ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

ก่อเกิดนิคมอุตสาหกรรมที่นครศรีธรรมราช


จะเกิดอุตสาหกรรมที่นครศรีธรรมราชนับหมื่นไร่ เหมือนกับมาบตาพุด เราจะทำอย่างไร

จับตาการผุดเขตอุตสาหกรรม

บริเวณชายฝั่งทะเลนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี

 โดย  กลุ่มศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช

26   มิถุนายน  2551

      กลางเดือนมิถุนายน 2551 หลังจากที่แว่วข่าวว่ากำลังมีการผลักดันให้เกิดเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งบนชายฝั่งทะเลระหว่างนครศรีธรรมราชกับสุราษฎร์ธานี  พวกเราประหลาดใจที่เรื่องสำคัญแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างเงียบเชียบและพากันประหวัดนึกไปถึงโครงการเซาเทอร์นซีบอร์ด      ข้อเขียนนี้เป็นการพยายามรวบรวมข้อมูลเท่าที่หาได้เพื่อเรียนรู้ร่วมกันเป็นเบื้องต้น   อันอาจจะทำให้ผู้สนใจพอจะปะติดปะต่อและติดตามเรื่องราวที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้

           มีหน่วยงานสำคัญที่กุมทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่จะกล่าวถึงที่นี้      2 หน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  ทั้ง 2 หน่วยงานมีส่วนผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือที่เรียกทั่วไปว่า เซาเทอร์นซีบอร์ด  และโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์  อันมีรูปธรรมขณะนี้คือถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 กระบี่-ขนอม   ข้อเขียนนี้รวบรวมจากเอกสารล่าสุด 4 ชิ้น   แบ่งเป็นเอกสารจัดทำโดย สศช. 2 ชิ้น คือ แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 ปี(2550-2554) และการพัฒนาพื้นที่รองรับ ที่สศช.จัดทำเมื่อ กค. 2550   ( ต่อไปนี้จะเรียกว่า สศช. 2550)   กรอบแนวคิดการพัฒนาภาคใต้และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่สศช.จัดทำเมื่อ มิย. 2551 (ต่อไปนี้จะเรียกว่า สศช. 2551)     นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่ กนอ.ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาคือ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจีเนียริ่ง แอนด์ แมแนจเมนต์ จำกัด จัดทำชื่อ “รายงานความก้าวหน้าครั้งทื่ 1 โครงการศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้  ที่บริษัท ทีมฯจัดทำเมื่อ กพ. 2551(ต่อไปนี้จะเรียกว่า ทีม กพ. 2551)    และมีเอกสารประกอบการบรรยาย(handout)ที่บริษัท ทีมฯทำสำเนาจากการนำเสนอในเวทีชื่อ การประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ทีม มิย. 2551)

เอกสารทั้ง 4 ชิ้นมีเนื้อหาสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน  และให้ความกระจ่างแก่เราได้พอสมควร   ซึ่งในที่นี้จะเน้นพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยอันได้แก่บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

 

  เซาเทอร์นซีบอร์ด และแลนด์บริดจ์มีความเป็นมาอย่างไร?

                เอกสารเหล่านี้ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2532 ครม.ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนา สะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์)เชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย  และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้(เซาเทอร์นซีบอร์ด) ตามที่ สศช.เสนอ

                กันยายน 2546 ถนนสาย 44 กระบี่-ขนอมขนาด 4 ช่องจราจรสร้างเสร็จ  ระยะทาง 133.85 กิโลเมตร มีเขตทางตลอดแนวถนน 200 เมตร โดยแบ่งเป็นถนน 100 เมตร  เตรียมไว้สำหรับระบบท่อส่งน้ำมัน 40 เมตร และ พัฒนาเส้นทางรถไฟ  60 เมตร จะสร้างคลังเก็บน้ำมันสำรองที่ฝั่งอันดามัน  และสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ฝั่งอ่าวไทย[1]   แผนยังกำหนดให้สร้างท่าเรือน้ำลึกโดยแต่เดิมกำหนดด้านฝั่งอ่าวไทยไว้ที่ อ.ขนอม  ต่อมาใน พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนเป็นที่บ้านบางปอ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

               

เซาเทอร์นซีบอร์ดและแลนด์บริดจ์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมหนักอย่างไร?

                1) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมหนักมีอยู่ในแผนเดิมตั้งแต่ สศช.เริ่มผลักดันโครงการเซาเทอร์นซีบอร์ดและแลนด์บริดจ์แล้ว  โดยระบุว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมแกนนำขนาดใหญ่จะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีเป็นหลักเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง[2]    นอกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานแล้ว สศช.ยังได้เสนอให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้มี อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น ยางพารา ปาล์ม อาหารทะเล  อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ  [3]

                2)    อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ        สศช.ได้วิเคราะห์แนวโน้มภาพรวมการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยใน 5 ปี(2550-2554) เห็นว่าอุตสาหกรรมเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะชายฝั่งภาคใต้ที่สามารถใช้ก๊าซจากอ่าวไทยสำหรับรองรับอุสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะยาว[4]  โดย สศช.เสนอพื้นที่รองรับคือ อ.สิชล พร้อมทั้งเสนอสร้างท่าเรือน้ำลึกเหมือนที่กระทรวงพลังงานเคยเสนอ    ส่วนปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ต้องแก้ไขคือการจัดการปัญหามลพิษและความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา[5]    สศช.ได้เสนอทางออกต่อปัญหานี้ เช่น หาแหล่งน้ำเพิ่ม การพัฒนาระบบโลจิติกส์ การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจ(cluster)  การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ไปด้วย เป็นต้น [6]

3) ลักษณะพื้นที่ตั้งของเซาเทอร์นซีบอร์ดและแลนด์บริดจ์เหมาะกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี    เพราะอยู่ชายฝั่งทำให้สะดวกในการนำวัสดุเข้ามา  โดยต้องมีสถานที่สร้างท่าเรือน้ำลึก  ทำเขตอุตสากรรมต่อเนื่อง  ประกอบกับบริเวณนี้อยู่ใกล้กับแหล่งขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี     การมีท่าเรือและเขตอุตสาหกรรมจะทำให้บริเวณนี้ขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นได้ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา ปาล์ม  อุตสาหกรรมอาหารทะเล  ซึ่งมีวัตถุดิบในท้องถิ่นมาก[7]  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กที่จะขยายเพิ่มจะโรงงานจาก อ.บางสะพานไปอีก 4 แห่งซึ่งกำลังสำรวจอยู่คือ บริเวณเขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ แหลมช่องพระ อ.ปะทิว จ.ชุมพร บ้านแหลมทวด อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี บ้านบางปอ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช[8]

4) การที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไม่ได้อีก โดยเฉพาะจากปัญหาการจัดการมลพิษ และการคัดค้านจากชาวบ้าน  ทำให้ ศสช.กำหนดให้ย้ายพื้นที่นิคมอุสาหกรรมไปที่แห่งใหม่ซึ่งก็คือพื้นที่เซาเทอร์นซีบอร์ดและแลนด์บริดจ์  และนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในวันที่ 10 เมย. 2551[9]

 

โครงสร้างพื้นฐานที่ต้องทำมีอะไรบ้าง?

                ที่สำคัญคือ

1) แหล่งน้ำ   ในเอกสาร สศช.ที่จัดทำล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ก็ยังระบุถึงการต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มอยู่ รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกลายและเขื่อนคลองท่าทน[10]  นอกจากนี้การศึกษาของบริษัทที่ปรึกษายังได้กล่าวถึงแหล่งน้ำทั้ง 2 และแหล่งน้ำอื่นด้วย เช่น อ่างเก็บน้ำคลองกระแดะ อ่างเก็บน้ำคลองลาไม อ่างเก็บน้ำห้วยปากหมาก [11]

2) ถนน รถไฟ  แผนงานที่เตรียมจะดำเนินการคือ[12]

                -การก่อสร้างถนนสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร

สายพังงา-กระบี่

สายนครศรีธรรมราช-สงขลาตอนระโนด-สะทิงพระ

                                -การก่อสร้างทางรถไฟทางคู่

                                                ช่วงสุราษฎร์ธานี-บ้านนา

                                                ช่วงเขาชุมทอง-ชะอวด

                                                ช่วงแหลมโตนด-บ้านต้นโดน

3) การศึกษา มีการพัฒนาองค์ความรู้ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม[13]

4) ที่ดิน  ปัจจุบันฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งกำลังเติบโตและก้าวสู่ระยะการพัฒนาที่ 3 อยู่ที่มาบตาพุด  แต่ที่มาบตาพุดเริ่มมีขีดจำกัดในการรองรับโดยเฉพาะจากปัญหาสิ่งแวดล้อม  จึงต้องย้ายมาผลิตในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้  ซึ่งต้องใช้พื้นที่ทั้งหมด 9,000 ไร่[14]  ยังไม่รวมพื้นที่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ  กนอ.มีสิทธิ์เวนคืนที่ดิน  จากนั้น กนอ.มีสิทธิ์โอนไปยังผู้ประกอบอุตสาหกรรมต่อได้  ซึ่งต่างจากการเวนคืนโดยทั่วไปที่เมื่อเวนคืนแล้วที่ดินจะตกเป็นของรัฐไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้อื่นได้[15]

5) ไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรมต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายในพื้นที่นิคมโดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน[16]

 

สถานที่ก่อสร้างอยู่ที่ไหน?

ที่ผ่านมาได้มีการระบุสถานที่ที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกและที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่างกัน โดยเฉพาะที่ อ.สิชลและ อ.ขนอม  เช่น เมื่อ สศช.ร่วมกับธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB)ลงไปสำรวจพื้นที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 แล้วเสนอว่าสำหรับการสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องในพื้นที่โดยรอบอำเภอขนอม[17]  ซึ่งแสดงว่าบริเวณก่อสร้างอาจเตรียมการไว้หลายที่

ในรายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 1 ของโครงการศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของบริษัททีมฯ เมื่อ กุมภาพันธ์ 2551 ก็ยังไม่ได้ระบุพื้นที่ที่จะจัดสร้างนิคมอุสาหกรรมชัดเจน เพียงแต่ระบุว่าในบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยจะสร้างที่จุดใดจุดหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชหรือสุราษฎร์ธานี และระบุปัจจัยในการคัดเลือกพื้นที่ 9 ประการ[18]   และกำหนดกลุ่มพื้นที่สำรวจออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มอำเภอท่าชนะไชยา เมือง กาญจนดิษฐ์ 2) กลุ่มอำเภอดอนสักและอำเภอขนอม 3) กลุ่มอำเภอสิชลและอำเภอท่าศาลา[19] ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะบริษัททีมฯมีระยะเวลาศึกษา 1 ปี(มค.-ธค. 2551) โดยกำหนดส่งรายงานความก้าวหน้าแก่ กนอ. 7 ครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเดือน กพ.,เมย.,มิย.,กค.,กย.,ตค.,ธค. 2551 ตามลำดับ  ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกพื้นที่จัดทำเขตอุตสาหกรรมที่ชัดเจนน่าจะอยู่ในรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2 เป็นต้นไป[20]

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัททีมฯต้องรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ที่จะจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมด้วย  ดังนั้นเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นที่บริษัททีมฯนำเสนอกับชาวบ้านจึงบ่งชี้ถึงพื้นที่ที่ถูกเลือกได้  โดยได้ระบุช่วงแรกของการนำเสนอว่า พื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษาชี้ว่า อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชเหมาะสมที่จะเป็นท่าเรืออุตสาหกรรม[21]   ขณะที่ช่วงท้ายของการนำเสนอระบุว่า พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมที่เหมาะสมเบื้องต้น 1. พื้นที่ท่าเรือและพื้นที่ประกอบการอุสาหกรรม อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช 2. พื้นที่ท่าเรือและพื้นที่ประกอบการอุสาหกรรม อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช[22]   ซึ่งน่าสังเกตว่าช่วงท้ายมีคำว่า พื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม ด้วย  ขณะที่ช่วงแรกมีแต่คำว่า ท่าเรืออุตสาหกรรม เท่านั้น

บริษัท ทีมฯระบุว่าพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างท่าเรืออุตสาหกรรม ๕ ทางเลือก คือ[23]

ทางเลือกที่ ๑ บริเวณคลองดิน ถึงปากน้ำปากดวด ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ทางเลือกที่ ๒ บริเวณบ้านคอเขา ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

ทางเลือกที่ ๓ บริเวณบ้านทุ่งไสย   ต.ทุ่งใส  อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

ทางเลือกที่ ๔ บ้านหน้าด่าน ต.ขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

ทางเลือกที่ ๕ บริเวณอ่าวท้องแฝงเภา ต.ขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

 

 สรุปความคืบหน้าที่ได้จากเอกสารมีอะไรบ้าง?

                ปัจจุบันโครงการกำลังเดินหน้า  หลายหน่วยงานที่สำคัญดำเนินงานอย่างสอดคล้องกันคือ สศช. ผลักดันโครงการโดยล่าสุดคือวันที่ 12 พค. 2551 สศช.ได้รายงานนายกรัฐมนตรีถึงความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งมีสาระสำคัญเหมือนที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก การแปรรูการเกษตรและพืชพลังงาน    พร้อมทั้งเสนอแผนดำเนินงานระยะต่อไป  ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 13 พค. 2551 และเสนอเสนอให้ ครม.พิจารณา[24]   กนอ.ได้ลงมือปฏิบัติโดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินงานทั้งการศึกษาและการทำงานในระดับพื้นที่ 

 

นั่นคือถ้านิคมอุตสาหกรรมสามารถเริ่มดำเนินการได้ใน พ.ศ. 2559 ก็จะตรงกับช่วงเวลาที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะย้ายฐานการผลิตจากภาคตะวันออกเนื่องจากมีปัญหามากแล้วมาผลิตยังนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในพื้นที่เซาเทอร์นซีบอร์ด ตามพัฒนาการเติบโตในระยะ 3 ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีพอดี[1]     

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยมีการทำแผนแม่บทซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือระยะที่ 1 (2523-2531) ระยะที่ 2(2532-2547) และระยะ 3 (2547 เป็นต้นมา)   ในระยะที่ 3 มีการเสนอพื้นที่สำหรับพัฒนาอุสาหกรรมปิโตรเคมี 2 ทางเลือกคือ

ทางเลือกที่ 1 ใช้พื้นที่ที่มาบตาพูดต่อไป 33 ผลิตภัณฑ์ 56 โรงงาน

ทางเลือกที่ 2 แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ

                ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2547-2558 ผลิตที่มาบตาพุด 29 ผลิตภัณฑ์ 34 โรงงาน

                ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป จะมี 23 ผลิตภัณฑ์ 22 โรงงานย้ายไปในพื้นที่แลนด์บิริดจ์ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช  ทั้งนี้เพื่อรอให้มีโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการให้มีศูนย์กลางน้ำมันเป็นแกนนำการพัฒนาเสร็จก่อน

ส่วนพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผลกระทบโดยตรงได้แก่

-พื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก  สร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม  และบริเวณใกล้เคียง

-พื้นที่ในบริเวณที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ การหาแหล่งน้ำเพิ่ม  และการสร้างถนน

 ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]

หมายเลขบันทึก: 226741เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2008 01:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีครับ กำลังศึกษาข้อมูลอยู่..

ระวัง พวกมีอิทธพล ท้องถิ้นให้ดี ไอ้ พวกนี้ กำลังหา กำไร ให้ พรรคพวกมันอยู่ กลัวอย่างเดียวชาวบ้าน ไม่ค่อยรู้เรื่อง เรื่องนี้ส่วนตัวผมเอง ได้ยินมา ตั้งแต่อยู่ที่ ระยอง เพราะเกียวข้องกับ กระทรวงพลังงาน

ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ข้อมูลอะไรเลย และสุดท้ายชาวบ้านก็ตกเป็นลูกหมาในกำมือของนายทุนอีกละซิ

ตอนนี้ ที่ อ.สิชล ชาวบ้านรวมตัวกันแล้ว ชื่อ กลุ่มรักษ์ทุ่งปรัง กำลังเคลื่อนไหวอยู่ครับ

จะยินดีมาก หากมีเวที แล้วเปิดโอกาสให้ "กลุ่มศึกษาเข้าไปนำเสนอข้อมูล" เราพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อไม่เอานิคมุตสาหกรรมร่วมกับทุกคนครับ

ผมเกิดที่ทุ่งปรังครับ

จึง "รักทุ่งปรัง"

ชาวบ้านยินดีถ้าจะมีคนที่สู้เพื่อทุ่งปรังจริงๆ วันนี้มีการประชุมกันทั้ง2ฝ่าย (ทั้งผู้จัดโครงการและชาวบ้าน)หากอยากต่อสู้ก็ขอเชิญได้เลย วันนี้เราอยากบอกว่าไม่เอานิคมอุตสาหกรรมไม่เอามลพิษ,,,,,,,

ยินดีมากๆๆๆครับ สำหรับการต่อสู้ ทุนข้ามชาติ

เรื่องนิคมอุตสาหกรรม

เรื่องนี้เต็มที่ครับ

เราไม่เอานิคมอุตสาหกรรมแน่นอน

อยู่ปัตตานี บ้านอยู่ต.ทุ่งปรัง

ผมขอเข้าร่วมกับกลุ่มรักทุ่งปรังด้วยคนครับ ถ้าโครงการนี้เกิดแล้วพี่น้องเราจะอยู่กันอย่างไร วันนี้เราอยู่กันอย่างสุขสบายแต่วันข้างหน้าลำบากแน่ๆ พี่น้องต้องกระจัดกระจายกันหมด ถ้าไปตั้งที่บ้านของคนที่คิดโครงการแล้วเขาจะยอมหรือเปล่า

ขอบคุณมากๆๆ ที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ

เมือ่ไหร่จะสร้างเสร็จค่ะอยากกลับไปทำงานที่บ้าน แล้วเค้าสมัครงานกันที่ไหนค่ะ

จะเริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่ครับ

ชาวบ้านจะได้มีงานทำ ลูกหลานที่เรียนจบมาก็ไม่ต้องทิ้งบ้านเกิด

เข้ามาหางานทำในกรุงเทพๆ

อยากกลับไปทำงานที่บ้านเต็มแก่แล้ว

ขุนจันทร์

ที่ตำบลกลายก็มีการจัดตั้งกลุ่มรักษ์กลายเหมือนกันเพื่อต่อต้านการสร้างนิคมฯ

แต่จากที่ดูๆและที่ฟังมา ยังมีชาวบ้านที่ไม่เข้าใจ หวังแค่ว่าหากนิคมฯสร้างเสร้จ

จริงๆ จะช่วยให้ลูกหลานมีงานทำ แต่ไม่เคยคิดถึงผลที่จะตามมาในภายหลังเลย

ทั้งที่มีตัวอย่าง ความผิดพลาดอย่างเช่น แก๊สรั่ว ให้เห็นออกบ่อย (ยิ่งในช่วงนี้)

แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการมาคอยให้ความรู้แก่ชาวบ้านอยู่ ก็แค่หวังว่า

ชาวบ้านจะเข้าใจ และเห็นแก่ส่วนรวม และบ้านเกิดของเรา

ผมคนนครเหมือนกัน อยากให้โครงการต่างๆเกิดอย่างมากเนื่องจากจะได้กลับไปทำงานที่บ้านเสียที ถ้าความเจริญและการสร้างอาชีพ

เกิดกับบ้านเราคงดี อยากให้เกิดมากๆจังหวัดจะได้มีเศรษฐกิจดี ผมเองไม่บิดกั้นหรือถ่วงความเจริญ เอะอะอะไรก็ไม่เอาลูกเดียวคงมี

เอ็นจีโอมาให้เงินหรือเปล่า ผมเองก็เป็นห่วงสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แต่ก็ต้องมีวิธีในเรื่องมาตราการดีๆให้นิคมอยู่คู่กับสิ่งแวดล้อมได้

ผมคนนครเหมือนกันสาธุ เมื่อไหร่คนบ้านเราเลิกโง่เสียที อยากให้โครงการต่างๆเกิดขึ้น ไอ้พวกเอ็นจีโอตัวถ่วงความเจริญจริงๆเกลียดมันมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆ อยู่ระยองที่มาบตาพุตมานานไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว ทำงานเงินเดือนดีๆๆๆๆ ดีกว่าจนตาย ทุกอย่างมีข้อดี

ข้อเสียบ้าง ลองเปิดใจรับและหามาตราการรองรับทำข้อตกลงร่วมกันให้ความเจริญอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ อย่าให้ใครมาล้างสมอง

หรือจูงจมูกเสียที คนนครไม่ใช่วัวควาย

เออ...อยากเมืองคอนมีอุตสาหกรรมเสียที ไม่รู้ไครไปจูงจมูกชาวบ้าน อย่างนี้แหละเอะอะก็ประท้วงน่าบื่อ ดูระยองเป็นตัวอย่าง

แล้วไปทำบ้านเราได้แต่ ทำที่นครเอามารตาการดีๆมาลอมคอก อยากกลับไปทำงานที่บ้านจังวะ เมืองคอนไม่มีอะไรทำเลย

ผลประโยชน์ของตน ผลประโยชน์ ของใคร

เห็นมี นายทุนทำท่าเรือ มาปรับปรุงท่าเรือเก่า ที่ อ่าวแฝงเถา ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศีรธรรมราช

หาดนี้เป็นหาดสวยมากเลย แล้วมีอีกหลายหากที่ติดๆกันมีความเป็นธรรมชาติมาก

ลองเข้าไปเที่ยวดูนะครับ สวยสุดของ อ.ขนอม ก็ว่าได้

เขาจะทำโครงการไรซะอย่าง น่าจะเป็นโครงการนี้ละ

ถ้าทำจริงตายกับตาย สถานที่ท่องเที่ยวกับลังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแถวนั้น

แต่ที่รู้ๆชาวบ้านไม่มีใครรับรู้เลย ว่าเขากำลังจะทำให้ อ.ขนอม จะทำอย่างไรดี

น่าสงสาร ชาวบ้านจริง

ช่วยส่งข่าวให้รู้การทั่วๆหน้า

เห็นมี นายทุนทำท่าเรือ มาปรับปรุงท่าเรือเก่า ที่ อ่าวแฝงเถา ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศีรธรรมราช

หาดนี้เป็นหาดสวยมากเลย แล้วมีอีกหลายหากที่ติดๆกันมีความเป็นธรรมชาติมาก

ลองเข้าไปเที่ยวดูนะครับ สวยสุดของ อ.ขนอม ก็ว่าได้

เขาจะทำโครงการไรซะอย่าง น่าจะเป็นโครงการนี้ละ

ถ้าทำจริงตายกับตาย สถานที่ท่องเที่ยวกับลังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแถวนั้น

แต่ที่รู้ๆชาวบ้านไม่มีใครรับรู้เลย ว่าเขากำลังจะทำให้ ท่าเรือขนส่งของ (ไม่รู้มีการปิดบังอะไรหรือป่าวนะครับ)

ชาวขนอม จะทำอย่างไรดี

น่าสงสาร ชาวบ้านจริง

ช่วยส่งข่าวให้รู้การทั่วๆหน้า

ลองหารือ กับ พี่เล็ก ดูซิครับ

ชมรมพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ขนอม

โทร 085 7897456 0816766779

ผมได้คุยกับ พวก ทำโครงการอุตสหกรรม มาบ้าง เห็นเขาบอกว่า โครงการอะไรจะขึ้นก็อยู่ที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านไม่ได้รู้เรื่อง

อะไรหรอครับผลประโยชย์กานทั้งนั้น ยิ่ง อ.ขนอม เป็นที่ท่องเที่ยวหลักของ จ.นครศรีธรรมราช ไปแล้ว

แล้วถ้ากลายเป็น เมืองอุตสหกรรม ชาวบ้านคงเดือดร้อนหน้าดู

นครศรีธรรมราช จะเหมือน มาบตาพุด - * -

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท