SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

เมื่อป้าสันที(แสนถี)คนไร้สัญชาติป่วยหนัก...เราจะดูแลราษฎรไทยกัน อย่างไร? (ตอน ๒)-วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓


แม้ว่าเราไม่อาจห้ามความเจ็บป่วยได้ แต่เราทุกคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราษฎรบนผืนแผ่นดินนี้ คงไม่อาจนิ่งดูดายปล่อยให้คนที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยเช่นเดียวกับป้าสันทีอีกหลายคน ต้องตกหล่นจากระบบหลักประกันสุขภาพ ทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนในสถานการณ์เดียวกับป้าสันทีรอดพ้นจากปัญหา “ฉันไม่อยากหาหมอเพราะ ไม่มีเงินจ่าย” ก็คือ การช่วยกันผลักดันอย่างจริงจังและจริงใจเพื่อทำให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้อย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้คนใดในสังคมต้องทนทุกข์จากความป่วยไข้โดยไร้คนเหลียวแลรักษา สังคมที่เป็นสุข ยุติธรรมคือสังคมที่เราต้องร่วมกันสร้าง

เมื่อป้าสันที(แสนถี)คนไร้สัญชาติป่วยหนัก 

...เราจะดูแลราษฎรไทยกัน อย่างไร? (ตอน ๒) 

โดย กิติวรญา รัตนมณี[๑] / ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว[๒]

วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓

 

หญิงร่างเล็กที่ดูแลครอบครัวเพียงลำพัง จากเดิมที่เลี้ยงชีพด้วยการเก็บของเก่าขาย  วันนี้คือ ป้าสันที วัย ๖๓ ปี ที่ป่วยหนัก สภาพร่างกายไม่เป็นใจให้ประกอบอาชีพการงานใดๆ ซ้ำยังถูกโรคภัยคุกคามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกข์จากการที่ป้าและครอบครัวไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆจึงยิ่งแจ่มชัด

 

ป้าสันที จากมอญไร้รัฐไร้สัญชาติในทวาย...สู่มอญไร้สัญชาติแห่งสมุทรปราการ 

ป้าสันทีเปรียบเสมือนตัวแทนของคนไร้สัญชาติอีกหลายคนบนผืนแผ่นดินไทย ที่มีจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิดอย่างแน่นแฟ้นกับประเทศไทย ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่เข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน และประกอบสัมมาอาชีพอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี หรือเพราะเป็นแม่ของลูกๆ ๕ คน ที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย ที่สำคัญ ในตอนนี้ป้าสันทียังเป็นย่าและยายของหลานที่มีสัญชาติไทยถึง ๓ คน

โดยลูกๆของป้าทุกคนอยู่ระหว่างดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์สถานะบุคคลว่าเขาเหล่านั้น คือ คนสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ เช่นเดียวกับวิษณุ หลานชายคนโต ส่วนหลานชายอีก ๒ คน มีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาเนื่องจากมีแม่สัญชาติไทย

 “ป้าสันที”  หรือแสนถี[๓] เป็นคนมอญ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่หมู่บ้านตำมุม เมืองหม่องเย(หรือมองเย่) รัฐทวาย ประเทศพม่า พ่อและแม่ของป้าก็เป็นคนมอญเช่นเดียวกันโดยพ่อมีอาชีพเป็นหมอชาวบ้าน ส่วนแม่หาบขนมจีนขาย ฐานะทางบ้านในขณะนั้นก็ไม่สู้ดีนัก แต่ก็ไม่ถึงกับลำบาก

หลังจากพ่อและแม่เสียชีวิตแล้ว ป้าสันทีจึงไปอาศัยอยู่กับเพื่อนของแม่ หรือ “แม่บุญธรรม” ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๖ ในขณะที่อายุได้ ๑๗ ปี ได้ติดตามแม่บุญธรรมเดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางหมู่บ้านบ้านไร่ ตำบลปิล๊อค อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เข้ามารับจ้างทำไร่และรับจ้างทั่วๆไป หลังจากนั้นไม่นานป้าสันทีก็ได้อาศัยอยู่กินกับนายสอน คนมอญที่เดินทางมาจากทวายด้วยกัน จากนั้นป้าสันทีและนายสอนได้ย้ายมาอาศัยทำมาหากินที่หมู่บ้านทุ่งก้างย่าง หมู่ที่ ๓ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ณ ที่นี้เองที่ป้าสันทีและนายสอนมีพยานรักด้วยกันรวม ๖ คน[๔] หลังจากมีลูกคนเล็กได้ไม่นานนักนายสอนก็ถึงแก่กรรม

ป้าสันทีอาศัยอยู่ที่เดิมได้ระยะหนึ่งก็มีการขับไล่คนมอญให้ย้ายออกไปจากพื้นที่ของหมู่บ้าน บ้านหลายหลังถูกรื้อ และมีการเผาหมู่บ้าน ด้วยความกลัวว่าลูกๆจะไม่ปลอดภัย ป้าจึงทิ้งทรัพย์สินและที่ดินที่มีพาลูกๆย้ายไปอาศัยที่หมู่บ้านหม่องสะเทอ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และที่นี่เองที่ป้าสันทีและสมาชิกในครอบครัวได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนของชนกลุ่มน้อย ประเภท “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” มีหลักฐานเป็นทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ สำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลัก แต่ยังไม่ทันได้ถ่ายบัตรประจำตัว ป้าสันทีก็พาลูกๆเดินทางออกมาทำมาหากินนอกพื้นที่

ทุกวันนี้ ป้าสันทีในวัย ๖๓ ปี ได้อาศัยอยู่กับลูกๆหลานๆรวม ๗ ชีวิต ที่บ้านเช่าไม่เลขที่ ในซอยวัดคู่สร้าง ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ป้าสันทีก็เหมือนคนมอญจำนวนมากที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนภาคตะวันตกของ ประเทศไทย พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า ไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรของประเทศพม่า นั่นหมายความว่าป้าคือคน “ไร้รัฐไร้สัญชาติ” ในแผ่นดินเกิดประเทศพม่า

ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพี่อำพล(ลูกชายของป้าสันที) ได้ติดต่อไปยังอำเภอสังขละบุรี เพื่อสอบถามถึงเลขประจำตัวประชาชนของตนเองและสมาชิกในครอบครัวตามที่ปรากฎในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ ซึ่งเป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวของครอบครัว จึงทำให้ทราบว่าเลขประจำตัวประชาชนที่ปรากฎใน ท.ร.๑๓ ยังคงมีอยู่เพียงแต่ถูกระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรไว้เท่านั้น เนื่องจากในปี ๒๕๓๔ ป้าสันทีและลูกๆไม่ได้ไปแสดงตนที่อำเภอ เพื่อดำเนินการเปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชน ตามกลุ่มที่กำหนด  เจ้าหน้าที่จึงได้แนะนำให้พี่อำพลนำสมาชิกทุกคนในครอบครัวพร้อมพยานหลักฐานไปแสดงตนที่อำเภอเพื่อดำเนินการพิสูจน์สถานะบุคคลตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้ว่าพี่อำพลและครอบครัวจะทราบว่าตนเองต้องนำพยานหลักฐานไปพิสูจน์สถานะบุคคล ที่อำเภอ แต่ไม่ได้เดินทางไปแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อแสดงตน เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวกลัวว่าระหว่างเดินทางไปพิสูจน์สถานะบุคคล จะถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และออกนอกเขตพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะไม่มีเอกสารแสดงตนอื่นใด

เพราะความกลัวในครั้งนั้น พี่อำพลจึงได้หารือมายัง อ.เตือน[๕] ซึ่งได้หารือต่อมายัง อ.แหวว[๖] ผู้นำเสนอปัญหานี้ต่อที่ประชุมของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล ของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชน พื้นเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้กรณีของครอบครัวป้าสันทีเป็นกรณีต้นแบบในการพิสูจน์สถานะบุคคลของบุคคลที่ตกหล่นจากการพิสูจน์สัญชาติพม่า และเพื่อช่วยเหลือให้ครอบครัวของป้าสันทีสามารถเดินทางกลับไปแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อแสดงตนได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย ทางอนุกรรมการฯ จึงได้ดำเนินการประสานกับนายอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงโรงพยาบาลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อนำป้าสันทีและสมาชิกในครอบครัว ไปเแสวงหาพยานหลักฐานการอาศัยอยู่ในประเทศไทย พยานหลักฐานการเกิดของลูกๆ และหลานชาย(ด.ช.วิษณุ บุญชา) เพื่อนำมาใช้ในการพิสูจน์สถานะบุคคลต่อไป[๗]

แต่ป้าสันทีก็มาล้มป่วยและต้องเข้ารักษาตัวที่รพ.เสียก่อน  จากนี้จึงต้องรอให้ป้าอาการดีขึ้นจนสามารถเดินทางไกลได้ ซึ่งหากป้าสันทีไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ป้าก็จะมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐไร้สัญชาติ” แห่งสมุทรปราการ

 

ราษฎรไทยกับหลักประกันสุขภาพ ฝันในมือใคร

 ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา หลังจากนอนรักษาตัวที่รพ.กว่า ๑๐ วัน ป้าสันทีมีอาการดีขึ้น และได้กลับไปรักษาตัวที่บ้านในที่สุด

แต่ก่อนที่ป้าสันทีจะได้ออกจากโรงพยาบาล พี่อำพลเล่าว่า เจ้าหน้าที่ รพ.บอกว่าต้องชำระค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดก่อน มิฉะนั้นจะไม่ยอมให้ป้าสันทีออกจากโรงพยาบาล  ด้วยความกลัวพี่อำพลและลูกๆป้าสันทีได้ฟังจึงบอกว่าจะจ่ายเงินทั้งหมด โดยไม่ได้หารือใครอื่นเพราะเกรงใจ และกลัวว่าจะเป็นการรบกวน จึงหารือกันในบรรดาพี่น้อง และรวบรวมเงินจากพี่น้องทุกคน แต่ก็ยังไม่พอที่จะนำมาชำระเป็นค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งสิ้นเกือบ ๖ พันบาท พี่อำพลจึงขอยืมเงินจากนายจ้าง(ที่ไปรับจ้างขับรถขายผัก)  แล้วนำเงินไปจ่ายให้ทางโรงพยาบาลทั้งหมด ซึ่งหมายถึงการยินยอมและจำยอมเป็นหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันคือภาระจากนี้ที่ครอบครัวต้องดิ้นรนแบกรับต่อไป

ทั้งนี้มีนางพยาบาลคนหนึ่งบอกป้าและลูกๆว่า

“ป้ารู้มั๊ย ถ้าป้าอยู่ที่สังขละบุรี ป้าจะมีสิทธิได้รับหลักประกันสุขภาพ ป้าจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินมากๆแบบนี้”

ซึ่งพยาบาลคนนั้นคงหมายถึงประกันสุขภาพทางเลือก ที่ทางโรงพยาบาลสังขละบุรี จัดให้บริการแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกบริการดังกล่าวไปแล้ว[๘]

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าป้าสันทีจะไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่ป้าสันทีก็มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย เนื่องจากอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว นอกจากนี้ป้าสันทียังประกอบสัมมาอาชีพในประเทศไทย พูดภาษาไทย ทานอาหารไทย จับจ่ายซื้อของจ่ายภาษีทางอ้อมให้กับประเทศไทย จนกล่าวได้ว่า”กลมกลืนกับสังคมไทย” และหากสามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าก็จะทำให้ป้าสันที คือ “ราษฎรไทย” คนหนึ่งที่ไม่ประสบปัญหาความไร้รัฐแต่ยังอยู่ในฐานะคนไร้สัญชาติ และป้าก็จะยังไม่ได้รับการดูแลในเรื่องหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด

เนื่องจากนับแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ รัฐไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเปลี่ยนโครงการ จาก“๓๐ บาท รักษาทุกโรค” เป็น “๓๐ บาท ช่วยคนไทยห่างไกลโรค” อย่างเป็นทางการ นับจากนั้นคนไร้สัญชาติแต่ไม่ไร้รัฐ ก็ถูกเรียกบัตรทองคืนโดยถ้วนหน้า คนกลุ่มนี้และอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เคยเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ก็กลายเป็นบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพในรัฐไทยได้อีกต่อไป ขณะเดียวกันคนไร้สัญชาติแต่ไม่ไร้รัฐกลุ่มนี้ เริ่มถูกพิจารณาและถูกมองว่าเป็น “ภาระ” ของสถานพยาบาล สถานการณ์ดังกล่าวนี้ ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยจนกระทั่งปัจจุบัน[๙]

ในแง่ข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมไทยประกอบด้วยประชาชนที่มีความแตกต่างในเรื่องสถานะบุคคล ระบบบริการสุขภาพซึ่งเป็นระบบบริการที่จำเป็นนั้น โดยหลักการแล้วควรต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม กล่าวคือต้องให้บริการทั้งชุมชนโดยไม่แบ่งแยกหรือข้ามเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงจะมีผลในเชิงประสิทธิภาพของงานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ภาพรวมของการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จึงควรต้องถูกพัฒนาขึ้น  โดยจะเห็นได้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ย่อมขึ้นอยู่กับจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงตามข้อเท็จจริงของแต่ละคน ที่มีอยู่จริงกับสังคมไทย อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม คนไทยตามข้อเท็จจริงที่อยู่ระหว่างการแสดงตนและพิสูจน์ตน, กลุ่มคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร, กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว ผสมกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว และประเทศไทยมีนโยบายให้คนกลุ่มนี้สามารถพัฒนาสถานะบุคคลต่อไปได้ ฯลฯ นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจต่อสังคมไทย ผ่านการจ่ายภาษีทางอ้อม และแน่นอนว่า ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะต้องร่วมจ่ายในอัตราสามสิบ (๓๐ บาท) หรือศูนย์ (0) บาท ณ จุดรับบริการ (Co-Payment) เสมอไป

ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดสรรและดูแลระบบหลักประกันสุขภาพ ยังมีความไม่ชัดเจนต่อกรณีของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้การตีความของสปสช. ที่ชี้ว่า ผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพ หรือ “บุคคล” ตามมาตรา ๕ หมายถึงเฉพาะบุคคลผู้มีสัญชาติไทย เป็นการตีความ โดยขาดความเข้าใจต่อสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Legal Personality Status) ของบุคคลกลุ่มต่างๆ กล่าวคือ หนึ่ง-กลุ่มคนที่เป็นคนไทยตามข้อเท็จจริง หากแต่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย เพราะตกหล่นการสำรวจ หรืออยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์ตนเพื่อรับเอกสารแสดงตนว่าเป็นคนไทย และสอง-กลุ่มบุคคลที่แม้จะมิได้มีสัญชาติไทย แต่มีสถานะบุคคลเป็น “ราษฎร” ในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย ดังปรากฏตามเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Identification Paper) ที่ประเทศไทยออกให้แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าว อันเป็นการรับรองว่าประเทศไทยคือรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) บุคคลดังกล่าว

การตีความโดยสปสช. ยังเป็นการตีความที่ขัดแย้งและละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๒  กล่าวคือ ขัดและละเมิดต่อหลักความเสมอภาคตามมาตรา ๓๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขัดและละเมิดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา ๔, ทั้งยังละเมิดต่อหลักการและเจตนารมณ์ของมาตรา ๕๒

การตีความโดยสปสช. ยังขัดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันในฐานะรัฐภาคี รวมทั้งสิ้น ๕ ฉบับ ได้แก่ หนึ่ง-ข้อ ๒๕(๑) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, สอง-ข้อ ๒๕  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง, สาม-ข้อ ๑๒ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, สี่-ข้อ ๕(ฉ) ๔) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, ห้า-ข้อ ๑๒(๑) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และหก-ข้อ ๒๔ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เนื่องเพราะคนทุกคน, พลเมืองทุกคน, ผู้หญิงและเด็ก คือผู้ทรงสิทธิ[๑๐]

ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติในการประชุมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548-2552 โดยได้เสนอแนะแนวทางเพื่อการสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับบุคคลที่มีปัญหาด้านสิทธิและสถานะ และได้มีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรีในการกำหนดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อคุ้มครองสิทธิในสุขภาพให้กับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งที่หลักการดังกล่าวเป็นหลักการเช่นเดียวกับที่รัฐไทยเคยดำเนินการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อรับรองสิทธิทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ จนต่อมาได้นำไปสู่การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘

 

ป้าสันทีเคยบอกว่า “ถ้าฉันรู้มาก่อนหรือถ้าเลือกได้ ฉันคงอยู่ที่เดิม แต่ตอนนั้นพวกเราลำบากจริงๆอาจารย์ เราโดนไล่ที่ บ้านก็ถูกเผา ที่ก็โดนยึด ฉันก็ตัวคนเดียว จะทำอย่างไรได้ ทางที่ดีที่สุดที่ฉันจะรักษาชีวิตฉันและลูกๆไว้ คือ เราต้องออกมาให้ไกลที่สุด ฉันเลยเลือกมาตายเอาดาบหน้า”

คงไม่ใช่แค่ครอบครัวของป้าสันทีเพียงครอบครัวเดียวที่ประสบปัญหาเช่นนี้ เพราะความยากจน ทำให้หลายครอบครัวต้องดิ้นรนเพื่อหาสิ่งที่ดีกว่า เมื่อการเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองเป็นตัวเลือกหนึ่ง ป้าสันทีและครอบครัวจึงต้องเผชิญกับปัญหาสถานะบุคคลมาจนปัจจุบันกว่าหลายสิบปีแล้ว

สำหรับป้าสันทีผืนแผ่นดินนี้ แม้จะไม่ใช่แผ่นดินเกิด แต่ก็เป็นผืนแผ่นดินแม่เพียงผืนเดียวที่ให้ที่อยู่ที่กินสำหรับเลี้ยงดูทุกชีวิตในครอบครัวของป้า  และแน่นอนว่าเป็นแผ่นดินที่ป้าและครอบครัวตั้งใจจะฝากชีวิตไว้

แม้ว่าเราไม่อาจห้ามความเจ็บป่วยได้ แต่เราทุกคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราษฎรบนผืนแผ่นดินนี้ คงไม่อาจนิ่งดูดายปล่อยให้คนที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยเช่นเดียวกับป้าสันทีอีกหลายคน ต้องตกหล่นจากระบบหลักประกันสุขภาพ ทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนในสถานการณ์เดียวกับป้าสันทีรอดพ้นจากปัญหา “ฉันไม่อยากหาหมอเพราะ ไม่มีเงินจ่าย” ก็คือ การช่วยกันผลักดันอย่างจริงจังและจริงใจเพื่อทำให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้อย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้คนใดในสังคมต้องทนทุกข์จากความป่วยไข้โดยไร้คนเหลียวแลรักษา สังคมที่เป็นสุข ยุติธรรมคือสังคมที่เราต้องร่วมกันสร้าง

 


[๑] นักวิชาการด้านกฎหมาย ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)

[๒] ผู้จัดการและสื่อสิทธิมนุษยชน ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)

[๓] ชื่อที่ปรากฎในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า

[๔] บุตรของป้าสันที ที่เกิดที่หมู่บ้านทุ่งก้างย่าง หมู่ที่ ๓ ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ ๑.) ปัญจรา (หรือ บุญมี)  ๒.) เบญจพร (ปัจจุบันเสียชีวิต) ๓.) นายอำพล ๔.)นายอดุลย์ ๕.)นายสัญชัย ส่วนบุตรคนสุดท้อง คือ นายบุญชัย เกิดที่โรงพยาบาลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

[๕] บงกช นภาอัมพร คณะทำงานโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล

[๖] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[๗] คณะอนุกรรมการฯจะนำป้าสันทีและครอบครัวเดินทางไปแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์สถานะบุคคล ณ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อำเภอไทรโยค และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒

[๘] ดู  จุฑิมาศ สุกใส, โครงการสำรวจสถานการณ์การดำเนินการของโรงพยาบาล เพือการเข้าถึงสุขภาพเเละการสร้างหลักประกันสุขภาพ “ทางเลือก” สำหรับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ, โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (เพื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) กันยายน ๒๕๕๑, ดาวน์โหลดรายงานเต็มได้ที่ http://gotoknow.org/blog/h4s

[๙] ดู ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล  โครงการประสานงานวิชาการเพื่อการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐในประเทศไทย(ชุด E)  , โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (เพื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) กันยายน ๒๕๕๑, ดาวน์โหลดรายงานเต็มได้ที่ http://gotoknow.org/blog/h4s

[๑๐] เอกสารเผยแพร่ หมายเลข ๑ เพื่อการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) เสนอสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เพื่อการสื่อสารสาธารณะกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสังคมไทย ใน “ราชดำเนินเสวนาครั้งที่ ๑๘/๒๕๕๒” วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ , ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่ http://gotoknow.org/blog/h4s 

          ,ติดตาม ราชดำเนินเสวนาครั้งที่ ๑๘/๒๕๕๒ “คนไร้รัฐกับการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ" ได้ที่  

http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1053:182552-q&catid=32:rachdmenin-talk&Itemid=25

หมายเลขบันทึก: 325663เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2010 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาอ่านจากอีเมล์

ขอบคุณที่ผลิตงานเขียนดีๆนะคะ ชื่นชมค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท