..ว่าด้วย.. แนวคิดพื้นฐานที่ปรากฏในการศึกษาวิจัย ที่ 2


“ประชาคมระหว่างประเทศ” กับ “ความคาดหวัง”

เมื่อโลกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือ การสื่อสารระหว่างกัน ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ โลกก็เข้ามาสู่ยุคที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ (globalization)” แทบจะทุกพื้นที่ในทุกมุมโลกก็ถูกเชื่อมเข้าหากันอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ข้อมูลข่าวสารถูกส่งผ่านหากันอย่างไร้พรมแดน แม้จะอยู่กันคนละทวีป ห่างกันเป็นพันพันไมล์ หรือจะมีมหาสมุทรกี่มหาสมุทรมากั้นก็ตาม ดังนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศแต่ละประเทศจะอยู่โดยลำพังไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับประเทศใดในโลก เพราะเมื่อโลกเข้าสู่ยุคปัจจุบันดังที่ได้กล่าวมา ทุกๆ การกระทำของทุกๆ ประเทศในโลกล้วนแต่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

คำว่า ประชาคมระหว่างประเทศ ที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างถึงในงานวิจัยชิ้นนี้ หมายรวมถึง ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของพื้นที่ระหว่างประเทศ (international arena) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ประเทศแต่ละประเทศใช้ในการทำกิจการระหว่างประเทศร่วมกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในความเป็นประชาคมระหว่างประเทศ คือ การที่เกือบทุกประเทศในโลก เข้าเป็นสมาชิกของ องค์การสหประชาชาติ (United Nations)[1] จุดประสงค์ก็เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกประเทศในโลกเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาและเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างดุลแห่งการพึ่งพาอาศัยและรักษาผลประโยชน์ชาติในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือ มนุษยธรรม ดังนั้น จากตัวอย่างของความเป็นประชาคมระหว่างประเทศของ 192 ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นการยากที่รัฐรัฐหนึ่งในฐานะสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศจะสามารถกระทำการตามอำเภอใจได้ โดยไม่สนใจประชาคมระหว่างประเทศเลย เนื่องจากการกระทำการใดๆ ก็ตามของรัฐหนึ่งรัฐ จะอยู่ในสายตาของรัฐอื่นๆ อีก 191 รัฐ เสมอ แม้ว่าการกระทำนั้นๆ จะเป็นกิจการภายในประเทศก็ตาม แต่หากเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงภายในประเทศนั้นๆ การเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศก็ย่อมสามารถกระทำได้ ตามหลักการที่เรียกว่า การแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Intervention)” หรือไม่รัฐนั้นก็จะถูกกดดันจากประชาคมโลก ดังเช่น ประเทศพม่า ในปัจจุบัน เป็นต้น

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศที่มีต่อรัฐไทย ในการเคารพสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นภาคี เพราะฉะนั้นคำว่า ประชาคมระหว่างประเทศ ที่ใช้ในงานวิจัยชิ้นนี้ก็จะมีความหมายที่แคบลงในเชิงพื้นที่ระหว่างประเทศที่ใช้พูดถึงสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพ

ประชาคมระหว่างประเทศ ณ ที่นี่จึงหมายถึง พื้นที่ระหว่างประเทศที่มีการรวมตัวกันของรัฐภาคีของกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีข้อบัญญัติในเรื่องการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ซึ่งโดยหลักจะมีอยู่ 6 พื้นที่ ดังต่อไปนี้

 

พื้นที่ที่ 1: ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในกรอบของการกล่าวถึงสิทธิมนุษยชน เนื่องจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองตามข้อมติที่ 217 A (III) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติเพียงแค่ 3 ปี อาจจะเรียกได้ว่าทุกประเทศที่เป็นภาคีขององค์การสหประชาชาติต่างก็ยอมรับหลักการที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหลักฉบับนี้ และข้อบัญญัติในเรื่องการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ก็ปรากฏอยู่ในข้อที่ 25 (1)[2] ของปฏิญญาอย่างชัดเจน

 

พื้นที่ที่ 2: กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

พื้นที่ระหว่างประเทศภายใต้กรอบของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนี้ มีรัฐสมาชิกที่ยอมผูกพันรัฐตนภายใต้กรอบของสิทธิต่างๆ ที่ระบุในกติกาฉบับนี้ ทั้งหมด 160 รัฐ และในข้อบัญญัติที่ 25[3] ของกติกาฉบับนี้ก็มีข้อบัญญัติที่กล่าวถึง การเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตน และถึงแม้ว่าตามข้อบัญญัติที่ว่านี้ ไม่ได้เขียนถึงความตกลงร่วมกันของรัฐภาคีในเรื่องการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพไว้อย่างชัดเจน แต่คำว่า การบริการสาธารณะ ก็คือ การบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการจัดหาให้อย่างเหมาะสม เช่น การบริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่า การตีความตามข้อบัญญัติข้อนี้ก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐภาคี ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญและความเข้าใจของแต่ละรัฐด้วย

 

พื้นที่ที่ 3: กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

เป็นพื้นที่ระหว่างประเทศที่มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 157 ประเทศทั่วโลก มีข้อบัญญัติที่ว่าด้วยการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อที่ 12[4] ทั้งสิทธิในสุขภาพในภาพกว้างและมาตรการที่จำเป็นที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติตามเพื่อบรรลุถึงการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิดังกล่าว

 

พื้นที่ที่ 4: อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

173 ประเทศสมาชิกตามอนุสัญญานี้ ต่างตกลงยอมรับแนวทางการปฏิบัติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุต่างๆ ซึ่งในพื้นที่นี้ก็มีการระบุถึงการประกันสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพโดยปราศจากการแบ่งแยกด้วยเหตุต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ในข้อ 5 (ฉ) 4)[5]

 

พื้นที่ที่ 5: อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

พื้นที่ระหว่างประเทศที่ว่าด้วยมาตรการในการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยเน้นความสำคัญไปที่ผู้หญิงในสังคม ประชาชนที่เป็นผู้หญิงก็ย่อมมีสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพที่เท่าเทียมกับผู้ชาย ตามข้อบัญญัติข้อที่ 12 (1)[6] ซึ่งพื้นที่นี้มีภาคีทั้งหมด 185 รัฐ

 

พื้นที่ที่ 6: อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

พื้นที่สุดท้ายเป็นพื้นที่ระหว่างประเทศที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับเด็กเป็นพิเศษ ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก ที่ต่างก็ยอมรับที่จะผูกพันตามแนวทางที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากเด็กเป็นผู้ทรงสิทธิ (Right Holder) ที่ง่ายต่อการถูกละเมิดมากที่สุด พื้นที่นี้ก็จะมีการกล่าวถึงสิทธิทุกประการที่เด็กพึงได้รับ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองเด็กด้วย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและสิทธิในหลักประกันสุขภาพของเด็กก็มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อที่ 24[7]

 

ในแต่ละพื้นที่ระหว่างประเทศดังที่ได้กล่าวมา ก็จะมีคณะกรรมการเฉพาะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่นั้นๆ มาตรการในการกำกับดูแลของคณะกรรมการ ในเรื่องของการปฏิบัติตามแนวทางของกติกาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศของรัฐภาคีนั้นมีอยู่หลายวิธีการด้วยกัน แต่มีวิธีการหนึ่งที่เป็นมาตรฐานเดียวกันที่รัฐภาคีของทุกกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศจำเป็นต้องปฏิบัติตาม คือ การส่งรายงานประเทศตามพันธรกรณี ภายใต้กติกาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

และจากการศึกษารายงานประเทศของรัฐภาคีของกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศนั้น จะทำให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติของรัฐภาคี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ซึ่งแนวทางปฏิบัติของรัฐภาคีนี่เองที่จะสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่แต่ละรัฐภาคี ในฐานะของสมาชิกในประชาคมระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญในเรื่องของการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ

นอกจากการศึกษาแนวทางปฏิบัติของรัฐภาคีแล้ว การโต้ตอบของคณะกรรมการต่อแนวทางปฏิบัตินั้นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จำต้องศึกษาเช่นกัน เพื่อเป็นการยืนยันว่าแนวทางปฏิบัติที่รัฐภาคีได้ให้ความสำคัญนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้องตามมาตรฐานของกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่คณะกรรมการกำกับดูแลอยู่ หากไม่แล้ว คณะกรรมการจะมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะกลับมาสู่รัฐภาคีนั้นๆ เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้รัฐภาคีปฏิบัติตาม จากการโต้ตอบของคณะกรรมการนี้เองจะทำให้ศึกษาได้ถึงความคาดหวังที่คณะกรรมการมีต่อรัฐภาคีที่ตนกำกับดูแลอยู่ถึงแนวทางปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานที่เป็นสากลภายใต้กรอบของกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศในพื้นที่ทั้งหมด 6 พื้นที่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สามารถทำการศึกษารายงานประเทศซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐภาคี รวมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการต่อรายงานประเทศของรัฐภาคีได้ทั้งหมด ประเทศตัวอย่าง 6 ประเทศ[8]จึงถูกเลือกขึ้นมา โดยใช้ฐานวัดดังที่ได้กล่าวมาแล้วในระเบียบวิธีวิจัย



[1] ปัจจุบันสหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ

[2] ข้อ 25 (1) คนทุกคนมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองและครอบครัว รวมไปถึงการได้รับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลรักษาพยาบาล และการบริการทางสังคมที่จำเป็น นอกจากนี้ คนทุกคนยังมีสิทธิที่จะได้รับความมั่นคงแม้ในช่วงว่างงาน เจ็บป่วย พิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดปัจจัยดำรงชีวิตอื่นๆ ในพฤติการณ์ที่นอกเหนืออำนาจของตน

[3] ข้อ 25 พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส โดยปราศจากความแตกต่างดังกล่าวไว้ในข้อ 2 และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร

(ก)       ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจโดยตรง หรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้รับเลือกมาอย่างเสรี

(ข)       ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระ ซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และโดยการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก

(ค)       ในการที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตน ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปแห่งความเสมอภาค

[4] ข้อ 12.

  1. รัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้รับรองสิทธิของคนทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้
  2. ขั้นตอนในการดำเนินการโดยรัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้ เพื่อบรรลุผลในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ จะต้องรวมถึงสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อ

(ก)            การลดหาหนทางลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอด และของเด็กแรกเกิด และการพัฒนาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก

(ข)            การปรับปรุงในทุกด้านของสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม

(ค)            การป้องกัน รักษา และควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น โรคจากการประกอบอาชีพ และโรคอื่นๆ

(ง)             การสร้างสภาวะที่ประกันบริการทางการแพทย์และการให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ทุกคนในกรณีเจ็บป่วย

[5] ข้อ 5 เพื่อให้สอดคล้องตามพันธกรณีพื้นฐานที่ได้จัดวางไว้ตามข้อ 2 ของอนุสัญญานี้ รัฐภาคีจะห้ามและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และจะประกันสิทธิของคนทุกคนให้มีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย โดยไม่จำแนกตามเชื้อชาติ สีผิว ชาติ หรือ เผ่าพันธุ์กำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้สิทธิดังต่อไปนี้...

(ฉ)      สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..

4) สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข การดูแลทางการแพทย์ การประกันสังคม และการบริการทางสังคม

[6] ข้อ 12 (1) รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านการรักษาสุขภาพ เพื่อประกันการมีโอกาสได้รับการบริการในการรักษาสุขภาพ รวมทั้งบริการเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว บนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี

[7] ข้อ 24

  1. รัฐภาคีจำต้องรับรองสิทธิของเด็กทุกคนในการได้รับประโยชน์จากมาตรฐานอันพึงมีของการมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาล เด็กทุนคนจะต้องสามารถเข้าถึงการให้บริการสาธารณสุขอย่างเต็มที่
  2. รัฐภาคีควรจะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพอย่างเต็มที่

(ก)      ลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กและทารกแรกเกิด

(ข)      วางมาตรการที่จำเป็นที่จะช่วยเหลือในเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาวะของเด็ก โดยให้ความสำคัญที่การพัฒนาสุขภาวะของเด็กในระยะเบื้องต้น

(ค)      ป้องกันเชื้อโรคและการขาดสารอาหารโดยเน้นที่การพัฒนาสุขภาวะของเด็กในระยะเบื้องต้น อนึ่ง ควรมีการใช้เทคโนโลยีที่สามารถจัดหาได้ รวมไปถึงการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอและน้ำดื่มที่สะอาด นอกจากนี้ควรเล็งเห็นความสำคัญของอันตรายของมลภาวะจากสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อเด็กอีกด้วย

(ง)       วางมาตรการที่เหมาะสมในการดูแดสุขภาวะของแม่ทั้งก่อนและหลังคลอด

(จ)      รับรองว่าทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่และเด็ก ได้เข้าถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะและโภชนาการของเด็ก ประโยชน์ของการให้นมบุตร สุขอนามัยที่ดี และการป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

(ฉ)      พัฒนาความรู้ในสุขภาวะเชิงป้องกัน รวมถึงการแนะนำและการให้บริการเรื่องการวางแผนครอบครัว

  1. รัฐภาคีจำต้องดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการขจัดประเพณีปฏิบัติต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เด็ก
  2. รัฐภาคีจำต้องให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายของการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพของเด็กดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อบังคับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา

[8] อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เม็กซิโก, ญี่ปุ่น, จีนและฟิลิปปินส์

หมายเลขบันทึก: 165827เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 01:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท