วิชา "ผักพูม"


ต้มกะทิกินกับน้ำพริกกะปิ รสชาติสุดแสนอร่อยเลยล่ะครับ ผมว่าจะอร่อยกว่ายอดเหลียง หรือ เขลียง ด้วยซ้ำไป

   หมู่นี้ชีพจรลงเท้าครับ เดินทางไม่ได้หยุดหย่อนก่อนลงไปปักหลักอีกครั้งที่ไชยาบ้านเกิด

   ทุกครั้งที่อยู่ต่างจังหวัดผมจะนอนน้อยกว่าอยู่กทม. อาจเพราะอากาศที่บริสุทธิ์ก็ได้ ทำให้หลับได้สัก 4 ชั่วโมงก็อิ่มแล้ว  พอตื่นมาความคิดก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องต้นไม้ใบหญ้าที่จะไปหามาปลูกในบริเวณและรอบๆที่บ้านเก่าเนื้อที่ราว 1 ไร่ ที่หลานได้เอาปาล์มน้ำมันไปลงไว้ 50-60 ต้นแล้ว

    คืนก่อนตื่นมาตอนตีสาม คิดวนเวียนอยู่กับเรื่องพืชผักที่ไชยาบ้านผมเรียก "ผักพูม" หรือบางถิ่นเรียก "หมากหมก" พืชผักหายากที่ผมชอบมากๆและไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสมานานแล้ว  ตอนเด็กๆแม่ชอบเอามามัดเป็นกำ โดยใช้ใบตะใคร้มัด  ต้มกะทิกินกับน้ำพริกกะปิ รสชาติสุดแสนอร่อยเลยล่ะครับ  ผมว่าจะอร่อยกว่ายอดเหลียง หรือ เขลียง ด้วยซ้ำไป  จึงตั้งความหวังไว้ในใจว่าจะต้องหามาปลูกให้จงได้ จะยากอย่างไรก็จะลองจนกว่าจะสำเร็จ  คิดแล้วก็อดไม่ได้จึงลุกขึ้นมา ใช้พี่ Goo ช่วยค้นหาโดย Search จาก คำว่า "ผักพูม" ได้ข้อมูลพียบเลยครับ  และแหล่งข้อมูลสำคัญดันมาเป็นคนกันเอง น้องบ่าวโสทรแห่งเมืองตรังนั่นเอง

   นี่คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่ค้นมาได้ครับ

หมากหมก

OPILIACEAE :  Lepionurus sylvestris  Bl.

ชื่ออื่น  -  ผักพูม (ไชยา สุราษฎร์ธานี )

หมากหมก เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 1 - 2 เมตรลำต้นสีเขียวกิ่งก้านแผ่ออก
จากลำต้นเป็นทรงพุ่ม คล้ายต้นผักหวานบ้าน มีกิ่งแตกออกเป็นชั้นๆละ 3 กิ่งๆ ละ 3 - 6
ใบ  เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปยาวรีปลายแหลม  หน้าใบเป็นมันลื่น ขอบใบเป็นหยักเล็ก
น้อย ใบกรอบเกรียมกว้างประมาณ 3 -7 ซม. ยาวประมาณ10 ซม.   ดอก  ออกใต้ลำ
กิ่งระหว่างขั้วใบ เป็นช่อ ดอกอ่อนสีเทา ดอกแก่สีเหลืองปลายดอกสีแดง    ผล  กลมรี
ยาวประมาณ 1 ซม. ลักษณะและขนาดของผลคล้ายผลของ ผักเขลียง  ช่อหนึ่งมี 3-5
ผล  เมื่อสุกจะมีสีแดงสดใส

ลักษณะทางนิเวศน์ - หมากหมก พบได้ตามป่าชื้นทั่วไป ที่น้ำไม่ขัง

ส่วนที่ใช้ประโยชน์
ราก(หัว) ใช้กินดิบๆ หรือเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วนให้เหลือ 1 ส่ว กินบำรุงกำลังกระตุ้นความ
กำหนัด หรือใช้หัวตากให้แห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลาย
ก้อย กินครั้งละ 3 เม็ด เป็นยาบำรุงกำลัง  ราก(หัว)กินดิบๆ หรือต้มแก้ตานขโมย แก้
โรคซางในเด็ก รักษาฝ้าในปาก   ทั้งต้น  แก้โรคไต โรคนิ่ว ขับปัสสาวะ 

ยอดและผลอ่อน  ใช้เป็นผักแกงเลียง    ผลแก่ ใช้ต้มกินเล่น

(หมายเหตุ  :ในเขตสงขลาสมัยก่อน(คลองหอยโข่ง,ทุ่งตำเสา) จะพบเห็นหมากหมก
ได้ตามบริเวณสายดมแนวเขตบ้าน  ปัจจุบันพบเห็นบ้างเฉพาะบริเวณที่ยังไม่มีการปลูก
ยางพารา หรือตามหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกล )

Source : http://plugmet.orgfree.com/flora_i.htm

......................................

 หมากหมก   
 
ชื่อท้องถิ่น หมากหมก พูมสามง่าม ผักพูม 
ชื่อวงศ์ OPILOACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepionurus sylvestris Bl.
ลักษณะลำต้น เป็นพืชยืนต้นขนาดเล็ก ความสุง 4-5 ฟุต ลำต้นสีเขียว กิ่งก้านแผ่ออกจากลำต้นเป็นทรงพุ่ม คล้ายต้นผักหวานบ้าน
ลักษณะใบ มีกิ่งแตกออกเป็นชั้นๆ ละ 3 กิ่งๆ ละ 3-6 ใบ ใบยาวรีปลายแหลม หน้าใบเป็นมันลื่น ขอบใบเป็นหยักเล็กน้อยใบกรอบเกรียม
ลักษณะดอก  ออกใต้ลำกิ่งระหว่างขั้วใบ ดอกออกเป็นช่อ ดอกอ่อนสีเทา ดอกแก่สีเหลืองปลายดอกสีแดง
ลักษณะผล   จะเปลี่ยนจากดอกมาเป็นผล ลักษณะและขนาดของผลคล้ายลูกเขลียง ช่อหนึ่งมี 3-5 ผล ผลอ่อนสีเขียว  ผลสุกสีแสด
ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ยอด ผลอ่อน ผลแก่
ใช้เป็นอาหารประเภท ใช้ยอดและผลอ่อนแกงเลียง ส่วนผลแก่ใช้ต้มกินเล่น
รสชาติ แกมหวาน (ใบ) มัน (ผล)
ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ เมล็ด
พื้นที่ที่เจริญเติบโตได้ดี ที่ราบสูง ที่ราบน้ำไม่ขัง 
ฤดูกาลที่ให้ผลผลิต ยอดเป็นตลอดปี ออกผลปลายฤดูฝน
ส่วนที่เป็นพิษ ไม่มี
สรรพคุณทางสมุนไพร ใช้หัวสดกินดิบ หรือเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน กินบำรุงกำลัง หรือใช้หัวตากแล้วบดเป็น

ผงผสมกับน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายก้อยกินครั้งละ 3 เม็ด เป็นยาบำรุงกำลัง
ราก กินดิบๆ หรือต้ม เป็นยาบำรุงกำลัง กระตุ้นความกำหนัด เห็นผลทันตา
ทั้งต้น แก้โรคไต โรคนิ่ง ขับปัสสาวะ

Source :

http://www.tungsong.com/NakhonSri/vegetable/group_3/3_16.html

..............................

เขียนโดย sothorn เมื่อ 11 กันยายน, 2009 - 12:12 Tags:
         
พืชผักหมักหมก หมากหมก
     ต้นไม้ชนิดนี้จะชื่อ หมักหมก หรือหมากหมก เท่าที่ค้นดูชื่อที่ถูกต้องเห็นจะเป็น "หมากหมก"  แต่ผมเรียก "หมักหมก" มาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ประทับใจหมักหมกมาตั้งแต่เด็กคือ คือความอร่อยของแกงเลียงหมักหมก ซึ่งเอาผักเหมียงมาแลกก็ไม่ยอม จริงๆ ครับ เพราะถ้าเอาหมักหมกมาแกงเลียง จะอร่อยกว่าผักเหมียงเป็นไหนๆ  แต่หมักหมกไม่ได้ปลูกง่ายอย่างผักเหมียงนี่ซิครับ มันถึงหากินได้ยาก ไม่มีใครปลูกได้สำเร็จ ที่ได้กินอยู่ก็มันขึ้นเองตามธรรมชชาติ ผมพยายามที่จะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แต่ก็ต้องผมแพ้ไปยกหนึ่งแล้ว ว่าจะลองใหม่อีกซักยก ถึงแม้ว่าจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดได้แต่มันเป็นพืชที่โตช้าเอามากถึงมากที่สุด

     พื้นที่บ้านผม 5 ไร่มีหมักหมกประมาณ 10 ต้นเห็นจะได้ ทั้งรักทั้งหวงเลยครับ เพราะปีหนึ่งจะได้กินแกงเลียงหมักหมกแค่ไม่กี่ครั้งเอง

      เนื้อหาทางวิชาการที่ผมค้นหารมาได้จาก http://plugmet.orgfree.com/flora_i.htm

หมากหมก

OPILIACEAE :  Lepionurus sylvestris  Bl.
 
ชื่ออื่น  -  ผักพูม (ไชยา สุราษฎร์ธานี )

หมากหมก เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 - 2 เมตร  ลำต้นสีเขียว กิ่งก้านแผ่ออก
จากลำต้นเป็นทรงพุ่ม คล้ายต้นผักหวานบ้าน มีกิ่งแตกออกเป็นชั้นๆ ละ 3 กิ่งๆ ละ 3 - 6
ใบ  เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ  รูปยาวรีปลายแหลม   หน้าใบเป็นมันลื่น ขอบใบเป็นหยักเล็ก
น้อย ใบกรอบเกรียม กว้างประมาณ 3 -7 ซม. ยาวประมาณ10 ซม.   ดอก  ออกใต้ลำ
กิ่งระหว่างขั้วใบ เป็นช่อ ดอกอ่อนสีเทา ดอกแก่สีเหลืองปลายดอกสีแดง     ผล  กลมรี
ยาวประมาณ 1 ซม. ลักษณะและขนาดของผลคล้ายผลของ ผักเขลียง   ช่อหนึ่งมี 3-5
 ผล  เมื่อสุกจะมีสีแดงสดใส

ลักษณะทางนิเวศน์ - หมากหมก พบได้ตามป่าชื้นทั่วไป ที่น้ำไม่ขัง

ส่วนที่ใช้ประโยชน์
    ราก(หัว) ใช้กินดิบๆ หรือเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน กินบำรุงกำลังกระตุ้นความ
กำหนัด  หรือใช้หัวตากให้แห้ง บดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรวง  ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลาย
ก้อย กินครั้งละ 3 เม็ด เป็นยาบำรุงกำลัง    ราก(หัว)  กินดิบๆ หรือต้มแก้ตานขโมย แก้
โรคซางในเด็ก รักษาฝ้าในปาก   ทั้งต้น  แก้โรคไต โรคนิ่ว ขับปัสสาวะ

ยอดและผลอ่อน  ใช้เป็นผักแกงเลียง    ผลแก่ ใช้ต้มกินเล่น

หมายเหตุ: ในเขตสงขลาสมัยก่อน(คลองหอยโข่ง,ทุ่งตำเสา)  จะพบเห็นหมากหมกได้
ตามบริเวณ สายดม แนวเขตบ้าน   ปัจจุบันพบเห็นบ้าง  เฉพาะบริเวณที่ยังไม่มีการปลูก
ยางพารา หรือตามหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกล )

Source : http://www.bansuanporpeang.com/node/348

.................................

      ถึงเวลาได้ลองปลูก และได้ผลสำเร็จ-ล้มเหลวอย่างไร จะนำมาบอกกล่าวแน่นอนครับ

      ภาพถ่าย "จิ๊ก"มาจาก" Website บ้านสวนพอเพียง ของน้องบ่าว โสทร ครับ

หมายเลขบันทึก: 344676เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อรุณสวัสดิ์ค่ะท่านอาจารย์

ยินดีด้วยนะคะได้หลบบ้าน หลบมาอยู่แค่ๆ แล้ว ;)

บ้านเรายังอุดมสมบูรณ์ ขอบพระคุณค่ะ

เพิ่งจะเช็ตมาเจอ ขอเป็นลูกศิษย์อาจารย์ด้วยคน เป็นเด็กนครศรีฯ แท้ๆแต่ไม่รู้จักหมากหมก ตอนนี้มาอยู่นครสวรรค์หลายปีแล้วกลับบ้านปีละครั้ง (บางปีก็ไม่ได้กลับ) ที่บ้านก็ปลูกผักกินเองปลูกทุกอย่างที่เป็นผักพื้นบ้าน พวกผักชีล้อม ลูกฉิ่ง อ้อดิบ ฯลฯ อยากได้เม็ดพันธุ์หมากหมกจัง ดูท่าทางปลูกยากเหมือนผักหวานป่าแน่นๆเลย ถ้ากลับบ้านจะแวะเยี่ยมอาจารย์เพราะญาติอยู่ไชยาหลายคน

ขอบคุณมากครับทั้งครู Poo และ คุณโส

      ขอบคุณที่มาเยี่ยมและเสริมต่อเรื่องราว

    เมื่อวานเย็น พี่สาวที่ไชยาได้ผักพูมมาและทำเป็นมัด(มัดด้วยใบตะใคร้) ต้มกะทิให้กินกับน้ำพริกกะปิ อร่อยจนลืมอิ่มเลยครับ .. เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปีที่ได้กิน

สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูเป็นนักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เมื่อวันที่4 (ภาคบ่าย) หนูชอบกินผักเขลียงเหมือนกันค่ะ ที่บ้านก็มีอยู่หลายต้น หนูเป็นคนนครศรีฯค่ะ จากที่ได้อ่านมาหมากหมกคงอร่อยไม่น่อยกว่าผักเขลียงแน่ จะหากินได้ที่ไหนมั่งเนี่ย ตามตลาดนัดบ้านเราจะมีขายมั้ยน้อ ขอบคุณอาจารย์มากเลยนะคะที่สอนให้หนูได้ทำบล็อก จนมีบล็อกเป็นของตัวเอง หนูได้อ่านอะไรดีๆเยอะเลยค่ะ

ขอบคุณคุณ สุภารัตน์


 ดีใจที่เวลาที่มีสั้นๆในการสอน ก่อประโยชน์ให้พวกเราได้

   เรื่องผักพูม ที่ตลาดนัดหน้าบ้านที่ไชยาเห็นมีขายทุกครั้ง ครับ กำละ 5 บาทก็พอทำกินได้สักมื้อหนึ่ง  กำลังจะหาพันธุ์มาลองปลูกเร็วๆนี้ครับ  เมื่อวานก็เพิ่งลง ชะอม ไป 20 ต้น

กลับไปอยู่บ้านอย่างมีความสุขแล้วนะครับพี่บ่าว เพิ่งเคยเห็นต้นแบบนี้ วันก่อนเจอต้น ชะนูด (เขียนถูกไหมเนี่ย) ชาวบ้านสงขลา เอามาใช้เผาศพแทนไม้จันทน์ กลิ่นหอมมาก ขอให้มีความสุขกับการอยู่ที่ไชยาครับ ว่างๆๆจะแวะไปคารวะ...

สวัสดีค่ะอาจารย์

ติดตามมาอ่านเรื่องดีๆของอาจารย์เห็นเรื่องผักพูมน่าสนใจ..คนบ้านๆรุ่นเก่าชาวใต้เหมือนกันแต่ไม่ทราบทำไมไม่เคยเห็นและไม่เคยกินสงสัยทางพัทลุงคงไม่มีหรือไม่ก็อาจจะไม่ค่อยได้สนใจพืชผักเท่าที่ควร..แต่ตอนนี้เริ่มสนใจแล้วค่ะ...เพราะพอถึงวัยอันสมควรผักหลายๆอย่างมีประโยชน์กับเรามากที่สุด....  ระลึกถึงอาจารย์เสมอนะคะ..จากศิษย์ชาวป.บัณฑิต502ราชภัฏจันทรเกษมค่ะ

กลุ่มสายธารอนุรักษ์

สวัสดีครับ

สวัสดีครับอาจารย์ผมปลื้มใจอาจารย์มากๆที่พูดเรื่องวิชาผักพูมที่เป็นผักพื้นบ้านของอ.ไชยาที่ต้องอนุรักษ์กันต่อไปครับอาจารย์ ผมขออนุญาตอาจารย์เล่าเรื่องผักพูมแถวบ้านผมด้วยครับ ผมขอแนะนำตัวครับ ผมชื่อ ตาปี อนุรักษ์(ภูผาตาปี) ในนาม"กลุ่มสายธารอนุรักษ์" หมู่ ๑ (บ้านฝ่ายพรุหรือบ้านปากกิ่ว) ต.ตะกรบ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เรื่องก็คือว่า" โดยผู้ศึกษา(ผม)ได้ร่วมประชุมหารือกลุ่มสายธารอนุรักษ์แล้วตกลงกันว่าเห็นควรเรียกชื่อผักชนิดนี้เป็นภาษาถิ่น ว่า “ผักพูม” หรือ “ผักภูมิ” ตามที่ชาวชุมชนเรียกมาแต่ดั้งเดิมเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนต่อไป อย่างไรก็ตาม คำว่า “ผักพูม” นั้นเป็นคำที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม และคำว่า“ผักภูมิ”ก็ไม่มีในพจนานุกรมเช่นกัน แต่ถ้าแยกคำว่า “ผัก” ตามพจนานุกรมหมายความว่า พืชที่ใช้เป็นอาหาร คำว่า “ภูมิ” หมายความว่า แผ่นดินหรือที่ดิน หรือ พื้นเพ นำมาประสมกันคงแปลว่าพืชที่ใช้เป็นอาหารที่มีในพื้นเพหรือพื้นบ้านโดยทั่วไปหรือ ผักที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆกล่าวคือผักพื้นบ้าน แต่อย่างไรก็ตามทางกลุ่มตกลงกันใช้เรียกชื่อว่า “ผัก-พูม” เป็นคำอ่านน่าจะเหมาะสมและเรียบง่ายกว่า ผักพูมชอบขึ้นในป่าไม้ตามสันทราย (sand dune)ในพื้นที่ชุมชนบ้านฝ่ายพรุ บ้านบางโหลงและชุมชนใกล้เคียงในตำบลตะกรบ และพื้นที่อำเภอใกล้เคียงกับอำเภอไชยา ซึ่งในอดีตชุมชนแห่งนี้ต้นผักพูมในป่ามากมาย แต่ปัจุบันโดยนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ ป่าที่มีอยู่ในชุมชนบ้านฝ่ายพรุ บ้านบางโหลง ไม่ว่าจะเป็นป่าในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ หรือป่าสาธารณะก็ตามเห็นว่าได้ถูกโค่นไถทำลายลงเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพาราจนเกือบจะหมดสิ้น จึงทำให้ผักพื้นบ้านหลายชนิดเกือบจะสูญพันธุ์ไปด้วย โดยเฉพาะผักพูมเป็นผักที่มีขึ้นตามธรรมชาติในป่าภายในเขตชุมชนก็เกือบจะสูญพันธุ์ไปเช่นกัน ในเดือนเมษายน ๒๕๔๕ ผู้ศึกษาจึงได้หาเมล็ดพันธุ์ผักพูมที่มีอยู่ในป่าบริเวณชุมชนบ้านฝ่ายพรุมาเพาะประมาณ ๑,๐๐๐ ผลเพื่อเพาะพันธุ์แล้วนำมาปลูกแซมต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกเมื่อ ปี ๒๕๔๖ต่อไปในเวลาที่น่าจะเหมาะสม (เมื่อต้นปาล์มอายุ ๔- ๕ ปี) (ต่อ)

แต่การดูแลรักษาไม่ดีทำให้ต้นกล้าผักพูมตายเกือบหมด แต่ผู้ศึกษาไม่คิดที่จะล้มเลิกในการปลูกผักพูมแซมต้นปาล์มต่อไป นอกจากนี้ผู้ศึกษายังได้สอบถามคนรุ่นก่อนเกี่ยวกับเรื่องผักพูมทราบมาว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวชุมชนบ้านฝ่ายพรุ บ้านบางโหลงยังเก็บหายอดผักพูมที่มีอยู่ตามป่านำมาปรุงเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตตลอดมา นอกจากนี้ชาวชุมชนบางคนยังหายอดผักพูมไปจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย จากการที่ผู้ศึกษาได้สอบถามคนเฒ่าคนแก่ในชุมแห่งนี้แล้วทราบว่าในสมัยพ่อแม่ปู่ยาตายายของเขาก็ได้มีการเก็บผักพูมไปขายที่ตลาดพุมเรียง (เมืองไชยา) และตลาด “ดอนลองทอง” (ตลาดดอนโรงทองหรือโรงทำทองบริเวณสถานีรถไฟไชยาในอดีต) คือตลาดไชยาปัจจุบันนั่นเอง จึงถือได้ว่าผักพูมเป็นผักที่มีความสำคัญและมีประโยชน์ควบคู่กับชุมชน และนับว่าเป็น “ต้นทุนของชุมชน” อย่างหนึ่งด้วย ประกอบกับกลุ่มฯได้มีการสำรวจพื้นที่อำเภอไชยาและอำเภอไกล้เคียงแล้ว ยังไม่ปรากฏว่ามีเกษตรกรรายใดหรือกลุ่มใดในชุมชนได้เอาจริงเอาจังในการอนุรักษ์ผักพูมไว้ อีกทั้งยังไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดในชุมชนได้ดำเนินการเพาะปลูกผักพูมในเชิงการเกษตรเพื่อรักษาพันธุ์พืชชนิดนี้เอาไว้

ดังนั้น กลุ่มฯ เกรงว่าหากไม่มีการจัดการรักษาพันธุ์ผักพูมไว้ สักวันหนึ่งผักพูมคงจะต้องหายากหรืออาจไม่มีในชุมชนแห่งนี้ จึงต้องตระหนักและสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์พันธุ์ผักพูมไว้ให้คู่กับชุมชนและมุ่งมั่นในการพัฒนา ส่งเสริมให้ชาวชุมชนบ้านฝ่ายพรุและบ้านบางโหลงหันมาปลูกผักพูมในโครงการที่ชื่อว่า “ผักพูมพอเพียง” ต่อไป " ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเอกสารผยแพร่แต่เฉพาะกลุ่มฯ ปัจจุบันกลุ่มได้เพาะพันธุ์ผักพูมไว้แล้วจำนวน ๓,๐๐๐ กว่าต้น(โดยใช้งบประมาณของกลุ่มฯเองทั้งหมด) ดังนั้นหากเพื่อนสมาชิกท่านใดสนใจ หลบใต้เมื่อไรแวะไปเอาผักพูมเพื่อทดลองปลูกได้เลย สำหรับอาจารย์ Handy กลับถิ่นเดิมไชยา(คนบ้านเดียวกัน)เมื่อไรแวะไปเอาพันธุ์ผักพูมปลูกได้เลยให้ฟรีทุกๆท่านครับผม โทร ๐๘๙๖๗๖๐๖๕๔ โดย...ตาปี อนุรักษ์(ภูผาตาปี)

(ต่อเรื่องผักพูม) ผักพูม ไชยา,หมากหมก สงขลาฯ ,ผักหวานป่า บ้านหมอ นั้น ผมเห็นว่า น่าจะเป็นพืชวงศ์เดียวกัน แต่คนละชนิดกันครับ เพราะผักทั้งสามชนิดดังกล่าวมีส่วนแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบ ดอก ผล กล่าวคือผักพูม และหมากหมก คือผักหวานป่าอีกชนิดหนึ่งก็ได้ เมื่อต้นปี ๒๕๕๒ ผมและคณะไปหาเกษตรกรรายแรกที่ปลูกผักหวานป่า ที่ ต.สร่างโศก อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี แล้วเห็นว่า ผักหวานป่าลำต้นจะมีขนาดโตและสูงมาก ต้นที่มี่มีอายุมากที่สุดในสวน โตเกือบเท่าเกือบหนึ่งคนโอบ ส่วนผลของผักหวานป่ามีสีเหลืองขนาดเท่าหัวแม่มือ ผมเลยซื้อพันธุ์ผักหวานป่าจากเกษตรกรรายนั้นไปปลูกที่บ้านไชยาจำนวน ๒๐ ต้น เจริญเติบโตช้ามากๆ บางต้นก็ตาย ส่วนผักพูม ที่มีอายุเยอะ ๆ แถวบ้านฝ่ายพรุ หมู่ ๑ ต.ตะกรบ อ.ไชยา เท่าที่ผมเคยเห็นมีลำต้นขนาดเท่าโคนขาก็มี ความสูงประมาณ ๖-๗ เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและความสมบูรณ์ของดิน และผักพูมไชยาผลมีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยเมื่อสุกจัดจะมีสีน้ำตาลแดงและมีรสหวานมากๆ จึงเป็นที่หวงแหนของมดแดงยิ่งไปกว่ามดแดงเฝ้าม่วงครับ ผมในนามกลุ่ม สายธารอนุรักษ์ วันนี้เล่าสู่กันควังเพียงเท่านี้ก่อนครับ สวัสดีครับ

   ขอบคุณทุกท่านครับ และขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับท่าน ตาปี อนุรักษ์ ที่ได้นำเสนอเรื่องราวที่เป็นความรู้และมีประโยชน์ยิ่งสำหรับผมและบุคคลทั่วไป  เสียดายที่ช่วงหลังชีวิตค่อนข้างวุ่นวาย  ผมกลับมาอยู่ไชยาตั้งแต่ต้นเมษา แต่ก็ไม่ค่อยได้เข้ามาติดตามความเคลื่อนไหวใน Blog จึงเพิ่งจะมาเจอสิ่งดีๆที่ท่านนำเสนอเมื่อวานนี้ก่อนที่จะต้องรีบขับรถไปสอนที่มรภ.สุราษฎร์ครับ .. เดี๋ยววันนี้ก็ต้องไปอีกให้ทันสอน 8.00 น.

   

  

...สุดยอดดดดดดดด ผักพูม ไชยา อยากกินๆๆๆๆ แกงเลียงใส่เคยเกลือน้ำตาลนะ หรือมัดลวกหัวเทนะ สงกรานต์หลบไปจะได้กินป่าวน่าาาาา

จากในรูปผมว่ามันไม่ใช่ต้นผักภูมิ 100%ครับ  

ยอดผักภูมิ กับยอดดีหมี แตกต่างกันอย่างไรค่ะ ต้นมันเหมือนกันมากๆ แต่ยอดดีหมีจะขมมาก อยากรู้ขอแตกต่างอย่างอื่นที่สังเกตุได้ชัด จะได้ตัดต้นดีหมีทิ้งไป


ผักพูม หรือพูมสามง่าม แถวบ้านคีรีรัฐเขาเรียกขานกันทั่วไป ขึ้นเองในป่าชื่น ไม่มีน้ำขัง นกหรือสัตว์ที่กินผลไม้ เป็นผู้แพร่พันธุ์ และจะงอกขึ้นเอง ใต้ต้นไม้ใหญ่ เช่นมะม่วงป่า มะขาม ต้นพยูง ไม้เนื้ออ่อน ต้นนนทรี ….

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท