ข้อสังเกตต่อโครงการการเรียนรู้ไร้พรมแดน (U-Learning) ด้วยเว็บไซต์ ThinkQuest ของอาเซียน


ผู้เขียนมีข้อสังเกต ๕ ประเด็น คือ กรอบแนวคิดพื้นฐาน เป้าหมายของโครงการ ระบบการบริหารจัดการ โครงสร้างของการทำงาน และ ดรรชนีชี้วัดความสำเร็จของการทำงาน

วันจันทร์ ที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 09.00-16.00 น. ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับทางกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง ในการพูดคุยเกี่ยวกับโครงการการเรียนรู้ไร้พรมแดน (U-Learning) ด้วยเว็บไซต์ ThinkQuest ของอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาคารรัชมังคลาภิเษก ชั้น 4 สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ โดยการชักชวนของอาจารย์ศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน ครั้งนี้ได้พบกับ มูลนิธิออราเคิล ผู้จดทำระบบ www.thinkquest.org ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ในกลุ่มด้านการศึกษาที่น่าสนใจ พร้อมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ และ กลุ่มเครือข่ายครูแกนนำที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและผลักดันให้เด็กนักเรียนและครูใช้ไอซีทีในการเรียนผ่านเว็บไซต์ www.thinkquest.org

ประเด็นหลักของการหารือก็คือ การพัฒนาระบบการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของครูและนักเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ด้านการศึกษาที่ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ www.thinkquest. org โดยในเบื้องต้นในชื่อโครงการว่า “โครงการการเรียนรู้ไร้พรมแดน (U-Learning) ด้วยเว็บไซต์ ThinkQuest ของอาเซียน”

ในการหารือ ผู้เขียน มีข้อความเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ๕ ประเด็น

ประเด็นแรก    กรอบแนวคิดพื้นฐานของการทำงานภายใต้โครงการนี้ ความน่าสนใจของโครงการนี้ก็คือ เป็นการทำงานพัฒนาต่อยอดจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ ก็คือ ต้นทุนด้านระบบเครือข่ายที่มีอยู่แล้วคือ www.thinkquest.org ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิออราเคิล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนด้านกลุ่มเครือข่ายครูที่มีความเข้มแข็งในการทำงาน ทั้ง จาก กลุ่มเครือข่าย สสวท และ ครูแกนนำจากโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนบางละมุง เป็นต้น โดยโครงการนี้ จำเป็นที่จะต้อง พิจารณาและคำนึงถึงกรอบแนวคิดหลักๆอยู่ ๔ ส่วนคือ (๑)  ศึกษาและพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ (๒) ต้องสร้างแนวคิด ความเชื่อมั่นโดยการพัฒนาระบบการสื่อสารสาธารณะเพื่อเป็นการสื่อสารไปยังสังคมและสร้างความตระหนักร่วมกันของคนในสังคม (๓) เน้นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนักปฏิบัติผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (๔) พัฒนาระบบการสร้างแรงจูงใจให้กับหน่วยปฏิบัติการ โดยอาศัยการเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐในรูปแบบต่างๆ

ประเด็นที่สอง    เพื่อตอบสนอบต่อแนวคิดพื้นฐานข้างต้น ในแง่ของเป้าหมายของโครงการ เห็นว่า เป้าหมายของโครงการน่าจะประกอบด้วย (๑) เพื่อพัฒนาต่อยอดครูแกนนำที่มีอยู่แล้วและขยายเครือข่ายครูในระดับภูมิภาค (๒) เพื่อพัฒนาประชาคมครูในฐานะผู้อำนวยการผลิต (Facilitator) และเครือข่ายนักเรียนในฐานะผู้ผลิตข้อมูล (๓) เพื่อพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลเพื่อการเรียนรู้โดยเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน เช่น วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์  (๔) เพื่อพัฒนารูปแบบของสื่อสารข้อมูลข่าวสารไปยังสังคมผ่านเครื่องมือเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่และช่องทางการสื่อสารสาธารณะ (๕) เพื่อพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีโดยเฉพาะในพื้นที่รอบโรงเรียน เช่น การอาศัยร้านเกมคาเฟ่เป็นพื้นที่ในการทำงาน เป็นต้น (๖) เพื่อพัฒนา ปลูกฝัง แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์

ประเด็นที่สาม      สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย น่าจะต้องคิดถึงระบบการบริหารจัดการอยู่ ๓ ด้าน คือ (๑) การบริหารจัดการเครือข่ายเชิงคุณภาพที่มีอยู่แล้วให้มีปริมาณมากขึ้นใน ๒ ทิศทาง คือ พัฒนาครูแกนนำไปสู่ครูผู้อบรมเครือข่ายครู (Training of trainer) และ ครูแกนนำพัฒนาประชาคมเครือข่ายครูในระดับพื้นที่ โดยอาศัยการอบรมเชิงปฏิบัติการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย (๒) ระบบการบริหารจัดการฐานข้อมูลไปสู่สังคม น่าจะเรียกว่าเป็นการพัฒนาระบบการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักให้กับสังคม (๓) ระบบการบริหารจัดการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับครู นักเรียน และโรงเรียน ทั้ง แรงจูงใจทางสังคม แรงจูงใจทางวิทยฐานะ และ แรงจูงใจด้านงบประมาณ และ (๔) ระบบการบริการจัดการโครงการเพื่อให้โครงการฯประสบความสำเร็จ

ประเด็นที่ ๔       ระบบการบริการจัดการโครงการเพื่อให้โครงการฯประสบความสำเร็จ ในที่ประชุมได้มีการเสนอถึงโครงสร้างของการบริการจัดการโครงการฯ โดยผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมี (๑) คณะกรรมการกำกับทิศทาง (๒) คณะกรรมการดำเนินการตามโครงการ ซึ่งน่าจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ๓ ด้านคือ คณะทำงานด้านการฝึกอบรมและการขยายเครือข่าย , คณะทำงานด้านการสื่อสารสาธารณะ และ คณะทำงานปฏิรูปกฎหมายนโยบายที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ ๕         ดรรชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการ น่าจะต้องคำนึงถึง ความสำเร็จใน ๒ ด้าน คือ เชิงปริมาณ หมายถึง ปริมาณของเนื้อหาสื่อการเรียนการสอนมีปริมาณมากขึ้น มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เครือข่ายครู นักเรียน โรงเรียน ที่มีจำนวนการใช้งานไอซีทีมากขึ้น โดยอาจพิจารณาจากทั้ง ภาพรวมหรือกลุ่มสาระวิชาต่างๆ รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายทีมีผลเอื้อต่อการทำงาน และ ด้านที่ ๒ การเติบโตเชิงคุณภาพหรือผลสัมฤทธิ์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม เช่น ครูมีความต้องการใช้ไอซีทีในการสอนมากขึ้น เด็กนักเรียนสามารถใช้ไอซีทีในการพัฒนาตนเองและสังคมมากขึ้น โรงเรียนมีระบบการสนับสนุนครูและนักเรียนในการใช้ไอซีที หรือ ครูแกนนำมีการประชุมร่วมกับเครือข่ายในการพัฒนาระบบการใช้งานไอซีทีอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 421061เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2011 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ชื่อดีจังครับเรียนรู้ไร้พรมแดน ขอบคุณที่ชี้แนะและนำมาแบ่งปันกัน

ทางกระทรวงใช้คำเต็มๆว่า U learning ที่ย่อมาจากคำว่า UBIQUITOUS เป็นภาษาลาติน แปลว่า อยู่ในทุกแห่ง มีอยู่ทุกที่ ครับ

ขอแก้ไขนิดหนึ่งนะค่ะ www.thinkquest.com เพี้ยนไปนิดหนึ่งนะค่ะ ที่ถูกต้อง ต้องเขียนเป็น www.thinkquest.org/ ค่ะ

รับความรู้ครับ

ขอบคุณครับ ;)...

น่าสนใจครับ การเรียนรู้ไร้พรมแดน หากเกิดได้จริง น่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน

ทำให้สามารถเกิดการเรียนรู้ที่กว้างไกลได้มากกว่า ที่จะเรียนเฉพาะในห้องเรียนนะครับ

เป็นโครงการที่น่าสนใจมากค่ะ เพราะกับการเรียนในยุคนี้ค่ะ

ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้เกิดการเท่าเทียมกัน และสร้างโอกาสทางการศึกษา...ค่ะ...โครงการเหล่านี้จะสำเร็จได้ก็คงต้องได้รับการสนับสนุนจากทางกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวจักรที่สำคัญ คงไม่พ้น "ครู" ที่จะนำสิ่งเหล่าให้เข้าถึงตัวเด็ก และสร้างเครือข่ายกับผู้ปกครองค่ะ...ดีใจมากที่โครงการดี ๆ อย่างนี้มีการดำเนินต่อเนื่อง ค่ะ

รังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์

ขอบคุณ อ.อิทธิพล ที่กรุณาสรุปภาพรวมและประเด็นนำเสนอที่ชัดเจน คิดว่าอย่างน้อยในระยะแรกทางกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะได้รับทราบแนวคิดเชิงระบบเหล่านี้นำมาปรับปรุงการดำเนินงานที่เป็นอยู่ สำหรับคณะทำงานที่ อ.อิทธิพลนำเสนอ นี้เป็นส่วนของจะให้ดำเนินโครงการนี้พัฒนายิ่งๆ ขึ้น ในขณะเดี่ยวกันก็ช่วยให้ทางศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศได้เห็นและน่าจะได้แนวคิดไปขยายผลต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง คณะทำงานปฏิรูปกฎหมายนโยบายที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สป.น่าจะได้นำมาปรึกษาหารือกับ อาจารย์ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ววัน โดยอาจจะใช้กรณีของชุมชนนักปฏิบัติกลุ่มนี้มาเป็นประสบการณ์ หรือผนวกกับการดำเนินงานด้านคอมพิวเตอร์กับเยาวชนในที่อาจารย์มีประสบการณ์มาพอสมควร โดยอาจจะเน้นในส่วนของนโยบายกระทรวงศึกษาธิการก่อนก็ได้เพราะคลุมไปทั้งหมด ทางศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สป. ก็ดูกระอักกระอ่วนก็เป็นได้ แค่นี้ก็น่าจะเป็นมรรคผลแก่เยาวชน นิสิต นักเรียน ในประเทศไทยไม่น้อยทีเดียว แล้วจะนำเอาแนวคิดไปพูดคุยในวงอื่น ๆ ต่อไป ครับ ขอบคุณครับที่แบ่งปัน

ถ้าประเด็นนี้ไม่ได้รับการพิจาณา การศึกษาไทยก็คงจะล่มจมไปกับท้องทะเล

ขอบคุณ อ.อิทธิพล ที่ได้นำสิ่งดี ๆ ของกลุ่ม ThinkQuest มาเผยแพร่ในที่นี้ ประเด็นที่ต้องคิดเกี่ยวกับ Think นั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องอายุของสมาิชิก (ไม่เกิน 18 ปี) คิดว่า ทางมูลนิธิออราเคิล คงจะได้ปรับเปลี่ยนในส่วนนี้ เพื่อถ่ายทอด และส่งต่อองค์ความรู้ ของนักเรียนไทยตั้งแต่ อนุบาล ถึง ระดับมหาวิทยาลัย ไม่จำกัดที่ สปฐ. มัธยม อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ผมคิดว่า เป็นก้าวแรกที่มีความหมาย ผมอยากเห็นอย่างมาก ส่วนที่ดีของ Think เดิม และ ThinkQuest ในยุค 21 จะสร้างผู้นำด้านไอซีที และวัฒนธรรมไทย ไปสู่ชาวโลกได้จริง ๆ ขอให้ อ.อิทธิพล เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนครั้งใหญ่นี้ครับ ผมยินดีร่วมมือครับ...ขอบคุณมาก

ThinkQuest เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการฟรี อาจมีข้อจำกัดบ้าง แต่ถ้ามองในเรื่องของการกระจายโอกาสให้เท่าเทียมกัน เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดัน และพัฒนา ThinkQuest ให้เป็น U - Learning

อันที่จริงแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมาของ TQ กับกลุ่มเครือข่ายครู เป็นประสบการณ์การของการเรียนรู้ที่ดีมากนะครับ เราได้เห็นบทบาทครู การทำงานร่วมกับนักเรียน การพัฒนาเนื้อหา หรือแม้แต่ แนวทางในการต้อสู่กับอุปสรรคของกลุ่มเครือข่ายครู ซึ่งน่าจะต้องถอดประสบการณ์ของการเรียนรู้เหล่านี้

ต้องบอกว่า การทำงานในครั้งนี้เราไม่ได้เร่มต้นจากศูนย์ เรามีเครือข่ายครูที่เข้มแข็ง มีชุดความรู้และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน มีฟากนโยบายที่ขานรับเรื่องนี้ มีโครงสร้างของซอฟท์แวร์ที่ดี พูดง่ายๆก็คือ มีพลังสังคม พลังปัญญา และ พลังนโยบาย ตามแนวคิดเรื่องสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา โอกาสความสำเร็จของการทำงานมีมากครับ แต่ต้องตั้งหลักให้ดี โดยเฉพาะ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับครุแกนนำ และ การขยายเครือข่ายแกนนำทั้งในระดับพื้นที่ และ ระดับสาระวิชา

ในส่วนของการพัฒนาต่อยอด มีข้อเสนอจากเครือข่ายครูหลายเรื่องน่าสนใจครับ เช่น ของครูธงชัย น่าจะต้องทำเป็นข้อเสนอแนะเพ่มเติมไปยัง TQ เลย

น่าจะต้องคิดถึง การสร้างแรงจูงใจทั้งในระดับครู โรงเรียน นักเรียน และชุมชน ให้ชัดด้วยกระมังครับ

อีกทั้ง โครงสร้างตามกรอบแนวคิดเรื่อง 3N ทั้ง ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ศูนย์สารสนเทศ (น่าจะต้องเน้นเรื่องศูนย์สารสนเทศในระบบออนไลน์) และ เครือข่ายทางสังคมเพื่อการศึกษาโดยไอซีที ที่น่าจะต้องคิดถึง ความยั่งยืนที่ติดไปกับตัวครู นักเรียน ชุมชน และสังคม ในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิต

ได้เห็นข้อเสนอหลายเรื่องทีน่าสนใจมากครับ คิดว่าข้อเสนอโครงการจากข้อเสนอแนะจากเครือข่ายจะทำให้โครงการนี้เป็นโครงการของเครือข่ายที่แท้จริงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท