ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 2)


ความเดิม: ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 1) -- ตัวตนคนใช้เน็ต

"The Net" Collective

เครื่องหมาย ≡ เป็นเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ อ่านว่า "is identical to" แปลว่าเหมือนเป๊ะ

ตัวตนเสมือนเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมในเน็ต ผู้ใช้เน็ตใช้ตัวตนเสมือนประหนึ่งว่าเป็นตัวตนจริง เพราะตัวตนเสมือนสามารถส่งผ่านความพอใจ (รางวัล) ให้ตัวตนจริงได้ แต่ก็เป็นด่านในการกลั่นกรองสิ่งที่ไม่ดีได้เช่นกัน

เราจึงมักเห็นผู้ที่ใช้เน็ตมาเป็นเวลานาน มักจะใช้ alias (นามแฝง) เป็นตัวตนเสมือน แต่บางทีกลับมีความชัดเจนยิ่งกว่าตัวตนจริงเสียอีก 

ในสังคมออนไลน์ มีอิสระในทางความคิด และมีทางเลือกอยู่มาก ผู้ใช้เน็ตจึงมีความแตกต่างเป็นพื้นฐาน เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างยุ่งเหยิง

ความเป็นบุคคล ไม่มีความสำคัญเลยสำหรับสังคมออนไลน์

ถ้าไม่ติดหนังซุปเปอร์ฮีโร่ของฮอลลีวูด หรือการ์ตูนญี่ปุ่นจนเกินไป ก็คงตระหนักได้ว่าไม่มีบุคคลใดที่สามารถชักจูงสังคมขนาดใหญ่ที่มีทั้งอิสระในทางความคิด และมีความหลากหลาย ไปในทางหนึ่งทางใดตามใจตนได้ 

ในสังคมแบบนี้ มีผู้นำทางความคิดหลายคน มีผู้จัดการหลายคน มีแม้แต่ชุมชนย่อย 

มโนมัย ซึ่งควบคุมทั้งแกแล็กซี มีอยู่แต่ในสถาบันสถาปนา (นิยายวิทยาศาสตร์) เท่านั้น

คุณค่าของเครือข่าย ขึ้นกับอิสระที่จะแตกต่าง และจำนวนผู้ใช้ ตาม Metcalf's Law ยิ่งกว่านั้น สิ่งใดที่ดี มีคุณค่า ก็จะมีผู้ใช้ชื่นชม และแนะนำต่อๆ กันไป เป็น Network Effect

ผู้ใช้ได้อะไรจากเน็ต 

ในปี 1946 Edgar Dale นักการศึกษาสหรัฐ ได้เสนอแนวคิดชื่อกรวยแห่งประสบการณ์ มาสนับสนุนการใช้โสตทัศนูปกรณ์มาขยายประสิทธิผลของการเรียนรู้

รูปทางด้านซ้ายเป็นรูปที่แพร่หลาย แต่ก็มีความเห็นขัดแย้งเช่นกันว่า Dale ไม่ได้พูดถึงตัวเลขต่างๆเป็นเปอร์เซ็นต์เลย ถ้าอยากอ่านฝรั่งเถียงกัน หรือเบื้องลึกของผลงานนี้ เชิญตรงนี้ครับ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เถียงกันก็ไม่เกี่ยวกับประเด็นของบันทึกนี้ ผมยกเอากรวยแห่งประสบการณ์ เข้ามา เพื่อชี้ให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทยนั้น เพี้ยนมาก! เรามักเชื่อเมื่อมีคนมาบอก เหมือนเข้าไปเรียนในห้องเรียน เราไม่ได้พยายามอย่างจริงจังที่จะเรียนรู้ เพียงแต่จะรอคนมาบอก เอาความรู้มายัดเยียดใส่หัวสมอง [กาลามสูตร คำสำคัญ:กาลามสูตร]

อธิบายหลักการของกรวยแห่งประสบการณ์ คร่่าวๆ ก็คือ ยิ่งสูงอยู่ใกล้ยอดกรวย ก็ยิ่งเรียนรู้ได้น้อยครับ เป็นการรับข้อมูลทางเดียว แต่ยิ่งเลื่อนลงล่าง ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรียนจากของจริง จากการปฏิบัติ สังคมไทยคิดอย่างเดียวมานานเกินไปแล้ว -- ก็ทำไมอยู่ข้างบนถึงจะต้องดีกว่าล่ะครับ

บางทีอาจจะเป็นเพราะคนไทยประสบความทุกข์ยากมามาก จนไม่อยากจะเจ็บปวดอีกต่อไป ใครมาพูดอะไรก็เชื่อไปหมด ฝากความหวังไว้กับเทวดา ขูดถูต้นไม้ขอเลขเด็ด ไหว้สัตว์ที่มีอวัยวะเกินธรรมชาติ

เครือข่าย (เน็ต หรืออินเทอร์เน็ต) มีความหลากหลาย มีทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี แต่ถ้าหากเรารู้เท่าทัน รู้จักเลือกสรร ก็สามารถจะพิจารณาคัดกรองเอาสิ่งที่ดี ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

แต่ประโยชน์ที่แท้จริง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปฏิบัติแล้วเท่านั้นครับ

แค่คิดดี มีความรู้อันถูกต้องนั้น เป็นประโยชน์แบบแห้งๆ เหมือนมีเมล็ดพันธ์ที่ดี แต่ไม่เอาไปปลูก ก็ย่อมไม่ได้ผลมากิน มาขาย

ถ้าชอบอ่านหนังสือ ลองอ่านเรื่องเหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ส่วนถ้าชอบดูหนังดูโทรทัศน์ ลองหามหา'ลัย เหมืองแร่ มาดูซิครับ 

ชุมชนออนไลน์

ชุมชนออนไลน์ รวมกันอยู่ด้วยการเลือกสรรอย่างอิสระของสมาชิกในชุมชนนั้น ดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะจูงจมูกชุมชนออนไลน์ไปในทางหนึ่งทางใดทั้งกลุ่มก้อนได้ทั้งหมด

ถ้าเป็นเช่นนั้น ชุมชนออนไลน์เคลื่อนที่ไปทางใด? ตอบง่ายๆ ก็มุ่งสู่เป้าประสงค์ของชุมชนนั่นล่ะ

แต่ยังมีปัญหาใหญ่ซึ่งชุมชนออนไลน์มักไม่ให้ความสำคัญ คือเป้าหมายคืออะไร

ในการเดินทางจาก จุด A ไปยัง จุด B มีได้หลายวิธี ภายใต้ Newtonian Physics (ไม่มีผลของสนามความโน้มถ่วงกำลังสูงจนแสงเดินทางโค้งได้) เส้นทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือเส้นตรง

ถ้าเราจะกำหนดทิศทางเพื่อจะเดินจาก จุด A ไปยัง จุด B เราต้องรู้เสียก่อนว่า จุด A และ จุด B อยู่ตรงไหน

  • จุด A คือจุดที่เรายืนอยู่
  • จุด B คือจุดหมาย
  • เวคเตอร์จาก A ไป B คือทิศทางที่จะเดินไป
  • ถ้าไม่รู้ A ก็ไม่รู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร
  • ถ้าไม่รู้ B ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน ไปทำอะไร เพื่ออะไร
  • ถ้าไม่รู้เวคเตอร์ AB ก็จะไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ไปอย่างไร

แต่สังคมออนไลน์นั้น มีความแตกต่างกัน จุดยืนของผู้ใช้แต่ละท่าน ก็ไม่เหมือนกัน เป้าหมายหากมองจากมุมส่วนตัวก็ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมารวมกันตัวกันเป็นชุมชนได้ ก็จะมี common goal อยู่อย่างหนึ่ง คือความอยู่รอดของชุมชนนั้นเอง ถ้าชุมชนอยู่ไม่ได้ เป้าประสงค์ส่วนตัวของแต่ละคนก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้าชุมชนอยู่ได้ ผู้ใช้แต่ละท่านจึงสามารถเดินสู่เป้าหมายส่วนตัวได้ 

  • ถ้า A และ B คือจุดที่เรายืนอยู่
  • G คือเป้าหมายร่วมของชุมชน
  • การเดินทางจากจุดที่เรายืนอยู่ไปยังเป้าหมายนั้น อาจเลือกได้หลายทาง เพราะสมาชิกของชุมชนแต่ละท่าน มีความรู้ และประสบการณ์ไม่เหมือนกัน
  • แต่ตราบใดที่เป็นหมาย G ชัดเจน จะช้าหรือเร็ว สมาชิกของชุมชนต่างก็สามารถเดินถึงเป้าหมายได้
  • ไม่แปลกว่าในบางขณะจะมีจุดยืนร่วมกัน (จุด C) แต่ในบางขณะอาจจะแยกกันเดิน (CDG และ CEFG) ทั้งสองสายไปบรรจบกันที่ G อยู่ดีหากแต่ละสาย เข้าใจเป้าหมายร่วมของชุมชน
  • แต่หากเป้าหมายไม่ชัดเจน ชุมชนก็จะแตกสลาย แยกตัวออกไปเป็นชุมชนเล็กๆ ไม่มีพลัง

สำหรับ GotoKnow นั้น เรื่องเป้าหมายและจุดยืนนี้ได้เขียนมาหลายครั้งแล้ว จะไม่กล่าวซ้ำอีกครับ [พลวัตของ GotoKnow]

ในลักษณะของสังคมที่ซับซ้อนจนไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่มีกำลังจะบังคับให้ทุกคนปฏิบัติแบบเดียวกัน การขับเคลื่อนสังคมแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำของแต่ละกลุ่ม จะต้องมีจุดหมายปลายทางร่วมกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกันได้

การเร่งให้บรรลุเป้าหมายร่วมของสังคมออนไลน์นั้น น่าจะใช้ Network Effect ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ถ้าไม่มีเป้าหมายร่วม สังคมนั้นก็จะไม่สามารถรวมตัวกันอยู่ได้นาน จะไม่มีการรวมพลัง และจะแตกสลายไปในที่สุด เพราะว่าผู้ใช้เน็ตมีอิสระมาก ไม่มีใครจับทุกคนมามัดรวมกันไว้ครับ 

ส ม า ชิ ก เ ลื อ ก ชุ ม ช น   ชุ ม ช น เ ลื อ ก ส ม า ชิ ก

เช่นเดียวกับปัญหาของชุมชน ก็ต้องแก้ด้วยสมาชิกของชุมชนครับ (ธรรมดาผมเขียนบันทึกในทุกบล็อก พยายามหลีกเลี่ยงคำว่า "ต้อง" แบบ assertive นี้ที่สุด แต่คราวนี้ เลี่ยงไม่ได้จริงๆครับ)

ท่านจะได้อะไร

ไม่ว่าท่านจะอยากได้อะไร ท่านจะได้ "อยาก" อย่างนั้นเสมอครับ

ถ้าท่านจะได้สิ่งที่อยากนั้นมาจริงๆ บางทีลงมือทำอาจจะมีโอกาสมากกว่านั่งรอไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรรับประกันหรอกว่าเมื่อลงมือทำแล้วจะประสบผลสำเร็จ -- แต่ถ้าคิดว่าไม่ทำแล้วจะสำเร็จนี่ เชื่อว่าสำเร็จได้ยากกว่าครับ

อ ย า ก ไ ด้ อ ะ ไ ร   ก็ ทํ า ใ ห้ เ ป็ น อ ย่ า ง นั้ น ค รั บ

ถอดบทเรียนชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 3) -- สังคม Chaordic

หมายเลขบันทึก: 164375เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2008 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ได้เรียนอีกบทหนึ่งแล้ว  ขอบคุณมาก อิอิ

เป็นประเด็นที่สำคัญมากครับ เรื่อง goal ที่ชัดเจนนี้เป็นโจทย์ที่ต้องตีกันให้ได้ครับ

สวัสดีค่ะคุณ conductor

มาลงชื่อจองที่นั่งเรียนไว้ก่อนค่ะ   แล้วจะมาใหม่นะคะ ..ไม่โดดแน่นอนค่ะ

สวัสดีครับ คุณ CONDUCTOR

  • รับความรู้ตอนที่ 2 ครับ
  • กรวยประสบการณ์ ... เป็นการแบ่งการเรียนรู้ตามประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับ
  • ใต้สุด .. เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เช่น พ่อสอนลูก ใช้สื่อการสอน คือ ของจริง เป็นขั้นที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด
  • ยอดบนสุด ... เป็นการเรียนรู้ที่อยู่ในขั้นอวัจนสัญลักษณ์ คือ  ตัวอักษร ภาษาเขียน เท่านั้น เป็นขั้นที่มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด สื่อประเภทนี้มักได้แก่ การเขียนกระดานให้นักเรียนอ่าน เอาบัตรคำมาใช้สอน เป็นต้น
  • ชอบอ่านมุมมองเรื่องนี้ครับ

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

chaos theory ทำให้เบิร์ดนึกถึง complexity  theory ที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร ( ซึ่ง G2K มีวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองค่ะ )  และความคิดสร้างสรรค์อันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพขององค์กรเป็นหลักใหญ่

ดูไปดูมาเบิร์ดก็นึกไปถึงการบินของฝูงนก 

ในกรณีที่ฝูงนกมีการจัดรูปแบบเป็นรูปตัว V เค้าจะสามารถบินได้เร็วและนานกว่าในกรณีที่บินตัวเดียวเยอะเลยนะคะ  เพราะลดแรงเสียดทานของอากาศไปโขเลย.. การจัดกลุ่มของนกในลักษณะนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบที่มีการปรั บตัวให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ ซึ่งเรียกว่า Complex Adaptive Systems 

ฝูงนกที่จัดรูปแบบการบินในลั กษณะตัว V นั้นไม่มีใครไปสั่งให้เค้าต้องทำอะไร บินอย่างไร แต่เมื่อนกทุกตัวรวมกลุ่มกันบิน แต่ละตัวก็รู้หน้าที่ขอบเขตของตัวเอง ในการที่ต้องรักษาความเร็วของการบิน ไม่ให้ล้ำหน้าไปกว่าตัวข้างๆ ต้องรักษาแนวการบินให้เป็นรูปตัว V ซึ่งผลของการรวมกลุ่มกันบินในลักษณะนี้ก็คือ สามารถบินได้เร็วและไกลกว่าการที่ต้องบินแยกตัวเดี ยว

แม้ว่าพฤติกรรมของฝูงนกที่ดูเหมือนซับซ้อน  แต่เมื่อมีนกตัวอื่นที่อยากเข้าฝูงเพื่อบินไปจุดเดียวกันเค้าก็จะเข้ามาบินร่วมกันไปเรื่อยๆ โดยพฤติกรรมของนกแต่ละตัวจะถูกยึดโยงด้วยหลักง่ายๆ เพียงไม่กี่ข้อนะคะ นั่นคือ ระวังอย่าชนนกตัวที่อยู่ข้างๆ ตามนกตัวอื่นให้ทัน  พยายามรวมกลุ่มให้อยู่ใกล้กัน  และไม่มีหัวหน้าถาวร เพราะเมื่อนกตัวนำเหนื่อยเค้าจะถอยร่นลงมาอยู่ข้างหลังให้ตัวอื่นขึ้นนำต่อไปน่ะค่ะ..

ในสังคมของมนุษย์เราก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกับพฤติกรรมของนกใน ลักษณะของ Complex Adaptive Systems เหมือนกันนะคะ นั่นคือ พฤติกรรมของกลุ่มอาจมีการการพัฒนาไปในรูปแบบที่เหมาะสมเองได้โด ยธรรมชาติของเค้าเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นจากการบังคับใดๆ หากแต่ถูกควบคุมโดยกฎง่ายๆ เพียงไม่กี่ข้อที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของเค้าเท่านั้นเอง..
 
ขอบคุณมากค่ะสำหรับการถอดบทเรียนที่สนุกสนาน..ถึงแม้จะต้องตาแห้งเพราะไม่กระพริบตาก็จะตามติดทุกความเห็นและตอนต่อไปเลยล่ะค่ะ  อิ อิ อิ

 

 

 

  • ตามมาอ่าน
  • โอโหได้บทเรียนเพิ่มขึ้น
  • อีตา Edgar Dale ไม่ได้พูดถึงการเขียนเลยเนอะ
  • ขาดไปจาก สุ จิ ปุ ลิ
  • การเรียนใน gotoknow ผมได้การเขียนและการแลกเปลี่ยนจากสมาชิกด้วย
  • ชุมชนออนไลน์ใน gotoknow มีการแลกเปลี่ยน การช่วยเหลือกัน การเป็นกัลยาณมิตร มากกว่าใน ที่อื่นที่ผมใช้มาครับ
  • รออ่านตอนต่อไปครับ

สวัสดีค่ะ คุณconductor

  • ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้อย่างเหลือเกิน... ที่ทำให้ผู้เข้ามาในชุมชนแห่งนี้(โดยเฉพาะดิฉันเอง) ได้เห็นพลังอันอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน... แม้ว่าจะเป็นพลังที่ต่างคนต่างทำ  ต่างคนต่างถนัด   มาแวะทักทายกันบ้าง(แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดี)  นั่นหมายถึง...เรามีจุด C ร่วมกัน..... ซึ่งมีความสำคัญ....
  • ......ขอย่อตัว C เป็นภาษาทางการแพทย์ที่อยู่ใกล้ชิดว่า....Cardiac ก็แล้วกัน(มีความหมายเฉพาะใน Medical Dictionary เท่านั้น).... มันหมายถึง  อะไรๆซึ่งเกี่ยวกับหัวใจ..... เป็นยาชูกำลัง..... เป็นหัวใจที่มีชีวิต...ที่กำลังเต้นได้จริงๆ...
  • ....มีตัว C มากๆ... พบกับตัว C บ่อยๆก็ดีซีคะ ....เพราะจุดนี้จะเป็นจุดที่เราปรับความคิดและเป้าหมายร่วมกันได้มาก..  ก่อให้เกิดการปรับการกระทำของแต่ละคนให้บรรลุเป้าหมายที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น
  • ขอบคุณค่ะ

P

Conductor

บทเรียนนี้ทำให้นึกแนวคิดโพสต์โมเดิร์น ซึ่งเคยคุยกัน  ที่นี้  (ดูที่ความเห็น) 

เฉพาะประเด็นว่า A และ B ซึ่งเป็นจุดที่เรายืนอยู่เพื่อไปยัง G คือจุดหมาย... สมัยก่อน เรา มี จุดหมายร่วมกัน.. แต่แนวคิดโพสต์โมเดิร์นบอกว่า เรา ( WE ) ถูกตีแตกกลายเป็นปัจเจกชน ( I ) ดังนั้น จุดหมายร่วมกัน ( END ) จึงพลอยถูกทำลายไปด้วย... เมื่อพิจารณาตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่า ชุมชนออนไลน์เข้ากับชุดคำอธิบายของโพสต์โมเดิร์นได้ดี...

อนึ่ง เมื่อนึกถึงพระบาลีว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ ... กรรม คือ ความจงใจในการกระทำ นั่นคือ ความจงใจ ความคิดเห็น ความมุ่งหวัง ฯลฯ ของปัจเจกชนแต่ละคนในชุมชนออนไลน์จะเป็นสิ่งคอยกวาดต้อนให้พวกเขา (หรือพวกเรา) มาร่วมกันเป็น พวกๆ กลุ่มๆ แล้วก็ขับเคลื่อนเป็นไปตามความพอใจร่วมกันที่เกาะตัวกันไว้อย่างหลวมๆ...

ตามความเห็นส่วนตัว โลกและชีวิตนี้ ไม่มีอะไรมากกว่า ความรู้สึก  และความรู้สึก เท่านั้นที่บ่งชี้ถึงความมีชีวิต ดังนั้น แม้จะมีจุดหมายร่วมหรือความพอใจร่วมกันที่เกาะตัวเป็นกลุ่มๆ อย่างหลวมๆ ... แต่ ทั้งหมดนี้ อาจมาจากประการเดียวก็คือ เพื่อสนองตอบความรู้สึกเท่านั้น

การชอบอ่านบันทึกของคนนี้ ชอบตอบบันทึกของคนนั้น หรือมันใส้ความคิดเห็นของคนโน้น เพราะเหตุอะไร ? ... เพราะความรู้สึกเท่านั้นที่เป็นต้นเหตุ...

ทำท่าจะบ่นและเพ้อเจ้อยิ่งแล้ว (ความรู้สึกบอก) และน่าจะหยุดไว้เพียงแค่นี้ (ความรู้สึกสั่ง)

เจริญพร 

สวัสดีกัลยาณมิตรทุกท่านครับ

บันทึกนี้ไม่รู้ว่าเร่งมากไปหรืออย่างไร เกิดอาการธาตุไฟเข้าแทรก ช่วงนี้งานเยอะจนรู้ตัวว่าความคิดแตกซ่าน ไม่มีเวลาค้นข้อมูลละเอียด -- ตอนต่อไปขอเวลาหน่อยนะครับ ผมแจ้งล่วงหน้าเพราะไม่อยากให้กัลยาณมิตรกดดันด้วยการบำเพ็ญทุกรกริยา

ในบันทึกนี้เป็นภาพมหภาคเรื่องของชุมชน แต่มีการโยงประเด็น เรื่องของตัวตน/จิตวิทยาสังคม เรื่อง network effect และการอยู่ร่วมกัน เรื่องเป้าหมาย/ขอบเขตของการอยู่ร่วมกัน เรื่องสิทธิที่จะแตกต่างและความเป็นส่วนตัว และเรื่องผลของโสตทัศนูปกรณ์และไอทีต่อการเรียนรู้

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น คิดว่ามีรายละเอียดและน่าสนใจพอที่จะแตกบันทึกถ้าสนใจนะครับ -- ขอให้เพิ่มคำหลัก ถอดบทเรียนชุมชนออนไลน์ ลงไปด้วยเพื่อความสะดวกในการติดตาม

ผมติดใจประเด็นของพระอาจารย์ชัยวุธครับ เลือกข้อมูลมาเสริมอีกนิดหน่อยครับ

  • Welcome To The Post-Modern World: Are we at the end of the Nation-State Helium.com (ชุมชนของนักเขียน)
  • The end of postmodernism: the “new atheists” and democracy openDemocracy (ความเป็นไปของโลกโดยปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจรัฐและการเมือง -- ความเห็นของพลเมือง) -- โดยทั่วไป atheist คือ อเทวนิยม ในกรณีนี้อาจใช้ในความหมายที่ไม่เชื่อว่าจะมีผู้ใดมาดลบันดาลให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้น โดยที่ตนเองไม่ต้องลงมือทำอะไร

เดิม: มี common goal (KM) จึงเกิด we มารวมกัน
ปัจจุบัน: common goal หายหด ทำให้ we ซึ่งไม่เคยมัดตราสังข์ไว้ เปลี่ยนเป็น I ไปบางส่วน

เย็นนี้G2Kเป็นอะไร ไม่ทราบ เข้ายากค่ะ พิมพ์แล้วpostไม่ขึ้นด้วย 2 รอบ

ในมุมมองของตัวเอง  G2K เป็นองค์กรแล้ว และมีวัฒนธรรมของตัวเองด้วย  แม้ยังไม่สมบูรณ์นัก

และในสายตาของตัวเองที่มองบล็อก ซึ่งมีอยู่มากมายตอนนี้

ก็คือสื่อชนิดหนึ่ง ที่แตกย่อยออกไป จากความป็นทั่วไป-Mass เป็น  มาเป็นความเฉพาะเจาะจง

ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้คนในวงแคบลงมา เช่นการเป็นสมาชิก    การLog in ก่อนสำหรับบางเรื่อง

แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งสื่อแบบ Mass  เรายังอ่านและดูอยู่ทุกวัน เช่นหนังสือพิมพ์ ทีวี สื่อแบบแมส ยังมีอยู่ แต่หดตัวเล็กลงไปนิดนึง

คิดว่า   นี่เป็นการสร้างความสมดุล และทางเลือกเพิ่มขึ้นให้แก่เรา และเราก็ชอบทางเลือกใหม่นี่มากเสียด้วย มันเป็นวัฒนธรรมผสมผสาน ของสื่อยุคนี้อย่างหนึ่งค่ะ ที่เห็นๆคือ การผสมผสานระหว่าง นักเขียนมืออาชีพและมือสมัครเล่น

ส่วนเรื่องเป้าหมาย ของการอยู่ร่วมกัน ในG2K   เข้าใจว่า เราก็ได้มีการอภิปรายกันไปมากพอควร แต่ จริงๆแล้ว ก็ยังไม่ปิ๊ง กับข้อสรุป ที่แจ่มๆแจ๋วๆจริงๆ ซักทีค่ะ เท่าที่ทราบ เราก็อยู่กันอย่างหลวมๆ แต่เต็มไปด้วยความรักไคร่ สมัครสมานสามัคคี อย่างนี้ไปก่อนค่ะ

จริงๆตอนนี้ ดีใจที่เห็นทุกคนในG2k นี้ happy  ที่จะเล่าและแบ่งปันประสบการณ์และความสนใจของตนเอง ให้สมาชิกท่านอื่นอ่าน วันหนึ่งๆ มีpostเรื่องใหม่ไม่น้อย และน่าอ่านทั้งนั้นค่ะ

รวมถึงกำลังคอยตอนต่อไปของบันทึกนี้  อย่างใจดจ่อค่ะ

 

 

ครับ

ผมขอเพิ่มอีกมุมมองหนึ่งนะครับ

ผมคิดว่าท่านคงเตรียมเขียนไว้แล้ว แต่ขอพูดแบบโยนก้อนหินถามทางก็แล้วกันนะครับ

ผมมองชุมชนนี้เหมือนกับนักอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ที่มีระดับความสนใจ ความจริงจัง ควาถี่ห่างในการอ่าน วิธี และเนื้อหาที่เน้นการอ่าน และประเด็นความสนใจที่อ่านแตกต่างกันออกไป

แต่ก็เป็นคนซื้อ คนอ่าน หรือเก็บหนังสือพิมพ์ไว้อ่าน ในรูปแบบต่างๆกัน

การมองเห็นธรรมชาติของชุมชนนี้น่าจะทำให้เราเข้าใจ ใช้ประโยชน์ และวางแผนพัฒนาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และคุ้มค่า

ผมว่าการมองแบบ stratified และ categorized น่าจะดีกว่าการมองแบบ collective นะครับ

อยากฟังต่ออีกครับ

พี่ศศินันท์: เรื่อง GotoKnow ที่ได้อภิปรายกันมาบ้างแล้ว ยังขาดผู้สรุปครับ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จึงนำไปปฏิบัติ 

การไม่มีข้อสรุป ในบางกรณีก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเท่าไหร่ หากทุกองคาพยพมุ่งไปทางเดียวกัน แต่จะมีปัญหาหากบางคนเดิน บางคนวิ่ง บางคนหยุดรอครับ 

อาจารย์แสวง: ผมต้องขออภัยที่เขียนไว้ไม่ชัดเจนนะครับ 

อยากเปรียบเหมือนการเลือกตั้งครับ เรามีพรรคนี้ พรรคโน้น พรรคอะไรก็ได้ พรรคอะไรก้อกู กับพรรคผ่อนนอนเฉยๆ แต่ละพรรคต่างก็มีนโยบายใหญ่ และนโยบายเพื่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือฐานเสียง ไม่ว่าเราจะเลือกพรรคใด พรรคที่ชนะการเลือกตั้งก็จะมาบริหารประเทศ และดูแลประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเลือกเขามาหรือไม่เลือก (หวังว่าพรรคการเมืองคงจะคิดอย่างนี้) 

สังคมมด สังคมผึ้ง ก็มีบทบาท หน้าที่และแผนงานที่แตกต่างกันใช่ไหมครับ

คำว่า collective ที่ผมใช้ หมายถึงเป้าหมายใหญ่ครับ ภายใต้นี้มีสังคมที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน สังคมจะรวมกันอยู่ได้ ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน

แต่ภายใต้เป้าหมายร่วมกันนั้น ก็ยังมีความแตกต่าง เพราะความแตกต่างเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนา; ดังนั้นไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็น stratified (เป็นลำดับชั้น) หรือ categorized (เป็นหมวดหมู่) ตราบใดที่รวมกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และผมมองว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันครับ จึงใช้คำว่า "The Net" ≡ Collective

คุณเบิร์ด #5: ผมคิดว่าสังคมขนาดใหญ่ มีความซับซ้อน เต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายด้วยทฤษฎีใดๆ ครับ

สำหรับ Complex Adaptive System ตามที่อธิบายไว้ใน wikipedia แม้จะดูเข้าท่าที่สุด (เท่าที่เคยอ่านมา) แต่ก็ยังเชื่อว่ายากจะอธิบายพฤติกรรมอันซับซ้อนของสังคมมนุษย์ในเชิงระบบครับ

ในส่วนของคุณลักษณะโดยทั่วไปซึ่งเขียนไว้ว่า

What distinguishes a CAS [Complex Adaptive System] from a pure multi-agent system (MAS) is the focus on top-level properties and features like self-similarity, complexity, emergence and self-organization. A MAS is simply defined as a system composed of multiple, interacting agents. In CASs, the agents as well as the system are adaptive: the system is self-similar. A CAS is a complex, self-similar collectivity of interacting adaptive agents. Complex Adaptive Systems are characterised by a high degree of adaptive capacity, giving them resilience in the face of perturbation.

Other important properties are adaptation (or homeostasis), communication, cooperation, specialization, spatial and temporal organization, and of course reproduction. They can be found on all levels: cells specialize, adapt and reproduce themselves just like larger organisms do. Communication and cooperation take place on all levels, from the agent to the system level. The forces driving co-operation between agents in such a system can be analysed with game theory.

ผมคิดว่าพูดเรื่องเดียวกับบันทึกนี้โดยมิได้นัดหมายครับ คือพูดเรื่อง common goal ของชุมชนย่อยๆ (ที่เป็นทั้งแบบลำดับชั้นและหมวดหมู่)
 

  • ตามมาอ่านต่อค่ะ สนุกพอๆกับอ่านนิยายของ  ไอแซค อสิมอฟ (Isaac Asimov) บวก Arthur C. Clarke. (มีสถาบันสถาปนาทุกเล่มของออบิท แถมมีเล่มที่เป็นภาษาอังกฤษด้วย เป็นแฟนพันธุ์ แท้นิยายวิทยาศาสตร์ ค่ะ หูย แฮรี่ นะ เด็กๆไปเลย )
  • อิอิ พวกเราอาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทดลอง ใน 2001: A Space Odyssey (film) - Wikipedia, the free encyclopedia
  • ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ G2K ก็เป็นชุมชน ออนไลน์ที่น่าอยู่ที่สุด ณ เวลานี้ค่ะ

ที่นกบินเป็นฝูง ไม่มีใครเป็นจ่าฝูงแท้จริง แต่สามารถรวมกลุ่มไปในทางเดียวกันได้ จนถึงจุดหมาย เป็นการยกตัวอย่าง ที่เห็นภาพมากนะคะ

แต่นกกลุ่มนั้น เป็นนกชนิดเดียวกันหรือเปล่าคะ

ถ้าเป็นนกคนละชนิดกัน อาจ มีอะไรที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น อีกหน่อยนะคะ 

แต่ถึงจะเป็นนก คนละชนิดกัน แต่ถ้า มีสำนึกร่วมกัน  หรือเต็มใจที่จะทำอะไรที่เกื้อกูลประโยชน์หรือเป้าหมายร่วมกัน   อันเป็นเป้าหมายที่อยู่สูงเกินประโยชน์ส่วนตน

สำนึกอย่างนี้จะทำให้เกิดความสุขหรือความอิ่มเอมใจในการอยู่รวมกลุ่มกันอย่างแท้จริง

การที่สมาชิกทุกคนมารวมกลุ่มกัน ณ ที่แห่งนี้  ก็ไม่มีประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เลย   มีแต่ความเอื้ออาทรต่อกัน โดยบริสุทธิ์ใจ

 แม้ ส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นกันตัวเป็นๆเลย พอได้มีโอกาสพบกัน ก็รู้สึกเหมือนกับรู้จักคุ้นเคยกันมานานด้วยซ้ำ ซึ่งก็คือ วัฒนธรรมของที่นี่

แต่ก็อีกละค่ะ  ถ้าอยู่กันอย่างหลวมๆเกินไป  ไม่มีเป้าหมายร่วมกันอย่างจริงจัง   สังคมเรา  ก็อาจจะไม่สามารถรวมตัวกันอยู่ได้นาน  เพราะไม่มีการรวมพลังอย่างแท้จริง

อาจารย์นารีรู้สึกสนุกได้ยังไงครับเนี่ย!!! ซีเรียสจะตายอยู่แล้ว :)

พี่ศศินันท์ครับ ผมคิดว่าที่คุณเบิร์ดยกมา เป็นการเปรียบเทียบเชิงอุปมา (metaphor) ที่นำไปสู่ CAS ซึ่งประเด็นหลักคือคำว่า adaptive ไม่ fixed ไม่ rigid ครับ; ขอบคุณสำหรับประเด็นของพี่เช่นกันนะครับ แม้รวมกันอยู่ได้ มีเป้าหมายร่วมกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน แต่ไม่มีการกระทำ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท