จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

จากสัมมนานานาชาติ


สามวันที่ผ่านมาอยู่ในห้องสัมมนาเป็นส่วนใหญ่ครับ ได้โอกาสทิ้งงานบริหารไปนั่งสัมมนานี่มีความสุขจริงๆ ครับ ฮา งานสัมมนานานาชาติ ซึ่งต้องถือว่าเป็นครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของวิทยาลัยอิสลามศึกษา (วอศ.) มอ.ปัตตานี ครั้งนี้ในหัวข้อ Role of Islamic Studies in Post Globalized Societies สำหรับ วอศ.แล้วในฐานะพี่ใหญ่ ซึ่งมีประสบการณ์มาไม่น้อยกว่า 30 ปีสำหรับอิสลามศึกษาในประเทศไทย งานนี้จึงเป็นงานที่เหมาะสมมากสำหรับการเป็นแม่งานครับ และความยิ่งใหญ่ของงานก็สามารถบอกได้จากนักวิชาการที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ครับ ไม่น้อยกว่า 14 ประเทศ ที่สำคัญฝ่ายสนับสนุนงานก็ต้องเรียกว่าที่สุดของประเทศละครับ คือท่านที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ศ.ดร.กนก วงค์ตระหง่า

ฟังจากการสัมมนา ผมคิดว่ามุสลิมเริ่มขับเคลื่อนไปจากจุดเริ่มแห่งการเคลื่อนไหวในยุคหลังแล้วครับ อันนี้ผมยึดเอาว่าการเคลื่อนไหวการศึกษาอิสลามยุคหลังเริ่มต้นจากการประชุมที่มักกะห์เมื่อปี 1977 เพราะ ณ เวลานี้การศึกษาของมุสลิมมิได้มองเพื่อมุสลิมเพียงอย่างเดียวแล้วครับ แต่โจทย์ใหม่ของปัจจุบันคือ แนวทางการศึกษาของอิสลามจะต้องเป็นแนวทางสำหรับการศึกษาของมวลมนุษยชาติ มุสลิมต้องมุ่งจัดการศึกษาเพื่อสร้างความสุขสำหรับการอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง และนำพามนุษย์สู่การเป็นมนุษย์มีสูงสง ซึ่งในมุมมองของผมสำหรับมุสลิมในประเทศไทยแล้ว เรื่องนี้ยังห่างไกลเป้าหมายมากครับ ตัวอย่างง่ายๆ คือ ก่อนเข้าประชุม มีรุ่นน้อง ป.เอก ท่านหนึ่ง (ไม่ใช่มุสลิม) ถามผมว่า พี่ครับ ที่มหาวิทยาลัยของพี่พอจะมีหลักสูตรสำหรับการให้คนต่างศาสนาอย่างผมได้รู้จักกับศาสนาอิสลามไหมครับ ผมอยากรู้อยากเรียน เพราะผมสอนเรื่องศาสนาเปรียบเทียบ คำตอบของผมคือ ยังไม่มีหลักสูตรแนวนี้ครับ แต่เราเคยจัดโปรแกรมพิเศษให้กับผู้ที่สนใจ และมีอาจารย์ที่ไปบรรยายให้กับสถาบันที่สนใจประเด็นนี้ (นี้เป็นสถานการณ์จริงกับเป้าหมายอันเป็นผลจากการสัมมนาในครั้งนี้ครับ) ที่สำคัญในโรงเรียนที่มุสลิมดำเนินการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยโรง ถ้านำจำนวนนักเรียนต่างศาสนิกมานับถึง ผมว่าเปอร์เซนต์มันน้อยน่าใจหาย  ขณะเดียวกันประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสามสิบปีของ วอศ. เคยผลิตนักศึกษาต่างศาสนาในสาขาวิชานี้กี่คน

(ถ่ายด้วยกล้องจากโทรศัพท์ i-mobile ie 6010 ซึ่งผมชอบความสะดวกและคมชัดของมันมากๆ )

ผมค่อนข้างสนใจกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยนานาชาติมาดีนะห์ ซึ่งเปิดดำเนินการในประเทศมาเลเซีย (แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมไม่เปิดที่ซาอุดิอารเบีย) เป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเปิดกว้างสำหรับการศึกษาอิสลามให้กับทุกกลุ่มของประชาคมโลกครับ

ข้อเสนอหนึ่งจากท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา (มอย.) ในการนำเสนอของท่านว่า ควรมีการสัมมนาด้านอิสลามศึกษาซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายศาสนา และสอดรับกับความเห็นของทางมหาวิทยาลัยอัลฮัซฮาร์ที่ว่า อัลฮัซฮาร์เคยจัดมาแล้วเหมือนกัน จึงเป็นการดำเนินงานในขั้นต้นสำหรับการผลักดันการศึกษาอิสลามไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อมองย้อนในประเด็นนี้ ผมคิดว่า มอย. ก็ยังไม่ได้เข้าสู่เป้าหมายของการจัดการศึกษาในแนวคิดนี้ เพียงแต่ขณะนี้เป็นเพียงการปูพื้นฐานในการก้าวเดินเท่านั้นเองครับ ดังนั้นกิจกรรมที่ผ่านๆ มาของ มอย. ซึ่งเป็นเพียงการนำเอามิติของความหลากหลายของศาสนามาอธิบายปรากฏการณ์หรือสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น เช่นในเรื่องของสันติวิธีของแต่ละศาสนากับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งหลายๆ เวทีที่เกิดขึ้นใน มอย.เองหรือที่ไปร่วมจัดกับสถาบันอื่น จึงมีการแลกเปลี่ยน สานเสวนาระหว่างศาสนามากขึ้น

เมื่ออิสลามคือความเมตตา (เราะมัต) ของอัลลอฮ์สำหรับมนุษยชาติ การจัดการศึกษาของมุสลิมจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้เป็นการมุ่งพัฒนาทุกคน ทุกกลุ่มสู่ความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ครับ และในมุมของนักการศึกษาก็ยิ่งจะต้องแสวงหากระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการจัดการในภารกิจสำคัญนี้

ผมกำลังรู้สึกว่า "เทคโนโลยีสารสนเทศ" เป็นเครื่องมือเดียวกันที่ทุกความหลากหลายสามารถหยิบมาใช้ประโยชน์ได้ นำสามารถนำมาเป็นเครื่องเชื่อมโยงเพื่อการประสานความแตกต่าง (ไม่ใช่เมื่อลดความแตกต่างนะครับ แต่เพื่อสร้างความสวยงามจากความแตกต่าง) อีกหนึ่งเครื่องมือที่มีการนำเสนอขึ้นในการสัมมนา เสมือนหนึ่งว่า มันจะต้องเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับอิสลามศึกษาในยุคต่อไปนี้ นั่นคือ "ภาษาอาหรับ" 

คำถามคือ "การสอนอิสลามศึกษา ทำไมต้องภาษาอาหรับ?" ผมฟังนักวิชาการท่านหนึ่งนำเสนอเหตุผลหลายประการครับ แต่ผมชอบเหตุผลหนึ่งมากที่สุด คือ เพราะภาษาอาหรับเป็นภาษาของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง ฟังข้อสรุปนี้อาจจะมีความเห็นแย้งครับ แต่เมื่อพิจารณาจากประเด็นต่อไปนี้ท่านอาจจะเห็นด้วยก็ได้ คือ มีภาษาใดบ้างในโลกนี้ที่คนที่แต่งหนังสือหลักการใช้ภาษานั้นไม่ใช่เจ้าของภาษาแต่กลับได้รับการยอมรับและนำไปใช้ คำตอบของนักวิชาการด้านภาษาท่านนี้ตอบว่า ไม่มีครับ ยกเว้นภาษาอาหรับ ซึ่งหนังสือหลักภาษาอาหรับที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนเขียนกลับไม่ใช่คนอาหรับ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของภาษาที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนที่เกิดในประเทศอาหรับ (ตัวอย่างเช่น ซีบาวัย ผู้เขียนตำราหลักภาษาอาหรับ ท่านไม่ใช่คนอาหรับครับ แต่ตำราของท่านถูกใช้ในการเรียนภาษาอาหรับทั่วโลก)

โจทย์เรื่องภาษาอาหรับถูกนำไปไว้ในปฏิญญาฟาตานีด้วยครับ ซึ่งได้ระบุว่า มอ.ปัตตานีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบบทบาทนี้สำหรับภูมิภาคอาเซียน โดยความเห็นส่วนตัวบอกไว้ว่า มองไม่เห็นวี่แววความสำเร็จเลยครับ ไม่ใช่ดูถูก มอ. นะครับ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า มอ.ปัตตานีเปิดสาขาวิชาภาษาอาหรับในระดับปริญญาตรีมากี่ปีแล้วครับ มีอะไรแสดงให้เห็นถึงการก้าวเดินไปข้างหน้าบ้าง ในขณะเดียวกันภาษาอาหรับสำหรับ วอศ.ก็เหมือนจะเป็นโจทย์ที่แก้ยากเอาการครับ (ไม่ได้สบประมาทเหมือนกันครับ แต่..) เอาเป็นว่าดูจากงานสัมมนาครั้งนี้ก็บอกได้ว่าทำยากครับ (พูดมาก พาลให้คนรังเกียจเอา)

ท้ายสุดของบันทึกนี้ ขอพูดถึงการจัดการสำหรับงานสัมมนานานาชาติครั้งนี้นิดหนึ่งครับ (หาเรื่องให้คนเคืองอีกแล้ว ฮิฮิ) ต้องบอกว่าในรอบ 5 ปีของผมในการเข้าร่วมการสัมมนานานาชาติที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวที่ผมรู้สึกว่าเป็นการจัดสัมมนาที่ "โด่ดเดี่ยวในความโดดเด่น" เพราะถ้าสังเกตจากฉากหลังและในปกเอกสารประกอบการสัมมนา จะเห็นว่ามี มอ. เป็นผู้จัดเพียงหน่วยงานเดียว แต่เวลาการนำเสนอจะอ้างอิงว่าจัดร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งโดยส่วนตัว (จริงๆ นะครับ) รู้สึกว่า งานสัมมนาจะมีมนต์ขลังเมื่อฉากหลักแสดงให้เห็นถึง "เครือข่ายความร่วมมือ" ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า มหาวิทยาลัยอัลฮัซฮาร์จะรู้สึกอย่างไรที่ไม่มีโลโก้ปรากฏบนฉากหลัง แต่ที่ตัวแทนได้นำเสนอบนเวทีก็น่าจะสะท้อนบางอย่างได้ครับ เขาพูดว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้มาจากความคิดของเขาที่เสนอต่อ ศ.ดร.กนก แล้ว มอ.ก็ได้รับมาทำ

โจทย์ของการจัดการศึกษาปัจจุบัน คำว่า "เครือข่าย" เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งครับ ถ้าจะเป็นผู้นำต้องรู้จักเข้าสู่การมีบทบาทในเครือข่าย ซึ่งความจริงเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการผมว่ามันทำกันหล่วมๆ ครับ ดังนั้นลักษณะการดำเนินงานจึงเป็นเรื่องของการนำเสนอวิสัยทัศน์ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือ และที่สำคัญคือการให้เกียรติกัน 

และอีกประเด็นครับ มาจากฉากหลัง ก็คือ ฉากหลังไม่ได้บอกว่า กิจกรรมนี้เป็นอะไร ไม่ปรากฏว่าเป็น international conference และปรากฏเฉพาะประเด็นหรือหัวเรื่องสำหรับการสัมมนาในครั้งนี้เท่านั้น แล้วก็สร้างโลโก้การสัมมนาจากประเด็น เลยคิดต่อว่า ในปฏิญญาระบุว่า ให้ มอ.จัดต่อเนื่อง สองปีครั้ง อือ แล้วสองปีข้างหน้า มอ.จะจัดโดยใช้หัวข้อเดิมแล้วใส่เป็นครั้งที่สองหรือ และโลโก้ที่ใช้จะไม่เปลี่ยนหรือ ซึ่งหากเปลี่ยนประเด็นในการสัมมนาอีกสองปีข้างหน้า นั่นหมายถึงโลโก้ที่ใช้แทนการสัมมนาก็ใช้ไม่ได้แล้ว ฮือ ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการสัมมนานานาชาติ

(ขออภัยหากอ่านบันทึกนี้แล้วสับสน เพราะผมฝืนเขียนในขณะที่ง่วงมากๆ )

หมายเลขบันทึก: 416152เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2010 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยกับอาจารย์

  • ครับอิสลามศึกษาเพื่อมวลมนุษย์และไม่มีลิขสิทธิ์
  • ดีครับถ้า มอ.สามารถสร้างศูนย์ภาษาอาหรับจริง ยิ่งมีมากที่ยิ่งดี มอย.มีมาแล้วสิบกว่าปี ก็ได้แพร่ไปบ้าง ผมคิดว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ที่เป็นห่วงคือกลัวเขาไปเล่นความสะดวกของการสื่อสารมากกว่าการที่จะให้ได้ความรู้ใหม่ เลยละเลยภาษาอาหรับ
  • ผมยืนยันแต่ต้นว่าจะเข้าใจอิสลามได้ดีต้องเข้าใจภาษาอาหรับ เพราะผมไม่เคยเรียนศาสนามาก่อนเลย(เว้นแต่ตาดีกาชั้นสอง) แต่ผมศึกษาศาสนาได้ทุกระดับเพราะผมอ่านหนังสืออาหรับเข้าใจ พูดและฟังภาษาอาหรับได้
  • เมื่อหลายปีก่อนผมไปมาเลเซีย ซื้อหนังสือหลักภาษามลายูสองเล่มที่แตกต่างกัน เพราะผมพูด-อ่าน-เขียนมลายูได้ แต่ผิดๆถูกๆ โดยเฉพาะตามหลักภาษา.. หนังสือที่ผมซื้อไม่ใช่คนมลายูแต่ง..เป็นคนจีน หรือว่าเขาเชื้อชาติมาเลย์เลยไม่นับว่าเขาเป็นคนชาติอื่น

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

  • ขอให้สุขสวัสดีตลอดปีใหม่นี้นะคะ

ขอบคุณครับอาจารย์ ibm และคุณยาย มีความสุขในทุกวันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท