ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

(๒) วิธีการฝึก "ม้า" กับ "คน" เหมือนกัน?


เกสีสูตร
ว่าด้วยเกสีสารถีผู้ฝึกม้า

            [๑๑๑]  ครั้งนั้นแล สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสี  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า ดูก่อนเกสี  ท่านอัน  ใคร ๆ  ก็รู้กันดีแล้วว่าเป็นสารถีผู้ฝึกม้า  ก็ท่านฝึกหัดม้าที่ควรฝึกอย่างไร 

            สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วยวีธีแบบสุภาพบ้าง[1] วิธีแบบรุนแรงบ้าง[2]  ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง.

            พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปอีกว่า “ดูก่อนเกสี    ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่านไม่เข้าถึงการฝึกหัด  ด้วยวิธีแบบสุภาพ  ด้วยวิธีรุนแรง  ด้วยวิธีทั้งสุภาพทั้งรุนแรง  ท่านจะทำอย่างไรกะมัน ?  

            เกสีผู้ฝึกม้าทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ถ้า ม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ ฝึกไม่ได้ด้วยวิธีแบบสุภาพ   ด้วยวิธีรุนแรง   ด้วยวิธีทั้งแบบสุภาพ ทั้งรุนแรง  ก็ฆ่ามันเสียเลย   ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?    เพราะคิดว่าความเสียหายอย่าได้มีแก่สำนักอาจารย์ของเราเลย    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ อย่างยอดเยี่ยม   ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงฝึกบุรุษที่ควรฝีกอย่างไร.

            พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนเกสี   เราแล  ย่อมฝึกบุรุษที่ควรฝึกด้วยวิธีแบบสุภาพบ้าง  รุนแรงบ้าง  ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง”

            ในวิธีทั้ง ๓ นั้น การฝึกในรูปแบบดังต่อไปนี้  “เป็นวิธีแบบสุภาพ”  คือ กายสุจริตเป็นอย่างนี้   วิบากแห่งกายสุจริตเป็นอย่างนี้   วจีสุจริตเป็นอย่างนี้    วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นอย่างนี้  มโนสุจริตเป็นอย่างนี้     วิบากแห่งมุโนสุจริตเป็นอย่างนี้    เทวดาเป็นอย่างนี้  มนุษย์เป็นอย่างนี้  

             การฝึกดังต่อไปนี้ “เป็นวิธีรุนแรง”  คือ กายทุจริตเป็นอย่างนี้    วิบากแห่งกายทุจริตเป็นอย่างนี้    วจีทุจริตเป็นอย่างนี้     วิบากแห่งวจี ทุจริตเป็นอย่างนี้     มโนทุจริตเป็นอย่างนี้     วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นอย่างนี้ นรกเป็นดังนี้  กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นอย่างนี้  แดนเปรตเป็นอย่างนี้     

             การฝึกดังต่อไปนี้    “เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง”  คือ  กายสุจริตเป็นอย่างนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นอย่างนี้  กายทุจริตเป็นอย่างนี้  วิบากแห่งกายทุจริตเป็นอย่างนี้   วจีสุจริตเป็นอย่างนี้   วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นอย่างนี้  วจีทุจริต เป็นดังนี้   วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นอย่างนี้  มโนสุจริตเป็นอย่างนี้   วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นอย่างนี้  มโนทุจริตเป็นอย่างนี้   วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นอย่างนี้  เทวดาเป็นอย่างนี้  มนุษย์เป็นอย่างนี้    นรกเป็นอย่างนี้  กำเนิดสัตว์ ดิรัจฉานเป็นอย่างนี้  แดนเปรตเป็นอย่างนี้

             เกสี ผู้ฝึกม้าทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของพระองค์ ฝึกไม่ได้ด้วยวิธีแบบสุภาพ   ด้วยวิธีรุนแรง   ด้วยวิธีทั้งแบบสุภาพทั้งรุนแรง  พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทำอย่างไรกะเขา?

             พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดู ก่อนเกสี   ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของเราฝึกไม่ได้ด้วยด้วยวิธีแบบสุภาพ ด้วยวิธีรุนแรง  ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง   เราก็ฆ่าเขาเสียเลย”

             เกสีผู้ฝึกม้าถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย    ไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า  ‘ฆ่าเขาเสีย”

             พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “เกสี  ความจริงการฆ่าสัตว์ไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าบุรุษที่ควรฝึกใด  ฝึกไม่ได้ ด้วยวิธีแบบสุภาพ ด้วยวิธีรุนแรง   ด้วยวิธีทั้งแบบสุภาพทั้งรุนแรง ตถาคตย่อมกำหนดบุรุษนั้นว่าไม่ควรกล่าวสั่งสอน   แม้เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ ต่างกำหนดว่าเขาเป็นผู้ไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอน  เกสี  เพราะข้อที่ตถาคต กำหนดผู้นั้นว่า ไม่ควรกล่าวสั่งสอน แม้เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ต่างกำหนดว่า เขาเป็นผู้ไม่ควรกล่าวสั่งสอน ดังนี้นั้นถือว่าเป็นการฆ่าในอริยวินัย 

             เกสีผู้ฝึกม้ากราบทูลว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระตถาคตตถาคตย่อมกำหนดบุรุษนั้นว่าไม่ควรกล่าวสั่งสอน แม้เพื่อน พรหมจารีผู้รู้ต่างกำหนดว่าเขาเป็นผู้ไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอน  ชื่อว่าเป็นการฆ่าอย่างดีแน่นอน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก  พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย   เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ   เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด   ด้วยหวังว่า  คนมีตาดีจักเห็นรูป   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ  ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

-----------------------------------------
[1]  วิธีแบบสุภาพ หมายถึงฝึกโดยวิธีที่เหมาะแก่ม้านั้น ให้กินอาหารดี ให้ดื่มน้ำมีรสอร่อย ร้องรียกด้วยคำไพเราะ (องฺ.จตุกฺก.อ.  ๒/๑๑๑/๓๗๐)

[2] วิธีแบบรุนแรง หมายถึง ฝึดด้วยวิธีรุนแรงมีมัดขา และผูกปากเป็นต้น และด้วยวิธีการใช้ปฏักแทง การหวดด้วดยแส้  และร้องเรียกด้วยคำหยาบ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๑๑/๓๗๐-๓๗๑)

 

พระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬาฯ (ไทย) (องฺ.จตุกฺก ๒๑/๑๑๑/๑๖๙-๑๗๑)

หมายเลขบันทึก: 331613เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2010 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ เข้าใจดีแล้วเจ้าค่ะ

เป็นกำลังใจให้พระอาจารย์เผยแพร่ธรรมมะดีดีต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท