ทำอย่างไรให้ชีวิตนี้ "มีแต่สิดีไปเมือหน้า" ?


ประโยค "ชีวิตนี้มีแต่จะดีไปเมือหน้า" ผมยืมมาจากหนังสือ "ความหวังใหม่ของสระคูณ" ของสำนักพิมพ์มูลนิธิหมู่บ้าน เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว เป็นคำพูดของพ่อผาย สร้อยสระกลาง ผู้ใหญ่บ้านสระคูณ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เขียนโดย เสรี พงศ์พิศ

ความหมายของประโยคนี้ในตอนนั้นมุ่งชี้ให้เห็นว่าหมู่บ้านสระคูณมีแต่จะดีต่อไปในวันข้างหน้าเพราะชาวบ้านสระคูณสามัคคีกันพัฒนาหมู่บ้านบนพื้นฐานวัฒนธรรมชุมชน

การพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานวัฒนธรรมชุมชนนี้มีปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งพูดเป็นผญาไว้ว่า "จะไปข้างหน้าอย่าลืมเหลียวหลัง" เจ้าของคำพูดคือ พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ผู้นำเครือข่ายอินแปง จ.สกลนคร

ในหนังสือ "คืนสู่รากเหง้า" ของ ดร.เสรี พงศ์พิศ มีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างอิงอยู่เสมอ คือ "คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมาจากไหน ก็จะไม่รู้ว่าตัวเองจะไปไหน"

ผมเองขณะนี้อายุกำลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย หรือกำลังย่างเข้าสู่วัยชราตอนต้น เพิ่งเริ่มคิดเรื่องนี้ไม่นานมานี้เอง

ในวัยนี้มีคำถามถามตัวเองว่า เราจะเตรียมตัวเข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร?

ผมคิดว่าจะตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องย้อนทบทวนอดีต ๕๐ กว่าปีที่ผ่านมาของตนก่อน นั่นคือต้อง "เหลียวหลัง" ก่อนที่จะ "แลหน้า"

เมื่อเหลียวหลังไป ผมก็พบว่าที่ผ่านมา ผมทำกรรมชั่วไว้ไม่น้อย กรรมดีก็มี

เรื่องกรรมชั่ว หากเอาศีลห้ามาจับ ผมก็เคยผิดศีลมาแล้วทุกข้อ

ข้อปาณา นี่แม้ไม่เคยฆ่าคน แต่ก็เคยยิงนกตกปลา เป็ดไก่ก็เคยฆ่า ตอนที่ผมยังเด็กที่บ้านเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ผู้ใหญ่เขาฆ่าเป็นอาหาร ผมก็ไปขอเขาเชือดคอเป็ดด้วยความอยากเรียนรู้ ผู้ใหญ่นั้นเขาชำนาญ ใช้มีดปาดคอไก่ ตัดเส้นเลือดใหญ่แบบนิ่มนวลและแม่นยำ แล้วปล่อยให้เลือดค่อยๆ ไหลออกมา จนตายอย่างสงบ แต่ผมปาดคอเป็ดตัวหนึ่งจนคอขาดแล้วเป็ดก็ยังไม่ตาย แถมยังลุกขึ้นมาเดินได้อีกทั้งๆ ที่ไม่มีหัวแล้ว สักครู่ก็ล้มลงตาย ภาพเป็ดคอขาดที่เดินได้นี้ยังอยู่ในความทรงจำผมจนถึงทุกวันนี้ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ผมไม่กินเป็ดมาหลายสิบปีแล้ว

การเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยกาย วาจา ใจ ผมก็เคยทำมาหมด เพียงแต่เมื่ออายุมากขึ้น มีความยั้งคิด "รู้คิด" มากขึ้น ก่อนพูดก่อนทำอะไรก็ "คิดหน้าคิดหลัง" มากขึ้น

ข้อลักทรัพย์ผมก็เคยทำ ไปเล่นบ้านเพื่อนเจอเงิน ๒๐ บาท หยิบติดมือออกมาซื้อขนมกินเฉยเลย โดยไม่บอกเขา เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังเคยยืมเงินยืมของคนอื่นแล้วลืมคืนเป็นประจำ  

ข้อกาเม ก็มีบ้างโดยเฉพาะสมัยหนุ่มๆ

มุสา นี่ดูเหมือนจะหนักสุด โดยเฉพาะการใช้คำพูดประชดประชันให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ถนัดมาก พอๆ กับการพูดเพ้อเจ้อจนคนเข้าใจผิด กระทั่งมีคนเดือดร้อนเพราะการเพ้อเจ้อของผมที่ส่วนใหญ่มักออกไปในทางขยายความเรื่องราวจนเกินจริงตามความคิดฝันของเรา หรือไม่ก็ลดทอนความจริงลงเพื่อปลอบใจตัวเอง หรือไม่ก็เฉไฉออกนอกเรื่องเสียเฉยๆ เพื่อลดความไม่สบายใจ

ส่วนสุรานั้นก็เคยดื่มตอนยังหนุ่ม เป็นการดื่มบางโอกาสเพื่อเข้าสังคม แต่ไม่เคยถึงขนาดเมามายสักครั้งเดียว และก็หยุดมาเป็นสิบปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีจิบๆ ไวน์อยู่บ้าง บางโอกาส แต่พวกวิสกี้นี่ไม่อีกเลยอย่างสิ้นเชิง และพร้อมปฏิเสธคำเชิญจากใครก็ตาม ไม่แคร์ด้วยว่าเขาจะคบเราต่อไปหรือไม่จากการปฏิเสธของเรา แต่ก็ยังไม่เคยพบว่าใครเลิกคบเราเพราะเขาชวนแล้วเราไม่ดื่ม เพราะเราไม่ได้รังเกียจคนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือแม้กระทั่งเสพยา เราปฏิเสธพฤติกรรมที่เขาทำ แต่เราก็ยังสามารถรักตัวเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์พร้อมได้ ตัวเราเองก็ไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อม (เพียงแต่เราอาจใส่ใจที่จะกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น)

มาถึงขณะนี้มีความคิดว่า เมื่อพบเห็นพฤติกรรมใดของตนเองที่เกิดจากกิเลส ก่อทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่นก็ "วาง" (หยุด) เรื่องราวร้ายๆ ที่ผ่านมา ที่รบกวนใจเราก็ "ปล่อย" ให้ผ่านไป (Let it go) และยินดีรับผลกรรมนั้น ตามกฏแห่งกรรมที่ในวันนี้ผมเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมในพุทธวัจนะที่ว่า "ใครหว่านพืชใดก็ได้รับผลนั้น"

ขณะเดียวกันผมกลับมีความมั่นใจในชีวิตส่วนที่เหลือ (ซึ่งเชื่อว่าจะเหลือไม่ถึงครึ่ง เพราะคงไม่สามารถอยู่ได้เกิน ๑๐๐ ปี) จะ "มีแต่จะดีไปเมือหน้า"

ทำไมผมจึงมั่นใจเช่นนั้น?

เพราะผมเชื่อว่าการดำเนินชีวิตที่เหลือนี้ต่อไปอย่างไม่ประมาท ด้วยการพยายามรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ และก็หมั่นสร้างกรรมดี สร้างสมบารมี เช่น ให้อภัย(ทั้งตัวเองและผู้อื่น) มีพรหมวิหารสี่ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) มีอิทธิบาทสี่ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) พยายามสังเกตโลภะ โมหะ โทสะ ที่เกิดขึ้นในตนเองอยู่เสมอๆ ในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน

ผมเชื่อว่าการทำเช่นนี้ ชีวิตจะดำเนินไปโดยไม่มีอะไรน่ากลัว น่าระแวง สงสัยอีกเลย เพราะเราจะไม่มีศัตรู ไม่เพิ่มกรรมชั่วที่จะสนองเราอีก หากจะมีกรรมเก่าติดตามมาเราก็ยอมรับ 

การหยุดเบียดเบียน ไม่ก่อทุกข์ ไม่สร้างปัญหาให้ใคร (รวมทั้งตนเอง) ตรงข้ามกลับรัก ให้อภัย มีเมตตา กรุณา ทั้งต่อตนเองและทุกคน

หลังจากฝึกทำเช่นนี้มาในช่วงสั้นๆ ระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกตัวเองมีอิสระขึ้น เบาสบายขึ้น ความกลัวทั้งในปัจจุบันและอนาคตน้อยลง ขณะเดียวกันรู้สึกว่าตนมีความกล้าหาญขึ้น กระทั่งสามารถคิดถึงความตายเป็นเรื่องธรรมชาติได้.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๒๗ ก.พ.๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 245395เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สาธุ! สาธุ!

สวัสดีคะ

อ่านแล้วซึ้งใจจัง รู้สึกอนุโมทนาตามไปด้วย จริงๆ

สักพักมานี้ตั้งแต่เห็นกิเลส(ข้อบกพร่อง) แบบตัวเอง บ่อยๆ

ก็ตั้งคำถามประมาณนี้กับตัวเองเหมือนกัน "ทำอย่างไรให้ชีวิตนี้มีแต่สิ่งดีไปมื้อหน้า?"

แต่มื้อหน้าที่ว่า ฉันจะไม่ต้องถึงชีวิตหน้า รอไม่ไหว ต้องปรับตัวด่วน ชอบคิดฟุ้งจนทุกข์

ก็มื้อหน้า ณ ปัจจุบันขณะไปเรื่อยๆในชีวิตนี้นี่แหละ ว่าทำอย่างไรให้กายใจมันมากกว่าสุข คือสงบได้ ไม่ฟ้งๆๆๆไป

และไอ้มื้อหลังๆ(ชีวิตที่ผ่านมา)นี้เองแหละจะเป็นครูสอนเรา

ทีนี้คำถามว่าทำอย่างไร?

คำตอบอาจารย์เชษฐโดนจริงๆ ให้หมั่นพากเพียรรักษาศีล (ด้วยใจ ไม่ใช่โดนบังคับ)

และก็พบว่ามีคำตอบสุดท้าย อีกคำตอบ ที่เหมือนใกล้เกลือกินด่างจริงๆ วิธีที่พระท่านว่าทุกข์จะดับเพราะดับอวิชชาในใจเรา

วิปัสสนา!!!!!!! ตามดูรู้กายใจ

ขอก้มกราบสามที ด้วยใจ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่มีอยู่แล้วในตัวเรานี่ไง

วันนี้อ่านคำหนึ่ง

พระท่านว่า

"ศีล เจตนางดเว้น

มีหน้าที่เป็นรั้วกันบาปกรรม

การฝึกความอดทน ความยับยั้งชั่งใจโดยมีศีลเป็นเครืองระลึกของสติ

เป็นทางสู่การเลี่ยงกรรมชั่วและความปลอดภัย

และศีลนี้แหละเป็นฐานของการเข้าถึงความสุขของสมาธิ

ซึ่งเลิศกว่ากาม หรือสุขใดอย่างเทียบไม่ได้"

ขอบคุณอาจารย์ ที่เขียนบทความดีดี

จะได้ส่งให้เพื่อนๆ ได้อ่านอีกคะ

ขอบคุณครับอาจารย์ทีนำเรื่องราวสาระดีๆมาให้คิดอยู่เสมอ

"...และศีลนี้แหละเป็นฐานของการเข้าถึงความสุขของสมาธิ"

เมื่อเป็นดังนี้ จะมีสมาธิโดยไม่รักษาศีลได้ไหม?

ศีล-สมาธิ-ปัญญาต้องไปด้วยกันใช่ไหม? อย่างไร?

คำถามอาจารย์ นี้ ความจริงติดในใจ สักพักตั้งแต่ อ่านกระทู้

วันนี้ มีความเห็น ความรู้สึกเกี่ยวกับประเด็นนี้ อะคะ

วันนี้ย้อนมาคุย จารย์น่าลองตั้งกระทู้ใหม่ !

ไม่แน่ใจนัก ประสบการณ์ยังน้อย

แต่ผึ้งรู้สึกว่า (จากการปฎิบัติ) ศีลคล้ายๆ เป็นเหมือนโครงบ้าน เวลาจะสร้างบ้านต้องขึ้นโครงก่อนไรงี้ เลยนะ หรือเปล่าคะ เป็นคล้ายรากฐาน ไรงี้คะ

ถ้าอาจารย์ถามว่าได้ไหม จะมีสมาธิโดยไม่รักษาศีล ลองดุก็ได้คะ

ว่าอันไหนจะ แข็งแรงกว่ากัน คงสัมผัสได้เอง ต้องพิสูจน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท