ความมัวเมาของคนบ้าคนหนึ่ง


"เมื่อฝึกฝนตนเองนานวันขึ้น การ "ตื่น" ขึ้นมาอยู่กับ "ปัจจุบันขณะ" ก็มักจู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัวแบบนี้บ่อยครั้งขึ้น"

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมไปเข้ารับการอบรมการเป็นกระบวนกรนพลักษณ์ที่โรงแรมแกรนด์ไชน่าพรินเซส โรงแรมนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านเยาวราชหรือไชน่าทาวน์ของกรุงเทพฯ ภรรยาโทรศัพท์มาบอกให้ช่วยไปรับขนมเปี๊ยะจากร้านที่เธอสั่งไว้ ร้านนี้อยู่ห่างจากโรงแรมเพียงประมาณ ๒๐๐ เมตร ใช้เวลาเดินปกติก็ประมาณ ๑๐ นาที

วันนั้นผมรีบรับประทานอาหารเที่ยงแล้วออกจากโรงแรมไปยังร้านนั้น ปรากฏว่าถนนเยาวราชตอนเที่ยง บนฟุตบาทริมถนนมีพ่อค้าแม่ขายวางของขายตลอดทาง ทำให้ทางเดินเท้าแคบลง คนที่ไปจับจ่ายซื้อของก็เยอะมาก บางช่วงก็เบียดเสียดกันจนแทบจะสวนกันไม่ได้ ผมรู้สึกอึดอัดกับการเดินในท่ามกลางผู้คนเหล่านั้น เพราะทำให้ไปเร็วดังใจไม่ได้ บางช่วงก็ต้องหยุดรอให้คนสวนทางไปก่อน ใจที่พุ่งไปข้างหน้าด้วยความอยากไปถึงที่ร้านเร็วๆ บวกกับความอึดอัด จนทนไม่ได้ ทำให้ผมตัดสินใจลงไปเดินบนพื้นถนน แม้จะเดินชิดขอบถนนมากแต่ก็ยังรู้สึกอันตรายจากทั้งรถยนต์ รถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ รถเข็น

ขณะกำลังหลบรถเข็นคันหนึ่ง ทันทีที่ผมมองกลับขึ้นไปบนทางเท้า ภาพที่เห็นคือความลื่นไหลของผู้คนที่กำลังเดินกันเป็นขบวนอย่างช้าๆ บ้างก็หยุดจับจ่ายซื้อของอย่างสบายๆ ทั้งหมดกลายเป็นภาพช้าเหมือนภาพสโลว์โมชั่น เป็นภาพที่งดงามมาก ต่างกับอารมณ์อึดอัดก่อนหน้านั้น เป็นภาพเดียวกันที่กลับเป็นภาพประทับใจในชีวิตของผู้คนบนถนนเยาวราช เห็นภาพทั้งหมดเป็นภาพของความไหลเลื่อนของทุกคนบนโลกขึ้นมาอย่างลึกซึ้ง ตัดกับภาพของ “คนบ้า” คนหนึ่งที่กำลังพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงอย่างสุ่มเสี่ยงอยู่เพียงลำพัง

“คนบ้า” คนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน มันคือผมเอง

มีเสียงหนึ่งที่ดังขึ้นมาในหัวที่ทำให้ผม "หยุด" ความรีบร้อนของตนลง เป็นเสียงของเณรน้อยเจ้าปัญญา อิ๊กคิวซัง* จากการ์ตูนโทรทัศน์ที่ผมคุ้นเคยคำพูดซ้ำๆ ของท่านในทุกตอนว่า  “จะรีบไปไหน? จะรีบไปไหน?” ทำให้ผมหยุดนิ่งกับที่ทันที จากนั้นผมก็ค่อยๆ กลับขึ้นไปเดินบนฟุตบาทร่วมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ อย่างสงบและมีความสุขกับทุกย่างเท้าที่ก้าวเดิน ไหลเลื่อนไปกับผู้คนรอบข้างอย่างช้าๆ จนไปถึงร้านขนมเปี๊ยะ

และก็พบว่าเวลาที่ใช้ในการเดินทางไม่ได้ต่างกันกี่มากน้อยหรอก

มันเป็นที่ใจเราเองที่อึดอัดกับแต่ละย่างก้าวของเท้าเราเอง ใจเรามันพุ่งไปจนไม่สามารถอยู่กับจุดที่เรายืนในปัจจุบัน และกับแต่ละก้าวที่เราเดิน

ผมพบว่า เมื่อฝึกฝนตนเองนานวันขึ้น การ "ตื่น" ขึ้นมาอยู่กับ "ปัจจุบันขณะ" ก็มักจู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัวแบบนี้บ่อยครั้งขึ้น 

ขณะที่กำลัง "ตื่น" ขึ้นนั้น "ความหมาย" ต่อเรื่องราวเดียวกัน หรือประสบการณ์เดียวกันในตัวเรา ต่างกันอย่างฟ้ากับดินได้ในชั่วเวลาแค่เสี้ยววินาที และในภาวะนั้นเราจะประสบกับความรู้สึกเป็นสุขเอ่อขึ้นในใจในท่ามกลางความสับสนจอแจได้อย่างประหลาด

ขากลับผมก็เดินกลับมาอย่างสบายๆ สงบๆ ในท่ามกลางผู้คนที่น่ารักเหล่านั้น เป็นความรู้สึกของความรักที่เกิดขึ้นต่อมวลมนุษยชาติจริงๆ นอกจากนี้ในภาวะแห่งความสุขนั้น สายตาผมมองไปทางไหน เห็นเหตุการณ์อะไรก็ชัดไปหมด ประสาทตื่นตัวกว่าปกติมาก เสียงคุยกัน เสียงต่อรองราคาในที่ใกล้ที่ไกล เข้ามาในหูชัดมากราวกับผมอยู่ ณ ที่นั้นด้วย และผมก็เดินข้ามถนนกลับมาฝั่งโรงแรมด้วยความรู้สึกมั่นใจว่าปลอดภัยแน่นอนด้วยประสาทสัมผัสที่ "ตื่น" ขึ้นจากการใจที่สงบลงเช่นนี้ ผมมั่นใจเต็มที่ว่าจะไม่มีรถคันไหนชนผมได้อย่างแน่นอน

แล้วผมก็นึกถึงคำถามของอาจารย์สันติกโรที่ถามคนลักษณ์เจ็ดอย่างผมระหว่างการอบรมว่า “เมื่อไรบ้างที่ผมเมามัว?” ซึ่งตอนนั้นผมนึกเท่าไรก็นึกไม่ออก จนเมื่อประสบกับเหตุการณ์นี้ที่เยาวราช ผมจึงนึกได้ว่าความมัวเมาของเราเป็นเช่นนี้เอง

คือเมื่อเราไม่อยู่กับปัจจุบันขณะ

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๗ ธ.ค.๒๕๕๒

 

*อิ๊กคิวซัง (Ikkyouu San) ที่มีผู้นำมาสร้างเป็นหนังการ์ตูนนี้มีตัวตนจริง ชื่อในวัยเด็กคือ เซนงิกามารุ เกิด พ.ศ.๑๘๙๒ ที่เมืองซะกะโน ใกล้ๆ เกียวโต บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ เมื่อโตขึ้นได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซน ท่านบรรลุธรรมบนเรือในขณะที่เรือกำลังแล่นไปในทะเลสาปแห่งหนึ่ง เมื่ออายุเพียง ๒๕ ปี อาจารย์ให้ฉายาใหม่แก่ท่านว่า "อิ๊กคิว โซจุน" แปลว่า ผู้รู้พ้นจากโลกสมมติ ตามบัญญัติของลัทธิเซน ท่านมรณภาพในท่านั่งขัดสมาธิเมื่ออายุ ๘๘ ปี ที่วัดเมียวโชจิที่ท่านสร้างเอง

หมายเลขบันทึก: 318601เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2009 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ผมก็เป็น "คนบ้า" แบบนี้บ่อยเลยครับ เพราะความที่รีบเร่งจนลืมดูความสวยงามของริมทาง..คิดไปเเล้ว ผมสูญเสียบางอย่างมากเกินไป

 

 

ตามมาเรียนรู้ธรรมปฏิบัติขอรับ

ขอบพระคุณครับ

อ่านบันทึกดี ๆ แต่เช้า..ค่อนไปทางสาย..

ตามคนข้างบนมาค่ะ

 

ปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบัน

 

ไม่ยาก

ไม่ง่าย

สวัสดีครับ อ.สุรเชษฐ์

ผมอีกคนครับที่บ้าเป็นครั้งคราว

เมื่อยามที่กำกับสติไม่อยู่

ยามที่สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

อ่านบทความนี้แล้วประทัปใจมากค่ะ เริ่มต้นอ่านตอนแรกคาดเดาว่าอาจารย์คงจะวิจารณ์คนบ้า หรือคนที่ทำในสิ่งที่ไม่สมควรริมถนน แต่แล้วเรื่องหักมุมเป็นความงดงามของวิถีชีวิตบนฟุตบาทแทน แถมยังมีเสียงสดใสและความน่ารักของเณรน้อยเจ้าปัญญาแทรกเข้ามาท่ามกลางความวุ่นวายของผู้คนอีกด้วย เยี่ยมมากค่ะ

ย่านเยาวราชเป็นเช่นนี้มาชั่วนาตาปี
รถแล่นบนถนนดูรีบเร่ง แต่คนเดินบนฟุตบาทกลับค่อยๆเคลื่อนตัวอย่างอ้อยสร้อย
ชมของไถ่ถามซื้อของกินตื่นเต้นสนใจ
บางช่วงขอบฟุตบาทแค่เดินสวนกันสองคนได้
แต่ถ้าอาจารย์ไปตอนเย็นจนถึงกลางคืน
ฟุตบาทจะแคบลงไปอีกและบางช่วงส่วนใหญ่ต้องเดินบนพื้นผิวถนน
โต๊ะอาหารวางบนฟุตบาทเต็มไปหมด ธรรมชาติของเยาวราชเป็นเช่นนี้มาแต่อดีตกาลครับ
อาหารจีนอาหารทะเลของกินอร่อยๆมากมายเต็มไปหมดครับ มาแล้วก็อยากมาอีก..

 

ขอบคุณทุกท่านครับที่อ่านและทุกท่านที่แสดงความคิดความเห็นให้ผมได้คิดต่อ

สวัสดีค่ะ..ท่านสุรเชษฐ

ตามมาอ่าน..เพื่อให้เกิด..สติ..และปัญญา

รู้ตัวตนของตัวเองตลอดเวลาแล้วจะพ้นอันตรายทั้งปวง

มีเรื่องของ "คนบ้า" อีกคนหนึ่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

เรียน อาจารย์ สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

ดูเหมือนว่า เหตุการณ์นั้น อ. กำลัง อยู่ห้วงแห่งทฤษฎีสัมพันธ์ภาพ หรือเปล่าครับ

จิตนิ่ง อยู่เหนือการบีบเค้นของเวลา กาลเวลายืด

จิตรุ่มร้อน กาลเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณครับคุณ P AnthroCat

ผมไม่แน่ใจว่ารู้เรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพมากน้อยแค่ไหน
เท่าที่ทราบไอน์สไตน์บอกว่ามวลกับพลังงานเปลี่ยนรูปกลับไปกลับมาได้
หากให้มวลวิ่งด้วยความเร็วเท่ากับความเร็วแสงยกกำลังสองแล้ว
มวลนั้นก็เปลี่ยนเป็นพลังงานได้

การนำทฤษฎีนี้มาอธิบายเรื่องจิตก็น่าสนใจดีครับ
ส่วนผมเองก็เพียงแต่ทำอะไรให้ "ช้าลง"
แล้วก็พบว่าชีวิตพบกับความ "สงบ" มากขึ้น
แค่นั้นเองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท