SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

เมื่อป้าสันที(แสนถี)คนไร้สัญชาติป่วยหนัก...เราจะดูแลราษฎรไทยกัน อย่างไร? (ตอน ๑)-วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒


 เมื่อป้าสันที(แสนถี)คนไร้สัญชาติป่วยหนัก 

...เราจะดูแลราษฎรไทยกัน อย่างไร? (ตอน ๑) 

โดย กิติวรญา รัตนมณี[๑] / ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว[๒]


 
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒

แทบทุกครั้งที่ฉัน[๓]ได้เจอกับป้าสันที[๔] ป้าจะไม่ลืมบอกว่า “ อาจารย์ ขอให้บุญรักษานะ ขอให้สุขภาพแข็งแรง  อย่าเจ็บอย่าไข้”  แกจะกล่าวประโยคเหล่านี้ซ้ำๆ ไปสองสามรอบจนบางครั้งฉันอดตอบกลับไปไม่ได้ว่า “ป้าเองก็อย่าลืมรักษาสุขภาพล่ะ เดี๋ยวจะไม่มีเงินจ่ายค่าหมอ”  แกเองก็ไม่ได้ถือโกรธ กลับหัวเราะร่วนชอบใจ แล้วตอบกลับมาว่า “เออ...จริงของอาจารย์  ฉันเองก็ต้องรักษาสุขภาพ เดี๋ยวจะไม่มีเงินจ่ายค่าหมอ”

 

แล้วในปี ๒๕๔๙ วันที่คนในครอบครัวของป้าสันทีต้องเข้าโรงพยาบาลก็มาถึง วันที่วิษณุเด็กชายไร้รัฐ ไร้สัญชาติต้องผ่าตัดไส้ติ่ง  ใครๆ ก็คงรู้ดีว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแต่ละครั้งไม่ใช่เงินจำนวนน้อยเลย เงินค่าผ่าตัดจำนวนหลักหมื่น..คงไม่เป็นภาระเท่าไรสำหรับคนในครอบครัวที่มีอันจะกิน แต่สำหรับครอบครัวของป้าสันที และพี่บุญมีแล้ว (ลูกสาวของป้าสันที และแม่ของวิษณุ) เงินจำนวนนี้หมายถึงค่าเทอม ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ช่วยให้ครอบครัวป้าอยู่ได้เป็นหลายสัปดาห์เลยทีเดียว 

หลายคนคงแปลกใจว่าทำไมครอบครัวป้าจึงไม่ใช้บัตรทอง ใน“โครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ป้าบอกว่า เคยไปติดต่อขอทำบัตรแล้ว แต่ทางโรงพยาบาลบอกว่าไม่สามารถทำให้ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน และไม่มีสัญชาติไทย แถมยังบอกว่าจะส่งตัวป้าให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ดำเนินการส่งกลับไปประเทศพม่าอีกต่างหากเนื่องจากเป็นคนต่างด้าวแต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อ อ.ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง[๕] ได้อธิบายถึงเหตุที่ครอบครัวนี้ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนและเอกสารพิสูจน์ตนอื่นๆ ทางโรงพยาบาลจึงเข้าใจสถานะตามกฎหมายไทยของครอบครัวนี้มากขึ้น และไม่ส่งตัวไป ตม. แต่พี่บุญมีก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลของลูกชายไปกว่า ๓,๐๐๐ บาท

ด้วยประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ครอบครัวป้าสันที พยายามไม่เจ็บป่วยง่ายๆ อีกเลย หรือแม้ว่าจะเจ็บป่วยจนอาการแสนสาหัส ก็เลือกที่จะไปพบแพทย์ตามคลินิกแถวบ้านและยอมจ่ายเงินคราวละ ๔๐๐-๕๐๐ บาท แทนการไปพบแพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยหลายคน[๖]ต้องเผชิญ

 

 

เมื่อป้าสันทีป่วยหนัก 

แต่ใครจะห้ามความเจ็บป่วยได้วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ป้าสันทีโทรมาขอความช่วยเหลือแต่เช้า

เสียงตามสายบอกเล่าอาการมาว่า

“อาจารย์ ฉันปวดท้องอีกแล้ว ปวดหัว อาเจียน ทานอะไรไม่ได้มาหลายวันแล้ว คราวนี้ฉันอยากไปหาหมอ อาจารย์ช่วยหน่อยนะ” 

ฉันถามกลับไปแกมตำหนิว่าแล้วทำไมป้าไม่รีบไปหาหมอล่ะ ปลายสายจากป้าสันทีก็เงียบไป มันก็คือคำตอบเดิมนั่นแหละ คือ กลัวถูกจับ กลัวไม่มีเงินจ่ายค่ายา ป้าสันทีเสียงสั่น ตอนพูดว่า

“กลัว อาจารย์ ฉันกลัว ฉันไม่รู้จะทำอย่างไรดี อาจารย์ช่วยทีนะ พาฉันไปโรงพยาบาลที”

หลังจากโทรหารือผู้เชี่ยวชาญหลายคน ทั้ง อ.แหวว(รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร)[๗] อ.ด๋าว(ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล)[๘] คุณหมอนิรันดร์(นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ)[๙]และแจ้งข่าวทางอีเมล์ให้มวลมิตรทราบแล้ว ฉันบอกให้ลูกๆ ของป้าสันทีรีบพาป้าไปโรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุด คือโรงพยาบาลพระสมุทรเจดีย์สวาทยานนท์ ซึ่งกว่าจะถึงโรงพยาบาลและเข้ารับการตรวจก็ประมาณบ่ายสามโมง

เมื่อไปถึงคุณหมอสอบถามอาการและตรวจเช็คร่างกายในเบื้องต้น และให้ป้าไปเอ็กซ์เรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หลังจากเสร็จกระบวนการทั้งหมดคุณหมอจึงแจ้งให้ทราบว่า ป้าสันทีป่วยเป็นโรคหัวใจโต มีอาการน้ำท่วมปอด ส่วนอาการปวดท้องนั้นยังไม่ทราบสาเหตุ โดยป้าสันทีต้องนอนที่โรงพยาบาลเพื่อรอดูอาการ และเพื่อความปลอดภัยหากหายใจไม่ออกจะต้องให้ออกซิเจนโดยเร่งด่วน หมอจึงยังไม่ให้กลับบ้านจนกว่าอาการป่วยทั้งหมดดีขึ้น ซึ่งหมอเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่

 

ทุกข์ที่ต้องเผชิญ

ป้าสันทีและครอบครัวมีเรื่องเป็นกังวลเรื่องเดียว คือค่าใช้จ่าย เพราะนอกจากฐานะที่ค่อนข้างขัดสนอยู่แล้ว ตอนนี้คนในครอบครัวรวม ๗ คน คือป้า ลูกชาย ๓ คน ลูกสาว ลูกเขย และหลานชาย ล้วนมีรายได้ไม่แน่นอน ค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องใหญ่

โดยเฉพาะลูกสาวคือพี่บุญมีนั้นมีรายได้จากการขายผักประมาณวันละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ในขณะที่สามีตกงานและยังเจ็บป่วยด้วยโรคไซนัส ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานโรงงานผลิตปุ๋ย ที่มีฝุ่นละอองจำนวนมาก แล้วตอนหลังยังถูกเลิกจ้างเนื่องจากการไม่มีเอกสารใดๆอีกด้วย ในขณะที่วิษณุลูกชายเรียนอยู่ชั้นม.๒

อย่างไรก็ดี ความกลัวและกังวลใจของครอบครัวป้าสันทีก็พอคลายใจไประดับหนึ่ง เมื่อทางโรงพยาบาลรับป้าเข้ารักษาตัวโดยไม่ชักช้าเมื่อไปถึงโรงพยาบาล และทางโรงพยาบาลก็รับคำ และยืนยันว่าเรื่องค่าใช้จ่ายไม่เป็นปัญหา มีเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น ไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลมีหน่วยสังคมสงเคราะห์ที่ดูแลค่าใช้จ่ายสำหรับคนที่รายได้น้อย ไม่มีเงินจ่าย ซึ่งโรงพยาบาลก็ยืนยันว่าเงินนี้สนับสนุนทั้งคนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวเช่นป้าสันที

แต่ดูเหมือนว่าครอบครัวของป้าก็ยังกังวลใจในเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่โดยตลอด สาเหตุหนึ่งก็คือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลต่อค่าใช้จ่ายกรณีของคนต่างด้าวที่ยังแตกต่างกัน เพราะในส่วนของเจ้าหน้าที่การเงินนั้น ก็ยังมีการแจ้งกับทางครอบครัวป้าว่า ให้แบ่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวนครึ่งหนึ่ง

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ พี่บุญมี ลูกสาวป้าสันทีโทรมาแจ้งด้วยเสียงสั่นเครือว่า

“อาจารย์ แม่อาการหนักมาก อาจารย์ช่วยทีนะ แม่ปวดท้อง ทานข้าวไม่ได้ ทานยาไม่ได้ หมอเค้าจะส่งไป รพ.ใหญ่(โรงพยาบาลสมุทรปราการ) เราจะทำยังไงดี”  ความกังวลจากประสบการณ์เมื่อครั้งวิษณุลูกชายมาเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งแล้วเจ้าหน้าที่รพ.แจ้งว่าจะส่งตัวไปให้ตม.ย้อนกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้เนื่องจากอาการป้าสันทีหนักมาก โดยเฉพาะอาการปวดท้องที่ไม่ทราบสาเหตุ ทางโรงพยาบาลพระสมุทรเจดีย์เห็นว่าควรส่งตัวไปตรวจเช็คให้ละเอียดและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือดีกว่า ดังนั้นคุณหมอเจ้าของไข้จึงทำหนังสือเพื่อส่งตัวป้าสันทีไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ

หลังจากโรงพยาบาลสมุทรปราการรับตัวป้าสันทีเข้ารับการรักษาได้ไม่นาน ก็พบว่าว่าป้าอาการไม่ดีเลย โดยคุณหมอได้ส่งป้าไปเอ็กซ์เรย์อีกรอบ ทำให้พบว่าช่องท้องมีอาการอักเสบ ป้าจึงต้องนอนรอดูอาการ(อีกรอบ) แต่คราวนี้คุณหมอแจ้งว่าหากอาการไม่ดีขึ้น ก็จะต้องผ่าตัดโดยด่วน และต้องวางยาสลบด้วย คุณหมอชี้แจงให้ลูกๆของป้าฟังว่าโอกาสที่ป้าจะฟื้นกับไม่ฟื้นมีใกล้เคียงกัน คือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นคุณหมอจึงจำเป็นต้องอธิบายให้ญาติเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และต้องขอความยินยอมในการผ่าตัดจากญาติๆ ซึ่งลูกๆของป้าได้ตกลงเซ็นต์หนังสือให้ความยินยอมในการผ่าตัดไว้ล่วงหน้า เผื่อว่ามีเหตุฉุกเฉิน จะได้ดำเนินการผ่าตัดได้ทันท่วงที หลังจากทุกคนจึงเดินทางกลับบ้านไปด้วยความหวัง หวังว่าคืนนี้จะผ่านพ้นไปด้วยดี หวังว่าป้าคงไม่ต้องผ่าตัด และหวังว่าพรุ่งนี้อาการของป้าจะดีขึ้นกว่าเดิม

นี่คือทุกข์ที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเผชิญ จากการที่ปัญหาสถานะบุคคลไม่ได้รับการแก้ไข มาติดตามต่อไปว่าครอบครัวป้าจะเผชิญกับเรื่องราวเช่นไร และเราจะดูแลราษฎรไทยกันได้อย่างไร

 

 


[๑] นักวิชาการด้านกฎหมาย ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)

[๒] ผู้จัดการและสื่อสิทธิมนุษยชน ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)

[๓] กิติวรญา รัตนมณี นักวิชาการด้านกฎหมาย ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)

[๔] หรือ นางแสนถี  อ่านเรื่องราวของครอบครัวป้าได้ที่

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=2&s_id=57&d_id=57

ทั้งครอบครัวประสบปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้ขอความช่วยเหลือเรื่องสถานะบุคคลมายัง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัจจุบันได้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือมาที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ  ไทยพลัดถิ่นผู้อพยพ และชนพื้นเมือง  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

[๕] ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง ผู้ช่วยทางวิชาการและเลขานุการ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายุสุนทร ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา

[๖] ดู ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, “โครงการสำรวจสภาพปัญหาการเข้าถึงและการใช้บริการสิทธิในสุขภาพของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ” : กรณีศึกษา, โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (เพื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) กันยายน ๒๕๕๑, ดาวน์โหลดรายงานเต็มได้ที่ http://gotoknow.org/blog/h4s

[๗] รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[๘] ผู้อำนวยการและนักวิชาการด้านกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)

[๙] ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ  ไทยพลัดถิ่นผู้อพยพ และชนพื้นเมือง  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 325277เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2010 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณไหมมากที่ไปดูแลป้า ขอบคุณที่ส่งข่าวด้วย

เข้าใจและเห็นภาพมากๆเลย ยังมีอีกมากมายหลายคนเนอะที่ต้องเผชิญชะตากรรมแบบนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท