เป็นนักเรียนสถาบันพระปกเกล้าตอนที่๙(ทางเลือกในการจัดการความขัดแย้ง)


การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้มองอนาคต

            เรามาต่อกันให้จบวิชานี้กันเลยนะครับ  ในกระบวนการแก้ปัญหามันจะมีแพ้ชนะเสียเป็นส่วนใหญ่ เรามาดูที่กระบวนการที่ใช้ ดูผู้ตัดสิน และผลการตัดสิน

            ถ้าใช้ความรุนแรง ผู้ตัดสินคือผู้ชนะ ผลคือมีผู้แพ้และผู้ชนะ

            ถ้าใช้การเผชิญหน้าประท้วงอย่างสันติหรืออารยะขัดขืน ผู้ตัดสินคือผู้ชนะ ผลก็ยังมีผู้แพ้ผู้ชนะ

            ถ้าใช้การบัญญัติกฎหมาย ผู้ตัดสินคือสภานิติบัญญัติ ผลก็ยังมีผู้แพ้ผู้ชนะ

            ถ้าใช้การฟ้องร้อง ผู้ตัดสินคือศาล ผลก็มีผู้แพ้ผู้ชนะ

            ถ้าใช้อนุญาโตตุลาการตัดสิน ผู้ตัดสินคืออนุญาโตตุลาการ ผลก็มีผู้แพ้ผู้ชนะ

            ถ้าใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมีคนกลาง ผู้ตัดสินคือคู่กรณี ผลจะมีแต่ผู้ชนะ

            ถ้าใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยกันเอง ผู้ตัดสินคือคู่กรณีผลจะมีแต่ชนะ

            ถ้าใช้การหลีกหนีปัญหา ไม่มีการตัดสิน ผลก็จะคงสภาพเดิม

            ท่านอาจารย์ให้ท่านผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ท่านชาติชาย กฤตชาญชัย อธิบายเรื่องการไกล่เกลี่ย ท่านก็เล่าให้ฟังว่าการไกล่เกลี่ยเป็นมาอย่างไร จนกระทั่งปัจจุบันศาลได้นำมาใช้เต็มที่และกำลังก้าวเข้าไปไกล่เกลี่ยในคดีอาญา ส่วนท่านอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต ๘ ท่านนันทศักดิ์ พูลสุข ก็เล่าให้ฟังเรื่องการทำงานของอัยการในส่วนการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้จัดอบรมเรื่องการประนีประนอมข้อพิพาท ,ท่านศุภชัย ใจสมุทร ก็พูดถึงการไกล่เกลี่ยในฐานะทนายความ, ศุภมาส พยัควิเชียร กรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็อธิบายถึงอำนาจหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ

            อาจารย์ก็ยังเน้นการเจรจาไกล่เกลี่ยว่าต้องดูให้ดีว่าจุดยืนคืออะไร และจุดสนใจคืออะไร วันก่อนถามนักศึกษาว่าจุดยืนอยู่ที่ไหน เขาตอบว่า อยู่ที่ส้นตีน...ฮา

การเจรจาที่มีหลักการ (Principled Negotiation)

-แยกคนออกจากปัญหา อย่าชี้หน้าด่าคน (Separate people from the problem)

-มุ่งประเด็นจุดสนใจหรือความต้องการไม่ใช่จุดยืน (Focus on interests not position)

-สร้างทางเลือกหลายทางเพื่อพิจารณา จุดสนใจหรือผลประโยชน์ร่วม (Invent options for mutual gain)

ยืนยันที่จะใช้เกณฑ์ที่วัดได้ในการวัดทางออกอย่างยุติธรรม (Insist on using objective criteria to measure fairness of outcomes)

คราวนี้ลองมาทำการบ้านกันดูดีไหมครับ

            ณ ชุมชนแห่งหนึ่ง มีโรงงานทำเครื่องสำอาง และองค์กรมูลนิธิเด็กดูแลศูนย์เด็กอยู่ วันหนึ่งทั้งสององค์กร คือ มูลนิธิฯและโรงงานได้ไปที่ร้านขายผลไม้ซึ่งมีอยู่ร้านเดียวและจำหน่ายผลไม้ที่ทั้งสององค์กรต้องการทั้งหมดที่มีอยู่ในร้าน ผู้ที่มาซื้อต่างไม่ยอม อ้างเหตุผลต่างๆว่าต้องซื้อเอาผลไม้นั้นไปทั้งหมดให้ได้

            ถ้าท่านเป็นพ่อค้าอยู่ท่านจะแก้ปัญหานี้อย่างไร....ลองมาแสดงความคิดเห็นกันดูนะครับ

            อาจารย์ยกคำถามขึ้นถามว่า บริษัทกำลังจะเจ๊ง ต้องลดค่าใช้จ่าย ลูกน้องมาขอขึ้นเงินเดือน ถามเหตุผลปรากฏว่าเมียเพิ่งคลอด นมเมียเล็ก นมไม่พอให้ลูกกิน ต้องซื้อนมผงให้ลูกกินจึงจำเป็นต้องขอขึ้นเงินเดือน  จุดยืนคือขอขึ้นเงินเดือนให้ได้ จุดสนใจอยู่ที่นมไม่พอ ทางแก้ต้องให้กินหัวปลี แกงเลียง เพราะจะทำให้มีน้ำนมมากขึ้น  คุณศุภชัย บอกว่าสงสัยต้องเลิกกินแกงเลียงแล้วละ เพราะกลัวจะมีน้ำนม ฮา....

            อาจารย์ยังย้ำว่า การเจรจาให้เขาถอยต้องไม่ให้คู่กรณีต้องเสียหน้า

            มีคำถามให้พวกเราลับสมองอีก คือ  มีเค้ก ๑ ชิ้น จะแบ่งให้ลูก แต่ลูกก็อยากจะได้เค้กชิ้นใหญ่ จะแก้ปัญหาอย่างไร  ลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ วันนี้มีการบ้านหลายข้อ

            อาจารย์ให้เล่นเกม ขออาสาสมัคร ๔ คน ผู้ชาย ๒ ผู้หญิง ๒  วางของแต่ละชนิด ๔ จุด ให้คนสี่คนเล่นเกม โดยให้ผู้ชาย ๑ คนยืนที่จุดและบอก ให้อีกคนหนึ่งจด ฝ่ายหญิงก็เหมือนกัน  แล้วอาจารย์จะถาม ว่าข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า เป็นอะไร แล้วเอาที่จดมาเทียบกัน และคำตอบที่ได้มาไม่ตรงกันเพราะคำถามใช้คำถามเดียวแต่คนตอบก็ตอบตามที่ตนเห็น เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อยืนกันคนละข้าง จะมองไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นข้อควรระวังในการเจรจาไกล่เกลี่ย

            ในการแก้ปัญหาถ้าไม่รู้จริงแล้วเข้าไปแก้มันอาจเกิดปัญหา อาจารย์เล่าให้ฟังว่าหมอเอาเครื่องมือแยงจมูกคนไข้ คนไข้ร้องไห้เพราะหมอไม่เคยมีประสบการณ์ว่ามันเจ็บ หมอบอกคนไข้ว่าไม่เจ็บ  ดังนั้นบอกว่าไปหาหมอเวลาหมอจะแยงอะไรก็ถามเสียก่อนว่าหมอเคยถูกแยงไหม ฮา.....และถามว่า ถ้าเราไปรพ.แล้วหมอจะแยงคุณจะทำยังไง ผมตอบว่า ผมจะแยงหมอก่อน...ฮ่าๆๆ

            หลักในการแก้ปัญหาความขัดแย้งให้มองอนาคต

            ความจริงที่อาจารย์บรรยายมันเป็นหัวข้อธรรมชาติของความขัดแย้ง กับ ทางเลือกในการจัดการกับความขัดแย้ง ซึ่งมันจะผสมปนเปกันไป  ในความขัดแย้งต่างต้องการแสวงหาความยุติธรรมคือการทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้อง   แต่ความยุติธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็การแก้แค้นและต้องการให้มีการชดใช้/ค่าตอบแทน ซึ่งมันเป็นการมองอดีต     แต่ถ้าเป็นการซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไข สมานฉันท์หรือฟื้นคืนดีหรือเยียวยา,ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  เป็นการมองอนาคต   และพยายามทำให้มั่นใจว่าสิ่งนั้นจะไม่เกิดอีกครั้ง

            บางครั้งเราชอบเหมารวมว่าถ้าเป็นพวกนั้นแล้วเชื่อได้เลยว่าเป็นคนไม่ดี อาจารย์เอากระดาษมาจุด ๑ จุด แล้วถามว่ามองเห็นหรือไม่ เราตอบว่ามองไม่เห็น  อาจารย์ก็เลยบอกว่าเหมือนกับพระกระทำผิดองค์เดียว ออกข่าวใหญ่โต พระที่เหลืออีกสองแสนองค์ เป็นไง คุณศุภชัย บอกว่ายังจับไม่ได้...ฮา.....

            หัวข้อที่ ศจ.วันชัย วัฒนศัพท์ สอนยังมีอีก เมื่อถึงเวลาที่อาจารย์มาสอนผมจะมาย่อยให้อ่านกันอีกครับ ก่อนเลิกเรียนวันนี้ ลุงเอกเชิญคุณทิพยวัลย์ ปิ่นภิบาล มากล่อมพวกเราเสีย ๒ เพลง ผลก็เป็นอย่างในภาพข้างบนนั่นแหละครับ..อิอิ

หมายเลขบันทึก: 192773เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2008 06:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีครับท่านอัยการ

  • บันทึกเป็นประโยชย์มากครับ อ่านแล้วเหมือนเป็นนักเรียนได้เรียนด้วย
  • ผมเป็นคนชอบการไกล่เกลี่ยอยู่แล้ว  บันทึกของท่านได้ตอกย้ำว่าความคิดผมถูกต้อง  ขอบคุณครับ

สวัสดีครับท่าน riceman

ผมก็ติดตามอ่านบันทึกของท่านอย่างเงียบและสนใจครับ

ผมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย แต่ทางอัยการเรียกว่าประนีประนอมข้อพิพาท มา ๒๐ ปีได้แล้วครับ ผมดูหัวข้อในการบรรยายทั้งชุดวิชาขาดอย่างหนึ่งครับ คือศิลปในการประนอมข้อพิพาท หรือศิลปในการไกล่เกลี่ย ครับ เดี๋ยวว่างๆผมจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

พี่หมอเจ๊อย่าลืมทำการบ้านนะครับ อิอิ

อรุณสวัสดิ์ค่ะ ท่านอัยการ

* วันนี้ทราบผล เขาพระวิหารแล้ว

* คะแนนการจัดเจรจาต่อรอง ฯ

* ท่านคิดเห็นอย่างไรคะ .. อิ อิ :)

ขอจองตัวท่านอัยการ

วันไหนที่ผมขัดแย้งกับใคร เช่น

ขัดแย้งกับแม่ยาย

ขัดแย้งกับคนสวยใจดำ

จะขออนุญาตไปหารือ

ไม่ทราบว่าต้อง มีบัตรคิว รึเปล่า

11-12 เจอกันนะขอรับ

ฝากกอดล่วงหน้า

บทเรียนตั้งแต่ต้น บันทึกได้ดีเหลือเกิน น่าลอกการบ้านที่ซู๊ด!

 

แยกคนออกจากปัญหา อย่าชี้หน้าด่าคน

หลักสูตรนี้เข้าท่า..แยกคนออกจากปัญหา

มิน่ารถยนต์เขาถึงทำเกียร์ถอยไว้  ถอยดีกว่า..

สวัสดีครับ

  • เห็นด้วยกับที่ท่านว่า ศิลปะในการเจรจา ต้องใช้จิตวิทยา และมีความเมตตาอย่างจริงใจ
  • เคยอ่านเรื่องเก่าๆ ของนักปกครอง (สมัยก่อนอาจจะเข้าถึงชาวบ้านมากกว่าสมัยนี้) จะมีเรื่องการแบ่งสมบัติมาเล่าให้ฟังหลายเรื่องเหมือนกันนะครับ
  • ความจริงเราก็มีเทคนิคทำนองนี้มาช้านาน แต่พักหลังนี้ยืมใช้จากตำราฝรั่งเสียมาก
  • อิๆ กล่อมเสียจนหลับ ;)

น่าคิด น่ารู้ ทั้งนั้น..เลยครับ.เรื่องที่..ท่านอัยการชาวเกาะนำมาเล่า..นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  • มาลงทะเบียนเรียน
  • ฮ่าๆๆ
  • พอพูดถึงพระ หลวงพี่ติ๊กมีอาการอย่างไรครับ
  • ตอนโดนกล่อมนี้หลับกันหมดเลย
  • พบอาจารย์แหวว ไหมครับ

สวัสดีค่ะท่านอัยการ

ตามมาอ่านต่อตามคำแนะนำค่ะ ขออนุญาตเรียนถามค่ะ

1. ตามที่ท่านอัยการเล่าว่าได้ทำหน้าที่ ประนีประนอมข้อพิพาท นั้น ระหว่างการทำหน้าที่ ฝ่ายอัยการเป็นผู้มีบทบาทชี้นำทางเลือก/ทางออกให้คู่กรณีหรือไม่คะ

2. หรือ เป็นผู้ดำเนินกระบวนการให้ทั้งสองฝ่ายหันมาเจรจากันจนเกิดข้อตกลงอันเกิดจากทั้งสองฝ่ายเอง โดยอัยการไม่ได้เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท

ขอบคุณนะคะ /อ้อยค่ะ

สวัสดีครับน้อง Poo

เขาพระวิหารเป็นของเขมรตามคำพิพากษาของศาลโลกอยู่แล้วครับ

ชาวตะวันออกถูกชาวตะวันตกอย่างฝรั่งเศสยัดเยียดประวัติศาสตร์ให้เราศึกษา ศึกษาไปศึกษามามันจะกลายเป็นว่าภาคอีสานของไทยเป็นของเขมรหมดแหละครับ กรรมการที่เป็นสมาชิกมรดกโลกพูดภาษาฝรั่งเศสกี่ประเทศก็ไม่รู้ แต่ศาลก็พิพากษาแล้วนี่ว่าท่านนพดล ปัทมะ ทำไม่ถูก แล้วจะแสดงสปิริตไหมละครับ...เฮ้อ...รัฐบาลว่าไงครับ....ท่านสมัครในฐานะผู้รับผิดชอบการบริหาร ว่าไงครับ....หรือจะชิมไปด่าไปต่อ...อิอิ

พ่อครูบาจะลอกการบ้านอย่าลืมเปลี่ยน font นะเดี๋ยวครูใหญ่จับได้ อิอิ

ในห้องมีน้ำดื่ม สบู่ นมกล่อง ถ้าพ่อครูไปถึงก่อนก็จัดการได้เลยครับ อิอิอิ เห็นป้าจุ๋มบอกว่าจะพาไปกินข้าวที่สนามหญ้าหน้าบ้านครับ

สวัสดีครับ อ.ธ.วั ช ชั ย

ทางภาคอีสานเขามีผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยที่เรียกว่า เจ้าโคตร (อาจารย์แกว่าหรือจะเรียกว่า "โคตรพ่อโคตรแม่" ก็ได้ อิอิ)เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่ลูกหลานเขาเคารพนับถือ จึงจัดการประนีประนอมได้สำเร็จ เพราะเป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้นและรู้ดีว่าไอ้นั่นลูกใคร ไอ้นี่ลูกใครครับ

สวัสดีครับ อ.พิสูจน์ สุขภาพแข็งแรงดีแล้วนะครับ

อ.ขจิตครับ

หลวงพี่ติ๊กโดดเรียนจากสำนักนี้ไปลาวครับ ไปในฐานะนักศึกษาอีกคณะหนึ่งครับ เลยไม่ได้ฟังเพลง อิอิ

สวัสดีครับพี่อ้อย

ผมขอตอบตามประสบการณ์ครับ

อันดับแรกผมจะเชิญคู่กรณีเข้ามาทีละฝ่ายให้เขาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด

อันดับสองผมจะถามความต้องการของแต่ละฝ่ายครับ

อันดับสามผมจะถามว่าถ้าอีกฝ่ายหนึ่งต่อรองจะยอมได้เท่าไหร่ ยอมอย่างไร

อันดับสี่จะถามว่ามีใครเคยช่วยประนีประนอมหรือยัง

และสุดท้ายจะถามความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคู่กรณี

ส่วนที่ผมจะอธิบายก็คือ หลักกฎหมายในเรื่องนั้นๆ อธิบายข้อแพ้ข้อชนะ กับอธิบายในแง่เชิงคุณธรรมจริยธรรม กรณีหลักกฎหมายนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ แต่อีกฝ่ายรู้สึกไม่เป็นธรรมกับเขา เช่น ที่ดินมีโฉนดของนาย ก.มีนาย ข.เอาไปหลอกขายให้นาย ค. โดยที่นาย ก.เองก็ไม่ได้เข้ามาดู นาย ค.ก็เข้าไปปลูกต้นไม้และอยู่อาศัยนาน ๙ ปีเศษ นายก .จึงรู้และบอกให้นาย ค.ออกไป นาย ค.จึงร้องขอความช่วยเหลือ กรณีนี้นาย ก.ยอมจ่ายค่าชดเชยให้เรื่องก็เลยตกลงกันได้ โดยไม่ชี้นำว่าควรเป็นอย่างนั้นควรเป็นอย่างนี้ เว้นแต่กรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบในข้อกฎหมาย ก็จะพูดกับฝ่ายที่ได้เปรียบให้เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งบ้างเท่านั้น แต่ไม่มีชี้นำ ให้เขาตกลงกันเอง ผมต้องระวังตลอดเวลาเพราะดีไม่ดีเขาเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็จะกลายเป็นว่าเพราะอัยการเข้าข้าง อิอิ

ในข้อ ๒.เมื่อผมรู้ความต้องการของทั้งสองฝ่ยแล้ว ก็จะกล่าวนำให้เขาลองตกลงกันดูว่าจะตกลงกันได้หรือไม่อย่างไร ในขณะเดียวกันก็ต้องพูดให้เห็นถึงคุณธรรม ว่าเขาปลูกพืชมานานและลงทุนลงแรงสร้างบ้าน ถ้ามาบอกแต่แรกเขาก็คงไม่สร้าง คงไม่จ่ายเงินซื้อ ฯลฯ พยายามหลีกเลี่ยงการชี้นำให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายมีแต่ชนะครับ แต่อธิบายหลักกฎหมายให้ฟังว่าใครผิดใครถูกนี่อธิบายครับ ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าชี้นำในความหมายของพี่อ้อยหรือเปล่าครับ

ขอบคุณค่ะท่านอัยการ เนื่องจากไม่มี ปสก.เรื่องการประนอมข้อพิพาทของทางศาล เคยเห็นแต่ห้อง (แต่ไม่จำเป็นขอไม่ต้องไปใช้นะคะ เพราะแปลว่า ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คงไม่สนุก อิอิ)

ที่เรียนถาม เนื่องจาก เวลาอ่านคำจำกัดความ คำว่า ประนอมข้อพิพาท(conciliation) กับ การไกล่เกลี่ย (mediation) จะให้คำจำกัดความต่างกันอยู่นิดส์ (ต้องออกเสียงแบบวัยรุ่นถึงต้องมี ส. หากทดสอบโทเฟลภาษาไทยตามที่ อ.ดร.ชัยอนันท์ ประกาศตามข่าวเมื่อไหร่ มีหวังตกกันตรึมแน่)อ้อยก็เลยสงสัยน่ะค่ะ ว่าเวลาปฏิบัติจริงๆ ทำอย่างไร

คำนิยามที่พูดถึง อันนี้อ้างอิงจากศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและความขัดแย้ง เล่มสีเขียว ของศูนย์สันติวิธ๊ฯ พระปกเกล้าน่ะคะ คิดว่า ท่านอัยการน่าจะได้รับแจกตอนเข้าเรียนนะคะ หากไม่ได้คงต้องทวง อ.เอกค่ะ เพราะอ้อยได้มาสามสี่เล่ม แจกจังงงงงง

และมีบางตำราของฝรั่งบอกว่า ฝั่งนักวิชาการอเมริกันใช้สองคำนี้แทนกันได้ แต่ส่วนอื่น เช่น ออสเตรเลีย ถือว่าต่างกันนิด ตรงที่ การประนอมข้อพิพาท บุคคลที่สามจะมีบทบาทชี้แนะ คือ จริงๆ คนๆ นี้ มีความเป็นกลางสำหรับคู่กรณี แต่อาจชี้แนะให้นำไปสู่ข้อตกลง โดยมีอิงหลักเกณ์ของ กม.

แต่ที่สุด ประเด็นสำคัญ น่าจะอยู่ที่สุดท้าย งานสำเร็จดีกว่านะคะ คำนิยามจะเอาไปไว้ตอนเขียนสอบ แต่หากยังงงๆ อยู่ มีคนชี้แนะว่า อย่าใช้เล้ย ดีที่สุด อ.จะให้ตก ฮ่าๆๆ

ขอบคุณจริงๆ ค่ะ ที่ชี้แนะ อ้อยค่ะ

  • วันนี้มา(แอบ)เรียนสายครับ
  • ปัญหาความขัดแย้งมากจากการมองจากจุดที่ตั้งของแต่ละคนนี่เองนะครับ
  • มีประโยชน์มากเลยครับ (แถมมีเกมที่พอจะนำไปปรับใช้กับชาวบ้านได้ด้วย... มองคนละมุม)
  • เสียดายตอนสุดท้าย หากว่าท่านอัยการชาวเกาะเป็นคนร้องเพลงละก็  หนาวแน่...อิอิ

อ.อ้อย ครับ ผมว่า อ.อ้อยกำลังเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการประนีประนอมข้อพิพาทของอัยการกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลนะครับ เพราะที่อัยการเราใช้ประนีประนอมข้อพิพาท ส่วนของศาลใช้การไกล่เกลี่ย คุณพ่อผมก็เป็นประธานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลจังหวัดพังงา และสามารถไกล่เกลี่ยได้ ๙๐ กว่า% จนได้รับประกาศนียบัตรครับ

ตอนที่ศาลเริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย เราก็งงๆกันอยู่ครับว่า เอ๊ะ แล้วมันแตกต่างกันตรงไหนระหว่างไกล่เกลี่ย กับการประนอมข้อพิพาท ศาลก็อธิบายว่าไม่เหมือน ผมก็ยังงงๆอยู่ แต่ที่แน่ๆคือเราทำเหมือนกับทำ KM ครับ คือไม่สนใจคำจำกัดความ แต่เน้นประสิทธิผลครับ เดี๋ยวจะไปค้นคำอธิบายภาษาไทยมาให้ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร เพราะผมมองไม่ค่อยออก หัวทึบ..อิอิ

อืมม์..ท่านสิงห์ป่าสัก หนาวอยู่แล้ว เวลาเรียนต้องสวมเสื้อคลุมไง..อิอิ

ขอบคุณค่ะท่านอัยการ เข้าใจคลาดเคลื่อนจริงๆ ค่ะ เพราะเคยไปแอบส่องที่ห้องของศาลค่ะ เลยนึกว่างานเดียวกันแหงๆ ฮ่าๆๆ อือม์ ต้องขอกลับไปส่องดูใหม่ค่ะ

ส่วนคำนิยามนั้น บางครั้งเราไม่มั่นใจในการใช้นะคะ เพราะเวลาเขียนหรือพูดออกไป หากความหมายต่างกันจริงๆ เราก็จะนำมาใช้แทนกันไม่ได้ เพราะ คนอ่านหรือคนฟังก็จะเข้าใจความหมายที่เราสื่อคลาดเคลื่อนไป อ้อยจึงสนใจตรงจุดนี้ด้วยเหตุผลนี้ค่ะ แต่ที่สุดเห็นด้วยค่ะว่าผลสัมฤทธิ์ คือสิ่งสำคัญ

ถ้าแบบนี้ไม่แน่ใจว่าอ้อยเข้าใจถูกหรือเปล่าคะ

1.การประนีประนอมข้อพิพาทของอัยการ จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนส่งคดีไปศาล หากอัยการอ่านสำนวนแล้วเห็นว่าพอคุยกันได้ระหว่างคู่กรณี ไม่สมควรส่งฟ้องศาล อัยการก็ประนีประนอมข้อพิพาทไป

2.ส่วนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาล อาจเป็นกระบวนการที่คดีถูกส่งฟ้องศาลไปแล้ว และศาลเห็นว่า คดีนี้ น่าจะไกล่เกลี่ยได้ก็ให้ไปคุยกัน เพื่อลดการตัดสินคดีของฝ่ายศาล

ดังนั้น ชั้นความต่างจึงอยู่ที่คดียังไม่ส่งศาล กับ คดีไปศาลแล้ว แต่ดึงออกมาคุยกันก่อนศาลตัดสิน

เอ หรือยิ่งเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่คะ ฮ่าๆๆ รบกวนชี้แนะค่ะ ขอบคุณค่ะ อ้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท