วิกฤติดอกบัว


เชื่อหรือไม่ว่า วันไหนดอกบัวดอกนี้พ้นน้ำเต็มตัว จนเห็นก้านดอกอย่างชัดเจน ปีนั้น จะเริ่มกลายเป็นปีมหัศจรรย์ของคนมีลูก คือถ้าใครมีลูก จะได้เป็นวีรชน และจะมีเครดิตภาษีแถมให้ด้วย

รูปนี้ ผมดึงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นข้อมูลโครงสร้างประชากรประเทศไทยปี 2547 แล้วนำมาทำเป็นกราฟแท่ง เป็นโครงสร้างประชากรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก (ด้านล่าง) ขึ้นไปจนวัยสูงอายุ (พุ่มแหลมด้านบน)

 

ประชากรประเทศไทย 2547

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บางประเทศ เริ่มใช้นโยบายแบบที่ว่ามาข้างต้น เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น ส่งเสริมให้คนมีลูก !

ที่เรียกว่า วิกฤติดอกบัว ก็คือ วันไหนดอกทะลุขึ้นเหนือน้ำจนเห็นก้านดอก จะเป็นวันที่เด็กเกิดใหม่หายากมาก จนหมอสูติฯ และ หมอเด็ก จะตกงานกันขนานใหญ่ โรงเรียนอนุบาล ก็ต้องล้มหายตายจากไป

หลังจากนั้นอีก 15 ปี ช่องเก้า อสมท. ก็จะไม่มีการ์ตูนออกมาฉายตอนเช้า ๆ ของวันเสาร์อาทิตย์อีก จะไม่มีมดแดง มดเอ๊กซ์ ดรากอนบอล ฯลฯ มาฉายอีก เพราะสปอนเซอร์ขนมสำหรับเด็ก เลิกสนใจกลุ่มเป้าหมายนี้ หันไปโฟกัสจับลูกค้าวัยดึกแทน

ยังครับ..ยังไม่หมดแค่นี้

ที่ว่าไปแล้วคือวิกฤติฟากลูกเล็กเด็กแดง ที่อยู่ด้านฐานข้างล่าง

คราวนี้มาดูด้านข้างบนบ้าง

เมื่อเวลาผ่านไป ดอกบัวดอกนี้ก็จะชูตัวขึ้นไปข้างบนสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเมื่อมีคนในแต่ละช่วงอายุล้มหายตายจากไป ดอกบัวก็จะผอมแฟบลง ราวกับมีการสลัดผิวออกไป โดยยอดดอก สลัดแรงหน่อย กลาง ๆ ดอก ก็สลัดเบาหน่อย

เนื่องจากการแพทย์ดีขึ้น การตายลดลง ผลก็คือ การสลัดผิวออกไปน้อยลง หรือนั่นก็คือ ดอกจะไม่สึกไม่หรอเลย

ตอนนี้ส่วนที่อ้วนที่สุดของดอก อยู่ที่ประชากรอายุราว 30-50 ปี

อีก 20 ปีข้างหน้า ส่วนนี้จะถูกดันขึ้นไปกลายไปเป้นกลุ่มผู้สูงอายุ และส่วนหนึ่ง จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตร้อยแปด จนอยู่ไม่เป็นสุข และต้องการการเอาใจใส่ดูแลจากส่วนฐานล่าง ที่ค่อย ๆ เล็กเรียวลง

ก็จะกลายเป็นว่า ฐานล่างเล็กนิดเดียว ประคองดูแลส่วนยอดที่ใหญ่เบ้อเริ่ม

นี่คือระเบิดประชากรศาสตร์ขนานแท้

ข้างล่างก็ใช่ คือถ้ามีแต่ลดลงถ่ายเดียว ก็คือการสูญเผ่าพันธุ์

ข้างบนก็ใช่ คือถ้ามีแต่คนสูงวัย ก็จะเป็นภาระหนักกับสังคมข้างล่าง

ถ้าสูงวัยแบบแข็งแรง ก็จะเบาสบาย ไม่เป็นภาระกดทับข้างล่าง เพราะพึ่งตัวเองได้ดี

ไม่เพียงแตแข็งแรงทางกาย ต้องแข็งแรงทางการเงินด้วย 

ผมนึกเล่น ๆ ดูว่า ในอนาคต รูปแบบที่คนสูงวัย จะสนธิพลัง กับคนวัยทำงาน ได้ดีที่สุด น่าจะเป็นรูปแบบที่ว่า คนสูงวัยต้องมีความเข้มแข็งทางการเงิน ลงทุนในกิจการในประทศ ไม่ว่าจะโดยตรง (ทำธุรกิจ) หรือโดยอ้อม (ลงทุนในกิจการบริษัทต่าง ๆ เช่น บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หรือผ่านแบบอ้อมมาก ๆ แบบกองทุนรวม) เพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาหลายเรื่องไปในคราวเดียวกัน คือเป็นที่พึ่งการเงินให้คนอ่อนวัยกว่า ส่วนคนอ่อนวัยกว่าก็เป็นที่พึ่งทางกายให้คนสูงวัยกว่า

ตรงนี้ผมว่า เราคงต้องทบทวนแนวคิดเรื่องการลงทุนในครัวเรือนกันใหม่

เพราะหากไม่คิดในเวลาที่ทุกอย่างดูไม่สดใสแบบนี้ ไปคิดในช่วงตลาดหุ้นบูม ก็จะเข้าวงจรเป็นแมงเม่าให้ต่างชาติเถือเล่นเสียเปล่า ๆ

เรียนรู้การลงทุนต้องเรียนรู้ตอนคนไม่สนใจการลงทุน 

แต่ถ้าสูงวัยแบบหง่อมก่อนวัย ช้ำใน ป่วยทางกาย ป่วยทางใจ ป่วยทางการเงิน ป่วยทางสังคม แบบนี้ รายการโศกนาฎกรรมบันเทิง (รายการสารคดีคุณปู่ตาบอดเลี้ยงหลานโดยคุ้ยกองขยะ) ต้องเพิ่มรอบเช้าและเที่ยง จึงจะค่อยสมน้ำ-สมเนื้อกับระดับของปัญหา

เป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวมาก ๆ เลยนะครับ...

 

หมายเลขบันทึก: 92138เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับอาจารย์

สภานการณ์นี้น่ากลัวมากจริงๆครับ ไม่ทราบว่าอาจารย์พอจะทราบไหมครับว่า มีการศึกษาหรือเปล่าว่า อัตราการเกิดและการตายของประชากรของประเทศไทยนั้น สมควรจะเป็นเท่าไรต่อปี ถึงจะสมดูลย์ครับ

อีกเรื่องครับอาจารย์ อาจารย์มองว่าแล้วสิงคโปร์กับออสเตรเลียจะทำรับมือกับสถานการณ์นี้ยังไงครับ ผมคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ถึงจุดๆหนึ่ง ผมเชื่อว่าจะมีการซื้อสมองนะครับ

ผมคิดว่าเรื่องประชากรศาสตร์จำเป็นที่จะต้องศึกษาดีๆครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลจะพัฒนาตัวเอง ไปเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะว่า การพัฒนาด้านการแพทย์ และปัญหาด้านประชากรนี่แหละครับ ที่ทำให้ระบบ social security ของอังกฤษล้มไปแล้ว และของอเมริกาก็กำลังมีปัญหาอย่างมากถึงมากที่สุด

น่าคิดนะครับ ผมว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องมาทำการวางแผน เรื่องประชากรอย่างจริงจังแล้วครับ

คุณ

P
  • เรื่องนี้มีคนพูดถึงตั้งแต่ราว 20 ปีก่อน แต่ตอนนั้น เป็นการคาดการณ์ระยะยาว และสมัยนั้นการเผยแพร่คือกระดาษเป็นหลัก จึงไม่แพร่หลาย
  • ผมใช้วิธีหยิบข้อเท็จจริงมาเล่าทื่อ ๆ ครับ ไม่ได้ศึกษาลึกเรื่องนี้ ไม่รู้จะออกความเห็นอย่างไรเหมือนกันว่าควรคุมให้อัตราเกิดเป็นเท่าไหร่ แต่เคยผ่านตาว่าอัตราเกิดกับตายน่าจะใกล้เคียงกันมากในภาคอื่น ยกเว้นแต่ภาคใต้ตอนล่างกับฝั่งตะวันตกที่อัตราเกิดสูงกว่า (ลองไปหาอ่านข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติดูนะครับ ผมเข้า net ความเ็ร็วต่ำจากบ้าน ไม่สะดวกค้นให้)
  • ส่วนเรื่องสิงคโปร์-ออสเเตรเลียนี่ เขาทำเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ผมอ่านจากพาดหัวข่าวต่างประเทศปีก่อน ไม่มี reference ครับ
  • ขอ save ก่อนครับ เผื่อสายหลุด
ต่อครับ...

  • ผมเคยยกเรื่องนี้มาพูดถึงใน สังคมชราภาพ และ UNFPA ฟันธงไทยไม่พร้อมรับมือวิกฤติประชากรศาสตร์แต่ตอนนั้น ยังไม่ได้นึกถึงกลุ่มเด็ก ซึ่งสรุปสั้น ๆ คือปัจจุบันอัตราการตายลดลงเรื่อย ๆ เพราะมาตรฐานการแพทย์ที่ดีขึ้น และคนรักสุขภาพมากขึ้น ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลก เพิ่มขึ้นราวปีละ 3 เดือน แต่อัตราการเกิด น่าจะลดลงเร็วไปหน่อย จนเห็นฐานดอกบัวแคบตีบลงชัด แต่ตรงนี้อาจเป็นปรากฎการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ต้องดูต่อไปอีกสักพัก รอ สนง.สถิติ เขาทำตัวเลขชุดใหม่ออกมาก่อน น่าจะเห็นชัดขึ้นว่า ลดแบบถาวรไหม
  • แต่อัตราการเกิดควรเป็นเท่าไหร่ ผมไม่มีความเห็นครับ ไม่มีลูกเองไม่กล้าแหยมออกไอเดียครับ 555
  • ส่วนเรื่องซื้อสมอง ต่างประเทศเขาก็ทำกันอยู่แล้วนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท