เวทีจัดการความรู้แห่งชาติ NKM5 กับเวที'ยิ่งให้ยิ่งได้รับ'ของ GotoKnow : วิธีเชิงรุกของวัฒนธรรมความรู้สู่ Life Style คนเมือง


 เวทีมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๕

ผมเพิ่งได้ไปร่วมเวทีมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ในครั้งที่ ๕ นี้นี่เอง ต้องขอขอบคุณทางทีมงาน GotoKnow ที่ได้ชักชวนให้ได้ไป ผมไปสายนิดหน่อยเพราะได้เข้าไปที่มหาวิทยาลัยและไปผ่านเรื่องร้องขอต่างๆในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในคณะฯให้กับกรรมการที่เกี่ยวข้องที่เขาจะต้องพิจารณาต่อไป เสร็จแล้วจึงค่อยได้รีบไปยังที่ประชุมที่บางกอกคอนเวนชั่น ห้างเซนทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว แต่ก็โชคดีไปอย่าง เนื่องจากพอเกินเก้าโมงเช้าแล้วรถในกรุงเทพฯก็จะไม่ค่อยติด ทำให้ไปถึงที่ประชุมก่อน ๑๐ โมงและยังทันได้เข้าไปฟังการบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์อิคุจิโร โนนากะ Professor Dr.Ikujiro Nonaka [๑] ในช่วงที่กำลังสรุปแนวคิดที่สำคัญๆและแนวโน้มการบูรณาการกันของการจัดการความรู้กับการบริหารจัดการในองค์กรสมัยใหม่ทั้งภาคธุรกิจของอุตสาหกรรมและในสถาบันวิชาการแถวหน้าของโลกและของญี่ปุ่น

ภาพที่ ๑ : ทีมผู้จัดจาก GotoKnow จัดข้อมูลภาพแสดงบรรยากาศของเวทีเทือกเขาปันปันผ่านติดรูปแนะนำวิทยากรและกิจกรรมที่ทุกท่านทำ เป็นการทำ Community Profile ที่พัฒนาการสื่อแสดงด้วยภาพถ่ายและการดิสเพลย์ในแนว Creative มาก

ผมได้เจอกับครูของผมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย หัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหลังจากได้ร่วมกิจกรรมการแนะนำสาระการเรียนรู้บนเวทีมหกรรมต่อจากการบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์โนนากะแล้ว ก็เลยได้เดินสำรวจไปทั่วบริเวณรอบๆก่อน อาจารย์เป็นทีมประเมินและจัดการความรู้ให้กับเครือข่ายที่เข้าร่วมเวทีมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติในครั้งนี้หลายหน่วยงาน ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มูลนิธิสยามกัมมาจล และธนาคารไทยพาณิชย์ ปตท. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และอีกหลายองค์กรที่มาร่วมเวที ระหว่างที่เดินก็ได้เจอผู้คนมากมายไปด้วย ได้คารวะ ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ จากกระทรวงศึกษาธิการและสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้เจอพี่ใหญ่ : พี่นงนาท สนธิสุวรรณ มูลนิธิสยามกัมมาจล และน้องๆ พี่ๆ กับคนทำงานแนวนี้จากทั่วประเทศอีกหลายคน 

ภาพที่ ๒ : ซ้าย รองศาสตราจารย์นายแพทย์จิตเจริญ ไชยคำภา จากภาควิชารังสี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และขวา ดร.ชิว : ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสมาชิกก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ ของประเทศไทย

ภาพที่ ๓ : ทีมงานของ GotoKnow ซึ่งเป็นคนรุ่นเยาว์แต่ทำงานเก่งมาก โดยเฉพาะการประสานงานเพื่อกิจกรรมวิชาการและการจัดเวที ขวาสุด : เอก จตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตเคยเป็นหมออนามัยอยู่ในหมู่บ้านชาวเขาในแหล่งกันดารอยู่ ๗ ปี เป็นหมอที่ชาวเขาในหมู่บ้านหลายดอยให้ความเคารพนับถือ ทำคลอดให้กับเด็กๆทุกคนในหมู่บ้านชาวเขาและชาวเขาขอให้เขาตั้งชื่อให้ลูกเป็นเครื่องแสดงความรำลึกถึง ลูกหลานชาวเขารุ่นใหม่เกือบทั้งหมดจึงคลอดจากมือของเขาและมีชื่อที่เขาตั้งให้ จตุพรเป็นบล๊อกเกอร์ GotoKnow และเป็นผู้ดำเนินการเสวนาแทนอาจารย์ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ซึ่งติดภารกิจกระทันหัน

ภาพที่ ๔ดร.ชิวพับกระดาษเป็นรูปนกเพนกวินให้ผมหนึ่งตัว เสร็จแล้วเราก็คุยกัน ดร.ชิวเล่าถึงความเป็นมาของวิธีพับนกเพนกวินนี้ว่ามาจากนักฟิสิกส์ญี่ปุ่นคนหนึ่ง[๒] ดร.ชิวเป็นคนอ่างทอง และโดยความเชี่ยวชาญนั้น ดร.ชิวเชี่ยวชาญทางวัสดุศาสตร์ ทว่า ก็มีความสนใจรอบด้านและเชื่อมโยงกันไปสู่การใช้งานต่างๆได้เป็นอย่างดี จึงเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความบูรณาการอยู่ในตนเองอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือความเป็นผู้มีอัธยาศัย นอบน้อม และเป็นสภาพแวดล้อมที่มีพลังให้ความบันดาลใจมากอย่างยิ่ง คุยกับ ดร.ชิว ๕ นาทีจะเหมือนอ่านโลกหนังสือหรือเนชั่นแนลจีโอกราฟิค ๕ ปีและดูการแสดงงานศิลปะ ๕ งาน

เดินได้สักครู่หนึ่งก็พอจะประมาณได้ว่าไม่มีทางที่จะเดินได้ทั่วหากไม่เดินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักครึ่งวัน พอดีกับทีมงานของ GotoKnow ก็ชวนเชิญให้วิทยากรและกลุ่มที่จะขับเคลื่อนเวทีเสวนาของเทือกเขาปันปัน : ยิ่งให้ยิ่งได้รับ ไปนั่งเตรียมการเสวนาด้วยกัน การเสวนากันของเวที GotoKnow ๑ ชั่วโมงในช่วงบ่ายจึงค่อนข้างจะลงตัว พอดีๆ และเสร็จสิ้นลงด้วยความประทับใจ จากนั้น ผมก็เดินออกไปดูบอดร์ดนิทรรศการ ร้านหนังสือ แต่ก็ไม่สามารถแวะเวียนเข้าไปดูในเวทีย่อยได้อย่างทั่วถึง ซึ่งดูแนวคิดที่เขาแนะนำบนเวที รวมทั้งดูรูปแบบในการจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม จำลองวิธีจัดการความรู้ในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆแล้วก็เป็นที่น่าสนใจมาก 

ผมเคยไปร่วมการประชุมและจัดนิทรรศการทางวิชาการในลักษณะที่ทำเป็นมหกรรมอย่างนี้อยู่บ้างที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนาบ้าง ศูนย์ประชุมของเมืองทองนิเวศน์บ้าง ห้องประชุมของเอสแค็ปบ้าง และอื่นๆ ซึ่งมีความพร้อมของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดประชุมและการแสดงออกทางวิชาการมาก ทว่า เมื่อเห็นการจัดขึ้นที่ห้องประชุมในห้างสรรพสินค้ากลางเมืองหลวงอย่างนี้ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดและแออัดกว่ามาก แต่ก็เห็นนัยสำคัญของการจัดกิจกรรมทางความรู้ที่รุกเข้าไปในพื้นที่สำหรับการดำเนินชีวิตของคนในเมือง และเห็นสัญญาณแผ่วๆของการบูรณาการกันระหว่างกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนารสนิยมทางสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาการเรียนรู้และการแสวงหาความรู้ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คน

ความเป็นห้างสรรพสินค้าในสังคมของประเทศกำลังพัฒนานั้น มิใช่เป็นที่เดินซื้อของเท่านั้น ทว่า เป็นแหล่งที่สามารถสนองตอบและให้หลายอย่างแก่คนทั่วไปในเวลาเดียวกัน ทั้งเพื่อทำกิจกรรมใช้เวลาว่าง ทำภารกิจส่วนตัว เห็นความเคลื่อนไหวของสังคม ได้ประสบการณ์ใหม่ๆในชีวิต ได้หาแรงบันดาลใจเพื่อออกไปสู่วงจรการทำการงานและดำเนินชีวิต ทั้งของปัจเจก กลุ่มปัจเจก และครอบครัว จึงเป็นแหล่งเข้าถึงรสนิยมของการใช้ชีวิตและพัฒนาไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้เป็นอย่างดี การบูรณาการความรู้และวัฒนธรรมทางปัญญาในบรรยากาศและกาละเทศะอย่างนั้น บางที อาจจะดีกว่าทุ่มเทอัดทุกอย่างลงไปในห้องเรียนของเด็กๆและกดดันคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัย ก็ได้

น่าเสียดายที่ถ้าหากไม่เพียงใช้เป็นที่ประชุม แต่ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าไปเลยในการจัดให้เป็นเทศกาลที่กลมกลืนกับเนื้อเดียวกันกับการเดินห้างและการออกมาใช้ชีวิตกับกิจกรรมนอกบ้านของคนในสังคมเมือง ความรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ก็จะเริ่มเข้าไปให้ความหมายใหม่ๆกับการออกมาเดินซื้อและบริโภคสินค้า ก็จะเพิ่มโอกาสให้งานจัดการความรู้และวัฒนธรรมการเรียนรู้ผสมผสานไปกับไลฟ์สไตล์ของคนในสังคม ทำให้มีการปฏิสัมพันธ์และมีโอกาสเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเข้าถึงความรู้ได้มากยิ่งๆขึ้น

 ภาพที่ ๔ศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ระดับโลก เป็นผู้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม และทุนทางความรู้ที่ร่วมสมัยกับการนำเสนอแนวทฤษฎีสังคมวิทยาและความเป็นชุมชนกับทุนมนุษย์ในองค์กรสมัยใหม่หลังยุคอุตสาหกรรมของปีเตอร์ ดรัคเกอร์ Peter Drucker แต่วิธีคิดของศาสตราจารย์โนนากะจะสะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่นและของโลกตะวันออกซึ่งไม่ได้ผ่านขั้นตอนความเป็นสังคมอุตสาหกรรมแบบอเมริกาและยุโรป อีกทั้งเป็นแนวทฤษฎีที่ทำให้องค์กรทำงานมีมิติความเป็นชุมชน เป็นแหล่งให้ชีวิตเติบโตงอกงาม มีความเป็นมนุษย์และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

 ความเคลื่อนไหวและแนวโน้มของภาคการผลิต ภาคปฏิบัติ กับการจัดการความรู้

ศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ ถ่ายทอดทั้งแนวคิดและนำเอาความเคลื่อนไหวของสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมุ่งสร้างความรู้และการจัดการองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อบูรณาการกระบวนการเรียนรู้และงานสร้างทุนทางปัญญาเข้ากับกระบวนการผลิตอย่างกลมกลืน ท่านแสดงให้เห็นวิธีคิดในการให้ความหมายต่อภาคแรงงานในทรรศนะใหม่ๆ โดยมองแรงงานการผลิตเป็นทุนมนุษย์[๓] พร้อมกับผสมผสานแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการแรงงานและกรรมาชีพที่ให้นัยสำคัญบางประการต่อการพัฒนาแนวคิดและวิธีบริหารจัดการองค์กรในแนวทางใหม่ๆ

ภาพที่ ๕ : มุมมองใหม่ต่อแรงงานและการยกระดับของทฤษฎีความรู้ในแนวของกลุ่มความคิดและกลุ่มทฤษฎีปฏิบัตินิยม

  • การบูรณาการทางความรู้และการจัดการความรู้ที่บูรณาการเข้าสู่องค์กรการผลิตและระบบบริการในภาคการผลิตของสังคม ทำให้แรงงานและกำลังการผลิต เป็นแรงงานและกิจกรรมการผลิตที่สื่อสะท้อนจิตใจและจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ หรือเป็น Contemplation in Action ท่านใช้คำว่า Intellectual Muscle หรือแรงงานที่อุทิศตนให้กับการใช้สติปัญญา ซึ่งนอกจากจะสื่อความหมายให้เห็นภาพเชื่อมโยงไปได้อย่างกว้างขวางแล้ว ก็ยกระดับวิธีคิด การให้ความหมายและคุณค่าต่อการใช้แรงงาน[๔]

ภาพที่ ๖ : การก่อเกิดเป้าหมายร่วมและวิถีผู้นำในการสร้างความมีเห้าหมายร่วมกันผ่านการให้เหตุผลที่บูรณาการไปกับกระบวนการปฏิบัติและการสนทนากันของคนทำงาน

  • เป้าหมายและวิธีคิดต่อการจัดการความรู้ในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมและการบริการ จะมีบทบาทสำคัญต่อการนำไปสู่ความเคลื่อนไหวของสังคมอุตสาหกรรมและภาคบริการอีกแบบหนึ่งที่ยกระดับสังคมองค์กรและการทำงานใช้แรงงานกินเงินเดือน ให้กลมกลืนเข้าสู่ระบบคุณค่าและความเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต มากกว่าที่จะเป็นเพียงการจัดการความรู้เพื่อเพิ่มพูนผลผลติและมุ่งผลตอบแทนที่เป็นกำไร
  • การจัดการความรู้ในอนาคตของโลก จะทำให้เกิดวงจรและระบบปฏิบัติการทางปัญญา และระบบปฏิบัติการทางความรู้อีกแบบหนึ่งเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของสังคมและชุมชนระดับต่างๆ อีกทั้งจะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในองค์กรสมัยใหม่ ขยายออกไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน
  • การจัดองค์กรตองการภาวะความเป็นทีมและภาวะผู้นำที่ต่างออกไปจากอดีต อีกทั้งต้องการวิถีผู้นำอีกแบบหนึ่งที่สามารถนำกระบวนการผลิตและกระบวนการปฏิบัติให้บรรลุจุดหมายการผลิต พร้อมไปกับตอบคำถามในเชิงความหมายและคุณค่าแห่งชีวิตทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคม

ในภาพรวมของประเทศ การจัดการความรู้ทั้งในภาาครัฐและภาคเอกชนยังคงดำเนินไปในแนว Goal Oriented และ Specific Objective-Based หรือการถือเอาเป้าหมายและวัตถุประสงค์เฉพาะกิจ เฉพาะสถานการณ์ทั้งในระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับสากล เป็นตัวตั้ง โดยเฉพาะการมุ่งสู่การบรรลุกรอบมาตรฐานแบบต่างๆ ซึ่งก็เหมือนกับเป็นกลไกการควบคุมตนเองให้สะท้อนประเด็นสังคมไปบนการมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นในการดำเนินงานขององค์กร

กระนั้นก็ตาม ก็เริ่มมีบางองค์กร เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ใช้รูปแบบผสมผสานและเริ่มให้น้ำหนักการจัดการความรู้เพื่อบริหารจัดการอย่างเป็นพลวัตร มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปทั้งระบบอยู่ตลอดเวลาเพื่อก่อเกิดพัฒนาการที่สื่อสะท้อนสังคมและสภาพแวดล้อมในมิติต่างๆอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์สำคัญในสถานการณ์หนึ่งๆก็เปลี่ยนแปลงไปในเชิงคุณค่าและความหมายไปด้วยได้เสมอ

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว การจัดการความรู้ของหน่วยงานและองค์กรภาคธุรกิจเอกชนในเวทีมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๕ นี้ เริ่มเห็นภาพของความเป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมต่อการรับผิดชอบสังคมในทิศทางและแนวโน้มใหม่ๆทั้งหลากหลายและเข้มข้น องค์กรสาธารณะขนาดใหญ่ดำเนินงานการจัดการความรู้ที่ไปได้ไกลมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์กับความเป็นส่วนรวมด้วยโครงการที่แสดงความรับผิดชอบในเชิงการตลาดและโฆษณาโน้มน้าวอย่างไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะเห็นการดำเนินงานที่เป็นการลงทุนสร้างคน สร้างทุนมนุษย์ ลงทุนสร้างเด็ก สร้างความรู้และกิจกรรมทางปัญญา ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่อิสระออกจากภารกิจเพื่อบรรลุจุดหมายเชิงธุรกิจขององค์กร และนับว่าเป็นสัญญาณความเคลื่อนไหวของการจัดการความรู้ เพื่อสนองตอบต่อภาวะอันพึงประสงค์ในแนวทางใหม่ๆของสังคม

ภาพที่ ๗ : หมู่มิตร ญาติพี่น้อง เพื่อนพ้องน้องพี่ทางจอคอมพิวเตอร์ เมื่อเจอกันก็เสวนากันกันราวกับเป็นเวทีทำงานบุญทางความรู้ของผู้ที่คุ้นเคยและเคารพนับถือกัน จากซ้าย : หนานเกีนรติ, พี่ใหญ่ : นงนาทสนธิ สุวรรณ, ภรรยา หนานเกียรติ อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว, ครูคิม ทิพวรรณ เจริญพงศ์,คุณอุ้มบุญ บล๊อกเกอร์ GotoKnow และสมาชิกคนปลูกผักกินได้ และขวาสุดคือป้าแดง บล๊อกเกอร์ของ GotoKnow 

 เวที GotoKnow   เทือกเขาปันปัน : ยิ่งให้ยิ่งได้รับ  
บทบาทของบล๊อกเกอร์และเทคโนโลยีการจัดการความรู้บูรณาการสังคมออนไลน์กับชุมชน

ผมได้ปัญญามากมายจากการเสวนาและการได้พบปะแหล่งประสบการณ์หลากหลายจากเวที ในการเสวนาของเวที GotoKnow นั้น กล่าวจำเพาะในแง่การเรียนรู้ไปด้วยกันในบริบทของสังคมไทย ผมก็เห็นวิธีการที่พอเพียง เหมาะสม ค่อยเป็นค่อยไป ของการบูรณาการวิทยาการและเทคโนโลยีในการจัดการความรู้ และการระดมพลังชุมชนระดับต่างๆเพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมดังที่พึงประสงค์ด้วยกันของกลุ่มคนหลากหลาย ผมเห็นวิธีเรียนรู้เพื่อทำงานวิชาการและวิธีจัดการความรู้เพื่อเดินออกจากโลกความเป็นศูนย์กลางของผู้เชี่ยวชาญไปหาชาวบ้านทั่วไปผ่านการเรียนรู้สภาพแวดล้อมธรรมชาติของทุกคนดังเช่นเครือข่ายชมรมคนรักมวลเมฆ

ชมรมคนรักมวลเมฆทำให้ทรัพยากรวิชาการอย่าง ดร.ชิว เพียง ๑ คน สามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนเองซึ่งมีอยู่ในคนเพียงจำนวนไม่มากนักของประเทศ พร้อมกับเข้าถึงและจัดการความรู้ในแหล่งต่างๆจากทั้งโลก จากนั้น ก็เลือกสรรย่อยอย่างพิถีพิถันเข้าสู่สังคมไทยด้วยวิธีการนำเสนอที่รอบด้านและชวนให้ใคร่เรียนใคร่รู้อย่างน่าอัศจรรย์ เชื่อมต่อสามัญสำนึกและจิตวิญญาณรากเหง้าของผู้คนทั่วไปได้อย่างสนิทแน่น ขณะเดียวกัน การปฏิบัติการผ่านวิธีสร้างเครือข่ายนั้น ก็ทำให้เห็นผู้คนจากหลากหลายสาขาทั่วประเทศ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้พากันร่วมกับ ดร.ชิว ทำให้ใต้ท้องฟ้าของประเทศไทยกลายเป็นห้องเรียน ที่ใครก็ได้ ก็สามารถเข้ามาสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราววิทยาศาสตร์ธรรมชาติผ่านการดูเมฆบนท้องฟ้าด้วยกันแทบทุกวัน พร้อมกับเชื่อมโยงไปสู่ความสนใจต่างๆอีกรอบด้าน บล๊อกและสื่อออนไลน์อย่างGotoKnow ช่วยให้ทำอย่างนี้ได้

ผมเห็นวิธีการของอาจารย์หมอ JJ รองศาสตราจารย์นายแพทย์จิตเจริญ ไชยคำภา แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสอนนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทั้งหลักสูตรปริญญาและหลักสูตรบุคลากรประจำการเพื่อให้มีทักษะความเข้าใจปรากฏการณ์ปัญหาและความเป็นจริงในโลกของสรรพสิ่งบนความเป็นมนุษย์ วิชาและวิธีคิดในลักษณะนี้ผมเคยได้ยินครูแพทย์เก่าๆ เช่น ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ (ถึงแก่กรรมแล้ว) แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงในโอกาสต่างๆอยู่เสมอว่าเป็นวิชา Human Skill ที่จะทำให้แพทย์และคนมหิดล มีความเข้าใจผู้อื่นและทำงานเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยแห่งปวงชน อาจารย์หมอจิตเจริญท่านมุ่งอุทิศตนสอนด้วยความเป็นครูแห่งชีวิต และเนื่องจากหลายอย่างต้องทำไปด้วยใจ อีกทั้งวางอยู่บนเงื่อนไขจำเพาะของกรณีต่างๆที่มีพลวัตรไปอยู่เสมอ อาจารย์ก็ใช้บล๊อกและสื่อออนไลน์เป็นคลังเก็บบันทึกประสบการณ์และสร้างเป็นคลังความรู้สำหรับพัฒนาการเรียนการสอนในแนวทางที่ต้องพึ่งตนเองเป็นอย่างสูงในลักษณะดังกล่าว

ภาพที่ ๘ : ผู้เขียน, พี่นงนาท สนธิสุวรรณ, คุณหมู เพื่อนดร.ชิว, เอก จตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร, และ ดร.ชิว บัญชา ธนบุญสมบัติ

ผมได้เห็นครูหยุย ถึงความมีอาวุโสทั้งประสบการณ์ วัยวุฒิ และความมีบทบาทต่อสังคมไทยทั้งในภาคประชาชนและในภาคการเมืองที่เพิ่งเข้ามาเขียนบล๊อกและใช้สื่อออนไลน์เพื่อถ่ายทอดบทบาท และใช้ความเป็นผู้มีประสบการณ์มากแล้วในอีกบทบาทหนึ่งเหมือนกับเป็นครูอาจารย์และพี่เลี้ยงหรือ Mentor ของมหาวิทยาลัยเปิดบนสื่อ GotoKnow ครูหยุยอิ่มตัวและมีสื่อเป็นเครือข่ายเคลื่อนไหวสังคมในเรื่องสาธารณะต่างๆด้วยกันมากมาย ทว่า ในบล๊อก GotoKnow นี้ ก็ได้ใช้เป็นช่องทางในการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับผู้เริ่มต้นและผู้มีแววในการเดินออกมาจากความเป็นส่วนตัวของตนเองมาเชื่อมต่อกับโลกกว้างใน GotoKnow ครูหยุยกำลังส่งไม้ต่อกับผู้คนที่ได้มีโอกาสแบ่งปันเรียนรู้กันในบล๊อกและทอดตนเองลงเพื่อเดินเป็นเพื่อนกับอีกหลายคนให้ได้เติบโตทางประสบการณ์เพื่อริเริ่มและทำสิ่งดีๆในสังคมด้วยตนเองในอนาคต

ในส่วนบทเรียนจากประสบการณ์ของผมนั้น ผมเสนอวิธีออกไปเชื่อมต่อกับคนที่กำลังทำงานและชาวบ้านในชุมชนต่างๆผ่านการเป็น Mentorship และ Facilitator บนสื่อออนไลน์ในรูปแบบเว็บบล๊อก เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และสร้างความรู้ขึ้นจากวิถีชุมชนในเงื่อนไขใหม่ๆ พร้อมกับเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิธีนำเสนอและบันทึกเก็บรวบรวมไว้ในเว็บบล๊อก ด้านหนึ่งก็จะทำให้มีประสบการณ์ตรงของสังคมอย่างกว้างขวางเอาไว้สอนนักศึกษาและพัฒนาการวิจัย ซึ่งก็ย่อมสะท้อนสภาวการณ์ความเป็นจริงของสังคมและดีกว่าสอนความรู้อย่างเดียว ถ้าหากออกไปแสวงหาด้วยตนเองนั้น ก็ไม่มีทางที่จะได้ทั้งความรอบด้านและสามารถลงลึกไปถึงบทเรียนของชุมชนหลากหลายทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นปัจจุบันไปกับพลวัตรของสังคมได้อยู่ตลอดเวลา ดังที่กำลังทำได้ผ่านเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ได้ใช้ GotoKnow ช่วยบูรณาการและค่อยๆเชื่อมโยงให้หลายสิ่งดำเนินไปอย่างส่งเสริมเกื้อหนุนกันได้นี้

ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นรูปแบบใหม่ๆของการบริการทางวิชาการแก่สังคมที่เราอาจเลือกสรรและเสริมกำลังการเรียนรู้ของสังคมและชุมชนระดับต่างๆในอันที่จะใช้ความรู้ที่สร้างขึ้นได้เองและการตัดสินใจที่ดีนำการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ เพื่อทำให้โลกแห่งความรู้และการเรียนรู้ทั้งในและนอกความเป็นมหาวิทยาลัย มีความบูรณาการและเข้าไปเสริมกำลังการพัฒนาตนเองของสังคมเหมือนกับการเตรียมวัตถุดิบและทรัพยากรวิชาการให้คนทั่วไปได้ใช้เมื่อนึกถึงและเกิดความจำเป็น ในส่วนที่เราทำได้และสะสมมาจากประสบการณ์ชีวิตของตนเอง

ผมได้ใช้บล๊อกสะสมภาพได้มากกว่า ๒,๐๐๐ ภาพ ทั้งภาพถ่าย การ์ตูน ภาพวาดและรูปเขียนจากข้อมูลวิจัย ที่สามารถทำเป็นสื่อการเรียนการสอน สื่อสิ่งพิมพ์ อีกทั้งเป็นข้อมูลทำวิจัยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ก็บันทึกสะสมความรู้เชิงกระบวนการต่างๆไว้อีกกว่า ๑๕๐ บันทึกใน ๑๒ หัวข้อ ซึ่งยินดีให้คนทำงาน เด็กนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย และคนทั่วไป นำไปใช้ได้ตามที่ต้องการ อีกทั้งเชื่อมโยงทรัพยากรทางวิชาการในมหาวิทยาลัยและคนที่มุ่งทำงานแนวนี้ ให้เข้าไปใกล้ชิดกับชุมชนและสังคมท้องถิ่นเพื่อเสริมเข้ากับแนวทางอื่นๆในการเป็นกำลังพัฒนาตนเองของปัจเจกและชุมชนโดยเฉพาะในชนบท ให้สอดคล้องกับความจำเป็นต่างๆได้มากยิ่งๆขึ้น นึกได้ก็ทำมากกว่าที่จะเรียกร้องให้ใครต้องทำ แต่หากมีผู้สนใจเข้ามาอ่านศึกษาค้นคว้า ก็จะได้ต่อเติมและเสริมพลังปฏิบัติให้กันไปเอง ซึ่งก็จะเพิ่มโอกาสและทางเลือกอันหลากหลายให้แก่สังคมได้มากยิ่งๆขึ้น

เป็นการสร้างเครือข่ายผ่านการให้วิธีคิด ให้ทักษะเชิงกระบวนการ และให้เครื่องมือทำงานความรู้ที่ผ่านการใช้ทำงานได้จริงในทางปฏิบัติ เพื่อยกระดับสิ่งที่กำลังทำด้วยตนเองของคนจำนวนหนึ่งที่เข้าอินเทอร์เน็ตและเขียนบันทึกในเว็บบล๊อกได้ รวมทั้งสนใจทำชีวิตให้เป็นวิถีแห่งการเรียนรู้ ให้สามารถสร้างความรู้และบันทึกประสบการณ์ รวบรวมความรู้ท้องถิ่นและภูมิปัญญาจากฐานชีวิตชุมชน จัดว่าเป็นการให้ความสามารถและวิธีปฏิบัติ ในสิ่งซึ่งปรกติหากไม่มีวิธีการและเทคโนโลยีที่จะสามารถผสมผสานกันได้หลายมิติและหลายระดับเข้าช่วยอย่างนี้ ก็มักจะต้องจำกัดตนเองให้ถ่ายทอดได้ก็แต่กับคนเรียนมหาวิทยาลัยและคนทำงานในบางสาขา ทว่า เมื่อช่วยกันทำได้อย่างนี้ ก็ยิ่งจะเป็นการร่วมกันทำบุญและให้ทานทางปัญญาแก่สังคมได้ด้วยตนเองให้มากยิ่งๆขึ้น ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมส่วนรวมในที่สุดอีกทางหนึ่งนั่นเอง.

.......................................................................................................................................................................

เชิงอรรถและหมายเหตุบทความ :

[๑] ศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์  เป็นคณบดีศูนย์วิจัยด้านความรู้และนวัตกรรม (CKIR) ที่ Helsinki School และอีกหลายแห่ง เป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการความรู้ของญี่ปุ่นและระดับโลก แนวคิดที่สำคัญมี ๗ ประการ คือ ๑.สร้างวิสัยทัศนเกี่ยวกับความรู้ ๒.สร้างทีมจัดการความรู้ ๓.สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเข้มข้นในกลุ่มพนักงานระดับล่าง ๔.การจัดการความรู้บูรณาการไปกับกิจกรรมพัฒนาสินค้า ๕.เน้นการจัดการองค์กรที่มีพนักงานระดับกลางเป็นพลังขับเคลื่อน ๖. เปลี่ยนองค์กรไปเป็นแบบพหุบท  และ ๗.สร้างเครือข่ายความรู้กับโลกภายนอก 

แนวคิดของ ศาสตราจารย์โนนากะ เป็นการผสมผสานแนวคิดของ ปีเตอร์ เซงเก้ (Peter Senge) และ ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) ผู้นำเสนอแนวคิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั่วโลก โดย ปีเตอร์ เซงเก้ เป็นผู้นำเสนอโมเดลการจัดการความรู้ด้วยวิชา ๕ อย่าง (The Fifth Disicpline) และ ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ เป็นนักกฏหมายแต่นับว่าเป็นผู้บูรณาการสังคมวิทยาและศาสตร์หลายแขนงสู่การบริหารจัดการองค์กร แนวคิดทั้งของศาสตราจารย์อิคูจิโร โนนากะ ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ และปีเตอร์ เซงเก้ มีจุดเน้นที่สอดคล้องกันคือเน้นสร้างคน พัฒนาการเรียนรู้และให้ความเข้าใจตัวตนของคนอย่างถ่องแท้ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นจากกลุ่มบุคลากรที่เป็นแรงงานกับผู้บริหารระดับกลาง รวมทั้งเน้นภาวะผู้นำเป็นกลุ่มก้อนและมิติชุมชนในองค์กรสมัยใหม่ ซึ่งไอทีและเทคโนโลยีต่างๆจะถูกระดมมาใช้อย่างบูรณาการในภายหลัง 

[๒] ผู้เขียนเคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและได้เข้าร่วมกิจกรรมการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นกิจกรรมทางศิลปะที่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นและมีผู้สนใจทั่วโลก ทำให้ได้ทราบวิธีคิดของคนญี่ปุ่นอย่างหนึ่งว่า การพัฒนาตนเองไปอย่างสูงสุดนั้น จะให้ความสำคัญกับภาวะ ซาโตริ มาก ภาวะซาโตริ นั้น เทียบได้กับความเป็น สุญญตา นิพพาน ความเป็นอิสรภาพหลุดพ้นจากความเป็นวัตถุและความเป็นเหตุผล บางแห่งจะเรียกว่าความไร้ซึ่งเหตุผล ไม่ใช่ความไม่มีเหตุผล แต่เป็นภาวะไร้ซึ่งเหตุผลด้วยวิถีแห่งปัญญา ซึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะมีวิถีปฏิบัติเหมือนกับวิถีแห่งมรรค ๘ เพื่อเป็นการศึกษาและฝึกฝนปัญญาระดับที่เกินจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการทางวัตถุและวิธีการทางเหตุผลโดยสร้างเงื่อนไขให้ปัจเจกเข้าสู่ภาวะดังกล่าวด้วยตนเอง เรียกว่าเป็นวิถีแห่งมรรค หรือวิธีซึ่งเน้นกระบวนการอันเป็นปัจจัยเชิงสาเหตุตั้งแต่การทำความคิดและการทำในใจ หากเทียบกับหลักคิดในพุทธธรรมก็คือวิธีคิดซึ่งเน้นการปฏิบัติที่มาจากการคิดให้แยบคายแล้ว ซึ่งมีอยู่หลายวิถี เช่น การเขียนบทกวีให้เห็นภาวะย้อนแย้งและหลุดกรอบ วิถีจัดดอกไม้ วิถีแห่งชาและการชงชา วิถีกระบี่ซามูไร เหล่านี้เป็นต้น แต่ละคนและในสาขาอาชีพต่างๆก็อาจจะมีวิธีการที่เหมาะสมไปตามเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป การฝึกเขียนพู่กันและอักษร การเขียนบทกวี การจัดงานพบปะและกิจกรรมชงชา การทำงานศิลปะพับกระดาษและพับผ้า การเล่นดนตรี เหล่านี้ จึงเป็นวัฒนธรมที่มีอยู่ในหมู่ปัญญาชนและในครอบครัวของชาวญี่ปุ่นทั่วไป เพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรมการกล่อมเกลาปัญญาและฝึกฝนความเป็นศิลปะวิทยาให้ลึกซึ้ง

การพับกระดาษ หรือ Origami อย่างที่ ดร.ชิว เผยแพร่ให้กับผู้สนใจทั่วไปไปด้วยนี้ เป็นวิถีแห่งศิลปะ ซึ่งในญี่ปุ่นนับว่าเป็นการปฏิบัติทางปัญญาที่พัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างสูง เป็นการฝึกฝนระดับการจัดวางทางความคิดและการออกแบบองค์ประกอบทั้งหมดให้ลงตัว ทุกสิ่งมีความหมาย มีคุณค่า และมีความสมบูรณ์อยู่ในตนเอง ขณะเดียวกันก็เป็นองค์ประกอบสร้างมิติความเป็นซึ่งกันและกันให้เป็นองค์รวมเหนือความเป็นส่วนย่อยทั้งหมด ซึ่งจะเหนือกว่าความเป็นทฤษฎีและเหตุผล ผู้มุ่งความเป็นเลิศสูงสุดของตนเองในทุกแขนงจะใช้เป็นวิธีทำงานความคิด ก่อนที่จะออกแบบและแปรสู่การปฏิบัติระดับทฤษฎีหรือการจัดวางองค์ประกอบทางวัตถุและกายภาพอีกทีหนึ่ง ความสำคัญในการฝึกและพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ให้แก่พลเมืองในวิถีทางดังกล่าวของญี่ปุ่นจะเห็นจากการสะท้อนอยู่ในการ์ตูน อิกคิวซัง : เณรน้อยเจ้าปัญญา ซึ่งก่อนการตัดสินใจต่างๆทุกครั้งนั้น อิกคิวซังจะต้องนั่งสมาธิและมีวงแหวนสัญลักษณ์ทางปัญญาญาณผุดขึ้นเหนือศีรษะ สื่อการ์ตูนดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ประชาชนเข้าถึงวิธีคิดต่อกระบวนการทางปัญญาในระดับเหนือความเป็นเหตุผล รวมทั้งส่งเสริมให้พลเมืองใช้วิถีแห่งวิจารณญาณและปัญญาในการแก้ปัญหา (อย่างไรก็ตาม ในหลักการนั้นจะสอดคล้องกับวิธีคิดแบบเซน แต่แนวทางของเซนนั้น จะไม่ส่งเสริมวิธีนั่งสมาธิ แต่จะเน้นวิธีการที่ผสมผสานกับการงานและการดำเนินชีวิตจริงๆ)

[๓][๔] ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองและทางสังคมวิทยาการผลิตนั้น'แรงงาน' ถือเป็นพลังการผลิตและพลังอำนาจของมนุษย์ที่ติดตัวมาอยู่โดยธรรมชาติทุกคน แต่แนวคิดดังกล่าวก็อาจจะไม่เป็นจริง เพราะในความเป็นจริงนั้นกำลังการผลิตกลับจะไปอยู่ที่การสะสมทุน จากนั้น จึงใช้ทุนที่เหนือกว่าลงทุนภาคการผลิตต่างๆเพื่อทำผลกำไรมากยิ่งๆขึ้นต่อๆไปอีก การมีโอกาสและเข้าถึงสิ่งต่างๆได้มากจึงไม่ใช่หมายถึงการเป็นผู้ได้ทำมาก แต่กลับเป็นการทำแต่น้อยให้ได้กำไรสะสมมาก ในที่สุดก็จะมุ่งแต่ผลประโยชน์ ลดการลงทุน เพิ่มผลกำไร และมองข้ามการดำรงอยู่ของคนส่วนใหญ่ การต่อสู้กันระหว่างทุนกับแรงงานจึงเป็นแรงกดดันและมีธรรมชาติที่จะก่อเกิดโครงสร้างความรุนแรงอยู่ในระบบของสังคมทุนนิยมได้อยู่เสมอ แนวคิดทฤษฎีทุนมนุษย์ (Human Capital) และความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) จึงจัดว่าเป็นแนวคิดหนึ่งของการทำให้เป้าหมายการมุ่งผลกำไรทางธุรกิจได้พัฒนาการไปสู่การถือเอาคนและสังคมเป็นตัวตั้ง สามารถบูรณาการเป้าหมายทางธุรกิจกับมิติอื่นๆของสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ไปด้วยกันอย่างสมดุลมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 409770เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2010 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (54)

สวัสดีค่ะ

 ยายคิมกลับถึงบ้านแล้วเมื่อตี ๔ ค่ะ ไม่ใช่เวลานอนอีกด้วย  จึงมาเปิดหน้าจอพบบันทึกของอาจารย์พอดี

ดีใจมากค่ะที่ได้เจออาจารย์ จากการที่ตั้งใจมานานแล้วก็พลาดไปทุกครั้ง  งานนี้ยิ่งใหญ่มากในการแบ่งปันค่ะ

ได้รับความรู้จากศาสตราจารย์โนนากะ "การจัดการความรู้"  ไม่มีเครื่องแปลแต่อ่านจากหน้าจอค่ะ 

ได้เข้าไปชมและฟังอาจารย์วรภัทร และ อาจารย์ประพนธ์ ห้อง "ศิราณี" เก็บเกี่ยวเต็มที่เลยค่ะ

ตอนที่เข้าไป "เทือกเขาปันปัน" ยังไม่ได้พบอาจารย์เลยนะคะ  แต่ฟังอาจารย์พูดถึงบนเวที "คิดว่าจะให้ยืนโชว์ตัวเสียแล้ว" ฮา ๆ ๆ ๆ

ได้แต่สาระวนกับการลากไปลากมาให้เข้ากล้อง  จึงมีเวลาทักทายกันน้อยมาก  สำหรับอาจารย์วิรัตน์ "ยายคิมได้โจทย์การบ้านที่พอใจ" มากค่ะ

ไม่ทราบจะเขียนบันทึกตอบแทนการแบ่งปันได้อย่างไรดี

ยิ่งให้ ยิ่งได้รับจริงๆค่ะ

ชอบอ่านงานของอาจารย์ อ่านแล้วได้ข้อคิดดีดีเสมอค่ะ

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • อ้าว กลับบ้านแล้วหรือครับ วันนี้ผมยังกะว่าจะหาโอกาสไปเดินในส่วนที่ยังไม่ได้เข้าไปดูอีกตั้งหลายกิจกรรมสักหน่อยอยู่นะครับ
  • ดีใจที่ได้เจอคุณครูคิมมากด้วยเช่นกันครับ
  • แล้วก็รู้สึกสนุกในชีวิตไปด้วยกับครูคิมที่กำลังได้ออกไปทำอะไรมากมาย
  • ในทางเหนือนั้น ที่บ้านผมยินดีเป็นเครือข่าย เอาไว้พบปะคนทำงานและเป็น Node หรือเป็น Learning Space ให้กับการทำงานในแนวใช้ชีวิตไปด้วยอย่างครูคิม หนานเกียรติ และท่านอื่นๆนะครับ

สวัสดีครับคุณแก้วครับ

  • ชอบอ่านบันทึกของคุณแก้วด้วยเช่นกันครับ
  • เป็นชีวิตคนทำงานที่น่าทึ่งมากครับ
  • เมื่อวาน เวทีบึงบูรณาการ ก็เป็นเวทีที่ทีมพยายาบาลของคณะแพทย์ศาสตร์ศริราช นำเอาประสบการณ์และวิธีแบ่งปันความรู้พัฒนาคุณภาพในองค์กร มาถ่ายทอดให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ไปใช้ด้วยครับ

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

ดีใจมากๆ ค่ะ ที่งานในครั้งนี้ได้มอบสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้ร่วมงาน

หนูเองก็เสียดายมากๆ ที่ไม่ได้ไปร่วมงานนี้ เพราะคิดว่าต้องพลาดโอกาสเจอ Blogger หลายท่าน

หนูและทีมงานต้องขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่ได้เข้าร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ ในงานเสวนาครั้งนี้

ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ด้วยเช่นกันค่ะ

ขอบคุณค่ะ :)

  • เสียดายจังเลยครับ
  • พอดีมีสัมภาษณ์ชาวบ้านที่แก่งกระจาน
  • กลัวมาถึงที่แก่งกระจานค่ำ
  • คนที่อาจารย์
  • อีกท่านหนึ่งผมนึกชื่อไม่ออกครับ
  • ชื่อพี่ อุ้มบุญ เป็นเครือข่ายคนปลูกผักกินได้ครับ
  • ขอบคุณครับ
พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว เหมือนได้สัมผัสอยู่ใกล้ๆขอบเวทีเลย

สวัสดีค่ะอาจารย์

ไม่ได้มาร่วมงาน

ตามอ่านอย่างเดียวเลยค่ะ

มีกุหลาบมาฝากด้วยค่ะ

อ้าว รูปไม่ขึ้น ฝากอีกรอบค่ะ

สวัสดีครับคุณมะปรางเปรี้ยว

ทีมของ GotoKnow ใช้ได้เลยนะครับ สมาร์ทครับ เรียนรู้และพัฒนาวิธีทำงานในแนวอย่างนี้นั้นน่าชื่นชมมากนะครับ ดูปราดเปรียว มีความเป็นธรรมชาติ รู้เรื่อง ตื่นตัว และจัดการได้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆอยู่เสมอ ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นคนรุ่นเยาว์ก็จริงแต่ภาวะผู้นำดีและเป็นงาน

เรียน ท่านพี่อาจารย์ วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ;)

ผมอ่านบันทึกนี้ทุกตัวอักษรด้วยความอิ่มเอมใจ

และรู้สึกถึงคุณค่าที่ได้รับอย่างมากมาย

ให้ 5 ดาว (ไก่ย่าง) เลยแล้วกันนะครับ

มีหลายอย่างที่ผมเพิ่งทราบ เช่น เรื่องการทำคลอดของคุณเอก พี่ชิวเป็นคนอ่างทอง คำว่า ครูแห่งชีวิตของอาจารย์หมอ JJ ความเป็นพี่เลี้ยงคนในวงการการศึกษาและอื่น ๆ ใน G2K และ การเก็บความจากการรับรู้ รับสาร และถ่ายทอดโดยท่านพี่เอง

ครบถ้วน น่าติดตาม และหัวใจพองโตอย่างที่สุดของความงดงามที่ยังมีอยู่ในสังคมเรา

ขอบคุณครับท่านพี่ ;)

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • ไปทั่วเลยนะครับอาจารย์
  • อาจารย์ต้องซื้อรถกระบะสักคันแล้วละ ขนผักและรับซื้อผลผลิตเกษตรจากแหล่งที่ไปไปด้วย
  • พอไปถึงก็แวะขายผักก่อน พอบรรยายเสร็จก่อนที่จะไปอีกที่อื่นต่อก็รับซื้อผักไปขายอีก
  • สะสมเก็บหอมรอมริบไปได้สักพักก็หาสาวสวนผักหรือสาวชาวไร่เป็นผู้ช่วยสักคนได้แล้ว ฮ่าา

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • ขอกระซิบเล่าแบบลิเกป้องปากสักหน่อยครับ
  • ความที่สอง-สามปีมานี้ ผมจะขอทำอยู่สองสามเรื่องคือ ลงทำงานวิจัยกับชุมชน เขียนหนังสือและทำงานที่ค้างๆเยอะแยะ แล้วก็สอนหนังสือ หากไม่จำเป็นก็จะไม่อยากไปประชุมและสัมมนาที่ไหน พอไปประชุมเมื่อวานนี้ผมก็เลยตื่นห้างครับ ตื่นเวทีด้วย มันเหมือนนึกไม่ค่อยออกว่าอะไรมันจะอยู่ตรงไหน ไปทางไหน และเขากำลังจะมีอะไร มานั่งนึกๆดูก็ได้ประสบการณ์ว่าอะไรที่มันสุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งนี่ เผลอแผลบเดียวก็จะสนองตอบต่อสถานการณ์แวดล้อมได้ไม่ค่อยดีนะครับ
  • ได้เจอคนหนองบัวด้วยครับ : ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์ จากโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัวของเราน่ะครับ เขาเป็นเครือข่ายของมูลนิธิสยามกัมมาจลที่ทำเรื่องโครงการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน

อาจารย์วิรัตน์ สวัสดีครับ

         บันทึกได้แจ่มสุดๆ เลยครับ ทั้งภาพใหญ่ & รายละเอียดปลีกย่อย อาจารย์นอกจากจะทำ KM ได้แล้ว ยังจัดการเวลา (TM = Time Management) ได้อย่างยอดเยี่ยมด้วย (ตอนอาจารย์เขียนบันทึกนี้ ผมไปเฝ้าพระอินทร์อยู่...อิอิ ;-))

  • ก๊ากๆๆๆชอบคำแนะนำอาจารย์จังเลย
  • สงสัยต้องทำจริงๆๆ
  • แต่สาวชาวไร่ท่าทางจะหายากนะครับ
  • ฮ่าๆๆ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  • อันที่จริงในเวทีมหกรรมการจัดการความรู้ ถ้าหากเดินเข้าไปแชร์พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าอย่างนี้ หากจัดวางเป็น Event เพื่อออกแบบ Life style และกิจกรรมที่เป็น Out-door ของครอบครัวและคนทำงานในสังคมเมืองอย่างนี้ ก็คงจะทำให้คนมีความสุขกับการจัดการชีวิตประจำวันพร้อมกับได้สัมผัสกิจกรรมการเรียนรู้และมีวัฒนธรรมการบริโภคความรู้ที่ดีๆมากขึ้น และในงานอย่างนี้ควรจมีพื้นที่ให้กับการแสดงออกทางศิลปะ ที่มิใช่มุ่งความเป็นศิลปะอย่าเดียว แต่เป็นวิธีจัดการความรู้ที่ถ่ายทอดและส่งความลึกซึ้งทางจิตใจ อารมณ์และความรู้สึก จากคนหนึ่งไปสู่ผู้คนอีกหลายๆคน นะครับ
  • ขอชมหนังสือเล่มใหม่ของคุณณัฐรดาหน่อยนะครับ... รูปแบบและคุณภาพการพิมพ์รวมทั้งการทำเล่มดูดีกว่าเล่มก่อนหน้านี้เยอะมากเลยนะครับ
  • จะขอแบ่งจากน้องๆเอาไว้ดูสักเล่มหนึ่งนะครับ นี่น้องเหมียว : อาจารย์ณัฐพัชร์ของเราได้หนังสือไปแล้วก็หายแซ๊บไปเลยเนี่ยครับ ไปเวทีจัดการความรู้ครั้งนี้อยากจะหนีบไปด้วยก็หาตัวไม่เจอสักที กิจกรรมเขาดีครับ

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ

  • แถมข้าวเหนียวกับไส้อั่วด้วยอาจารย์ แม๊ มาทำให้น้ำลายไหล
  • เสียดายครับ เวทีของการเสวนาหดเหลือ ๑ ชั่วโมง เลยน้อยไปหน่อย เสียดายมากจริงๆ ไม่ใช่ทีมวิทยากรที่ลงมากเสียด้วยอย่างเดียว แต่กลุ่มคนที่เข้าสักประมาณ ๑๐๐ คนเห็นจะได้ เรียกว่าเต็มที่ในส่วนที่เป็นเวทีของ GotoKnow ก็แววตาเป็นประกาย เห็นแล้วสัมผัสได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเป็นคนมีไฟอยู่ในตนเอง กลุ่มอย่างนี้แม้นเป็นกลุ่มเล็กๆก็น่ามีเวทีให้อยู่ในบรรยากาศได้นั่งคุย ฟัง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบสบายๆ แต่ครั้งนี้ก็อาจจะได้ในแง่ที่ทำพอเป็นการชิมลางและทำให้กระหายที่จะคิดและทำกันให้หลากหลายต่อๆไปอีก  ก็คงได้มากๆในแง่นี้

สวัสดีครับ ดร.ชิวครับ

  • ผมกลับไปก็เอนหลังและหลับวูบไปพักหนึ่งเหมือนกันครับ ที่เขียนนี่หลังจากตื่นขึ้นมารอบแรกน่ะครับ พอคะเนดูแล้วว่าอาจนจะไม่ได้ไปวันที่สองเพราะห่วงนักศึกษากำลังแก้ไขวิทยานิพนธ์อยู่คนหนึ่ง ลูกเขาไม่สบายอย่างหนัก ครอบครัวกำลังวิกฤติ เลยอยากให้เขาเสร็จและได้กลับประเทศเร็วๆ เลยรีบเขียนโยนขึ้นเว็บออนไลน์ไว้ เพื่อจะมีคนทันได้อ่านและช่วยไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์เอามาเล่าถ่ายทอดให้ได้เรียนรู้ไปด้วยน่ะครับ
  • แต่ก็แปลกจริงๆ พอถึงเช้าวันนี้ ก็ได้รับข่าวดีว่านักศึกษาของผมได้รับการตอบรับการตีพิมพ์บทความและได้รับอนุมัติให้จบการศึกษาแล้ว นี่ก็เป็นอานิสงค์ของการยิ่งให้ยิ่งได้รับหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะเมื่อคืนตอนที่ทนนั่งเขียนนั้นผมก็ง่วง แต่ถ้าหากเลยไปแล้วก็จะไม่อยู่ในบรรยากกาศของมัน เลยก็ได้ผลดีตอบกลับทันทีเลยเหมือนกัน
  • ได้ความคิดดีๆจากดร.ชิวมากครับ ดีใจและมีความสุขมากครับที่ได้ร่วมทำหมายเหตุดีๆในเสี้ยวหนึ่งของชีวิตด้วยกัน อาจารย์ JJ และครูหยุยก็น่าประทับใจมากจริงๆ เป็นคนมีพลังชีวิตกันดีจังเลยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • หากโดนใจสาวชาวไร่นี่ อาจารย์ไปแถวๆเพชรบุรีกับประจวบนี่ถูกที่แล้วครับ มีโอกาสเจอสูง
  • อย่าอยู่แถวเมืองกาญจน์บ้านของอาจารย์เยอะครับ เพราะสาวชาวไร่แถวเมืองกาญจน์ส่วนใหญ่จะมาจากพม่ากับเขมร แต่หากชอบผงนาคาผัดหน้าของสาวพม่า หรือชอบปลาเนื้ออ่อนทะเลสาบเขมรจากฝีมือสาวเขมรละก็ว่าไปอย่างละครับ ฮ่าา

ตอนนี้ ผมกำลังบ้า ปิแอร์บูดิเยร์อยู่ครับ แนวคิดแฮปิตัท

อยากอ่าน-อยากอ่าน เล่าให้ฟังหน่อยครับ มันเป็นยังไงล่ะครับ

 

*ขอบคุณค่ะ..พี่ยินดีที่ได้พบอาจารย์และกัลยาณมิตร G2K อย่างอบอุ่นราวกับคุ้นเคยกันมานานมาก..

*นับเป็นช่วงเวลาที่ได้ทั้งการแบ่งปันความความรู้ และการสนทนาประสาพี่-น้อง ที่เกิดอย่างธรรมชาติของมิตรภาพดีๆนะคะ..

                       ภาพบนเวทีจากกล้องน้องคิม

สวัสดีครับพี่นงนาทครับ

ดีใจมากๆครับที่ได้พบและคุยกับพี่ รู้สึกได้ถึงความเย็นและความเต็มออกมาจากข้างในเพื่อแบ่งปันออกมาให้น้องๆและคนรอบข้างเลยนะครับ เห็นประสบการณ์ งาน และกิจกรรมต่างๆที่พี่ทำ โดยเฉพาะการมีจิตใจให้กับคนรุ่นอ่อนอาวุโสไม่ว่าจะเป็นใครอย่างพิถีพิถัน ทั้งถ่ายทอดความคิดและเป็นพี่เลี้ยงให้ได้คิดและทำสิ่งต่างตามความสนใจอย่างเป็นตัวของตัวเอง ก็พูดได้อย่างเดียวว่านับถือและขอคารวะครับ

ทราบจากเข้าไปอ่านบันทึกของครูคิมว่าพี่ได้พาน้องๆไปนั่งคุยและกินข้าวด้วยกันด้วย ดีจังเลยนะครับ

ติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์ เเละ เพื่อนๆก่อนครับสำหรับคืนนี้

วันนี้ผมเป็นผู้ดำเนินรายการ session สุดท้ายที่โซนประภาคารเกื้อกูล..

รู้สึกเหนื่อยมากครับ ทั้งๆที่ไม่ได้ออกเเรง(กาย)

กลับมาก็ต้องพักผ่อนเเล้วครับ

วันนี้ผมก็กะว่าจะได้ไปสักหน่อย แต่ช่วยนักศึกษาแก้ไขวิทยานิพนธ์และทำอื่นๆจิปาถะ ทำไปทำมาก็เกือบบ่ายสองโมงแล้ว กว่าจะเดินทางถึงก็คงจะเลิกงานแล้ว เลยไม่ได้ไป เสียดาย

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • บันทึกยาวเหมือนเคย อิอิอิ แต่ก็อ่านทั้งหมดเลย ได้รู้เหมือน อ.วสวัต เลยค่ะ อิอิอิ
  • ----
  • ป้าแดงไปเรียน เรื่องการเป็นวิทยากรมืออาชีพ อาจารย์มาสอนเรื่องการเขียน mind map  กับอาจารย์นะคะ แต่ วิทยากรกระบวนการยังไม่เคยไปเรียนไปฝึกเลยค่ะ
  • ----
  • ดีใจที่เจออาจารย์ และทักว่า เป็น blogger "gotoknow" ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

ฝากภาพมาให้ค่ะ ซูมสุด  ๆ และมาแก้คำผิดด้วยค่ะ  ชื่อ "นพวรรณ  พงษ์เจริญ" ค่ะ

วันนี้ ต้องออกเดินทางไปหนองบัว จ.นครสวรรค์ ครับ

แวะมารายงานตัว ครับ

ขอบคุณสำหรับกิจกรรมดี ให้ได้ติดตามตลอดครับ

สวัสดีครับป้าแดงครับ

  • อบรมวิทยากรมืออาชีพนี่  นานหลายปีแล้วเหมือนกันนะครับ ตอนนั้นศาลายายังเหมือนเป็นชนบทอยู่เลยนะครับ
  • จำได้ว่าเมื่อเข้ามาเขียนบล๊อก GotoKnow แรกๆนั้น ก็เห็นบันทึกของป้าแดงแล้วก็ได้เข้าไปอ่านด้วยน่ะครับ
  • นี่เหมือนเป็นญาติกันโดยการทำงานเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • ว่าแล้วเชียว ขออภัยอย่างยิ่งครับ
  • ไปกลับนามสกุลของเขาเสียแล้ว

สวัสดีครับคุณต้นกล้า

  • คุณต้นกล้าไปทำอะไรแถวหนองบัว เป็นคนหนองบัว หรือเป็นคนทำงานที่หนองบัวด้วยหรือเปล่า หรือมีเพื่อนๆอยู่แถวหนองบัว
  • ผมสนใจที่คุณต้นกล้าคุยเรื่องการทำนาแบบรวมที่ดินและจัดการระบบเครื่องมือการผลิตแบบรวมกัน
  • นอกจากรูปแบบสหกรณ์แล้ว ในประเทศไทยมีตัวอย่างให้ศึกษารูปแบบอื่นๆได้จากที่ไหนบ้างไหมครับ
  • ผมเคยได้ไปเห็นที่อำเภอพร้าว เชียงใหม่ กับที่ประจวบฯ ก็น่าสนใจมาก เป็นรูปแบบสหกรณ์ รวมที่ดินทั้งหมดก่อนแล้วค่อยนำมาวางแผนและจัดการชุมชนกันใหม่ ก็ทำได้ดีมากครับ ในอนาคตก็เชื่อว่ารูปแบบนี้จะทำให้ชุมชนมีความยั่งยืนในการพัฒนาตนเองได้มากกว่า ทว่า ที่ทำได้นั้นก็เนื่องจากไปขอพระราชทานน้อมเกล้าฯให้เป็นโครงการในแนวพระราชดำริ

เออาบล๊อกมาฝากป้าแดงนะครับ
ชอบชื่อที่ทำงานของป้าแดงที่หนองคายนะครับ 'ศูนย์พัฒนาคุณภาพการคิดและจิตใจ'

เรียน ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ครับ...

  • ขณะเข้าชม มีความรู้สึกว่าอยากแยกร่างแทรกกายให้ได้ทุกห้อง แต่ก็จนใจ น่าสนใจทุกเวทีครับ
  • เวที g2k ก็มิเบา หลังเวทีแฟนคลับอาจารย์วิรัตน์ (และหลายๆ ท่านจากบนเวที ) ยิ้มกริ่มเป็นสุข ส่งแรงกาย (ปรบมือ+ถ่ายภาพ) แรงใจ (ยิ้มกริ่ม)เชียร์ เป็นสุขตลอดรายการ
  • ขอบคุณบันทึกอาจารย์ครับ.... ประติดประต่อสรุปบทเรียนให้เห็นภาพ และคุณูปการของมหกรรมการจัดการความรู้มากยิ่งขึ้น
  • รอชื่นชม (ด้วยจิตระทึก) มหกรรม KM หนองบัวนะครับ ขอปวารณากาย และใจ เชียร์ อาจารย์ และ อาจารย์พระมหาแล (เจ้าภาพ) ครับ...
  • ขอแสดงความยินดีและขอชื่นชมในความสำเร็จในการได้ไปร่วมดำเนินการเวทีย่อยๆของคุณช้างน้อยมอมแมมด้วยนะครับ
  • เวทีหนองบัวนี่อย่าลืมเจียดเวทีแบ่งภาคไปช่วยสักแรงหนึ่งนะครับ
  • แนวอย่างนี้คุณช้างน้อยมอมแมมจะช่วยได้มากเลยทีเดียวเชียว
  •  ชื่นชมท่านถ่ายทอดออกมาละเมียดละไม
  •  ภาษาที่งดงาม

สวัสดีค่ะ

    Krudala เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์ ได้ความรู้มากมาย และได้รู้จักกับบล๊อคเกอร์ Gotoknow หลายท่าน

                       ขอบคุณบันทึกดีๆค่ะ

                      

 

                               ฝากภาพเมฆจาก"ฟ้างามที่ลำพูน"ค่ะ

   

  • สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและทักทายกันครับ
  • หายเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วใช่ไหมครับ
  • ทางอีสานตอนนี้คงจะหนาวเนาะ 

สวัสดีครับครูดาหลาครับ

บรรยากาศยามเย็นอย่างนี้ขณะเดินทางหรือเสร็จการงานนี่ เหมือนกับเป็นช่วงถอนหายใจเลยนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ดีใจที่ได้พบอาจารย์นะค่ะ ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของการให้นะค่ะงานนี้หนูได้รับอะไรหลายๆอย่าง หนูจะเขียนบันทึก AAR นะค่ะ

 

สวัสดีครับคุณอาร์ม ทีมงานของ GotoKnow ทำงานหนักเลยนะครับ เป็นทีมงานที่เล็กกระทัดรัด แต่ถือว่าทำงานเวทีระดับชาติได้ความสำเร็จอย่างงดงามนะครับ

                          

ขอบคุณรูปถ่ายที่นำมาแบ่งปันนะครับ
ผมไม่ค่อยมีจังหวะถ่ายรูปเองเลย ต้องขออนุญาตรวบรวมไว้เป็นที่ระลึกความประทับใจนะครับ 

ยินดีเลยค่ะอาจารย์ ยังมีภาพความประทับใจอีกหลายๆภาพ แล้วหนูจะนำมาฝากนะค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

ดีใจมากค่ะ ที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานในครั้งนี้ได้รับสิ่งดีๆ มากมาย

ต้องขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่ได้เข้าร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ ในงานเสวนาครั้งนี้

ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์มากค่ะ ที่รวมรวมองค์ความรู้ ได้เป็นบทสรุปถึงการได้รับมาวันนั้นค่ะ

เป็นน้องใหม่ในวงการ ที่พยายามสมัครเข้ามาแลกเปลี่ยนหลายรอบแล้วไม่สำเร็จ

ขอบพระคุณมากค่ะ

                         

ยินดีต้อนรับ
และขอให้ป้าพลอยมีกำลังใจมากๆครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์
  • เสียดายที่ไม่ได้ไปร่วมงานครั้งนี้ครับ
  • แต่ก็ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนและเก็บเกี่ยวบรรยากาศและความรู้จากหลายๆ ท่าน
  • ผมเคยไปร่วม NKM ครั้งแรก เมื่อ NKM 2
  • ครั้งนั้นได้เห็นภาพของคนในสังคมที่สร้างและใช้ความรู้ในวิถี และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างหลากหลาย 
  • คิดว่าเราไม่ได้ขาดความรู้  เราสร้างความรู้ที่เหมาะสมขึ้นใช้เองได้  เพียงแต่เราต้องเชื่อมันในความเป็นตัวตนของเราเอง
  • ได้เห็นและชื่นชมกับกระบวนการพัฒนาและสร้างคนผ่านการทำงานใหญ่ของ สคส.(สมัยนั้น อ.หมอวิจารณ์ เป็นผู้อำนวยการฯ)
  • แต่พอ NKM 3 ผมก็ทึ่งกับเครือข่ายของคนทุกสาขาอาชีพมีความสนิทสนมและประสานสัมพันธ์กันอย่างดี (พบเจอครั้งแรกเหมือนรู้จักกันมานานปี)
  • ผมว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งผลพวงจากการใช้ Gotoknow และคนเข้ามา..มีใจ
  • อนาคตช่องทางนี้อาจก้าวจากสังคมเสมือน...ไปสู่สังคมจริง  ที่ก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่ง  ที่ไม่ยึดติดกับหน่วยงาน  ตำแหน่งแห่งหน  ออกไปจากกรอบที่ครอบงำฯ
  • แล้วร่วมกันทำงาน(บางอย่าง) ที่มีใจร่วมกัน  ที่ชอบ ฯลฯ เพื่อสังคมส่วนรวมได้อีกทางหนึ่ง
  • ลปรร. นะครับ  อิอิ
  • ขอบคุณมากครับสำหรับบันทึกที่นำมาแบ่งปัน

สวัสดีครับท่านสิงห์ป่าสักครับ

  • ผมเห็นด้วยมากเลยครับที่ใน GotoKnow นี้ช่วยสร้างวงสังคมของคนทำงานให้เกิดขึ้นเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันได้ซับซ้อนในหลายกรอบ บ้างก็เป็นงานในสาขาเดียวกันแต่ต่างพื้นที่ ต่างภูมิภาค บ้างก็ต่างองค์กรและต่างสาขากันไปเลย
  • รวมทั้งคนที่รักการเรียนรู้ หมั่นแสวงหาความรู้เพื่อนำกลับไปใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพการงาน แต่โดยปรกติแล้วก็มีแหล่งความรู้และช่องทางสื่อสารกับสังคมวิชาการได้น้อยเพราะไม่ใช่คนทำงานในองค์กรที่เป็นทางการ ก็สามารถใช้ช่องทางนี้เข้าถึงความรู้และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นได้อย่างกว้างขวาง ก็นับว่าไม่เลวเลยนะครับ
  • ในเรื่องบทบาทต่อการเป็นแหล่งส่งเสริมการร่วมกันสร้างความรู้ขึ้นใช้ในการทำงานของคนทำงานนั้น ผมก็เห็นด้วยมากเป็นอย่างยิ่งนะครับ ขอร่วมด้วยอีกแรงหนึ่งนะครับ
  • สักระยะหนึ่ง หากใครพอมีแนวทางที่ออกมาทางด้านนี้แล้วอยากจะค่อยๆเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่หรือเครือข่ายองค์กร โดยผ่านตัวคนที่เชื่อมโยงแนวคิดและแนวการทำงานผสมผสานกันทั้งภาคปฏิบัติการในพื้นที่กับการบริหารจัดการเครือข่ายความรู้ผ่านบล๊อก ผมก็คิดว่าจะยินดีเป็นเครือข่ายวิชาการให้ในบางด้านที่ผมพอจะดูแลให้ได้นะครับ   

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ขออภัยที่ไม่ได้ไปร่วมงานค่ะ http://gotoknow.org/blog/think/411139 

น้องๆทีมทำงานของอาจารย์ทำงานกันเก่งและวางใจได้เลยนะครับ คงทำกันเต็มที่เพื่อให้กำลังใจและช่วยแบ่งเบาความทุกข์ใจของครอบครัวอาจารย์ทั้งสองท่านนี่เอง

  • อาจารย์ครับ
  • มาเพิ่มข้อมูล
  • คุณหมูคือบล็อกเกอร์ของเราชื่อ ธ.วัชชัย เป็น บก. อยู่นครชัยศรี
  • อาจารย์ดร.เนาวรัตน์ให้มาแจ้งอาจารย์ว่า
  • อาจารย์เขียนชื่อ ว ตกไปครับ
  • เนารัตน์ พลายน้อย
  • ฮ่าๆๆ
  • อ๊ากกกกกสสสสสส .... ขอบพระคุณครับอาจารย์ที่ช่วยเป็น บก.ให้ เลยได้รีบเติมลงไปโดยพลัน
  • อันที่จริงไม่ได้ลืมหรือพิมพ์ตกหล่นหรอกครับ เอา -แหวน เตรียมไปให้อาจารย์ขจิตไปหมั้นสาวน่ะครับ

เจ้าสาวถาม :แหวนนี้ท่านได้แต่ใดมา

ผมตอบ : อาจารย์วิรัตน์ท่านให้ ฮ่าๆๆ

เจ้าสาวถามอีก :            ทำชอบสิ่งไดฤา   ไม่เห็นบอก
ท่านอาจารย์ก็ตอบอีก :   เราเห็นตัวอักษร ว ตกหาย  ท่านเลยให้ไปหา ม?  ฮ่าาาาา

สวัสดีค่ะอาจารย์ พลาดงานครั้งนี้เลยได้มาติดตามสาระจากการประมวลของอาจารย์ ขอบพระคุณค่ะ

ได้ยินชื่ออาจารย์จากคุณเอก-จตุพรมานาน ขอถือโอกาสคารวะมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ตัวเองได้ใช้ SECI Model ของโปรเฟสเซอร์โนนากะในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในการอ่านพลวัตภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ซึ่งโปรเฟสเซอร์ที่เป็น Director of Thesis นั้นเป็นคนฝรั่งเศสที่ชื่นชมแนวคิดโปรเฟสเซอร์โนนากะ และ กำลังแปลแนวคิดเรื่อง Phronetic เป็นภาษาฝรั่งเศสอยู่ ขนาดนุชจบมาหลายปีแล้วท่านยังเมล์มาให้ศึกษาแนวคิดนี้ท่านบอกว่าคล้ายกับแนวคิด Local Wisdom ของไทยมาก แต่ก็ไม่ได้ขวนขวายหาอ่านได้มาอ่านทราบว่าแนวคิดเป็นอย่างไรจากอาจารย์นี่แหละค่ะ ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

ขอคารวะอาจารย์ ดร.ยุวนุชเช่นกันครับ
ผมได้อ่านงานวิจัยวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ด้วยนะครับ
ดูเหมือนจากที่นำมาออนไลน์ในนี้หรืออย่างไรนี่แหละครับ
ชอบการเขียนถ่ายทอดในทุกเรื่องของอาจารย์ดร.ยุวนุชมากนะครับ
เหมือนดูงานศิลปะและอ่านงานวรรณกรรมเลยละครับ
ขอบพระคุณที่มาเยือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท