ใช้ e-Mail "จีบ" พระจากอเมริกา มาเสวนากับลูกศิษย์


.. สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คะแนนวิทยาศาสตร์สูงสุด และได้คะแนนเต็มในวิชาคณิตศาสตร์ ... "สันติกะโรใช้ได้" คงจะได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังสำคัญต่อไป ..

 

     จากประสบการณ์การทำหน้าที่ "ครู" ด้วยใจรักมากว่า 30 ปี มีอะไรมากมายที่ควรนำมาบันทึกเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์  เคยตั้งใจว่าจะจัดระบบของเรื่องราวให้ดีก่อนแล้วค่อยนำเสนอ  แต่ดูเหมือนว่าจะทำได้ยาก จึงขอใช้วิธีธรรมชาติ คือความคิดอะไรผุดขึ้นมาและเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ก็จะเขียน โดยไม่ใส่ใจว่าอะไรเกิดก่อน-หลัง  และคงไม่มีหมวดหมู่อะไร  เรียกว่าขอ Free Style แบบเต็มรูปก็แล้วกันครับ

     จากหัวเรื่อง..  ความจริงมีอยู่ว่า ในปี พศ.2543 ผมได้เลือกสอนวิชาที่น่าสนใจมาก ในกลุ่มวิชา การศึกษาทั่วไป ( General Ed.) ชื่อวิชา " ความจริงของชีวิต " มันท้าทายผมมากที่สุดถึงขนาดไม่สนใจสมัครสอนวิชาอื่นใดเลยในกลุ่มวิชาดังกล่าวที่มีอยู่ราว 13 รายวิชา  ทั้งๆที่โดยฐานเดิมผมเคยสอนวิชาภาษาอังกฤษ และวิชาในกลุ่มเทคโนโลยี-สารสนเทศเพื่อการศึกษา และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น  จะให้อดใจได้อย่างไรล่ะครับในเมื่อคำอธิบายรายวิชาเขียนไว้ว่า ...

   "  ศึกษาความจริงของชีวิต ความหมายของชีวิต การดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันและโลกยุควิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ  การนำเอาความจริงและหลักศาสนธรรมไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาปัญญาชีวิตและสังคม การพัฒนา คุณธรรมและจริยธรรมตามหลักศาสนธรรม ชีวิตที่มีสันติสุข และ สังคมที่มีสันติภาพ "

     และตามด้วยจุดประสงค์ของรายวิชาที่น่าสนใจยิ่ง ว่า ..

            เมื่อศึกษารายวิชานี้จบแล้ว นักศึกษาควรมีความสามารถในสิ่งต่อไปนี้

           1. มีความเข้าใจและสามารถพิจารณาความจริงของชีวิตด้วยปัญญา
           2. มีคุณธรรม จริยธรรมตามหลักศาสนา และเสริมสร้างการมีวินัยในตนเอง
           3. สามารถใช้หลักศาสนธรรมในการแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตได้
           4. สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

     ในฐานะครูคนหนึ่งที่เห็นความผิดพลาดของการจัดการศึกษามาโดยตลอดและทำงานไปด้วยความคับข้องใจ  จึงคิดจะหาความอิ่มใจใส่ตัวด้วยการสมัครเป็นผู้สอนวิชาดังกล่าว  ไปเข้าร่วมประชุมแนะนำรายวิชาและแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และกลับมาเริ่มสอน .. สนุกและท้าทายมากครับ ได้พบกับนักศึกษาที่หลากหลาย  ได้คิดค้นกระบวนการ  วิธีการมากมาย  ตลอดจนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกลุ่มต่างๆ  เรียกว่าได้ผสมผสานประสบการณ์ในชีวิตของตัวเองเข้ามาในการทำงานอย่างเต็มที่  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาและวรรณกรรม  เรื่องการปรับเปลี่ยน-ประยุกต์เทคโนโลยีและสื่อการเรียนรู้  และเรื่องสัจจธรรมแห่งโลกและชีวิต  อันเป็น "ของชอบ" ที่เคยได้เอาชีวิตเข้าไปคลุกคลีและเรียนรู้อะไรมาพอสมควร 

     ในภาคเรียนที่ 1/2543 ผมมีนักศึกษาที่เรียนวิชาดังกล่าวอยู่ 3-4 หมู่เรียน และมาจากหลายสาขาวิชา  ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1  หลังจากผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย  และเน้นความสัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียนเป็นสำคัญ  ตอนปลายภาคเรียนก็คิดโครงการที่จะนิมนต์พระภิกษุสักรูปหนึ่งมาสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้-ความคิดกับนักศึกษาทั้งหมดที่สอน  ท่านไหนนะจะเหมาะสมที่สุด ? เป็นคำถามที่ผมถามตัวเอง  สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าน่าจะเป็น ท่านสันติกะโรภิกขุ  ด้วยเหตุผลว่านักศึกษาพวกนี้เป็นคนหนุ่มสาว  ของล่อที่น่าจะเหมาะสมคือตัวบุคลที่เลือกมาจะต้องมีความโดดเด่นในด้านโลกๆมาก่อนและเป็นผู้ที่ศรัทธาและเข้าถึงแก่นธรรมด้วย

    ท่านสันติกะโร เป็นพระภิกษุอเมริกัน  บวชเรียนมาแล้วกว่า 15 พรรษา  พูด-อ่านไทยได้ดี  เรียนเก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คะแนนวิทยาศาสตร์สูงสุด  และได้คะแนนเต็มในวิชาคณิตศาสตร์ บวชเรียนโดยมีท่านพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทะภิกขุ) เป็นพระอุปัชฌาย์จารย์  และใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาและช่วยเหลืองานท่านอาจารย์พุทธทาสอยู่ที่สวนโมกข์  ผมได้มีโอกาสรู้จักท่านเมื่อตอนไปบวชเรียนอยู่ที่สวนโมกข์ในปีพศ.2531 แต่ได้คุยกันเพียง 2-3 ครั้ง  และที่สำคัญอันเป็นที่มาของความมั่นใจของผมด้วย คือวันหนึ่งผมอยู่ที่กุฏิท่านอาจารย์พุทธทาสขณะที่ท่านปัญญานันทะภิกขุไปเยี่ยมและทั้งสองท่านกำลังสนทนากันอยู่  ก็ได้ยินประโยคสั้นๆที่ท่านอาจารย์บอกท่านปัญญานันทะภิกขุว่า  "สันติกะโรใช้ได้" คงจะได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังสำคัญต่อไป .. ฯลฯ

   แต่ จากวันนั้นมันผ่านไปกว่า 10 ปีแล้วที่ผมพบท่านสันติกะโรที่สวนโมกข์  ท่านยังอยู่เมืองไทย ยังเป็นพระภิกษุอยู่หรือไม่  หรืออยู่ที่ใดในโลก  ผมไม่รู้เลย  สิ่งที่น่าจะดีและมีประสิทธิภาพที่สุดที่จะช่วยให้การสื่อสารระหว่างผมกับท่านสำเร็จคือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Mail ผมจึงเลือกวิธีดังกล่าวและทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดีและได้ผลสำเร็จเกินความคาดหมาย  ส่วนที่ว่าผมจะ "จีบ" ท่านแบบไหน และจัดการกับกิจกรรมสำคัญในวันนั้นอย่างไร เอาไว้ต่อตอน 2 ก็แล้วกันนะครับ  รับรองว่ามีต่อแน่นอน  เพียงแต่ไม่อาจบอกวันเวลาได้เท่านั้นเอง  อยู่ที่ Rating ด้วยครับ ..      (อันนี้ พูดเล่น  แต่มีความจริงปนอยู่บ้างครับ)

    ดูภาพกิจกรรมไปพลางๆก่อนครับ

  Click ----> http://pg.photos.yahoo.com/ph/techno202544/slideshow?&.dir=/2057&.src=ph

 

 

หมายเลขบันทึก: 7535เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2005 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อ่านทุกตอนค่ะ  มีประโยชน์มาก หาเวลาว่างเขียนต่อเร็วๆนะคะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

ขอตอบ "คุณครู" แบบไม่ทันใจ เพราะผ่านไปกว่าครึ่งปีแล้ว ว่า "ขอบคุณครับ" ได้เขียนบันทึกต่อๆมาอีกหลายสิบเรื่อง คงได้ติดตามอ่านบ้างแล้ว .. ดีใจครับที่เรื่องเล่าธรรมดาๆ ก่อประโยชน์แก่ท่านได้ ขอจงภาคภูมิใจและทำหน้าที่ ยิ่งใหญ่ "ยกระดับวิญญาณมนุษย์" ต่อไป อย่างไม่ย่อท้อ ความสุขของพวกเราไม่ต้องแสวงหาครับ มันมีอุดมอยู่แล้วในหน้าที่การงานนั่นเอง

สวัสดีครับ พี่บ่าวที่เคารพ

ไม่ทราบว่าพี่บ่าวเป็นคนเหล็กหรือเปล่าครับ?

สามารถทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งๆ ที่ี่เพิ่งเหน็ดเหนื่อยกับการส่งคุณแม่ไปพักผ่อนมาไม่นานเอง นับถือครับ นับถือ

ขอขอบคุณสำหรับบทความนี้ที่แนะนำมาครับ เดี๋ยวจะตามหาภาคสอง ไม่รู้มีหรือเปล่านะครับ

ผมเพิ่งเคยได้ยินชื่อวิชา "ความจริงของชีวิต" ครับ มีวิชานี้อยู่ในสารบบการศึกษาไทยด้วยหรือครับ?  นี่ถ้าตอนเรียนผมมีให้เลือก คงเป็นคนแรกๆ ที่เลือกเรียนวิชานี้แน่นอนครับ

มีเรื่องตลก(ปนเศร้า) ตอนที่ผมเรียนปีหนึ่ง เขามีวิชาเลือกชื่อ วิชาจิตวิทยาเบื้องต้น หรืออะไรทำนองนี้แหละครับ  ได้เห็นชื่อผมดีใจมาก เพราะตอนนั้นกำลังชอบเรื่องการศึกษาทางจิตพอดี พอเข้าเรียนจริงๆ ที่ไหนได้กลับให้เราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราเรียนมาแล้วตอนมัธยม  ที่เขาทดลองเคาะชามข้าวหมา แล้วทำให้หมาน้ำลายไหลนั่นแหละครับ แล้วเีรียนทฤษฎีของฝรั่ง

สรุปว่าเสียใจมากเลยครับ

มาต่อกันที่บันทึกของพี่บ่าว...

อ่านแล้วผมรู้สึกอิจฉาพี่บ่าวครับ ยิ่งตอนที่พี่บ่าวเขียนว่า

" คือวันหนึ่งผมอยู่ที่กุฏิท่านอาจารย์พุทธทาสขณะที่ท่านปัญญานันทะภิกขุไปเยี่ยมและทั้งสองท่านกำลังสนทนากันอยู่  ก็ได้ยินประโยคสั้นๆที่ท่านอาจารย์บอกท่านปัญญานันทะภิกขุว่า  "สันติกะโรใช้ได้" คงจะได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังสำคัญต่อไป .."


ที่อิจฉาก็ตรงที่พี่บ่าวได้อยู่ท่ามกลางครูบาอาจารย์ที่ผมนับถืออยู่ถึงสองท่าน  ซึ่งมันไม่สามารถเกิดกับผมได้แน่นอน

บุญวาสนานี่แข่งกันไม่ได้จริงๆ เลยนะครับ อิอิ

การได้อ่านหนังสือของท่านเหล่านั้น ไม่ว่าสักกี่สิบกี่ร้อยเล่ม ก็สู้ไม่ได้ที่จะได้อยู่ใกล้ชิดท่านสักวินาทีเดียวหรอกครับ  พี่บ่าวว่าไหมครับ?

เขียนไปเขียนมาชักมึนๆ แล้วครับ จบไม่ลง เอาเป็นว่าขอจบดื้อๆ แค่นี้แหละครับ

ธรรมะคุ้มครองครับ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับ น้องบ่าว ธรรมาวุธ

  • นั่งตอบอยู่ที่สวนป่า มหาชีวาลัยอิสาน บ้านท่านครูบาสุทธินันท์ครับ
  • มาถึงตอนทุ่มกว่าๆ .. กินข้าวกินปลาอิ่มแล้วจึงมาตอบ
  • สวัสดีครับ

สวัสดีครับพี่บ่าว

ว่าแล้วได้ยินเสียงเรอ เอ่อ อ่า มาจากไหน

ผมเข้าไปอ่านแล้วครับ ตอนแรกเห็นภาษาปะกิตก็เริ่มตาลาย จะถอยแหล่ไม่ถอยแหล่อยู่แล้วครับ แต่ก็ลองอ่านดูก็พอดำน้ำไปได้ เฮ่อ

อายุป่านนี้(ปูนนี้) แล้วยังต้องหนักใจภาษาอังกฤษอยู่เลยครับ ดีนะที่ตอนเรียนประถมครูให้เราบ่อย เจอฝรั่งเมื่อไหร่ก็รำไทยเมื่อนั้นครับ อิอิ

ขอให้อิ่มท้อง อิ่มปัญญา ที่สวนป่า มหาชีวาลัยอิสานนะครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

ขอแก้คำผิดครับ

จาก ดีนะที่ตอนเรียนประถมครูให้เราบ่อย

เป็น ดีนะที่ตอนเรียนประถมครูให้รำบ่อย

ขอบคุณครับ

ปล. รำที่ว่าคือรำไทยนะครับ ไม่ใช่รำที่ให้หมูกิน อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท