มหาวิทยาลัยห้องแถว และดอกเตอร์กล้วย - ข่าวฝากจาก "มติชน"


มหาวิทยาลัยห้องแถวถูกขนานนามเพราะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งขายใบปริญญาเอก และดอกเตอร์กล้วยที่ รมช.กระทรวงศึกษาธิการเคยให้ความหมายไว้ว่า คือดอกเตอร์ที่ทำงานวิจัยครั้งเดียว คือวิทยานิพนธ์ ดังพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นกล้วย..

หลายวันนี้ไม่รู้เป็นยังไง เหลียวซ้ายแลขวา เปิดทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ เป็นต้องเห็นเรื่องปัญหาในอุดมศึกษาทุกที..  ไหนๆ ก็อยู่ในบรรยากาศนี้แล้ว เอามาฝากอีกเรื่องหนึ่งค่ะ ให้เป็นความรู้นะคะ (ย้ำค่ะย้ำ : )  ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม)  เผื่อใครแก้ได้หรือทักท้วงได้ทัน จะได้ดำเนินการแก้ไขกันได้ทันท่วงทีค่ะ 

เชิญอ่านฉบับเต็มเรื่อง มหาวิทยาลัยห้องแถว และดอกเตอร์กล้วย กับทักษิโณมิกส์ในมหาวิทยาลัย  โดยการคลิกลิงค์ชื่อเรื่องได้เลยค่ะ

เรื่องนี้เขียนโดยคุณ ฉันธะ จันทะเสนา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ นะคะ โดยดิฉันขอคัดข้อความบางส่วนเพื่อความสะดวกในการอ่านมาในที่นี้ค่ะ

"...ลักษณะสำคัญของแนวคิดหรือการกระทำแบบทักษิโณมิกส์อย่างหนึ่งคือ ผู้มีอำนาจออกกฎหมายกฎระเบียบ หรือข้อบังคับ เพื่อให้ตนเองและพวกพ้องได้รับผลประโยชน์ ในขณะนี้ มหาวิทยาลัยห้องแถวถูกขนานนามเพราะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งขายใบปริญญาเอก และดอกเตอร์กล้วยที่ รมช.กระทรวงศึกษาธิการเคยให้ความหมายไว้ว่า คือดอกเตอร์ที่ทำงานวิจัยครั้งเดียว คือวิทยานิพนธ์ ดังพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นกล้วยที่ออกดอกผลไม่กี่ครั้ง แล้วรอวันเฉาตาย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทย..."ฃ

.....

"...โครงการดอกเตอร์กล้วยจะรับผู้เข้าเรียน 40-50 คน รับจากผู้สมัครทั้งหมด ไม่จำกัดจำนวน โดยนิยมไปจ้างศาสตราจารย์เกษียณ หรือใกล้เกษียณ จากมหาวิทยาลัย ย่านบางกะปิ หัวหมาก เมืองทอง หรือสามย่าน และบ้างก็มาจากท่าพระจันทร์ ให้มาเป็นประธานหลักสูตร

อาจารย์พิเศษก็มาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว (จะไม่มีคุณภาพได้อย่างไร) ค่าจ้างสอนงดงาม โดยเป็นหลักสูตรทางสังคมศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ค่าเล่าเรียนแพงมากๆ เหนือเหตุผล และมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาวิทยาลัยนิพนธ์เพียง 4-5 คนเท่านั้น...."

......

"...สภามหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกระเบียบนี้ มาอย่างถูกกฎหมาย แต่มีความถูกต้องหรือมีความเป็นธรรมกับสังคมหรือไม่? (ถ้าเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้ หลักการคล้ายๆ กันนี้ จะออกมาอีกมาก)

และมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเหล่านี้เข้ารับการศึกษาจากหลักสูตรนี้ด้วย โดยไม่ได้เรียนฟรีทั้งๆ ที่โครงการศึกษาเหล่านี้เป็นของมหาวิทยาลัยนั้นๆ โดยมหาวิทยาลัยให้ทุนสนับสนุนทุกคน ผู้บริหารเป็นผู้อนุมัติให้ทุน ที่ฟังดูเผินๆ เหมือนจะดี แต่อย่าลืมว่าค่าเรียนนี้กลับคืนรัฐ 30% เท่านั้นที่เหลือ 70% เป็นค่าสอนค่าบริหารจัดการ และคณาจารย์ที่เรียนเหล่านั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียน หรือวิจัยตรงสาขาของตน ค่าเรียนแพงอย่างไม่มีเหตุผลประมาณหลักสูตรละ 5-7 แสนบาทต่อคนหรือประมาณเทอมละ 6-7 หมื่นบาท ใครๆ ที่เข้าไปข้องแวะด้วยก็ติดใจ ทั้งผู้สอนจากมหาวิทยาลัยดัง หรือผู้บริหาร จึงมีความพยายามเปิดหลักสูตรอื่นๆ อีก...."

อย่างที่บอกนะคะ เรารู้กันแหละค่ะว่าแบบนี้คงไม่เรียกว่าการศึกษา ทำแล้วมีแต่ผลเสียกับสังคมทั้งในระยะสั้นและยาว 

ดิฉันนำเรื่องนี้มาฝากเพื่อให้ได้รับทราบ เราจะได้รู้ทันไม่ตกเป็นเครื่องมือ (สำหรับพวกอาจารย์) หรือตกเป็นเหยื่อ (สำหรับคนที่มาเรียน) กับโครงการแบบนี้...

หมายเลขบันทึก: 96078เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2007 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)
  • คนที่ต้องการใบปริญญาเอก ต่างก็หาเหตุผลที่ดีให้กับตัวเองทั้งนั้น เมื่อต้องการมากก็ต้องหาวิธีที่จะได้มา จะด้วยวิธีใดก็ไม่เกี่ยง
  • ป้าเจี๊ยบพบเจอทั้งดอกเตอร์ห้องแถว แต่ไม่ได้ทำตัวเป็นกล้วย (ดังคำอุปมา) ขณะเดียวกันเจอดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ทำตัวเป็นกล้วย
  • ค่านิยมเรื่องใบปริญญามีรากลึกมากในสังคมไทย  เราให้คุณค่ากับใบกระดาษปริญญามากกว่าความรู้และประสบการณ์กันเองนี่คะ

จริงค่ะอาจารย์ ป้าเจี๊ยบ เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะค่านิยมของสังคมที่ไม่ดูผลงาน ไม่ดูนิสัย ไม่ดูความเป็นคนของเขา แต่ดูว่าเขาใส่หน้ากากอะไรบ้าง...

ดร.กล้วยที่ดีๆ ก็คงมีบ้างแหละค่ะ ตามหลักของสถิติ ไม่มีอะไร perfect สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในหมู่ดร.กล้วย จะต้องมีดร.กล้วยพันธ์ดีอยู่บ้าง แล้วก็อย่างที่ ป้าเจี๊ยบ บอกไว้ว่ามี "เจอดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ทำตัวเป็นกล้วย" อันนี้ขอยืนยันว่ามีมากเหมือนกัน..

ที่แย่ก็คือคนที่ใช้ระบบการสร้างดร.กล้วยเป็นช่องทางหาเงิน โดยไม่ใส่ใจคุณภาพ และพวกดร.กล้วย บางคนที่อาจไปสร้างความเสียหายโดยใช้ความเป็น ดร. เป็นใบเบิกทาง...แถวที่ทำงานดิฉันมีเยอะพอควร...

ก็เป็นเรื่องนำมาฝากไว้เตือนๆ กันน่ะค่ะ...ตราบใดที่แก้ค่านิยมไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ก็คงมีมาให้เห็นอยู่เสมอค่ะ...

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามา ลปรร นะคะ

 

ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจทีเดียวครับ ผมเองก็อยู่ในแวดวงการศึกษา สอนอยู่ที่สวนดุสิตครับ เช่นกัน แต่ไม่เคยใส่ใจที่จะรู้ข้อมูลเหล่านี้มาก่อน ได้อ่านข่าวจากมติชนแล้วใจหายเหมือนกันครับ แต่จะจริงเท็จแค่ไหนนั้น ผมเองก็ไม่ทราบครับ เพราะยังไม่เคยเรียนดอกเตอร์กับเขาเสียทีน่ะครับ ได้แต่พยายามหาทางเรียนอยู่ ตอนนี้ก็เลยต้องคิดใหม่ทำใหม่เสียแล้วล่ะครับ

ต้องขอบคุณท่านอาจารย์ฉันธะ จันทะเสนา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ที่สะท้อนมุมหนึ่งของระบบการศึกษาไทย ระดับอุดมศึกษา

แต่ผมอ่านแล้วทำไม ท่านยกตัวอย่าง แต่ วิศวกร

วรรค

แต่ในทางกลับกัน ถ้าดอกเตอร์กล้วยต้องไปเป็นครูบาอาจารย์ เป็นวิศวกรสังคม ในสถาบันการศึกษาทำให้น่าเป็นห่วงว่าจะทำให้ระบบการศึกษาไทยเป็นแบบกล้วยๆ สร้างระบบสังคมกลวงโบ๋และอาจล้มครืนเข้าสักวัน ด้วยบัณฑิตไม่ใฝ่รู้ ไม่สู้สิ่งยาก ที่จะสืบค้น ศึกษาหาความรู้ความจริง

สวัสดีค่ะ อาจารย์ จิระ จิตสุภา
เมื่อ พฤ. 17 พฤษภาคม 2550 @ 08:17 จาก 202.183.233.12

เรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องจริงค่ะ เพราะตัวเองก็เคยเห็นโครงการประเภทนี้ลงหนังสือพิมพ์หาคนเรียนมาแล้ว...  ดิฉันว่าถ้าอาจารย์อยากจะเรียน สามารถดูได้ไม่ยากค่ะว่าเป็นแบบห้องแถวหรือไม่ ลองดูจากคนที่เรียนจบแล้วหรือกำลังเรียนอยู่ก็ได้ค่ะ ว่าเขามีความเห็นกันอย่างไร น่าจะพอดูได้

ดิฉันบอกได้ว่าการเรียนป.เอก จริงๆ แล้วไม่ได้ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น เพราะเราเรียนเรื่องที่เล็กลงแบบเจาะลึกในเรื่องหนึ่งเรื่องใดมากกว่า แต่ที่เราควรได้คือความลึกซึ้ง ความเข้าใจ การวิเคราะห์ปัญหา การแก้ไขปัญหาต่างๆ ค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร นะคะ..

สวัสดีค่ะ คุณกัมปนาท อาชา (แจ๊ค)

ดิฉันคิดว่าท่านหมายถึง"วิศวกรสังคม" เช่น การเรียนรัฐศาสตร์ก็สามารถไป engineer เปลี่ยนแปลงสังคมได้ จากการที่คนจบ ดร. ไปอยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆ ที่ผลการทำงานของเขา จะสามารถส่งผลถึงสังคมส่วนรวมได้ค่ะ 

เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่มีแต่หน้ากากค่ะ แต่งตัวสวย แต่ข้างในอาจจะแย่ คนบางคนไม่ใช่พวกกลวงโบ๋ แต่เป็นพวกมีความรู้ เข้าใจค้น รู้จักสู้สิ่งยาก แต่ไม่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ... พวกนี้แย่กว่าพวกกลวงโบ๋ค้นไม่เป็นเยอะค่ะ...  การสอนคุณธรรม จริยธรรม และตัวอย่างดีๆ มันน้อยลง หรืออย่างไรไม่ทราบค่ะ..

ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร นะคะ

ประเด็นนี้...หากเราถอยออกมาจากสมรภูมิรบ...เราจะเห็นภาพรวม...เห็นความเชื่อมโยงที่ซ่อนเร้นอยู่...แล้วจะเข้าใจ...ไม่เป็นทุกข์...ไม่คอยจับผิดคนโน้นคนนี้...จนไม่มีเวลาพัฒนาตัวเอง...ผลก็คือคนที่มองหาแต่สิ่งที่เลวร้าย (ความผิดของคนอื่น)...ชีวิตก็จะพบเจอแต่สิ่งที่เลวร้าย...

นี่ไม่ใช่ไสยศาสร์นะครับ...แต่เป็นวิทยาศาสตร์แบบควอนตัมเชียวนะ..."สสารจะแสดงสถานะตามที่ผู้สังเกตต้องการสังเกต"...หวังว่าคงจำเขามาถูกนะ...ผมจัดอยู่ในพวก "ดอกเตอร์กล้วยด้วยสิ"..ผมชอบมากเลยคำนี้...

เอาหละ...สิ่งที่ผมมองเห็นจากผู้ถอยออกมาอยู่ในระยะสูงเป็นอย่างไร...จะลองขยายความดูนะครับ...

อย่าปฏิเสธเลย...คนที่เป็นอาจารย์...ก็เหมือนกับคนที่กำลังขายสินค้าเพื่อเลี้ยงชีพนั่นแหละ...ไอ้ความโก้หรูที่ที่ยึดติดกันนั้นหนะ...มันเป็นแค่วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากโครงสร้างของสังคม...

แรงไปหรือเปล่าครับ...ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นครูบาอาจารย์นะครับ...เพราะครูจริง ๆ ผมก็ไม่เคยหวังจะให้ครูออกปริญญาให้...ครูไม่เกี่ยวกับปริญญา...คุณจ่ายเงิน...มหาวิทยาลัยค้าขายปริญญามันก็ไม่เห็นแปลก...อาจารย์ท่านเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย...อย่าไปคาดหวังอะไรจากท่านเลย...ท่านก็เป็นคนธรรมดา...ต้องทำมาหากิน...เลี้ยงครอบครัว...

ส่วนเรื่องที่เดี๋ยวนี้มักจะมีข่าวออกมาโจมตีกันเป็นระยะว่า...ที่นี่เจ๋ง...นี่โน่นปลอม...ออกมาจากบรรดาท่านที่เรียกตัวเองว่าอาจารย์บ้าง...นักวิชาการบ้าง...ผมเห็นว่ามันเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของการแสดงความรู้สึกออกมา...แบบรู้ตัวบ้าง...ไม่รู้ตัวบ้าง...ว่าการกระทำแบบนั้นเป็นการทำการตลาดแบบโบราณมาก...ที่ในวงการเซลล์แมนตัวจริงเขาเลิกใช้แล้ว...เป็นธรรมดาครับ...เซลล์แมนมือใหม่มักจะหงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย...ผมก็เคยเป็นสมัยผมไปหัดขายของ...ขายจริง ๆ นะครับไม่ใช่ไปสอนหนังสือ...กว่าจะทำใจได้...เอาเป็นว่ากว่าจะเป็นผู้ใหญ่ทางอารมณ์ในอาชีพเซลล์แมน...ก็ปาเข้าไปเป็นปีแหนะ...

เอาเป็นว่าการโจมตีกัน...การจับผิดกัน...เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของตลาดที่เริ่มมีการแข่งขันครับ...อาชีพสอนหนังสืออาจจะคุ้นเคยกับความมั่นคงปลอดภัยไร้คู่แข่ง...แต่พอตลาดจะเปิด...ก็เป็นธรรมดาที่คนอยู่ในตลาดเดิมจะ "ร้องแรกแหกกระเชอ" เป็นธรรมดา...ผมไม่หงุดหงิดเลยกับปรากฏการณ์เหล่านี้ครับ...การมาสร้าง "นิยามใหม่ ๆ" ของคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาด...เป็นเพียงความพยายามรักษาตลาดของตนไว้...มันก็เท่านั้นเองครับ...

ในโลกการขายจริง ๆ นะครับ...หากท่านขืนทำแบบนี้ต่อไป...ท่านจะหลุดจากธุรกิจครับ...

ผมไม่ติดใจนะกับคำว่า "ธรุกิจการศึกษา"  ผมว่ามันเป็นคำที่ดีนะ...สำหรับผมมันสื่อว่า...เราต้องพัฒนาตัวเอง...เราต้องแข่งขัน...มันไม่ได้สื่อถึง "กำไร" เลย...เพราะธุรกิจสมัยใหม่เขาสอนกันว่า..."คุณจะประสบความสำเร็จได้เมื่อคุณช่วยให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ"...เขาไม่ได้สอนเรื่องกำไรสูงสุดเลย...คงมีแต่มหาวิทยาลัยแบบโบราณละมั้งที่สอนเรื่องกำไรสุงสุดอยู่...โลกธุรกิจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราต้องการให้มันเป็นหรอกครับ....หลายธุรกิจกำลังช่วยกันกอบกูโลกอยู่นะ...

อย่ากลัวเลย...กับคำว่า "ธุรกิจการศึกษา"...อย่ามัวแต่จับผิดกันเลย...ค้นหาจิตวิญญาณของตัวเองให้เจอ...สร้างวิสัยทัศน์จากจิตวิญญาณนั้น...นำวิสัยทัศน์ไปสู่การลงมือปฏิบัติ...แล้วเสริมสร้างกำลังใจตัวเองอยู่เสมอด้วยการมองแง่บวก...ท่านทุกคนมีสิทธิ์ประสบความสำเร็จในตลาดเกิดใหม่ "ธุรกิจการศึกษา" นี้ได้แน่นอนครับ...

...เราอาจจะมองว่า...ชาวบ้านไม่มั่นใจในตัวเอง...เราจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจในตัวเอง...แต่เราก็ลืมสังเกตว่า...คนที่ให้การศึกษากับลูกหลานของเรายังขาดความมั่นใจในตัวเอง...เพราะท่านต้องรอให้คนเอากระบี่มาแตะบ่าท่าน...ท่านจึงจะเชื่อว่าท่านเป็นอัศวิน...แล้วท่านจะสอนให้เด็ก ๆของเราเชื่อมั่นใจตัวเองได้อย่างไรเนี่ย...

คงจะพอเป็นประโยชน์บ้างนะครับ...กับคำแนะนำของดอกเตอร์กล้วยอย่างกระผม...

ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์

สวัสดีค่ะคุณสวัสดิ์

ต้องขอขอบคุณที่ได้ให้มุมมองในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคนหนึ่งนะคะ

เป็นไปได้จริงๆ ที่บางคนอาจจะมองการศึกษาเป็นธุรกิจ และอาจมีบางคนที่ออกมา "ร้องแรกแหกกระเชอ" ทำการตลาดแบบเก่า ทำการป้ายสีว่า "ที่นี่เจ๋ง...นี่โน่นปลอม" หรือที่โน่นมันห้องแถว ที่นี่ไม่ใช่ เป็นต้น

สำหรับตัวเอง ดิฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองกำลังทำธุรกิจการศึกษาเลยค่ะ ก็แค่คนๆ หนึ่งที่เป็นกังวล ไม่อยากเห็นการศึกษาเป็นธุรกิจไปเสียหมด แล้วก็เคยประสบกับผลลัพธ์ของระบบการศึกษามหาวิทยาลัยห้องแถว และ ดร.กล้วย มาก่อนหน้านี้นานแล้ว พอมีข่าวที่อ่านเจอ ก็เลยนำมาฝากกัน เพราะเห็นว่ามีแนวโน้มมากขึ้น คนที่จะไปเรียนจะได้ตัดสินใจก่อนว่า เขาจำเป็นที่จะต้องมีปริญญาเอกหรือไม่ แล้วการมีปริญญาเอกเอาไว้ใช้ทำอะไร เพื่ออะไร เพื่อใคร  หรือเรียนแล้วได้อะไรจากการเรียนนอกจากใบปริญญาบัตรกับคำนำหน้าชื่อบ้าง

และก็อย่างที่ อ.ป้าเจี๊ยบได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ค่ะว่าเคยเจอ ดร.ห้องแถวแต่ไม่ทำตัวเป็นกล้วย และเคยเจอ ดร.มหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ทำตัวเป็นกล้วย..

อาจารย์ที่ไม่มีวุฒิมากนัก ทำงานหนัก เพื่อสอนหนังสือ ไม่ได้ทำธุรกิจ และเอาใจใส่นักศึกษา ก็มีอยู่บ้างค่ะ แต่อาจจะไม่มากเท่าคนที่ทำธุรกิจการศึกษาค่ะ ดิฉันยอมรับว่าการศึกษาตอนนี้อยู่ในสภาวะวิกฤตมาก นักศึกษาบางส่วนมองการศึกษาเป็นแค่การได้ปริญญามากกว่าความรู้  คนส่วนใหญ่มองเป็นแต่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม

ภาวะวิกฤตทางการศึกษานี้ส่วนหนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบของครูบาอาจารย์ อีกส่วนเป็นของรัฐ/ระบบ เป็นของครอบครัว+สังคมที่มีกระแสวัตถุนิยม อยากได้อยากมี และไม่ค่อยสนใจวิธีการ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นของผู้เรียนที่ตกอยู่ในกระแส...

ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นตัวอย่างที่ดีๆ อยากเห็นดร.กล้วย ที่ไม่เป็นกล้วย มาช่วยกันพัฒนาการศึกษาและสังคมกันต่อไป..

ขอบคุณนะคะที่เข้ามา ลปรร

 

ต่อเรื่องกล้วยอีกนิดนะครับ...สนุกดี...มีคนเคยกล่าวไว้ว่า...จริง ๆ แล้ว คนเอเชียชอบทำตัวเป็นกล้วย...คือข้างนอกหนะเหลื้องเหลือง...แต่ข้างในขาว (กล้วยสุกนะ)...อันนี้ไม่รู้จริงเท็จประการใด...

ครับเข้าประเด็นเลย...จะได้ช่วยกันสรรค์สร้างชุมชน...ก่อนอื่นขอบคุณอาจารย์ที่ตอบรับ...

ข้อเสนอแนะของผมคือ...ปัญญาเชิงปฏิบัติครับ...คือหลักสูตรเรียนโดยการปฏิบัติจริง...

เคยมีหลักสูตรหนึ่งนะครับที่ผมมีโอกาสไปเรียนรู้กะเขาด้วยคือ...หลักสูตรสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น...พัฒนาโดย ดร.เสรี พงศ์พิศ  แห่งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจชุมชน...(สสวช.)...โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งหลายที่เห็นด้วย...ตอนนี้ร่วมกับ มรภ. พระนคร

ขึ้นต้นก็ดูดีครับ...จะให้เรียนทฤษฎี 30 หน่วยกิจ  ที่เหลือเป็นการปฏิบัติจริงทั้งหมด...ตอนนั้นผมยอมรับเลยว่า...เห็นแสงสว่างรำไรในระบบการศึกษาไทย...

ผ่านไปหนึ่งปี...มรภ. พระนคร  เอาสุ่มที่ตัวเองสานไว้แล้วไปครอบเอาดื้อ ๆ เลย...อ้างว่า "บันทึกความเข้าใจ" (MOU) ที่เซ็นไว้กับบุคคลธรรมดา (ดร.เสรี) ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฏหมาย...ยอดเยี่ยมอีกแล้วครับท่าน...

ผมก็ทะทึ่งเข้าไปดูระเบียบที่ออกมาใหม่...โอ้..มันยอดเยี่ยมมาก...ไม่เหลือเค้าเดิมไว้เลย...ดีแล้วครับ...การศึกษาบ้านเราจะได้มีมาตรฐานสมดังที่ สมศ. ท่านตั้งไว้...อาจารย์ก็มีคุณภาพ คุณวุฒิตามเกณฑ์เป๊ะ...เวลาการศึกษาครบ...การประเมินผลตามเกณฑ์เป๊ะ...ฯลฯ...เป๊ะ...แต่ไหงผลผลิตมันออกมาเป็นงี้ไปได้...นี่แสดงคนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า...มนุษย์เป็นนาฬิกาไขลานอยู่แน่ ๆ เลย...โดยเฉพาะผู้ที่กุมอำนาจทั้งหลาย...

ทีนี้ความฝันที่หวังไว้กับมหาวิทยาลัยชีวิตที่เคยทอแสงเจิดจ้า...มีอันต้องอ่อนแสงลง...แต่เชื่อว่ายังไม่ดับเสียทีเดียว...ผมและเพื่อน ๆ ยังทำงานเพื่อชุมชนต่อไปด้วยความบอบช้ำ...

ประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดคือ...การไปเป็นเซลล์ขายตรง...ผมเชื่อว่าหลายคนแค่คิดยังไม่กล้า...ยี้ไปขายของ...ฉันจบมาตั้งเมืองนอกเมืองนา...ผมเรียนจบมหา' ลัย ชื่อดังนะ...จะให้ไปขายของหรือ...ไม่ทำหรอก...แต่ผมไปทำครับ...บอกได้เลยว่า...หนึ่งปีที่ผมมาเรียนรู้ที่นี่...ผมเอาความรู้ที่ได้จากที่นี่...ไปทำงานกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิผลเลย...ผมสามารถนำชุมชนได้...ผมสามารถเป็นแรงบันดานใจให้ชาวบ้านเกิดวิสัยทัศน์ร่วมกันได้...และที่สำคัญ...ผมไม่เคยรู้สึกมั่นใจอย่างนี้มาก่อนเลย...

พัฒนาระบบการศึกษา...ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไร...ทุกวันนี้เราต้องการให้คนไทยมีปริญญากันเยอะ ๆ สูง ๆ ก็ถูกแล้วที่เขา "วิ่งไล่แจกปริญญา" กันอยู่...(ไม่เฉพาะบ้านเราหรอกครับ...ประเทศอื่นก็มี)...แต่ถ้าต้องการให้คนของเราเรียนรู้กันจริง ๆ หละก็...ต้องปฏิบัติจริงเท่านั้นครับ...

คนที่จะขายปริญญาก็จะโฆษณาชวนเชื่อว่า..."ความรู้คืออำนาจ"...แล้วก็ผู้โยงความรู้กับใบปริญญา...ซึ่งความจริงที่มักไม่ค่อยมีใครเปิดเผย...โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยก็คือ..."ความรู้เป็นแค่ศักยภาพ...อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่การลงมือทำ"...ยิ่งร้ายไปกว่านั้น...คนขายปริญญาเป็นอาชีพ...ยังพยายามสื่อความกับสาธารณะว่า..."เห็นไหม...เพราะไม่มีปริญญาจึงต้องมาใช้แรงงาน"...เขาจะเอากะลามาครอบเราไปถึงไหนเนี่ย...

หวังว่าคงได้ประเด็นนะครับอาจารย์...สรุปก็คือ...การปฏิบัติจริง...การจะให้เกิดแรงบันดานใจในการลงมือทำ...อาจารย์ต้องเปลี่ยนจากผู้บรรยาย...มาเป็นผู้สร้างแรงบันดานใจให้เด็กเกิดความต้องการเรียนรู้ที่มากพอ...ย้ำนะครับ..."ความต้องการที่มากพอ"...ซึ่งทักษะแบบนี้...ไม่ต้องไปเรียนให้จบปริญญาเอกก็ทำได้ครับ...เพราะผมก็เพิ่งได้เรียนรู้มา...ตอนไปเป็นเซลล์ขายของนี่เอง...

ขอบคุณที่เปิดประเด็นดี ๆ ให้ชุมชนได้ร่วมกันเรียนรู้ครับ

ปล. discipline ทำไมภาษาไทยใช้คำว่า "วินัย" เพราะจากรากคำน่าจะหมายถึง "การเรียนรู้" เพราะอันนี้หรือเปล่า...การเรียนรู้ในระบบการศึกษาของเราจึงเกิดน้อย

ด้วยความเคารพ  สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะคุณสวัสดิ์

เห็นด้วยค่ะว่าการมีประสบการณ์ตรงจะช่วยให้เราเข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างแน่นอน และการได้สัมผัสกับคนในลักษณะงานแบบเซลล์ก็คงจะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้คนเราสามารถปรับตัวและเข้าใจความต้องการของผู้คนได้มากขึ้น

เรื่องการขายใบปริญญาเอกที่อเมริกามีเยอะมากๆ มีกระทั่งขายในอินเทอร์เน็ต เพราะแนวความคิดอย่างที่คุณสวัสดิ์บอกไว้แหละค่ะ ว่าเขาโยงใบปริญญากับความฉลาด ความเก่ง ความดี แต่จริงๆ แล้วใบปริญญาเอกเป็นแค่กระดาษใบหนึ่งเท่านั้น ที่แล้วแต่ใครใช้วิธีการใดในการได้มา แล้วเขาคนนั้นจะยึดติดกับกระดาษใบนั้นขนาดไหน หรือแสวงหาผลประโยชน์กับกระดาษใบนั้นกับคำนำหน้าชื่อขนาดไหน เพราะดิฉันว่าการเป็นครูจริงๆ ไม่ค่อยได้เกี่ยวกับกระดาษใบนั้นสักเท่าไหร่ เพราะมันรับรองไม่ได้ว่าเขาจะฝึกปฏิบัติ มาสอน มาทำหน้าที่ครูบาอาจารย์สร้างแรงบันดาลใจในการเป็นคน เป็นนักต่างๆ หรือแรงบันดาลใจในการเรียนรู้หรือไม่ เพียงแต่รับรองว่าเขาได้ใช้เวลาและความพยายาม(มากหรือน้อย)ผ่านกระบวนการศึกษาบางอย่าง จากมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น

ดิฉันก็อยากจะเห็นค่านิยมบางอย่างที่ไม่สร้างสรรค์หมดไปเหมือนกัน อยากบอกคนอื่นๆ เหมือนกับที่คุณสวัสดิ์ว่าไว้ว่า "ทักษะแบบนี้...ไม่ต้องไปเรียนให้จบปริญญาเอกก็ทำได้ครับ" เพราะคุณค่าและการกระทำมันเกิดจากตัวบุคคล ไม่ได้เกิดจากใบปริญญา..

ขอบคุณที่แวะเข้ามาอีกครั้งค่ะ..

อ่านแล้วอึ้งเลยครับ

ไม่รู้จะกล่าวอย่างไรดีเลยครับ

ต้องขอบคุณอาจารย์ครับที่มาเตือนสติกันครับ

.

ที่ทำงานผมเค้ายังไม่รู้เลยว่าผมจบอะไรมา 555

แต่เค้ารู้ว่าผมอะไรได้บ้าง

.

ขออนุญาตประชดเล่นๆครับ

7-11 หน้าปากซอย จะมีเปิดขายใบ ป.เอก เมื่อไรครับ

อิอิ

P
P

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้ว อึ้งค่ะ มีอะไรอยากจะพูด แต่พูดไม่ออกตอนนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์
P

 

เมื่อไหร่ 7-11 เปิดขาย???

จะตอบว่าไม่มีวันเสียหรอก ก็ไม่ค่อยกล้าพูดแล้วค่ะเดี๋ยวนี้  อะไรที่เราว่ามันแน่นอน มันก็ไม่เห็นจะเคยแน่นอนสักที : ) แต่หวังลึกๆ ว่าคงไม่เป็นหรอกน่า...

ที่ทำงานตอนนี้ก็เหมือนกัน ใครจบเอกอะไรมาไม่ค่อยมีคนรู้หรือสนใจหรอกค่ะ แต่อันนี้ประเมินจากตัวเองนะคะ ที่ไม่ค่อยสนว่าเขาจบที่ไหนมา จำไม่ได้หรอกค่ะว่าใครจบจากที่ไหนมาบ้าง แต่จำได้แม่นเลยว่าใครทำงานไม่ทำงาน ใครเป็นคนที่มีผลงานแบบไหนค่ะ...  ยังไงๆ ค่าของคนก็ยังอยู่ที่ผลของงานอยู่ดีค่ะ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนอื่นๆ เขาดูใบปริญญาประกอบด้วยหรือเปล่า...

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ

 

สวัสดีค่ะ คุณ
P

 

: ) ได้แต่ยิ้มให้กำลังใจกันค่ะ  ตอนนี้สังคมการศึกษามันค่อนข้างแย่ค่ะ แต่คนในวงการอย่างดิฉันก็ไม่ท้อนะคะ ก็ต้องทำกันไปเรื่อยๆ ค่ะ ถ้าเราถอยกันหมด มันอาจจะแย่กว่านี้ค่ะ..

ฝากผู้ใช้บริการ ผู้ปกครอง อุตสาหกรรม ทำความเข้าใจระบบการศึกษา รู้จุดดีจุดเสียของระบบ แล้วก็ใช้ระบบอย่างเข้าใจค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามานะคะ

อันนี้...เป็นการตีความของผม...จากภาษาที่ใช้สนทนา (ผ่านตัวอักษร) ในประเด็นนี้นะครับ...โดยเฉพาะภาษาของอาจารย์ผู้นำเสนอประเด็น...นั่นแน่...ผมบังอาจอวดอ้างว่าตัวเองสามารถจับความรู้สึกจากโครงสร้างของภาษาเขียนได้ด้วย...อันนี้เรียนตามตรงว่า...วิธีที่ใช้ไม่ใช่ scientific method นะครับ...เพียงแต่ผมเอาความคิดโยนทิ้งไป...เอาความรู้สึกไปจับ...ผมรู้สึกอย่างที่ผมต้องการจะเล่าจริง ๆ...ว่า

...โครงสร้างของภาษา  เต็มไปด้วยความเศร้าสร้อย...แม้ตัวบทจะบอกว่าไม่ท้อ...แต่ความรู้สึกข้างในลึก ๆ ของผู้เขียนบอกว่า...ความอ่อนล้าภายใน...เข้ามาเกาะกุมจิตใจเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ...

ถือเสียว่าเป็นการอ่านใบเซียมซีก็แล้วกันนะครับ...ประเด็นไม่ใช่การตีความถูกหรือผิด...แต่สิ่งที่ผมอยากจะเสนอคือมุมมองใหม่ต่อปรากฏการณ์ทางการศึกษาของบ้านเราในขณะนี้ครับ...ลองพิจารณาดูนะครับ

...ก่อนอื่นเลย...ปรากฏการณ์แบบนี้ ผู้เสนอใช้คำว่า "ค่อยข้างแย่"  ซึ่งต้องการจะสื่อว่า  "เละเทะ" ผมพูดได้เพราะผมคนนอก...แต่ท่านเป็นอาจารย์ก็เหมาะสมแล้วที่ใช้คำกลาง ๆ...แต่ประเด็นคือ  ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "ค่อนข้างแยะ" หรือคำว่า "เละเทะ" ของผมนั้น  ผมอยากจะบอกว่า...มันเป็นปรากฏการณ์ที่ยอดเยี่ยมครับ...เพราะว่า...

มันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า...ระบบการศึกษาของเราได้มีการเคลื่อนตัว...มันจึงไม่ได้ "ค่อนข้างแย่" หรือ "เละเทะ" อย่างที่คิด  แต่มันเป็นสัญญาณให้เห็นว่า..."มันกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง"  และแน่นอน  มันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่เฝ้าดูระบบการศึกษาบ้านเราต้องเชื่อว่า "มันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น"  ย้ำนะครับว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่ต้องเชื่อแบบนี้...

นี้ผมซีเรียสมากนะครับ..."เพราะความเชื่อเป็นจุดเริ่มต้นของความจริง"  นี่ก็ไม่ใช่ไสยศาสตร์นะครับ...อาจารย์กมลวัลย์น่าจะทราบว่าเพราะท่านอยู่ในสายนี้...

เชื่อแล้ว...ทำไงต่อ...ก็เอาความเชื่อไปสร้างเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกัน...ให้คนทั้งชาติเห็นในสิ่งเดียวกัน...ทีนี้ก็ไม่ต้องมานั่นเศร้า..ถกเรื่องเศร้ากันอีกต่อไป..."เพราะมนุษย์จะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่เขาเห็น"  นี่ก็เป็นกฏธรรมชาติอีกแหละครับ...ยกตัวอย่าง...ในการวิจัยเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน...รถยนต์ 100 คนที่ตกถนน 75 คัน ไปชนเสาไฟ...เคยแปลกใจไหมหละครับ...ทั้งที่ช่องว่างระหว่างเสาไฟกับต้นเสา...ความกว้างเทียบกันไม่ได้เลย...คำอธิบายคือ...เพราะเขามองเสาไฟไง...เวลาจะชนถึงได้แม่นนัก...

...การศึกษาบ้านเราก็เหมือนกัน...ถ้าเรามองแต่ปัญหา...เราก็จะชนปัญหานั่นแหละครับ...ทำไมเราไม่มาสร้างภาพอนาคตที่เราต้องการ...แล้วเดินไปจะดีกว่าไหม...อันนี้ท่านมีอิสระในการเลือกอีกนั่นแหละครับ...

ย้อนกลับไปในตอนแรก...ถึงแม้ว่าการศึกษาอุดมศึกษาบ้านเราตอนนี้มีปรากฏการณ์ที่ "ค่อยข้างแย่" ให้เห็นมากมาย...ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา...เป็นแต่เพียงการขับเคลื่อนในตอนแรก...ก็มักจะมีสภาวะไร้ระเบียบเป็นธรรมดา...เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง...ระบบก็จะจัดการตัวเองได้...

เหมือนช้างที่นอนอยู่...ขณะช้างกำลังจะลุกขึ้นเดิน...ระหว่างที่ช้างจะลุก...คนที่นั่งอยู่ส่วนใหญ่ก็จะตกจากหลังช้าง...ถ้าเราจะสรุปว่า...ช้างเราแย่...ข้อสรุปนี้จะอ่อนด้อยทางวิชาการเป็นอย่างมาก...ผมเคยได้ยินคนที่เรียนสูง ๆ เขาคุยข่มกันว่ามันเป็น "over inductive" อันนี้ก็ไม่รู้เท็จจริงประการใด...แต่ที่แน่ ๆ...และผมยืนยันได้ พัน% ชัวร์ว่า...

การศึกษาของเรากำลังส่งสัญญาณนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี...ขยายการลงทุนให้เต็มที่...เดินหน้าเต็มกำลัง...

...นี่แหละครับ...ความรู้สึก...เมื่อไม่มีความคิดมาขัดขวาง...มนุษย์จะปลดปล่อยพลังได้อย่างเต็มที่...

...ผมจะไม่จบด้วยการปลอบประโลม...ผมจะไม่ให้กำลังใจ...ผมแค่ชี้ให้เห็นความเป็นจริง...และทางเลือก...อนาคตเราเป็นคนกำหนดเอง...ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่เราสร้างมันขึ้นมาเอง...ด้วยสองมือของเรา...ท่านอยากเห็นความจริงแบบไหนหละ...ท่านมีอิสระเต็มที่...ครับ

สวัสดีค่ะอีกที

เห็นด้วยกับคุณ

P
ค่ะ

ที่นี่เราสรุปกันแล้วจากหลายบันทึก ว่าระบบการศึกษาเรากำลังอ่อนแอ

แต่เราต้องเริ่มหาทางรณรงค์แก้ไขแล้วค่ะ ตอนนี้ พวกพ่อแม่ที่พอมีกำลัง คิดหาทางส่งลูกไปเรียนที่อื่นกันมาก ดิฉันเห็นอยู่

แต่มันเป็นความบกพร่องของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย จะโทษครูอาจารย์อยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้

เราต้องช่วยกันค่ะ โดยเฉพาะทางสถานศึกษา อย่าคิดแต่เรื่องธุระกิจอย่างเดียว แข่งกันเอาเด็กเข้ามามากๆ อาจารย์ก็มีน้อย ดูแลเด็กไม่ทั่วถึง เด็กก็จะจบออกไปอย่างไม่มีคุณภาพ ไปทำงาน ก็สู้ใครยาก ยิ่งทำงานกับต่างประเทศ ไม่ต้องพูดถึง ชิดซ้าย

ต่อไป ทุกอย่างเป็นGlobalไม่ใช่ Local เราปฏิเสธไม่ได้หรอก

พอไปสมัครงาน เขาดูว่าจบจากที่ไหน เขาก็ไม่ดูต่อแล้ว มันเป็นอย่างนี้จริงๆนะคะ

ถ้าจะทำส่วนตัวก็ได้ แต่จบใหม่ๆ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีConnectionนะคะ โตยาก ได้แต่ทำอะไรเล็กๆ ก็แล้วแต่ใครต้องการแบบไหนค่ะ

  • ผมเห็นแล้วก็อดแสดงความคิดเห็นไม่ได้
  • เห็นแล้วอึ้งและงงเหมือนกันว่า ระบบนี้จะทำให้การศึกษาของเราอ่อนแอ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะคุณสวัสดิ์

ดิฉันเองก็เพิ่งจะเคยถูกวิจารณ์เป็นครั้งแรกเนี่ยแหละค่ะว่าวิธีเขียนนั้นเศร้าสร้อย อันนี้ใหม่จริงๆ : )  ไม่รู้ทำใครเสียใจไปบ้างหรือเปล่า เวลาพูดความจริง

จากประสบการณ์พบว่าคนมักจะตีความตามความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะมันเป็นเรื่องปกติ ตัวดิฉันก็เป็น เพราะมีประสบการณ์ได้พบเห็นเท่าที่ตัวเองมีอยู่

ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเรื่องดีๆ หรือน่าภูมิใจที่จะนำเสนอ ก็เลยเห็นแต่บันทึกของปัญหาในสมุดนี้ ไม่ได้จงใจเจาะนำเสนอแต่ปัญหา

แต่เห็นด้วยว่าการคิดในแง่ที่ดี ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น แต่การที่มีการผลิต ดร.กล้วย โดยวิธีการอย่างที่เสนอในข่าว ไม่รู้ว่าทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า "การศึกษาของเรากำลังส่งสัญญาณนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี...ขยายการลงทุนให้เต็มที่...เดินหน้าเต็มกำลัง..." ตรงไหนเลยค่ะ

สำหรับเรื่องอุบัติเหตุ กับการเห็นปัญหาแล้ววิ่งเข้าชน ดิฉันกลับมองว่าการที่เกิดอุบัติเหตุคนขับรถชนเสาไฟฟ้า ส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะเมา หรือควบคุมรถไม่ได้ เขาคงไม่น่าจะชนเพราะมองเสาไฟฟ้าอยู่  ถ้าเห็นปัญหาอยู่ แล้วขับเข้าไปชนเสียอย่างนั้นเอง แปลกค่ะ ถ้าทำอย่างนั้น สัญชาติญาณการมีชีวิตรอดไปไหนหมดถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ       แปลกมากถ้าคนมีสติดีๆ เห็นปัญหาแล้วพยายามวิ่งเข้าชนปัญหา แทนที่จะหลีกเลี่ยงไม่วิ่งเข้าชนก่อนเพื่อความปลอดภัยในเบื้องต้น และแก้ไขป้องกันกันภายหลัง

ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร เป็นประจำนะคะ รู้สึกว่าจะมีอีกหลายอันที่คุณสวัสดิ์ได้เข้าไปให้ข้อคิดเห็นไว้ เมื่อสักครู่เปิดดูแว๊บๆ เดี๋ยวจะค่อยๆ ตอบถ้าตอบได้นะคะ

สวัสดีค่ะคุณsasinanda

ดิฉันเห็นด้วยเลยค่ะ ว่า "เราต้องช่วยกันค่ะ โดยเฉพาะทางสถานศึกษา อย่าคิดแต่เรื่องธุระกิจอย่างเดียว "  ที่เอาข่าวนี้มาในบันทึกก็เพื่อให้รู้กันว่ามีใครทำอะไรกันอยู่บ้าง คนที่คิดจะเปิดหลักสูตรหรืออนุมัติหลักสูตรแบบนี้อีก เขาก็คงต้องคิดเสียหน่อยก่อนทำ และดิฉันคิดว่าการประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมรับทราบ น่าจะเป็นการดี เวลาจะเลือกเรียน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ไทยหรือต่างประเทศ ก็จะได้สำรวจข้อมูลสักหน่อย ว่าหลักสูตรเป็นอย่างไร เหมาะกับเราหรือไม่ เรียนอะไร เรียนอย่างไร ...

นโยบายการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นนั้นเป็นของรัฐบาลค่ะ ที่ตั้งใจให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตให้มากขึ้น เรารู้ปัญหากันอยู่ค่ะว่ามากไปไม่ได้คุณภาพ และจะเป็นปัญหาต่อเนื่องกับอุตสาหกรรม แต่ก็จะโดนต่อว่าอีกทางว่าไม่ให้โอกาสคนเข้ามาเรียน  ก็พยายามปรับปรุงกันอยู่ ปีที่ผ่านมาที่ภาคฯ ก็รับน้อยลง แต่อันนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกภาควิชาฯ จะรับน้อยลงนะคะ บางภาควิชาฯ ก็มากขึ้นค่ะ ก็คงต้องสร้างสมดุลให้ได้ดีที่สุด เพื่อพัฒนากันต่อไปค่ะ อาจจะช้าหน่อย ผลที่เห็นไม่ชัดเจนในเร็ววัน แต่ก็ต้องทำค่ะ

ขอบคุณนะคะที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็นดีๆ ค่ะ

 

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ฝอยทอง

ขอบคุณที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นค่ะอาจารย์

เวลาอาจารย์ได้กลับมาทำหน้าที่หลังจากเรียนแล้ว อาจารย์จะได้เห็นหลายๆ อย่างในระบบอุดมศึกษามากขึ้นค่ะ ยิ่งได้มาทำงานบริหารบ้างอาจจะเห็นชัดเจนขึ้น : ) มันมีทั้งเรื่องดีและไม่ดีค่ะ ก็เป็นธรรมชาติของทุกอย่างต้องมีอะไรๆ ปะปนกันไปบ้าง

ถึงเวลาถ้าเจอปัญหาที่เราจัดการได้ เราก็แก้ไข แต่ถ้าเจอปัญหาระบบที่เราแก้ไม่ได้ (อยู่นอกอำนาจเรา) เราสามารถบอกคนที่รับผิดชอบได้ แต่อย่าคาดหวังว่าเขาจะแก้ไขให้ได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อแก้เรื่องหนึ่งจะไปกระทบอีกเรื่องหนึ่งต่อๆ กันไป อันนี้ทำให้การแก้ระบบทำได้ช้าและยืดยาด  แต่ถ้าเราเข้าใจเราก็ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ จูนไปเรื่อยๆ แล้วทำในส่วนที่ตัวเองแก้ไขได้ให้มากๆ ที่สุดไว้ก่อนค่ะ..

เรื่องนี้เป็น series ยาวครับ คงต้องติดตามอีกยาว ผมมีนิดเดียวที่อยาก เสนอเรื่องคุณภาพการศึกษา

  • เดิมการศึกษาเป็นการพัฒนาคน ไม่มุ่งเรื่องวัตถุรายได้ของผู้สอนหรือสถาบัน มักเป็นเรื่องของรัฐจัดเพื่อคุณภาพของคน
  • ต่อมาขยายให้เอกชนจัดมุ่งรายได้เลี้ยงตนเองได้และรับอุดหนุนจากรัฐบ้าง แบบเพื่ออยู่ได้ยังไม่เน้นธุรกิจกำไรมากนัก
  • ปัจจุบันเน้นธุรกิจ รัฐไม่อุดหนุนแล้ว ต้องจัดด้วยสถาบันเอง(เลี้ยงตนเองและบุคลากร) เน้นนอกเวลาทำรายได้พิเศษให้มาก ในเวลาเปิดน้อยๆ นอกเวลาเปิดให้มากที่สุด เพื่อรายได้ ไม่มุ่งเรื่องคุณภาพกันแล้วครับ ผู้สอนหลายคนบอกว่าเมื่อเขาจบออกไปเขาก็มีคุณภาพด้วยตนเองได้ สามารถเรียนรู้ทันกันได้

ฝากไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ

หากมุ่งด้านปริมาณ คุณภาพก็อ่อนลง ได้อย่างเสียอย่างครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์
P

ดิฉันก็เห็นแนวโน้มที่เกิดจาก"ปัจจุบันเน้นธุรกิจ รัฐไม่อุดหนุนแล้ว ต้องจัดด้วยสถาบันเอง(เลี้ยงตนเองและบุคลากร)"มากขึ้นเหมือนกันค่ะ

เห็นด้วยที่ว่า "หากมุ่งด้านปริมาณ คุณภาพก็อ่อนลง" แต่ก็คงไม่ทั้งหมดเพราะขึ้นอยู่กับว่าปริมาณที่ผลิต เหมาะสมกับกำลังผลิตหรือไม่ค่ะ  แต่แน่นอนว่าถ้าเน้นจำนวนผลิตมากๆ โดยไม่ดูกำลังผลิต ก็คงได้คุณภาพอ่อนลงอย่างแน่นอนค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นนะคะ

ขอบคุณสำหรับการตอบรับอีกครั้งครับอาจารย์...ถือว่าเป็นเกียรติที่ได้เป็นผู้วิจารณ์อาจารย์เป็นแรกครับ...ขออนุญาตว่าต่อนะครับ...คราวนี้ไม่วิจารณ์ครับ...ผมได้คำตอบที่ต้องการแล้ว...

...อย่างไรเสีย...ผมก็ยังยืนยันว่า...ปรากฏการณ์อุดมศึกษาของบ้านเราขณะนี้เป็นสัญญาณที่ดี...ขอจะขยายความต่อครับ...

ที่ผมเสนอในเชิงอุปมาว่า "เหมือนช้างที่นอนอยู่...ขณะช้างกำลังจะลุกขึ้นเดิน...ระหว่างที่ช้างจะลุก...คนที่นั่งอยู่ส่วนใหญ่ก็จะตกจากหลังช้าง"...ปรากฏการณ์นี้เป็นอาการที่แสดงออกช่วงสั้น ๆ...แน่นอนความยุ่งเหยิง...เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ชอบ...แต่มันจะแสดงแบบแผนที่เป็นระเบียบออกเมื่อเวลาผ่านไป...ที่สำคัญต้องให้อิสระในการตีความและใส่ข้อมูลป้อนกลับครับ...

...เรื่องนี้ผู้รู้ท่านหนึ่งอธิบายว่า "แบบแผนต้องการเวลาและระยะห่างเพื่อแสดงตัวตนออกมา  เราจะสังเกตเห็นแบบแผนถ้าเรานั่งอยู่ด้วยกันอย่างอดทนและอย่างใคร่ครวญ  ฉันพูดถึงความอดทนไม่ใช่เพราะการเกิดแบบแผนนั้นต้องใช้เวลาเท่านั้น  แต่เพราะเราตาบอดมาเป็นเวลานานและเราต้องพยายามลืมตาเพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่"...อันนี้ผมคัดลอกมานะครับ...แน่นอนผมเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ผมจึงนำมาขยายความต่อ...

ส่วนในที่นี้จะเห็นเป็นประการใด...ก็มีอิสระในการตีความเต็มที่เลยครับ...เพราะความจริงที่เป็น "ภววิสัย" เป็นสิ่งที่ล้าหลังแล้วในความรู้ของมนุษย์ครับ

......

ประเด็นนี้เราถกเถียงกันมาพอสมควร...แนวทางที่จะนำพาไปสู่จุดหมายปลายทางก็คลี่คลายออกมาบ้างแล้ว...และผมก็เชื่อว่า...ผู้มีอำนาจในการบริหารการศึกษาของประเทศท่านก็รู้...รู้ดีกว่าเราด้วย...ประเด็นที่ผมจะต่อยอดไปอีกคือ..."ท่านรู้แล้วทำไมไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ?"...นี่คือสิ่งที่เราน่าจะมาทำความเข้าใจกันต่อ...เพื่อให้การถกเถียงนี้เดินไปข้างหน้า...

ในประเด็นนี้...ผมมีความฟุ้งเฟ้อถึงขนาดว่า...เสนอทฤษฎีครอบจักรวาลในการอธิบายเรื่องนี้ไว้...ผมจะไม่นำเสนอทฤษฎีดังกล่าวซ้ำอีกในที่นี้...เพราะผมได้เสนอไว้แล้วอีกเวทีหนึ่ง...(ไปดาวน์โหลดไฟล์)...

ผมจะดีใจมาก...หากทฤษฎีที่ผมเสนอ...ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์แบบ "แรง ๆ" และ "ตรง ๆ" จากผู้สนใจที่หลากหลายครับ

ผมหวังว่า...คำอธิบายเชิงทฤษฎีที่ผมเสนอ...จะให้คำอธิบายเพื่อความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาตลอดจนระบบอื่น ๆ ที่กำลังเจอวิฤตการณ์อยู่...เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคม...

ขอบคุณที่ตอบรับและให้โอกาสแสดงความคิดเห็นครับ...

สวัสดีค่ะ คุณสวัสดิ์

เห็นด้วยค่ะที่ว่า "...ปรากฏการณ์อุดมศึกษาของบ้านเราขณะนี้เป็นสัญญาณที่ดี..." ดิฉันเห็นสัญญาณที่ดีมากๆ ใน G2K เห็นการตอบรับของผู้คนที่ห่วงใยการศึกษา ห่วงใยประเทศชาติ ดิฉันถึงได้มองว่าปรากฎการณ์นี้เป็นสิ่งที่ดีค่ะ

แต่ในปรากฎการณ์ที่ดีนี้ ที่ไม่ดีก็ยังมีอยู่ค่ะ ที่ดิฉันเลือกที่จะนำเสนอปัญหาในบันทึกและในสมุดนี้ มีเจตนาเพียงเพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมให้กับใครก็ได้เพื่อใช้ในการตัดสินใจ หรือเป็นการหารือ เป็นการแสดงปัญหาที่ดิฉันได้พบ ได้เห็น เผื่อใครคิดอะไรออก ก็จะได้ช่วยกันคิด อย่างที่เรากำลังทำกันอยู่เนี่ยแหละค่ะ

แต่ดิฉันยอมรับว่า การสื่อสารแลกเปลี่ยนในลักษณะนี้บางครั้ง มันเหมือนเราพายเรืออยู่ในอ่าง เพราะพูดไปพูดมา มันอธิบายได้ไม่หมด เขียนได้ไม่หมดในทุกเรื่องที่เราทำ หรือเราคิด ผลมันก็เลยออกมาเหมือนไม่มีทางออก มีแต่ปัญหา รู้วิธีการแก้ไข แต่ไม่ทำ..ประมาณนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ..

ขอบคุณที่แวะเข้ามาอีกครั้งค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์กมลวัลย์

ไม่ได้แวะเข้ามา 2 - 3 วัน กลับเข้ามาอีกทีเต็มไปด้วยข้อคิดเห็นต่าง ๆ มากมาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผมก็พยายามอ่านทุก ๆ ความคิดเห็นในฐานะที่อยู่ในวงการศึกษาเช่นกัน จะได้นำมาตีความได้ถูกนะครับ และก็ขอเป็นกำลังใจให้ อาจารย์ยึดแนวที่ตัวเองตั้งใจอยู่ให้ดีที่สุดนะครับ ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของอาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะคุณจิระ จิตสุภา
เมื่อ ศ. 25 พฤษภาคม 2550 @ 09:39

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนกันอีกครั้งค่ะ

เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่กว้างและละเอียดอ่อนมากจริงๆ ค่ะ พูดเท่าไหร่ก็พูดได้ไม่หมดเพราะมันพันกันไปเกือบทุกเรื่อง และว่าไปแล้วเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับทุกคนในฐานะผู้เรียนหรือผู้ใช้บริการอยู่แล้ว ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่มีผู้เข้ามาให้ข้อคิดเห็นหลากหลายค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเวทีนี้ที่เราใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่แล้ว

ดิฉันก็ยังตั้งใจนำเสนอเรื่องของอุดมศึกษาต่อไปค่ะ พอเปิดเทอมแล้วคงจะมีเรื่องเด็กๆ มาเล่าให้ฟังกันบ้างค่ะ   : ) 

ขอบคุณที่ติดตามและ ลปรร นะคะ..

เรื่องนี้ ไม่เคยล้าสมัย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปหลายปี

ขอบคุณครับ  อาจารย์กมลวัลย์ :)

สวัสดีค่ะ อ.วสวัตดีมาร

เรื่องนี้ล้าสมัยยากค่ะอาจารย์ สงสัยจะกลายเป็นเรื่องทันสมัยเสียหรือเปล่าก็ไม่รู้ คือมีแบบนี้มากขึ้นน่่ะค่ะ

จริงๆ จะกล้วยหรือไม่ก็คงไม่เป็นไร มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และก็ผลงานหรือการกระทำหลังจากได้ ป.เอก มาด้วยแหละค่ะ

มองโลกในแง่ดีค่ะ ^ ^

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร นะคะ

P

กมลวัลย์

 

  • ข้ามาลงชื่ืื่อว่าอ่านแล้ว.... (ตอนแรกก็ตั้งใจอ่าน พอขี้เกียจอ่านก็ลากผ่านๆ )

ก็ให้ความเห็นไปพอสมควร แต่ก็ลบทิ้งเสีย กล่าวคือ สมัครใจ งดออกเสียง (...............)

เจริญพร

ไปเรียนดร.ห้องแถวจากอเมริกา และเนเธอร์แลนด์กันดีกว่าครับ จ่ายครบ จบแน่ มีให้เลือกทั้ง Pacific Western U.

Intercultural Open University American University Newport University และล่าสุด Open System Leadership

University แถม เป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาโท และปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยอีกด้วย สกอ. และ สภามหาวิทยาลัย ช่างใจดีเหลือเกิน

ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยห้องแถวโผล่ออกมาเยอะเลยคับ Rochville University ที่โดนสกอ.จับอยู่ Adamson university แล้วยังมีที่บอกว่าตัวเองไม่ใช่ห้องแถว แต่สกอ.และกพ.ยังไม่รับรองอีกหลาย U. เช่น American International University / Yuin University / Nobel University สามมหาวิทยาลัยหลังนี้กพ.และสกอ.ยังไม่รับรอง แต่คนดำเนินการ บอกว่าไม่ใช่ห้องแถว พิจารณาเองนะครับท่านทั้งหลาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท