ฟันธง.. วันละศีลอด(รายอปอซอ)ปีนี้


คำถามหนึ่งที่ผมจะถูกถามเสมอ คือ รายอวันไหน .. ทั้งคนในมหาลัยและคนนอก บางปีจะมีหน่วยราชการด้วยโทรมาถาม.. เขาว่าจะได้วางแผนถูก ผมก็ตอบตามที่ผมมั่นใจ แต่ถ้าจะให้แน่ต้องฟังประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี

ปีนี้ก็มีบ้างแล้วที่ถามเช่นนั้นแต่ยังไม่มาก จะมาถามมากก็วันดูดวงจันทร์(ยืนยันดูดวงจันทร์ไม่ใช่จันทร์เสี้ยวแต่จะเห็นแค่เสี้ยวเล็กๆ)  ผมก็จะตอบตามความรู้ที่ผมมีอยู่

การนับวันเริ่มถือศีลอดหรือวันแรกของเดือนรอมฎอน และวันสุดท้ายของการถือศีลอดหรือวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน จะใช้วิธีดูดวงจันทร์หรือเสี้ยวจันทร์ของเดือนนั้นและเดือนถัดไป  ดังมีรายงานจากหะดีษ .

รางายจากอะบูฮุร็อยเราะฮฺว่า ท่านนบี(ศ็อลฯ)กล่าวว่า..

         "صُومُوا  لِرُؤْيَتِهِ وَأَفْطِرُوا لِرُؤْيَتِهِ فَإِنْ غُمِّيَ عَلَيْكُمْ فَعُدُّوا ثَلَاثِينَ يَوْمًا"

"พวกเจ้าจองถือศีลอดเมื่อเห็นมัน(จันทร์ของเดือนใหม่) และจงละศีลอดเมื่อเห็นมัน แต่ถ้าว่าพวกเจ้าถูกเมฆหมอกบัง(จนไม่สามารถมองเห็นมันได้)ก็จงนับให้ครับ 30 วัน"

ปีนี้เราเริ่มถือศีลอดวันที่พฤหัสบดีที่ 13 กันยายน ก็เริ่มนับเป็นวันที่ 1 รอมฎอน และนับไปเรื่อยๆ ครบ 29 วันในวันที่ 11 ตุลาคม ก็หมายความวัน ในค่ำวันพฤหัสที่ 11 ตุลาคมเป็นวันดูดวงจันทร์ของเดือนใหม่(เดือนเชาววาล) ถ้าเห็นวันที่ 12 ตุลาคมคือวันที่ 1 ของเดือนเชาววาล แต่ถ้าไม่เห็นจะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ วันที่ 12 ตุลาคม คือวันที่ 30 รอมฎอน จะต้องถือศีลอด และวันที่ 13 ตุลาเป็นวันที่ 1 เชาววาล คือวันละศีลอด เป็นวันอีดหรือวันรายอปอซอของมุสลิม

แล้วตามหลักการคำนวณทางดาราศาสตร์พอที่จะพยากรณ์ได้ไหมว่า ในค่ำคืนที่ 11 ตุลาคมนั้นมี จันทร์ใหม่(Newmoon)ไหม

  • เดือนนี้จันทร์ดับหรือจันทร์ใหม่(Newnoon) หรือตามหลักดาราศาสตร์อิสลามเรียกว่า อิจติมาอฺ (اجتماع) คือการพบกันระหว่างดวงกับดวงจันทร์(ตามที่เรามองเห็นไม่ได้พบกันจริง แนวโคจรของทั้งสองดวงมันพบกันพอดี) ในวันที่ 11 เวลา 12:01:50 นาฬิกา
  • วันที่ 11 ตุลาคม ปีนี้ ดวงอาทิตย์ตกดิน(Sunset) เวลา  18:02:28 นาฬิกา ดังนั้นเวลาดวงอาทิตย์ตกดิน ดวงจันทร์ใหม่มีอายุ 6 ชั่วโมง 2 นาที แม้ว่าจะมีขนาดไม่ใหญ่นักแต่คิดว่าพอสำหรับนักดูฮิลาล(จันทร์เสี้ยว)ที่จะมองเห็นได้
  • แต่ ในวันที่ 11 ตุลามคมนี้ ดวงจันทรลับขอบฟ้า (Moonset) เวลา 18:01:29 นาฬิกา นั่นหมายถึงตกก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน  1 นาที 5 วินาที

       ถ้าเป็นลักษณะนี้ แม้ว่าจันทร์จะดับตั้งแต่ตอนเที่ยงแต่การเดินทางก็ดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ยังเท่าๆกัน จนกระทั่งดวงจันทร์ยังตกก่อนดวงอาทิตย์อยุ่หนึ่งนาที จะทำให้ในค่ำคืนวันนั้น ชาวไทยและชาวประเทศอื่นที่อยู่ในแถบนี้ไม่สามาถมองเห็นจันทร์ใหม่ได้ เดือนรอมฎอนปีนี้ก็ต้องมี 30 วัน

      วันละศีลอดหรือวันอีด หรือวันรายอปอซอของปีนี้ จะตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม 2550

       นี้เป็นสิ่งที่ผมได้จากการที่ได้ศึกษาจากการคำนวณทางดาราศาสตร์ ส่วนจริงๆจะเป็นเช่นไรนั้น ต้องฟังการประกาศในค่ำคืนนั้น และหวังอย่างยิ่งว่า อิสลามกับวิชาการคือวันเดียวกัน ไม่มีความงมงายมาเกี่ยวข้อง

 

หมายเลขบันทึก: 130399เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

โอ้ ครบสามสิบหรือครับ

ما شأالله

แสดงว่า ไม่ว่าจะมีเมฆหรือไม่มีเฆม วันดูเดือน ก็ดูไม่เห็นอยู่แล้วใช่มัยครับ

ตามการพยากรณ์ด้วยการคำนวณควรจะเป็นเช่นนั้น

แต่การมองเห็นหรือไม่เห็นนี้ มันไม่ตรงเสมอไป เป็นเพราะอะไรนั้น ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้เช่นกัน

บางปีดวงจันทร์ของเดือนก่อนยังไม่ดับเลย(ยังไม่อิจติมาอฺ) แต่มีคนเห็นหิลาลแล้ว

มันก็งงๆ อยู่ นะ ทั้งๆที่เราบอกว่า อิสลามไม่ขัดแย้งกับวิชาการ แต่มีคนมองเห็นในสิ่งที่วิชาการบอกว่าเป็นไปไม่ได้

ผมให้ข้อสังเกตุอยู่หลายอย่าง เช่น

คนที่ไปดูดวงจันทร์หรือจันทร์เสี้ยวบ้านเราเป็นมือสมครเล่นเกือบ 99 เปอร์เซนต์

ผิดกับ ประเทศอาหรับ คนที่มายืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยว คือ ชาวบะดุวียฺ อยู่ท่ามกลางทะเลทราย ชีวิตเขาอยู่กับดวงดาว จันทร์เสี้ยวของพวกเขาเขาเห็นเป็นปกติ เขารู้จักดี

บ้านเรา ถ้าคนไปทะเลบอกว่ามองเห็นจันทร์เสี้ยวผมค่อนข้างมั่นใจมากกว่า คนที่ไปเป็นพันๆที่ยะหา เพราะบางคนยังไม่รู้จักเลยจันทร์เสี้ยวเป็นอย่างไร

ผมเลยตั้งข้อสมมุติฐานว่า เขาน่าจะเห็นจริง และเห็นสิ่งอื่นไปรายงานว่าเห็นจันทร์เสี้ยว และคนรับ ผมว่าก็น่าจะพิจารณาเอามืออาชีพมาด้วยนะ

 

สุขสวัสดีวันตรุษอีดฎิ้ลฟิตริ : วัฒนธรรมและศาสนพิธีวันอีดของชาวมุสลิม พิมพ์ ส่งเมล์
วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2007 11:49น.

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)
[email protected]

 

http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=2691&Itemid=47&lang=lamard2.jpgด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน
         เดือนรอมฎอนอันประเสริฐของชาวมุสลิม ปีนี้ก็ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงใน จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดเหตุร้ายขึ้นในหลายพื้นที่ วันสำคัญทางศาสนา (อีฎิ้ลฟิตริ) ไม่ทำให้มุสลิมในพื้นที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแต่ประการใด
   

ก่อนวันอีด(ฮารีรายอ)1 สัปดาห์มุสลิมจำนวนมากออกไปจ่ายตลาดซื้อเสื้อผ้า  ทองและอาหารและคาดว่าฮารีรายอปีนี้จะ ยังมีมุสลิมทุกเพศทุกวัยคลาคร่ำมัสยิดหรือสถานที่ละหมาดพร้อมเสื้อผ้าที่สวยสดตั้งแต่เช้าเหมือนเดิม(ปีที่ผ่านมา) รวมถึงการเดินทางเยี่ยมเยียนญาติมิตรทั้งใกล้และไกลยังดำเนินเป็นปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 ปีนี้สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ประกาศแจ้งให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนเชาวาล (อีฎิ้ลฟิตริ) ปีฮิจเราะห์ศักราช 1428 ในวันพฤหัสสบดีที่  11 ตุลาคม พ.ศ.2550  เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า นั้น 

หากมีผู้พบเห็นดวงจันทร์ในวันและเวลาดังกล่าว     วันอีด(ฮารีรายอ)จะเป็นวันที่ 12 /10/50 แต่ถ้าไม่เห็นก็จะเป็นวันถัดไป (13/10/50)
อันเนื่องมาจาก เป็นคำสั่งของ ท่านศาสดาได้กล่าวไว้ความว่า..

         "صُومُوا  لِرُؤْيَتِهِ وَأَفْطِرُوا لِرُؤْيَتِهِ فَإِنْ غُمِّيَ عَلَيْكُمْ فَعُدُّوا ثَلَاثِينَ يَوْمًا"

"พวกเจ้าจงถือศีลอดเมื่อเห็นมัน(จันทร์ของเดือนใหม่) และจงละศีลอดเมื่อเห็นมัน(สิ้นสุดการถือศีลอดวันสุดท้าย) แต่ถ้าว่าพวกเจ้าถูกเมฆหมอกบัง(จนไม่สามารถมองเห็นมันได้)ก็จงนับให้ครับ 30 วัน"
แต่จาก ตามหลักหลักการคำนวณทางดาราศาสตร์นั้นวันอีด ของปีนี้ จะตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม 2550  อันเนื่องมาจากเหตุผลดังนี้

• เดือนนี้จันทร์ดับหรือจันทร์ใหม่(Newnoon) หรือตามหลักดาราศาสตร์อิสลามเรียกว่า อิจติมาอฺ คือการพบกันระหว่างดวงกับดวงจันทร์(ตามที่เรามองเห็นไม่ได้พบกันจริง แนวโคจรของทั้งสองดวงมันพบกันพอดี) ในวันที่ 11 เวลา 12:01:50 นาฬิกา
• วันที่ 11 ตุลาคม ปีนี้ ดวงอาทิตย์ตกดิน(Sunset) เวลา  18:02:28 นาฬิกา ดังนั้นเวลาดวงอาทิตย์ตกดิน ดวงจันทร์ใหม่มีอายุ 6 ชั่วโมง 2 นาที แม้ว่าจะมีขนาดไม่ใหญ่นักแต่คิดว่าพอสำหรับนักดูฮิลาล(จันทร์เสี้ยว)ที่จะมองเห็นได้
• แต่ ในวันที่ 11 ตุลามคมนี้ ดวงจันทรลับขอบฟ้า (Moonset) เวลา 18:01:29 นาฬิกา นั่นหมายถึงตกก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน  1 นาที 5 วินาที 

ถ้าเป็นลักษณะนี้ แม้ว่าจันทร์จะดับตั้งแต่ตอนเที่ยงแต่การเดินทางก็ดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ยังเท่าๆกัน จนกระทั่งดวงจันทร์ยังตกก่อนดวงอาทิตย์อยู่หนึ่งนาที จะทำให้ในค่ำคืนวันนั้น ชาวไทยและชาวประเทศอื่นที่อยู่ในแถบนี้ไม่สามาถมองเห็นจันทร์ใหม่ได้ เดือนรอมฎอนปีนี้ก็ต้องมี 30 วัน (โปรดดู อิบรอฮีม หะยีสะอิ  ในhttp://gotoknow.org/blog/ibm401/130399 )
สิ่งทีควรรู้เกี่ยวกับวันอีด

 1. ความหมายวันอีด
         วันอีด หมายถึง วันฉลองการรื่นเริง คำว่า "อีด" นี้ ในหนังสือ อัลมุญัม อัลวะสีด เล่ม2 ( โปรดดู Anis. Ibrahim Dr.   at el. n.d.  635) ได้ให้ความหมายว่า " กลับมา เวียนมา" นั่นคือ วันที่เวียนมาเพื่อฉลองรื่นเริง   ในศาสนาอิสลามมี 2 วาระ คือ วันอีฎิ้ลฟิตริ และอีฎิ้ลอัฎฮา  สำหรับวันอีฎิ้ลฟิตรินั้นตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวาลอันเป็นเดือนที่ 10 ต่อจากเดือนรอมฎอนเป็นวันที่กลับมาสู่การเว้นจากการถือศีลอด นั่นคือ การกลับมาสู่สภาพเดิม มุสลิมทุกคนจะฉลองกันอย่างสนุกสนาน(ต้องอยู่ภายบทบัญญัติอิสลาม)หลังจากที่ถือศีลอดนาน 1 เดือนเต็ม
      ในสำเนียงมลายูท้องถิ่น 3 จังหวัดภาคใต้เรียก “วันฮารีรายอปอซอ”  และ “ฮารีรายา” ในสำเนียงภาษาใต้ตอนบน รวมทั้ง “วันอีด” หรือ“วันออกบวช” ในความหมายของมุสลิมภาคกลางนั้นล้วนหมายถึงวันอีฎิ้ลฟิตริในภาษาอาหรับ อันเป็นหนึ่งในวันสำคัญของอิสลาม เทียบกับ “วันตรุษ” หรือจะเป็น “วันออกพรรษา” ของชาวไทยพุทธ นั่นเอง

 2. วัฒนธรรมและศาสนพิธีวันอีด
            ในจังหวัดชายแดนใต้วันอีดหรือฮารีรายอ เป็นวันที่อิสลามสนับสนุนให้มีการเฉลิมฉลองรื่นเริง งานนี้เด็กๆ จะสนุกสนานเต็มที่ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ มักให้เงินซื้อขนม ซื้อของที่อยากได้มานานวัน  ส่วนผู้ใหญ่จะ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดและใหม่อย่าง เรียบร้อยตามแบบมลายูหรืออาหรับ   มีการ จัดเตรียมอาหารทั้งคาวหวานรองรับแขกผู้มาเยือน เช่น ปูโละ ซึ่งเป็นข้าวเหนียวหน้าต่างๆ ตูปะ (เหนียวรูปสามเหลี่ยม), ,มะตะบะ,ขนมจีน,  รอเญาะ ,  กูแวฮางิ คล้ายๆ คัสตาร์ด ส่วนละแซ จะคล้ายขนมจีน, นาซิดาแฆ หรือข้าวแกงท้องถิ่น หรือสะเต๊ะกินกับข้าวปั้นและอาหารอื่นๆอีกมากมาย
 
นอกจากนั้นยังมีการบริจาคทานและจ่ายซะกาต(ทานบังคับ)      ละหมาดร่วมกันที่มัสยิดกลางชุมชนหรือสนามกลางแจ้งของชุมชน และฟังคุฎบะฮ์ (คำเทศนาซึ่งผู้อ่านสามารถเอาตัวอย่าง คุตบะห์เพื่อความสมานฉันท์ขอบมอบแด่ทุกมัสยิดในนำไปเผยแผ่และไม่มีเวลาจะเขียนเอง  ทั้งภาษาไทยและมลายูใน
 http://www.oknation.net/blog/shukur/2007/10/08/entry-1 และ http://www.oknation.net/blog/shukur/2007/10/08/entry-2 ) อันสอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ฟังยึดมั่นในหลักการของอิสลาม รวมทั้งการเยี่ยมสุสานเพื่อรำลึกถึงผู้จากไปและรำลึกถึงความตาย

 สำหรับรายละเดียดการจ่าย ซะกาต (ศาสนทาน) มีดังนี้

หลักการซะกาต (ศาสนทาน) เป็นโครงสร้างสำคัญ 1 ใน 5 ของหลักปฏิบัติอิสลาม

ท่านญิบรีล(เทวทูตของพระเจ้า) ได้มาถามท่านศาสดา ว่าอิสลามคืออะไร ท่านนบี ศ็อลฯ ตอบว่า "อิสลามคือการปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ และมุฮัมมัดเป็นศาสดา แห่งอัลลอฮ การดำรงนมาซ การบริจากซะกาต การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการทำฮัจย์" รายงานโดย อิหม่ามบุคอรี-มุสลิม

ซะกาตที่มุสลิมจะจ่ายช่วงวันอีดนั้นสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท
1. สำหรับทุกคน(ส่วนใหญ่) คือ ซะกาตฟิตเราะห์

ซะกาตฟิตเราะฮฺ คือ ซะกาตที่จำเป็นจะต้องจ่ายอันเนื่องจากหมดภาระถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งจำเป็น (วาญิบ) แก่มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ เพศชาย หรือหญิง แต่ผู้ที่จะเป็นผู้จ่ายนั้น จะ เป็นหัวหน้าครอบครัว และผู้อุปการะผู้อื่นโดย จ่ายเพื่อตัวเขา และเพื่อคนที่อยู่ในครอบครัวทุกคน และคนที่ต้องรับผิดชอบด้วย

สำหรับปริมาณที่ต้องจ่าย คนละ 1 ศออฺ (ในภาษาอาหรับ)หรือประมาณเกือบ 4 ลิตรของอาหารหลักในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ในประเทศไทยคือข้าวสาร เป็นต้นโดยจะจ่ายให้คนยากจน หรือให้เจ้าหน้าที่เก็บซะกาตของมัสญิดก็ได้ เพื่อจะได้แจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตต่อไป

2. สำหรับคนรวยหรือมีเงื่อนไขครบ ซะกาตที่ต้องจ่าย มีดังนี้

1. เงินแท่งทองแท่ง
2. รายได้จากปศุสัตว์
3. รวยได้จากพืชผล
4. รายได้จากการค้า
5. ขุมทรัพย์
อัตราจ่าย ซะกาต อูฐ แพะ แกะ และวัวควาย มีดังนี้
อัตราจ่ายซะกาต อูฐ
จำนวนอูฐ  จ่ายซะกาต
อูฐ 5 ตัว ถึง 9 ตัว แกะ 1 ตัว
อูฐ 10 ตัว ถึง 14 ตัว แกะ 2 ตัว
อูฐ 15 ตัว ถึง 19 ตัว แกะ 3 ตัว
อูฐ 20 ตัว ถึง 24 ตัว แกะ 4 ตัว
อูฐ 24 ตัว ถึง 35 ตัว ลูกอูฐตัวเมียอายุย่างเข้า 2 ขวบ 1 ตัว
วัวและควาย
จำนวนวัว  จ่ายซะกาต
30 ตัว  ลูกวัวอายุ 1 ขวบ 1 ตัว
40 ตัว  ลูกวัวอายุ 1 ขวบ 1 ตัว
60 ตัว  ลูกวัวอายุ 1 ขวบ 2 ตัว
70 ตัว  ลูกวัวอายุ 1 ขวบ 1 ตัว กับอีก 2 ขวบ 1 ตัว
80 ตัว  ลูกวัวอายุ 2 ขวบ 2 ตัว
90 ตัว  ลูกวัวอายุ 1 ขวบ 3 ตัว
100 ตัว  ลูกวัวอายุ 2 ขวบ 1 ตัว กับอีก 1 ขวบ 2 ตัว
แพะแกะ
จำนวนแพะหรือแกะ  จ่ายซะกาต
40 ถึง 120 ตัว  1 ตัว
121 ถึง 200 ตัว 2 ตัว
211 ถึง 399 ตัว  3 ตัว
400 ถึง 499 ตัว  4 ตัว
500 ถึง 599 ตัว  5 ตัว
มีเกินกว่านี้  จ่าย 1 ตัว ต่อ 100 ตัว

อัตราจ่ายซะกาตสำหรับเงิน (ที่ใช้จ่าย) ทองคำและเงินแท่ง
จำนวนเงินครบอัตราจ่ายเป็นซะกาต
เท่ากับราคาทองคำซึ่งหนัก  = 20 ดีนาร (หรือมิษกอล)
หรือ  = 85 กรัม
หรือ  = 5.6667 บาท (น้ำหนักทองคำ)
อัตราจ่ายซะกาต  = 2.5 %
ทองคำครบ 20 ดีนาร  = 5.6667 บาท
จ่ายเป็นซะกาต  = 0.5 ดีนาร
หรือ  = 2.125 กรัม
หรือ  = 0.14167 น.น.ทองคำ
เงินแท่งครบ 200 ดิรฮัม จ่ายเป็นซะกาต  = 5 ดิรฮัม
หรือเท่ากับทองคำซึ่งหนัก  = 3.5 ดีนาร
หรือ  = 14.875 กรัม
หรือ  = 0.99167 บาท
หมายเหตุ
ดินาร หรือมิษกอล เป็นมาตราชั่งน้ำหนักทองคำ
ดิรฮัม เป็นมาตราชั่งน้ำหนักเงิน

 หากซะกาตเหล่านี้สู่มือผู้ยากไร้มันจะเป็นปัจจัยหนึ่งของสูตรแก้ปัญหาความยากจน ในสังคมเบื้องต้น ทำให้คนจนมีหลักประกันชีวิต สังคมรักสมัครสมานกันระหว่างคนรวยกับคนจน เห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือกัน  อันนำไปสู่ความอบอุ่นมั่นคงในชีวิต ความเห็นแก่ตัวเอาตัวรอดจะจางหายไป จากสังคม (อินชาอัลลอฮฺ)

..ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น....ตลอดเดือนรอมฎอนที่ทุกคนได้ขวนขวายเพื่อกระทำการจงรักภักดีในทุกรูปแบบและละเว้นความชั่ว ด้วยความอดทน บรรดาบรรพชนของมุสลิม (สะละฟุศศอและฮฺ) พวกเขาได้วิงวอนขอพรต่ออัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูว่าตะอาลา เป็นเดือนๆ เพื่อทรงรับการถือศีลอดของพวกเขา ให้ได้พบกับเดือนรอมฎอนในปีต่อไป   

หวังว่า พฤติกรรมที่ดีๆในเดือนรอมฎอน จะส่งผลต่อพฤติกรรมในเดือนถัดไป อย่าให้เหมือนชายคนหนึ่งที่ท่านศาสดาเคยกล่าวไว้ว่า ความว่า "ความพินาศจงประสบแก่ชายคนหนึ่ง เมื่อเดือนรอมฎอนได้มาหาเขา แล้วมันได้ผ่านพ้นไปก่อนที่เขาจะได้รับการอภัยโทษ (คืออยู่ในสภาพที่ขาดทุน) " (บันทึกโดย :อิหม่าม อะหมัด อัตติรมิซีย์ และอิบนฺฮิบบาน ในหนังสือศ่อเฮี้ยะฮฺของท่าน) 

จงเป็นคนดีมีศีลธรรม และเป็นผู้ศรัทธาตลอดไปอย่างมั่นคงเพราะว่าการศรัทธานั้นคือชีวิตของมุสลิมที่ดี อัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูว่าตะอาลา ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺที่ 122

ความว่า - และผู้ที่ตายแล้ว  แล้วเราได้ให้เขามีชีวิตขึ้น และเราได้ให้แสงสว่าง  แก่เขา ซึ่งเขาใช้แสงสว่างนั้นเดินไปในหมู่มนุษย์นั้น จะเหมือนกับผู้ที่อุปมาของเขาซึ่งอยู่ในบรรดาความมืดโดยที่มิใช่เป็นผู้ที่จะออกมาจากบรรดาความมืดเหล่านั้นได้กระนั้นหรือ  ในทำนองนั้นแหละได้ถูกประดับให้สวยงาม แก่ผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งสิ่งที่พวกเขากระทำกันอยู่

สุดท้ายนี้ขอดุอาอ์(พร)จากอัลลอฮ ซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลาโปรดทรงรวมพลังของพวกเราทุกคนในชาติให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเราอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง และความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดีและขอทรงทำให้ วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน และให้ พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้  และที่สำคัญที่สุดคือนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้และประเทศชาติทั้งมวลด้วยเทอญ สุขสวัสดีวันตรุษอีดฎิ้ลฟิตริ 1428 อามีน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท