เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที ตอนที่ 3


ในงานเสวนาหัวข้อ เด็กหัวใส...ฉลาดใช้ไอซีที ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ห้องที่ ๔ เป็นเรื่องที่ว่าด้วย ประสบการณ์การใช้งานสื่อไอซีทีของกลุ่มเยาวชน ถึงแม้ว่าผู้เข้าร่วมพูดคุยอาจจะไม่ใช่เยาวชนทั้งหมด แต่เรื่องราวที่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในวันนั้น ล้วนน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้เขียนจะได้ทะยอยนำมาบอกเล่าสู่กันฟังเป็นลำดับไป

การใช้งานสื่อไอซีทีของกลุ่มเยาวชนนั้น สามารถแบ่งแยกตามลักษณะของการใช้งานได้ ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

(๑) ลักษณะการใช้งานสื่อไอซีทีเพื่อชีวิตประจำวัน (ICT in Life) ซึ่งหมายถึง ลักษณะการใช้งานเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัวหรือสร้างตัวตนในสังคมออนไลน์ โดยการสร้างพื้นที่เฉพาะตนบนเว็บไซต์สำเร็จรูป เช่น การเขียนบล็อก การบันทึกไดอารี่ออนไลน์ การโพสต์รูปภาพหรือการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัวผ่านเว็บบอร์ด ฯลฯ

(๒) ลักษณะการใช้งานสื่อไอซีทีเพื่อการทำงาน (ICT for Work) อันหมายถึง การใช้งานสื่อไอซีทีทั้งเพื่อผลิตเป็นสื่ออื่นๆ และใช้ในการเผยแพร่ผลงาน เช่น การเผยแพร่ภาพยนตร์สั้น คลิปวีดีโอ หรือบทเพลงผ่านเว็บไซต์ youtube.com ฯลฯ

(๓) ลักษณะการใช้งานสื่อไอซีทีเพื่อการศึกษา (Education and ICT) หมายถึง การใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นสื่อการเรียนการสอนรวมถึงการใช้งานเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การค้นหาวิธีการทำแอนิเมชั่นผ่านเซิร์ชเอนจิ้น (Search Engine) หรือ ศึกษาการใช้งานโปรแกรมสำเร็จรูป เป็นต้น

ส่วนเครือข่ายที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องที่ ๔ นี้นั้น แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มคือ

๑. เครือข่ายเดี่ยว

๒. เครือข่ายแบบรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือชมรม

๓. เครือข่ายแบบองค์กรเอกชน

กรณีศึกษาที่ ๑ คุณคันฉัตร รังสีกาญจน์ส่อง (บล็อกเกอร์) 

จุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนออนไลน์ด้วยบล็อก
เริ่มต้นงานเขียนเมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๔๗ ขณะกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๒ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้นได้ไปชมภาพยนตร์แล้วเกิดความประทับใจ จากสิ่งที่ติดอยู่ในหัวเมื่อชมภาพยนตร์เสร็จจึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเขียนถึงภาพยนตร์เรื่องนั้น ถึงแม้ในช่วงแรกจะไม่ได้อยากเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่ด้วยความที่ได้เขียนบอกเล่าความประทับใจต่อภาพยนตร์เรื่องนั้นออกมาเป็นภาษาเขียน และนำไปโพสต์ลงใน www.pantip.com ซึ่งในช่วงเวลานั้น เว็บพันทิพย์ถือว่าเป็นเว็บยอดนิยมแห่งหนึ่ง ปรากฎว่าวันรุ่งขึ้นได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะมีข้อความที่โพสต์ตอบกลับมาประมาณ ๓๐ ข้อความ แต่ละข้อความให้ความเห็นและให้กำลังใจว่าเขียนวิจารณ์ได้ดีมาก ฯลฯ จากจุดนั้นจึงทำให้กลายเป็นคนที่ชอบเขียน ประกอบกับการเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ก็ต้องเขียนรายงานเยอะมาก ทำให้ได้ฝึกเขียนเยอะจากจุดนั้น

นอกจากจะเป็นคนที่ชอบเขียนแล้ว ยังเป็นคนชอบดูหนัง และชอบกำหนดโจทย์แปลกๆ ให้กับตัวเอง เช่น ดูหนังช่วงเที่ยงคืนถึงตีสอง แล้วจากช่วงตีสองถึงตีสีก็มานั่งเขียนแล้วก็นำไปโพสต์ เป็นต้น ส่วนเรื่องการเขียนบล็อกนั้นในช่วงแรกๆ จะไม่ได้เป็นการเขียนบล็อกแบบชัดเจนเช่นในปัจจุบัน แต่มักจะแฝงอยู่ในเว็บที่มีการเขียนไดอารี่ออนไลน์ เช่น Storythai.com ส่วนของเว็บพันทิพย์นั้นจะค่อยๆ พัฒนาแล้วแยกออกมาเป็นบล็อกแก๊งค์ (Bloggang.com) 


ในการเขียนงานแต่ละชิ้นเมื่อตอนที่ยังไม่มีเว็บเป็นของตัวเอง จะใช้วิธีนำข้อเขียนไปโพสต์ไว้ที่เว็บอื่นๆ ทั่วๆ ไป แล้วค่อยสำเนา (Copy) ลิงค์มาส่งอีเมล์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน ซึ่งข้อเขียนก็จะกระจายกันอยู่ไม่เป็นระเบียบขึ้นอยู่กับว่าจะนำบทความนั้นไปโพสต์ไว้ที่ไหน แล้วค่อยส่งงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน ในช่วงแรกๆ ของการทำงานเขียนจึงเสมือนเจ้าไม่มีศาล เพราะต้องคอยไปตามเว็บนู้นเว็บนี้เป็นประจำ นับเป็นอุปสรรคในช่วงแรกๆ ของการเขียนงานเพื่อเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต


ส่วนอุปสรรคด้านอื่นๆ ของการเขียนบล็อกนั้นเริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อบล็อกที่ไม่ควรทำให้อ่านยากหรือสะกดได้ยากจนเกินไป ต่อมาคือการแยกหมวดหมู่บทความหรือเรื่องที่จะเขียน ควรแยกอย่างง่ายๆ เช่น หมวดภาพยนตร์ (Movies) หมวดดนตรี (Music) หมวดศิลปะ (Arts) หมวดหนังสือ (Books) หมวดนิยายเรื่องสั้น เป็นต้น นอกจากนี้การที่มีผู้มาตามอ่านงานเขียนบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมากนั้น อาจไม่ได้แสดงว่างานเขียนของเรามีคุณภาพเพียงพอที่จะสามารถส่งไปพิมพ์ในนิตยสารกระแสหลักต่างๆ ได้ ซึ่งหมายถึงการที่ผู้เขียนต้องคอยปรับปรุงวิธีการเขียนและหมั่นส่งงานเขียนไปยังนิตยสารที่เข้ากับบทความอย่างสม่ำเสมอในกรณีที่อยากมีผลงานลงตีพิมพ์ในนิตยสารจริงๆ


ข้อดีอย่างหนึ่งของการโพสต์ในอินเทอร์เน็ตก็คือ อินเทอร์เน็ตเป็นการสื่อสารสองทาง (Two ways communication) เขียนดีก็ได้รับคำชม เขียนไม่ดีก็ได้รับคำตำหนิทันที ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการเขียนได้เร็วขึ้น และการเขียนบล็อกเปรียบเสมือนการเป็นบรรณาธิการให้กับงานเขียนของตัวเอง คือ สามารถที่จะจัดหมวดหมู่ เรียบเรียงผลงานเขียนของตนอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องรวมเล่มพิมพ์เป็นหนังสือจริงๆ เพราะบล็อกให้ความรู้สึกกับผู้เขียนว่ามีที่ทางเป็นของตัวเองและเป็นแหล่งรวมงานของคนๆ นั้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ความเป็นนักเขียนอย่างหนึ่งในการเผยแพร่ผลงานตนให้ผู้อื่นได้อ่าน ได้รู้จักผลงาน

จากงานเขียนออนไลน์มาสู่งานตีพิมพ์
ปัจจุบันคุณคันฉัตรเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารไบโอสโคปและเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สั้น โดยคุณคันฉัตรพยายามที่จะพิสูจน์ให้คนรอบข้างเห็นและเข้าใจไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือญาติพี่น้อง โดยทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมากับอาชีพที่คุณคันฉัตรเลือกนั้น ถึงแม้จะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันแต่ความรู้ที่ได้มาก็สามารถนำมาใช้ร่วมกันอย่างผสมผสานได้ ที่สำคัญคือการพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนรอบข้างให้รู้สึกว่า อาชีพนักเขียนบนโลกออนไลน์สามารถเชื่อมโยงกับอาชีพในความเป็นจริงได้เช่นกัน

หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มแรกของคุณคันฉัตร เขียนถึงผู้กำกับภาพยนตร์เกาหลีผู้โด่งดัง คิมคีดุ๊คหรือคิมคีด็อค (ผลงานผู้กำกับท่านนี้ที่เป็นที่ประทับใจใครหลายคนคือ เรื่อง Spring Summer Fall Winter...and Spring และเรื่อง 3IRON และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ออกแนวซาดิสต์อย่าง Bad Guy เป็นต้น)

ตัวอย่างภาพยนตร์สั้นกำกับโดยคุณคันฉัตร

นอกจากนี้หากใครอยากรู้จักคุณคันฉัตรให้มากขึ้นกว่านี้ หรืออยากติดตามอ่านผลงานของคุณคันฉัตรก็สามารถติดตามได้ที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=merveillesxx&group=1

 

หมายเลขบันทึก: 223110เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2008 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท