นานๆ ไปทำบุญที่วัดสักที...ก็ดีนะ...


คำว่า "บุญ" แปลว่า ความสุข ความดี ความสะอาด ความผ่องแผ้วแห่งจิต คำว่า "การทำบุญ" หมายถึง การทำกิจใดๆ เพื่อให้ได้บุญ คือ เพื่อให้ได้ความสุขกายสบายใจ กิจที่ทำนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น โดยถูกทำนองคลองธรรม สำหรับคำว่า "การ บำเพ็ญบุญ" มีความหมายเช่นเดียวกับ "การทำบุญ"

     เมื่อวาน (อาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒) ผู้เขียนมีโอกาสได้ตื่นเช้า เพื่อเตรียมตัวไปทำบุญที่วัดกับเพื่อนครู นับเป็นวันดีๆ อีกวันที่รู้สึกว่าสดชื่น กระปี้กระเปร่า และมีความสุข ตั้งแต่เช้า (...ถ้าได้สำรวจจิตตนเอง นั่นคือ วันนี้ใจเราเป็นสุขนั่นเอง)

     วัดที่เราไปทำบุญกัน คือ วัดป่าโพนทองคำ บ้านโพนทอง (ชาวบ้านเรียกว่า วัดป่าประมง) อยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร พอไปถึง...ศาลาพัก ก็เตรียมใส่บาตร... รอพระสงฆ์มาบิณฑบาตร หลังจากใส่บาตรเรียบร้อย ก็เดินตามพระสงฆ์ ไปที่ศาลาวัด ฟังเทศน์ สวดมนต์ รับศีล รับพร จากนั้นพอถึงเวลาพระฉันอาหาร (พระที่นี่ฉันอาหาร วันละ ๑ มื้อ) คณะก็เดินดูรอบๆ บริเวณวัด แล้วก็ไปรวมกันที่โรงอาหาร ร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน...มีคำพูดในวงข้าวว่า..."เราทำทานอาหารไม่กี่อย่าง แต่ได้รับประทานอาหารหลายอย่าง...ทำบุญแบบนี้ เห็นกันทันตาเลยนะ...(ฮา)" 

     เมื่อทำบุญแล้วรู้สึกเป็นสุขใจ วันนี้ผู้เขียนเลยไปค้นหาความรู้ เรื่อง "วิธีการทำบุญ" มาเผยแพร่ต่อ...จากหลายๆ แหล่งความรู้ เพราะวิธีการทำบุญ จริงๆแล้วมีหลากหลายวิธี...ลองไปดูว่า ตอนนี้เรามี กรรม (การกระทำ) ใดบ้างที่เป็น "บุญ" ในชีวิต

    “วิธีการทำบุญ”  โดย พระมหาวุฒิชัย วชิระเมธี (ว.วชิระเมธี)  วัดเบญจมบพิตรดุลิตวนาราม มหาวรวิหาร กรุงเทพ 

       การทำบุญ  คือ การทำคุณงามความดี  วิธีการทำบุญ ตาม บุญกริยาวัตถุ ๑๐ คือ การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ผู้กระทำ ได้แก่

        ๑.บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน (ทานมัย) คือ การเสียสละทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง กำลังกาย สติปัญญา ความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ จากจิตใจ

        ๒.บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (ศีลมัย) คือ การตั้งใจ และ ปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล เพื่อ ไม่เบียดเบียนกัน

        ๓.บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) คือ การอบรมจิตใจ ในการละกิเลส

        ๔.บุญสำเร็จได้ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย) คือ การให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ

        ๕.บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ การกระทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม หรือ จิตอาสา

        ๖.บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง

       ๗.บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า “สาธุ”

       ๘.บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรมทำความเห็นให้ถูกต้องจนเกิดปัญญา พยายามนำเอาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

       ๙.บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือ การนำธรรมไปเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น

      ๑๐.บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ เป็นสัมมาทิฏฐิ 

นอกจากนี้ บางตำรา ได้กล่าวว่า

        วิธีการทำบุญ เพื่อจะให้ได้บุญนั้น มีอยู่ ๓ วิธี โดยจำแนกตามจิต รวมเรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง" คือ .....

        ๑.ทานมัย วิธีการทำบุญด้วยการบริจาคทาน เป็นเรื่องของจิตเกี่ยวเนื่องกับสิ่งของที่จะทำทาน มีหน้าที่กำจัดกิเลสอย่างหยาบคือความโลภได้ ผู้ที่ได้บุญจากทานมัยย่อมเป็นคนกว้างขวาง เป็น ที่รักและเคารพของปวงชน สมานไมตรีกันไว้ได้ทุกชั้น ทั้งยึดถือประโยชน์ของคนที่มีทรัพย์ได้ด้วย เราจำแนกทานออกเป็น ๒ อย่างคือ 
           ๑.๑ อามิสทาน เป็นการสละทรัพย์ของตนแก่คนทั้งหลาย ด้วยอัธยาศัยเมตตาเผื่อแผ่ เช่น ถวายทานแด่พระภิกษุสามเณร คนชรา ขอทาน ผู้ตกยาก เป็นต้น 
           ๑.๒ ธรรมทาน เป็นการแนะนำสั่งสอนชี้แจงให้ผู้อื่นรู้จักบาปบุญคุณโทษ ให้วิชาความรู้ ดังพุทธภาษิตที่ว่า "สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ" แปลว่า การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ ทั้งปวง 

         ๒. สีลมัย  วิธีการทำบุญด้วยการรักษาศีล  เป็นเรื่องของจิตเกี่ยวเนื่องกับกายวาจา   สีลมัยมีหน้าที่กำจัดกิเลสอย่างกลาง คือความโกรธได้ ผู้ที่ได้บุญจากสีลมัยย่อมเป็นที่รักและเคารพของชนทั้งหลาย หมดความรังเกียจซึ่งกันและกัน ทั้งทำให้เป็นคนองอาจด้วย   สีลมัยจำแนกเป็น 
           ๒.๑ ศีล ๕ สำหรับสามัญชนทั่วไป 
           ๒.๒ ศีล ๘ หรือ อุโบสถศีล สำหรับอุบาสกอุบาสิกา 
           ๒.๓ ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร 
           ๒.๔ ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ 
ปกติคนที่ถูกโทสะครอบงำจิตย่อมจะเดือดร้อนใจ มักจะเสียความประพฤติทางกาย และ วาจา จำต้องรักษาศีลควบคุมกายวาจาให้สงบ ตลอดจนคลุมจิตใจให้เป็นปกติหายโทสะ จิตจึง จะเป็นบุญ 

         ๓. ภาวนามัย วิธีการทำบุญด้วยการภาวนา เป็นเรื่องของจิตอย่างเดียว ผู้ที่ได้บุญจากการภาวนามัย ย่อมเป็นคนหนักแน่นมั่นคง แม้กระทบกระทั่งอารมณ์ใดๆ ย่อมจะไม่หวั่นไหวไปตาม อารมณ์นั้นๆ การภาวนา เป็นการอบรมจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีและให้ฉลาด สำหรับคนทั่วไป ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียน หมั่นฟัง หมั่นคิด หมั่นท่องบ่นหลักวิชาการต่างๆ หมั่นสนทนากับ ท่านผู้รู้จนเกิดความฉลาด การภาวนาที่ละเอียดมากขึ้น ได้แก่ 
           ๓.๑ สมถภาวนา (สมถกัมมัฏฐาน) คือการทำจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว ด้วยการสำรวม ความระวัง และตั้งใจ 
           ๓.๒ วิปัสสนาภาวนา (วิปัสสนากัมมัฏฐาน) คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งในสังขารธรรมทั้งปวง ด้วยความฝึกฝน ความทรมาน ความดัดสันดานและด้วยความข่มใจ 
            ภาวนามัยเป็นข้อสำคัญที่สุดในบุญกิริยาทั้งหลาย เพราะยึดบุญกิริยานั้นๆ ให้คงอยู่ได้ด้วย แกนเหล็กที่ตั้งอยู่ ณ ภายในทำของที่หุ้มอยู่ ณ ภายนอกให้มั่นคงฉะนั้น อันความงามความดีที่ จะเป็นผล ซึ่งบุคคลที่ประพฤติให้ปรากฏออกภายนอกด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ต้องมีภาวนา เป็นสารอยู่ภายใน ย่อมเป็นไปดังสุคนธชาติ เป็นต้นว่า เนื้อไม้ที่อบไว้เป็นอันดี เพราะเหตุนั้น กุศลราศีที่บุคคลทำให้มีขึ้นโดยสนิทใจ ได้ชื่อว่าภาวนาเพราะใจความว่าเป็นเครื่องอบรมกุศล ให้มีขึ้นในสันดาน 

      ...เมื่อทราบ "วิธีการทำบุญ" เพื่อให้เกิด "ความสุข" แล้ว...ลองถามตัวเองว่า...วันนี้เราได้ทำบุญแล้ว หรือ ยัง  ?

      ก่อนกลับออกจากวัด เลยเก็บภาพบรรยากาศบางแห่งมาฝาก อาจไม่ค่อยชัดนัก เพราะถ่ายภาพจากกล้องโทรศัพท์มือถือ...

หมากเม่า ผลไม้ป่า ในวัดที่กำลังสุก... น่ากิน

มุมต่างๆ ในวัด ที่มีพรรณไม้ นานาพันธุ์

กุฎิพระสงฆ์ และบรรยากาศร่มรื่น สวยงามของหมู่บ้านชนบท

*_*

หมายเลขบันทึก: 282589เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2009 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  •  อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ
  • ขอบคุณ Alternative Aroud the world ที่แวะมา สาธุ นะคะ นับเป็น บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คะ
  • ขอบคุณ คุณ ชยพร แอคะรัจน์ ที่แวะมาร้างศรัทธาร่วมกันคะ นับเป็น บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คะ
  • ขอบคุณ คุณ catwoman  ที่แวะมาอนุโมทนาบุญคะ นับเป็น บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คะ
  • ขอบคุณอีกครั้ง ที่ทำให้ ผู้เขียน ได้มีโอกาส ทำบุญ อันเกิดจากบุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือ การนำธรรมไปเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น คะ
  • สาธุ สาธุ สาธุ
  • ขอบคุณ คุณ ครูอ้อย แซ่เฮ  ที่แวะมาอนุโมทนาบุญคะ นับเป็น บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คะ
  • ขอบคุณอีกครั้ง ที่ทำให้ ผู้เขียน ได้มีโอกาส ทำบุญ อันเกิดจากบุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือ การนำธรรมไปเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น คะ
  • สาธุ สาธุ สาธุ
  • *_*
  • ไปทำบุญแล้วใจเป็นสุข หน้าก็อิ่มบุญนะคะ

    • ขอบคุณ คุณNoo-on ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ

    เคยไป..เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วครับ ไปบ่อยมากๆ...เป็นวัดที่เงียบสงบ เจ้าอาวาสพระอาจารย์คำไม..ท่านเป็นพระผู้ที่เมตตา..ชาวบ้านก็ใจดี..ชอบครับ โดยเฉพาะงานทำบุญข้าวหลาม...(ญาติโยม จากมหาสารคาม)

    • สวัสดีคะ คุณโพธินทร์ บัวเรียน
    • ขอบคุณที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
    • และแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องประสบการณ์ดีๆ ที่ได้พบคะ
    • ^_^
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท