อินทนนท์
นาย ชูชาติ พูลทอง ชูชาติ พูลทอง

ASEAN Institute for Health Development, AIHDสถาบัน พัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน


สายตาของผมที่มองผ่านกระจกรถรับจ้างจากสนามบิน ที่นี่คือมหาวิทยาลัยที่ผมไม่เคยคิดเลยในชีวิตว่าจะได้เข้ามา

(ตอนที่ 1)

เวลาเช้าของวันที่เท่าไหร่ผมจำไม่ได้ชัดเจนนัก หากแต่ผมจำข้อความที่คุณหมอนุชจรินทร์ จากสาธารณสุขอำเภอสันทรายโทรเข้ามือถือ ในขณะที่ผมนั่งสนทนาธรรมกับพระจารย์ อมรวิทย์ ที่ไร่เชิญตะวันจังหวัดเชียงราย ครั้งเมื่อนำหนังสือไปนิมนต์ ท่านพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี

"ชูชาติ พี่มีงานมาให้จะรับไหม" จากสถาบันอะไรสักอย่างตอนนั้นผมไม่แน่ใจในคำพูดของหมอนุชเท่าไรนักแต่จำได้ลางๆว่า มหาลัย "มหิดล" ผมว่า "จะให้ผมทำอะไรหรือครับหมอ" ไม่ต้องทำอะไรแค่คุยเรื่องการทำงานในชุมชนของเราในฐานะ อสม.

"เมื่อไหร่ครับหมอ"

"วันที่ 20 ว่างไหม"

"เอ่อ...ครับขอคิดดูก่อนนะครับ"เนื่องจากผมเองยังไม่ทราบอะไรมากไปกว่านี้เลยขอปรึกษากับพี่หน่อยซึ่งเป็นประธานอสม.ในตำบลของเรา พี่หน่อยบอกว่า

"ตัดสินใจเองแล้วกัน แต่พี่ว่าชาติน่าจะไปนะ พี่หน่อยพูดกับผมเช่นนั้น"

หลังจากนั้นผมกับพี่หน่อยก็ไม่ได้คุยเรื่องนี้ต่อเนื่องจากมีงานที่จะต้องทำอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับงานวัณโรค ผมมีโอกาสได้เจอกับหมอนุชอีกครั้งเราจึงได้คุยกันในเรื่องที่หมอนุชเคยถาม

"พี่จะให้เบอร์ของชาติกับ อาจารย์ที่สถาบันนะเดี๋ยวเขาจะโทรมาให้รายละเอียด"

"ครับหมอได้ครับ"

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในขณะพักเบรคพอดี "สวัสดีครับ "

เสียงจากอาจารย์จากสถาบัน เสียงไม่คุ้นหูแต่ผมรู้สึกได้ถึงความนุ่มนวลเป็นมิตรและสรุปที่ผมตอบตกลงจะเดินทางไปที่สถาบัน ที่ศาลายาเนื่องด้วยว่าผมจะได้คุยเรื่องการทำงานของเราให้กับคนอื่นฟัง

จากนั้นก็แทบไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากนอกจากงานของชมรมของเราที่มีอยู่แล้ว และทำแล้วในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในฐานะ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือการนำเสนอนวัตกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับสุขภาพภาคประชาชน มุมมองต่างๆก็เป็นแบบของเราเองซึ่งไม่ใช่นักวิชาการ หรือเจ้าหน้าที่

เย็นวันนั้นผมกลับมาถึงบ้านโดยไม่ได้หาข้อมูลจากสถาบันเพิ่มเติมเนื่องจากงานที่มีอยู่แบบชนิดฉากต่อฉาก

ผมเก็บเครื่องมือในการทำงานพร้อมข้อมูลชุมชนต่างๆ ที่ผมภูมิใจและรักมันมากเพื่อไป

นำเสนอให้ทางสถาบัน เราเดินทางไปสายของวันที่ 20 ธันวาคม 2553 เสียงอาจารย์หัวเราะเบาๆ ในขณะที่คุยโทรศัพท์ก่อนเดินทาง "เครื่องออก 10 โมงครับ"จากเสียงหัวเราะผมเดาเอาเองว่า คงต้องมีอะไรผิดพลาดสักอย่างเกิดขึ้นแน่นอน แต่ผมก็ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งนั้น แต่เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เนื่องจากเช้าตรู่เรามีงานที่สำคัญอีกชิ้นรออยู่

เครื่องบินจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ เที่ยงกว่านิดหน่อย แต่มันสายสำหรับเรามาก ผมกับพี่หน่อยตัดสินใจนั่งรถรับจ้างจากสนามบินเพื่อย่นระยะเวลาให้เข้ามาอีก

ใช้เวลาเท่าไหร่ครับ ไม่ถึงชั่วโมงก็ถึง ผมโล่งใจที่คนขับรถพูดเช่นนั้น

"ใกล้ถึงแล้วนะครับ"

สายตาของผมที่มองผ่านกระจกรถรับจ้างจากสนามบิน ที่นี่คือมหาวิทยาลัยที่ผมไม่เคยคิดเลยในชีวิตว่าจะได้เข้ามา

สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล

 (ASEAN Institute for Health Development, AIHD)

ผมชอบดูรายการทีวีที่มีหลายคนสำเร็จการศึกษาด้านสาธารณสุขแล้วกลับมาพัฒนาประเทศของเรา ผู้ที่จบมาในหลายๆด้าน ในหลายๆสาขา ทุกครั้งผมดูรายการจนจบ และรู้สึกเป็นสุขในฐานะประชาชนที่รอความหวังว่าคนที่เสียสละเหล่านนี้จะทำให้เราๆเองมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยที่ความบันเทิงก็ไม่เคยมีนอกจากวิชาการเท่านั้น แต่ผมก็แปลกใจตัวเองว่า ทำไมไม่ไปดูช่องอื่น นั่นสิ ทำไมผมถึงรู้สึกสนใจแบบไม่รู้ตัวมาช้านาน

รถรับจ้างจอดที่หน้าตึก ผมรู้สึกตื่นเต้นนิดหน่อย แต่กังวลมากกว่าเนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่หน้าตึกถามว่าเราทานข้าวกันมาหรือยัง นี่เรามาถึงเราก็จะกินข้าวเลยหรือผมคิดในใจเช่นนั้น แล้วเจ้าหน้าที่ประจำตึกก็พาเราเข้าไปที่โรงอาหารภายในสถาบัน ผมบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า "อยากเจออาจารย์ก่อนครับ"  "อาจารย์อยู่ที่ห้องอาหารค่ะ" เอ่อ ครับ

ที่โรงอาหารมีคนอยู่ประมาณ 10 กว่าคน ใช่สิ่งที่ผมวิตกนั่นก็คือ เรามาสายกว่าใครๆเลยและมาถึงก็จะทานข้าวเลยอีก

ผมรู้สึกอึดอัดขึ้นมาทันที และรู้สึกเกรงใจอาจารย์จากทางสถาบันมาก แต่อาจารย์บอกว่าไม่เป็นไรเมื่อเช้าเขาถอดบทเรียนกัน นั่นน่ะสิถอดบทเรียนนั่นคือสิ่งที่ผมวิตกที่ไม่ได้มาร่วมกับอีกหลายที่ทั่วประเทศ แต่อาจารย์ (อาจารย์ เริงฤทธิ์ )เพิ่งทราบชื่อเต็มๆก็ตอนมาถึงสถาบันนี่แหละครับ

อาจารย์พูดกับเราจนเรารู้สึกสบายใจขึ้นและรู้สึกผ่อนครายลงมากก็ตอนเดินเข้ามา

อาจารย์ให้เราทานข้าวก่อนและค่อยเข้าห้องถอดบทเรียนต่อ

(ตอนที่ 2)

หลังจากทานข้าวเที่ยวเสร็จ ผมเดินตามอาจารย์เริงฤทธิ์ อาจารย์จากสถาบันชึ่งไม่เคยคุ้นหน้ากันแต่รู้สึกคุ้นเคยและเป็นมิตรด้วยบุคลิคของตัวอาจารย์เอง

ในห้องถอดบทเรียน หลายคนร่วมถอดบทเรียนกันไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ตอนเช้า ผมกับพี่หน่อยเลยมองตากันเหมือนพี่หน่อยเข้าใจผมแล้วบอกทางสายตากับผมว่าทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

เนื่องจากเราต้องเดินทางกลับในเวลาช่วง4 โมงเย็นทางคณะอาจารย์เลยแบ่งโต๊ะมาอีก 1 โต๊ะเพื่อฟังเรานำเสนอ คำถามมากมายพร้อมกับการนำเสนอของเรา หลังจากแนะนำตัวโดยที่ผมไม่อาจลืมคำขอโทษที่เดินทางมาช้า นั่นเป็นสิ่งแรกที่อยากทำมาตั้งแต่พบหน้าคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกๆท่าน

ผมหยิบโน๊ตบุ๊คคู่ใจที่ไม่ได้ทำความสะอาด,มานานเพราะผมใช้เขาจนเกินคุ้มราคามาตั้งแต่เมื่อ 2ปีก่อน ผมดีใจที่คณะอาจารย์ให้ความสนใจในเรื่องที่เรานำเสนอ และมีคำถามมาให้เราตอบเป็นระยะ แปลกใจอยู่บ้างที่อาจารย์ถามโดยที่เรามีคำตอบในทุกๆเรื่อง ใช่มันเป็นงานที่เราทำมันมาเองกับมือของพวกเราในชมรม

ผมหยิบยกนวัตกรรม2 ชิ้นที่ใช้ในชุมชนและชมรมของเรา นั่นคือนวัตกรรมการแบ่งฝ่ายของชมรม ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่เรานั่งทบทวนและพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้ จนสุดท้ายเราก็ประสพความสำเร็จ ไม่ใช่เพราะนวัตกรรมได้รับรางวัลชนะเลิศจากกระทรวงที่หลายคนคิดว่านั่นคือความภาคภูมิใจสูงสุดแล้ว หากแต่ความภาคภูมิใจนั้นเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อครั้งเราใช้นวัตกรรมนี้แบ่งฝ่ายกันทำงานในชุมชน

ผมดีใจที่ทางผู้ใหญ่เปิดโอกาสและให้ความสำคัญในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมให้สามารถดูแลชุมชนได้อย่างทั่วถึง และมีประโยชน์

ตอนที่3

13 มกราคม 2554 ผมเดินทางจากเชียงใหม่ในวันที่มีงานมากมายเหลือเกิน หมายกำหนดการที่ต้องเดินทางไปเมืองจีนกับทางคณะพี่ๆที่ทำงานถูกจัดเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี หนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน หมายเลขที่นั่งรู้ก่อนตั้งแต่เริ่มแรก

แต่ผมขอยกเลิกการเดินทางทั้งหมดกับทางคณะ หลายคนสงสัย หลายคนประหลาดใจ แต่ผมอธิบายกับหัวหน้าแล้วว่า ผมมีงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่กำลังรอการตัดสินใจอยู่ ใช่ผมเลือกที่จะเดินทางไปกรุงเทพ ไปเพื่องานของผม ผมทราบดีว่าการไปเมืองจีนย่อมมีความสุขแน่นอน แต่นั่นเป็นความสุขของผมคนเดียว แต่การเดินทางของผมที่กรุงเทพ มีชาวบ้านอีกหลายคนจะได้รับความสุขไปพร้อมๆกับผม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในชมรมเดียวกับผม "ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขตำบลสันทรายหลวง" และชาวบ้านที่ผมรักในตำบลของผม

ก่อนการเดินทางในวันประชุมประจำเดือน คุณหมอไพรัช ปัญญาคง ผอ.รพ.สต.บ้านท่อหรืออีกนัยหนึ่งก็คือเพื่อนร่วมงานของผมนั่นเอง อย่าสงสัยเลยครับว่า เจ้าหน้าที่ระดับบริหารเป็นเพื่อนกับอสม.ธรรมดาๆคนนึงได้อย่างไร เปล่าเลยหมอแดงหรือผอ.ไพรัชมีเพื่อนที่เป็นอสม.อีกมากมายเกือบทุกคน(ยกเว้นที่อายุมากกว่าก็เป็นพี่ป้าน้าอาไป) ใช่ครับบริบทในตำบลของเรามีทั้งชุมชนเมืองและชุนชนชนบท การทำงานหรือการร่วมงานของเราระหว่างเจ้าหน้าที่กับอสม.เป็นเหมือนเพื่อนร่วมงาน เป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่มีใครคิดจะวางตนให้อยู่เหนือกัน ทุกอย่างมีการประชุม มีการพูดคุยมีการลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานมามากต่อมาก แต่สุดท้ายบทเรียนต่างๆที่ผ่านมามีค่าสำหรับพวกเราเหลือเกิน เขียนไปเขียนมารู้สึกผมจะนอกเรื่องอีกแล้ว เอาอย่างนี้ดีกว่าขอเริ่มเรื่องราวตอนท้ายสุดเลยก็แล้วกันนะครับ

              ผมเดินทาง จากเชียงใหม่ด้วยเที่ยวบิน(จำไม่ได้แล้ว)เป็นสายการบินนกแอร์ ครับสายการบินน้องใหม่ที่พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนตอนนี้รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงไปในที่ดีตรงกันข้ามกับสายการบินเก่าแก่ที่แปลความหมายของการบริการเป็นเลิศด้วยความคิดของตัวเอง(นอกเรื่องอีกแล้วครับ)

              เที่ยงกว่าๆคณะของเราเดินทางถึงMiracle Grand convention Hotel โรงแรมที่ผมเองเรียกผิดเรียกถูกมาตลอด วันนี้เป็นวันเหมือนครั้งแรกที่เดินทางไปพบอาจารย์ เริงวิชญ์ (เรียกชื่ออาจารย์ผิดมาตลอดแต่ครั้งนี้ถูกต้องแล้วครับ อาจารย์เริงวิชญ์ นิลโคตร จากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล) ที่มหาลัยครั้งก่อนพอถึงโรงแรมก็ได้ทานข้าวเที่ยงพอดีอีกแล้ว ผมแอบขำในใจตลอด ผมได้พบกับอาจารย์เริงวิชญ์ และอาจารย์ ณัฐพัชร์ ซึ่งทั้ง2 ให้การต้อนรับเราดีมาก ดีจนเรารู้สึกเกรงใจขึ้นมาอีกครั้ง ผมรู้ถึงการให้การต้อนรับที่ดีของอาจารย์จากสถาบันนี้ จนเเอบคิดอยู่ในใจตลอดมาว่า ทำไมหนอคนตัวน้อยๆอย่างเราเขาถึงต้อนรับเราดีขนาดนี้

          ผมแอบเก็บความประทับใจในบทสนทนากับหลายๆคนที่ห้องประชุมแห่งนี้ หลายคนต่างที่มา ต่างบริบทของพื้นที่ แต่ที่เหมือนกันก็คือ ทุกคนที่อยู่ที่นี่มุ่งหวังว่าจะช่วยกันดูแลชุมชนให้เป็นชุมชนที่จัดการสุขภาพได้อย่างถูกวิธี และมีประสิทธิผล ผมเข้าห้องนั้นออกห้องนี้ ดูการสัมนาในหลายๆเรื่อง แม้หลายๆเรื่องที่ผู้ทรงคุณวุฒิพูดคุยกันผมเองอาจจะทราบมาบ้าง แต่นั่นเป็นเพียงความคิดในกรอบแคบๆที่ตำบลของผม

          หมอแดง เคยบอกผมว่า "ชูชาติ ต้องไปดูการทำงานของหลายๆพื้นที่ หลายๆบริบท แล้วนำมาปรับใช้ที่บ้านของเรา" เมื่อ 2 ปีก่อนผมเคยคิดในใจว่า ไม่เห็นต้องไปดูคนอื่นเลยในเมื่อดูแล้วก็เอามาใช้ที่บ้านเราไม่ได้ ใช่ครับผมคิดตื้นๆ

          จากที่ไม่เคยออกนอกพื้นที่ มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาชุมชนที่ตัวเองอยู่ จนลืมสุภาษิตที่แม่เคยบอกกับผมว่า พี่รู้หนึ่ง น้องรู้สอง ผมเริ่มเปลี่ยนความคิด เมื่อมีโอกาสได้ไปนำเสนอผลงาน หรือนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนของเรา เมื่อครั้งงานสุขภาพชุมชน ของคุณหมอโกมาตร นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์  กระทรวงสาธารณสุข ที่เมืองทองธานี

ใช่ครับความคิดผมเปลี่ยนไป แนวคิดแนวใหม่บวกเข้ากับบริบทแบบเดิมของบ้านของเราเราเริ่มการทดลองแนวใหม่ เริ่มคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดูแลสุขภาพในชุมชน การศึกษาหาความรู้ที่นอกเหนือไปจากการวัดความดัน การเจาะเลือด การdotยาวัณโรค การตรวจลูกน้ำยุงลาย การเก็มเสมหะ ใช่ครับเราเริ่มการศึกษาหาความรู้จากอาจารย์หลายๆท่าน และหนึ่งในนั้นคือคุณหมอ อมร นนทสุต ผมอ่านการปรับกระบวนทัศน์ อ่านการทำแผนที่ทางเดินยุทธศาตร์ อ่านการแผนการจัดการสุขภาพในชุมชน  และอีกหลายต่อหลายอย่าง โชคดีที่มีคุณหมอนุชจรินท์ พันธ์บุญญปลูกจากสาธารณสุขอำเภอสันทรายทำเรื่องราวที่อสม.หลายคนว่าปวดหัวเหลือเกินให้กลายเป็นเรื่องที่เเข้ใจง่าย เพราะเราทราบดีว่าทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือการทำเพื่อส่วนรวมนั่นเอง

         คุณป้าอายุ 50 กว่าที่ตำบลของเรา เรียนหนังสือแค่อ่านออกเขียนได้ สามารถเข้าใจในสิ่งที่นักวิชาการระดับต้นของประเทศเขียน ใช่เราหาทางเจอ ทางไปสู่การจัดการสุขภาพชุมชนอย่างเป็นระบบ ด้วยหนึ่งสมองสองมือของทุกๆคนในชุมชนของเราเอง

         14 มกราคม 2554 หลังจากพูดคุยตกลงวางตัวที่จะนำเสนอผลงานผมเองในฐานะ อสม.ได้เป็นหนึ่งตัวแทนในการถ่ายทอดบนเวทีที่มีค่าสำหรับเรา และอาจมีค่ามากกว่าที่ผมคิดในใจของคนอื่นที่มาด้วยกันในวันนี้

         "คนละ 4 นาที" ใช่ครับบนเวทีมีเวลาให้เราคนละ 4นาที ผมแอบคิดในใจ แค่แนะนำตัวก็จะหมดเวลา แต่เมื่อย้อนกลับไปคิดใหม่ เราต้องใช้เวลา 4 นาทีให้มีค่ามากที่สุดถึงจะถูก ก่อนการขึ้นเวที หมอแดง และหมอกุ้ง พี่หน่อยประธานชมรมของเราเจ้าหน้าที่จากรพ.สต.บ้านท่อ แนวร่วมที่มีคุณค่าของชุมชนของเราได้มีการพูดคุยว่าควรจะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างไร สุดท้ายคือการกระชับเรื่องราวบนเวที แล้วมาขยายต่อที่เวทีเล็กด้านล่าง

          ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นที่ขึ้นเวที หากแต่ความภาคภูมิใจเกิดขึ้นอย่างมีความสุข การนำเสนอเรื่องราวของเราอาจแตกต่างไปจากท่านอื่น  ตรงที่เราเป็นชาวบ้าน ผมใช้ภาษาที่เป็นแบบชาวบ้าน พูดคุยแบบชาวบ้าน จากบนเวทีผมมองเห็นแววตาของความสนใจจากหลายคนที่มารวมกันอยู่ในห้องประชุม ใช่สายตาของทุกคนเหมือนสายตาของผม สายตาที่ต้องการเห็นชุมชนของเรามีความสุข สายตาที่มีความหวังว่าเราจะร่วมกันพัฒนาการดูแลสุขภาพชุมชนอย่างถูกต้องและได้ประโยชน์สูงสุด

          ที่เวทีด้านล่าง หลังจากจบการจนทนาบนเวที คำถามมากมายมีมาให้เราตอบ ผมตอบคำถามด้วยหัวใจพองโต สายตาของผู้ถามเขาอยากรู้เรื่องราวที่เราจะเล่า ผมอยากบอกกับทุกคนเหลือเกินว่า เวลามีน้อยเหลือเกิน หลายคำถามไม่ได้ตอบ และหลายคำถามยังไม่ได้ถาม

          หลายท่านของติดค้างไว้ครั้งหน้าด้วยไม่ลืมที่จะขอช่องทางของการติดต่อไว้กับตัว หนึ่งในนั้น ผมบอกกับหลายคนว่า ผมจะเล่าเรื่องราวในชุมชนของผมไว้ที่นี่ เพราะเป็นการพูดคุยที่สามารถลงรายละเอียดได้ถี่ถ้วน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ใครหนอจะมานั่งอ่านเรื่องราวบ้านๆที่เราเขียน คิดแล้วก็อดขำอยู่ในใจไม่ได้ ก็เพียงได้แต่บอกกับตัวเองว่า หากมีคนผ่านมาสักร้อยคน แวะอ่านบทความสักคนแค่นี้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมาย(เขียนไปยิ้มไป)

       ครับเรื่องราวมากมายที่ได้รับจากงานนี้มากมายจนต้องขอแยกเป็นหมวดหมู่ ส่วนวันนี้เป็นเรื่องราวที่ต่อมาจาก 2ตอนด้านบน ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเรื่องราวของผม หากคุณอยากอ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามบริบทของเรา ผมเองในฐานะตัวแทนอสม..ตำบลสันทรายหลวงยินดีที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนของเราสู่สายตาของผู้รู้ทุกๆท่านด้วยความจริงใจ  คำทิ้งท้ายที่เขียนลงในหนังสือ"การบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็งอย่างมีส่วนร่วม" ของสถาบันสุขภาพอาเซียน ในตอนของเราจบลงท้ายว่า

"ไม่มีใครที่สามารถดูแลชุมชนได้ดี เท่ากับคนในชุมชนเอง"

แล้วพบกันใหม่นะครับขอบพระคุณทุกท่านที่ผ่านมาอ่านบทความจากชุมชนของเรา 

สวัสดีครับ

อสม. อินทนนท์         

           

 

หมายเลขบันทึก: 416150เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2010 00:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับคุณอินทนนท์ อสม. (อาสาสมัครหมู่บ้าน) ผู้หลุดพ้นจากกรอบของอาสาสมัครของสาธารณสุข บันทึกนี้

เป็นบันทึกที่น่าติดตามมาก จะรออ่านตอนต่อไป อสม.คือผู้ถือธงนำชุมชนสู่สุขภาวะ

สวัสดีครับ คุณ วอย่า-ผู้เฒ่า

ผมเขียนจบแล้วนะครับ ขอบคุณที่ให้ความสนใจ ฝากบันทึกหน้าต่อไปด้วยนะครับ

อินทนนท์

ได้อ่านแล้ว อ้ายอินทนนท์ หนูยังอ่านบ่จบเตื่อเน้อ ^_^ ไว้มีเวลาดีๆก่อนเดวจะกลับไปอ่าน

ตอนนี้อยากบอกว่า หนูมาอยู่พะเยา อากาศหนาวขนาด ขอบอก !!!!

ฝากบอกพี่น้อง จาว สันทรายตวยเน้อ ว่ากึ๊ดเติงหา ขนาด

อดเอานะ เดวจะปิ๊กไปคืนสู่เหย้าละเจ้า *_*

กึ๊ดเติงหากู้คนเลยเน้อ !!!!

สวัสดีสาวน้อยดีใจที่น้องเดินตามความฝันเพื่อกลับมาพัฒนาบ้านของเราอีกไม่นานเราก็คงได้พยาบาลสาวสวยมาช่วยดูแลชุมชนของเราด้วยอีกแรง เวลาที่ผ่านไปมิเคยเสียเปล่าเรื่องราวทั้งหมดถูกบันทึกเป็นความทรงจำ มีไม่กี่คนหรอกที่ทำเพื่อส่วนรวมแล้วจะมีคนเห็นด้วยด้วยความรู้สึกศรัทธา แต่น้องของพี่คนนี้คือคนที่น่ายกย่องด้วยการเป็นหนึ่งกำลังที่จะช่วยให้ชุมชนของเราเป็นชุมชนที่ที่มีความสุข ยกนิ้วให้สองมือแล้วเรียบกลับมานะพี่ๆกำลังคอยสาวเลือดใหม่ไฟแรงมาช่วยกันดูแลชุมชน สู้ๆนะน้องรัก

ดีใจที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้สัมผัส นานไป นานไป อาจจะใช่แล้วความยั่งยืน ที่ทุกคนกำลังตามหากัน

ยินดีเจ้า !! ขอบคุณอ้ายอินทนนท์นักๆเจ้า ขอบคุณทุกคน

สำหรับทุกกำลังใท่มอบหื้อ ขอบคุณที่ไว้ใจ๋ ขอบคุณที่ฮักหนูเหมือนลูกเหมือนหลานคนนึง ของสันทราย

ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกคนมอบหื้อเสมอมา

ขอบคุณจากใจ๋จริง .......

แล้วจะกลับไป เพื่อทุกคน

ยินดีเจ้า !! ขอบคุณอ้ายอินทนนท์นักๆเจ้า ขอบคุณทุกคน

สำหรับทุกกำลังใท่มอบหื้อ ขอบคุณที่ไว้ใจ๋ ขอบคุณที่ฮักหนูเหมือนลูกเหมือนหลานคนนึง ของสันทราย

ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกคนมอบหื้อเสมอมา

ขอบคุณจากใจ๋จริง .......

แล้วจะกลับไป เพื่อทุกคน

สวัสดีค่ะ คุณชูชาติ

  • ดีใจที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน ทั้งในห้องประชุมย่อย และบนเวทีสัมมนาวิชาการของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล และยังมาได้พบบันทึกของ อสม.คนขยันและเก่งอีกครั้งแม้จะเป็นบนโลกออนไลน์นะคะ ..

ผมหยิบโน๊ตบุ๊คคู่ใจที่ไม่ได้ทำความสะอาด,มานานเพราะผมใช้เขาจนเกินคุ้มราคามาตั้งแต่เมื่อ 2ปีก่อน ผมดีใจที่คณะอาจารย์ให้ความสนใจในเรื่องที่เรานำเสนอ และมีคำถามมาให้เราตอบเป็นระยะ แปลกใจอยู่บ้างที่อาจารย์ถามโดยที่เรามีคำตอบในทุกๆเรื่อง ใช่มันเป็นงานที่เราทำมันมาเองกับมือของพวกเราในชมรม

  • ถึงแม้เป็นการตั้งคำถามในใจและตอบโดยอัตโนมัติให้กับตัวเอง แต่มันก็คือเรื่องจริง ที่งดงามในจิตใจของคนเล็กๆ ที่เสียสละให้กับชุมชนของตนอย่างมากมาย ..
  • ขอให้มีความงอกงามในชีวิต และมีความสุขในสิ่งที่ทำตลอดไปนะคะ =)

สวัสดีครับคุณก้อนหินกลม ศันนิว และอาจารย์ณัฐพัชร์

ขอบคุณที่แวะมาขอบคุณที่ทำให้รู้ว่ายังคงมีคนอีกหลากหลายคนที่ยิดีและเต็มใจที่จะทำงานเพื่อมวลมนุษยชาติ ขอบคุณที่มีความจริงใจในการจัดการสุภาพอย่างถูกต้องและถูกวิครับ ขอบคุณมากครับแล้วแวะมาให้กำลังใจอีกนะครับ

อสม.อินทนนท์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท