HA Corner : จาก ความผิดในความถูก ถึง KPI จบที่ องค์กรไม่ใช่เครื่องจักรต้องการความรักและความเข้าใจ


เรื่องราวของคนเล็ก ๆ ที่ทำงานอย่างใส่ใจ สมควร ที่ต้องให้ โอกาส ถูกนำมาเล่าถึง สมควรถูกนำมาให้ได้สัมผัส เป็น Performance ที่สำคัญ อย่างหนึ่ง ของการดูแลสุข ทุกข์ ของคน สม ตามชื่อของงาน “ คืนหัวใจ ให้ระบบสุขภาพ .” .ใน 8th HA National Forum

มีหนังสือเล่มหนึ่ง   ชื่อ  “ ความผิด ในความถูก   เป็นหนังสือรวม ธรรมอุปมา  สั้น ๆ   ของหลวงปู่ชา  วัดหนองป่าพง  ซึ่งเป็น  ครูอาจารย์ ที่ผม รักและเคารพรูปหนึ่ง  ทีเดียว

 

ผมโชคดีที่ได้มาอยู่ที่ อ.วารินชำราบ  เพราะเป็นที่ตั้งของวัดหนองป่าพง  ได้รับรู้คำสอนของหลวงปู่ชา ที่ช่างเรียบง่าย  ใคร ๆ ก็ทำได้  ใครๆ ก็ เข้าใจได้ง่าย   แต่ลึกซึ้ง

 

 


 

 ท่านสอนว่า  เรารู้ว่า ถ้วยชาม สักวันมันต้องแตก  แต่เราก็ต้องบอกเด็ก  ทำความสะอาดรักษา ไว้    เพื่อจะได้ใช้ได้นาน ๆ   ตามสมมุติอันนั้น  แต่ถ้าเห็นว่ามันจะต้องแตกสักวัน  บอกเด็กว่า ช่างมันเถิดลูก  กินแล้วไม่ต้องล้างมันหรอก  เอาทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้มันจะแตกอยู่แล้ว    ก็คงเป็นคนโง่เกินไป    ถ้าเราเป็นผู้รู้ สมมุติ ของร่างกายนี้    เมื่อมันเจ็บไข้ก็รักษา  เมื่อร้อนก็อาบน้ำ   หิวก็หาข้าวให้มันกิน แต่ให้รู้ว่ากินข้าวมันก็ยังจะตายอยู่ แต่เวลานี้ยังไม่ถึงเวลาตาย  ถ้วยชามยังไม่ถึงเวลาแตก  ก็รักษาถ้วยใบนี้ให้เกิดประโยชน์เสียก่อน     ที่มันจะต้องแตกนะถูก  แต่ไม่รักษาไว้ในเวลาที่ควรรักษา มันไม่ถูก     มันเป็นความผิดในความถูก    

 

 

ผมเคยแนะนำ คนไข้เรื่องสูบบุหรี่  คนไข้บอกว่า  หลวงพ่อบอกว่า สังขารมันไม่เที่ยง  อันเราจะพึงตายเป็นแท้   หมอไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  ร่างกายนี้ไม่ใช่ของ ๆ เรา    ผมนึกถึง ธรรมอุปมา  ของหลวงปู่ชามาทันที    ร่างกายนี้ไม่ใช่ของ ๆ เรา    มันไม่เที่ยงน่ะถูก  แต่ การทำร้ายร่างกายตัวเอง   ทำร้ายผู้อื่น   ( ลูก เมีย  คนข้าง ๆ  )  มันอาจจะไม่ถูกนัก 

 


 

  เวลาทำงานอะไรก็ตาม  ( ผมไม่ค่อยถนัดเรียกงานคุณภาพเลย ครับ  เพราะไม่รู้ว่า เขาแบ่งว่า งานคุณภาพ กับ งานไม่คุณภาพตรงไหน   แต่ชอบเรียกงานเป็น งาน มีคุณค่า น่าทำ   กับงานที่ยัง  ไม่เห็นประโยชน์  ถ้าจะทำ   ทำให้เราตัดสินใจ เลือกที่จะทำอะไร และไม่ทำอะไร ได้ง่ายกว่า   )   ผมพบโดยบังเอิญว่า  มักจะ มี    ความผิดในความถูก   จากการกระทำ และความคิด ของผมเอง     อยู่บ่อย ๆ    โชคดีที่ หลายครั้งเช่นกัน ที่คิดได้   ก็บันทึกไว้เป็นบทเรียน   ที่มีค่า       ช่วยลดความ สำคัญตนผิดไปได้ เรื่อย ๆ 

 

ผมขอยกตัวอย่างการตรวจ Complete foot exam อีกครั้งนะครับ    เดือน เมษายน 49        ผมรู้สึกภูมิใจมาก ที่เราสามารถตรวจ Complete foot exam ได้  ใช้ monofilament      ตรวจ pulse ตรวจ ลักษณะความเสี่ยงของเท้า  มีการ couselling    เรื่องเท้า โดย Foot care Nurse     มีการนำแพทย์แผนไทยมาช่วยนวดเท้า   ความครอบคลุม   ถึง 45 %    และคาดว่าสิ้นปี  คงไม่ต่ำกว่า 80 % แน่นอน จากการที่เราไม่เคยตรวจได้เลย  เป็นไปตาม gap  analysis ตัวชี้วัดที่เราต้องทำให้ได้ ใกล้ 100 %  แต่ก็เป็นเดือนเดียวกัน ที่คนไข้ ของเรา คนหนึ่ง เกิดแผล ที่รุนแรง ใช้เวลา และมีความยากในการดูแลอย่างมาก  ( เรื่องของแก เล่าไว้ ใน หัวใจความเป็นมนุษย์   It’s so simple เมื่อตอนก่อน ๆ แล้วครับ )    

 

ที่ตรวจได้  45 % น่ะ จริง ครับ    แล้วก็น่าจะถึง มากกว่า 80 % ก็จริง   อัตราการเพิ่มจาก 0 % เป็น 80 % มันก็ดูดีจริง    แต่ถ้าบอกว่ามันดี  มันสะท้อนผลการดูแลของเรา   อาจจะยังไม่พอ จริงๆ    ทำให้เรา รู้ว่า  จริง ๆ แล้วเรายังอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้  ตลอดเวลา และตลอดไป  มีเรื่องต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ  มันยังมีสิ่งที่ดีกว่านี้อีก  ถึงอย่างไรก็ขอให้อยู่บนเส้นทางก็แล้วกัน

 

 

 

บนการทำงานที่ เต็มไปด้วย คำว่า     KPI  ( ที่เขาขอตัวเลข )  หมู่นี้เยอะจริง ๆ

ผมเริ่มสงสัยว่าที่เขาขอ ๆ กัน มันคือ    Performance    ของงานจริง ๆ หรือไม่

 

 


 

มี เรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ใน รพ.เรา     มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง  สั่งจ่ายยาไม่ครบ ด้วยความบังเอิญ   และก็ฉุกคิดขึนมาได้  ขับรถไปเอง ตามไปถึงบ้าน  เพราะความเป็นห่วง   และรู้สึกผิด    ได้มีโอกาสรู้จักทั้งครอบครัว  ได้รู้ทุกข์ รู้สุข    ได้รู้จักเรื่องราวของครอบครัวนี้ในเวลาต่อมา   จนได้มีโอกาสช่วยแก้ปัญหาของครอบครัวด้วยกันในเวลาต่อมา 

ถ้าเราดูแต่ตัวชี้วัดที่ถูกตามทุกวัน    เป็นตัวเลขอย่างที่ขอกัน   และแล้ว เราก็จะมี ตัวเลขความเสี่ยง ของการจ่ายยาไม่ครบ   อีก 1 ราย  ( ซึ่งมันก็น่าจะมี นะ ตัวเลขตัวนี้ )    ได้รับการแก้ไข  1 ราย   เราอาจมีการจ่ายยาผิด 0.05 %  ยังไม่เกิน    เรารู้สึกตกใจที่เกิดความเสี่ยง แต่ก็ยังดีที่ ไม่เกินเป้า  จบข่าว ?   เรื่องที่สำคัญกว่าตัวเลขไม่ได้เอ่ยถึง และไม่เป็นที่น่าสนใจใด ๆ


 

 

  เมื่อสัปดาห์ก่อน  เจ้าหน้าที่  pcu เทศบาล   อีกคนหนึ่ง  ชื่อ แอ็ด   ตามผมให้ช่วยไปดู  ผู้ป่วยที่บ้าน เพราะ แกทรุดลงอย่างมาก  แอ๊ดบอกว่า  ไม่รู้จะช่วยอย่างไรได้อีก  แต่อยากช่วย  ผมรู้จักแอ๊ด   มานานไปเยี่ยมบ้านด้วยกันหลายครั้ง    สัมผัสได้ถึง ความกระตือรือร้น อยากช่วย อยากเยี่ยมบ้าน อยากทำอะไรก็ได้ให้คนไข้ดีขึ้น    เป็นไปโดยธรรมชาติของเขา   ผมถามภรรยาคุณลุงว่าคิดอย่างไร แกบอกว่าคงไม่ต้องเอาคุณลุงไปไหนหรอก แกจะได้ ไม่ต้องทรมาน.”   พร้อมกับรอยยิ้ม  “ 

 นี่ก็ทำความสะอาดบ้านไว้แล้ว   ลูกหลานมันก็มากันหลายคนแล้ว .”   ฟังแค่นี้ผม กับแอ๊ด ก็เข้าใจ ไม่ถามอะไรต่ออีก ผมบอกว่า ถ้างั้นคุณป้า ก็ดูแลจนถึงที่สุดก็แล้วกันนะครับ  แกพยักหน้า    วันต่อมา   พี่ รชต หัวหน้า pcu โทรมาบอกผม  ว่าแกเสียชีวิตแล้ว   เราน่าจะให้น้ำเกลือแก อีกสักหน่อยแกจะได้มีแรง ก่อนตาย น้ำเสียงพูดด้วยความปรารถนาดี   ผมบอกว่าไม่เป็นไรหรอกพี่  ญาติกับตัวคุณลุงแก เตรียมพร้อมไว้แล้ว    

 

และแล้ว เราก็มีผู้ป่วยเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ อีก 1 ราย  มีการเยี่ยมบ้านก่อนตาย  5 ครั้ง  มีการเยี่ยมคุณภาพ โดยแพทย์ 1 ครั้ง      อัตราการตายไม่ทราบสาเหตุ   0.2 ต่อแสนประชากร

เราอาจเก็บตัวเลขได้ว่า   มีการเยี่ยมบ้านของ pcu เทศบาล  120 ครั้ง  เยี่ยมโดยแพทย์ 32 ครั้ง คิดเป็นการเยี่ยมโดยแพทย์  26.67 % เป็นไปตามเป้าหมาย  เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่า ให้มีการเยี่ยมคุณภาพโดยแพทย์   20 % ขึ้นไป    เรารู้สึกดีขึ้นหน่อยที่เราทำได้เกินเป้าหมาย  ( ทั้งหมดเป็น ตัวเลขสมมุติ แกม จริงนะครับ )


 

     เราไม่สามารถวัด ความเมตตากรุณาเป็นตัวเลขได้   เราไม่สามารถบันทึก  ความเป็นห่วง   และรู้สึกผิด   สายสัมพันธ์ ที่มีระหว่างผู้ให้บริการคนแรก และผู้ป่วยกับ ญาติ  ในตัวเลขการจ่ายยาผิดได้ 

ขณะที่เราต้องการหาสาเหตุ รากเหง้า  ว่าระบบเราผิดตรงไหน ขั้นตอนการผลิดเราผิดตรงไหน   ซึ่ง ไม่พบ  ความเป็นห่วง   และรู้สึกผิด   สายสัมพันธ์   ใน RCA นั้นเลย  คล้ายเครื่องนับเม็ดยา ของโรงงานยา ที่ เราอนุญาต ให้ เครื่องมีความผิดพลาดได้  0.002 %  ถ้าเราสามารถดักจับได้ว่าถ้ามีการนับเม็ดยาผิด   เราก็ CQI  มีเครื่อง ป้องกันอีกหนึ่งชั้น   มีขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพ  รับรองได้ 

 

แอ๊ด พยาบาลที่    รักและเอาใจใส่ ในคนไข้   ความเป็นห่วงว่าเราจะช่วยอะไรได้บ้าง  จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตคุณลุง   ( ผมเชื่อว่า มีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอย่างนี้ อยู่ทั่วประเทศไทย   ไม่ใช่เฉพาะที่วารินฯ  เพราะ อ่านใน G2K ก็เห็นได้ทั่วไป  )   ไม่มีกล่าวถึงไว้ในตัวเลข  เยี่ยมบ้าน 120 ครั้ง  เราไม่สามารถบอกได้ว่าเยี่ยมบ้านด้วย ความเมตตากรุณา 80 ครั้ง  คิดเป็น  ….. %    อีก 40 ครั้ง เยี่ยม ไป งั้น ๆ     เราบอกว่ามีการเยี่ยมคุณภาพโดยแพทย์   26.67 % 

เป็นไปตามเป้าหมาย   แสดงว่า การเยี่ยมของแอ๊ด ถ้าไม่มีผมไป ครั้งสุดท้าย  คงอาจไม่มีคุณภาพเพียงพอ  (  ซึ่งที่แอ๊ด เรียกผมไป ก็เพราะให้มาช่วยกันดู จะได้ปรึกษากันได้ว่าจะทำอย่างไรดี   ไม่ได้คิดว่ามันคือการเยี่ยมคุณภาพอะไร เล้ย ในใจตอนนั้นน่ะครับ )

 

เราเป็นคน  เราทำงานกับคน  เพื่อนร่วมงาน  ก็คน    คนไข้ก็เป็นคน  ญาติก็เป็นคน    มี สุข มีทุกข์ มีสมหวัง มีผิดหวัง  มีสำคัญผิด  มีความกังวล  มีปัญหาส่วนตัว  มี ผิดมีพลาด มี ………….

การวัดคุณค่า  (  ไม่ใช่มูลค่า  หรือ   ค่าตัวเลข   )  ส่วนหนึ่ง น่าจะวัด  เป็นตัวเลข ได้   ก็จริง   และก็ จำเป็นต้องมีตัวเลขเหล่านั้นด้วย  แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่น่าจะยิ่งหย่อนกว่ากัน  คือ  การวัดที่ สัมผัสได้    เพราะเรากำลังทำงานที่     ดูแล สุขทุกข์ ของคน ตัวเป็น ๆ

ผมเห็น G2K นี่แหละเป็นช่องทาง โอกาส ของคนที่มีคุณค่าเหล่านี้ ได้มีโอกาสเล่า เรื่องราวดี ดี  วันแรกที่พบ Gotoknow ผมเห็น โอกาส ของคนทำงาน และขุมทรัพย์ทางปัญญา เลยครับ

 

อาจารย์ หมอโกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์    เล่าใน วันที่ 14 มีนาคม 2550  ใน 8th HA National Forum

หัวข้อ  “  องค์กร ไม่ใช่เครื่องจักร ต้องการความรัก และความเข้าใจ .”   เสนอแนวทางหลัก  ในการสร้างเสริมวัฒนธรรมองค์กร ที่เกื่อกูลต่องานและคุณค่าของชีวิต การดูแล คนอื่นด้วยหัวใจความเป็น มนุษย์  ไว้ 6 ข้อ

   

   มีข้อหนึ่งบอกว่า    สนับสนุน ให้มีการค้นหา และชื่นชมเรื่องราวเกี่ยวกับความดี  คุณธรรมของวิชาชีพ และอุมคติของชีวิตที่แฝงอยู่ในระบบงาน  เรื่องราวของคนเล็ก ๆ ที่ทำงานอย่างใส่ใจ  สมควร  ที่ต้องให้   โอกาส   ถูกนำมาเล่าถึง  สมควรถูกนำมาให้ได้สัมผัส    เป็น Performance ที่สำคัญ  อย่างหนึ่ง  ของการดูแลสุข ทุกข์ ของคน       สม ตามชื่อของงาน    “  คืนหัวใจ ให้ระบบสุขภาพ  .” .ใน 8th HA National Forum

 

หมายเลขบันทึก: 87855เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2007 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับพี่หมอ.... 

เข้ามาร่วม AI กับเรื่องราวดีครับ

ผมกับฟาที่รพ..  กำลังคิดที่นำแนวคิดนี้มาสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรอยู่ครับ  อยู่ระหว่าคิดแนวทาง  กลยุทธ์กันครับ

 

kmsabai  

ดีครับ น้องค่อย ๆ ทำไปมีอะไรมา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท