จากซางคำถึงหมาน้อย (29)


ยายลืมตัว คิดว่าตัวเองอายุ 17

หมาน้อยเพื่อนรัก

         เฮ้อ! ไม่ได้คุยกันนานมากแล้วใช่ไหม วันที่ 29 กรกฏาคม 2551 ที่ผ่านมานายมีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมงาน "เติมความรู้ ต่อความดี  12 ปี ศูนย์อนามัยที่ 5 " หรือปล่าว เราขออนุญาตอาจารย์กลับไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆภายในงาน งานนี้เราปลื้มใจมากเลย น้องๆของเราทุกงานร่วมมือร่วมใจกัน ตอนเช้าแวะไปเยี่ยมชมโครงการ 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดีของงานส่งเสริมผู้สูงอายุ ซึ่งในวันนี้ได้พาผู้สูงอายุมาประกวด Fancy  " Active Aging" ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมประกวดก็เป็นผู้สูงอายุที่เคยเข้าร่วมโครงการ 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี นั่นแหละ ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ขออภัยที่เราจำชื่อไม่ได้ ท่านบอกว่า " โครงการนี้ทำให้ยายลืมตัวคิดว่า อายุ 17 แท้จริงอายุ 71 ปีแล้ว มันทำให้ยายไม่เหงา มีเพื่อนคุย แถมยังได้รับความรู้ เรื่องอาหาร การออกกำลังกาย เช่นยืดเหยียด หรือไม้พลองป้าบุญมี เวลาว่างๆก็ลุกขึ้นมาทำ มันก็ช่วยคลายความปวดเมื่อยได้บ้าง พอมาหลายๆครั้ง หมอเขาก็จะให้แต่ละคนมาเล่ากิจกรรมเมื่ออยู่ที่บ้าน ทุกคนก็จะช่วยกันเล่า สนุกมากเลย "  จากนั้นเราก็เข้าเยี่ยมชมงานผู้ป่วยใน ได้นำเสนอ " สายใยรักข้างเตียง โดยการนำลูกปัดมาร้อยรอบเตียงกันเด็กตกเตียง น้องพยาบาลบอกว่า ยังช่วยพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ด้วย เมื่อเด็กเล่น แถมที่สำคัญยังเป็นตัวล่อหลอกเด็กตอนจะฉีดยาด้วย " เห็นแล้วก็น่าภูมิใจในการพัฒนางานประจำ ให้เกิดนวตกรรมใหม่ๆ  ส่วนงานคลินิกเด็กก็ไม่น้อยหน้า จัดการแข่งขันให้เด็กคลาน  แข่งขันกินผัก  แข่งขันดื่มนมจากแก้ว และประกวดภาพวาด สายใยรักแห่งครอบครัว  กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ น้องพยาบาลเล่าว่า เป็นปัญหาที่เจอในคลินิก พบว่าเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัย ไม่ชอบกินผักและไม่ชอบดื่มนมจากแก้ว น้องๆเขาก็เลยเอากิจกรรมเหล่านี้เข้าไปสอดแทรกในการให้สุขศึกษากับพ่อแม่ด้วย พบว่ากิจกรรมเหล่านี้สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่กับตัวลูกน้อยได้อย่างดี

           หมาน้อยเพื่อนรักยังไม่หมดนะ คลินิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ยังอาศัยผู้สูงอายุที่ช่วยเลี้ยงไอ้ตัวเล็กมาช่วยกันถอดบทเรียนจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ งานนี้บอกว่า ดีมากเพราะแต่ก่อนพอแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงปู่ย่า ตายาย ก็พากันเอาน้ำ เอานมผงชงให้หลานกิน เราเลยได้มีโอกาสไปฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง แต่เป็นภาษาโคราช ก็ขอแปลงเป็นภาษาภาคกลางก็แล้วกันนะ ท่านบอกว่า กินแล้วก็เห็นอ้วนดี ไม่เห็นเจ็บป่วยอะไร ก็เลยเชื่อหมอว่าน้ำนมแม่ดีจริง แถมไม่ต้องเสียเงินซื้อนมผงอีก ประหยัดเงินไปได้เยอะเลย งานฝากครรภ์ก้ไม่น้อยหน้านะ ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แทนการให้สุขศึกษาจากเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียวในกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่  งานนี้ทั้งผู้มารับบริการฝากครรภ์ได้มามีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องวิธีปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ให้เพื่อนๆฟังแล้ว ยังได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่พยาบาลด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ของเราเองก็รู้สึกภาคภูมิใจในกิจกรรมนี้มากเลย อย่างเช่นการรับรู้เรื่องการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ของผู้มารับบริการดีขึ้น เพราะเป็นการถ่ายทอด 2 ทาง นอกจากนี้ยังได้รับรู้เกี่ยวกับความต้องการของผู้รับบริการ ความรู้สึกเช่นความกลัวจากการคลอด การน้อยใจสามี กลัวสามีจะมีเมียน้อย สามีซึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วยก็เข้าใจในภรรยาของตนเองมากขึ้น ขอเข้าร่วมเป็นกำลังใจให้ภรรยาในขณะคลอดด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้น้องพยาบาลเล่าว่า เมื่อก่อนไม่เคยใช้เทคนิคการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้ ทำตามตำราให้สุขศึกษาเสร็จก็ให้ผู้มารับบริการกลับบ้าน ไม่ได้มานั่งคุยอย่างนี้ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มารับบริการกับเจ้าหน้าที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้มารับบริการกล้าซัก กล้าถามมากขึ้น ทำให้รู้สึกดี 

        หมาน้อยเพื่อนรัก... ทางฝั่งนักวิชาการก็ไม่น้อยหน้านะ เริ่มตั้งแต่กลุ่มงานสนับสนุน ใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ สร้างมาตรการในการพิจารณาความดี ความชอบ การได้รับเงินโบนัส ทุกคนมีความสุขจากการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างมาตรการเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้มาจากผู้บริหารระดับสูงเหมือนปีที่ผ่านๆมา  งานสิ่งแวดล้อมก็ลดภาวะโลกร้อนในการลดขยะ นำขยะมาผันเป็นเงิน และทำน้ำ EM จากเศษอาหาร งานนี้ทุกคนในหน่วยงานได้ประโยชน์มากเลย เพราะเงินจากการขายขยะก็ถูกจัดสรรไปยังทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ทุกคนมีรายได้มากขึ้น นอกจากนี้งานเภสัชกรรม งานทันตกรรม ก็มีการนำเสนอบอร์ดนิทรรศการกับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในงาน แล้วเกิดความสำเร็จในงานประจำได้อย่างไร  นายเห็นไหมหล่ะว่าศูนย์อนามัยที่ 5  ของเราเดี๋ยวนี้ทุกคนใช้กระบวนการการจัดการความรู้เข้าไปในเนื้องานหมดแล้ว ตอนแรกเราก็รู้สึกผิดเหมือนกันที่ทิ้งโครงการไว้ให้ทุกคนทำต่อ แต่ตอนนี้เราดีใจที่เราได้มีโอกาสเห็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ศูนย์ทุกคนที่มีการใช้การจัดการความรู้ และทุกคนได้จับมือร่วมกัน สานฝันศูนย์อนามัยที่ 5 ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  งานนี้ที่เราเห็นยอดฝีมือท่านหนึ่งที่อยากให้นายรู้จักก็คือ แพทย์หญิงนงนุช  ภัทรอนันตนพ CKO คนใหม่ ที่ทุ่มเททั้งกำลังใจ กำลังกายและกำลังทรัพย์ให้งานนี้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ 

          ก่อนจากนะหมาน้อย หลังจากที่เรากลับมา เราก็ได้รับ message จากเลขาท่านผู้อำนวยการศูนย์ฯ คุณสินีนาฎ ทองอุไร เราอยากให้นายได้อ่าน เพราะเป็นคำขอบคุณจากท่านนายแพทย์สุเทพ  เพชรมาก ท่านผู้อำนวยการศูนย์เขต 5 ของเรา

                                 ขอขอบคุณในไมตรีที่มอบให้

                                ธารน้ำใจไหลหลั่งให้กับศูนย์ฯ

                             เติมความรู้ ต่อความดีช่วยเกื้อกูล

                                ช่วยเพิ่มพูนหนุนส่งกำลังใจ

                                พรเทวามงคลสิ่งศักดิ์สิทธิ์

                                 ดลนิมิตให้ท่านสุขสดใส

                               จะคิดการณ์เดินทางไปหนใด

                          ให้สมใจ ปลอดภัย....ทุกท่านเทอญ

           พอแค่นี้ก่อนนะ เพราะตอนนี้เราต้องทำงานส่งอาจารย์ต่อ

                                               ด้วยรัก

                                              ซางคำ

หมายเลขบันทึก: 198409เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2008 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เยี่ยมยอดเลยค่ะ

น่าชื่นชมมากๆ

อยู่ศูนย์อนามัยที่8 ค่ะ ว่างๆมาเยี่ยมกันบ้างนะค่ะ

ขอบตุณมากนะคะที่เข้ามาเยี่ยมชม

คุณหมอนนท์คะ ขอบพระคุณมากคะที่แจ้งข่าวให้นักเรียนทราบคะ...ดีใจจังเลยคะที่คุณหมอนนท์ยังคิดถึง แต่โจ้เข้า website ของกรมไม่ได้คะ ไม่รู้มีข้อขัดข้องทางเทคนิคอะไรหรือปล่าว แต่จะพยายาม ลองอีกหลายๆทีคะ เผื่อจะได้รางวัลไปเป็นค่าทุนการศึกษา ฮิ ฮิๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท