..ว่าด้วย.. แนวคิดพื้นฐานที่ปรากฏในการศึกษาวิจัย ที่ 1


“สิทธิในสุขภาพ” และ “สิทธิในหลักประกันสุขภาพ”

จากอารัมภบทในรัฐธรรมนูญขององค์การอนามัยโลก (WHO Constitution Preamble) กล่าวว่า การได้รับประโยชน์จากการมีสุขภาพที่มีมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะเป็นได้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับ โดยปราศจากการแบ่งแยกด้วยเหตุของเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม[1]

อย่างไรก็ตาม สิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) ก็ไม่ได้หมายความถึง สิทธิในการมีสุขภาพที่ดี เนื่องจากเราไม่สามารถคาดหวังให้รัฐจัดหามาตรการที่จะป้องกันสาเหตุของการเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยทุกชนิดได้ และสิทธิในสุขภาพก็ไม่น่าจะหมายถึงสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลสำหรับการเป็นป่วยทุกชนิดอย่างไร้ขีดจำกัด แต่หากหมายถึง สิทธิในการใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวก สินค้า และบริการ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่รัฐจำต้องจัดหาให้ เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสุขภาพที่ดี และยังหมายรวมถึง สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ทันเวลาและเหมาะสม รวมถึงการเข้าถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีอื่นๆ เช่น การเข้าถึงน้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพก็เป็นอีกประเด็นที่มีความสำคัญในการบรรลุถึงสิทธิในสุขภาพดังที่ได้กล่าวมา[2]

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สิทธิในสุขภาพประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วนด้วยกัน คือ สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล (a right to health care) และ สิทธิในการได้รับสภาวะที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี (a right to healthy conditions) แต่การที่จะระบุว่าการรักษาพยาบาลในลักษณะใดที่จำเป็น หรือ สภาวการณ์แบบใดที่จะส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดี เพื่อให้บรรลุถึงสิทธิในสุขภาพนั้น ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและการกำหนดกรอบของคณะกรรมการที่กำกับดูแลกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นหลัก

ส่วนสิทธิในหลักประกันสุขภาพนั้น เป็นสิทธิที่ย่อยลงมาจากสิทธิในสุขภาพอีกทีหนึ่ง ซึ่งการที่รัฐจะบรรลุถึงสิทธิในสุขภาพได้นั้น มาตรการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การจัดหาหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสมให้แก่ประชาชน ในประเด็นนี้ แมรี่ โรบินสัน อดีตข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า สิทธิในสุขภาพไม่ได้หมายถึงสิทธิที่จะมีสุขภาพที่ดี และก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลที่ยากจนจำเป็นต้องจัดหาบริการด้านสาธารณสุขที่มีราคาแพงให้แก่ประชาชน แต่หากเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลหรือผู้มีหน้าที่กำหนดแผนหรือนโยบายที่เหมาะสมที่สามารถนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคนในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุด[3]

ในความเห็นทั่วไปว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ลำดับที่ 14 ยังได้กล่าวถึงพันธกรณีขั้นพื้นฐานของรัฐภาคี 2 ประการ[4]โดยสรุป ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ หน้าที่ของรัฐภาคีในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสินค้าและบริการเท่าที่จำเป็น เพื่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม เช่น การจัดหาสถานพยาบาลและยารักษาโรค เป็นต้น นอกจากนี้ พันธกรณีหลักทั้ง 2 ประการของรัฐภาคี จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของ การไม่เลือกปฏิบัติ และ การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ อีกด้วย



[1] 1946, “Constitution of World Health Organization”, adopted by the International Health Conference, World Health Organization.

[2] 2000, “General Comment No.14: the Right to the Highest Attainable Standard of Health (Art.12)”, Economic and Social Council, United Nations, paras 9 and 11

[3] Mary Robinson, former UN High Commissioner for Human Rights, as quoted in: Nygren-Krug H. 25 Questions and answers on health and human rights. World Health Organization health and human rights publication series No 1. Geneva: WHO. 2002:11.

[4] พันธกรณี 2 ประการได้แก่ หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และ หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสภาวะที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี

หมายเลขบันทึก: 165823เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท