คู้


ผมเห็นนักศึกษาบางคนเวลานั่งเขียนหนังสือหลังคู้ ผมก็มักสะกิดเตือนให้รู้ว่า หลังอายุ 60 ปี คุณก็ได้นั่งท่านี้ไปตลอดชีวิต ไม่ต้องรีบร้อนขวนขวายหามาใส่ตัว เพราะไม่งั้น คุณอาจได้ใช้สิทธินี้ตั้งแต่ 50 ปี

ส่วนใหญ่ ก็ฟังเป็นเรื่องโจ๊กไป ดูแล้วก็เสียใจแทนลึก ๆ ว่าความโง่นี่แก้กันยาก

ลองคำนวณเล่นๆ ว่า ต่อไป จะเกิดอะไรกับระบบสุขภาพไทย โดยใช้ตัวเลขคร่าว ๆ จากความจำ

สถิติฝรั่งบอกว่า คนไทย หง่อมหมดสภาพตอนอายุ 60 ปี (ที่มาซับซ้อน แต่สรุปเป็นตัวเลขเดี่ยวให้เข้าใจง่าย)

สถิติไทย บอกว่า ชาย อายุขัยเฉลี่ยราว 68 ปี หญิง 75 ปี

สถิติฝรั่งอีกเช่นกัน บอกว่าทุกปีที่ผ่านไป อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ จะงอกขึ้น 0.25 ปี

ถ้าคนไทยไม่เปลี่ยนวิถีสุขภาพเชิงป้องกัน ขีดเส้นว่า 60 ปีแล้วหง่อม ผู้ชายจะหง่อมเฉลี่ย 8 ปี ผู้หญิงหง่อมเฉลี่ย 15 ปี และตัวเลขนี้ จะเพิ่มปีละ 0.25 ปี คือ จาก 8 กลายเป็น 8.25 แล้วเป็น 8.5 ไปเรื่อย ๆ ทุกปี

ผู้ชายหง่อม 8 ปี กลายเป็น 8.25 ปี คือ ภาระหง่อมชาย เพิ่มปีละ 3%

ผู้หญิงหง่อม 15 ปี กลายเป็น 15.25 ปี คือ ภาระหง่อมหญิง เพิ่มปีละ 1.7%

หากถัวเฉลี่ยคร่าว ๆ ทั้งสองเพศ ใช้ตัวเลขว่า อัตราการเพิ่มคนหง่อมไทย ปีละ 2%

หากคิดเล่น ๆ ว่า ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนหง่อม สูงเป็น 5-10 เท่าของคนไม่หง่อม ก็หมายความว่า ภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพของกลุ่มนี้ จะเพิ่มปีละ 10% - 20% ต่อปี แบบทบต้น เทียบจากฐานปีก่อนหน้า

หรือให้เห็นภาพง่ายที่สุด อีก 10 ปีข้างหน้า ภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพของกลุ่มนี้ทั้งประเทศ จะเพิ่มขึ้น 2.5 - 6 เท่า จากฐานวันนี้

2.5 เท่า คิดจากสูตร  (1 + 10%/100%)10

6 เท่า คิดจากสูตร  (1 + 20%/100%)10

แรงกดดันทางการเงินก็เป็นเรื่องหนึ่ง แรงกดดันเรื่องต้องเพิ่มคนวัยทำงานได้ ให้มาดูแลคนที่สังขารหง่อมหมดสภาพเพิ่ม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นการสูญเสียที่น่าเสียดาย โดยเฉพาะถ้าเป็นการสูญเสียที่ป้องกันได้

ญี่ปุ่นหมกมุ่นกับไซบอร์กมาตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ประเด็นนี้ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ มองว่า ญี่ปุ่นรู้ตัวล่วงหน้ามานาน ว่าจะมีวิกฤติประชากรศาสตร์ กลายเป็นสังคมชราภาพ จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยไซบอร์ก เพื่อใช้ระบบกึ่งจักรกลมาช่วยให้คนชราดูแลตัวเองได้ดีขึ้น (ลองนึกถึงคนอัมพาตบางส่วนสวมชุดไซบอร์กแล้วกลับมาเคลื่อนไหวได้เหมือนคนปรกติโดยการสั่งการจากการกระดิกนิ้วดูสิครับ หรือไปไกลกว่านั้น ใช้ชุดที่ interface กับสมอง ตรวจคลื่นสมองแล้วตีความเป็นคำสั่งให้เกิดการเคลื่อนไหวตามต้องการ) แต่เทคโนโลยีนี้ก็โตไม่ทันใช้ เว้นแต่รวยมหาศาลจริง ๆ (ซึ่งตามปรกติ กลุ่มนี้ก็ไม่ต้องใช้ไซบอร์ก เพราะมีคนเต็มใจดูแลเยอะอยู่แล้วตามธรรมชาติ)

บ้านเรา ยังมีคนที่มองว่า เรื่องไซบอร์ก/โรโบติกส์ไร้สาระ เพราะมีแต่แข่งเกมส์ แต่จริง ๆ แล้ว ควรมองว่า เป็นการลงทุนสั่งสมความรู้ทางเทคโนโลยี แต่เรื่องนี้ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จากการกวาดรางวัลระดับการแข่งขันเยาวชนนานาชาติ และสะท้อนออกมาในการเปิดหลักสูตร mechatronics ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

ผมเคยเขียนถึงไซบอร์กไว้ที่นี่

วิธีที่จะลดแรงกดดันตรงนี้ มีทางเดียว คนไทยต้องหง่อมให้ช้าลง หากคนไทยหง่อมช้าลงให้ทันการยืดขึ้นของอายุ ภาระตรงนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง หรือถ้าเปลี่ยน ก็จะไม่มาก

พูดง่ายและทำยาก ให้คนเลือก คนมักเลือกเสียเงินซื้อสุขภาพใส่กระป๋องมากิน มากกว่าออกไปเสียเหงื่อ ทั้งที่สุขภาพใส่กระป๋องมากิน ช่วยสุขภาพได้ไม่กี่วัน แต่ออกไปเสียเหงื่อ ช่้วยสุขภาพไปได้ไกลถึงยามสูงวัย

สรีระวิทยาของคนเป็นเรื่องที่แปลก หากร่างกายไม่ได้ใช้บริการกล้ามเนื้อและกระดูกไปนาน ๆ ร่างกายจะทำลายทิ้ง

คนที่เจออุบัติเหตุ นอนติดเตียงนาน ๆ มักมีปัญหานี้ ทำให้ต้องฟื้นฟูสมรรถนะ คนมักเข้าใจว่าเป็นผลจากการผ่าตัด จริง ๆ แล้ว น่าจะเป็นผลจากการนอนติดเตียงนานไปซะมากกว่า

ปัญหาใหญ่ของนักบินอวกาศในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงจะสะท้อนให้เห็นภาวะนี้อย่างชัดเจน คือคนที่ขึ้นไปอยู่ภาวะนั้นนาน ๆ กระดูกจะพรุน กล้ามเนื้อจะฝ่อ อย่างรวดเร็ว ทำให้เขาต้องมีโปรแกรมการออกกำลังกายที่เข้มข้นเวลาอยู่ในอวกาศ ไม่เช่นนั้น กลับมาที่โลก ก็จะหง่อมก่อนวัย

"Without regular use and exercise our muscles weaken and deteriorate, a process called atrophy. Studies have shown that astronauts experience up to a 20% loss of muscle mass on spaceflights lasting five to 11 days." จาก Canadian Space Agency  http://www.asc-csa.gc.ca/eng/astronauts/osm_muscles.asp

'Clemson bioengineering professor Ted Bateman said, “Recent exams of astronauts who were on the International Space Station showed signs of bone loss in the neck and vertebrae. Even five years after returning to Earth, they have not completely recovered from this loss.”' จาก http://www.sciencedaily.com/releases/2006/07/060717091230.htm

หง่อมเป็นเรื่องของสุขภาพเชิงป้องกัน ที่แต่ละคนต้องช่วยตัวเอง ซื้อหาแทนกันไม่ได้ ที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุด คือการออกกำลังกาย และใช้สุขภาพที่มีอยู่อย่างฉลาด

วันนี้คุณออกกำลังกายแล้วหรือยัง ?

หมายเลขบันทึก: 223262เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คู้ ครุ่นคิด เคี้ยว(เอื้อง)ความคิด คาย(สอน) ความรู้ ความคิด

คือคู้คุ้มค่าชีวิต

อย่างน่าเคารพ นะคะ อาจารย์

สวัสดีครับ

คุณแม่ผมเคยเตือนอยู่บ่อยๆ เลยไม่นั่งหลังคู้

แต่ดูๆ ไป คนไทยอาจจะแก่ช้าลง ล่าสุดอธิการบดีบางแห่งอายุเลยเกษียณไปก็ตั้งไกล ผมไป ตจว หลายแห่งที่มีคุณตาคุณยายอายุ 80 - 90 เดินไปวัดเองได้สบายๆ

P ภูสุภา

 

  • คงไม่ทักทายว่า "วันนี้คุณออกกำลังกายหรือยัง" เพราะจะเป็นการขายสวนมะพร้าว
  • แต่อยากทักทายว่า "ปีนี้คุณลาพักผ่อนแล้วหรือยัง" แทน ^ ^

 

P  ธ.วั ช ชั ย

  • ผมเคยออกไปกับนักศึกษาตอนทำกิจกรรม เจอคุณยายอายุ 80 กว่า ตักน้ำบ่ออาบเอง ยังกระฉับกระเฉงมาก
  • เข้าใจว่า เป็นเพราะชีวิตคุณยายท่านนี้ได้มีเรื่องเสียเหงื่ออยู่เรื่อย ๆ จึงสามารถอยู่ได้อย่างไม่หง่อม
  • คนที่มีบุญ ได้นั่งกินนอนกินโดยไม่ต้องมีเรื่องให้เหงื่อตก มักต้องนั่งกินนอนกินให้ลูกหลา่นดูแลจนตาย เพราะไม่ได้สะสมสุขภาพเหมือนคุณยายท่านนี้ 

 "ปีนี้คุณลาพักผ่อนแล้วหรือยัง" แทน ^ ^

 ยั ง เ ล้ ย ค่ะ....เห้อ

ปีงบประมาณที่แล้ว ลาวันที่ 30 ตุลาคม ไปหนึ่งวัน(เจ้าหน้าที่บุคลากรเชียร์ให้ลา อิ อิ)

-(บางคน)ไม่ได้อยากนั่งหลังคู้หรอกค่ะอาจารย์ แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เมื่อไร มารู้ตัวอีกทีก็เป็นไม้แก่ดัดยากแล้วค่ะ

-อยากให้อาจารย์ช่วยแนะแนวทางแก้ไขด้วยค่ะ

-ด้วยความเคารพค่ะ

P รัศมีแห่งทางนำ

  • ถ้ายังไม่คู้ แก้ตรงไปตรงมาครับ คือนั่งให้หลังตรง วิธีที่ดีคือ เก้าอี้นั่งไม่ควรเป็นเบาะและไม่มีพนักพิง (ที่บ้าน นั่งเก้าอี้แบบทรงสูงที่นั่งเป็นจานเรียบ ไม่มีพนักพิง ทำให้นั่งนาน ๆ ก็ไม่ปวดหลัง)
  • แค่ถ้าคู้แล้ว ลองไปปรึกษาหมอกระดูกครับ ผมไม่สามารถ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท