แนวโน้มหวัด2009ในไทยน่าจะดี


เดลินิวส์ 24 สิงหาคม 2552 ตีพิมพ์เรื่อง "แพทยสภาชี้ไข้หวัด2009ไม่ระบาดอีก"  ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ขอความกรุณาแวะไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ "เดลินิวส์" ฟรีครับ

[ ข้อความคัดลอก ] > [ เดลินิวส์ ]

"นายกแพทยสภา"ฟันธง เมืองไทยไม่มีระบาดระลอกสอง ไข้หวัดใหญ่ 2009 หลังจากการระบาดใหญ่จบไปเรียบร้อยแล้ว คาดช่วงปลายฝนต้นหนาวอาจมีป่วยบ้างประปราย

ด้านองค์การเภสัชฯ เดินหน้าลุย กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์สำหรับเด็ก ยอมรับหากผลิตวัคซีนได้ไม่ถึง 30 โด๊สต่อไข่ 1 ฟอง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

ขณะที่ สสจ. เชียงใหม่ จับมือคณะเภสัชศาสตร์ มช. ร่วมกันปรุงน้ำกระสายยา ให้บรรดาเด็กเล็กกินได้แล้ว ส่วนที่เมืองน้ำดำ ชาวบ้านแห่ใช้บริการหมอสมุนไพรโบราณ ด้านสถานการณ์ต่างประเทศที่ประเทศชิลีฮือฮา “ไก่งวง” ติดเชื้อไข้หวัด ถือเป็นกรณีแรกของโลก
    
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลกเตือนให้ระวังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระลอก 2 ว่า

ในส่วนของประเทศไทยคิดว่าไม่น่ากังวล เพราะขณะนี้คนไทย โดยเฉพาะเด็กนักเรียนป่วยกันเกือบหมดแล้ว ดังนั้นช่วงปลายฝนต้นหนาวจึงไม่คิดว่า จะมีผู้ป่วยจำนวนมาก หรือถ้าจะมีช่วงหน้าหนาวก็อาจมีน้อยประปราย

ตนคิดว่าประเทศไทยไม่น่าจะมีการระบาดระลอก 2 เพราะการระบาดใหญ่ของประเทศไทยมันจบแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย.และต้นเดือนก.ค. 
    
“คาดว่าขณะนี้มีผู้ป่วยหลายล้านคนแล้ว  แต่ก็อาจมีผู้ป่วยบ้างประปรายในช่วงหน้าหนาว โดยคนที่ยังไม่ป่วย อาจได้รับเชื้อจากชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวยังประเทศไทย

เช่น สหรัฐ ที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวและจะมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้น แต่หากมีการระบาดระลอก 2 ในประเทศไทยจริงน่าจะเป็นเชื้อไวรัสตัวใหม่ ที่มิใช่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ในขณะนี้”
    
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัช กรรม (อภ.) กล่าวถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิด “เชื้อเป็น” ว่า อุปสรรคในขณะนี้คือปริมาณเชื้อไวรัสที่ฉีดเข้าไปในไข่ได้จำนวนน้อย คงต้องดูว่าไข่ลอต 2 จะได้ปริมาณไวรัสมากน้อยเพียงใด

ส่วนเรื่องไข่ปลอด เชื้อที่จะสั่งมาผลิตวัคซีนนั้นไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาคือ จะได้ปริมาณวัคซีน ตามต้องการหรือไม่ เพราะเราตั้งเป้าว่า จะได้ประมาณ 30 โด๊สต่อฟอง หากได้น้อยกว่านั้นถือเป็นเรื่องใหญ่

ดังนั้นที่ตั้งเป้าว่าจะผลิตวัคซีนให้ได้ 20 ล้านโด๊สนั้นก็ยังเป็นความฝันอยู่ ซึ่งหากจะผลิตให้ได้ในปริมาณขนาดนั้นก็ต้องหาสถานที่ผลิตเพิ่มเติมจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร จ.นครปฐม ซึ่งในส่วนของ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (มจธ.) ก็กำลังพูดคุยกันอยู่ 
    
ผอ.อภ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์สำหรับเด็กนั้น ขณะนี้ อภ.ได้ผลิตเสร็จแล้ว หาก รพ.ใดสนใจสามารถติดต่อเข้ามาได้ โดย อภ.พร้อมที่จะกระจาย ยาต้านไวรัสสำหรับเด็กได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. เป็นต้นไป

ซึ่งมี 2 ขนาด คือ 30 และ 45 มิลลิกรัม เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการผลิตยาต้านไวรัส “ชนิดน้ำ” นพ.วิทิต กล่าวว่า คาดว่าจะต้องใช้เวลาวิจัยและพัฒนาประมาณ 1 ปีเป็นอย่างช้าเพราะจะต้องมีการทดสอบความคงตัวของยาน้ำด้วย
    
ด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักระบาดวิทยา กำลังคาดการณ์ตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ว่า

คนไทยน่าจะป่วยไปแล้วประมาณกี่คน ส่วนที่องค์การอนามัยโลกเตือนให้ทั่วโลกรับมือการระบาดรอบ 2 นั้น นพ.สมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของประเทศไทยยังเป็นการระบาดในระลอกที่ 1 ช่วงปลาย ๆ ซึ่งตัวเลขในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้ป่วยลดลง แต่บางจังหวัดยังสูงอยู่ 
    
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกสำรวจทุกหมู่บ้านเพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น

ขณะนี้มีรายงานเข้ามาแล้วประมาณ 30 จังหวัด คาดว่าในเร็ว ๆ นี้จะได้ตัวเลขว่า แต่ละจังหวัดนั้นมีผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่มากน้อยเพียงใด ซึ่งบางจังหวัดที่ได้รับรายงานเบื้องต้นมีประมาณ 2,000 คน
    
ขณะเดียวกัน ที่ จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางคณะเภสัชศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ เภสัชกรสาธารณสุขเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการรับประทานยาโอเซลทามิเวียร์ในเด็กป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้สามารถรับประทานได้ง่าย และประสิทธิภาพของยาไม่เสื่อมสลายด้วยการปรุงน้ำยาใช้ในโรงพยาบาล

ภก.พิสณฑ์ ศรีบัณฑิต ประจำสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตัวยาโอเซลทามิเวียร์มีรสขมมาก ทางเภสัชกรสาธารณสุขเชียงใหม่จึงได้ร่วมกับทางรพ.ร่วมกันคิดค้นวิธีในการปรุงยาเพื่อให้เด็กเล็กสามารถทานได้ง่าย จึงปรุงยาโอเซลทามิเวียร์ชนิดแคปซูลผสมกับน้ำหวาน  
    
ภก.พิสณฑ์ กล่าวต่อว่า จะใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบในการปรุงน้ำกระสายยา สูตร ora-sweet ซึ่งให้ความคงตัวของยาที่ดี แต่ “น้ำกระสายยา” เภสัชกรโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตได้เพราะไม่มีสารเภสัชเคมีภัณฑ์

ในเบื้องต้นจึงปรุงโดยให้น้ำเชื่อมแบบปรุงแล้วจ่ายทันที (Freshly Prepare) ล่าสุดขอความอนุเคราะห์จากคณะเภสัชศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้ช่วยปรุงน้ำกระสายยา ora-sweet จำนวน 50 ลิตรเพื่อสนับสนุนในโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งรัฐและเอกชน เพื่อใช้ผสมให้ผู้ป่วยเด็กเล็กรับประทาน
    
ส่วนที่บริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเหล่ากลาง หมู่ 9 ต.กลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  มีชาวบ้านเดินทางมาขอตัวยาสมุนไพรรากไม้จาก นายดัน ดลปัดชา อายุ 71 ปี หมอยาสมุนไพรโบราณชื่อดังของหมู่บ้าน

ทั้งนี้นายดัน เปิดเผยว่า หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ ทำให้มีชาวบ้านเดินทางมาขอให้ตนรักษาแบบวิธีโบราณจำนวนมาก โดยการใช้ยาสมุนไพรทั้งแบบต้มยารากไม้ใส่หม้อดิน และแบบฝนยารากไม้ผสมน้ำให้กิน

ซึ่งสูตรตำรายาสมุนไพรสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนแล้ว บรรพบุรุษได้เขียนเอาไว้บนใบลานเพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ ส่วนตัวยาสมุนไพรบางชนิดหากหาไม่ได้ก็จะไปหาซื้อตามร้านขายยา
    
ด้าน นพ.สมยศ ศรีจารนัย นายแพทย์เวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หมอยาสมุนไพรที่รักษาผู้ป่วยจะต้องคำนึงถึงการปฏิบัติ 5 อย่าง

คือการใช้ยาให้ถูกต้อง การใช้ยาให้ถูกส่วน การใช้ยาให้ถูกขนาด การใช้ยาให้ถูกวิธี และการใช้ยาให้ถูกกับโรคเพราะต้นไม้สมุนไพรบางชนิด มีใบเป็นยา มีรากเป็นพิษ, แต่บางชนิดมีรากเป็นยา มีใบเป็นพิษ

ที่สำคัญสมุนไพรแต่ละชนิดใช้จำนวนและรักษาโรคได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการใช้สมุนไพรต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
    
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุง ซันติอาโก ประเทศชิลี ว่า สถาบันอนามัยของชิลีแถลงว่า ขอยืนยันผลการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในฟาร์มเลี้ยงไก่งวง 2 แห่งในเขตปกครองวัลปาไรโซ 160 กม. ทางตะวันตกของกรุงซันติอาโกนั้น

เป็นเชื้อไวรัสตัวเดียวกับที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ และ ติดเชื้อจากคนมาสู่ไก่งวง ซึ่งถือว่าเป็นกรณีแรกของโลก แต่นางจีเนตต์ เวก้า รมว.สาธารณสุขชิลียืนยันว่า เชื้อไวรัสยังไม่ได้กลายพันธุ์

แม้ทางเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกแสดงความวิตกว่า เชื้อไวรัสอาจแข็งแรงขึ้นและกลายพันธุ์ได้ ขณะนี้ ชิลีมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 116 ศพ และ ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 อีก 12,175 คน
    
ที่กรุง
เอเธนส์ ประเทศกรีซ มีรายงานว่า ชายวัย 23 ปีเสียชีวิตจากอาการของโรคแทรกซ้อนหลังติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นับเป็นผู้ป่วยเสียชีวิตรายแรกของประเทศกรีซจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก

สถานีโทรทัศน์เอ็นอีทีของกรีซรายงานด้วยว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้เสียชีวิตลงที่รพ.โอนาสซิโอ หลังเข้ารับการรักษาตัวเพราะมีอาการของโรคหัวใจเมื่อช่วงต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่รายงานข่าวอีกกระแสระบุว่า เขาอาจจะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในโรงพยาบาลที่รักษาตัวแห่งนี้ก็เป็นได้ กระทรวงสาธารณสุขของกรีซ รายงานว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสทั่วประเทศกว่า 1,400 ราย ส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศ. 

หมายเลขบันทึก: 290659เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท