การถอดบทเรียน : ๑.หลักคิด ความสำคัญ และนัยต่อการเคลื่อนไหวสุขภาวะสังคมการเรียนรู้


"....เป็นการมุ่งนำเอาความเป็นจริงจากการปฏิบัติชุดหนึ่งกลับมาพินิจพิจารณาให้ได้สติปัญญาอันแยบคายเพื่อกลับสู่วงจรปฏิบัติอีกครั้งให้ได้ความเจริญงอกงาม ไม่ว่าจะในระดับกิจกรรมและระดับความเข้าใจต่อโลกต่อชีวิตมากยิ่งๆขึ้น...."

ผมเห็นทาง GotoKnow จัดกิจกรรมให้บล๊อกเกอร์มีกิจกรรมด้วยกันด้วยการถอดบทเรียนตามหัวข้อที่สนใจ ก็ติดตามอ่านด้วยความสนใจ ขณะเดียวกันก็อดไม่ได้ที่จะรอคอยอย่างจดจ่อที่จะได้เห็นหนังสือที่ใช้วิธีเขียนด้วยกันอย่างมีประเด็นร่วมด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นการเขียนหนังสืออย่างมีส่วนร่วมและเคลื่อนไหวสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จะมีผลลัพธ์ออกมาให้เห็นเป็นผลงานการเขียนบทเรียนออกมาร่วมกันอีกด้วย ผมเห็นพลังของการริเริ่มเล็กๆแต่มีความน่าสนใจมากนี้ เลยขอมีส่วนร่วมผ่านการเป็นพลังใจและเป็นแรงเชียร์ด้วยการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ไปด้วยสัก ๒ ตอน

ประสบการณ์ของผมเองนั้น ผมรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า ‘บทเรียน’ มานานพอสมควร นับแต่การเรียนปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผมประทับใจทรรศนะและบทสรุปของนักจิตวิทยาการศึกษาในอดีต โดยเฉพาะ ธอร์นไดค์ นักการศึกษาชาวอเมริกันที่เป็นที่รู้จักในวงการศึกษาดีท่านหนึ่ง ที่กล่าวโดยนัยว่า หากเราสามารถทำประสบการณ์และกิจกรรมต่างๆที่ต้องการให้เป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมและอยู่ในรูปของบทเรียนได้ เราก็จะสามารถจัดประสบการณ์สร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนเพื่อส่งเสริมให้เขาสามารถบรรลุจุดหมายในสิ่งที่ต้องการได้ ขณะเดียวกันก็สามารถออกแบบและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อนำเสนอสถานการณ์เงื่อนไขเพื่อการเรียนรู้ ตลอดจนสถานการณ์เพื่อการเรียนการสอนและกระบวนการเรียนรู้ของผู้คนกลุ่มต่างๆให้เหมาะสมได้

หลักคิดดังกล่าวนี้จึงเปรียบเสมือนสมการแม่บทที่ดีอย่างหนึ่ง สำหรับนำไปริเริ่มสร้างสรรค์ ออกแบบ และจัดวางองค์ประกอบต่างๆ เพื่อทำให้วิธีคิดที่ว่า ชีวิตเป็นการเรียนรู้และทุกสิ่งเราสามารถเรียนรู้เพื่อแปรไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆได้ อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมุ่งอ่านและศึกษาค้นคว้าจิตวิทยาการศึกษาในทุกสำนักคิดอย่างจริงจัง ซึ่ง ณ เวลานั้น (ไม่ใช่ตอนนี้แล้วซึ่งขาดความรู้อีกมาก) ก็ได้ความเข้าใจที่พอจะเล่นแร่แปรธาตุและเดินออกจากตำรา สามารถพึ่งตนเองและใช้ทำงานต่างๆได้อย่างสนุกสนานมากพอสมควร

ช่วงนั้น เมื่อเกือบ ๒๐ ปีผ่าน ผมถึงกับกล่าวกับน้องๆในทีมทำงานซึ่งส่วนใหญ่เพิ่งอยู่ในวัยต่ำกว่า ๓๐ ปีทั้งนั้นว่าจะทำให้มหิดลเป็นเวทีทางด้านสื่อเพื่อการพัฒนาสุขภาพของประเทศ ด้วยการทำงานและพัฒนาความเป็นวิชาการบนงานประจำหรือเติมมิติวิชาการกับกระบวนการเรียนรู้ลงไปในภาคปฏิบัติการต่างๆของงานบริการวิชาการ และภายใน ๑๐ ปี เราจะเป็นเวทีในระดับภูมิภาคอินโดจีน จากนั้นก็อาเซียน ผมเขียนแผนความคิด ๑๕ ปีนำเสนอกับเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีเงินอยู่ในมือเลย ผมจะบริหารจัดการทรัพยากรจากงานบริการวิชาการและจะพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน อหังการ์ขนาดนั้น เพราะมั่นใจมากว่าด้วยการลงมือและหาบทเรียนต่างๆมาพัฒนาการเรียนรู้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลาไปด้วยนั้น ก็เชื่อว่าไม่ไกลเกินจะเรียนรู้เพื่อทำให้เป็นจริงและงอกเงยไปบนงานทุกอย่างที่ทำ คุณค่าและความหมายของการเดินทางในชีวิตนั้นอยู่ตรงที่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนและทำอะไร ก็เป็นบทเรียนให้เรียนรู้และได้ปัญญาเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต อยู่กับปัญญาและความลึกซึ้งในตนได้ดียิ่งๆขึ้นอยู่เสมอ ผมคิด

                         

ขอขอบคุณภาพถ่ายโดย : ณัฐพัชร์ ทองคำ มีนาคม ๒๕๕๔

ผมได้รู้จักว่า ‘บทเรียน’ หมายถึง ‘องค์รวมของหน่วยประสบการณ์’ ชุดหนึ่ง ที่อาจจะอยู่ในตัวคนและเก็บไว้อย่างเป็นระบบที่สามารถนำมาเรียนรู้ ถ่ายทอด ส่งต่อ ต่อยอดและขยายผล ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงประสบการณ์ดังกล่าวนั้นได้ทั้งผ่านกระบวนการทางปัญญาภายในตนเองและจากแหล่งให้ประสบการณ์ที่อยู่ภายนอก แต่จะได้ด้วยวิธีการและกระบวนการอย่างไรนั้น ก็จะมีสมมุติฐานเพื่อการปฏิบัติแตกแขนงไปได้อีกหลากหลาย

บ้างก็มุ่งการพัฒนาศาสตร์และศิลป์ในการสอน, ศาสตร์และศิลป์ของการเป็นครู, บ้างก็พัฒนาวิธีเรียนรู้, บ้างก็พัฒนากระบวนการทางปัญญาและการใช้ความคิด, พัฒนาความเป็นพ่อแม่ ความเป็นกัลยาณมิตรและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความเติบโตงอกงามของชีวิตการเรียนรู้, บ้างก็พัฒนาระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการเทคโนโลยีและทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้เข้าสู่ประสบการณ์ด้วยตนเองของผู้เรียน, บ้างก็มุ่งพัฒนาหนังสือตำรา, หลักสูตรและการสอน,การวัดผลและการสอบการประเมิน, บ้างก็มุ่งพัฒนาระบบการศึกษาทั้งในและนอกภาคที่เป็นทางการ

บ้างก็ชอบที่จะพัฒนาระบบสังคมและปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมการแสดงออกของพลเมือง,บ้างก็เชื่อในการมีประสบการณ์ทางสังคมอย่างมีเสรีภาพ,บ้างก็เชื่อวิธีให้สถานการณ์เงื่อนไขและความบันดาลใจให้การเรียนรู้เกิดขึ้นจากภายในตนเองของผู้คน,บ้างก็เชื่อในวิธีอันเป็นศิลปะและพลังอำนาจทางวรรณกรรมที่ให้จิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้,บ้างเชื่อในการให้ประสบการณ์พื้นฐานและเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้เอาเอง เป็นอาทิ 

กล่าวได้ว่า หากเข้าถึงหลักคิดดังที่กล่าวถึงในข้างต้นซึ่งอยู่ภายใต้เทคนิควิธีการอันหลากหลายเหล่านี้แล้ว เราก็จะสามารถพิจารณาสิ่งต่างๆให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นไปตามเหตุปัจจัยและริเริ่มสร้างสรรค์พลิกแพลงออกไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเบ็ดเสร็จและเหมือนหรือแตกต่างกันไปอยู่ตลอดเวลาอย่างตายตัวในทุกสถานการณ์

ผมเองนั้น เนื่องจากได้ทำงานในหน่วยวิชาการด้านการสาธารณสุขมูลฐานที่เริ่มขึ้นในประเทศไทยเมื่อทศวรรษ ๒๕๒๕ ก็มุ่งให้ความสนใจต่อการเห็นมิติการเรียนรู้ที่บูรณาการอยู่กับการทำงานและกิจกรรมที่อยู่ในชีวิตของประชาชนและชุมชน ทั้งเรื่องสื่อ การพัฒนาการฝึกอบรมและกิจกรรมการเรียนรู้ การวิจัย การพัฒนาเครือข่าย วัฒนธรรมการรวมกลุ่ม และวิธีบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม จึงมุ่งเรียนรู้ความเชื่อมโยงผ่านการทำงานเหล่านั้นไปให้ได้ว่า งานสุขภาพชุมชน งานสาธารณสุขมูลฐาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่างๆ นอกจากจะบรรลุจุดหมายที่มีความสำคัญอยู่ในตนเองได้เป็นอย่างดีแล้ว มิติการเรียนรู้และบทเรียนต่างๆเพื่อการสร้างคนและสร้างศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนที่อยู่ในสิ่งที่ดำเนินการขึ้นนั้น มีและเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งก็ทำให้เห็นโอกาสพัฒนาคนและพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อพัฒนางานและพัฒนามิติต่างๆของชีวิต สอดแทรกอยู่ในงานและกิจกรรมต่างๆได้อยู่เสมอ หรืออย่างไม่ได้สิ่งใดเลย ก็ได้ตรงที่ไม่ทำให้จิตตกและชีวิตตกต่ำลงไปกว่าที่เป็นอยู่ แม้ท่ามกลางวิกฤติปัญหา ความล้มเหลว และในความสูญเสีย

ต่อมา ในช่วงปี ๒๕๓๓-๒๕๓๗ ผมก็ได้มีโอกาสเข้าเวิร์คช็อปทั้งโครงการหลักสูตรในประเทศและนานาชาติหลายครั้งทางด้านการพัฒนาสื่อและโครงการปฏิบัติการทางการเรียนรู้ด้านสุขภาพ ด้านการจัดอบรมและการเป็นวิทยากร การพัฒนาชุมชน และการวิจัยชุมชน ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นการปฏิบัติการและเรียนรู้ โดยกลุ่มผู้เกี่ยวข้องจะมีการอบรมและประชุมสัมมนาอย่างเป็นวงจรหนึ่งที่จะได้ผ่านเข้ามาระหว่างทำงานและปฏิบัติการเคลื่อนไหวสังคมเพื่อมุ่งไปสู่อุดมการณ์ของการสาธารณสุขมูลฐานซึ่งเน้นสุขภาพเพื่อปวงชนและปวงชนเพื่อสุขภาพกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ดังนั้น ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การวิเคราะห์ประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อระดมพลังปฏิบัติของสังคมอย่างหลากหลาย ก็มักจะปรากฏคำว่า ‘บทเรียน’ ‘การให้การเรียนรู้’ รวมทั้งคุ้นเคยกับคำว่า ‘Facilitator’ หรือ ‘วิทยากรกระบวนการ’ และคำถามในลักษณะที่ให้สะท้อนบทเรียนออกจากตนเองว่า ‘กิจกรรมและปรากฏการณ์เหล่านี้ให้บทเรียน ความคิด และความบันดาลใจอย่างไรแก่เราบ้าง ?’ ซึ่งจะปรากฏอยู่เสมออย่างเป็นวัฒนธรรมของการทำงานด้วยกันอย่างมีส่วนร่วมทั้งในหมู่คนไทยและคนทำงานชาวต่างประเทศที่ทำงานมุ่งชุมชน การบูรณาการทางการปฏิบัติในเชิงพื้นที่หลายๆมิติที่จำเป็น และการมุ่งความเป็นท้องถิ่น ทั้งในขอบเขตท้องถิ่นและเครือข่ายนานาชาติทั่วโลก

อีกทั้งให้บทสรุปแก่ตนเองได้อีกอย่างหนึ่งว่า‘บทเรียน’ และ ‘การเรียนรู้’ ที่อยู่ในการงานและการดำเนินชีวิตนั้น เป็นการมุ่งนำเอาความเป็นจริงจากการปฏิบัติชุดหนึ่งกลับมาพินิจพิจารณาให้ได้สติปัญญาอันแยบคายเพื่อกลับสู่วงจรปฏิบัติอีกครั้งให้ได้ความเจริญงอกงาม ไม่ว่าจะในระดับกิจกรรมและระดับความเข้าใจต่อโลกต่อชีวิตมากยิ่งๆขึ้น มากกว่าไปสิ้นสุดที่การได้คำตอบและความรู้อย่างเบ็ดเสร็จเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ก็ได้ความก้าวหน้าทางวิธีคิดและวิธีทำงานเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่งในระยะ ๑๐ ปีต่อมาของตนเองหลังการศึกษาในระดับปริญญาโทว่า นอกจากศาสตร์และศิลป์ของการออกแบบและจัดวางหน่วยประสบการณ์เพื่อนำเสนอสถานการณ์การเรียนรู้ตามจุดหมายต่างๆแล้ว ก็ได้ประจักษ์แก่ตนเองอีกว่า'การตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้' นั้น จัดว่าเป็นเครื่องมือและวิธีการอันทรงพลังในอันที่จะทำให้ทุกคนสามารถค้นพบบทเรียนและพลังแห่งการเรียนรู้จากหน่วยประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตตนเอง และในอีกด้านหนึ่ง ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติซึ่งก็จะก่อให้เกิดบทเรียนและประสบการณ์ชุดใหม่ๆ ต่อเนื่องกันไป

พร้อมกันนั้น ก็นำตนเองให้ร่วมสร้างสรรค์สิ่งต่างๆทั้งเพื่อตนเองและสังคมไปด้วยกัน เรียนรู้เพื่อมีความสำนึกร่วมต่อสังคมและสร้างพลังปัจเจกในการริเริ่มบทบาทความเป็นพลเมืองต่อความเป็นสาธารณะในขอบเขตต่างๆร่วมกันได้ทุกคน ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ได้ซับซ้อนมากไปกว่าบทแผ่เมตตาของชาวพุทธที่มุ่งให้ปฏิบัติและเรียนรู้อยู่เสมอว่ามนุษย์และสรรพสัตว์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขกัน หรือความมีตัวตนร่วมกับผู้อื่นที่ใหญ่กว่าตนเองและข้ามพ้นตนเองไปได้มากขึ้นเรื่อยๆนั้น เรียนรู้และสร้างให้เกิดขึ้นผ่านการมีประสบการณ์ต่อสังคมและผ่านปฏิบัติการเชิงสังคมได้

การได้เริ่มเห็นแง่มุมดังกล่าวนี้ ทำให้ผมให้ความสนใจกับการทำงานความรู้ที่มีบทบาทในการเชื่อมต่ออย่างมีความลงตัวให้กับ ‘ภาคปฏิบัติ’ กับ ‘ภาคทฤษฎี’ และ ‘การแปรแนวคิดทฤษฎี’ ให้สะท้อนไปสู่ ‘ภาคปฏิบัติ’ ซึ่งก็เป็นภาคขยายของคำว่า ‘บทเรียน’ และ ‘การเรียนรู้’ ที่ให้แง่มุมในการเชื่อมโยงชีวิตการงานเข้ากับประเด็นความเป็นส่วนรวม เห็นการพัฒนาวิถีปฏิบัติให้สะท้อนความมีจิตสาธารณะ รวมทั้งการค่อยๆก้าวเดินออกจาก ‘ความเป็นตัวกูของกู’ แผ่ขยายมิติสู่ ‘ความเป็นเรา’ ผ่านการรู้ร่วมทุกข์สุขกับผู้คนและสรรพสิ่ง ให้เพิ่มพูนความกว้างขวางและมีความสมดุลตามบริบทแห่งตนได้อยู่ตลอดไป 

ผมจึงเริ่มได้เห็นวิธีปฏิบัติสำหรับตนเองดังคำกล่าวของพุทธทาสภิกขุที่ให้ลองค้นพบดูว่า ‘การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม’นั้นว่าคืออะไรและเป็นอย่างไร ได้เห็นว่าการต่อสู้กับตนเองและขัดเกลาอัตตาตนเองให้เบาบางได้อย่างเป็นลำดับนั้นเป็นสิ่งเดียวกันของกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมร่วมกับคนอื่นได้ด้วยวิธีเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆในชีวิตให้แยบคายนั่นเอง

รวมทั้งเห็นความสอดคล้องกันของ ‘ความมีจิตสาธารณะ’ และ ‘ความเอาธุระต่อส่วนรวม’ ว่าเป็นปัจจุบันขณะและอาการเดียวกันของ ‘การรู้ละวางตัวตน’ อย่างยิ่งอยู่อย่างไร เห็นพัฒนาการและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปบนความเป็นและไม่เป็นทั้งสองอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสายธารและมรรควิถีแห่งชีวิต รวมทั้งเห็นบางมิติของ ‘ความรู้’ และ ‘บทเรียน’ ว่ายากที่จะสามารถเข้าถึงแก่นแท้ได้ผ่านการเรียนความรู้ที่ขาดองค์ประกอบด้านการปฏิบัติ โดยเฉพาะความรู้เชิงสังคมและความรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นของมนุษย์ในกลุ่มก้อนและชุมชนระดับต่างๆ

การแสดงโขนรามเกียรติ์ของแต่ละสังคมในอุษาคเนย์นั้นสามารถประดิษฐ์คิดค้นขึ้นอย่างงดงามอลังการด้วยการใช้รหัสนัยจากภูมิปัญญาอันลึกซึ้งของสังคมนั้นๆ ทว่า การสร้างมหากาพย์ภควัตคีตาและการสร้างตัวละครทั้งหลายในรามายนะให้ปรากฏบุคลิก กระทั่งเป็นตัวสร้างเรื่องราวที่สะท้อนความหลากหลายลำดับชั้นและสารพัดลักษณาการของอำนาจแห่งกิเลสและจิตใจมนุษย์ที่ขับเคลื่อนความเป็นจริงในสังคมของมวลมนุษย์ก่อนนำมาทำเป็นบทแสดงโขนไปตามแต่จะสร้างสรรค์ปรุงแต่งได้อีกหลายแนวนั้น ก่อเกิดขึ้นได้จากการมีประสบการณ์การเข้าถึงจิตวิญญาณของมนุษย์อย่างถ่องแท้เท่านั้น ในแง่มุมนี้ ภควัตคีตา จึงเป็นความหมายหนึ่งของวิธีบอกเล่าและนำเสนอบทเรียนจากการมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเป็นวัตถุดิบของประพันธกรในยุคสมัยหนึ่งนั่นเอง นี้เป็นการอุปมาให้เห็นถึงความแตกต่างกันของ ‘การมีความรู้’ กับ ‘การได้บทเรียน

หลังกรณีเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะทางด้านบทบาทของภาคความรู้ สื่อ พลังของปัจเจก ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม และต่อมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศปี ๒๕๔๐ ผมก็ได้มีโอกาสเดินออกไปทำงานกับเครือข่ายนักวิชาการแนวประชาสังคมและองค์กรภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวประเด็นส่วนรวมด้วยความสนใจอันหลากหลาย เพื่อหาบทเรียนและเสริมสร้างพลังของภาคประชาสังคมให้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการนำการเปลี่ยนแปลงสังคมที่หลากหลายออกไปจากกระแสหลักของการพัฒนา ทำให้ได้รู้จัก ‘การถอดบทเรียน’ ซึ่งเป็นวิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงประสบการณ์ที่มีต่อเรื่องต่างๆของปัจเจกและชุมชนออกมาวิเคราะห์และหาแนวทางปฏิบัติการเพื่อเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์โดยใช้บทเรียนและภูมิปัญญาที่มีอยู่มาเป็นเครื่องชี้นำการปฏิบัติ ถักทอเครือข่ายผู้คนให้ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน สานความแตกต่างหลากหลายให้เป็นสุขภาวะของความเป็นส่วนรวมที่ทุกคนไม่ต้องเหมือนกันไปหมดก็ได้

ในบริบทนี้ 'การถอดบทเรียน' จึงหมายถึงการนำเอาทุนประสบการณ์ทางการปฏิบัติ ทุนมนุษย์ ทุนศักยภาพ ทุนทางปัญญา ตลอดจนสิ่งที่ปัจเจกและชุมชนมีอยู่เป็นทุนเดิมซึ่งมั่นคงยั่งยืนกว่าทุนเงินตราและสิ่งอื่นตราบเท่าที่มีคนและมีพลเมืองประชากรอยู่ในสังคม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อก่อเกิดความมีเป้าหมายร่วมกันและสามารถเชื่อมโยงจุดหมายอันแตกต่างกันให้สามารถส่งเสริมและเกื้อหนุนกันได้อย่างไม่เป็นทางการ ดังนั้น ในอีกแง่หนึ่ง จึงมีความเป็นเครื่องมือและวิธีการทางความรู้เพื่อบริหารจัดการปัจจัยมนุษย์ ปัจจัยชุมชน ตลอดจนปัจจัยความเป็นประชาคมและประชาสังคม ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ทำประสบการณ์เพื่อแก้ปัญหาเชิงปฏิรูประบบต่างๆของสังคมไทย

เป็นต้นว่า จากการถือเอาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเงินตราเป็นตัวตั้งสู่การมุ่งให้การพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง จากการรวมศูนย์อำนาจและเน้นบทบาทที่ผูกติดอยู่กับภาครัฐสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเน้นชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น จากการมุ่งเน้นทุนทางวัตถุและเงินตราก็มุ่งเน้นคุณค่าทางจิตใจและทุนมนุษย์ จากการมุ่งใช้อำนาจและความรุนแรงเข้าแก้ปัญหาสู่การให้ความสำคัญต่ออำนาจของสติปัญญาความรู้  Soft Culture และคุณธรรมความเป็นพลเมือง มากขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

ใครดำเนินชีวิตและทำหน้าที่ต่อสังคมอยู่ตรงไหนก็สะท้อนสู่การปฏิบัติลงไปตรงนั้นตามกำลังและเหตุปัจจัยในชีวิตตน แต่ให้มีการเรียนรู้ที่จะสานความคิดและเชื่อมโยงการปฏิบัติเพื่อเป็นพลังเคลื่อนไหวสิ่งยากๆเปลี่ยนแปลงและสร้างสังคมให้ก่อเกิดภาวะอันพึงประสงค์ไปด้วยกัน ทำด้วยความมีจิตสาธารณะและด้วยจิตสำนึกพลเมืองที่จัดความสัมพันธ์กับความเป็นส่วนรวมของสังคมกันได้ด้วยการปฏิบัติ

จากที่กล่าวมาโดยลำดับนี้ ก็พอที่จะประมาณได้ว่า ‘การถอดบทเรียน’ นั้นมีความผสมผสานกันของการอิงอยู่กับการปฏิบัติกับการทำงานเชิงความรู้เพื่อสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกันในขอบเขตที่ซับซ้อนมากกว่าอดีตของสังคมภาคความรู้กับภาคประชาสังคม ซึ่งในอดีตมักจะมีช่องว่างและแยกส่วนกันมาก ดังนั้น จึงเป็นศัพท์ที่มีความหมายต่อการแสวงหาความพอดีที่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนก็พอจะเข้าถึงมิติความเป็นวิชาการที่นอกจากจะไม่มากเกินไปแล้ว ก็เป็นการยกระดับกิจกรรมเชิงสังคมให้เป็นกระบวนการเรียนรู้และการเคลื่อนไหวที่ใช้ความรู้อีกด้วย ขณะเดียวกัน ภาควิชาการและคนทำงานความรู้ที่ใส่ใจสังคมก็พอจะเข้าถึงความเป็นนักปฏิบัติและเคลื่อนไหวสังคมที่ไม่ใช่เป็นเพียงนักทำกิจกรรมให้เพียงผ่านไปเป็นครั้งคราเท่านั้นได้

จะเห็นได้ว่า ขณะที่วิถีความรู้ในกระแสหลักของสังคมโลกมักมุ่งได้เปรียบ แข่งขันทำลาย สร้างผลงานและผูกขาด พอกพูนตัวตนอันคับแคบไปในทางต่างเอาตัวรอดนั้น ‘การถอดบทเรียน’ กลับเป็นวิถีความรู้เพื่อการเดินเข้าหากัน มีที่ทางให้คนทำงานและชาวบ้านที่ทำมาหากินได้ใช้ชีวิตสร้างความรู้ขึ้นจากประสบการณ์และฐานชีวิต พร้อมกับที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นวิธีเปิดกว้างเพื่อส่งเสริมให้งานวิชาการและความรู้เชื่อมโยงกับสังคมผ่านการปฏิบัติ ในแง่ของการบริหารจัดการและการพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมือง ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยทำให้มิติการเรียนรู้สามารถเข้าไปผสมผสานอยู่ในกิจกรรมชีวิตทั้งระดับปัจเจกและในชุมชนระดับต่างๆได้ตลอดไป

การร่วมกันถอดบทเรียนในหัวข้อต่างๆ ของเครือข่ายบล๊อกเกอร์มือดีหลายคนใน GotoKnow นั้น จึงจัดว่าเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ของบทเรียนที่แต่เดิมมาจากต่างบริบท และต่างประเด็นความสนใจ ให้เกิดความมีบริบทร่วมกันขึ้นใหม่ในพื้นที่ของสังคมไซเบอร์ผ่านการถอดบทเรียน สร้างและเขียนความรู้ ตลอดจนผุดความคิดและนำเสนอทรรศนะวิพากษ์อันนำไปสู่การเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงให้กว้างขวางในสิ่งต่างๆร่วมกัน การถอดบทเรียนในครั้งนี้จึงเป็นการกำลังสร้างประสบการณ์อีกชุดหนึ่งต่างหากในบริบทใหม่ๆ โดยใช้ข้อมูลบันทึกประสบการณ์ของผู้อื่นเป็นวัตถุดิบตั้งต้น

อีกทั้งเริ่มจะเห็นภาพได้ว่าบทเรียนและงานเขียนที่ระดมเขียนแบ่งปันกันขึ้นนี้จะเป็นหนังสือรวบรวมความรู้เล่มแรกของ GotoKnow ที่สร้างเนื้อหาขึ้นโดยสังเคราะห์จากวัตถุดิบที่มีอยู่ในคลังความรู้และคลังบันทึกของ GotoKnow และโดยเครือข่ายของกลุ่มบล๊อกเกอร์ใน GotoKnow ซึ่งมาจากต่างสาขาประสบการณ์ ต่างวิชาชีพ ต่างเงื่อนไขแวดล้อมและต่างบริบทชีวิตกัน นับว่าเป็นการต่อยอดและยกระดับการพัฒนากิจกรรมขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งทางด้านความรู้กับวิธีสร้างความเคลื่อนไหวสังคมการเรียนรู้ผ่านเว๊บบล๊อกด้วยแนวทางใหม่ๆ.

หมายเลขบันทึก: 434377เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2011 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

เรียน อาจารย์ครับ

หนังสือเล่มนี้ ผมตั้งใจมากเเละ ผมขอใช้เวลาสักพักใหญ่ก่อนนะครับ ...ผมอ่านงานไปเรื่อยๆ กำลังขมวดประเด็นไปด้วยครับ :)

ขอบคุณดอกไม้จากพี่คิมและหนานเกียรติครับผม

ขอเชียร์คุณเอกจตุพร คุณมะปรางเปรี้ยว และทีมงาน GotoKnow ทุกท่านครับ
กิจกรรมนี้เป็นการ Facilitate กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะของสังคมแห่งการเรียนรู้อีกแนวหนึ่ง ที่เข้าท่าดีครับ 

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

ได้มาอ่านบันทึกนี้ของอาจารย์เหมือนได้เติมเต็มกำลังใจอีกครั้งค่ะ และประเด็นที่อาจารย์ได้กล่าวถึงในบันทึกนี้เป็นมุมมองที่ช่วยสะท้อนภาพของการมีใจแบ่งปันและช่วยเหลือเกื้อกูลกันของพ้องเพื่อนและพี่น้องใน GotoKnow

จริงๆ แล้ว กิจกรรมเล็กๆ ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ หนูก็แอบคิดจิตตกไปนิดนึงว่า ไม่รู้ว่าจะมีใครเข้าร่วมกิจกรรมบ้าง แต่พอได้คุยกับพี่เอกเกี่ยวกับกิจกรรมนี้ ก็เลยทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยก็น่าจะมีประโยชน์ในการทำให้สมาชิกใน GotoKnow ได้ฝึกฝนการสรุปประเด็น และได้เห็นประโยชน์ของการเขียนบล็อก ซึ่งสามารถเป็นแหล่งข้อมูลในการสกัดความรู้อย่างไรขอบเขต และก็ไม่ได้คาดหวังจำนวนผู้เข้าร่วมว่าจะมากขนาดนี้ เพราะเข้าใจบริบทของคนทำงานด้วยค่ะว่า บางท่านอาจจะไม่มีเวลามาร่วมจริงๆ หรืออาจจะยังรู้สึกเกร็งๆ กับการเข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ ซึ่งการจัดครั้งนี้คงจะเป็นการริเริ่มที่ดี ใจก็แอบหวังไว้อย่างนั้นค่ะ

แต่เมื่อถึงช่วงท้ายของกิจกรรม ได้เห็นบันทึกที่ทุกท่านแจ้งลิงก์มา โอ้โห...ทุกคนเต็มที่กับกิจกรรมนี้มากค่ะ หนูเลยดีใจเป็นพิเศษค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากๆ นะคะ ที่คอยติดตามกิจกรรมนี้ ^_^

 

 

สวัสดีครับมะปรางเปรี้ยวครับ
ขอดีใจด้วยครับ

 

เป็นบันทึกม้วนเดียวจบที่สะท้อนความเป็นนักคิดสร้างสรรค์

เป็นคนสามสมัยนิยมที่เข้าถึงจิตวิญญาณและการเรียนรู้ของมนุษย์

เป็นแบบเรียนปลายเปิดที่ให้โอกาสทุกคนที่ได้อ่านให้อดใจไม่ได้

ที่จะเผยความคิดที่มีในตัวตนออกมา เชื่อมโยงจนเกิดความเข้าใจ

ได้ถ่ายเทน้ำในแก้วออก และรับน้ำใหม่เติมลงไปแทนที่

อีกน้ำที่รินออกนั้นยังประโยชน์ให้กับสังคมแห่งการเรียนรู้

ขอบคุณมากๆค่ะ

ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ท่านถ่ายทอด...ออกมามีคุณค่าและงดงามเสมอ...

✿อุ้มบุญ✿ มาเรียนรู้การถอดบทเรียนเพิ่ม.........

สวัสดีค่ะอาจารย์

ได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการถอดบทเรียนมากมายเลยค่ะ

สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ

  • แนวนี้ หากเป็นเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีที่แล้วก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นแนวบูรณาการ ผสมผสานกันของวิธีการของ | แนวประสบการณ์นิยม ซึ่งเน้นการเป็นผู้ได้ลงมือกระทำ การยืนยัน และพิสูจน์ทางการปฏิบัติได้ | แนวพุทธิปัญญานิยม ซึ่งเน้นกระบวนการทางปัญญา การคิด ระบบวิธีคิด และความรู้ความเข้าใจ | แนวมนุษยนิยม ซึ่งเน้นความเป็นองค์รวมของมนุษย์ ความมีชีวิตจิตใจ สุนทรียภาพ การรู้สึก การรู้คิดและสนองตอบที่สื่อสะท้อนกันของภาวะด้านในกับโลกภายนอก
  • แต่เดี๋ยวนี้ก็อาจจะไปกันได้ดีกับแนวคิดของการถือเอาคน ความเป็นชุมชน ความเป็นชุมชนเรียนรู้ และการถือเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เลยก็เป็นแนวหนึ่งที่คงจะเหมาะกับคนทำงานในสาขาต่างๆที่มีการเรียนรู้ผสมผสานไปกับการปฏิบัติไปด้วยนะครับ
  • เป็นแนวที่มุ่งทำให้คนสร้างความรู้ หาความลุ่มลึกแยบคายจากการปฏิบัติ การใช้แรงงาน และการใช้แรงกายได้ ทำให้บุคลากรฝ่ายปฏิบัติการในองค์สมัยใหม่ สามารถเรียนรู้พัฒนาทั้งงานและความงอกงามภายในแก่ตนเองได้
  • ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้คนทำงานภาคความรู้และนักวิชาการ มีวิธีเปลี่ยนแปลงวิถีความรู้ กิจกรรมความรู้และเทคนิควิชาการ ให้เป็นปฏิบัติการเชิงสังคม สร้างพลังปฏิบัติของสังคมในขอบเขตต่างๆได้ มีวิธีเดินออกจากการใช้ความรู้เป็นศูนย์กลางไปสู่การสร้างความรู้เชื่อมโยงขึ้นจากการปฏิบัติและหาบทเรียนอันเป็นภูมิปัญญาปฏิบัติ เป็นความชาญฉลาดเฉพาะตนของสังคมที่หาความเป็นตัวของตัวเองได้ เครือข่ายผู้นำการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆก่อเกิดหลากหลายมากขึ้นจากระดับปฏิบัติการและมวลชนคนทำงาน ไม่ใช่ที่ยอดปิรามิดในโครงสร้างต่างๆของสังคมอย่างเดียวอย่างในยุคอดีต ก็ย่อมทำให้ระบบสังคมโดยรวมมีโอกาสดีขึ้น
  • ก็ว่าไปมากมายแหละครับ แต่เรื่องของเรื่องก็คือ เป็นการขอร่วมเป็นแรงเชียร์ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนบทเรียนด้วยกันน่ะครับ

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
คุณอุ้มบุญนี่ทุนประสบการณ์ โดยเฉพาะความลุ่มลึกจากการปฏิบัติ
และมีวิธีสื่อสารนำเสนอสิ่งที่ยากๆได้ มีอยู่ในตนเองมากเลยนะครับ
ได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางขึ้นเป็นอย่างดีแน่ๆเลยครับ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

หากให้ร่วมเป็นกระจกส่องสะท้อนคุณณัฐรดาให้นี่ ก็ต้องให้ข้อสังเกตตนเองว่า การออกแบบและจัดวางสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในแง่มุมที่เชื่อมโยงได้กับประเด็นทางสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ให้เกิดประเด็นการเรียนรู้ รวมทั้งเกิดหัวข้อในการประมวลประสบการณ์และความรู้อันหลากหลาย มานำเสนอเสียใหม่อย่างพอดีๆ ของคุณณัฐรดานั้น เยี่ยมยอดจริงๆครับ

การทำงานศิลปะของคุณณัฐรดานั้นมีหลายชั้นมากจริงๆ เป็นวิถีทำงานเพื่อเป็นสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ของคนที่เกี่ยวข้องที่ดีมากเลยครับ งอกและเดินได้จากจุดไหน ก็เข้าถึงที่จุดนั้นได้อย่างครบถ้วน จะดูเอาความสวยงามของรูปแบบทางศิลปะ ก็พาไปเข้าถึงได้อย่างการรู้จริง ทำได้ และไม่หน่ายที่จะถ่ายทอดให้ จะทำเพื่อเป็นวิธีเรียนรู้ตนเอง ก็ได้หยั่งความงดงามและสัมผัสความรื่นรมย์ได้ทั้งบนตัวอักษร ระหว่างบันทัด และระหว่างถ้อยคำ จะทำเพื่อพัฒนาความรอบรู้ สร้างความสำนึกร่วมต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนศาสตร์แขนงต่างที่เกี่ยวข้องและจัดวางตนเองให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ก็กลมกลืนและสอดคล้องกับความเป็นจริงที่สัมผัสได้จากสิ่งที่ทำในมือเล็กๆ

การทำให้เป็นการปฏิบัติธรรมและการผสมผสานการเรียนรู้ทางสังคมกับเรื่องราวต่างๆเพื่อชีวิตที่รอบรู้และกว้างขวางด้วยความมีประสบการณ์ที่ดี เข้าสู่การวาดภาพและงานสร้างสรรค์ทางศิลปะประดิษฐ์ รวมทั้งการค่อยๆทำอย่างสะสมและเชื่อมโยงให้ส่งเสริมเกื้อหนุนกันไปหมดได้ในมิติต่างๆของชีวิตกับการบริการสังคม เป็นความโดดเด่นในบันทึกของคุณณัฐรดามากจริงๆเลยละครับ

*พี่ใหญ่มาขอบคุณที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการถอดบทเรียนในกิจกรรมครั้งนี้ บนบล็อก "ดังลมหายใจ"ที่มีคุณค่าต่อสถาบันครอบครัวและชุมชนในบริบทที่น่าสนใจ สมควรรักษาและพัฒนาต่อยอดขึ้นไปเป็นรากฐานของประเทศค่ะ..

*ข้อเขียนในบันทึกนี้อีกเช่นกันที่ชวนให้รำลึกถึงเมื่อครั้งที่ได้เรียนวิชา Sociology & Antropology ในชั้นปริญญาตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย อาจารย์หลายท่านพาชวนถอดบทเรียนจากชีวิตจริงของครอบครัวและสังคมของชนเผ่าพันธ์หลายยุค..หลายอารยธรรม..หลายดินแดน..ที่เป็นรากฐานของความเป็นปัจจุบัน..เป็นวิชาที่พี่ชอบมากๆค่ะ..

*น้องมะปราง ชวนมาถอดบทเรียนทาง on-line เช่นนี้ ..ต้องขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกทุกกลุ่มด้วยค่ะ..

  • ตามพี่ใหญ่มา
  • ได้เรียนรู้ครบในหลายๆศาสตร์
  • ต้องขอบคุณอาจารย์และทีมงานมากๆครับ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

พอรู้ปูมความสนใจที่มีมาแต่นานนม เลยอดไม่ได้ที่จะต้องนำหนังสือนี้มาอวดพี่ใหญ่สักหน่อยนะครับ อันเนื่องมาจากก็เป็นหนังสือที่ไปได้มาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ สำนักของพี่ใหญ่ และแนวหนังสือ ก็เป็นหนังสือแนว Autoethnograph หรือ อัตมานุษยวิทยา ซึ่งจะเรียกว่า 'การถอดบทเรียนชีวิต' ที่นำมาใช้ในงานวิจัยทางมานุษยวิทยาก็คงจะได้

         

คนสองโลก : วิถีอเมริกัน-ไทย โดย ศาสตราจารย์วรรณี วิบูลสวัสดิ์ แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา และนักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

                         

โครงเรื่องอย่างนี้หากเป็นแนวการวิเคราะห์และศึกษาเชิงปรากฏการณ์ ก็จะเห็นฉากและท้องเรื่องหรือบริบทของชีวิตที่สำคัญ ๔ บริบท คือ พื้นฐานจากสังคมไทย (แทนด้วยสายฝนและดวงจันทร์), พื้นฐานของสังคมอเมริกัน (แทนด้วยหิมะ), เส้นทางชีวิตที่ผสมผสานกันสองวัฒนธรรม, และสุดท้ายจัดวางตำแหน่งแห่งหนความเป็นเฉพาะตนและกาลเทศะแห่งตนของพลเมืองสองโลกที่ขมวดลง In Two Worlds

บทเรียนในส่วนหลังนี้ ชีวิตบุคคลก็จะมีฐานะเป็นเพียงตัวเดินเรื่อง นำเสนอปรากฏการณ์และสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเข้าถึงชีวิตจิตใจของคนสองวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอีกแนวโน้มหนึ่งของสังคมโลกในการเกิดกลุ่มวัฒนธรรมย่อยและการผสมผสานทางสังคมวัฒนธรรม

                        

                        

การเล่าเรื่องและนำเสนอสิ่งต่างๆในรูปของการบอกเล่าปรากฏการณ์และสถานการณ์นั้น เป็นการให้ข้อมูลทั้งจากตัวบทและบริบทของเรื่อง รวมทั้งการจัดวางองค์ประกอบต่างๆเพื่อจูงมือผู้อ่านให้เข้าไปสู่ปรากฏการณ์และสถานการณ์ดังกล่าวนั้นด้วยตนเองให้ได้อย่างดีที่สุด บริบทแวดล้อมต่างๆ สถานการณ์ที่นำเสนอและถ่ายทอด รวมทั้งการอ้างอิงและเชื่อมโยงกันภายในเนื้อหาการเล่าต่างๆ จะช่วยกันทำให้ผู้อ่านและผู้ศึกษางานอย่างนี้สามารถเข้าถึงความเป็นชีวิตจิตใจของสิ่งที่ถูกนำเสนอได้เป็นอย่างดี มากกว่าที่ปรากฏด้วยตัวหนังสือ งานแนวนี้จึงมีคุณูปการต่อการสร้างความรู้เพื่อความเข้าใจสิ่งต่างๆด้วยหัวใจและด้วยบริบทของสิ่งนั้นๆ

                         

ในส่วนที่พี่ใหญ่และเครือข่ายการถอดบทเรียนจะต่อยอดงานในแนวนี้นั้น ในทรรศนะผม ก็จะมองว่างานแนวมานุษยวิทยานั้น โดยมากแล้วก็จะมุ่งสร้างพลังแห่งความเข้าใจ รวมทั้งสร้างทรรศนะเชิงทฤษฎีพื้นฐานจากจุดยืนของผู้กระทำหรือจากผู้ปฏิบัติและผู้สร้างปรากฏการณ์ มีความเข้มแข็งในการอธิบายและแสดงความเข้าใจปรากฏการณ์

แต่ที่ยังมีคนสนใจทำน้อยมากก็คือการนำไปสู่การปฏิบัติการเชิงสังคมด้วย รวมทั้งการพัฒนาเป็นเครื่องมือความรู้เพื่อเคลื่อนไหวทางสังคมในหน่วยเล็กๆ เช่นในชุมชนและกลุ่มผู้ปฏิบัติ แง่มุมนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ทำงานความรู้ในสังคมไทยมากอย่างยิ่งครับ.

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
อย่างท่านอาจารย์ขจิตและหลายท่านใน GotoKnow นี้
ก็เป็นก้อนประสบการณ์ที่น่าถอดบทเรียนชีวิตในแนวนี้มากเลยครับ
อาจารย์ต้องแวะมากินข้าวที่พุทธมณฑลเป็นระยะๆนะครับ

หากจะว่าไปแล้ว..การเรียนรู้บริบทของชีวิตผ่านการถ่ายทอดทางภาษา.. เป็นความตื่นเต้นและน่าสนใจนัก

ได้มองเห็นโลกกว้างขึ้น จากประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนและสิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ องค์ความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในบันทึกอย่างกลมกลืน

 

ผมเสียดายที่มีช่วงเวลาการใช้พื้นที่นี้น้อยไปสักหน่อย

แต่ผมก็มีโอกาสดีกว่า หลาย ๆ คน ที่ขาดโอกาสสัมผัส พื้นที่ที่..โอบล้อมด้วย..มุมมองของชีวิต โลกทัศน์ ฯลฯ

 

อาจารย์ครับ..

 

…จิตวิญญาณของบันทึก ซึมซับความคิดของคนได้จริง นะครับ...

 

สวัสดครับคุณแสงแห่งความดีครับ

สนับสนุนการสะท้อนทรรศนะของคุณแสงแห่งความดีด้วยคนนะครับ มองในแง่หนึ่ง การเป็นเวทีรองรับการบันทึก ถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนแบ่งปันทรรศนะและความรู้ความเข้าใจ รวมไปจนถึงการช่วยกันขันอาสา เก็บบันทึกรวบรวมสิ่งต่างๆไว้ในเว๊บบล๊อก ที่รองรับการเข้ามาคิดเขียนด้วยตนเอง ของคนจำนวนหนึ่งที่ได้เห็นอยู่ ณ เวลานี้ ก็ทำให้ผมนึกถึงการเข้ามาของ 'คาราโอเกะ' เลยละครับ

ผมเป็นคนชอบเล่นดนตรี ชอบฟังคนร้องเพลงและชอบดูศิลปะการแสดงออกของคนทางด้านดนตรี การร้องเพลง แต่เมื่อกอ่นนี้ ก่อนมีคาราโอเกะนั้น ผมว่าคนส่วนใหญ่รสนิยมและทักษะในการแสดงออกทางดนตรีกับการร้องเพลงไม่ค่อยดี เวลาผมเล่นกีตาร์หรือเล่นดนตรีให้คนร้องเพลง ในกลุ่มต่างๆสักร้อยคนนั้น ก็จะมีคนที่เป็นเพลงที่พอฟังแล้วเข้าท่าได้นั้นอยู่ไม่กี่คน ทว่า หลังยุคคาราโอเกะแล้ว ทุกอย่างแทบจะกลับกลายเป็นในตรงกันข้าม คือ ในร้อยคนนั้น จะมีคนเพียงสองสามคนเท่านั้นที่ร้องเพลงไม่ได้หรือร้องแล้วฟังไม่เพลิน ให้สรุปบทเรียนในเรื่องนี้ก็คือ คาราโอเกะทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมทุกรุ่นทุกวัยร้องเพลงและแสดงออกทางดนตรีด้วยตนเองได้ดีขึ้น

เมื่อมองอย่างนี้แล้ว ผมก็กำลังเห็นในลักษณะเดียวกันว่า GotoKnow กำลังทำให้ในสังคมไทย สามารถสร้างคนให้มีเวทีพัฒนาการเขียน ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์การทำงาน อ่าน และรักสังคมแห่งความรู้ สังคมแห่งการเรียนรู้ ในระยะใน ๔-๕ ปีที่ผ่านมานี้ อย่างน้อยก็หลายหมื่นหลายแสนคน นี้ไม่นับสำหรับคนที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากการอ่านและดูความเคลื่อนไหวของโลกรอบข้างผ่านการอ่านและสื่อสารกันผ่านงานความรู้และสื่อบันทึก ซึ่งเป็นจำนวนนับล้านคลิ๊กเลยทีเดียว ก็ไม่เบาเลยนะครับ

เห็นแนวโน้มที่เป็นผลกระทบและผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนและแน่นอนเลยละครับว่า GotoKnow สร้างสังคมแห่งการอ่านและเขียน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เข้มแข็ง ให้เกิดเพิ่มมากขึ้นเหมือนคาราโอเกะทำให้คนจำนวนมากร้องเพลงและแสดงออกต่อที่สาธารณะได้ดีขึ้นอย่างนั้นเลย

เลยขอเสริมพลังใจและสนับสนุนทรรศนะของคุณแสงแห่งความดีด้วยอย่างสิ้นเชิงครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาอ่านเรื่องราวอีกครั้งค่ะ จึงได้เห็นความเห็นที่อาจารย์กรุณาเป็น "กระจก" สะท้อนภาพรวมของงานเขียนให้ ประทับมากค่ะ เพราะไม่เคยหยิบงานตัวเองมาพิจารณาอย่างนี้มาก่อน

เพราะเพียงยึดหลักในการเขียนว่า ทำงานอย่างไรจึงจะทำให้งานเขียนพอมีสาระบ้าง และทำอย่างไร ผู้อ่านจึงเพลิดเพลินไปไปกับสิ่งที่เสนอ อันทำให้ค่อยๆรับแนวความคิดที่เสนอในงานเขียนไปพิจารณาทีละน้อย ทีละน้อย .... เท่านั้น

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ (ขออนุญาตลอกไปเก็บไว้ในอนุทินนะคะ เพื่อเก็บไว้เตือนตนต่อไปค่ะ)

บันทึกลงอนุทินไม่ได้ค่ะ ความยาวเกิน 1,000 ตัวอักษร ขอเก็บไว้ในเครื่องแทนนะคะ

มีอีกแง่มุมหนึ่งที่สัมผัสได้แต่แสดงให้เห็นได้ยากเพราะต้องอาศัยประสบการณ์ภายในของคนที่ได้อ่านและชมเข้าช่วยด้วย แนวการบันทึกถ่ายทอดของคุณณัฐรดาเหมือนเป็นกระบวนการทำงานความคิด ไหลตัวหนังสือที่ผสมผสานกันทั้งด้านความเชื่อมโยงกับวาระของสังคมกับกระบวนการคิดใคร่ครวญในใจ ไม่ใช่เป็นการ Reaction ไปตามเรื่องราวสภาพแวดล้อมแต่ก็ไม่ใช่คิดเบ็ดเสร็จออกจากตนเอง แต่ผสมกลมกลืนไปด้วยกัน หากเรียกแบบภาษาศิลปะ ก็จะเรียกว่าเป็นงานแบบ Reflection คือมีวาระเชื่อมโยงกับโลกรอบข้าง ทว่า สะท้อนความเป็นชีวิตจิตใจตนเอง สามารถทำเรื่องเดียวกันอย่างที่คนอื่นก็อาจทำได้ แต่อาจจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถสื่อสะท้อนความมีจิตวิญญาณและพลังจิตใจได้เหมือนอย่างที่คุณณัฐรดาทำ

ในวิธีทำความคิดแบบโยนิโสมนสิการ ก็มีหมวดของงานความคิดอย่างนี้ว่า วิภัชวาทธรรม ซึ่งเป็นการพูด เขียน กระทำส่งออกให้เห็นและสัมผัสได้จากภายนอก แต่มุ่งกระบวนการกล่อมเกลาระบบคิดและความละเอียดอ่อนภายใน เป็นภาวะที่เจริญภาวนาไว้ใช้ทำงานให้มีพลังได้ดีมากอย่างยิ่งครับ

*ขอบคุณมากค่ะที่แนะนำหนังสือ In The Two Worlds ของ Prof.Dr.Wanni W. Anderson..ที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้จากฐานครอบครัว วิถี ไทย-อเมริกัน ในแนวสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตลอดจนประสบการณ์ชีวิตน่าสนใจที่ Arctic Circle ..

 

*พี่ใหญ่ยังได้มีโอกาสรับรู้ความเป็นไปในเบื้องลึกของบุคคลในครอบครัว "วิบูลย์สวัสดิ์" ที่พี่ใหญ่คุ้นเคยมาเป็นอย่างดี คือน้องชาย-น้องสะไภ้ คนเล็กของผู้เขียน .. ดร.ชัยวัฒน์-คุณกุ้ง วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้เป็นมิตรแท้อีกคนหนึ่งตั้งแต่ที่ร่วมงานกันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเวลาหลายสิบปี จนถึงปัจจุบัน..อีกทั้งได้มีโอกาสเห็นการเติบโคของหลานๆ น้องเกต-น้องแก้ว ..จนได้ไปร่วมแสดงความยินดีในงานแต่งงานอีกด้วย..ส่วน ดร.ปรีดา น้องชายอีกคนหนึ่งนั้น เป็นเพื่อนนักเรียนอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน รุ่นเดียวกับ คุณประทีบ สามีของพี่ใหญ่ ซึ่งครอบครัวของเราได้พบปะสังสันต์กันบ่อยๆในช่วงที่เพิ่งเรียนจบกลับมา..

 

     

 

*ที่น่าดีใจอีกเป็นทวีคูณ ที่ได้อ่านเรื่องเล่าถึง เพื่อนรักของผู้เขียน คือ ดร.วิภาวรรณ ตุลยานนท์ ..คนยืนที่ ๖ (ประจำภาควิชารัฐศาสตร์การทูต) และ ดร.อานันท์ชนก พานิชพัฒน์..คนยืนที่ ๒ (ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ) ผู้เป็นคณาจารย์ที่รักเคารพของพี่ใหญ่เมื่อครั้งเรียนที่จุฬาฯ..

*พี่ใหญ่อ่านอยู่ครึ่งค่อนวันจนจบ..แบบวางไม่ลง..เพราะวิธีเล่าและเนื้อหา เป็นแนวที่ชอบมากอยู่แล้ว อีกทั้งอาจเป็นเพราะเราอยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน..พื้นฐานครอบครัวคล้ายกัน..มีสปิริตในความเป็น "พี่หัวปี " ที่แบกความหวังและความรับผิดชอบของครอบครัวเหมือนๆกัน..มุมมองของการใช้ชีวิตหลายๆอย่างสอดคล้องกัน..บูชาพ่อ-แม่ และบรรพชน ด้วยหัวใจรักกตัญญู..แถมยังเป็นหัวหลักในการทำหนังสืออนุสรณ์ของผู้วายชนม์อีกด้วย..

*ดีใจแทนผู้เขียนด้วยค่ะที่ หนังสือนี้ได้รับเลือกมาฝากไว้ที่นี่เพื่อพี่ใหญ่จะได้มีโอกาสซึมซับเรื่องราวดีๆเช่นนี้..

ตื่นเต้นและประทับใจมากเลยครับพี่ใหญ่ครับ

มาครั้งไรก็เต็มอิ่มกับความรู้ที่มีชีวิตชีวาและในขณะเดียวกันก็เป็นหลักวิชาการที่อ่านแล้วลื่นไหลค่ะ ขอบคุณค่ะ

การถอดบทเรียน หรือ การให้ความสำคัญกับ บทเรียน จากการทำงาน ประสบการณ์ชีวิตเป็นส่งที่จะช่วยให้คนทำงานได้หาเวลา ใช้เวลาที่จะน้อมใคร่ครวญสิ่งที่ผ่านเข้ามาอย่างมีความหมาย เป็นการขัดเกลาตนเองอีกวิธี และยังสามารถแบ่งปันได้ด้วยนะคะ

สวัสดีครับดร.ยุวนุชครับ
การ 'น้อมใคร่ครวญสิ่งที่ผ่านเข้ามาอย่างมีความหมาย ทั้งต่อการขัดเกลาตนเอง พร้อมไปกับสามารถแบ่งปันกันได้ด้วย' นี่ ชัดเจน สื่ออารมณ์ และสะท้อนจิตวิญญาณความเป็นการถอดบทเรียนอย่างยิ่งเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท