ควาย ข้าว ชาวนา


เมื่อช่องว่างระหว่างข้าว-ชาวนาถ่างออกจากกันมากขึ้นๆ หลังจากนี้ชาวนาเราจะอยู่กันอย่างไร.

อ่านหนังสือ "ข้าวปลาอาหารไทย ทำไม? มาจากไหน" (สุจิตต์ วงษ์เทศ. เรือนแก้วการพิมพ์.2551 หน้า 20) มีกลอนเพลงที่สะท้อนถึงความเชื่อของผู้คนยุคก่อนว่าควายเป็นสัตว์ที่เอาพันธุ์ข้าวจากฟ้า (สวรรค์) มาให้มนุษย์เราได้ปลูกกิน .....

 

จะกล่าวถึง ควายต้น บนสวรรค์  เป็นต้นเค้า เผ่าพันธุ์ ควายผู้กล้า
รู้ไถนา ปลูกข้าว กินข้าวปลา มีปัญญา เลิศลบ ทั้งภพไตร
ส่วนมนุษย์ ยังโง่ อดโซนัก

ไม่รู้จัก ข้าวกล้า ทำนาไร่

อยู่ดิน กินดาว กับราวไพร เผือกมัน ผลไม้ พอได้กิน
ควายสวรรค์ ลงมา หามนุษย์ สอนที่สุด ไถนา วิชาสิ้น
ปลูกข้าว ได้ข้าว มีข้าวกิน ก็หลงรส หลงลิ้น กินข้าวควาย
คนแย่งควาย กินข้าว ไม่ขายหน้า ควายต้องกินฟางหญ้า ปัญญาหาย
คนเริ่มเก่ง กาจกว่า บรรดาควาย ควายก็ควาย เป็นควาย แต่นั้นมา

 

.....

.....

 

ประจวบเหมาะเหลือเกินกับหลายวันที่ผ่านมาข่าวเกี่ยวกับ "ข้าว" กำลังเป็นกระแสที่สร้างความปั่นป่วนและระส่ำระสาย นำไปสู่การถกเถียงกันเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วในสังคม

 

จากกรณีที่นักลงทุนจากต่างประเทศสนใจที่จะเช่านาจากคนไทยเพื่อลงทุนทำนา ร่วมลงทุนทำนาและลงทุนด้านการค้าข้าวในไทย

 

หลังจากนั้นก็มีทั้งผู้ที่สนับสนุนในแนวคิดและผู้ที่คัดค้าน โดยกลุ่มสนับสนุนให้เหตุผลว่าจะช่วยยกระดับฐานะเกษตรกรไทยให้อยู่ดีกินดีจากราคาข้าวที่สูงขึ้น ส่วนฝ่ายที่ค้านก็ให้เหตุผลว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่ยาวนาน รวมถึงการกล่าวว่าเป็นพวกขายชาติขายแผ่นดิน

 

การเข้ามาของกลุ่มทุนต่างชาติเราเคยมีบทเรียนมากมายมาแล้วกับการมาลงทุนแบบกระเป๋าหนักจากต่างประเทศ ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยความรู้ เทคโนโลยีและเงินทุนมหาศาลที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยต่างพากันล้มหายตายจาก (ทางเศรษฐกิจ) ไปตามๆ กัน...

 

แล้วคิดว่าประโยชน์ที่ได้จากกรณีนี้มีอะไรบ้าง?

 

หากมองในระยะสั้นเราจะเห็นความเจริญเติบโตและเห็นผลกำไรจากการทำธุรกิจซื้อขายข้าวจากทุนต่างชาติ

แต่หากหลับตามองกันในระยะยาว อาจมีข้อสงสัยจนกระทั่งตั้งคำถามได้ว่า แนวคิดนี้ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้จริงหรือ  หรือว่านี่คือจุดเริ่มต้นการล่มสลายของสังคมชาวนาไทย?

 

ราคาข้าวที่สูงในปัจจุบัน "ชาวนา" หรือ "ใคร" ได้ประโยชน์ (เท่าที่พูดคุยกับเกษตรกรเกือบทั้งหมดบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าข้าวในยุ้งไม่มีแล้วเนื่องจากพากันนำไปขายตั้งแต่ราคาอยู่ที่ 10 บาท แม้แต่ข้าวที่จะทำพันธุ์ในปีนี้ยังต้องแย่งกันซื้อจนแทบจะเหยียบกันตาย)

และราคาข้าวที่แพงมากเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบันเป็น "ราคาจริง" ขึ้นลงตามกลไกตลาด หรือเกิดจากการ "ปั่น" ราคาเพื่อการเก็งกำไรของพ่อค้าคนกลางกันแน่หนอ???

 

...

ประเด็นสำคัญก็คือว่า

 

ถ้าหากเราตัดความวิตกกังวลว่าแนวคิดการดึงนักลงทุนจากต่างชาติมาทำธุรกิจซื้อ-ขายข้าวจากชาวนาไทยนี้จะเป็นตัวทำลายจุดแข็งของไทยที่ครองความเป็นหนึ่งในการส่งออกข้าวเลี้ยงประชากรโลก

 

นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของชาวนาไทยที่จะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา รวมถึงการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ต่อข้าวที่มีมาแต่เดิมซึ่งทำนาเพื่อการบริโภคไปสู่การทำนาเพื่อการค้า

 

แต่....ศักยภาพทางการแข่งขันของชาวนาจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับเทคโนโลยี/เครื่องจักรกลสมัยใหม่หรือความก้าวหน้าทางวิชาการของต่างชาติได้หรือ

 

และชาวนาสามารถปรับตัวเองให้ทันต่อการแข่งขันได้ทันกระนั้นหรือ

 

เกรงว่าสุดท้ายแล้ว....ชาวนาไทยจะตกอยู่ในชะตากรรมเหมือนกับ “กลอนเพลง” ข้างต้น....ลงทุนลงแรงทำนาแล้วไม่มีสิทธิ์ในผืนนา/ไม่มีสิทธิเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่พึงได้จากการลงทุนนั้น และทำได้เพียงยืนมอง (ตาปริบๆ) ดูเจ้าของตัวจริงมาขนข้าวออกไป....

 

เมื่อช่องว่างระหว่างข้าว-ชาวนาถ่างออกจากกันมากขึ้นๆ หลังจากนี้ชาวนาเราจะอยู่กันอย่างไร....มีอะไรให้ชาวนาได้ภาคภูมิใจ....หรือเป็นได้เพียงผู้รับจ้าง/กรรมกรแห่งท้องทุ่งนา

 

.......

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 184696เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2008 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (41)

ขออนุญาตนำไปรวม ในรวมตะกอนครับ ขอบคุณมากครับ

http://gotoknow.org/blog/mrschuai/117622

สวัสดีครับคุณพิทักษ์

    ขอบคุณมากๆ นะครับและิยินดีที่ได้รู้จักนะครับ ที่ช่วยกันเขียนเพื่อให้หลายๆ คนได้ร่วมคิดกันนะครับ ผมคิดว่าเมืองไทยมีความพร้อมพอทางพื้นที่ทำกินและมีความอุดมสมบูรณ์มากครับ เพียงแต่เราขาดการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อเป็นการสร้างผลผลิตให้เกิดและแบ่งปันแจกจ่ายให้หล่อเลี้ยงคนในชาติให้เพียงพอ ที่เหลือไปก็ค่อยส่งออก แทนที่เราจะเน้นการส่งออกเป็นหลัก ขายไม่เหลือแม้แต่เมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะเอาไว้ปลูกในครั้งถัดไป นี่เป็นจุดที่จะทำให้เราสิ้นครับ เพราะว่าหากเราไม่มีเมล็ดพันธุ์ต่อไปจะเอาเมล็ดพันธุ์จากไหนหากไม่ซื้อ การที่ซื้อก็คือการที่ต้องยอมรับในกฏเกณฑ์ของพันธุ์ใหม่ๆ ตามที่ผู้ผลิตได้วางเกมส์เอาไว้ในเมล็ดข้าวนั้นๆ หากเกมส์นั้นเป็นไปด้วยความหวังดี ชาวนาก็ไ่ม่ตกเป็นเหยื่อในการทำนาให้คนได้บริโภคครับ แ่ต่หากเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นเปลี่ยนแปลงไปสู่การจัดการพันธุ์โดยอยู่บนฐานของความเป็นธุรกิจและขยายพันธุ์ในรอบต่อๆ ไปได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อย่างเดียว อย่างพวกข้าวโพด อะไรทำนองนี้ วิถีชาวนาก็แย่ครับ เพราะต้องซื้อตลอดไป  ลองเอาเมล็ดข้าวโพดที่ได้จากการปลูกจากเมล็ดพันธุ์ในกระป๋องดูนะครัีบ แล้วเอาไปปลูกนะครับ ว่าได้รับผลดีแค่ไหนนะครัีบ ในรุ่นต่อไป ....  อันนี้ว่าด้วยเมล็ดพันธุ์ครัีบ

    ดังนั้นการจะทำเกษตร ต้องมีเมล็ดพันธุ์ที่จริงใจ เหมือนกับการที่คิดจะพัฒนาชาติ เมล็ดพันธุ์ทางความคิดเชิงพัฒนาบนพื้นฐานของความพอเพียงในทางสาัยกลางเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเช่นกัน ดังนั้นผู้บริหารประเทศก็ควรจะต้องมีเมล็ดพันธุ์แห่งการพัฒนาและให้อย่างจริงใจในทุกๆ สาขาอาชีพ นักลงทุน นายทุน ก็เช่นกัน หากประเทศนี้ไม่มีคนอาศัยอยู่เลย จะมีธุรกิจเหล่านี้ไปเพื่ออะไร.... เปิดพื้นที่ให้ทุกๆ คนยืนได้ มีจุดยืนอย่างมีเกียรติในทุกสาขาอาชีพครัีบ

ขอบคุณมากๆ นะครัีบ

สวัสดีครับ สิทธิรักษ์

ขอบคุณมากครับที่หยิบข้อความในบันทึกไปรวมตะกอน

เป็นกำลังใจได้ดีทีเดียวครับ

สวัสดีครับ อ.เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

เมืองไทยของเราตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะในการทำการเกษตรนะครับ จนได้ชื่อว่าเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" หรือ "สุวรรณภูมิ" และเป็นเมืองเกษตรที่ปลูกข้าวกันมากจนสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกมานาน (ตรงนี้มังครับที่ดึงดูดนักลงทุน)

แต่ชาวนาบ้านเราก็ยังมีฐานะไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาในประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ว่าชาวนาแย่งกันซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจนแทบจะเหยียบกันตายนั้น เป็นข่าวเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาน่ะครับ โดยชาวนา (และข้าราชการที่หันกลับมาทำนาเนื่องจากข้าวมีราคา) ได้ไปแย่งกันซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ (ตามข่าวบอกว่ามากกว่า 5,000 คน) เพราะกลัวว่าจะไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวไปทำพันธุ์ในฤดูกาลนี้ หลายคนกลับบ้านมือเปล่าเพราะว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวถูกจองล่วงหน้าหมดแล้ว ----> แปลกแต่จริงว่า ทั้งๆ ที่เมล็ดพันธุ์ข้าวในประเทศไทยมีมากมายตั้ง 25,000 สายพันธุ์ (เป็นของไทยแท้ประมาณ 20,000 สายพันธุ์) และเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่มีความทนทานตามสภาพพื้นที่อีกหลากหลายสายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ข้าวก็ยังมีไม่พอต่อความต้องการ เนื่องจากชาวนาปลูกข้าวพันธุ์เดียวกัน (ขายได้ราคาดี)

จึงน่าเป็นห่วงว่าชาวนาต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยการผลิตจากข้างนอกแทบทุกอย่าง แม้แต่เมล็ดพันธุ์ซึ่งชาวนาในอดีตสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้เอง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าปัจจัยการผลิตที่เป็นองค์ประกอบอย่างอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น ที่ดิน (เป็นของตนเองหรือเปล่า) ทุน (ปัจจุบันควักกระเป๋าตัวเองหรือว่าควักจากกองทุนหมู่บ้านหรือจากกระเป๋านายทุน) แรงงาน (ลงแรงเองหรือว่าจ้างแรงงานข้างนอก) เทคโนโลยี (เดี๋ยวนี้รถไถเดินตามราคากว่า 30,000 บาท) และการจัดการ (ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่)

แล้วชาวนาจะมี "ที่ยืนหรือจุดยืน" อย่างมีเกียรติสมกับคำที่ติดตราว่า "กระดูกสันหลังของชาติ" ได้โดยวิธีการไหนต้องให้หลายๆ ฝ่ายช่วยกันครับ

ขอบคุณมากๆ ครับ   :)

มาเยี่ยมและมาอ่านค่ะ เห็นด้วยกับคุณเม้งด้วยค่ะ

สวัสดีครับคุณSasinanda

ปีนี้ฝนฟ้า/น้ำหลากเร็วผิดจากหลายปีที่ผ่านมานะครับ เมื่อต้นเดือนผมได้พูดคุยกับลุงๆ ป้าๆ ชาวนาหลายท่าน ได้รับทราบว่าเรื่องราคาข้าวแพงในปัจจุบันทำให้ต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังในการทำนามากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงว่าจะไม่เสียเวลา/เสียเงินไปกับการตัดสินใจผิดพลาด เพราะราคาข้าวที่สูงขึ้นทำให้ชาวนาขายข้าวไม่เหลือกระทั่งเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้เตรียมลงนาปีนี้ น่ากังวลเหมือนกันครับว่าปีต่อๆ ไปชาวนาจะไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเอาไว้เองอย่างเคย ผลผลิตที่ได้มาก็ขายออกหมด ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวตอนนี้จึงดีดตัวขึ้นไป 2 เท่าตัวภายในเวลาไม่ถึงเดือน....

ขอบคุณมากครับ

มาเยี่ยม และอ่าน เป็นกำลังใจให้ชาวนาด้วยคน ณ ขณะนี้สถานการณ์พันธุ์ข้าว ที่บ้านซาโตริก็เก็บไว้ขายเป็นเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 5 ตัน (แต่มีสมาชิกจองแล้ว)

สวัสดีครับ "ซาโตริ"

ปีนี้คาดว่าคนจะหันกลับมาทำนากันมากขึ้นกว่าเดิม...(ไม่รู้ว่าปลายปีราคาข้าวจะตกไปที่ กก.ละกี่บาท)

...ลู่ทางใหม่ที่น่าสนใจคือการทำแปลงพันธุ์ข้าวไว้จำหน่าย ราคาดีกว่าขายเป็นข้าวทั่วไปแน่นอน

ปีนี้ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมื่อปลายเดือนที่แล้วกิโลกรัมละ 15.50 บาท ตอนนี้ราคา 30 บาท ชาวนาก็แทบจะไม่หาซื้อพันธุ์ข้าวไม่ได้

ปีหน้าคงต้องจองผ่านคุณซาโตริเนาะครับ....เผื่อด้วยเน้อ...

ขอบคุณครับที่แว้บบบบบมา

:)

เป็นแนวคิดที่น่าจะนำเสนอชาวนาเครือข่ายท่านแล้วละคุณพิทักษ์ ผลิตพันธุ์ข้าวให้พอกับความต้องการเครือข่ายเหลือถึงจำหน่ายจ่ายแจก อย่ารอซื้อเลยทำ ณ บัดเดี๋ยวนี้ยังทัน

สวัสดีครับซาโตริ

ขอบคุณครับที่ให้คำแนะนำ

ขอเพิ่มเติมข้อมูลส่วนที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้วในพื้นที่รับผิดชอบ เราได้จัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน (ตอนนี้เรียกสั้นๆ ว่าศูนย์ข้าวชุมชน)จำนวน 2 ศูนย์พื้นที่ดำเนินการตอนนี้รวมประมาณ 400 ไร่ และได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 ผลผลิต (เมล็ดพันธุ์ข้าว) ที่ได้ปีแรกสามารถแจกจ่าย/แลกเปลี่ยน/ขาย/ให้กู้ เป็นพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ (ปีเริ่มดำเนินการในปีแรก-2543 มีเพียงศูนย์เดียว พื้นที่แปลงพันธุ์ 200 ไร่)

และในปีนี้มีโอกาสไปร่วมทำเวทีชุมชน (ประชาคมหมู่บ้าน-โครงการ SML) ได้แนะนำโครงการทำนองเดียวกับศูนย์ข้าวชุมชนเป็นกองทุนหมุนเวียน เพื่อไม่ต้องวิ่งหาซื้อเมล็ดพันธุ์กันเรื่อยไป

ผลที่ได้รับคือมี 2 หมู่บ้านเห็นดีเห็นงามกับคำแนะนำ เสนอโครงการเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นอันดับแรก (แต่ไม่รู้ว่าจะได้รับการอนุมัติหรือเปล่าต้องตามไปลุ้น!!!)

หากทำสำเร็จเท่ากับว่ามีศูนย์ข้าวชุมชนเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับชุมชนได้อย่างเพียงพอไม่ต้องพึ่งเมล็ดพันธุ์จากภายนอกอีกต่อไป (ไชโย!!!)

ชาวบ้านเองก็เคยมีประสบการณ์การซื้อเมล็ดพันธุ์แบบตั้งความหวังไว้สูงมากว่าจะเป็นพันธุ์ดี สายพันธุ์บริสุทธิ์แต่หลังจากปลูกได้จนเติบโตจึงได้รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาไม่งามอย่างที่คิด มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้องการปนติดมาด้วย ....เก็บพันธุ์ไว้เองจะสวยกว่าซะอีก...

ขอบคุณมากๆ ครับ

  • แวะมาถามซื้อพันธ์ข้าวกะว่าจะปลุกข้าวไว้กินเองอ้าวไม่ทันซะแล้ว
  • สนใจข้าวหอมมะลิสุรินทร์เพราะอร่อยมากหุงแล้ว เมล็ดเล็กสวย ร้านข้าวมันไก่นิยมซื้อมาก
  • การลงทุนจากต่างชาติต้องไตร่ตรองให้ดี ว่าจะเป็นการหอบเงินออกนอกประเทศ 80/20เหมือนลงทุนทำธุรกิจอื่นๆหรือไม่
  • เพราะหากชาวนากัดฟันทำเองยังพอได้กินได้ใช้เลี้ยงลูกหลาน
  • เป็นกำลังใจให้ชาวนาไทยทุกคนนะคะ

สวัสดีครับ

  • แวะมาทักทายครับ
  • มาดูกระดูกสันหลังของไทยครับ
  • กระดูกสันหลังของไทย ถ้ากระดูกหัก แล้วจะทำอย่างไร
  • ใครจะดามให้
  • คงต้องช่วยๆ กันแล้วหล่ะครับ
  • อย่าปล่อยให้กระดูกสันหลังของชาติหักเลยครับ
  • เท่านี้ ชาวนาก็จะแย่แล้ว
  • ยังไงก็เป็นกำลังใจให้
  • ควาย
  • ข้าว
  • และชาวนา ด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ naree suwan

  • ดีใจจังประธานฯ มาเจิมร้านให้แล้ว...อิ.อิ.
  • ไม่รู้ว่าข้าวหอมมะลิจะมีกลิ่นอื่นปนหรือเปล่าครับ (กลิ่นถังใหม่น่ะ) จะทำให้เสียรสดั้งเดิมไป
  • หุงข้าวหอมมะลิต้องเติมน้ำในระดับพอดี ไม่งั้นจะนิ่มเกินไป ทานไม่อร่อย (โดยเฉพาะข้าวใหม่ จะหุงยากมากสำหรับมือใหม่อย่างผม. เคยแฉะจนเป็นข้าวต้มก็มี  ;)
  • ร้านค้าในจังหวัดสุรินทร์ แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีหากติดป้ายว่า "ร้านนี้เสริฟด้วยข้าวหอมมะลิ" ลูกค้าจะเข้าเยอะ
  • ..
  • มีข่าวก่อนหน้านี้ว่านักลงทุนจะมาตั้งบริษัทรับจ้างทำนาไร่ละ 5000 บาท (แต่มีการปฏิเสธข่าวภายหลังว่าจะมาลงทุนทำธุรกิจซื้อขายข้าวเท่านั้น) ถ้าเป็นอย่างกรณีแรก ภูมิปัญญาการทำนาของชาวนาไทยคงหดหายไป....เพราะเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ก็ใช้เงินทำนากัน ตั้งแต่-ปั้นคันนา-ไถ-หว่านข้าว-หว่านปุ๋ย-ถอนหญ้า-ฉีดยา-เกี่ยว-นวด-ขนย้าย- ฯลฯ
  • นอกจากเงินถูกหอบออกนอกประเทศแล้วภูมิปัญญายังถูกหอบออกไปด้วย...น่าเสียดายครับ

ถ้า อ.อ็อดไปสุรินทร์จะพาไปอาบแดด (ดำนา) เตรียมแปลงนาไว้แล้ว.....  :)

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับครูโย่ง

  • ขอบคุณครับที่ให้กำลังใจชาวนาไทย
  • ช่วงนี้กระแสทุนกำลังมาแรงนะครับ
  • โชคดีที่คนส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรฯ (ปรบมือให้ดังๆ เลย)
  • ...
  • พูดถึงควายแล้วตอนนี้ทำท่าว่าจะได้รับงานหนักอีกแล้ว
  • เพราะว่าวิกฤติน้ำมันแพง คนหันมาใช้บริการควายกันมากขึ้น
  • ถึงควายจะไถนาได้เพียง 1-2 ไร่ต่อวัน (ก็ยอม)
  • เป็นโอกาสที่ควายจะได้สำแดงฝีมืออีกรอบหนึ่ง..หลังจากว่างงานไปนาน (ลืมคันไถรึยังไม่รู้)

ขอบคุณครับ

ขอแลกเปลี่ยนการขยายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมเท่าที่เคยปฏิบัติ สมัยปู่ย่าตายายก็จะคัดเลือกเอารวงข้าวที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ (มัดเป็นฟ่อนนำมาวางบนกระด้งเลือกรวงข้าวแล้วนำไปแขวนไว้ในยุ้งฉางถึงเวลาปักดำถึงจะนำมานวดลงสู่ กระบวนการตกกล้า ปักดำ)โดยท่านบอกว่า ป้องกันพันธุ์ข้าวปะปนกับสายพันธุ์อื่นๆ แล้วคุณพิทักษ์ มีวิธีดั้งเดิมแบบอื่นๆอีก.....

สวัสดีครับ"ซาโตริ"

  • การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ชาวนามีวิธีการคัดที่หลากหลายแตกต่างกัน หากประณีตมากหน่อยก็ทำแบบที่คุณซาโตริว่า ปู่ย่าตายายก็จะคัดเลือกเอารวงข้าวที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ (มัดเป็นฟ่อนนำมาวางบนกระด้งเลือกรวงข้าวแล้วนำไปแขวนไว้ในยุ้งฉางถึงเวลาปักดำถึงจะนำมานวดลงสู่ กระบวนการตกกล้า ปักดำ)โดยท่านบอกว่า ป้องกันพันธุ์ข้าวปะปนกับสายพันธุ์อื่นๆ
  • อีกวิธีการหนึ่งที่ชาวนาในอดีตถือปฏิบัติ (และใช้กันมาก) คือ ชาวนาจะเลือกแปลงนาที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้การสังเกตด้วยสายตาว่าแปลงนั้นๆ มีรวงข้าว/จำนวนเมล็ดต่อรวงมาก มีความสมบูรณ์และไม่มีโรค 
  • เกี่ยวข้าวด้วยมือแยกกองไว้ออกจากข้าวที่ใช้บริโภคหรือที่จะเก็บไว้ขาย
  • การนวดข้าวก็ด้วยมือ (เนื่องจากยังไม่มีรถนวด/รถเกี่ยวนวดอย่างในปัจจุบัน; ผมเองเคยถูกปลุกให้ไปช่วยนวดข้าวแต่เช้ามืด ประมาณตีสองตีสาม คงเห็นว่าไม่ได้เรื่องเท่าไหร่เพราะมัวแต่นอนดูดาวตก...แล้วก็หลับต่อ ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยถูกปลุกให้ไปช่วยอีกเลย....อิอิ.)
  • หลังจากนวดเสร็จก็จะนำไปกองแยกไว้มุมหนึ่งของยุ้ง/ฉาง (เพราะไม่มีกระสอบ) ไม่ให้ปะปนกับข้าวที่ไว้ขาย
  • ...
  • ส่วนวิธีการคัดพันธุ์ที่ทำร่วมกับกลุ่มชาวนา (ศูนย์ข้าวชุมชน) ในปัจจุบันเราคัดพันธุ์เพื่อตัดข้าวปนเป็นระยะๆ ตลอดฤดูปลูก ตั้งแต่ระยะการเจริญเติบโต (ระยะกล้า) หากพบว่ามีลักษณะผิดปกติหรือเป็นโรคจะถอนทิ้ง ระยะแตกกอ หากพบว่ามีต้นใดที่โตมีลักษณะผิดพี่ๆน้องๆ สันนิษฐานว่าเป็นพันธุ์ที่แปลกปลอมเข้ามาก็ถอนทิ้งเช่นกัน เมื่อถึงระยะข้าวออกดอก เราจะสังเกตความสูง/ต่ำ ความสม่ำเสมอของการออกดอก หากพบว่ามีกอใด/ต้นใดออกดอกก่อนชาวบ้านชาวเมือง หรือมีความแตกต่างจากพันธุ์ที่ปลูกในแปลง ก็ถอนทิ้งทันที จนถึงระยะข้าวโน้มรวง หากพบว่ามีข้าวที่สุกก่อน/หลัง หรือมีอาการผิดปกติ ก็จะกำจัดหรือเกี่ยวไปให้วัวกิน
  • หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ซึ่งต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
  • ปฏิบัติกันเพียงเท่านี้ชาวนาจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์ แต่ถ้าใช้วิธีการเกี่ยวโดยจ้างรถเกี่ยวนวด วิธีการคัดพันธุ์แบบไหนๆ ก็คงไม่ได้ผลเนาะครับ

ขอบคุณครับ  :)

  • สวัสดีครับคุณพิทักษ์
  • ตามมาอ่านบันทึกครับ
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาแลกเปลี่ยน

 

สวัสดีครับพี่สิงห์ป่าสัก

  • วันนี้นั่งคิดถึงเกษตรกรที่ปลูกอ้อย (แบบนายทุน) เคยมานั่งบ่นให้ฟังว่าปีนี้ขาดทุนไปกับอ้อยหลายแสนบาท!!!
  • เพราะทุกอย่างต้อง "จ่าย" ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี-วิชาการ-ท่อนพันธุ์-ปุ๋ย-ยา-ค่าแรงปลูก-เกี่ยว-รถบรรทุกขนย้าย-(ผ่านตัวแทน)
  • ซึ่งก่อนหน้าที่จะลงทุนปลูกต่างฝันหวานถึงผลกำไรเป็นเงินก้อนโต
  • ถ้าหากชาวนาเดินตามรอยชาวไร่อ้อยที่ผมได้คุยด้วย ซึ่งต้องมีรายจ่ายทุกอย่างตลอดการปลูกข้าวก็น่าเป็นห่วงนะครับ....ว่าจะได้กำไรมาจากไหน

ขอบคุณครับ

เรียนคุณพิทักษ์

ขอบคุณครับ สำหรับแนวทางการคัดสรรพันธุ์ข้าว

ถ้าชาวนาใช้ทุน(แรงกายคน/สัตว์เป็นหลัก)โดยอาศัยทุน(ปัจจัยเงินส่วนน้อย) ในสภาวะปัจจุบันได้ .....ชาวนาติดหนี้น้อยลง

สวัสดีครับ "ซาโตริ"

เรื่องต้นทุนการผลิตถือเป็นปัญหาหนักของเกษตรกร/ชาวนาอย่างมากในปีนี้ เพราะต้อง "จ่าย" เพิ่มมากขึ้นจากราคาปุ๋ยเคมีที่ดีดราคาขึ้นกว่า 1,000 บาท/กระสอบ (ไม่นับค่าแรงงาน ค่าเช่าที่นา ค่ายา ฯลฯ ทุกอย่างขึ้นราคาหมด)

จากการคำนวณต้นทุนการผลิตข้าวนาปี (ปี 2550) ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ต่อไร่ (หรือมากกว่านี้) ซึ่งต้นทุนการผลิตของเกษตรกรแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน ดังนั้น ต้องวิเคราะห์ส่วนไหนที่สามารถลดได้ ลดโดยวิธีอะไร ใช้เทคโนโลยีอะไรทดแทน การลดต้นทุนการผลิตมีข้อดี/ข้อเสีย-มีผลกระทบอย่างไร ต้องไปนั่งคุยกับชาวนาจึงจะได้คำตอบ

ในสภาวะปัจจุบันทุกคนต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเนาะครับ...ไม่เฉพาะชาวนาเท่านั้น

ขอบคุณครับ

เรียนคุณพิทักษ์

- ลงทุนนั่งคุยกับชาวนาได้ ก็เป็นคุณกับชาวนาหลายๆเด้อ ปรบมือให้ก้าวหน้าหาวิธีลดได้จะขอ ปัญหาฝาก "นักวิชาการวิเคราะห์เป็นปฏิบัติบ่อได้ ชาวนาเฮ็ดเป็นแต่วิเคราะห์บ่อได้ เมื่อไหร่จะเจอกันเน๊าะๆๆๆ (แบบนั่งคุยกันอีหลีตั๊วอยากเห็น)

หวัดดีคับ ซาโตริ

จากการทำงานร่วมกับชาวนามาในเวลาพอสมควร ผมว่าชาวนาวิเคราะห์เป็นและวิเคราะห์ได้ไม่แพ้นักวิชาการ(แต่เป็นการวิเคราะห์แบบชาวนา)

เพียงแต่คน "ข้างนอก" ทำให้ชาวนาใช้ความรู้สำเร็จรูปมาเป็นเวลานาน จนแทบจะไม่ต้องใช้ความคิดของตนเอง (รวมถึงการสนับสนุนทุนอื่นๆ แก่ชาวนาในรูปแบบต่างๆ)

วิธีการที่ผมได้ทำร่วมกับชาวนาก็ใช้หลักการเดียวกันกับวิธีการพัฒนา/ส่งเสริมทั่วๆ ไป เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการวิเคราะห์ปัญหา ศึกษาสภาพแวดล้อมร่วมกัน

วิเคราะห์รายได้/รายจ่าย....อะไรที่สามารถลดได้ อะไรลดไม่ได้-ต้องซื้อ รวมถึงให้นั่งวาดวิมาน/ชุมชนในฝันว่าอยากให้ชุมชนของตนเดินทางไปไนทิศทางไหน

เสร็จแล้วก็จัดลำดับความสำคัญของงาน+แบ่งงาน/ทำงานร่วมกัน ทั้งในรูปแบบกลุ่มและรูปแบบต่างคนต่างทำตามความสนใจ

สุดท้ายจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ทั้งระบบ และเราก็จะพบว่าชาวนาสามารถคิดวิเคราะห์ปัญหาของตนเองได้เกินความคาดหมาย (ไม่ใช่ได้แค่ "ฝนแล้ง แมลงลง ดินไม่ดี ไม่มีทุน" ฯลฯ)

ทั้งนี้....เจ้าหน้าที่/นักวิชาการต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกและทำตัวเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวนา จึงจะเกิดความไว้วางใจและดึงการมีส่วนร่วมจากชาวนาได้เต็มที่

ช่วงเวลานี้ผมจึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่บรรยากาศการทำการเกษตรแบบช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม - ชาวนาพึ่งตนเองและลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้นจะกลับมาให้เราเห็นอีกครั้ง

ขอบคุณครับ

(ปล.ซาโตริ โทร.กลับด้วยนะครับ)

> เรียนคุณพิทักษ์

- ทราบแต่จะหาผู้ที่ทุ่มเทเข้าถึงเหมือนในภาพนี้ <ซักกี่ท่าน....<

ขอบคุณครับ

P  คุณพิทักษ์

หวัดดีคับ..ซาโตริ

ไม่ทราบว่ามีผู้ทุ่มเททำงานโดยไม่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รับรู้จะมีกี่มากน้อย

ทราบแต่ว่าถ้าถูกกระตุ้นที....ก็เร่งทำกันที...ทำนองว่าชอบไฟลนก้นไงคับ...อิ.อิ.

ขอบคุณครับ

ธุ คุณพิทักษ์ค่ะ ..

ต้อมตอนเด็กๆ เคยนึกว่า ข้าวก็มีอยู่เยอะแยะมากมาย ข้าวไม่มีวันหมดไปจากเมืองไทย เพราะเกิดมาก็เห็นทุ่งนา เห็นต้นข้าวไหวๆ สุดลูกหูลูกตา ไม่เคยรู้ด้วยว่าข้าวเนี่ย พ่อแม่ต้องทำงาน ได้เงิน มาซื้อหาแลกข้าว

โตขึ้นก็ยังคงคิดว่า..ก็ข้าวก็คือข้าว ร้านโน้นก็มี ร้านนั่นก็ขาย

พอตอนนี้หาเงินซื้อข้าวกินเองก็..โอยยยยยยย ทำไมข้าวมีราคาแพงจัง และกว่าจะมาเป็นข้าวทำไมยากลำบากขนาดนี้นะ (หลังจากที่ได้อ่านหนังสือ ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น /ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์ ที่เธอกรุณาส่งมาให้)

เป็นกำลังใจให้ชาวนาไทยค่ะ ^^

  • ธุ คุณพิทักษ์ค่ะ ..

ต้อมตอนเด็กๆ เคยนึกว่า ข้าวก็มีอยู่เยอะแยะมากมาย  ข้าวไม่มีวันหมดไปจากเมืองไทย   เพราะเกิดมาก็เห็นทุ่งนา  เห็นต้นข้าวไหวๆ สุดลูกหูลูกตา   ไม่เคยรู้ด้วยว่าข้าวเนี่ย พ่อแม่ต้องทำงาน  ได้เงิน  มาซื้อหาแลกข้าว

โตขึ้นก็ยังคงคิดว่า..ก็ข้าวก็คือข้าว   ร้านโน้นก็มี  ร้านนั่นก็ขาย

พอตอนนี้หาเงินซื้อข้าวกินเองก็..โอยยยยยยย ทำไมข้าวมีราคาแพงจัง   และกว่าจะมาเป็นข้าวทำไมยากลำบากขนาดนี้นะ (หลังจากที่ได้อ่านหนังสือ ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น /ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์  ที่เธอกรุณาส่งมาให้)

เป็นกำลังใจให้ชาวนาไทยค่ะ  ^^

สวัสดีครับน้องต้อมP เนปาลี

..(กว่าจะหลุดจากอาการเน็ต errer แทบแย่!!!)

  • กว่าจะมาเป็นข้าวทำไมยากลำบากขนาดนี้นะ
  • พี่กั๊ตของต้อมเคยถามว่าถ้าให้ไปทำนาปลูกข้าวกินเอง...ไหวมะ...
  • เอ๊า..แบบนี้ดูถูกกันนี่...
  • แค่พ่อใช้ให้กรอกข้าวใส่กระสอบพี่ก็ต้องเสียตังค์ค่ายาไปหลายบาทแล้ว....(แพ้ละอองข้าวน่ะ..อิ.อิ)
  • ...
  • ชาวนาต้องทำนาด้วยความยากลำบากกว่าจะได้ข้าวเม็ดขาวๆ มาให้เราได้กินกันเนาะครับ
  • เฉพาะขั้นตอนกว่าจะเติบโต เริ่มจากการหว่าน>> แตกกอ >>ออกรวง >>เก็บเกี่ยว ก็ใช้เวลาตั้ง 120 วัน (ข้าวหอมมะลิ)
  • ชาวนายังต้องคอยประคบประหงมไล่นกไล่หนูไล่กา ไม่ให้มาแย่งผลผลิตไปกิน
  • ราคาอย่างที่เป็นในปัจจุบันเป็นราคาที่ชาวนาไม่เคยพบมาก่อน...หลายๆ คนบ่นเสียดายที่ข้าวในยุ้งหมดไปก่อนแล้วตั้งแต่ราคา 10 บาท
  • ขอบคุณที่เป็นกำลังใจให้ชาวนานะครับ..

หนังสือ ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น /ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์  ผมยังไม่เคยผ่านตาเลย...อยากอ่านๆๆ

ขอบคุณครับ

 

  • ธุ คุณพิทักษ์..

งั้นพรุ่งนี้ ต้อมจะส่งหนังสือปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น /ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์  ไปให้ยืมอ่านค่ะ     พี่นุชคงดีใจที่หนังสือเล่มนี้..ใครๆ ก็ได้อ่าน  ^^

อ่านแล้วรู้สึกมหัศจรรย์น่ะค่ะ  ว่า โห..กว่าจะมาเป็นข้าวนี่นะ    ว่าแต่วันไหนปลูกข้าวเอง  ต้อมจะชวนพี่อ็อด พี่ยาหยี ไปปูเสื่อนั่งดู-ให้กำลังใจ บนคันนานะคะ  แล้วคนถาม(พี่กั๊ตของต้อมเคยถามว่าถ้าให้ไปทำนาปลูกข้าวกินเอง...ไหวมะ... )  จะสมัครใจนั่งส่งกำลังใจหรือลงไปลุยกับคุณพิทักษ์ล่ะ???????

สวัสดีครับน้องต้อมPเนปาลี

ชวนพี่ๆ ลงไปลุยด้วยกันเลยดีกว่านะครับ

ไม่งั้นอายคุณยายแย่เลย

ขอบคุณมากๆ ครับ

  • ธุค่า ..

เช้านี้ส่งหนังสือปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น /ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์  ไปให้แล้วนะคะ   ^^ 

อุตส่าห์จ่าหน้าซองด้วยปากกาสีฟ้าสวยสดใส  พี่พนักงานที่ไปรษณีย์ก็บ่นว่า.. " โหยยยยยยย ใช้ปากกาอย่างนี้  คนแก่อ่านไม่ออก" (สงสัยตั้งท่าจะบ่นมาหลายครั้งแร่ะ  วันนี้ได้ฤกษ์เสียที)

อ่าว.. ก็หนูคนส่งเป็นวัยรุ่นนิ    วัยรุ่นเซ็งเลย  อิอิ

สวัสดีครับน้องต้อมPเนปาลี

รอๆ อ่านหนังสือ...อิ.อิ.

พี่หนุ่ม ปณ.ที่สุรินทร์เป็นวัยสะรุ่น...สายตายังดีอยู่ แถมขยันกว่าที่อื่นๆ (สังเกตได้จากส่งโปสการ์ดถึงมือผู้รับได้ไวกว่าเมืองลพบุรี...) เขียนด้วยปากกาสีสันยิ่งชอบ  :)

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คงได้อ่านหนังสือแล้วนะคะ ช่วยๆกันขยายแนวคิด

...จึงน่าเป็นห่วงว่าชาวนาต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยการผลิตจากข้างนอกแทบทุกอย่าง

หากชาวนาส่วนใหญ่ยังคงตกอยู่ในวังวนหรือกับดักนี้ คงยากที่จะมีชีวิตที่เป็นไท พึ่งพาตนเองได้ เราคงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือที่จะพัฒนาประเทศจากจุดเล็กๆด้วยความเข้าใจ และ รู้จักรากของตัวเองอย่างถ่องแท้

สวัสดีครับพี่นุช คุณนายดอกเตอร์

  • ผมได้เรียนรู้จากหนังสือ "ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น" มากเลยครับ...(วันสองวันนี้คงจะได้ส่งกลับถึงมือเจ้าของที่ให้ยืมอ่าน..)
  • โดยเฉพาะความรู้จากเรื่องเล่าทั้งเก้า
  • เพราะเข้ากับนโยบายหน่วยงานที่กำลังให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ
  • ...
  • สัปดาห์ที่ผ่านมาชาวนาบ่นให้ฟังครับว่า "รากหญ้ากำลังจะเน่าตายแล้ว"
  • ด้วยว่าปีนี้ต้องลงทุนค่าเมล็ดพันธุ์ 3 ครั้ง (ในภาวะที่เมล็ดพันธุ์ราคาแพงและหายาก ยังไม่นับค่าไถ ค่าแรง ค่าปุ๋ย ฯลฯ) เนื่องจากคาดเดาฝนฟ้าลำบาก....แต่เก็บเกี่ยวข้าวได้ครั้งเดียว ซึ่งยังไม่รู้ว่าออกหัวออกก้อย ...ต้องติดตามครับ

..

ขอบคุณครับ

  • ธุคุณพิทักษ์ค่ะ..

ไม่ต้องรีบอ่านเพื่อที่จะรีบส่งคืนเลยนะคะ  ค่อยๆ อ่านก็ได้  เพราะคนให้ยืมใจดี๊-ใจดี  อิอิ   ^^

น้องต้อมครับ เนปาลี

  • คนยืมใจดี๊ดี..แต่ต้องรีบส่ง...
  • กลัวเล่มต่อไปเขาจะไม่ให้ยืมอะดิ!!
  • อิๆ

(กระซิบๆๆๆ...พี่ตระเวนถามหาหนังสือเล่มนี้ทุกร้านในเมือง...ไม่เหลือค้างสต็อคซักเล่ม...)

  • ลูกชาวนา แวะมาทักทายครับ
  • ขอบคุณครับ
  • คุณพิทักษ์..

กระซิบๆๆ  ไม่อยากจะบอกเลยว่า..ต้อมตะเวนมาก่อนแล้ว   จึงสะสมประสบการณ์ในการหาหนังสือเล่มนี้ของพี่นุชอยู่เพียบ   ร้านไหนๆ ก็ไม่มี   จนเจ้าของหนังสือเธอกรุณามอบให้เนี่ยล่ะค่ะ  อ่านแล้วบอกได้คำเดียวว่า "มหัศจรรย์" จริงๆ

ว่าแต่ "เล่มต่อไป" อยากจะอ่านหนังสือแนวไหนล่ะคะ  หากมีจะรีบส่งไปให้ทันทีเลย  ^^  

น้องต้อมP

พี่คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นอยู่แว้บๆๆๆ ที่ se-ed พอเข้าไปถาม เขาบอกว่าหมดแล้วค่ะ....เสียดายๆ รอยืมน้องต้อมอ่านดีกว่าเนาะ..

เดี๋ยวก่อนนะ รอพี่ตระเวนดูตู้หนังสือน้องต้อมก่อน

แล้วจะแจ้ง order ว่าเล่มไหน!!

อิๆๆๆ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อำนวย สุดสวาสดิ์

  • ลูกชาวนาเหมือนกันครับ
  • แต่ดูชีวิตจะอยู่ห่างจากผืนนาเหลือเกิน
  • โชคยังดีครับที่ผมได้ทำงานร่วมกับ "ชาวนา"

ไปเรียนรู้การทำเวบด้วยแมมโบ้แล้วครับ น่าลองดูนะครับ ผมเคยใช้แต่โปรแกรมดรีมฯ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท