Holistic Corner : คน และชุมชน ไม่ใช่ภาชนะที่ว่างเปล่า ( จริง ๆ ด้วย )


ผมได้อ่าน ศึกษา  เรื่องราวการทำงานในชุมชน มาสักระยะหนึ่ง เนื่องจากยังด้อยประสพการณ์อยู่มาก  อาจารย์ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  บอกไว้ว่า มิจฉาทิฐิ ในการทำงานชุมชน 4 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ การมองชุมชน เหมือนภาชนะที่ว่างเปล่า ฟังดูก็เข้าใจได้ดีครับ  พอลงทำงาน จริง ๆ ในสนามจริง ก็ยิ่งพบความจริงดังกล่าวมากขึ้นทุกวัน

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผมลงเยี่ยมผู้พิการ ในเขต ตำบลห้วยขะยุง ทุกคน เพื่อศึกษาและหาคำตอบที่สงสัย ว่าเราควรดูแลผู้พิการในชุมชนอย่างไร   การนั่งรอข้อมูลการสำรวจ  จากเจ้าหน้าที่ เพื่อนำมาวางแผน การพัฒนา   ผมรู้สึกว่าในทางปฏิบัติ ค่อนข้างตีบตัน เลยลงมือสัมผัสเองดีกว่า เยี่ยมเจอเองดีกว่า

เมื่อ 5 วันก่อน เราไปเยี่ยมบ้าน ผู้พิการรายหนึ่ง พบอะไรบ้างอย่างที่เราจะไม่ได้เคยเจอเลย ในการตรวจ opd ตามปกติ 

เล็กเป็น ผู้พิการจากอุบัติเหตุ เมื่อ ปี 39 ขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง เดินไม่ได้เลยครับ ต่อมาปี 45 ก็แต่งงานมี ครอบครัว  มีลูก 2 คน เด็กหญิงน่ารักทั้งคู่ครับ ช่วงนี้ยังไม่ได้ทำงานอะไร สามีไปอยู่ที่ กรุงเทพ   เมื่อก่อนเพาะเห็ดขาย  พอมีลูกคนเล็กก็เลยหยุดไป

 ช่วง  2 ปีก่อน เดินทางบ่อยมาก อยู่โคราช เธอบอกว่าต้อง  สวนสายสวน ปัสสาวะเอง เดือนละ 2 ครั้ง ทำเองมา 2 ปีแล้ว  เพราะไม่รู้จะไปสวนที่ไหน ซื้อสาย มาทำเอง  ผมรู้สึกงง ( เล็กน้อย )  เพราะไม่เคยเห็นคนไข้ สวนสายปัสสาวะเองเลยครับ  เล็กบอกว่า ไม่เคยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเลย  จะถามรายละเอียด การสวนก็ดูยังไม่เหมาะ เอาไว้วันหลังจะมาอีก

ระหว่างคุย ผมมองเห็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็เลยถามว่าใครใช้ เธอบอกว่า เป็นของกลุ่ม  สวนเห็ดสานฝัน  หนูเป็นเลขา    ซักไปได้ความว่า เมื่อปี 2544 ( คงประมาณนั้น ) เธอได้มีโอกาส ฝึกเพาะเห็ดที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ อุบลฯ   เป็นโครงการของ FAO   เรียนเสร็จ ก็ยัง  ได้เป็น พี่เลี้ยงฝึก ทั้งคนพิการ  และไม่พิการ   แม้ออกมาจากศูนย์แล้วก็ยังมีคน มาเรียนกับเธอ

 กลุ่มของเล็กได้รับโอกาส ด้านอาชีพ ได้รับรางวัลจาก สมเด็จพระเทพฯ  มีเงิน 10,000 บาท  เป็นรางวัลของกลุ่ม    หลังเรียนจบจึงรวมตัวกันติดต่อกันเรื่อยมา  อาจารย์ที่ปรึกษาก็ยังคอยให้คำปรึกษา มาตลอด  แม้จะจบการศึกษามานานแล้ว ก็ตาม  ( อ.สาธิต ไทยทัศน์กุล  อ.ประเสริฐ วุฒิคัมภีร์ อ.ชนิดา อยู่ ม.อุบล อาจารย์บางท่านอยู่ กทม บางท่านอยู่ นครปฐม ก็ยังมาร่วมประชุมกับกลุ่ม ที่ อุบลฯ )

 

กลุ่มตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้  อาชีพเพาะเห็ดที่ได้เรียนมา ทำต่อไปได้ หาเลี้ยงชีพได้  ตั้งชื่อว่า " ศูนย์รวมสวนเห็ดสานฝัน  "   มีการประชุมต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2544   กำลังจะจัดตั้งมูลนิธิ ชื่อ " มูลนิธิ สานฝันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และผู้ด้อยโอกาส  "   อาจารย์ที่ดูแลกลุ่ม ก็หาทุน มาได้เป็นแสนบาท    วัตถุประสงค์ เน้นการมี จิตสำนึกในการพึ่งตนเอง ของผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส  เพื่อเข้าใจชีวิต     ทุกวันนี้ก็ยังประชุมกันอย่างต่อเนื่อง

คุยเพลินเรื่องมูลนิธิ จนลืมเรื่องการสวน สายสวนปัสสาวะไปเลย ผมขอสมุดบันทึกการประชุม เอามาอ่านต่อด้วย


เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

 

1. เรื่องที่เราพบ เป็นเรื่องบังเอิญแท้ ๆ ครับ เกิดจากการที่เรา ออกเยี่ยมบ้าน เพื่อที่จะดูว่า จริง ๆ แล้ว คนที่เราเห็นแต่ชื่อ ขึ้นกระดาน  ตัวตนจริง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง จะได้ทำงานได้ถูก

อาจารย์โกมาตร บอกว่า เวลาเราลงชุมชน เรามักจะ มองหาแต่ปัญหา เรามองแต่ผู้พิการต้องพึ่งพา  มองว่ามีโรคอะไรต้องจัดการ มองว่าเป็น  bed sore หรือเปล่า สาย cath ขุ่นหรือเปล่า  เราเพ่งมองแต่ปัญหา    เราเลยไม่มอง ศักยภาพ โอกาสที่มีอยู่ในชุมชน ในครอบครัว   เราเลยมักจะพลาดโอกาสสำคํญ ๆ ไป   

2.   กลุ่มที่ผมเล่าให้ฟังนี้ เขามีมาตั้งแต่ ปี 2544 ,ต่อเนื่องมาตลอด  มีเราหรือไม่มี เขามีศักยภาพที่เขาพึ่งตนเองได้ดีอยู่แล้ว  แถมยังกำลังเป็น กลุ่มที่จะช่วยเหลือ คนอื่นๆ ให้สามารถพึ่งตนเองได้อีกด้วย

 ช่วยยืนยัน ว่า  ชุมชน หรือครอบครัว ไม่ใช่ภาชนะที่ว่างเปล่า ที่เราต้องไป  ใส่ในสิ่งที่เราอยากให้เป็น  แล้วเราก็ ไม่ใช่ พระเอกคนเดียวเสียด้วย   เพราะกลุ่มนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเกี่ยวข้องเลย    งานชุมชนเป็นงานของสังคมครับ  อาจารย์ ที่มาช่วยเป็น สายการเกษตร  ผมรู้สึกดีมากๆ    เพราะอาจารย์  ไม่ใช่สอนแล้วสอนเลย  ยังคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้มันยั่งยืน  เกิดดอกเกิดผลต่อได้ แม้จะหมด โครงการจาก FAO มานานแล้ว   กลุ่มนี้ก็ยังคงอยู่

3. การเรียนรู้ สามารถหาได้จาการทำงาน  เราอาจเรียนในตำรา อาจได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้องลองทำดู แล้วค่อยมาทบทวนว่ามันจริงตามที่เขาบอกหรือไม่  เรื่องนี้ ตอนที่ผมเจอเล็ก นึกถึงคำพูดอาจารย์ โกมาตรเลยครับ  ถ้าเราอ่านตำรา ฟังเรื่องราวต่าง ๆ  ไม่ได้มีโอกาสมาใช้ในชีวิตการทำงานจริง   ก็น่าเสียดาย  ทุกวันนี้ ผมก็ได้ G2K นี่แหละครับ  ที่มีแหล่งความรู้พร้อม นำไปลองปฏิบัติ ชอบจริง ๆ     โจทย์ข้อต่อไป คือ เราจะทำกับ ศักยภาพที่ ซุกซ่อนอยู่ในชุมชนของเรา ที่ได้พบเจอแล้ว อย่างไรกันดี

หมายเลขบันทึก: 88981เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2007 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท