การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตอนที่ 2 (ความเคลื่อนไหวภาคประชาชน)


อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ไม่ได้อุบัติขึ้นกลางอากาศเหมือนเมฆ ได้มีความพยายามที่จะสื่อสารกันนอกภาควิชาการ/ภาครัฐมาก่อนนั้นหลายปี และเมื่อมีอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นในประเทศ ก็เกิดความสนใจอย่างล้นหลามขึ้นในทันที

การสื่อสาร เป็นธรรมชาติ และเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ (ข้อ 18 19 20 22 27 28 และ 30 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) คนไทยเป็นมนุษย์เช่นกัน จึงได้มีความพยายามที่จะติดต่อ สื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

แล้วเมืองไทยก็ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน เรามีคนที่มีความรู้ และสามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่สร้างระบบสื่อสาร เพื่อสนองความต้องการพื้นฐานของตน

กิจกรรมในบันทึกนี้ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับในเชิงวิชาการนัก แต่ผู้บันทึกเชื่อว่าเป็นรากฐานการสร้างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทย ทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเติบโตได้เร็วกว่าอัตราที่มหาวิทยาลัยจะผลิตได้ คนกลุ่มนี้ เป็นมวลวิกฤติที่ผลักดันการเติบโตของอินเทอร์เน็ตให้ก้าวกระโดดในยุคแรกๆ

หากเราเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการเปิดโลกทัศน์ให้กับคนไทย จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณภาพ ก็จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศ

Bulletin Board System

Bulletin Board System (BBS) เป็นเครื่องมือสื่อสารยุคเก่า เริ่มต้นในยุคที่ UNIX เป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้กันอยู่ในแวดวงผู้มีความรู้ทางเทคนิคเท่านั้น จนเมื่อ IBM PC ประกาศตัวในปี พ.ศ. 2524 ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ก่อนหน้านั้น มีใช้อยู่ใน UNIXและไมโครคอมพิวเตอร์ขนาด 8 บิตหลายยี่ห้อ

BBS เป็นรากเง่าของเว็บบอร์ดในปัจจุบัน

คุณธีรวุฒิ คอมันต์ได้เขียนบรรยายไว้ว่า หลังจากกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2525 ก็พยายามจะหา BBS ใช้งานในเมืองไทย ปรากฏว่าไม่มีอยู่เลย กลุ่มผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ CP/M ในกรุงเทพ ซึ่งรวมตัวกันอยู่แล้ว (CP/M Bangkok User Group) ได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะตั้ง bulletin board เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน และได้เปิดบริการ BUG Board ขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2528 โดยมีตัวคุณธีรวุฒิ และคุณนิกร วีระวัฒนาเดช (ปัจจุบันอยู่ที่ บมจ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย) เป็นผู้ติดตั้งระบบและเปิดโปรแกรมขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ--เท่าที่หาบันทึกอ้างอิงได้ เชื่อมต่อกับโลกภายนอกด้วยโมเด็มความเร็ว 1200 บิตต่อวินาที

หลังจากนั้นอีกสิบปี ก็ได้เกิดการเปิด/ปิด bulletin board ต่างๆขึ้นมามากมาย มีจำนวนมากที่สุดประมาณ 50 บอร์ด ที่ได้รับความนิยมก็เช่น Guacamole (เป็น FidoNet เชื่อมโยงได้ทั่วโลก), Post Database, War on Virus, Falcon, ManNet ฯลฯ

ผู้ใช้ bulletin board เชื่อมต่อด้วยโมเด็ม และใช้ประโยชน์จากโมเด็มได้จริง จึงเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะใช้บริการอินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์ในทันทีที่มีบริการนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2538

USENET newsgroup: soc.culture.thai

USENET newsgroup เป็นเครื่องมือสื่อสารในอีกมิติหนึ่ง มีโปรแกรมอ่าน/เขียนข้อมูลจาก news server และข้อความก็จะถูกส่งผ่านต่อๆกันไป ทำให้ USENET newsgroup กลายเป็นเหมือน bulleting board/เว็บบอร์ดขนาดใหญ่ที่ผู้ใช้ news server ทั่วโลก สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันข้าม server ข้ามมหาวิทยาลัย ข้ามรัฐ ข้ามประเทศ และข้ามทวีปได้ เพราะบรรดา news server ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แลกเปลี่ยนและส่งข้อความต่อๆกันไป

เดิมทีเดียว มี newsgroup ชื่อ soc.culture.asean ซึ่งใช้ร่วมกันโดยนักเรียนจากประชาคมประเทศอาเซียนที่ไปศึกษายังต่างประเทศ (ในขณะนั้น อาเซียนมีเพียง 5 ประเทศ และยังไม่มีประเทศใดเลยในขณะนั้น ที่เชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต) แต่ด้วยความแตกต่างทางความคิด และการที่ไม่สามารถควบคุมตนเองของผู้ใช้จากบางประเทศ และ Flame War (การไม่ยอมรับความเห็นของผู้อื่น และเขียนข้อความตอบโต้อย่างรุนแรง) ที่ไม่เคยสงบลงเสียที กลุ่มคนไทยจึงขอแยกตัวออกจาก soc.culture.asean โดยจัดตั้ง soc.culture.thai ขึ้น มี ดร.อยุทธ์ นิสสภา (ปัจจุบันอยู่ที่ มอ.) เป็นผู้เสนอความคิดขึ้น

กระบวนการจัดตั้ง newsgroup เป็นไปตามมาตรฐานของ USENET กล่าวคือ ดร.นิษฐิดา นวลศรี เอลซ์ (ปัจจุบันอยู่ที่ มอ.) เป็นผู้ประสานงาน Call for Discussion (CFD เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534) เมื่อปรากฏว่ามีเสียงสนับสนุนมากพอ ก็มี Call for Vote (CFV ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม ครั้งที่สองเมื่อ 11 เมษายน) ประกาศผลเมื่อ 24 เมษายน มีเสียงสนับสนุน 300 เสียง ไม่สนับสนุน 27 เสียง เป็นไปตามข้อกำหนดของ USENET และมี control message เพื่อสร้าง soc.culture.thai ขึ้นตาม server ทั่วโลกเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2534

> From [email protected] Sun Apr 28 17:50:24 1991
> Control: newgroup soc.culture.thai
> Newsgroups: soc.culture.thai.ctl
> Path: rpi!tale
> From: [email protected] (David C Lawrence)
> Subject: newgroup soc.culture.thai
> Message-ID: <[email protected]>
> Sender: [email protected]
> Nntp-Posting-Host: cs.rpi.edu
> Date: 28 Apr 91 21:50:11 GMT
> Approved: [email protected]
> Lines: 17
>
> soc.culture.thai is an unmoderated newsgroup which passed its vote for
> creation by 300:27 as reported in news.announce.newgroups on 24 April 1991.
>
> For your newsgroups file:
> soc.culture.thai Thai people and their culture.
>
> The charter, culled from the call for votes:
>
> Purposes: - for Thais & any others who are interested in Thai culture
> and other aspects such as :
> - travel information
> - news from Thailand
> - political circumstances
> - Thai food & recipes
> etc.
>
> Language of discussion is English.

ในขณะนี้ google บันทึกจำนวนข้อความที่ส่งลงใน soc.culture.thai ได้กว่า 91,000 ข้อความ เป็นที่น่าสังเกตว่า soc.culture.thai ใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตไม่ได้รองรับภาษาไทยจนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2541 เมื่อมีการจดทะเบียนรหัสอักขระไทย (รหัส สมอ.) เข้าตามกระบวนการมาตรฐานวิศวกรรมของอินเทอร์เน็ต

Pubnet

Pubnet หรือ Public Access Network เป็นความคิดที่ฝรั่งเรียกว่า Bold มาก แต่ภาษาไทยถ้าไม่เรียกว่า กล้า ก็อาจเรียกว่า วิตถาร หรือ บ้า ได้เช่นกัน

Pubnet ถูกเสนอต่อสาธารณะผ่าน bulletin board ต่างๆในกรุงเทพ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2534 โดยคุณตฤณ ตัณฑเศรษฐี (ปัจจุบันอยู่ที่ บมจ.อินเทอร์เน็ตประเทศไทย) ได้รับการสนับสนุนจากนายจ้างในขณะนั้นคือ บจก.ดิจิตอล อิควิปเมนท์ (ประเทศไทย) โดยเป็นส่วนของ Technology Transfer Program ที่ตฤณเป็นผู้เสนอขึ้นมา

หลักการของ Pubnet ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบเครือข่ายอิสระ ที่ผู้ใช้จัดการกันเอง ไม่มีศูนย์กลางที่จะควบคุม เชื่อมโยงกันไปเป็นทอดๆผ่านโมเด็ม ด้วย network protocol ซึ่งเหมาะสมสำหรับการเชื่อมต่อในแต่ละช่วง ใครจะต่อกับใครก็ได้หากตกลงกันได้

ในขณะนั้น ดิจิตอลสาขาประเทศไทย ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และได้รับ USENET เข้ามาให้กับพนักงานในเมืองไทยอยู่แล้ว จึงสามารถส่ง USENET article ผ่านช่องทางปลอดภัยไปยัง BBS ต่างๆได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ดิจิตอลได้ส่ง USENET newsgroup หลากหลายกลุ่ม ให้แก่ Guacamole BBS และ War on Virus BBS ซึ่งทำหน้าที่กระจายข่าวต่อไปยัง BBS อื่นๆภายในประเทศ

สำหรับอีเมลนั้น แม้ว่าไม่มีปัญหาทางเทคนิค แต่ดิจิตอลก็ไม่ยอมให้ส่งผ่านเครือข่ายภายใน เนื่องจากประเด็นระเบียบความปลอดภัยเครือข่าย บรรดา BBS ต่างๆหากต้องการส่งอีเมล ก็ใช้วิธีต่อผ่านโทรศัพท์ระหว่างประเทศไปรับส่งอีเมลกันเอง ส่วนใหญ่ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย แต่อาศัยเงินบริจาคจากผู้ใช้

โครงการ Pubnet เป็นการพิสูจน์หลักการที่ว่าอินเทอร์เน็ต สามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยระบบที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก และได้กระตุ้นความสนใจในเรื่องของเครือข่ายขึ้นระดับหนึ่ง 

เรื่องราวเหล่านี้ เกิดขึ้นก่อนที่จุฬา และเนคเทค จะเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตอย่างถาวรผ่านวงจรเช่าในปี พ.ศ.2535 อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตแบบที่รู้จักกันในขณะนี้ และเรื่องต่างๆ ก็ไม่ใช่กิจกรรมทางการตลาดเนื่องจากผู้ที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ ไม่เคยออกมาเคลมผลงานตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา


บันทึกนี้ ไม่สามารถจะกล่าวถึงผู้ที่มีส่วนร่วมพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยได้ครบทุกท่าน เนื่องจากขนาดที่เหมาะสมของบันทึก การพัฒนาเครือข่ายที่ใหญ่โตขนาดนี้ ประกอบไปด้วยความร่วมมือเพื่อเป้าหมายอันเดียวกัน อินเทอร์เน็ตไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยคนคนเดียว หรือคนจำนวนน้อย ผู้บันทึกกราบขออภัยมา ณ.ที่นี้ด้วย

ผู้บันทึกในฐานะบุคลร่วมสมัยร่วมประสบการณ์ ได้พยายามบันทึกเหตุการณ์ตามที่ได้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ความยากลำบากของเหล่าบุคคลผู้มีคณูปการต่อประชาคมอินเทอร์เน็ตในเมืองไทย เลือนหายไปโดยไม่มีใครสังเกต

คำสำคัญ (Tags): #อินเทอร์เน็ต
หมายเลขบันทึก: 65385เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2006 06:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ข้อความมีสาระดีค่ะ

ชอบอ่านมากมาย

เอ่อ....พัฒนายังไงครับ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท