรม  ที่มีส่วนร่วมกันทุกคนแบบนี้ค่ะ

สวัสดี ค่ะ มารู้ตัวว่า ติดหนึบ บันทึก พี่ศศินันท์ เมื่อ ย้อนกลับไปอ่านหน้าแรกใหม่ แบบว่า ต้องมารอ ติดตามข้อมูลใหม่ ๆ เจ้า สบายดี เน้อ เจ้า

สวัสดีค่ะคุณ Sila Phu-Chaya  133  อ่านแล้ว ไม่สบายใจที่ว่า ป่วย เป็นอะไรมากไหมคะ ขอให้หายเร็วๆนะคะ เป็นห่วงค่ะ

และเรื่องการเสนอชื่อนั้น อย่าได้กังวลค่ะ ไม่ได้คิดอะไรเลยค่ะ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์เลยจริงๆค่ะ และการเขียนบันทึก ก็ไม่ได้หวังอะไรเลย เขียนเพราะมีอารมณ์อยากเขียนในสิ่งที่เรามีความรู้ ประสบการณ์มากกว่าค่ะ

 ที่บอกว่า...คุณแม่ชอบเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน ...แม้ว่าเวลาใกล้นอนจะไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการจดจำ แต่ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการผูกพัน
เรื่องนี้ เป็นเรื่องจริงนะคะ ความผูกพันตอนที่เรานอนหลับอยู่ในอ้อมกอดของคุณแม่นี่ อบอุ่นที่สุดในโลก ไม่มีอะไรมาทดแทนได้เลยค่ะ
 
มีเรื่องที่เด็กไทย ไม่ชอบอ่านหนังสือนี่  เป็นปัญหาหนักจริงๆนะคะ
มีอยู่โรงเรียนหนึ่งแก้ปัญหา  ที่นักเรียนไม่อ่านหนังสือสอนศีลธรรมได้สำเร็จ อาจารย์ใหญ่เก่งจริงๆ...

โรงเรียน ไม่สามารถบรรจุวิชาศีลธรรมไว้ในหลักสูตรได้เพราะเวลาเรียนมีขอบเขตจำกัด ครั้นจะให้นักเรียนไปอ่านหนังสือศีลธรรม นักเรียนก็ไม่ยอมอ่าน
โรงเรียนจึงใช้วิธีทำหลักสูตรโดยบรรจุวิชาศีลธรรมไว้ในพิธีกรรมหน้าเสาธง ๑ ชั่วโมง โดยจะแบ่งกับรอง ผอ.อีก ๓ คน มาช่วยสอนและช่วยเล่านิทานธรรมะ
ทั้งนี้แต่ละคนต้องเขียนแผนที่จะพูดแต่ละวันด้วย เมื่อรวมแล้ว นักเรียนจะมีความรู้ด้านศีลธรรมครอบคลุมทุกเรื่อง  ตอนนี้เป็นโรงเรียนตัวอย่างไป
แล้ว  โรงเรียนต่างจังหวัดดีๆ ก็มีเยอะค่ะ
 
มีอยู่ เย็นวันหนึ่ง ฟังรายการวิทยุในรถ  คุณแอนดรู บิ๊ก บอกว่า โรงเรียนอนุบาลในฝัน ที่หาดใหญ่นี่  ดีที่สุด สวยที่สุด เท่าที่เขาเห็นมา   อยากเห็นจังว่า   เป็นยังไง...น่าจะเป็นโรงเรียนที่น่าส่งลูกหลานไปเรียนมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณPeter A1  134
ขอบคุณมากๆค่ะ ที่เข้ามาอ่าน เป็นกำลังใจมากๆค่ะ ที่ชมเชยนะคะ

มีหลายๆโรงเรียน ที่พบว่า ทางโรงเรียนเด็กก่อนวัยเรียน  ใช้วิธีการสอน Literature Activities แบบผสมผสาน   เพื่อให้เด็กๆสนุกกับการมีกิจกรรมการเรียนต่างๆ ทั้งแบบประจำวัน ตามความเห็นที่ 145 ที่คุยกับอาจารย์ อาจารย์
umi  และแบบอาทิตย์ละครั้งค่ะ ถ้าเป็นแบบอาทิตย์ละครั้ง เขามักจะจัดคล้ายๆอย่างนี้ค่ะ...

1. มีผู้ใหญ่เช่น ครูใหญ่  ครูระดับอาวุโสหน่อย ผู้ปกครอง ผลัดกันมาอ่านเรื่องสนุกๆให้เด็กๆฟังหน้าชั้น
2.ให้มีการคุยกับเด็กๆเรื่องภาพประกอบบ้าง เรื่องเนื้อหาของนิทานบ้าง
3.บางที ให้เด็กโตมาอ่านหนังสือ ให้เด็กเล็กๆฟัง
4.ฉายวิดิโอ เรื่องสนุกต่างๆให้เด็กๆดูบ้าง
5.สอนการวาดภาพ ระบายสี ให้เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องที่อ่าน
6.เล่านิทานให้เด็กฟังโดยใช้ storytelling technique

เรื่องการเล่านิทานแบบ ใช้ storytelling technique ต้องที่นี่เลยค่ะ...
มูลนิธิซิเมนต์ไทย
  ที่มีกิจกรรมที่ เป็นประโยชน์ต่อสังคม กว้างขว้างค่ะ
 มีเจตนารมย์ที่มุ่งมั่นของ SCG ในการ "ถือมั่นใน ความรับผิดชอบต่อสังคม" ต่อเนื่องมาตลอด
สำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัย เขามุ่งเน้นที่การอ่านนิทาน ที่ส่วนใหญ่มักจะจัดตามสวนสาธารณะต่างๆค่ะ เคยพาหลานไปหลายหนค่ะ

คุณสุรนุช ธงศิลา
กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวว่า "มูลนิธิซิเมนต์ไทยดำเนินโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีแล้ว
ตอนนี้ มีโครงการ  "นำหนังสือดีสู่เด็กไทย"
  ซึ่งมูลนิธิฯได้บรรจงคัดสรรหนังสืออมตะ 5 เรื่อง ที่ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการด้านการศึกษา นักสร้างสรรค์หนังสือเด็กทั่วโลกว่ามีความดีในด้านสาระและมีความงดงามทางศิลปะ สามารถทำให้เด็กรุ่นต่อรุ่นเกิดความประทับใจมาจัดทำเป็นภาษาไทย ด้วยความตั้งใจให้หนังสืออมตะ 5 เล่มนี้ จุดประกายให้ผู้ปกครองได้สัมผัสถึงวิธีการใช้หนังสือภาพกับเด็กและเห็นผลลัพธ์ จาก "พลังของหนังสือ" ที่น่ามหัศจรรย์เลยค่ะ 
 

ขอบคุณน้องคนไม่มีราก  135 /136
ที่เอายาหอมพร้อมรูปเด็กเล็กๆที่น่ารักมากๆมาฝากพี่ค่ะ พี่ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า การที่อยากเขียนสิ่งที่อยากเขียน และเห็นว่า มีประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ตามแต่เวลาที่อำนวยค่ะ ถ้าพี่นึกอยากได้รางวัล คงเขียนมากกว่านี้อีกมากค่ะ เป้าหมายมีแค่ รู้สึกมีความสุข ที่ได้เขียนเท่านั้นค่ะ

เห็นว่า น้องมีหลานๆตัวเล็กๆ 3 คน ถ้าเขามีจัด การเล่านิทานในสวน น่าพาไปนะคะ
พี่เคยพาเด็กๆไปงานการเล่านิทานประกอบเพลงช่วง ม.ค. 52   ที่สวนรถไฟ สวนวชิรเบญจทัศน์ ...Vachirabenjatat Family Park
มีคนไปกันมากหนาตา มีกิจกรรมหลายอย่าง สนุกสนานดี  อากาศดี เด็กๆสนุก เพราะมีลานให้เล่นหลายลาน อยู่กันจนเย็น มีวิทยากร มาให้ความรู้หลายด้าน ได้สาระดีทีเดียว น่าพาลูกหลานไปเล่น ตอนเย็นๆ
ในภาพ เป็นการเล่านิทานเรื่อง มีหมวกมาขายจ้า (Caps for sale)
เรื่องและภาพโดย แอสไฟร์ สโบบ็อคกินา/ แปลโดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ สนุกมากค่ะ
มีหมวกมาขายจ้า
เป็นนิทานเก่าแก่ของอินเดีย ถูกนำมาทำเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งแรกเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว และยังคงติดอันดับขายดีจนถึงปัจจุบัน แอสไฟร์ สโลบ็อดกินา เป็นศิลปินนักออกแบบสามารถทำภาพประกอบได้อย่างมีชีวิตชีวา และมีอารมณ์ขัน การออกแบบฉากและตัวละครให้ดูใกล้ชิดกับเด็กๆ

นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าถึงพ่อค้าขายหมวกที่เดินขายหมวกไปตามถนน พอเหนื่อยจึงนั่งพักงีบหลับที่ใต้ต้นไม้ ระหว่างนั้นฝูงลิงก็มาขโมยหมวกหนีขึ้นไปบนต้นไม้ ไม่ว่าพ่อค้าจะขอคืนด้วยวิธีใด ฝูงลิงก็เอาแต่ล้อเลียนท่าทางของเขา จึงต้องตามดูตอนจบเรื่องว่า ในที่สุดพ่อค้าได้หมวกคืนหรือไม่ ....


สวัสดีค่ะคุณ ทางเดินแห่งรัก 137

ดีใจที่เข้ามาบอกว่า โชคดีที่ว่าเราในฐานะเป็นน้า ทำงานอยุ่ห้องสมุด พาหลานมาเล่นที่ทำงาน ทำให้หลาน เกิดความสนใจ หยิบมาดู จนอ่านและกลายเป็นชอบอ่านหนังสือไปเลย ทุกวันนี้หลานเรียนเก่ง (ไม่ได้ชมกันเอง) แต่คิดว่ามันขึ้นอยู่กับการปลูกฝังและทำให้เค้าเห็นด้วยนะค่ะ
เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆค่ะ สอนอะไร ไม่เท่าทำตัวอย่างให้ดูนะคะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านเคยกล่าวว่า จงสร้างเด็กให้ดี ที่เหมาะสำหรับ ที่จะสร้างโลกให้ถุกต้องงดงาม

อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เจ้าของโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2543 (Known for physiology of memory Notable awards Nobel Prize in Physiology or Medicine 2000)
จากผลงานการค้นคว้าวิจัยเรื่อง
การเรียนรู้และความจำมนุษย์
ได้สรุปผลงานตัวเองออกมาด้วยข้อความสั้นๆ ว่า
"การเรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้ ′เรา′ เป็นดังเช่นทุกวันนี้"
ความ รู้ ความจำ ที่เราได้เรียน ได้รู้ จากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว คือสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนมีน้ำใจไมตรี หรือแม้แต่เป็นคนโกง

นอกจากนี้ อีริค ได้อธิบายการเรียนรู้ของเราด้วยการทำงานของเซลล์สมอง ว่า ขณะที่คนเราอยู่ในท้องแม่ เซลล์สมองจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งก่อรูปเป็นก้อนสมอง
แต่เซลล์สมองจะยังไม่ทำงานทันที จนกว่ามันจะงอกเส้นใยออกมาต่อเชื่อมกันเป็นเครือข่ายเป็นวงจร เหมือนกับวงจรในเครื่องรับวิทยุ หรือคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ตามบ้าน
การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาษาที่ดีมากๆ สำหรับเด็ก   ภาษานี่แหละคือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนเราเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกันเรื่อยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาษาที่ดีมากๆ สำหรับเด็ก

อีริค อาร์ แคนเดลบอกว่า เด็กที่มีความสามารถทางภาษาสูงมักจะมีความจำดี เนื่องจากเด็กจะสามารถเรียบเรียงข้อมูลความรู้ให้เป็นภาษาได้ดีกว่า เพราะเก็บเป็นความจำและเป็นระบบมากกว่าค่ะ

สวัสดีค่ะ

ตามมาส่งเสริมการอ่าน โดยการอ่านบันทึกดีๆค่ะ

สวัสดีค่ะคุณซวง ณ ชุมแสง  139
ดีใจจริงที่เข้ามาอ่านค่ะ เพราะส่วนใหญ่ คนที่มีลูกและหลานมักจะสนใจ เรื่องลักษณะแบบนี้นะคะ
 
เรื่อง "เวลาในขวดแก้ว" ของคุณประภัสสร เสวิกุล  นี่ดังมากนะคะ อ่านแล้ว อ่านอีกได้หลายหน  และคนเรานั้น คิดว่า เรื่องแรงบันดาลใจนี้สำคัญค่ะ พอเรามีสิ่งนี้  จะเป็นการจุดประกาย ให้เราได้เริ่มทำในสิ่งที่เป็นประสบการณ์ใหม่ๆได้เป็นอย่างดีค่ะ  เหมือนคุณซวงที่ได้ก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการอ่านอย่างเต็มที่ เพราะหนังสือเล่มนี้  หนังสือเรื่อง  แนวปรัชญา การพัฒนาตนเอง ทั้งทางโลก และทางจิตวิญญาณ ก็เป็นหัวข้อที่ทำให้เราได้นำไปขบคิด ต่อยอดได้อีกเยอะค่ะ....

เห็นด้วยที่คุณบอกว่า เรื่องการรักการอ่าน ถ้าจะรณรงค์ให้เด็กๆ ต้องทำให้หนังสือนั้น ต้องมีความสนุกนำ แล้วมีสาระแบบไม่ให้รู้ตัว คุณบอกว่า  หนังสือการ์ตูนความรู้ ของเกาหลี ที่ สนพ. นานมี นำมาแปลขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ยอมรับเลยว่า ทำให้เด็กรักการอ่านได้ดีทีเดียว  และถ้าจะทำให้คนรักการอ่าน   ต้องมีกลยุทธ์  ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย

จำได้ ตอนลูกพี่ยังเล็กๆ  มีการ์ตูน เรื่องโดเรมอน  ดังมากๆ เด็กๆติดกันทั้งหนังสือ และในทีวี ถ้าใครไม่ร้จัก ก็ไม่เข้าใจว่า ผ่านวัยเด็กมาได้ไงนะคะ
Doraemon, a blue robotic cat.
Doraemon (ドラえもん Doraemon?) เ ป็นนิยาย Comedy, Mischief, Science fiction เป็นตอนๆ แต่งโดย Fujiko Fujio ( นามปากกาของ Hiroshi Fujimoto แ ละ Motoo Abiko)
ต่อมากลายเป็นการ์ตูนโ ทรทัศน์เ ป็นตอนๆ เป็นเรื่องของ robotic cat ชื่อ Doraemon ที่ท่องเที่ยวย้อนกาลเ วลามาจากศตวรรษที่22 เ พื่อมาช่วย Nobita Nobi (野比 のび太 Nobi Nobita?
ในเดือนมีนาคม 2008 รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น แต่งตั้งDoremon ให้เป็น the nation's first "anime ambassador."ด้วย
พี่เอง ชอบดูการ์ตูนเรื่องนี้มากค่ะ คนแต่งๆเก่งจังค่
เมื่อเร็วๆนี้ พาหลานไปกินขนม ไส้ถั่วแดงอันนึง ซึ่งหวานมาก  พี่เองกินกับน้ำชาที่ออกรสขมนิดๆได้เป็นอย่างดี เป็นขนม.. Red bean past Dorayaki  เป็นขนมหวานที่มีกำเนิดมาจากประเ ทศจีน แ ละ เกาหลี
วิธีการทำก็ไม่น่ายุ่งยากอะไ ร คือการต้มถั่วแดงให้สุกมากๆและบี้ให้ละเอียด และใส่น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง ผสมให้เข้ากัน การ์ตูนแมว Doraemon ชอบกิน dorayaki มากค่ะ
 แต่ชื่อของแมวตัวนี้ ไม่ได้มาจาก dorayaki แ ต่มาจากคำว่า "doraneko" (stray cat.)
คำว่า dorayaki ได้รับการนำมาใ ช้บ่อยๆ ใ ห้ดูว่ามีความเ กี่ยวเนื่องกับการ์ตูนดังเรื่องนี้  โดยมีการออกชุดการ์ตูนที่เ รียกว่า Doraemon Dorayaki ทุกปี ระหว่างเดือนมีนาคม-กันยายน

สวัสดีค่ะอาจารย์ paew 142
ดีใจจริงที่อาจารย์เข้ามาอ่านค่ะ และที่อาจารย์บอกว่า...
ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เรียนประถมต้นค่ะ เพราะเห็นคุณพ่อ คุณแม่อ่าน...หนังสือบางเล่มอ่านสนุกมากอ่านจถึงเช้าก็มีค่ะ แต่เดี๋ยวนี้อ่านกลางวันทั้งวันก็อ่านค่ะ ... แต่หนังสือวิชาการหนักๆ เวลาอ่านก็ต้องพักบ้างค่ะ...

นี่คงจะเป็นเหตุให้อาจารย์ สายตาสั้นใช่ไหมคะ อิๆๆๆ
พุดถึงเด็กๆ ยังมีเด็กๆอีกไม่น้อยนะคะที่ด้อยโอกาส พอดีใกล้จะวันเกิดหลาน เลยคิดถึง มูลนิธิเด็ก ค่ะ เขามีสโลแกนว่า...

มูลนิธิเด็กตระหนักว่า การดูแลคุ้มครองและให้การศึกษาแก่เด็กป็นภาระหน้าที่ที่ทุกคนควรรับผิดชอบร่วมกัน และต้องลงมือกันวันนี้

ปัจจุบันประเทศไทยยังประสบปัญหาเกี่ยวกับเด็กขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน ขาดสารอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัยขาดความรักความอบอุ่น ลอดจนไม่ได้รับการศึกษาก่อให้เด็กบางคนใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายกลายเป็นเด็กเร่ร่อน...เกิดปัญหาเด็กยากจนถูกส่งไปขายแรงงานตามโรงงาน หรือถูกล่อลวงไปค้าประเวณี ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อยนะคะ

อ่านพบเรื่องมูลนิธิเด็กที่น่าสนใจดังนี้ค่ะ...
มูลนิธิเด็ก ได้มีการพยายามบ่มเพาะนิสัยการอ่านให้แก่เด็กๆ โดยการจัดตั้งสถาบันการ์ตูนไทยขึ้น
เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาการใช้สื่อการ์ตูนเพื่อรับใช้และสร้างสรรค์สังคมไทยในด้านต่าง ๆ โดยเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการ์ตูนในด้านต่างๆ
การ์ตูนเป็นบันไดทางการศึกษาที่จำเป็น รูปแบบของการ์ตูนสามารถเชื่อมต่อนิทาน - หนังสือภาพสำหรับเด็ก ไปสู่วรรณกรรมและสื่อการอ่านสำหรับผู้ใหญ่
การ์ตูนจึงเป็นช่องทางสื่อที่สำคัญของบันไดสู่ความรู้ ความคิด ความบันเทิง, และการบ่มเพาะนิสัยรักการอ่าน

สวัสดีค่ะคุณ peang151

การที่จะกระตุ้นให้เด็กเล็กๆ ชอบการอ่านต่อไปในอนาคต เราคงต้องเลือกหนังสือนิทานสนุกๆ ที่เป็นการ์ตูนให้เขาอ่านนะคะ
ตอนนี้ สังคมให้การยอมรับสื่อการ์ตูนมากขึ้นมาก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่นักเขียนการ์ตูนไทย จะได้แสดงฝีมือบ้าง
  แต่นักเขียนการ์ตูนของไทย ยังมีไม่มาก ที่มี ก็ยังเล่าเรื่องได้ไม่น่าติดตามเท่าใด  นักเขียนเลือกทำเรื่องแบบเดิมๆ  และไม่เกิดความหลากหลายในภาพรวม  คงยังต้องพัฒนากันอีก  และใช้เวลาสักหน่อยนะคะ

แต่สิ่งแน่ๆ ที่จะดึงความสนใจของเด็กเล็กๆได้คือ เรื่องเสียง  เด็กๆชอบฟังเสียง สูงต่ำ ที่มีจังหวะจะโคน มีความซ้ำ ความช้า ความเร็ว สลับๆกัน
ถ้าเล่านิทานเสียงเดียวกันตลอด เด็กจะไม่สนใจเลยค่ะ
เด็กๆที่มีผู้ใหญ่คอยอ่านหนังสือเสียงดังหน่อย ให้ฟังทุกวัน  จะทำให้มีความรู้สึกอยากไปโรงเรียน  มากกว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้ฟังผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังนะคะ


สวัสดีค่ะ คุณ KRUPOM ขอบคุณที่มาเยี่ยมเสมอๆนะคะ
ช่วง นี้ มีเด็กๆหลายคนที่รู้จัก ใกล้จะถึงวันคล้ายวันเกิด จึงได้เตรียมหนังสือไว้หลายชุด มีตั้งแต่หนังสือของเด็กเล็ก จนถึงเด็กโตเลยค่ะ เพราะคิดว่า ของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับเด็กๆคือ หนังสือที่เหมาะกับวัยของเขาค่ะ
เพราะ หนังสือ ที่จะให้พวกเขา มิใช่แต่จะเป็นหนังสืออ่านสนุกอย่างเดียว แต่จะเป็นการเพิ่มพูนทักษะอย่างอื่นๆให้เขาด้วยค่ะ เช่น การฟัง การจดจำเรื่องราว กระตุ้นความอยากรู้ อยากเห็นเพิ่มเติม และการวิพากษ์ วิจารณ์เป็นต้นค่ะ
จะพยายามเอาชนะเรื่อง
  เด็กไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ เอาแต่ดูทีวี ให้ได้ โดยเริ่มที่เด็กของเราก่อน

ชอบมีคนพูดว่า สมัยนี้เด็กไม่ฟังนิทานหรอก เอาแต่เล่นเกมคอมพิวเตอร์   รายการโทรทัศน์เพื่อเด็กอยู่ไม่ยืด  เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่จึงเป็นห่วงเด็กมากๆ
แต่ก็ดีใจที่ท่านนายกรัฐมนตรี ก็มีความเป็นห่วงเด็กเช่นกันค่ะ..
.
"อภิสิทธิ์" ห่วงเด็กไทยไม่ใส่ใจภาษาแม่ ชี้เหตุสื่อสารผ่านเน็ต-ภาษา ตปท. - เร่งดันการอ่านเป็นวาระชาติ
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ราชบัณฑิตยสถาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล "ราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ" แก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2551 ได้แก่ คือ น.ส.ปิยธิดา วรมุสิก นายศิริวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ น.ส.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี และนายมนตรี เจนอักษร และนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ 12 คน เข้ารับรางวัลด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ภาษาไทยถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ คนไทยจึงควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยมีภาษาประจำชาติ และจะยั่งยืนต่อไปหากทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ภาษาไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เด็กให้ความสำคัญกับภาษาแม่ลดลง จนบางคนอ่านหรือเขียนไม่ถูกต้อง เพราะการติดต่อสื่อสารมากขึ้น รับวัฒนธรรมโดยไม่กลั่นกรองทำให้ใช้ภาษาต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ภาษาไทยได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม การสอนภาษาไทยเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญเพื่อให้คนในชาติสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลกำลังผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และมีโครงการที่จะสนับสนุนการอ่านตั้งแต่เด็กเล็ก.

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

แวะมาสวัสดีตอนเช้าค่ะ

(^___^)

ดอกกันภัยมหิดล ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะคุณครูใหม่ บ้านน้ำจุน 146 ที่มาติดตามอ่านบันทึกนี้ค่ะ

คนที่เป็นพ่อแม่ของลูกเล็กๆ จะสนใจเรื่อง นิทาน เรื่องการ์ตูน มากเป็นพิเศษ เพื่อหาเรื่องดีๆ ไปเล่าให้ลุกฟัง
เขามี ผลวิจัยการ์ตูนความรู้ไทยครั้งแรกของประเทศ ระบุชัด ลายเส้นการ์ตูนความรู้ไทยไม่แพ้ต่างชาติ แต่ยังขาดเสน่ห์ในการเล่าเรื่อง 
ที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับ สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก จัดการแถลงข่าวผลการวิจัย เรื่อง "การ์ตูนความรู้ไทย: ความเป็นมา สถานการณ์ และแนวทางการพัฒนา" (Thai Knowledge Cartoon: History, Current Situation, and Approaches for Development)
ในวันศุกร์ ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ห้อง Learning Auditorium ทีเคพาร์ค ขั้น ๘ โดยมี ผศ.ดร. ไกรสร ชัยโรจน์กาญจนา ผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยาการเรียนรู้เป็นประธาน 
มีข้อสรุปน่าสนใจหลายประเด็นเลยค่ะ...
เช่น...มุมมองนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
 : 
1. หัวใจของการสร้างสรรค์การ์ตูนความรู้ไม่ใช่แค่ "ให้ตัวความรู้" แต่เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก"

2. การ์ตูนความรู้ไทยส่วนใหญ่ไม่น่าติดตามเพราะเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา ขาดการสร้างความขัดแย้ง (conflict) ที่เข้มข้น และขาดการสร้างเรื่องราวที่เน้นอารมณ์ (drama)

3. การวิจัยเกี่ยวกับการ์ตูนความรู้ ต้องขยายมุมมองไปที่บริบท (context) ที่อยู่รายรอบตัวสื่อประกอบด้วย

4. นักเขียนการ์ตูนความรู้ไทยต้องให้ความสำคัญในการค้นคว้า (research) หาข้อมูลให้มากกว่าแค่การฝึกลายเส้น

5. การ์ตูนความรู้ควรเป็นต้นแบบทางจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนในสังคม
น่าสนใจค่ะ...
รายละเอียดมีที่นี่ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ  ครูแป๋ม 155
เข้ามาแค่สวัสดีทักทายก้ดีใจแล้วค่ะ ขอต้อนรับนะคะ
สิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้   นักศึกษาไทยไม่ค่อยอ่านตำรา อย่างที่มีบ่นๆกันมาตลอดคือ    คือเราไม่เคยเพาะนิสัยมาเรื่องนิสัยการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กนั้นเอง 
ไม่อยากให้โยนกันไปได้เป็นทอดๆ   มหาวิทยาลัยก็ติโรงเรียนมัธยม  ว่าไม่เพาะนิสัยเด็กให้อ่าน  โรงเรียนมัธยมก็โยนไปให้โรงเรียนประถม  โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนต่างๆ ก็ปัดไปให้  บอกว่าทางบ้านไม่เคยสอน เคยอบรมกันมาก่อน....ตอนนี้ เราเริ่มกันจากเด็กๆเล็กๆที่บ้านกันก่อนเลยนะคะ ไม่มีโทษกันไปกันมาอีก

เร็วๆนี้ ดิฉันไปอวยพรวันเกิดให้เด็กวัย 4 ขวบคนหนึ่ง ที่บ้านเขา ได้นำของขวัญคือหนังสือการ์ตูนให้เขาไปสองชุด คือการ์ตูนแปลจากภาษาอังกฤษ และการ์ตูนของไทยเราเอง วันนั้น เด็กชอบหนังสือการ์ตูนที่นำไปฝากมาก มีเพื่อนมาเล่นด้วยในงาน ประมาณ 20 คน ทุกคนกรูกันเข้ามาแย่งหนังสือและดูรูปกันใหญ่ วันนั้น จึงต้องมีกิจกรรม อ่านหนังสือให้เด็กๆฟังด้วยค่ะ สนุกมากๆ

 สวัสดีค่ะน้อง..คนไม่มีราก 158

ดอกกันภัยมหิดลนี้สวยนะคะ เป็นดอกไม้ประจำ ม.มหิดลใช่ไหมคะ ขอบคุณค่ะ ที่มีรูปมาฝาก
มีเรื่องการอ่านหนังสือมาฝากอีกหน่อยค่ะ....จากคอลัมน์นี้....ทนง โชติสรยุทธ์ : ชี้ศก.ทรุด-การเมืองดุ ธุรกิจสื่อโตสวนกระแส

"ที่เขาบอกว่าปีหนึ่งคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 8 บรรทัด อันนั้นเป็นข้อมูลเก่า ตอนนี้คือคนอ่านเยอะขึ้น คิดดูง่ายๆ อย่างพัทยา ซึ่งเมื่อก่อนร้านหนังสือเปิดแล้วส่วนใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จ ตอนนี้เราเปิด 7 สาขา ในพัทยาและ จ.ชลบุรี เปิดไปแล้วทั้งหมด 17 สาขา จุดหลักของเรื่องนี้ก็คือว่า...

จุดเปลี่ยนที่ทำให้หนังสือขายดีมากขึ้นคนอ่านหนังสือมากขึ้น เป็นเพราะจำนวนร้านหนังสือในเมืองไทยมีมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้คนไทยที่เดิมจะซื้อหนังสือแต่ละทีต้องดิ้นรน คือไม่มีโอกาสได้เห็น แต่พอมีโอกาสได้เห็นเพราะว่าร้านหนังสือเปิดตามศูนย์การค้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ พอคนไม่มีอะไรทำก็เดินเข้าไปคอยเพื่อนที่ร้านหนังสือ ก็เห็นว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ หนังสือเล่มนี้ไม่เคยคิดว่าจะมีมาก่อนพอเห็นก็ซื้อ เพราะฉะนั้นร้านหนังสือทำให้คนเข้าใกล้ร้านหนังสือมากขึ้น
เริ่มมีเด็กรุ่นใหม่เริ่มอ่านจากเว็บ คือได้มีการอ่าน แต่จะไม่เป็นหนังสือรูปเล่มอย่างนี้ หรือผมเข้าใจผิด เด็กก็อ่านในเว็บด้วย แล้วก็ซื้อหนังสือด้วย "

ลองอ่านดูนะคะ น่าสนใจ และน่าดีใจ ที่ร้านหนังสือดัง ยืนยันว่า มีคนอ่านหนังสือมากขึ้นจริงๆ ในประเทศเรา...

คำขวัญของงานวันหนังสือเด็กแห่งชาติปี 2552  คือ "อ่านหนังสือหลากหลายชนิด เพิ่มสีสันให้ชีวิตงดงาม" หนังสือดีๆสามารถมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนๆ หนึ่งได้  ส่วนหนังสือที่ไม่ดี คนอ่าน คงต้องรู้จักคัดกรองเอาเองด้วย ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ก็ต้องมีผู้ใหญ่เลือกหนังสือให้  เช่นหนังสือ การ์ตูนสำหรับเด็ก ที่บางทีผู้ใหญ่มองว่าไร้สาระ แต่จริงๆ แล้วในการ์ตูนมันมีอะไรดีเยอะมากเหมือนกัน  เด็กโตหน่อย จะรู้ว่า  ตัวละครไหนที่ดีหรือไม่ดี เพราะมีผลแสดงให้เห็น แล้วเขาก็จะรู้เองว่า เขาจะเดินตามใคร


สวัสดีครับ ผมก็เป็นนักอ่านคนหนึ่งครับ

เพิ่งจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการอ่านเหมือนกันครับ

เรื่อง..ผมเป็นหนอนครับ

สวัสดีค่ะคุณ Phornphon  ยินดีที่ได้รู้จักค่ะและขอบคุณที่มาเยี่ยมนะคะ
และดีใจที่คุณบอกว่า คุณเป็นหนอน...หนังสือ

หนังสือ ทำให้เรารู้รอบขึ้น แม้เรียนจนจบจากสถานศึกษาแล้ว ก็ยังเรียนไม่จบในมหาวิทยาลัยชีวิต เรียกว่า เรียนกันไปจนตาย ก็เรียนไม่จบ เมื่อเรารู้อะไรมากขึ้น เรากลับมีความสุข ความสงบ เพราะ  รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตรงข้ามกับคนที่รู้น้อย ความรู้ไม่เชื่อมโยงกัน ก็จะแก้ปัญหาไม่ตก เครียด

การรู้เท่าทันปัญหา แม้จะยังแก้ไม่ตก  ก็ทำให้ปัญหาลดไปได้มากแล้ว เรื่องแบบนี้ มีประสบการณืด้วยตัวเองมามากค่ะ ทำให้ไม่ทุกข์มากมายนัก เพราะมีปัญญารู้เท่าทัน ว่า ปัญหามันเป็นเรื่องธรรมดา การที่เรา เข้าใจอะไรไปตามความเป็นจริง ตามเหตุ ตามปัจจัย ทำให้เราไม่ทุกข์ ไม่เครียดมากค่ะ   แม้ในขณะที่เราเครียด และไม่อยากจะพูด จะเจอใคร หนังสือ จะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเราด้วยนะคะ

สิ่งแวดล้อมที่เอื้อ อาจมีอิทธิพลต่อการปลูกฝั่ง

ขอบคุณอาจารย์ นายประจักษ์~natadee  164   ที่มาเยี่ยมค่ะ
เห็นด้วยค่ะ ที่อาจารย์บอกว่า สิ่งแวดล้อม มีอิทธิพลต่อการปลูกฝังนิสัยให้แก่เด็กๆ

คนเรา ไม่ได้อยู่ได้ด้วยลำพัง ต้องมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนอกตัวอย่างมากมาย เช่นอากาศที่มองไม่เห็น  แต่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการมีชีวิตของเราเป็นอย่างมากต้นไม้ ใบหญ้า ที่เราเห็นอยู่ทุกวัน  ดิน น้ำ แสงสว่าง ที่พวกเราขาดไม่ได้ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่เลี้ยงดูเรามา
การพัฒนาคุณภาพเด็กเล็กแบบหลานของอาจารย์ ที่สำคัญที่สุดอีกอย่าง คือ   ปัจจัยแวดล้อมตัวเด็ก กระบวนการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก  ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานนะคะ

พ่อแม่ คือครูต้นแบบ คู่แรกของลูก เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก ทั้งในด้านความคิด การพุดและการกระทำ ที่ถูกต้องและดีงาม


เข้า ใจว่า หลานของอาจารย์คงไปโรงเรียนแล้ว  ที่โรงเรียนคงมีกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น การสนทนาระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนด้วยกันเอง   การเล่านิทาน การปฏิบัติการทดลองต่างๆ  การประกอบอาหาร การพาไปทัศนศึกษานอกสถานที่ และการเล่นเกมต่างๆ

เท่าที่สังเกตในเรื่องการไปโรงเรียนของเด็กๆนะ คะ  กิจกรรมดังกล่าว   มุ่งให้เด็กได้ใช้ทักษะการพูด การฟัง การสังเกต การคิด และการปฏิบัติการทดลอง  แต่บางโรงเรียน เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมบางส่วน  และส่วนมากครูมักจัดให้เด็กทั้งชั้นทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่   ทำให้เด็กได้รับการเรียนรู้ไม่ทั่วถึงกันค่ะ  ตัวดิฉันเอง จึงชอบโรงเรียนที่จัดชั้นเรียนให้ นักเรียนมีน้อยคนหน่อย การพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน รวมทั้งการอ่านออกเขียนได้  จะดีมากกว่า ชั้นเรียนที่มีเด็กมากค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.ศศินันท์

ขอตามมาอ่านแบบผ่านๆก่อน..เดี๋ยวตามมาอ่านแบบตั้งใจอีกรอบค่ะ

แต่มาขอแจมก่อนค่ะ อิอิ

เห็นด้วยเลยค่ะ ว่าเราไม่ค่อยถูกปลูกฝังให้อ่านหนังสือสักเท่าใด เทียบกับต่างชาติแล้วจำนวนเวลาที่เราอ่านหนังสือต่อวันน้อยกว่าเค้าแยะเลย

เออ่านนิทานให้น้องนีโอฟังตั้งแต่เค้าอยู่ในท้อง อ่านแบบเพลินทั้งแม่ทั้งลูก ตอนคลอดมาแล้วก็เล่าให้ฟังมาเรื่อยๆ

ไม่น่าเชื่อนะคะ ว่าตอนที่เค้าเพิ่งหัดพูด ก็สามารถต่อนิทานที่เราหยุดอ่านตรงคำสุดท้ายได้ ช่วงนั้นตื่นเต้น..เล่นกับลูกใหญ่เลยค่ะ เอจะเว้นวรรคให้เค้าตอบ ก็ตอบได้ มีนิทานเต็มบ้าน

ตอนนี้น้องนีโอเริ่มไม่ค่อยชอบนิทานแล้ว ก็จะนำนิทานไปให้หลานหรือไม่ก็ให้ลูกเพื่อนๆ ตอนนี้น้องนีโอเริ่มเลือกหนังสือเอง ชอบแนวไดโนเสาร์ อวกาศ ดวงดาวต่างๆ

แต่บางครั้งก็ต้องเปิดเว็บอ่านเพราะหาหนังสือไม่ได้เช่น Ben 10 เพราะน้องนีโอชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาก เอเลยต้องไปอ่านว่าเอเลี่ยนแต่ละตัวคุณสมบัติเป็นอย่างไร จะได้มาคุยกับลูกค่ะ แหะๆ

สวัสดีค่ะคุณแม่นีโอ 166
ที่คุณเอ บอกว่า ...
เออ่านนิทานให้น้องนีโอฟังตั้งแต่เค้าอยู่ในท้อง อ่านแบบเพลินทั้งแม่ทั้งลูก ตอนคลอดมาแล้วก็เล่าให้ฟังมาเรื่อยๆ
นี่ละค่ะ ครูต้นแบบที่แท้จริงของลูกเป็นคนแรกเลยค่ะ การที่เรามีหน้าที่ เป็นครูคนแรกของลูก เราจึงต้องถูกบังคับให้ มีหน้าที่ 2 ประการคือ 1.ต้องฝึกตัวเอง ให้คิดดี พูดดี ทำดี เป็นปกติ
2.ต้องสามารถถ่ายทอดสิ่งดีๆของเราให้ลูกได้ คือต้องทั้งฝึก ทั้งฝน ทั้งอบ ทั้งรม ให้ลูกมีนิสัยคิดดี พูดดี ทำดี เป็นปกติ เช่นกันค่ะ

เรื่องการอ่านก็เช่นกัน ถ้าเราอยากให้ลูกชอบการอ่าน เราก็ต้องไม่ขี้เกียจที่จะอ่านให้เขาฟังก่อนทุกวันๆ ซึ่งก็อย่างที่คุณเอบอกค่ะ เด็กจะชอบฟังนิทานเรื่องซ้ำๆ จนสามารถ ต่อประโยค ให้เราได้แทบทุกประโยคเลย
ตอนแรกเราเป็นฝ่ายเลือกนิทานให้เขา ต่อไป เขาก็เลือกเองแล้ว แต่เนื่องจาก เขาได้รับการฝึกฝนแต่สิ่งดีๆ จึงเชื่อว่า หนังสือที่เขาเลือกอ่าน ก็จะเป็นหนังสือที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเขาเช่นกันนะคะ ตอนนี้ นิสัยของหลาน เป็นนิสัยของบัณฑิตแล้วค่ะ

 

ชอบบันทึกนี้ ขอบคุณค่ะOfk9

สวัสดีตอนสาย ๆ ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากพี่ค่ะ...

คำขวัญของงานวันหนังสือเด็กแห่งชาติปี 2552  คือ "อ่านหนังสือหลากหลายชนิด เพิ่มสีสันให้ชีวิตงดงาม"

การอ่าน ... เป็นสิ่งโปรดปรานของน้องเลยค่ะ แต่ยังอ่านเฉพาะที่ชอบ กำลังพยายามหัดให้อ่านหนังสือได้ทุกชนิดค่ะ

ส่งผลมะนาวรู้โห่...มาให้พี่ชมค่ะ ท่านผู้รู้ทางด้านธรรมชาติบำบัดกล่าว..รสชาติเปรี้ยวมากค่ะ แต่มีคุณค่าทางอาหารมาก ๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ เกศนี  168 ที่มาเยี่ยมค่ะ
เนื่องจากตอนนี้ มีเด็กเล็กๆ ที่อยากจะดูแลเอาใจใส่มากๆอยู่ใกล้ๆ ดิฉันเลยต้องกลับกลายไปเป็นเด็กไปอีกครั้งเหมือนกันค่ะ....
ทั้งเรื่องการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ทำสุ้มเสียงต่างๆนานา ให้สนุกสนาน เหมือนพากย์หนัง เล่น Pretend Playต่างๆ   เล่นวาดรูป ระบายสี   ติด
stickers  ใช้crayonsระบายสีต่างๆ   ใช้ Play-Doh ปั้นเป็นรูปต่างๆ  เล่นbubbles / chalkและอื่นๆ แบบไม่ต้องกลัวเปื้อนกันเลย หาหนังสือเด็กๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องศิลปะ หรือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ต่างๆมาอ่านกัน เด็กก็ชอบค่ะ มีนิทานหลายเรื่องเลย ที่เป็นนิทานที่มีเนื้อหาแปลกๆ สนุกๆ สังเกตดูว่า เด็กมีความสนใจและติดใจมากกว่า นิทานที่มีเนื้อเรื่องพื้นๆ ธรรมดาๆค่ะ

สวัสดีค่ะน้อง คนไม่มีราก 169
ขอบ คุณลูกมะนาวโห่ค่ะ เห็นคนเขาว่า เปรี้ยวมากๆ แต่ในช่วงที่มะนาวแพง ไม่เห็นมีใครพุดถึง ว่าจะให้มาแทนมะนาวนะคะ มีแต่คนเอามะขามมาใช้แทนมะนาว

เรื่องคำขวัญนี้ "อ่านหนังสือหลากหลายชนิด เพิ่มสีสันให้ชีวิตงดงาม" พี่ว่า จริงค่ะ

คนเราน่าจะอ่านหนังสือหลากหลายแปลกๆไปบ้างนะคะ เพราะหนังสือแต่ละแบบก็มีความน่าอ่านของตัวเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็น Newspapers   Magazines  Comic books  Novels

มีคนเคยแนะนำไว้ว่า ให้เริ่มอ่านจากหนังสือที่เราชอบๆก่อน แล้วเราเองก็มักอยากจะลองอ่านเรื่องต่างๆที่แปลกๆออกไปบ้าง ทีละเล็กละน้อย
พวกหนังสือ ปรัชญาตะวันออก เช่น หนังสือของท่านทะไล ลามะ เรื่อง The Art of Happiness และ The Dalai Lama's Book of Wisdom ก็ดีค่ะ  แสดงให้เห็นถึงอันตรายและความไม่ยั่งยืนของการแข่งขัน และบริโภคแบบสุดโต่ง  อย่างเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธในธิ
เบต  แม้ไม่ได้ชอบมากนัก แต่พี่ก็อ่านจากสารพันดาราอยู่ด้วยค่ะ

แต่หลังๆนี้ สิ่งที่อ่านมากที่สุด คือ อ่านนิทานให้เด็กน้อยที่บ้านฟังค่ะ วันละหลายเที่ยวเลย มีความเชื่อว่า   ไม่มีเด็กคนไหนที่อายุน้อยเกินไปสำหรับการให้เขาได้รู้จักมักคุ้นกับหนังสือ   หากเราเก็บหนังสือไว้แล้ว  รอจนกว่าลูกอ่านหนังสือออก  ค่อยนำหนังสือมาให้อ่าน  มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร  เหมือนกับเราไม่ยอมพูดคุยกับลูก จนกว่าลูกจะพูดได้นั่นเองนะคะ

ยังมีวรรณกรรมคลาสิกของโลกเรื่อง "เจ้าชายน้อย" เป็นหนังสือที่งดงาม เรียบง่าย ไร้เดียงสา   วรรณกรรมเรื่องนี้ในสมัยเด็กๆอาจได้มุมมองอีกแบบหนึ่ง....พอได้กลับมาอ่านในตอนเป็นผู้ใหญ่ก็จะได้  จะมุมมองข้อคิดอีกแบบแสดงถึงความจริงของชีวิต ได้อย่างเด่นชัดที่สุดค่ะ  แต่คงต้องรอให้โตอีกหน่อย จึงจะอ่านให้ฟังได้ค่ะ

The Little Prince (French: Le Petit Prince), published in 1943, is French aviator Antoine de Saint-Exupéry's most famous novel. It has been translated into more than 180 languages and sold more than 80 million copies making it one of the best-selling books ever.

  • สวัสดีค่ะ
  • ว่ากันว่าลักษณะทางพันธุกรรม
  • เกิดจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมอย่างละครึ่ง
  • แต่แป๋มเชื่อค่ะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปลูกฝัง
  • กลยุทธ์ต่างๆเท่าที่มีถูกงัดมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า
  • ครั้งนี้ที่ใช้คือ"กลยุทธ์ลุ้นรับสะสมแต้ม"ค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับประเด็นที่สร้างสรรค์ค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณ. มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)  172

อากาศวันอาทิตย์ที่ 7 มิ.ย. นี้สบายๆจริงๆค่ะ

มีเว็บดีอยู่เว็บหนึ่งคือ   สือสร้างสุขภาวะเยาวชน มีสโลแกน อยากเห็นเด็กไทย รักการอ่าน มาพัฒนาเด็กไทยด้วยหนังสือ
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552   ท่านรัฐมนตรี สาทิตย์นำทีม กรมประชาสัมพันธ์ จับมือ สสส. , ส.ส.ท. และเครือข่ายเด็กและครอบครัว เปิด "คลื่นวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว" FM 105 MHz. ให้เป็นคลื่นการเรียนรู้ที่ปลอดโฆษณาแห่งแรกของประเทศ

รัฐบาลเปิดสถานีวิทยุ 24 ชั่วโมง เพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว โดยปราศจากโฆษณา เป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมประชาสัมพันธ์,  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ,  แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.)ชมรมวิทยุเด็ก เยาวชนและครอบครัว  และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเห็นว่า  มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาคนและสังคม
ไม่เฉพาะเด็กๆ แต่มีประโยชน์กับคนทุกช่วงวัย
แต่การอ่านหนังสือ ยังเป็นกิจกรรมที่ต้องการการปลูกฝังและส่ง เสริมสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง   งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ   ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญในฐานะที่  เป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านระดับชาตินะคะ

สวัสดีค่ะคุณครูครูแป๋ม
ขอบคุณที่มาอ่านค่ะ และได้ไปเยี่ยมที่บล็อกของคุณครู  จะสอนทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ใช่ไหมคะ

สมัยนี้ คุณพ่อคุณแม่และทางโรงเรียน มีการสอนดนตรี ควบคู่ไปกับการสอนภาษาและคำนวณด้วยนะคะ เพราะดนตรีจะไปกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการด้านภาษา เนื่องจากดนตรีมีการจัดระบบคล้ายภาษานั่นเอง
ดนตรีในช่วงวัยเด็ก จะช่วยสร้างพื้นฐานของระบบประสาทเกือบทั้งหมด   ช่วงอายุตั้งแต่แรกจนถึง 12 ขวบ  จึงเป็นโอกาสทองในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ โดยเฉพาะ 0 - 6 ขวบ
สมองเด็กจะเจริญเติบโตเร็ว ( = 80% ของผู้ใหญ่ ) จะทำให้เด็กเจริญเติบโตอย่างโดดเด่น
ไม่ว่าด้านภาษา ดนตรี  ศิลปะและคณิตศาสตร์

จาก ประสบการณ์ส่วนตัว เชื่อมั่นว่า ดนตรีช่วยพัฒนาสมอง   ดนตรีมีผลต่อสมองทั้งสองซีก ไม่ใช่เฉพาะซีกขวาซีกเดียวอย่างที่เคยเชื่อกัน  ดนตรีพัฒนาการเรียนรู้ในด้านต่างๆ และความจำ
และยิ่ง ถ้าเราเอาใจใส่ฝึกฝน เรื่องการอ่าน ของเด็กๆควบคู่ไปด้วย ก็ยิ่งทำให้เด็กๆพัฒนาเร็วยิ่งขึ้นนะคะ


ในช่วงนี้ ที่สหรัฐอเมริกากำลังจะเป็นช่วง SummerLibrary launches reading program
อ่านข่าวพบว่า ทางห้องสมุดต่างๆ มีแคมเปญพิเศษ รณรงค์ให้เด็กๆมาเข้าห้องสมุด หาหนังสืออ่านกันมากเลยค่ะ เหมือนๆกับที่บ้านเราตามห้องสมุดต่างๆ  ก็กำลังมีการรณรงค์ให้เด็กอ่านหนังสือกันให้มากๆอยู่ขณะนี้

สวัสดีค่ะพี่ศศนันท์

ชอบแวะมาบันทึกพี่ค่ะ ... แม้ว่าบางครั้งมีเวลาน้อย แต่ก็อดจะแว๊บเข้ามาสักนิดไม่ได้...

เรื่อง "เจ้าชายน้อย" นี้ หลานสาวของน้อง ซึ่งเป็นคุณแม่ของสามใบเถา เขาซื้อไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านให้เด็ก ๆ ฟังค่ะ...

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ ของพี่นะคะ

ส่งภาพเด็ก ๆ ดูแล้วสดชื่น สบายใจมากลดดีกรีความเครียดของสังคมค่ะ...

(^___^)

สวัสดีค่ะน้อง. คนไม่มีราก 176
ขอบคุณที่แวะมานะคะ รูปเด็ก น่ารักมากค่ะ

พอดี พี่
อ่านพบจากChildstat.gov ว่า ที่อเมริกา เขามีการประเมินถึงผลที่เกิดจาก การพยายามส่งเสริมในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชน ในช่วงปี 1990-2007  ปรากฏว่า ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจมาเป็นลำดับ (มีรายละเอียดค่ะ)
อาทิเช่น เด็กๆ ในช่วงวัยก่อนวัยเรียนเป็นต้นมา พบว่า มีการอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวันพร้อมๆกับ  มีการเตรียมพร้อมทักษะในด้านต่างๆของเด็กๆมากขึ้น แม้กระทั่งในครอบครัว ที่มีฐานะไม่ดีนัก

ส่วนในชั้นเรียนที่โตขึ้น มีการเน้นเรื่อง คณิตศาสตร์  การอ่าน ตลอดจนวิชาต่างๆที่จำเป็นสำหรับการศึกษาขั้นสูงมากขึ้น
แสดงว่า การอ่าน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก นับตั้งแต่เด็กยังอายุ ไม่ถึงขวบ จนโต กระทั่งจบการศึกษาทีเดียว และยังมีความสำคัญต่อเนื่องมาจนกระทั่ง เป็นผู้ใหญ่ด้วยนะคะ
 

 

รางวัลทางจิตวิญญาน

มอบให้ด้วยความระลึกถึง ครับ

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

ตามคุณแสงแห่งความดีมามอบ รางวัลแห่งจิตวิญญาณ บ้างค่ะ

ชอบคำที่คุณแสงแห่งความดีใช้ค่ะ

เหมาะสมกับพี่ศศินันท์มาก ๆ เลย

รางวัลบางรางวัล เมื่อได้รับแล้ว ก็ตื่นเต้น ดีใจ เบิกบานอยู่พักหนึ่ง และก็...เฉยชา เคยชิน ...

เพียร เวียนวน หา...ความพึงใจใหม่ ๆ อื่นอีก ไม่รู้จบรู้สิ้น

ทำให้คิดไปถึงที่พี่เคยเขียนบันทึกไว้ว่า เราควรให้รางวัลตัวเอง ... ทุกวัน

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะคุณ แสงแห่งความดี

วันนี้ มีความเบิกบานใจเป็นพิเศษ ที่เข้าในโกทูโนและบล็อกของตัวเองแล้ว มาพบกับ รางวัลทางจิตวิญญาน ที่คุณมามอบให้ โอ้โฮ ขอบคุณมากๆค่ะ มีทั้งโล่ห์ ทั้งเหรียญเชียวนะคะ

ถ้าพูดถึง จิตวิญญาณ  จิตวิญญาณ อย่างหนึ่งของ โกทูโน น่าจะเป็นเรื่องของน้ำใจ เป็นสังคมบนพื้นฐานความสัมพันธ์แบบเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน มีความงดงามหลายๆอย่าง อยู่ที่นี่มาก แม้ว่า ตัวเองไม่เคยนึกถึงเรื่องรางวัลอะไรแม้แต่สักนี๊ดเดียว ก็ยังอดยิ้ม ในความน่ารักของคุณ แสงแห่งความดี ไม่ได้

ในโกทูโนนี้ มีสมาชิกที่มีความหลากหลายมากนะคะ  ซึ่งความหลากหลายในสังคม เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เรียนรู้จากกันและกัน 
แม้ในสังคมภายนอกโกทูโน ก็เช่นกัน  อันที่จริงแล้ว สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ว่าเราจัดการกับ "ความแตกต่างและความหลากหลาย" นี้อย่างไร

พอพูดถึงเรื่องหนังสือ เรื่องการอ่าน ก็อดคิดถึง สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในโลกไม่ได้  ซึ่งมีเพียงไม่กี่บริษัท เป็นต้นว่า บริษัท Bertelsmann ของเยอรมนี นับเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ที่สุดในโลก   มีธุรกิจนิตยสาร 78 ฉบับ หนังสือพิมพ์ 16 ฉบับ และยังเป็นเจ้าของ Random House ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในโลก

บริษัท Lagardere เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสื่อของฝรั่งเศส เป็นเจ้าของสิ่งพิมพ์จำนวนมาก โดยเฉพาะนิตยสารมากกว่า 200 เล่ม เป็นต้นว่า Elle. Womans Day

บริษัท Reed-Elsevier เป็นบริษัทสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ นับเป็นสำนักพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคนิค และการแพทย์ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์หลายแห่ง เช่น North-Holland, Pergamon, Excerpta Medica. Harcourt General ฯลฯ

 สำหรับแนวโน้มในอนาคตนั้น นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า...สื่ออินเทอร์เน็ตจะสามารถทดแทนหนังสือพิมพ์อย่างสมบูรณ์ 
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย  โดยเห็นว่าหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษจะไม่สูญพันธุ์   แม้จะมีสื่อวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งสามารถนำเสนอข่าวได้รวดเร็วกว่า แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อหนังสือพิมพ์เท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ การเติบโตของสื่ออินเทอร์เน็ตได้ส่งผลกระทบต่อรายได้จากค่าโฆษณาของหนังสือพิมพ์อย่างมาก  โดยผู้ประกอบธุรกิจหันไปโฆษณาในสื่ออินเทอร์เน็ตแทนนะคะ
 
ที่เห็นในรูปนี้คือ  บริษัท Bertelsmann  ที่ U.S. headquarters  Broadway in Times Square in New York City ค่ะ

สวัสดีค่ะน้องคนไม่มีราก 179

ขอบคุณมากๆค่ะ ที่มามอบ รางวัลแห่งจิตวิญญาณให้แก่พี่นะคะ ปลื้มใจมากค่ะ จริงๆพี่ เป็นคน ที่ชอบทำอะไร ตามที่ใจตัวเองอยากจะทำค่ะ   และก็ไม่ค่อยจะอยู่ในกฏเกณฑ์อะไรกับใครสักแค่ไหน
 ขึ้นอยู่กับแรงบันดาลใจ แต่พี่ก็มีความสุขและชอบมาก ที่มาเขียนบันทึก ที่ในโกทูโนนี้นะคะ เป็นโอกาสสำคัญในชีวิตที่ ได้เข้ามาอยู่ในสังคมที่ดีๆ   ได้มีความรู้เพิ่มเติมหลากหลายขึ้นมากมาย

แม้กระทั่ง ในด้านการพัฒนาทางจิตวิญญาณ  ซึ่งก็มีอยู่หลายบล็อกที่เน้นเขียนเรื่องนี้  เมื่ออ่านแล้ว ยอมรับว่า เป็นการช่วยในการพัฒนาจิตใจขึ้นมาก  ไม่เพียงแต่พุทธศาสนา ศาสนาอื่นๆก็มี  ทำให้เข้าใจในมุมองของชีวิตมากขึ้น และสามารถนำเนื้อหาต่างๆ ไปใช้ได้จริงค่ะ

ขอวกมาคุยเรื่อง  หนังสือ เรื่องการอ่าน อีกนิดหน่อยค่ะ  .... ตอนนี้ Newspaper industry    กำลังมีการเปลี่ยนแปลง  และจะเปลี่ยนแปลงไปอีก ซึ่งสาเหตุ หนีไม่พ้นปัญหาการเงิน กับปัญหาการรุกไล่เข้ามาของเทคโนโลยี่
ปัจจุบัน
คนอ่านอยากจะอ่านหนังสือ online  เพราะเร็วและฟรี แม้แต่ The New York Times Co. กำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

มีข่าวว่า  David Geffen มหาเศรษฐี ที่ Forbes คาดว่า มีเงินราว $4.5 billion เข้าขั้น global megawealthy กำลังสนใจจะเข้ามาถือหุ้น หรือซื้อหุ้นทั้งหมดของThe New York Times
เขาเป็นคนที่รวยมาจากแวดวง Hollywood หรือ media industry ผลิตและขายเพลงอมตะของนักร้องต่างๆ เช่น Joni Mitchell และ the Eagles  กับดูแล DreamWorks คนใกล้ชิดเขาบอกว่า ถ้าGeffen ได้เป็นเจ้าของ หนังสือพิมพ์ New York Times ก็ตั้งใจจะให้เป็น nonprofit เพราะต้องการที่จะรักษาสถาบันสื่อเก่าแก่ของสหรัฐฯแห่งนี้ให้เป็นหลักของสื่อคุณภาพ

"ถ้าไม่ต้องมีความกดดันที่ต้อง จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเหมือนธุรกิจค้ากำไรทั้งหลาย ก็จะทำให้หนังสือพิมพ์ New York Times สามารถดำรงอยู่ได้ไปอีกนาน"

ซึ่งไปสอดคล้องกับ  รูเพิร์ท เมอร์ดอก an Australian-born global media mogul. ให้สัมภาษณ์พิเศษ ดูได้จาก Fox Business Channel ของเขาเอง ว่า "อนาคตของหนังสือพิมพ์ต้องเป็นดิจิตัลแน่" แต่อาจจะต้องใช้เวลา 10 ถึง 15 ปี ก่อนที่คนอ่านจะปรับตัวเป็นดิจิตัลเต็มตัว และเขาบอกว่า สื่อทั้งหลายจะต้องเริ่มคิดสตางค์กับคนอ่านเนื้อหาจากเว็บที่ ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะฟรี

แต่อย่างไรก็ตาม  เมอร์ดอกบอกว่าหนังสือพิมพ์ในอนาคตจะยังทำทำรายได้จากคนอ่าน และยังมีการลงแจ้งความต่างๆ แต่หนังสือพิมพ์อนาคตจะแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจาก อาจจะไม่พิมพ์บนกระดาษ แต่เนื้อหาจะไปอยู่บนเครื่องมือที่ถือไปไหนมาไหนได้สะดวก โดยที่จะมาทางอากาศ และจะup date ทุกชั่วโมงหรือสองชั่วโมง
เมอร์ดอกบอกว่า จะต้องมีการจ่ายเงินสำหรับเนื้อหาของสื่อบนเว็บและอุปกรณ์เคลื่อนย้ายได้ทั้งหลายในอนาคต
ส่วนตัวคิดว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก ในการคาดคะเนของ รูเพิร์ท เมอร์ดอก แต่อาจจะไม่ถึง 15 ปี จากนี้ก็ได้

Digital Divide มีหลายระดับ   ของเรา อาจอยู่ในระดับที่อาจจะมีความเหลื่อมมากหน่อยนะคะ
แต่ปัจจุบัน  หนังสือพิมพ์ชื่อดังสามฉบับคือ New York Times, Washington Post และ Boston Globe ตกลงให้เอาเนื้อหาขึ้น
Kindle ( เครื่องอ่านหนังสือพิมพ์, ตำราและเอกสาร) ใหม่ในราคาลดพิเศษ  แต่จะให้เฉพาะคนที่อยู่ในเขตที่หนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษของสามฉบับนี้ไปไม่ถึงเท่านั้น

นี่คือสัจธรรมนะคะ ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง เป็นของธรรมดา
ความเปลี่ยนแปลง เป็นผลมาจากวิวัฒนาการทาง ความคิดของมนุษย์ทั้งสิ้น เรามักใช้คำว่า "change" และ "transformation" เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงมีทั้งแบบค่อยเป็น ค่อยไป จนถึงการเปลี่ยนแปลงแบบข้ามขั้นตอน
แต่คิดว่า การเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์นี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป  สามารถคาดการณ์ได้ ไม่ทำให้คนช็อคเท่าใดค่ะ

  • คุณพี่  Sasinand สมกับเป็นปราชญ์แห่งการเรียนรู้ในใจของศิลาเลยค่ะ ค้นคว้าและอ่านหนังสือเก่งมาก
  • จนถึงวันนี้ หากจะพูดคำนี้ทั้งที่เราพูดคุยกันมานานพอสมควรแล้วจะถูกกาละเทศะไหมคะ..."ดีใจที่ได้รู้จักคุณพี่ Sasinand ค่ะ"
  • มาร่ำลาไปชำระล้างกายและใจที่เหน็ดเหนื่อยก่อน หากฟื้นตัว จะกลับเข้ามาใหม่ค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณ Sila Phu-Chaya

เห็นว่าไม่ค่อยสบาย หายแล้วนะคะ อย่างน้อยคงจะค่อยยังชั่วแล้ว ขอให้หายเร็วๆค่ะ พักนี้ ฝนตก อากาศครึ้มๆอย่างนี้ เชื้อหวัดในอากาศเจริญดีมากเป็นพิเศษค่ะ
อาจารย์คะ อาจารย์ชมไปหน่อยค่ะ ที่จริงไม่ได้ดีอย่างอาจารย์ชมหรอกค่ะ เพียงแต่ เป็นคนชอบเรียนรู้ไปเรื่อยตั้งแต่เด็กๆ นิสัยนี้เลยติดมาจนบัดนี้ค่ะ และความสนใจก็หลากหลายค่ะ ตามแต่โอกาสที่แวดล้อมอยู่
ช่วงที่ศึกษาด้านธรรมะอย่างมากๆก็มีนะคะ หลายปีเลยทีเดียว เรียกว่า เข้าใจความเป็นไปในวัดค่อนข้างดีค่ะ  และฝึกปฎิบัติเองด้วย
การที่เข้ามาในโกทูโน ก็เป็นโอกาสดีที่ได้เข้ามาเขียนอะไรๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจ ณ ขณะนั้นค่ะ แต่จะเขียนตามที่จะมีเวลาว่างค่ะ ไม่มีกำหนดว่า จะเขียนเท่านั้น เท่านี้ ในเดือนหนึ่งๆ

ในเรื่องของหนังสือนี่ เชื่อไหมคะว่า เคยจะออกนิตยสารรายเดือนเองด้วย มีทีมงานพร้อมแล้ว แต่ติดที่มีงานด่วนสำคัญเข้ามา ซึ่งต้องใช้เวลาสะสาง เลยทำให้โครงการต้องเลื่อนและยกเลิกไปในที่สุด

ส่วนในเรื่องสื่อสิ่งพิมพ์  อะไรก็คงมาแทนที่หนังสือพิมพ์ยากนะคะ   เพราะหนังสือพิมพ์จะต้องมีเครือข่ายนักข่าวจำนวนมากที่เก็บรวบรวมข่าวสาร   ซึ่งสื่อประเภทอื่นๆ ยังไม่สามารถแข่งได้  แต่หนังสือพิมพ์ก็จะต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน  ในการนำเสนอข่าวไปยังประชาชนในหลายรูปทั้งแบบกระดาษ และผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ส่วนนิตยสารได้รับผลกระทบจากสื่ออินเทอร์เน็ตน้อยกว่าหนังสือพิมพ์ เนื่องจากเป็นสื่อที่ผู้อ่านไม่ต้องการข่าวที่รวดเร็วเท่าใดนัก แต่นิตยสารมีการเติบโตน้อยมาก

รูปแบบร้านหนังสือก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จากเดิมตกแต่งในแบบเก่าๆ ไม่น่าสนใจ  ยกเว้นพวก หนอนหนังสือ เท่านั้น

แต่ปัจจุบันได้เกิดการปรับปรุงครั้งใหญ่กล่าวคือ  มีร้านค้าปลีกหนังสือ จะตกแต่งสวยงาม และยังจำหน่ายสินค้าอื่นๆ เช่น แผ่นซีดี กาแฟ ฯลฯ พร้อมกับมีโซฟาให้นั่งสบายๆ
ดังนั้น แทนที่จะเป็นแค่ ร้านหนังสือ กลับกลายเป็น สถานที่นั่งเล่นซึ่งขายหนังสือและกาแฟ ทำให้คนที่ไม่เคยสนใจอ่านหนังสือมาก่อน เริ่มเดินเข้าร้านหนังสือมากขึ้น
เมื่อคนเข้าร้านหนังสือมากขึ้น ก็มีการอ่านมากขึ้นด้วยนะคะ

ส่วนกรณี  การจะทำให้เด็กๆเล็กๆอายุ 2.5- 3.5 ขวบ เกิดทักษะในด้านภาษาเร็วขึ้น ตามประสบการณ์แล้ว  ต้องพึ่งการร้องเพลงด้วยค่ะ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติและสนุกสนาน การร้องเพลงที่มีจังหวะจะโคนต่างๆ จะช่วยเด็กๆในด้านการพัฒนาภาษามากและเร็วขึ้นด้วยค่ะ 

  • ตามมาขอบคุณครับ
  • เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเกิดจากการปลูกฝัง
  •  บ้านใด พ่ออ่านหนังสือ แม่ชอบอ่านหนังสือ
  • ไม่นานลูกก็จะชอบอ่านด้วย
  • ผมแกล้งวางหนังสือสนุกๆๆไว้ให้หลาน
  • ไม่นานหลานก็หยิบไปอ่านจนติดเป็นนิสัยครับ

 สวัสดีค่ะคุณขจิต ฝอยทอง
ที่เข้ามาเยี่ยม มี Quotes ดีๆที่เกี่ยวกับหนังสือมาฝากค่ะ

"A room without books is like a body without a soul."
- Marcus Tullius Cicero

If you have a garden and a library, you have everything you need."
- Marcus Tullius Cicero

"To add a library to a house is to give that house a soul."
- Marcus Tullius Cicero
Cicero is generally perceived to be one of the most versatile minds of ancient Rome. He introduced the Romans to the chief schools of Greek philosophy and created a Latin philosophical vocabulary, distinguishing himself as a linguist, translator, and philosopher.
ซิเซโร
เป็น รัฐบุรุษนักการเมือง นักคิดปัญญาชนและนักปรัชญาการเมือง ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วในจักรวรรดิโรมัน

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

มาขอบคุณสำหรับหนังสือสองเล่มที่พี่กรุณาส่งมาให้ค่ะ

ถูกใจทั้งค่ะ เพราะเกี่ยวสิ่งที่สนใจ (สาระอาหาร) และสิ่งที่ชอบ (ใบไม้ใบหญ้า)

เพิ่งกลับถึงบ้านเมื่อเกือบสี่ทุ่มค่ะ เห็นหนังสือดีใจมาก...

จะหาเวลาอ่านและให้เด็ก ๆ ได้อ่านด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

 

สวัสดีค่ะ ดีใจที่น้อง คนไม่มีราก  ชอบหนังสือ พี่ตั้งใจจะส่งให้หลานๆอ่านค่ะ
พอดีไปเจอนิทานอีสป ที่นี่อีก เลยขอนำมาฝากอีกนะคะ

นอกจากนี้ ทางสถาบันรามจิตติ
 พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เคยมอบหนังสือ "ทักษะชีวิตเด็กไทย 9 ด้าน" จำนวน 10,000 เล่ม หรือ 1,000 ชุด โดยหนังสือ 1 ชุด มีจำนวน 10 เล่ม ให้กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับมอบ

  หนังสือชุดนี้ ดีมากค่ะ  เด็กไทยยุคใหม่ต้องรู้วิชาชีวิต จะต้องมีทักษะชีวิตที่ปลอดภัย เป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด เป็นผู้ที่รู้เท่าทันสื่อ เป็นคนเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นคนที่มีจิตใจใฝ่สันติ และอีกหลายเรื่อง เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ได้ดีทีเดียวค่ะ

หนังสือเล่มนี้  Peter Pan เด็กๆก็ชอบค่ะ

 

พี่เอง เมื่อตอนเด็กๆ ชอบอ่านนิทานอีสป สอนใจดีมากค่ะ

The Lion in Love Aesop Author of the Fable
Nationality - Ethiopian  Lifespan - Lived approximately 620 - 560 BC     Career - Aesop - Slave - Author 

Famous Works - Aesop's Fable compendium featuring:
"The Goose With the Golden Eggs", "The Fisher",
"The Lion in Love"


ภาพจาก www.stellabooks.com

ตามมาขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมที่บล็อก

สวัสดีค่ะคุณ berger0123
ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ

พี่เป็นคนที่ประทับใจ นิทานอีสปค่ะ จำได้เกือบทุกเรื่อง และใช้เป็นคติสอนใจตัวเองมาจนบัดนี้ หลายๆเรื่อง เช่น หมากับเงา ...สอนว่า โลภมาก จะลาภหาย...เป็นสัจธรรมเลยนะคะ
The Dog and the Shadow  Aesop's Fables - by Aesop

It happened that a Dog had got a piece of meat and was carrying it home in his mouth to eat it in peace.
Now on his way home he had to cross a plank lying across a running brook.
As he crossed, he looked down and saw his own shadow reflected in the water beneath.
Thinking it was another dog with another piece of meat, he made up his mind to have that also.
So he made a snap at the shadow in the water, but as he opened his mouth the piece of meat fell out, dropped into the water and was never seen more.

Beware lest you lose the substance by grasping at the shadow.  

สวัสดีค่ะ

  • คุณ Sasinand สบายดีนะคะ
  • มาติดตามหาการบ้าน..ไปฝากน้องลิงน้อยที่โรงเรียนค่ะ
  • น่าสนใจนะคะนิทานอีสป ที่นี่อีก / "ทักษะชีวิตเด็กไทย 9 ด้าน" 
  • ขอขอบพระคุณค่ะ  ที่แนะนำ
สวัสดีค่ะคุณ ครูคิม  ขอบคุณที่มาเยี่ยมอีกครั้งนะคะ

ที่มูลนิธิซิเมนต์ไทย ซึ่งมีโครงการเพื่อเด็กและเยาวชน
การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือ   รณรงค์เรื่องการอ่านมานาน
เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านว่าเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาอย่างรอบด้าน
จึงได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ยังเล็กๆ พี่ยังได้มีโอกาสไปร่วมงานกิจกรรมต่างๆ ของเขาหลายหนทีเดียว

การรณรงค์และส่งเสริมการอ่านแบบนี้   ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ที่คณะกรรมการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน หรือ IBBY (International Board on Books for Young People) กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน เป็น วันหนังสือเด็กนานาชาติ โดยมีการจัดทำโปสเตอร์เพื่อส่งสารไปยังเด็กๆ ในประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ซาบซึ้งถึงคุณค่าของการอ่านค่ะ

International Children's Book Day
เริ่มตั้งแต่ปี  1967 หรือ ตั้งแต่ Hans Christian Andersen's birthday มาจนบัดนี้  วันที่ 2 April กลายเป็น  International Children's Book Day (ICBD)  โดยจะมีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆรักการอ่านหนังสือ

ตามข้อมูล จากมูลนิธิซีเมนต์ไทย แจ้งว่า.....

สำหรับประเทศไทยจัดทำโปสเตอร์เพื่อการรณรงค์และส่งเสริมการอ่านมา 5 ปี ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2548
ในปี 2552 นี้  เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงส่งเสริมการอ่านและทรงประพันธ์หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์
มูลนิธิซิเมนต์ไทยก็ได้ร่วมมือกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กซึ่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน (IBBY) ในนามของประเทศไทย จัดทำโปสเตอร์วันหนังสือเด็กแห่งชาติและวันหนังสือเด็กนานาชาติ เพื่อร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

รวมทั้งมุ่งหวังในเชิงสัญลักษณ์ที่จะกระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนในสังคมให้เห็นความสำคัญของการอ่าน และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สำหรับโปสเตอร์วันหนังสือเด็กแห่งชาติและวันหนังสือเด็กนานาชาติ 2552 นี้
และทางมูลนิธิซิเมนต์ไทยยังได้รับเกียรติ จากรองศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒประสานมิตร ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือภาพสำหรับเด็กกว่า 25 ปี เป็นผู้จัดทำภาพในคำขวัญ...
‘อ่านหนังสือหลากหลายชนิด เพิ่มสีสันให้ชีวิตงดงาม' (Read a variety of books, make your life more colourful) อีกด้วย

สวัสดีค่ะ  ...

       ตามมาหานิทานค่ะ

       ปีนี้มีข้อตกลงกับเด็กๆ(จริงๆแล้วเด็กๆบังคับ)ก่อนเริ่มกิจกรรมการเรียนต้องเล่านิทานให้เด็กๆฟัง 1 เรื่อง แล้วเด็กๆก็จะปฏิบัติตามกิจกรรมการสอนของครูด้วยดี ..^__^..

       ตั้งแต่เปิดเทอมมาก็เลยต้องทำการบ้านให้ตัวเองคือ อ่านๆๆๆนิทานเพื่อนำไล่ให้เด็กๆฟัง กำลังเริ่มจะหมดมุขแล้ว ดีจังค่ะที่ได้พบตรงนี้  นิทานอีสป ที่นี่อีก จะได้นำไปต่อมุขให้เด็กๆได้อีกหลายเม็ด

       ขอบพระคุณนะคะที่นำเรื่องราวดีๆไปแนะนำที่บันทึกหนูค่ะ ชอบๆๆๆๆๆ

       มีความสุขกับทุกๆวันนะคะ

      

สวัสดีค่ะ คุณครูตุ๊กแก…ตัวดำๆ…
ขอบคุณที่มาเยี่ยมค่ะ
คุณครูบอกว่า อยากได้นิทานไปเล่าให้เด็กๆฟัง เลยนำมาฝากค่ะ

นักแต่งนิทาน ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งคือ  ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน   (Hans Christian Andersen) เขาเกิดร่วมยุคสมัยเดียวกับพี่น้องตระกูลกริมม์ (Jacob and Wilhelm Grimm) แห่งเยอรมนี และ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) แห่งสหราชอาณาจักร

ต่อไปนี้ พี่สรุปมาจากนิตยสาร สารคดีนะคะ....
นิทานของสองพี่น้องกริมม์ได้
มาจากการรวบรวมนิทานพื้นบ้านจากทั่วประเทศแล้วนำมาเล่าใหม่   แต่นิทานของแอนเดอร์เสนเป็นนิทานที่แต่งขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด  จากนิทาน ๑๕๖ เรื่อง มีเพียง ๑๒ เรื่องเท่านั้นที่เขานำนิทานพื้นบ้านมาเล่าใหม่

นิทานของสองพี่น้องกริมม์แบ่งแยกความดี-เลวชัดเจน แต่นิทานของแอนเดอร์เสนกล่าวถึงชีวิตที่พบได้ในความเป็นจริงมากกว่า

ตัวละครในนิทานของสองพี่น้องกริมม์มีลักษณะเป็นแบบฉบับ (stereotype) แต่ตัวละครในนิทานของแอนเดอร์เสนมีความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality)

ตั้งแต่ Hans Christian Andersen's birthday มาจนบัดนี้ วันที่ 2 April กลายเป็น International Children's Book Day (ICBD) โดยจะมีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆรักการอ่านหนังสือ
แอนเดอร์เสนเกิดเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ค.ศ. ๑๘๐๕ ที่เมืองโอเดนส์ ซึ่งแม้จะมีประชากรไม่มาก แต่ก็เป็นเมืองใหญ่อันดับ ๒ ของเดนมาร์ก โอเดนส์ในเวลานั้นเป็นเหมือนเมืองจำลองของสังคมขนาดใหญ่ ด้วยเหตุที่มีผู้คนทุกชนชั้นอาศัยอยู่ นับตั้งแต่เจ้าเมืองซึ่งเป็นมกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์กที่ถูกเนรเทศ ไปจนถึงพ่อค้า และช่างฝีมือที่ยากจน

แอนเดอร์เสนเกิดในครอบครัวยากไร้ อาศัยในห้องเช่าของบ้านหลังหนึ่ง ที่ห้องครัวนั้นสามารถปีนออกไปยังหลังคาได้ ตรงนั้นมีกระถางดินเผาใบหนึ่งซึ่งเป็นเสมือนสวนของแม่ ความทรงจำในวัยเยาว์ทำให้ฉากนี้ปรากฏในนิทานเรื่อง "The Snow Queen" ของเขาในเวลาต่อมา

ลองอ่านนิทานลูกเป็ดขี้เหร่ของHans Christian Andersen ก็สนุกนะคะ เรื่อง เงือกน้อย ก็สนุกค่ะ เขาไม่เคยได้รับความสมหวังในชีวิตรัก โดยเฉพาะกับนักร้องเสียงดีคนหนึ่ง จนเกิดนิทานเรื่อง "The Nightingale" ขึ้น นอกจากนิทานที่ออกชื่อไปแล้ว ยังมีนิทานที่มีชื่อเสียงอีกหลายเรื่องค่ะ ที่นี่...

แวะเข้าชื่นชมที่มีความตั้งใจที่สร้างความดีด้วยการให้การศึกษาอย่างจริงใจ ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณเหรียญชัย เหรียญชัย มาวงษ์  194

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมค่ะ และให้กำลังใจ  จริงๆที่บันทึกค่อนข้างยาว ก็เพราะมีกัลยาณมิตรมาเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว  ก็เป็นความตั้งใจ ที่จะขอตอบทุกท่าน ซึ่งเมื่อตอบแล้ว ก็เลยมีเรื่องเล่าต่อได้เรื่อยๆน่ะค่ะ แต่ไม่หลุดกรอบของเรื่องการอ่าน โดยเฉพาะการรณรงค์ให้เด็กๆรักการอ่านหนังสือค่ะ แต่บางเรื่อง อาจเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แปลไปให้ เพราะเวลาน้อยค่ะ

แต่เมื่อเด็กโตขึ้น การอ่านนิทานก็ไม่จำเป็นแล้ว  แต่เด็กจะไปหาหนังสือมาอ่านเอง ซึ่งในโรงเรียนทุกแห่งควรมีห้องสมุดหรือ Reading Room ที่กว้างขวางให้นักเรียนเข้าไปหาหนังสืออ่านเองได้ โดยมีหนังสือที่หลากหลายและมากพอนะคะ

ดิฉันได้เคยจดข้อความ ที่ดิฉันชอบมาก ในเรื่องของการศึกษา เลยขอนำมาฝากคือ

 "If you tell me, I will listen. If you show me, I will see. But if you let me experience, I will learn."
จาก the Chinese philosopher, Lao-tse,  ซึ่งมีชีวิตอยู่ใน ศตวรรษที่ 5  B.C.,  ซึ่งคือการอธิบายง่ายๆ ของความหมายเรื่อง   active learning  ค่ะ

กราบสวัสดีค่ะ..ท่านอาจารย์ศศินันท์

หนูตั้งใจเข้ามาอ่านบันทึกนี้มากกว่า ๑๐ รอบแล้วค่ะ

แรกเริ่มเมื่อผู้อ่านยังไม่ถึงร้อย..จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ๒๐๖๙ ท่าน

หนูอ่านเนื้อหาของบันทึก(เนื้อความ)ก่อน..ตั้งใจจะคุยกับอาจารย์

ก็มัวหลงเพลินกับคำตอบของอาจารย์ที่ตอบเพื่อนๆ

อ่านแบบพินิจค่ะ..เพราะทุกคำพูดของท่านอาจารย์ไม่สมควรทิ้งแม้เพียงคำ, วลี, ประโยคเดียว

เมื่อหนูได้ซึมซับกับ "ความสุขที่เกิดจากการอ่าน" แล้ว..

หนูก็ค่อยๆเดินกลับออกด้วยใจที่เปี่ยมสุข

โดยไม่ได้คุยอะไรกับอาจารย์เลย

จะถาม..ก็มีคำตอบให้แล้ว

จะชื่นชม..ก็พบเห็นแล้ว สัมผัสได้ทุกคอมเมนต์

บ้านหลังนี้จึงเหมือนห้องสมุดชีวิตขนาดใหญ่..สำหรับหนู (ใหญ่มากกกก..ค่ะ) สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายความรู้ได้อีกมากมาย

ท่านอาจารย์เป็นเหมือนดั่ง "ห้องสมุดมีชีวิต" จริงๆ ค่ะ

เหมือนที่หนูเคยเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

(หนูต้องย้อนกลับไปเปิดห้องใดห้องหนึ่งดูแล้วค่ะ..อิอิ)

หนูขอน้อมคารวะท่านอาจารย์ศศินันท์..ด้วยความเคารพรักจากใจค่ะ

                                            

หนูจะยังคงเข้ามาอ่านชีวิต..ที่มีท่านอาจารย์เป็นผู้เขียนอีกต่อไปค่ะ

ด้วยความเคารพค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

มาอ่านคำตอบและได้ความรู้เพิ่มเติมค่ะ

ช่วงนี้น้องไปเข้าชั้นเรียน "วิจัยเชิงคุณภาพ" กับกลุ่มนักศึกษาของสันติอโศก ซึ่งเชิญอาจารย์จากนิด้า จากมหิดล และจากจุฬา ฯ มาสอนค่ะ เรียนทั้งวันเช้าจรดเย็น สนุกมาก ๆ จึงมีเวลาน้อย ไม่ค่อยได้มาทักทายพี่ค่ะ

ระลึกถึงพี่และชอบที่พี่คอยเพิ่มเติมความรู้และให้สติเสมอค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะน้อง ศน.อ้วน 196
ขอบคุณมากที่เข้ามาเยี่ยม  และให้ยาหอมจนปลื้มมากๆค่ะ

พี่เองก็ไม่ได้รู้อะไรมาก แค่เขียนประสบการณ์และค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เนื้อหาดีขึ้นมาอีกหน่อยค่ะ บล็อกของน้อง พี่เข้าไปบ่อยค่ะ เพราะชอบเรื่องอะไรๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาค่ะ
ที่บ้านพี่สมัยเด็กๆหนังสือมาก และเพราะหนังสือ ที่คุณพ่อสะสมไว้ จึงทำให้พี่สอบได้คะแนนดี เพราะพี่จะไล่อ่านจนหมด เก็บความรู้ไว้ใช้ได้ตลอดเลยค่ะ
มีคำพูดดีๆที่เกี่ยวกับเรื่องการอ่านหนังสือมาฝากค่ะ

The good of a book lies in being read. A book is made up of signs that speak of other signs, which in their turn speak of things. Without an eye to read them, a book contains signs that produce no concepts; therefore it is dumb.

Umberto Eco (1932 - ) Italian writer and literary scholar

ใช่เลย และมาจากการฝึกของครอบครัวเป็นเบื้องต้น พอชอบการอ่านคราวนี้ก็รอจ่ายเงินได้เลยฮะฮ่า ลูกๆ ทั้งสามคนติดนิสัยชอบอ่าน แบบสามสามสามสไตล์เลยค่ะ

สวัสดีค่ะน้อง คนไม่มีราก 197

ดีใจจังที่น้องกำลังสนุกกับการเข้าชั้นเรียน
"วิจัยเชิงคุณภาพ" ถ้าอย่างนี้ ก็ไม่เครียดแล้วค่ะ พี่ก็พลอยสบายใจไปด้วย ต่อไปก็คงจะเป็นขั้นตอนการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งมี Case study /Interviewsด้วย ซึ่งอาจจะต้องไปใกล้ชิดกับแหล่งข้อมูลมากขึ้น  จนอาจมีเวลามาที่โกทูโนน้อยลง แต่เพื่อความสำเร็จของงาน พี่ก็ขอเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้อย่างเต็มที่ค่ะ

จำได้ว่า น้องมีหลานๆ 3 คน พี่เลยนำเอา Rowling's top 10 books for kids มาฝากค่ะ

JK Rowling is amongst six top British writers to be asked to list the books they think kids should read before leaving school.
Experts hope the lists will help them choose the best books for schools.
JK Rowling's full list

Wuthering Heights - Emily Bronte
Charlie and the Chocolate Factory - Roald Dahl

Robinson Crusoe - Daniel Defoe
David Copperfield - Charles Dickens

Hamlet - William Shakespeare
To Kill a Mockingbird - Harper Lee

Animal Farm - George Orwell
The Tale of Two Bad Mice - Beatrix Potter

The Catcher in the Rye - JD Salinger
Catch-22 - Joseph Heller

 

199.คุณที่ไม่แสดงตน

ดีจังเลยค่ะ ที่ฝึกลูกจนรักการอ่านมาตั้งแต่เล็กๆ เสียเงินไม่ว่า ขอให้ชอบอ่านหนังสือเถอะ เพราะพอชอบอ่าน ก็จะชอบเรียน ไปโดยอัตโนมัตินะคะ
คุณบอกว่า ลูกๆ 3 คน ชอบอ่านสามสไตล์เลย สงสัยน่าจะมีอยู่คนหนึ่งชอบเรื่องสัตว์และธรรมชาติบ้างนะคะ
พอดีไปพบเรื่องน่ารักๆของเด็กๆ คือ เรื่องหมีขั้วโลกค่ะ เลยนำมาฝาก...

หมีขั้วโลกมีขนสีขาวเพราะขนมันไม่มี pigment
จะมีชีวิตโดยเฉลี่ย 25-30 ปี
อาหารว่างของมันคือ แมวน้ำ
มันมีชื่อ Latin name ว่า  Ursus maritimus แปลว่า Sea bear
โดยทั่วไป มันจะมีลูกแค่ 2 ตัวเท่านั้น

มีคุณแม่คนหนึ่ง เป็นคุณครู ห้ามลูกอ่านหนังสือการ์ตูน บังคับให้ลูกอ่านหนังสือเรียน

หลังจากนั้นมา เด็กคนนี้ ไม่อ่านหนังสืออีกเลย

คุณแม่ท่านนี้ ท่านบอกว่าท่านคิดผิดครับ ที่ทำอย่างนั้นกับลูก

สวัสดีค่ะคุณ small man  202
ดีใจที่เข้ามาอ่านนะคะ
คุณครูคนที่เล่า คงเป็นครูสมัยเก่ามาก จนไม่เข้าใจ ถึงเรื่องธรรมชาติของเด็ก

การที่เด็กจะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ก็จะได้จากการเล่นอย่างสนุกสนาน หรือการอ่านหนังสือที่สนุก และทำให้เขาเกิดจินตนาการนะคะ เพราะจะ มีฮอร์โมน เอ็นดอร์ฟิน และฮอร์โมนอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาหลั่งออกมา  ช่วงนี้ เป็นการเข้าสู่สภาวะการเรียนรู้ ที่ดีที่สุด

   เป็นเรื่องเดียวกันกับที่ อ.จ.วิศิษฐ์ วังวิญญู  บอกไว้ว่า เป็นการเข้าสู่ มณฑลแห่งพลัง แบบเดียวกับการศึกษากระบวนทัศน์แบบใหม่ แบบ Montessori....

The Montessori method is a child-centered, alternative educational method based on the child development theories originated by Italian educator Maria Montessori (1870-1952) in the late nineteenth and early twentieth centuries.

17-06-2552
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวระหว่างแถลงข่าว การจัดงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 7 ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือห่งประเทศไทยว่า
เยาวชนไทยกำลังอ่านหนังสือลดลงจากเดิม เยาวชนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 69.1 นาทีในปี 2550 ลดเหลือ 66.3 นาทีในปี 2551
เพราะเยาวชนไทยนำเวลาไปใช้กับกิจกรรมอื่น ๆ มากกว่า เช่นดูโทรทัศน์ ส่งผลให้เด็กขาดจิตนาการซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเกิดความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็อ่านหนังสือน้อยลง จากเคยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 51 นาทีในปี 2548 ลดเหลือ 39 นาทีในปี 2551
จะมีโครงการจัดทำห้องสมุด   โครงการห้องสมุด 3 ดี  คือ ห้องสมุดที่มีหนังสือดี/ บรรยากาศดีส่งเสริมการอ่าน และสุดท้ายต้องมีบรรณารักษ์ดี

  • สวัสดีครับ คุณ Sasinand
  • ติดตามมาอ่านครับ  ตื่นตาตื่นใจกับเนื้อหารสาระ และกัลยาณมิตรมากมายของคุณ
  • เรื่องการปลูกฝังความรักในการอ่านบ้านเรา ผมว่าติดหนึบอยู่ที่พ่อแม่และครู 
  • ตราบใดที่คน  2 กลุ่มนี้ยังไม่รักการอ่าน การปลูกฝังนิสัยการอ่าน น่าที่จะได้ผลน้อยกว่าที่ควร
  • จากประสบการณ์ของผม ขอยืนยันว่า การประพฤติเป็นตัวอย่างของพ่อแม่ให้ลูกเห็นว่าตนชอบอ่านหนังสือ เป็นวิธีการที่มีอิทธิพลต่อความเป็นคนรักการอ่านของลูกมากที่สุด
  • ในบ้านเราพ่อแม่ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ  โดยเฉพาะคนระดับล่าง  ชาวบ้านที่เป็นชาวไร่ชาวนาแถบบ้านผม  วันหนึ่ง ๆแถบไม่เคยหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเลย  จึงทำให้ลูกเต้าของคนเหล่านี้เอาดีในเรื่องการศึกษาในระบบไม่ค่อยได้  ซึ่งทำให้โอกาสที่ด้อยอยู่แล้วยิ่งด้อยเข้าไปอีก  ปัจจุบันการศึกษาในชนบท เริ่มต้นที่สภาพของครอบครัวที่ไม่เอื้อต่อความใฝ่รู้ใฝ่เรียนของเด็ก ๆ
  • เด็ก ๆในชนบทเดี๋ยวนี้  การเล่าเรียนก็ไม่ได้เรื่อง  การงานที่บ้านก็ไม่เอา  ช่วงนี้คนรุ่นพ่อแม่ของเขายังแบกรับภาระไหวอยู่  แต่ต่อไปผมมองว่าจะเกิดปัญหาสังคมขึ้นแน่ ๆ และคงไม่เดือดร้อนกันอยู่แค่ในชนบท  ในเมืองหรือสังคมโดยส่วนรวมคงหนีไม่พ้นปัญหานี้
  • ตามความเห็นของผม  การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็ก ต้องไปกระทำที่ผู้ใหญ่
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับ

paaoobtong
18/07/52
21:39

สวัสดีค่ะ paaoobtong 205
ขอบคุณที่ให้กำลังใจค่ะ

เป็นเรื่องจริงค่ะ  ที่เรื่องการปลูกฝังความรักในการอ่าน  พ่อแม่และครูจะมีบทบาทมากๆ
แต่สำหรับคนชนบท บางที ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ค่อยสนับสนุนมากนัก

ในความเป็นจริงในชีวิต คนชนบทส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ ต้องใช้กำลังแรงงาน บวกกับแรงเครื่องจักรกล มาช่วยในการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองในไร่นาขนาดเล็ก
เมื่อมีผลผลิตเหลือก็ส่งขาย รายได้ไม่มากนัก ต้องออกจากบ้านแต่เช้า กลับมาก็เย็นแล้ว และเหนื่อยอ่อนเกินกว่าจะมานั่งอ่านหนังสือ สอนหนังสือลูกๆ
เมื่อลูกโตไปโรงเรียน ก็จะมอบภาระในการสอนหนังสือให้ครูแทบจะ 100%  
พ่อแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกมีวิชาความรู้ มีอนาคตดีกว่าพ่อแม่กันทุกคน
แต่บางที พ่อแม่เองก็อาจจะยุ่งแต่กับเรื่องการหาเลี้ยงครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อครอบครัวเช่นกัน
ในภาวะอย่างนี้ จะให้พ่อแม่ ทำหน้าที่ดีที่สุดทุกอย่าง ก็จะยากหน่อยนะคะ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ ชาวนา ชาวไร่  ก็สามารถที่จะถ่ายทอดกระบวนความรู้ในเชิงปฎิบัติได้หลายอย่างมาก เช่น การเรียนรู้ในการเอาตัวรอดและให้มีความมั่นคงอาหารในยามฤดูแล้งได้หลายแบบ  เช่น การทำเกษตรแบบผสมผสาน การขุดบ่อ หรือสระเก็บไว้ในที่นา การพึ่งพาป่าบุ่ง  หรือการเลี้ยงปลาในแหล่งน้ำต่างๆ เป็นต้น
ก็คิดว่า เป็นการทดแทนได้ส่วนหนึ่งค่ะ

สวัสดี ครับ พี่sasinand

ความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคลที่มีชีวิต...

ถูกถ่ายทอด ออกมา ได้อย่างน่ายกย่อง เป็นอย่างยิ่ง

ถ้อยคำนี้ จึงไม่ใช่สิ่งที่กล่าว เกิน จริง

มาเสริฟ์ กาแฟ แก้วคุณ ภาพ ให้ พี่  sasinand ครับ

ด้วยความระลึกถึง อย่างจริงใจ

หวัดดีคับ อาจารย์ศศินันท์

กู๊ดดี้ไม่สบายคับ อยู่บ้าน.. เลยแวะมาอ่านเรื่องเดิมที่มีคุณภาพ อ่านแล้วก็อ่านได้อีก..

ตอนนี้กู๊ดดี้ชอบอ่านหนังสือสะกดคำมากคับ แต่บางคำก็ยังมั่วอยู่

วันก่อนที่ รร.มีสอบ กู๊ดดี้ไม่รู้หรอกคับว่า สอบ.. กลับมาบ้านก็เล่าให้ที่บ้านฟังใหญ่ว่า "ป้าอาจารย์ (หมายถึง ผอ.)เรียกเข้าห้องไป ห้ามพูดอะไรเลย แล้วก็ให้ทำการบ้านจนจบคับ แล้วก็ให้ออกมาคับ.."

ผลสอบออกมา ได้ 87% คับ วิชาที่ได้เต็ม 100% คือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นวิชาที่กู๊ดดี้ไม่ยอมขึ้นเรียน จนเพิ่งขึ้นเอาเดือนที่ผ่านมานี้เองคับ เพราะกลัวเสียงครูฝรั่ง เสียงดัง อิอิ

คุณพ่อคุณแม่ก็ปลิ้มคับ เพราะไม่ได้คาดหวังว่า ต้องได้ที่ 1 เอาแค่ให้เข้าใจบทเรียนสนุกสนานไปกับการเรียนก็พอคับ ส่วนคนที่ได้ที่ 1 ได้ (94% คนสุดท้ายได้ 57% คับ)

อ้อ..หากอาจารย์ว่าง จะเชิญไปชม เพื่อนกู๊ดดี้บุกบ้าน คับ.. เชิญนะคับ..

สวัสดีค่ะคุณแสงแห่งความดี

ดีใจที่เข้ามาเยี่ยมเยียนอีกค่ะ
คน เรา กว่าจะมาถึงวัยนี้ได้ ก็ต้องผ่านอะไรต่ออะไรมาแยะค่ะ และมีประสบการณ์ทั้งดี หรือ ไม่ดี พกเก็บไว้ไม่น้อย ที่ดี ก็บอกเล่ากันต่อไป ที่ไม่ดี ก็เตือนคนรุ่นหลัง ว่าให้ระวัง...จะได้ไม่พลาด
ใน เรื่องของหนังสือ พี่ประทับใจนิตยสาร ..Reader's Digest  มาก เพราะเป็นแรงบันดาลใจ ให้ชอบการอ่าน ตั้งแต่เด็กๆ แต่มาบัดนี้ Reader's Digest อเมริกากำลังแย่ โฆษณาหด ลดยอดพิมพ์ ต้องหาทุนเพิ่ม อะไรไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้นได้ในยุคนี้ค่ะ เห็นว่า  19-08-2552 ยื่นขอตัวเองล้มละลายไปแล้ว
ไม่อยากให้เป็นอะไรไปเลย  อ่าน Reader's Digest มาตั้งแต่เด็ก รู้สึกคุ้นเคยเหลือเกิน  เป็นตัวอย่างว่า การทำหนังสือ ไม่ง่ายเลย...
จริงๆแล้ว..ทำอะไรๆ ก้ไม่ง่ายทั้งนั้นแหล่ะ ถ้าจะทำให้ดีจริงๆ และยืนยาวคงทนไปนานๆ
ทุกอย่างมีวงจรชีวิตของตัวมันเอง รุ่ง.. โรจน์.. ร่วง..

ไม่ใช่แค่นิตยสาร ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 87 ปีอย่าง รีดเดอร์สไดเจสท์
  แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ที่มีอายุเก่าแก่พอๆ กับประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างหนังสือพิมพ์ เดอะซีแอตเติลโพสต์ อินเทลลิเจนเซอร์ มีอายุยาวนานมาถึง 146 ปี ก็ปิดฉบับพิมพ์ไปเมื่อประมาณช่วงต้นปีที่ผ่านมาเช่นกัน...ตอนนี้เป็น online newspaperอย่างเดียว

แต่โล่งใจ นิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์ สรรสาระ ประเทศไทย ซึ่งได้จัดพิมพ์มา 14 ปีแล้ว ยังอยู่ได้ ค่อยยังชั่ว

สวัสดีค่ะน้อง goody krub ที่น่ารักมากๆ

ก่อนอื่น ต้องขอชื่นชมว่า เก่งมากๆ ที่ได้เต็ม 100% ภาษาอังกฤษค่ะ นำความปลื้มใจมาให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่เล็กๆเลยนะคะ ขอให้เก่งๆๆๆ ยิ่งขึ้นนะคะ
เด็กๆสมัยนี้เติบโตมากับยุค New Media ซึ่งมีทั้งข้อดี ข้อเสีย พี่เองก็ต้องระวังเด็กๆเหมือนกัน

ในยุคของ Old Media มักมีคำกล่าวว่านักข่าวมีปากกาเป็นอาวุธ สามารถใช้เขียนให้คุณให้โทษกับใครก็ได้
แต่ในยุคของ Social Media ผู้บริโภคสื่อมีอำนาจมากขึ้นและผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตสื่อ
เมื่อทุกคนสามารถเขียนกระทู้ เขียนบล็อก โพสต์รูป หรืออัปโหลดคลิปวิดีโอได้อย่างอิสระเสรี


จึงเปรียบได้ว่าคีย์บอร์ดและเมาส์กลายเป็นอาวุธของคนไซเบอร์ที่ใช้ได้ทั้งการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ หรือใช้ทำร้ายและทำลายผู้อื่นก็ได้

สื่อสมัยใหม่กำลังจะมาแย่งพื้นที่และเนื้อหาสื่อclassic สื่อใหม่มีข้อเด่นที่เน้นความเร็ว แต่ความถูกต้องยังเป็นข้อสงสัย คือจะมีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือ และการขาดเงินทุน ในด้านการแสวงหาความจริงต่างๆในเชิงลึก ซึ่งต้องใช้ทุนแน่ๆ

ดังนั้น อาจจะยังไม่เร็วนัก ในเมืองไทย ที่สื่อกระแสใหม่ๆจะตามทันสื่อกระแสหลักเพราะสื่อใหม่ยังอยู่ในวงแคบ และยังมีเรื่องคุณภาพของเนื้อหาด้วย ที่สำคัญ ตอนนี้ สื่อกระแสหลัก ลงมาเล่นในสื่อสมัยใหม่ควบคู่ไปด้วยซีคะ ควบคู่กันไปเลย

ไม่นานมานี้ คนใช้อีเมลกันมากมาย ซึ่งสามารถบล็อกอีเมลได้ แต่เดี๋ยวนี้ การจะบล็อกอีเมล จะไม่ง่ายเท่าใดแล้ว เพราะผู้ใช้สามารถใช้ Feed แทนได้อีกค่ะ (FoE )

และก็ใช้ได้ดีเสียด้วย อ่านแล้ว จะลบเลยก็ได้ ไม่ใช่จะส่งข้อความได้อย่างเดียว small files และ podcasts ก็ใช้ได้ ต่อไป อาจใช้กับมือถือได้ด้วย เทคโนโลยี่ ไปไกลเร็วจังนะคะ
สำหรับกลุ่มวัยรุ่น  และชอบมีเพื่อนๆจากInternet  ก็ต้องระวังให้มากๆ มีเรื่องไม่ดีไม่งามอยู่บ่อยๆ  แต่สำหรับ คนทำงานหรือผู้ใหญ่ ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร

ตอนนี้มีโปรแกรมดีๆ สะดวกๆ เช่น  facebook lite ออกมาเพื่อสะดวกในการใช้กับมือถือมากขึ้น  ก็ยิ่งห่วงพวกวัยรุ่นมากขึ้น มือถือปัจจุบัน พัฒนาไปเร็วมาก บางยี่ห้อ เช่น Apple ก็สามารถวาดระบายสีบนหน้าจอได้แล้วค่ะ

คือ สรุปว่า เด็กสมัยนี้ จะคุ้นเคยกับพวกเทคโนโลยี่ มากกว่าสมัยที่แล้วมา อย่างเทียบไม่ติด เราก็ต้องเพิ่มความเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดลูกมากขึ้นค่ะเรียกได้ว่า จะตกยุคไม่ได้เลย

เรื่องของการอ่านปัจจุบัน

คนทั่วๆไป ตอนนี้ มีรสนิยมในการอ่านแบบเร็วๆ ง่ายๆ ใช้เวลาอ่านไม่เกิน2-3 นาที อ่านผ่านๆ ไม่ค่อยลงลึก ไปกันตามอารมณ์หรือกระแสมากกว่า
ประกอบกับจำนวนเว็บไซต์นับเป็นพันๆ ล้านเว็บ ที่มีเต็มไปหมด ทำให้นักสื่อสารมวลชนระดับปรมาจารย์ทั้งหลาย ถึงกับเข่าอ่อน การล้มละลายกำลังก้าวเข้ามาเยือนระบบสื่อสารแบบเดิมอย่างทั่วทั้งระบบ

แต่แปลกที่ สื่อใหม่ๆกลับนับวันกลับจะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อสังคมแต่ละแวดวงมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ถึงขั้นที่ว่ากันว่า...ได้กลายเป็นตัวชี้เป็น-ชี้ตายการรณรงค์แข่งขันทางการเมืองในสหรัฐไปแล้วก็ว่าได้...
ใคร ก็ตามที่สามารถใช้เครือข่ายอันสลับซับซ้อน สับสน วุ่นวายเหล่านี้ได้มากกว่ากัน โอกาสที่ผู้นั้นจะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคม ก็ยิ่งจะมีมากขึ้นเท่านั้น
สำหรับเมืองไทย   โลกอินเทอร์เน็ต ยังจะไม่กว้างนักขณะนี้
สื่อฯ อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ยังพออยู่ๆ กันได้...แต่ต่อไป ก็ไม่แน่
ทีเป็นห่วงคือ ด้านที่เป็นโทษ ของอินเทอร์เน็ต สำหรับเด็กๆ มีมากกว่า ด้านที่เป็นประโยชน์ ต่อไปมันจะยิ่งแสดง ความเป็นอันตราย ของมันออกมาให้เห็นมากขึ้น ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ต่อไป เด็กๆอาจจะมีการอ่านจากหนังสือน้อยลง แต่กลับไปอ่านจากสื่ออนไลน์มากขึ้นๆ  ก็เป็นได้
ข่าวแพ้ สงครามสื่ออินเตอร์เนต! "รีดเดอร์ส ไดเจสต์"นิตยสารครัวเรือนอเมริกัน ยื่นขอศาลสั่งล้มละลาย

ข่าวดี สำหรับเรื่อง การอ่าน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน ว่า ที่ประชุมได้กำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมการอ่านที่จะผลักดันให้เห็นผลภายใน 3 ปี (2553-2555) ดังนี้
1.ประชากรวัยแรงงานต้องรู้หนังสือและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จากร้อยละ 92.21 เป็นร้อยละ 99
2.ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปต้องอ่านออกเขียนได้จากร้อยละ 92.64 เป็นร้อยละ 95 3.คนไทยต้องอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจากเดิมคนละ 5 เล่มต่อปี เป็นคนละ 10 เล่มต่อปี 4.ต้องมีการเพิ่มแหล่งการอ่านและการให้บริการที่ครอบคลุมทุกตำบล/ชุมชน และ 5.สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งปริมาณและคุณภาพ

คนสนใจอ่านข่าวออนไลน์มากขึ้นทุกที
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ แถลงเมื่อวาน02-08-2010 เกี่ยวกับข้อตกลงขายธุรกิจนิตยสารนิตยสารนิวสวีคให้มหาเศรษฐีชาวแคลิฟอร์เนีย ซิดนีย์ ฮาร์แมน
โดยบอกว่าฮาร์แมน มีศักยภาพที่ดีที่จะทำให้นิวสวีคเป็นนิตยสารคุณภาพเหมือนที่เคยเป็นมา ด้านฮาร์แมนก็ให้สัญญาว่าพนักงานส่วนใหญ่ของนิวสวีค 325 คน จะยังคงได้ทำงานกับบริษัทต่อไป แม้จะไม่มีบรรณาธิการ จอห์น เมแชม ที่อาจจะขอถอนตัวออกไป เขาบอกว่า นิวสวีคเป็นสิ่งที่มีค่ามาก และรู้สึกดีใจที่ได้ทำนิตยสารนี้ต่อจากวอชิงตันโพสต์

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดนัลด์ เกรแฮม ประธานผู้บริหารวอชิงตันโพสต์ ประกาศว่าบริษัทตัดสินใจขายนิวสวีค ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2476 และโพสต์ซื้อมาตั้งแต่ปี 2504

การที่มีนิตยสารแนวนี้มากมายในปัจจุบัน ส่งผลให้รายได้โฆษณาลดลงอย่างฮวบฮาบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้อ่านก็เริ่มเปลี่ยนแปลง โดยหันไปสนใจอ่านข่าวออนไลน์มากขึ้น

นิวสวีค ต้องแข่งขันอย่างหนักกับนิตยสารไทมส์มาเป็นระยะเวลายาวนาน และสูญเสียรายได้ไปมากกว่า 28 ล้านดอลล่าร์เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่รายได้จากการโฆษณาก็ลดลงร้อยละ 37
Harman Media buys Newsweek from Washington Post Co. for undisclosed amount

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท