อ่านแล้วมาเล่า "วิจารณ์รื้อวิจารณ์ : ตำนานวรรณคดีวิจารณ์แนวรื้อสร้างและสืบสาน"


ผลงานมีคุณค่า ที่นำมาตีพิมพ์ใหม่

…เมื่อวานได้มีโอกาสเข้าร้านหนังสือ (เพราะไม่ได้ไปสัปดาห์หนังสือ ซึ่งหมดไปเมื่อวันอาทิตย์นี่เอง) เจอะหนังสือน่าสนใจหลายเล่ม แต่งบประมาณจำกัด จึงตัดใจซื้อมาได้เล่มหนึ่ง ซึ่งเคยเล็งๆ ไว้นานแล้ว แต่ก็ลืมๆ ไป วันนี้ได้เจออีกครั้ง จึงไม่รีรอ จ่ายไป 250 บาท พอหอมปากหอมคอ สำหรับหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กคุณภาพคับเล่ม ความหนาราว 300 หน้า

คนใหญ่เขียน คนใหญ่พิมพ์

ชื่อเรื่อง “วิจารณ์รื้อวิจารณ์ : ตำนานวรรณคดีวิจารณ์แนวรื้อสร้างและสืบสาน” เป็นผลงานของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา ผู้ที่อยู่ในแวดวงวรรณคดีย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับชื่อ และผลงานของนักวรรณคดีระดับบิ๊กท่านนี้ ผลงานที่อยู่ในหัวใจนักวิจารณ์วรรณคดี ก็วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การนำวรรณคดีวิจารณ์แผนใหม่แบบตะวันตกมาใช้กับวรรณคดีไทย” (สมัยนั้น ท่านยังใช้ชื่อ ชลธิรา กลัดอยู่) เป็นวิทยานิพนธ์ที่อ่านสนุกเล่มหนึ่ง นักเรียนนักศึกษาวรรณคดีต้องรู้จัก

ท่านยังเป็นหนึ่งในกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้า ที่ “เข้าป่า” หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยมีฐานที่มั่นในเทือกเขาแถบจังหวัดน่าน เมื่อ “ออกจากป่า” ก็ยังมีผลงานที่น่าสนใจ เรื่อง “บันทึกจากวนาถึงนาคร” ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา ผลพวงจากการใช้ชีวิตคราวนั้น ยังได้แรงบันดาลใจศึกษาสังคมชุมชนในเชิงมานุษยวิทยา หาอ่านได้จากหนังสือ “ลัวะเมืองน่าน” (บางท่านว่า ขมุ ไม่ใช่ลัวะ)

นอกจากนี้แล้ว ท่านให้ความสนใจเรื่องผ้าทอพื้นเมือง สิทธิชุมชน (และอื่นๆ)

สำหรับบรรณาธิการ ก็บิ๊กๆ เหมือนกัน เพราะมีชื่อชั้นถึง กวีซีไรต์ นามปากกา “ไพฑูรย์ ธัญญา” ชื่อจริงชื่อ รองศาสตราจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คงคุ้นชื่อกับผลงานกันดีนะครับ โดยเฉพาะผลงานที่ได้รับรางวัลซีไรต์ เรื่องสั้น “ก่อกองทราย” เมื่อ พ.ศ.2530

หนังสือเล่มนี้ออกแบบมาได้สวย เตะตาจริงๆ มีลายน้ำลายนูน สะอาดตา การพิมพ์ก็เป็นระเบียบ สวยงาม ในหน้าบทนำยังมีภาพพื่นหลังเป็นลวดเป็นลาย ดูน่าทะนุถนอมจริงๆ อ้อ เนื้อในใช้กระดาษถนอมสายตาด้วย หลายท่านคงมีเก็บไว้แน่ๆ เพราะหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่สิงหาคมแล้ว

เนื้อหา

ผลงานของอาจารย์ชลธิราในเล่มนี้ไม่ใช่งานใหม่ แต่เป็นการรวบรวมผลงานชิ้นเยี่ยม ที่เคยตีพิมพ์แล้วในอดีต ในช่วง พ.ศ. 2513 - 2522 มาตีพิมพ์ซ้ำ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้อ่านกันอีก เป็นที่น่าเสียดายว่า ผลงานที่มีคุณค่าจำนวนมากในอดีต เมื่อตีพิมพ์ไปแล้ว ก็ไม่ได้นำมาพิมพ์ซ้ำ นักอ่านในรุ่นหลังจึงไม่มีโอกาสได้พบได้เห็น การพิมพ์ซ้ำเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง

เรื่องที่คัดมาตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ มี ดังนี้

“ไตรภูมิพระร่วง คุณค่าเชิงวิชาการเรื่องเพศ รากฐานอุดมการณ์ทางการเมือง แหล่งบันทึกประสบการณ์และจิตไร้สำนึกร่วมของมนุษยชาติ” พิมพ์ครั้งแรก 2517

“ปมอีดิพัสจากวรรณคดีไทยบางเรื่อง” พิมพ์ครั้งแรก 2513

“ความก้าวร้าวของตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน : การวิจารณ์เชิงจิตวิเคราะห์” พิมพ์ครั้งแรก 2513

“สุนทรียภาพในลิลิตพระลอ” พิมพ์ครั้งแรก 2522

“ลิลิตพระลอ : การศึกษาวิจารณ์ตามแนวพุทธปรัชญา” พิมพ์ครั้งแรก 2519

ผลงานทั้งหมดนี้ เป็นการวิจารณ์วรรณคดีที่ลึกซึ้ง แผ่ทุกซอกมุมของวรรณคดี ด้วยแนวคิดใหม่อย่างที่ไม่ปรากฏมาก่อน มีเรื่อง “สุนทรียภาพในลิลิตพระลอ” เพียงเรื่องเดียวที่ดูไม่แปลกใหม่นัก แต่ด้วยฝีมือนักวิจารณ์ผู้ลุ่มลึก การวิจารณ์ย่อมไม่ธรรมดา

ทิ้งท้าย

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยเวลาไม่นานเท่าไหร่ เพราะบางส่วนก็เคยอ่านมาบ้างแล้ว รีบอ่านด้วยความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งคงต้องอ่านซ้ำอีกหลายๆ รอบๆ เช่นเดียวกับผลงานมีคุณค่าส่วนใหญ่ ที่ไม่อาจอ่านเพียงรอบเดียวได้

ใครควรอ่านหนังสือเล่มนี้, ใครก็ได้ ที่สนใจวรรณคดี สนใจภาษาไทย อยากรู้ว่ามีอะไรในแวดวงวรรณคดี ทำไมต้องวิจารณ์วรรณคดี และวรรณคดีน่าเบื่อจริงหรือ

ขอฝากถึงท่านอาจารย์ชล และคุณธัญญา ว่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ผลงานงามๆ หนังสือสวยๆ อย่างนี้ ต้องสะดุดกับคำผิดอยู่ไม่ขาดระยะ แทบทุกหน้า! บางหน้ามีคำผิดถึง 4-5 คำ ถ้าเป็นผลงานทั่วๆ ไป ก็น่าจะอภัยได้ แต่การตีพิมพ์งานคลาสสิกอย่างนี้ ของนักเขียนใหญ่ทั้งสองท่าน เล่มหนึ่งผิดแค่ 5 คำก็ถือว่ามากไปแล้วครับ.

หมายเลขบันทึก: 142968เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
  • สวัสดีค่ะ
  • อย่างงี้ คุณ ธวัชชัย
  • ก็น่าจะไปสมัคร เป็นฝ่ายพิสูจน์อักษร
  • ให้ทั้งสองท่านนะคะ
  • อิอิอิ
  • ว่าแต่สงสัยสำนักพิมพ์น่ะค่ะ
  • เค้าไม่ควรตรวจสอบก่อนหรือคะ
  • ก่อนการตีพิมพ์ ???        

 

  • ตามมาดู
  • แต่คุนชื่อเก่าอาจารย์มากกว่า
  •  ชลธิรา กลัดอยู่
  • ชอบหนังสือแนวนี้
  • สมัยก่อนสงสัยเป็นคนที่อยู่ชายขอบ
  • อิอิอิๆ

สวัสดีครับ P คุณกาแฟ อิๆ

ผมว่าอาจารย์ทั้งสองท่านคงไม่ได้อ่านบรู๊ฟสุดท้ายมั้งครับ ถ้าได้อ่านคงร้องไห้ (อาจจะร้องไห้ไปแล้วก็ได้)

แต่ว่าชอบการออกแบบ ปก และรูปแบบมากเลย ออกแบบได้สวยมากครับ

สวัสดีครับ P อ.ขจิต ฝอยทอง

พักหลังไม่ค่อยจะได้อ่านหนังสือแนวนี้กันเท่าไหร่

เป็นคนชายขอบเหรอครับ

ระวังตกขอบนะครับ อิๆๆ

 

  • สวัสดีครับคุณธวัชชัย
  • ขอบคุณที่แนะนำหนังสือดีๆครับ จะลองหาอ่านดูครับ
  • สำหรับการที่พบคำผิดจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องน่าคิดนะครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ P อาจารย์บัวชูฝัก

ผมว่าจะแนะนำหนังสือเป็นระยะๆ เพราะบางครั้งเจอะเจอะหนังสือน่าสนใจ ก็จะได้บอกเล่ากันฟัง

ด้วยพลังความคิดของและคุณค่าของหนังสือ ทำให้บดบังความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องการสะกด แต่ก็อดบ่นไม่ได้ครับ อิๆ

ขอบคุณที่แวะมาครับ

มาเยี่ยม...

เป็นมุมคิดโดนใจครับ...ที่ว่า...

แต่การตีพิมพ์งานคลาสสิกอย่างนี้ ของนักเขียนใหญ่ทั้งสองท่าน เล่มหนึ่งผิดแค่ 5 คำก็ถือว่ามากไปแล้วครับ.

  • มาเยี่ยม
  • กลัวตกขอบเหมือนกัน
  • ขอบหัวใจหรือเปล่า
  • อิอิอิๆๆ

สวัสดีครับ อาจารย์ P umi

ด้วยความที่ทำงานหนังสือ พอเจอตัวผิดก็อดหงุดหงิดไม่ได้ครับ ;)  แต่แนวคิดการวิจารณ์ของอาจารย์ชลธิราน่าสนใจ ซึ่งในปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีการวิจารณ์อย่างเอาจริงเอาจัง (เอาเป็นเอาตาย) กันสักเท่าไหร่

  • สวัสดีค่ะ  อาจารย์ ..

ใครควรอ่านหนังสือเล่มนี้, ใครก็ได้ ที่สนใจวรรณคดี สนใจภาษาไทย อยากรู้ว่ามีอะไรในแวดวงวรรณคดี ทำไมต้องวิจารณ์วรรณคดี และวรรณคดีน่าเบื่อจริงหรือ

เข้าข่ายเป็นใครก็ได้อยู่พอดีค่ะ   มีโอกาสจะต้องหามาอ่านให้ได้ ^_^

ขอบคุณนะคะ 

สวัสดีครับ คุณเนปาลี น่าจะหาอ่านได้ครับ ห้องสมุดก็คงจะมี หนังสือเชิงวิจารณ์วรรณคดีของอาจารย์ชลธิรายังมีหลายเรื่อง แต่พิมพ์ไว้เมื่อหลายปีก่อน ช่วงหลังจะนำมาพิมพ์ใหม่อีกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ท่านเขียนเรื่องสิทธิชุมชนของคนชายขอบ (แบบอาจารย์ขจิต อิๆ) ด้วย ถ้าเป็นงานเชิงค้นคว้า ท่านจะเขียนแบบเล่าเรื่อง อ่านเพลินครับ
  • แล้วจะไปหาอ่านบ้างคะ
  • ชอบลิลิตพระลอ
  • เพราะเคยถูกบังคับให้รำลาวเจริญศรีตอนเรียนมัธยม
  • อิอิเกี่ยวกันไหมคะนี่

คุณ P naree suwan

  • สวัสดีครับ  
  • ชอบลิลิตพระลอเหรอครับ ในหนังสือเล่มนี้ก็วิจารณ์ไว้ตั้งสองบท
  • แต่ไว้วันหลังจะเล่าถึงหนังสืออีกเล่ม ที่เล่าเรื่องพระลอได้น่าอ่านมากครับ
  • อุบไว้ก่อน อิๆ
  • ขอบคุณที่มาเยือนครับ
  • ผมอ่านหนังสือเล่มนนี้บ้างแล้ว
  • อ.ธัญญา  สังขพันธานนท์ ... เป็นอาจารย์ผมเอง  ท่านมีความสามารถหลากหลาย  ด้านการวิจารณ์ก็โดดเด่นเหมือนกันครับ
  • ส่วน อ.ชลธิราฯ นั้น  ต้องถือว่า  ชัดเจนเหลือเกินในแวดวงวรรณกรรม

สวัสดีครับ P อ.แผ่นดิน

  • หนังสือเล่มนี้อาจไม่ต้องอ่านทั้งหมดในคราว เพราะแบ่งเป็นบทๆ ไว้อยู่แล้ว ถ้ามีสมาธิ มีเวลา อ่านเล่นๆ เพลินๆ ก็ยังได้ หรือเก็บเผื่อใช้อ้างอิงก็ได้เหมือนกัน
  • อ.ชลธิราท่านเขียนเรื่อง ไป่เยว่ ไว้ แนววิเคราะห์สืบค้น คิดว่าอ.แผ่นดิน คงจะชอบ ถ้ายังไม่ได้อ่าน ก็น่าลอง ถ้าเคยอ่านแล้ว ก็คงอ่านเป็นครั้งต่อๆ ไปโดยไม่ต้องมีคนชวน ;)
  • เพิ่งซื้อมาอ่านนะครับ เล่มนี้
  • อิๆ เปิดดูหน้าปกรองไม่มีบอกว่าใครเป็นคนพิสูจน์อักษรนะครับ

เนื้อหาน่าอ่านค่ะ ...ปกสวยซะด้วยซิ ....

เอาไว้ไปเดินหาในงานหนังสือเดือนตุลาคมนี้ดีกว่านะ

ดีใจที่ชอบงานอ.ชลธิราค่ะ

สวัสดีครับ กวิน

  • อ่านสนุกดีนะครับ เรื่องพิสูจน์อักษร บก. ต้องรับผิดชอบครับ อิๆๆ ไว้ค่อยโทรหา อ.ชลธิรา ไม่ทราบอาจารย์จะว่ายังไง

สวัสดีครับ คุณนัทธ์

  • ปกสวยครับ รูปเล่ม ตัวหนังสือ จัดหน้า สวยงาม น่าอ่านครับ แต่คงยังหาซื้อได้ครับ

สวัสดีครับ คุณพี่Sasinanda

  • ตามอ่านงานของอาจารย์ชลธิราหลายเรื่องครับ บางเรื่องหาซื้อไม่ได้ยังเสียดาย อาจต้องไปหาถ่ายเอกสารจากห้องสมุดนะครับ

คุณนี่ระดับมืออาชีพเลยนะ

อยากเก่งเหมือนคุณจังเลย

เพิ่งหัดทำบล็อคทำแบบลองผิดลองถูกเลย

ขอแก้คำผิดนะครับ

อาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ครับ (ผมก็ศิษย์ท่านก็เลยพอจำได้ว่าท่านยังไม่เป็นรองศาสตราจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท