..ว่าด้วย.. ข้อค้นพบในงานวิจัย ที่ 1


แนวคิดและหลักการในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริม สิทธิในสุขภาพ ในกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศ

1.      ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)

หลักการในปฏิญญานี้เป็นหลักการใหญ่ที่พูดถึงการรับรองสิทธิต่างๆ ของมนุษย์ทุกคน เป็นต้นกำเนิดของกติกาและอนุสัญญาอื่นๆ ที่มีการบังคับใช้ในภายหลัง การดำเนินการของรัฐใด ภายใต้กติกาหรืออนุสัญญาใดๆ จะขัดกับหลักการที่วางไว้ในปฏิญญาสากลนี้ไม่ได้

อย่างไรก็ดี ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมักจะเป็นการพูดถึงภาพกว้างของสิทธิต่างๆ ในฐานะ สิทธิมนุษยชน ซึ่งมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอต่อสุขภาพที่คนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ก็ถูกกล่าวถึงด้วยเช่นกันในข้อ 25 (1) ว่า คนทุกคนมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองและครอบครัว รวมไปถึงการได้รับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลรักษาพยาบาล และการบริการทางสังคมที่จำเป็น นอกจากนี้ คนทุกคนยังมีสิทธิที่จะได้รับความมั่นคงแม้ในช่วงว่างงาน เจ็บป่วย พิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดปัจจัยดำรงชีวิตอื่นๆ ในพฤติการณ์ที่นอกเหนืออำนาจของตน

 

2.      กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil Political Rights)

กติการะหว่างประเทศฉบับนี้เป็นหนึ่งในกติกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับใหญ่ที่สุด ซึ่งกลายมาเป็นต้นกำเนิดของอนุสัญญาอื่นๆ อีกมากมาย ในกติกาฉบับนี้ โดยหลักก็น่าจะเกี่ยวข้องกับสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเท่านั้น แต่สิทธิมนุษยชนต่างๆ นั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก นอกจากจะมีความสัมพันธ์กันแล้ว ก็ยังส่งผลกระทบถึงกันอีกด้วย

ในข้อ 25 ของกติกาฉบับนี้ กล่าวว่า

พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส โดยปราศจากความแตกต่างดังกล่าวไว้ในข้อ 2 และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร

(ก)    ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจโดยตรง หรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้รับเลือกมาอย่างเสรี

(ข)    ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระ ซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และโดยการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก

(ค)    ในการที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตน ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปแห่งความเสมอภาค

 

เป็นการรับรองสิทธิและโอกาสของพลเมืองในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจ การเลือกตั้ง และการเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตน หากมองโดยภาพรวม ข้อบัญญัตินี้พูดถึงสิทธิและโอกาสในการเข้าร่วมในกระบวนการของประชาธิปไตยมากกว่า เช่น การเลือกผู้แทน (freely chosen representatives), การเลือกตั้ง (to vote), การลงสมัครรับเลือกตั้ง (to be elected) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินหรือการกำหนดนโยบายของภาครัฐ โดยผ่านกระบวนการดังที่ได้ระบุไว้ในข้อ 25 ของกติการะหว่างประเทศฉบับนี้ ก็เป็นหลักการที่สำคัญของการทำงานในกรอบของการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งคนทุกคนมีสิทธิในกระบวนการมีส่วนร่วมนี้ หากกระบวนการนั้นๆ จะมีผลกระทบในชีวิตตน รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพด้วย

อย่างไรก็ดี ประโยคที่ปรากฏในข้อบัญญัตินี้ โดยเฉพาะประโยคที่ว่า พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส โดยปราศจากความแตกต่างดังกล่าวไว้ในข้อ 2 และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร ในการที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตน ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปแห่งความเสมอภาค ถูกตีความได้หลากหลายต่างกันตามความเข้าใจและตามคำจำกัดความที่แต่ละรัฐภาคีมีในการตอบสนองต่อข้อบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษารายงานประเทศของ 6 ประเทศตัวอย่างนั้น พบว่ามีคำ 2 คำที่สำคัญในบทบัญญัติที่มีการตีความแตกต่างกัน ได้แก่ คำว่า พลเมือง และ คำว่า การบริการสาธารณะ

จากรายงานของประเทศอังกฤษตามพันธกรณี ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 6 ที่นำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อปี พ.ศ. 2550[1] ในการรายงานการดำเนินงานตามข้อบัญญัติที่ 25 ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องการเข้าถึงการบริการสาธารณในแง่มุมอื่น นอกจากเรื่องของการมีส่วนรวมในกระบวนการของประชาธิปไตย โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ในขณะที่รายงานฯ ฉบับที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2543[2] ในข้อเดียวกัน มีการรายงานถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีในการให้โอกาสแก่พลเมืองในการเข้าถึงบริการสาธารณะอื่นๆ ด้วย เช่น การเข้าไปเป็นสมาชิกในรัฐสภา, การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม, การรับราชการต่างๆ ทั้งทหารและตำรวจ, การศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากรายงานทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีการกล่าวถึงการเข้าถึงบริการสาธารณะทางด้านการรักษาพยาบาล อีกทั้งยังไม่มีการตีความคำว่า “citizens” ที่มีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะตามข้อ 25 นี้ แม้ว่าจะมีการกล่าวถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ (Ethnic Minorities)” ก็ตาม

ในขณะที่ในรายงานของประเทศฝรั่งเศสตามพันธกรณี ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 3 ที่เสนอต่อคณะกรรมการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2540[3] ตามข้อที่ 25 นอกจากจะมีการกล่าวถึงสิทธิในการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมีการพูดถึงการเข้าถึงบริการสาธารณะอื่นๆ แยกมาจากสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการของประชาธิปไตย ดังเช่น การเลือกตั้ง ที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่หากเป็นการกล่าวถึงในองค์รวม ไม่ได้มีการแจกแจงอย่างชัดเจนว่าอะไรบ้างที่ถูกตีความว่าเป็นการบริการสาธารณะ นอกจากนี้ ในการรายงานตามข้อบทที่ 25 ของประเทศฝรั่งเศส มีการระบุไว้อย่างชัดเจนถึงผู้ทรงสิทธิที่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณะตามข้อบัญญัตินี้ได้ จำต้องเป็น คนสัญชาติฝรั่งเศส เท่านั้น

ส่วนการรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีตามข้อบัญญัติเดียวกันของอีก 4 ประเทศตัวอย่าง[4] ก็จะเน้นความสำคัญไปที่กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง เท่านั้น

 

3.      กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights)

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. 1966 (the International Covenant on Economic, Social, and Cultural Rights, 1966) ถูกถือว่าเป็นหนึ่งในหลักของกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 3 ฉบับ หรือที่เรียกกันว่า “The International Bill of Human Rights” ซึ่งประกอบไปด้วย

1.      ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 (the Universal Declaration of Human Rights, 1948);

2.      กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. 1966 (the International Covenant on Economic, Social, and Cultural Rights, 1966) และ;

3.      กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 (the International Covenant on Civil and Political Rights, 1966)

 

ประเทศไทยเองก็ได้เข้าเป็นภาคีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. 1966 (the International Covenant on Economic, Social, and Cultural Rights, 1966) โดยการให้สัตยาบันมาตั้งแต่ วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2542

นั่นก็หมายความว่า ประเทศไทยได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐภาคี ภายใต้กติการะหว่างประเทศฉบับนี้ โดยไม่มีการตั้งข้อสงวนใดๆ เพราะฉะนั้นถือเป็นหน้าที่ที่รัฐไทยจะต้องปฏิบัติตาม โดยไม่มีข้อแม้ เช่น การส่งรายงานประเทศฯ ที่รายงานการปฏิบัติตามกติกาดังกล่าวตามระยะเวลาที่กำหนด หรือการที่รัฐไทยต้องถูกตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติกาฉบับนี้ จากคณะกรรมาธิการที่ดูแลกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นี้ด้วย 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐในประชาคมระหว่างประเทศต่างก็ยอมรับให้เป็นสิทธิเบื้องต้นที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และสิทธิในสุขภาพ (The Right to Health) ก็ปรากฏอย่างชัดเจนใน ข้อ 12 ของกติการะหว่างประเทศฉบับนี้ ด้วย ดังต่อไปนี้

ข้อ 12.

1.      รัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้รับรองสิทธิของคนทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้

2.      ขั้นตอนในการดำเนินการโดยรัฐภาคีแห่งกติกาฉบับนี้ เพื่อบรรลุผลในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ จะต้องรวมถึงสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อ

(ก)         การลดหาหนทางลดอัตราการตายของทารกก่อนคลอด และของเด็กแรกเกิด และการพัฒนาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก

(ข)         การปรับปรุงในทุกด้านของสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม

(ค)         การป้องกัน รักษา และควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น โรคจากการประกอบอาชีพ และโรคอื่นๆ

(ง)          การสร้างสภาวะที่ประกันบริการทางการแพทย์และการให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ทุกคนในกรณีเจ็บป่วย

 

4.      อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination)

ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ค.ศ. 1965 (The International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination, 1965) เป็นหนึ่งในกติการะหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตั้งแต่เมื่อ ปี พ.ศ. 2546 และในกติกาฉบับนี้ก็ปรากฏถ้อยความที่ชัดเจนกว่ากติกาอื่นๆ ในแง่ของข้อผูกพันที่ไม่ให้รัฐภาคี แบ่งแยกการคุ้มครอง การจัดหาสวัสดิการ และอื่นๆ โดยใช้เหตุใดๆ ก็ตาม โดยเฉพะเหตุของความเป็นราษฎรและความเป็นคนสัญชาติ

โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิในสุขภาพก็มีการกล่าวไว้อย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้

ข้อ 5.

เพื่อให้สอดคล้องตามพันธกรณีพื้นฐานที่ได้จัดวางไว้ตามข้อ 2 ของอนุสัญญานี้ รัฐภาคีจะห้ามและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และจะประกันสิทธิของคนทุกคนให้มีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย โดยไม่จำแนกตามเชื้อชาติ สีผิว ชาติ หรือ เผ่าพันธุ์กำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้สิทธิดังต่อไปนี้...

(ฉ)   สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..

4) สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข การดูแลทางการแพทย์ การประกันสังคม และการบริการทางสังคม

 

นอกจากนี้ ใน ข้อที่ 36[5] ของ General Recommendation no.30 ของกติกาฉบับนี้ ที่ว่าด้วยเรื่องการแบ่งแยกโดยใช้เหตุความไม่เป็นราษฎรของรัฐยังพูดถึงหน้าที่ของรัฐภาคีที่จะต้องเคารพในสิทธิของคนที่ไม่ใช่พลเมืองของรัฐ (Non-citizens)” ในเรื่องสิทธิในสุขภาพ และต้องไม่จำกัดการเข้าถึงการบริการทางด้านสาธารณะสุขของคนกลุ่มนี้ด้วย

 

5.      อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women)

เมื่อเปลี่ยนมุมมองการคุ้มครองสิทธิในแคบลงโดยใช้ ผู้ทรงสิทธิ ตามกติกาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศเป็นตัวกำหนด จะเห็นได้ว่า ในอนุสัญญาฉบับนี้ก็มีการพูดถึงการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพ เช่นกัน เพียงแต่เน้นไปที่ สิทธิของผู้หญิง ในการใช้สิทธิต่างๆ ที่ปรากฏในอนุสัญญาฉบับนี้

ในส่วนของสิทธิในสุขภาพ ในมุมของการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี มีการบัญญัติไว้ ใน ข้อ 12 (1) ดังนี้ รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านการรักษาสุขภาพ เพื่อประกันการมีโอกาสได้รับการบริการในการรักษาสุขภาพ รวมทั้งบริการเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว บนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี

 

6.      อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention of the Rights of the Child)

ในอนุสัญญาฉบับนี้ก็เช่นกัน เป็นการยืนยันการการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเน้นไปที่การคุ้มครองผู้ทรงสิทธิที่เป็นเด็ก แต่ในรายละเอียดของสิทธิก็จะไม่ต่างกันเท่าไรนัก โดยเฉพาะสิทธิในสุขภาพของเด็ก ก็มีการบัญญัติไว้ในข้อ 24 ของอนุสัญญาฉบับนี้เช่นกัน โดยมีการระบุว่า

 ข้อ 24.

1.      รัฐภาคีจำต้องรับรองสิทธิของเด็กทุกคนในการได้รับประโยชน์จากมาตรฐานอันพึงมีของการมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาล เด็กทุนคนจะต้องสามารถเข้าถึงการให้บริการสาธารณสุขอย่างเต็มที่

2.      รัฐภาคีควรจะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพอย่างเต็มที่

(ก)   ลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กและทารกแรกเกิด

(ข)   วางมาตรการที่จำเป็นที่จะช่วยเหลือในเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาวะของเด็ก โดยให้ความสำคัญที่การพัฒนาสุขภาวะของเด็กในระยะเบื้องต้น

(ค)   ป้องกันเชื้อโรคและการขาดสารอาหารโดยเน้นที่การพัฒนาสุขภาวะของเด็กในระยะเบื้องต้น อนึ่ง ควรมีการใช้เทคโนโลยีที่สามารถจัดหาได้ รวมไปถึงการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอและน้ำดื่มที่สะอาด นอกจากนี้ควรเล็งเห็นความสำคัญของอันตรายของมลภาวะจากสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อเด็กอีกด้วย

(ง)    วางมาตรการที่เหมาะสมในการดูแดสุขภาวะของแม่ทั้งก่อนและหลังคลอด

(จ)   รับรองว่าทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่และเด็ก ได้เข้าถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะและโภชนาการของเด็ก ประโยชน์ของการให้นมบุตร สุขอนามัยที่ดี และการป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

(ฉ)   พัฒนาความรู้ในสุขภาวะเชิงป้องกัน รวมถึงการแนะนำและการให้บริการเรื่องการวางแผนครอบครัว

3.      รัฐภาคีจำต้องดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการขจัดประเพณีปฏิบัติต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เด็ก

รัฐภาคีจำต้องให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายของการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพของเด็กดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อบังคับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา



[1] 2007, “Sixth periodic reports of States parties, UNITED KINGDOM OF GREAT BRITIAN AND NORTHERN IRELAND”, Consideration of Reports submitted by State Parties under Article 40 of the Covenant, Human Rights Committee, Unites Nations, pp.183-188

[2] 2000, “Fifth periodic reports of States parties due in 1999, UNITED KINGDOM OF GREAT BRITIAN AND NORTHERN IRELAND”, Consideration of Reports submitted by State Parties under Article 40 of the Covenant, Human Rights Committee, Unites Nations, pp. 105-109

[3] 1997, “Third periodic reports of States parties, FRANCE”, Consideration of Reports submitted by State Parties under Article 40 of the Covenant, Human Rights Committee, Unites Nations, pp. 72-74

[4] ญี่ปุ่น, จีน, เม็กซิโก และ ฟิลิปปินส์

[5] “Ensure that States parties respect the right of non-citizens to an adequate standard of physical and mental health by, inter alia, refraining from denying or limiting their access to preventive, curative and palliative health services.”

หมายเลขบันทึก: 165831เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 01:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท