ผ้าย้อมครามแม่ฑีตา...ผ้าที่สูงค่ากว่าเงิน ตอนที่ ๒


"....การประกวด การให้ดาว ไม่ใช่ของจริง สิ่งสำคัญคือเรารู้ว่า เรากำลังทำอะไร เราทำงานของเราให้ดีที่สุด ให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ด้วยคุณภาพของงาน ลูกค้าจิ๋วซื้อผ้าจิ๋ว ใช้ของจิ๋ว เพราะรู้ว่าเป็นของเรา เขาดูที่หน้าจิ๋ว ไม่ได้ดูว่าผลิตภํณฑ์ของเราได้สี่ดาว ห้าดาวโอทอปหรือเปล่า.."

กว่าจะมาเป็นผ้าผืนงาม.....

ให้ชมผ้าชัดกว่าเมื่อตอนที่แล้วอีกนิดหนึ่ง

กระบวนการทั้งหมดที่เล่านี้มาจากความพากเพียรศึกษาของผ.ศ.อนุรัตน์ สายทองและทีมงานที่สามารถถอดรหัสภูมิปัญญาการทำผ้าย้อมครามโดยได้รับความเอื้อเอ็นดูจากชุมชนหลายแห่งในจังหวัดสกลนครที่แบ่งปันความรู้ให้อย่างไม่หวง เป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างน่าเอาเป็นตัวอย่าง

ตอนที่แล้วเล่าถึงกระบวนการทำผ้าย้อมคราม เริ่มตั้งแต่เก็บใบคราม แต่เช้าตรู่ก่อนน้ำค้างแห้ง ซึ่งต้องเป็นใบครามสดที่อายุประมาณ ๓-๔ เดือน

เมื่อเก็บมาได้เขาจะต้องรีบนำไปแช่น้ำให้ท่วมใบครามพอดีทันที แช่ไว้นาน ๑๘-๒๔ ชั่วโมง ไม่มากหรือน้อยกว่านั้นเพราะจะทำให้ได้ปริมาณสีครามน้อยกว่า

การแช่ใบครามสดในน้ำไม่ใช่การแช่ให้สีครามละลายน้ำดังเช่นการต้มเปลือกไม้ แต่เพื่อให้สารสองชนิดในใบครามสดทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสีครามที่ละลายน้ำได้ ถ้าเก็บมาแล้วปล่อยให้ใบครามแห้งไม่รีบเอาแช่น้ำ สารเคมีชนิดหนึ่งในใบครามจะเสียสภาพธรรมชาติ ไม่สามารถเกิดปฏิกิริยากับสารอีกชนิดหนึ่งได้ นำมาแช่น้ำอย่างไรก็จะไม่ได้สีครามขึ้นมา จะนำไปต้มก็ไม่ได้สีครามเช่นกัน

สีครามที่เกิดขึ้นในขั้นแรกนี้เป็นสีฟ้าจาง มีคุณสมบัติละลายน้ำ แต่มันจะทำปฏิกิริยากับอากาศอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสีครามสีน้ำเงินที่ไม่ละลายน้ำ ดังนั้นจึงเอาไปใช้ย้อมผ้าไม่ได้ เพราะสีจะไม่เกาะติดเส้นใยผ้า แต่ถ้านำสีครามสีน้ำเงินนี้ไปหมักในน้ำขี้เถ้าของไม้บางชนิด (ที่มีเกลือต่างๆปนอยู่)ในสัดส่วนที่พอเหมาะ และปรับความเป็นกรดเป็นด่างให้พอเหมาะ ด้วยการเติมน้ำต้มพืชที่ให้รสเปรี้ยว สีครามสีน้ำเงิน จะเปลี่ยนสภาพ หรือที่อาจารย์อนุรัตน์ใช้คำพูดเมื่อคุยกับชาวบ้านว่า "กลายร่าง" เป็นสีครามที่ไม่มีสี ภาษาวิชาการเรียกว่า indigo white มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ ละลายอยู่ในน้ำขี้เถ้า กลายเป็นน้ำย้อมสีเหลืองปนเขียว

สีครามที่ไม่แสดงสีนี้ที่จริงก็ทำปฏิกิริยาได้ดีกับอากาศเช่นกัน เราจึงเห็นผิวหน้าของน้ำย้อมเป็นสีน้ำเงิน แต่น้ำย้อมด้านล่างจะเป็นสีเหลืองปนเขียว สีครามที่ใช้ย้อมผ้าได้คือสีครามที่ไม่แสดงสีน้ำเงินของตนเองในสภาพนี้ผสมอยู่ในน้ำย้อมกับสารสีอื่นๆ ขั้นตอนนี้เรียกว่า "ก่อหม้อ" คนที่ชำนาญจะใช้เวลา ๗-๑๐ วัน น้ำย้อมที่เห็นเป็นสีเหลืองอมเขียวลักษณะเช่นนี้เขาเรียกว่า "หม้อมา"

จากนั้นจึงทำการย้อม สีครามในน้ำย้อม จะแทรกเข้าไปอยู่ในโครงสร้างของเส้นใยฝ้ายได้ดี เมื่อยกเส้นใยพ้นน้ำย้อม สัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ สีครามที่ไม่แสดงสี จะถูกทำปฏิกิริยาให้กลับกลายเป็นสีครามสีน้ำเงิน (indigo blue) ซึ่งไม่ละลายน้ำเหมือนเดิมเมื่อแรกเริ่ม ขังอยู่ภายในเส้นใย ช่างเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนชวนพิศวงในความทรงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน

การเตรียมเส้นใยที่สะอาดที่เปียกน้ำทั่ว จึงสำคัญเพื่อให้สีติดสม่ำเสมอ นอกจากนี้ หากเส้นฝ้ายไม่สะอาด เมื่อนำไปย้อมจะทำให้สีครามในน้ำย้อมเปลี่ยนไป ย้อมไม่ติด เป็นสาเหตุหนึ่งของ"หม้อหนี" หรือ "หม้อนิลหนี"

เส้นใยฝ้ายที่ย้อมเสร็จจะถูกนำไปล้าง ส่วนของสีครามที่ไม่เกาะฝ้าย จะหลุดออกเป็นละอองสีน้ำเงิน ไม่สามารถย้อนกลับไปย้อมจับติดเส้นใยได้อีก เราจึงเห็นลายมัดหมี่สีขาวของผ้าย้อมคราม ยังคงเป็นสีขาว ไม่เลอะสีคราม (ดังในภาพผ้าถุงของผู้กำลังย้อมเส้นฝ้ายที่มัดหมี่เห็นเป็นปล้องๆ)

การใช้ผ้าย้อมครามใหม่ๆอาจมีละอองเม็ดสีหลุดออกมาบ้าง แต่ซักไปราวสองสามครั้งก็จะอยู่ตัว ละอองที่หลุดออกมานี้หากไปโดนผ้าสีอ่อนชิ้นอื่นก็จะไม่ไปจับตัวกับเส้นใยผ้าได้อีก เพราะมันมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ

ดังนั้นเราสามารถกล่าวได้อย่างมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า ผ้าครามนั้น "สีไม่ตก"

คุณสมบัติพิเศษอีกประการที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยยืนยันทั้งในอเมริกาและญี่ปุ่นก็คือ การที่ผ้าย้อมครามสามารถป้องกันผิวของผู้สวมใส่จากรังสีอุลตราไวโอเลตได้

การที่เขาใช้หม้อดินหรือโอ่งดินทำหม้อคราม เพราะน้ำย้อมที่เย็นจะย้อมติดสีครามได้ดีกว่า และโอ่งดินนั้นระบายความร้อนทำให้อุณหภูมิของน้ำย้อมเย็นกว่าปกติ เวลาที่เหมาะในการลงมือย้อมครามคือตอนเช้าและตอนเย็น

การดูแลน้ำย้อมในหม้อคราม ให้ย้อมได้ทุกวัน เช้า-เย็น ติดต่อกันนานๆเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำสีคราม แต่ถ้าช่างย้อมเข้าใจสีครามและหมั่นสังเกต อีกทั้งซื่อตรงสม่ำเสมอในการปฏิบัติ เหมือนปฏิบัติธรรม จะสามารถดูแลหม้อครามแต่ละหม้อได้นานหลายปี

ที่เล่ามานี้เป็นอย่างย่นย่อที่สุด

ความยุ่งยากของการย้อมครามทำให้ฝรั่งเลิกใช้ครามในการย้อมและการพิมพ์มานาน (คอยซื้อจากเราก็ดีแล้ว) คือเดิมชาติล่าอาณานิคมได้ให้ประเทศเมืองขึ้นของตนในอาฟริกาผลิตผงครามและขนส่งเอาไปใช้ที่ยุโรป พยายามอยู่นาน จนสรุปว่า "Indigo does not bond strongly to the fiber, and wear and repeated washing may slowly remove the dye." (Wikipedia : http://en.wikipedia.org/wiki/indigo_dye (11/09/04) หรือสีครามนั้นไม่ติดแน่นคงทนอยู่บนเส้นใยและการสวมใส่และซักหลายๆครั้งจะทำให้สีค่อยๆหลุดออกไป

สิ่งที่สังคมตะวันตกประสบนั้นตรงข้ามกับสิ่งที่ชาวบ้านอีสานค้นพบมาหลายร้อยปี

เมื่อฝรั่งไม่มีความอดทนค้นพบเคล็ด หรือ รหัสลับตรงนี้ จึงเบื่อที่จะใช้สีคราม และประมาณปีพ.ศ. ๒๔๒๓ หรือ ค.ศ.๑๘๘๐ มีการประดิษฐ์ครามสังเคราะห์ขึ้นได้ที่เยอรมันนี และนำมาผลิตเป็นการค้าในปี พ.ศ.๒๔๓๖ หรือ ค.ศ. ๑๙๑๓ และหลังจากนั้นโลกตะวันตกก็ใช้สีครามสังเคราะห์แทนที่สีครามจากธรมชาติ

คนไทยไม่เพียงรู้เคล็ดลับเรื่องการย้อมคราม แต่ยังรูจักใช้ประโยชน์แม้จากกากครามที่ไม่สามารถใช้ย้อมผ้าต่อไปได้แล้ว คุณจิ๋วเล่าให้ฟังว่า กากครามที่เหลือจากการย้อมผ้าแล้ว ส่วนหนึ่งเขาจะนำไปโปรยในแปลงข้าวไล่ปูไม่ให้มากัดกินต้นข้าว ส่วนหนึ่งเขาจะนำไปโปรยในแปลงที่เตรียมไว้ให้เกิดเป็น"เห็ดคราม"อันแสนอร่อย"

ญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายสำคัญของผ้าคราม ผู้เขียนเคยพบสาวญี่ปุ่นที่หลงเสน่ห์ผ้าครามแม่ฑีตา มาร่วมประชุมกับกลุ่มชาวบ้านผู้ผลิต เธอชื่อยูกิโกะ เป็นผู้ค้าหัตถกรรมด้านผ้าโดยเฉพาะผ้าคราม เธอจะท่องเที่ยวไปหลายประเทศ เมื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์ได้มากพอ ก็จะกลับไปญี่ปุ่น จัดนิทรรศการสิ่งที่ไปรวบรวมได้มา คนมาดูกันเสร็จแล้วจึงขาย เธอเล่าว่าผ้าย้อมครามของแม่ฑีตานั้นมีความโดดเด่นจากผ้าย้อมครามของที่อื่นๆ ซึ่งบรรดาลูกค้าของเธอก็รู้สึก และถามเธอว่ามีอะไรพิเศษ เกี่ยวกับผ้าย้อมครามของแม่ฑีตา เธอตอบไม่ได้ รู้สึกแต่ว่าผ้านั้นมีพลังมาก ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้  จึงมาฝากตัวเป็นศิษย์แม่ฑีตาขอเรียนรู้เรื่องการทำผ้าย้อมคราม ซึ่งแม่ฑีตาก็ใจดีสอนให้ ยูกิโกะจึงมาที่บ้านนาดีปีละหลายครั้ง มากิน มานอน มาเรียนการทำผ้าย้อมคราม และการทำนาด้วย

คนเฒ่าคนแก่เอ็นดูที่สาวๆอย่างยูกิโกะสนใจเรื่องเหล่านี้ ซึ่งหายากที่จะมีลูกหลานคนไทยสนใจเรียน ชาวบ้านไม่ได้หวงความรู้เลย แต่คนที่ทราบเรื่องนี้แล้ววิตก คือคนคนกรุงเทพ ด้วยเกรงว่าไปสอนคนต่างชาติเดี๋ยวเขาก็จะมาแย่งงานเราไปหมด แต่ชาวบ้านกลับคิดว่า ความรู้เรียนแล้วไม่เอาไปปฏิบัติก็ไม่เกิดประโยชน์ หากเขารู้เรื่องแล้วไปทำก็เป็นเรื่องดี ไม่ว่าอะไรหรอก

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามว่า เราจะช่วยกันรักษาความรู้ของชุมชนไม่ให้ตกอยู่ในมือของผู้มาคิดตักตวงได้อย่างไร (ไม่ได้หมายถึงคุณยูกิโกะ นะคะ)ไม่เฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น คงต้องหากลไกป้องกันความรู้และทรัพยากรของชาติที่จะไหลไปต่างประเทศ แต่ไม่ควรจะทำให้ชาวบ้านเกิดความโลภ หวงวิชา ซึ่งจะทำให้เสียคุณค่าพื้นฐานของสังคมไทยไปในการมีความเมตตาโอบอ้อมอารีและแบ่งปันกัน

...จากพื้นที่เล็กๆที่บ้านนาดี แต่ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงสองคน ที่คิดจะฟื้นฟูผ้าย้อมคราม เริ่มต้นจากสองหัวคิด...ในขณะที่คนอื่นๆละทิ้งการทำผ้าย้อมครามไปหลายสิบปี ไปปลูกพืชไร่ ปลูกแตงโม สองแม่ลูกไม่ย่อท้อที่จะสวนกระแสด้วยเห็นในคุณค่าแห่งภูมิปัญญา เริ่มต้นจากคราม ๓๐ ฝักจากสวนแตงโมร้าง แสวงหาและเรียนรู้ ตั้งแต่การเพาะและปลูกคราม เรียนรู้กระบวนการก่อหม้อคราม ย้อมฝ้ายเข็นมือ ทดลองแล้วทดลองเล่า ปีแล้วปีเล่า จนตกผลึกความรู้ทั้งคุณภาพของผ้าย้อมคราม มั่นใจว่าสีไม่ตก พัฒนาลวดลายและการตลาดจากสองพลังสมองและพลังใจ การทำงานตลอดปีค่าแรงแพง ได้งานไม่กี่ชิ้น ชวนชาวบ้านมาช่วยกันเริ่มแรกก็ได้รับการปฏิเสธ (เมื่อเห็นความสำเร็จแล้วจึงพากันมาขอเข้ากลุ่ม) อุปสรรคมากมาย

จนถึงวันนี้การบูรณาการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ก้าวพ้นปัญหาทางเทคนิค  รูปแบบผ้าถูกพัฒนาสนองความต้องการของลูกค้า มีการสร้างลายจากการสลับเส้นฝ้ายที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติอื่นๆ มีการสร้างรูปแบบผ้าที่สนองความต้องการตลาดต่างประเทศที่สั่งซื้อเข้ามา มีสมาชิกกลุ่มกระจายอยู่ตามหมู่บ้านใกล้เคียง มีระบบบริหารจัดการที่เป็นระบบขึ้น

ผ้าของแม่ฑีตานั้นไปดังในตลาดอิตาลีที่มีนักออกแบบอิตาเลียนสั่งผ้าย้อมครามไปใช้ในการทำเสื้อผ้าแฟชั่นของเขา

อย่างไรก็ตามอาจารย์อนุรัตน์บอกว่าการทำงานตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เป็นงานที่เคร่งครัด รัดตรึง สร้างความอึดอัดให้สมาชิกที่เคยใช้ชีวิตเสรี สร้างงานบนความคิดและจินตนาการของกลุ่ม ดังนั้นกลุ่มจึงรับงานจากต่างประเทศจำนวนจำกัด เพื่อความเป็นไท และสุขภาพจิตที่ดีของสมาชิก

กระแสของทุนนิยมที่ให้ผลิตปริมาณมากๆ ขยายตลาดให้กว้างไกลแบบนโยบายโอทอปจึงไม่ได้ทำให้แม่ฑีตา คุณจิ๋วและกลุ่มเสียสมดุลย์ชีวิต คุณค่าแห่งความสุข ความพอเพียง ความรู้จักตนเอง จึงสะท้อนและเปล่งประกายพลังแห่งชีวิตอยู่ในเส้นใยที่ถักทอเป็นผืนผ้า เป็นความสุขทั้งจากผู้ทำผ้าย้อมครามและผู้รักที่จะสวมใส่ผ้าไทยที่แสนพิเศษนี้

"....การประกวด การให้ดาว ไม่ใช่ของจริง สิ่งสำคัญคือเรารู้ว่า เรากำลังทำอะไร เราทำงานของเราให้ดีที่สุด ให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ด้วยคุณภาพของงาน ลูกค้าจิ๋วซื้อผ้าจิ๋ว ใช้ของจิ๋ว เพราะรู้ว่าเป็นของเรา เขาดูที่หน้าจิ๋ว ไม่ได้ดูว่าผลิตภํณฑ์ของเราได้สี่ดาว ห้าดาวโอทอปหรือเปล่า.."

ท่านที่สนใจจะไปชมผ้าแม่ฑีตาที่กรุงเทพ คุณจิ๋วเพิ่งบอกข่าวมาว่า วันที่ ๗-๑๕ กรกฎาคมนี้ จะมาร่วมงาน OTOP Mid-Year Sale ที่ Impact เมืองทองธานี ขอเชิญไปชมกันได้ และสงสัยผู้เขียนอาจได้มีโอกาสพบท่านสมาชิก G2K ในงานก็เป็นได้นะคะ

หมายเลขบันทึก: 108039เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

สวัสดีครับอาจารย์

  • รีบแจ้งข่าวว่ามาอ่านแล้ว  อ่านช้าๆ แบบ Deep Reading ครับ
  • อ่านเร็วกลัวเก็บได้ไม่หมด 
  • สาระนั้นไม่มีปัญหาครับ  แต่ที่ต้องอ่านช้าๆเพราะต้องหยุดเก็บเกี่ยวความรู้สึกเป็นระยะ 
  • เหมือนเดินชมแมกไม้ อดไม่ได้ที่ต้องหยุดมองหรือสัมผัสดอก-ใบที่งามและต่างจากที่เคยพบเห็น
  • มีพิมพ์ตกหล่น เล็กๆ สองสามจุดครับ  เดี๋ยวจะมาแจ้งการพิสูจน์ความจริงว่าอ่านช้าๆจริงๆครับ.

    ช่วยพิสูจน์อักษร และพิสูจน์ว่าอ่านช้าๆจริงครับ  และ นี่คือเล็กๆน้อยๆที่เจอครับ

  • เริ่มตั้งแต่เก็บใบคราม แต่เช้าตรู่ก่อนนำค้างแห้ง
  • คณสมบัติพิเศษอีกประการที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
  • อาจารย์อนุรัตน์บอกว่าการทำงานตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เป็งานที่ เคร่งครัด

เดี๋ยวพรุ่งนี้จะเอารูปสูทที่ตัดจากผ้าย้อมครามมาให้ดูค่ะ พอดีแขวนเก็บอยู่ที่ออฟฟิศ วันนี้ไม่ได้เข้าไป ว่าจะถ่ายภาพเอามาลองให้วิจารณ์เรื่องแบบดูค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ Handy P ต้องขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่อาจารย์กรุณาอ่านละเอียดและพิสูจน์อักษรให้ด้วย

เรื่องผ้าย้อมครามแม่ฑีตาเรื่องเดียวก็ได้สอนอะไรให้ตัวเองได้มากมาย หากไม่ใช่ความสามารถของอาจารย์อนุรัตน์ที่ทำให้เข้าใจและอธิบายกระบวนการทางเคมีในการย้อม คงจะต้องมึนงงกันต่อไปว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรนะคะ

ประทับใจในการเรียนรู้ร่วมกันของนักวิจัยและชุมชนมากค่ะ ที่แตกต่างจากงานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากที่ต้องการรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน เพื่อแค่ประโยชน์ทางวิชาการหรือเทคนิค ทำให้นึกถึงคำกล่าวของCarl Gustav Jung ที่ว่า:

The meeting of two personalities is like the contact of two chemicals substances. If there is any reaction, both are transformed.

 

 สวัสดีค่ะคุณLitllte JazzP นอกจากดีใจที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่ชอบในสิ่งเหมือนๆกัน ยังดีใจที่มีคนไทยสมัยใหม่ที่เห็นคุณค่าผ้าไทย มาช่วยกันทำให้ความรู้ ความงาม ความดี ทั้งของผ้าและคนทำผ้าปรากฏ

การออกแบบที่ดีทำให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้หันมามอง และนึกออกว่าจะใช้ผ้าไทยสวมใส่ได้อย่างไร อยากได้ชื่นชมงานออกแบบของคุณ แต่จะมีความรู้ในการให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์หรือเปล่าไม่แน่ใจนะคะ จะลองดูค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณพี่คุณนายดอกเตอร์

อ่านแล้วนับถือและภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทยในเรื่องย้อมครามมากๆ เลยค่ะ

อ่านแล้วรู้สึกจริงๆ ว่าผ้ามีพลัง.. ตัวอย่างผ้าในรูปก็สวยมากๆ เลยค่ะ

ขอบคุณที่นำมาฝากกันนะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วรู้สึกภูมิใจมากๆเลยค่ะ กับภูมิปัญญาของคนไทย ขนาดฝรั่งยังถอย

วันที่ ๗-๑๕ กรกฎาคมนี้ ไปชมแน่นอนค่ะ ชื่อร้านว่าอะไรนะคะ จะได้ตรงดิ่งไปเลย

ขอบคุณมากสำหรับเรื่องดีๆเช่นนี้ค่ะ

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนนะคะว่าไม่ได้เป็นผู้ออกแบบผลงาน เพราะไม่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเสื้อผ้าเลย พอทำได้นิดหน่อยเท่านั้น
ผลงานชุดนี้กลุ่มแม่บ้านที่สกลนครเป็นผู้จัดทำตามโจทย์ที่ให้ไป วัตถุประสงค์เพื่อต้องการดูเนื้อผ้า การทอ และการตัดเย็บ ขั้นตอนต่อจากนี้ถึงจะส่งไปยัง Designer ให้ออกแบบเป็นเสื้อผ้าอีกที จากนั้นค่อยเริ่มทำการตลาดค่ะ คิดว่าถ้านำไปตัดเย็บผสมกับผ้าชนิดอื่นน่าจะทำให้ดูดีขึ้น รวมถึงตกแต่งด้วยของประดับบางอย่างก็อาจจะทำให้ลดความดิบลงได้ค่ะ

ตอนนี้ข้อบกพร่องที่พบก็คือ น้ำหนักของผ้ามาก การทอยังไม่ปราณีต และมีกลิ่นดิบๆ พอสมควรค่ะ รบกวนช่วย comment ตามตรงเลยนะคะ อยากทราบ feedback ของคนที่ได้เห็นว่ารู้สึกยังไง รวมถึงอยากได้ไอเดียเพิ่มเติมถ้าไม่เป็นการรบกวนมากเกินไปนะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะอาจารย์นุชคะ

น้อง Little Jazz \(^o^)/ คะ

ตัวบนสุดดูเท่ห์ดีค่ะ  แต่ดูจะน้ำหนักมากหน่อย ถ้าใส่แบบเป็นการเป็นงานหน่อยก็ดี

คิดว่า อยากให้มีของแต่งหน่อย เช่นกระดุม

นอกจากสูทแล้ว มีแบบอื่นไหมคะ ที่ใส่สบายๆ และดู casualหน่อย

อยากบอกว่า อาจต้องมีdesignerมาช่วยหน่อยก็ดี จะไปได้ไกลมาก เพราะสีผ้า สวยค่ะ  สีน้ำเงินไม่มีวันตกยุค

สวัสดีค่ะอาจารย์กมลวัลย์P หากอยากชื่นชมของจริง ได้พบคนทำจริง ไปดูในงานที่เมืองทองนะคะ คนทำผ้าคงดีใจที่มีคนชื่นชมความรู้ ความสามารถ ความตั้งใจของเขา

หากจะไปวันไหนบอกกันล่วงหน้าบ้างนะคะเผื่อได้พบกัน โทรศัพท์พี่หมายเลข 085 909 5955 ค่ะ

 คุณLittle JazzP คะ ตัวเองคิดว่าผ้าในแนวTraditional เวลามาทำให้คนสมัยใหม่สวมใส่ ลวดลายที่คลี่คลายนั้นดีแล้ว แต่รูปแบบเห็นด้วยกับคุณพี่ศศินันท์Pที่ว่าควรให้เป็ยแบบcasual คือให้ออกแนวเท่ไปเลย หากตัดในแบบที่เน้นความเนี๊ยบ จะไปติดที่เห็นความหนา มีน้ำหนักของผ้ามาก ชัดเจน นักออกแบบที่เก่งๆเมื่อนำผ้าแนวนี้ไปใช้จะไปในแนวที่พี่ว่าแทบทั้งนั้น่ค่ะ และการใช้วัสดุประกอบพวกกระดุม หรือของตกแต่งเพิ่มความเก๋จะทำให้น่าดึงดูดใจ

แบบที่ส่งมาให้ดูมันออกแนวธรรมดา เรียบเกินไป หากจะดึงดูดผู้ซื้อที่อายุยังไม่มาก อยากให้ลองแวะไปดูเสื้อผ้าร้าน The Golden Triangle จะทำให้มองเห็นแนวทางการนำผ้าพื้นเมืองเข้าสู่ตลาดสากล คนออกแบบต้องได้เห็นมากจึงจะเข้าใจ ให้ชาวบ้านออกแบบไม่ได้หรอกค่ะ เขาจะไม่เข้าใจเพราะไม่เคยใช้ในแนวที่คนเมืองใหญ่คุ้นเคย หรือชอบ

คุณพี่ศศินันท์คะP หากจะไปวันไหนลองบอกกันบ้างนะคะเผื่อว่ามีโอกาสได้พบกัน แต่ถ้าจะไปตามฤกษ์สะดวกก็ไม่เป็นไรค่ะ เบอร์โทรศัพท์ของนุช 085 909 5955 ค่ะ ร้านของคุณจิ๋ว เขาก็ตั้งชื่อว่า "แม่ฑีตา"ค่ะ

ขออนุญาตบอกไว้ตรงนี้เลยค่ะ สำหรับผู้ที่ต้องการไปชม ไปซื้อหาผ้าร้านแม่ฑีตา จะโทรมาคุยกันก่อนได้นะคะ เผื่อมีโอกาสพบกัน จะยินดีมากค่ะ

  • ผ้าสวยมากเลยครับ
  • เพิ่งเคยเห็นปกติไม่ค่อยมีความรู้เรื่องผ้าเท่าไร
  • จำได้ว่าที่บ้านเมืองกาญจน์แถวๆๆหนองขาวมีผ้าขาวม้าร้อยสีครับ
  • ไม่ได้ไปดูนานแล้วครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ..พี่นุช

  • ป่วยกายไปบ้างเล็กน้อยค่ะ..เลยพึ่งกลับมาอ่านรายละเอียด
  • เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งเลยค่ะ..ว่าเมื่อเราได้รู้เห็นกระบวนการโดยละเอียด..แล้วทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของของมากยิ่งขึ้นมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็นของที่รูปลักษณ์ดูดี และกระบวนการก็คุณภาพ และปราณีตอย่างนี้
  • เห็นแล้วเกิดกิเลสมากๆค่ะ  ชอบจังเลยชิ้นซ้ายสุดนั่น...ชีวิตก็ไม่ค่อยจะได้ไปไหนต่อไหนด้วยตัวคนเดียวซะด้วย...ไม่เช่นนั้นคงตัดสินใจไปงานแน่ๆ...
  • เมื่อเช้าเล่นโยคะเหมือนเคยค่ะ..ฟังเพลงชุด นิพพานของคุณจำรัสประกอบ แล้วนึกถึงพี่นุช ค่ะ..ถ้าพี่นุชสนใจโยคะจริงๆ ..แหววจะส่ง CD ไปให้นะคะ...พร้อมเอกสารที่สรุปสั้นๆ ..จะได้ลองทำดู..อยู่กับธรรมชาติอยู่แล้ว..คงจะมีความสุขและเพลิดเพลินดีค่ะ..
สวัสดีค่ะคุณอุบลP ขอบคุณที่มาช่วยกันชื่นชมความงามของผ้านี้ค่ะ ถิ่นอีสานเป็นแหล่งอารยธรรมผ้า มีความงามที่แตกต่าง หลากหลาย คุณอุบลโชคดีจังนะคะที่อยู่ท่ามกลางความร่ำรวยนี้

สวัสดีค่ะคุณขจิต ผู้ชายส่วนมากก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องผ้าว่าเป็นแบบไหน มาจากไหน เอาเป็นว่ารู้ว่าสวย ว่าดี สามารถเลือกซื้อไปเอาใจแฟนได้ก็แล้วกันนะคะ

ผ้าขาวม้าร้อยสีที่หนองขาวเป็นอย่างไร หากว่างเก็บเรื่องมาเล่าให้ฟังบ้างซีคะ พี่จากบ้านเกิดมานาน ไม่ค่อยได้รู้เรื่องราวดีๆเท่าไหร่ ขอน้องเป็นผู้ช่วยเชื่อมกาลเวลาด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะน้องแหววP ไม่ทราบว่าป่วย ดีใจที่หายดีแล้วนะคะ

งานโอทอปนานๆจัดทีเช่นนี้น่าไปนะคะ จากอยุธยาขับรถไปยังไม่ถึงชั่วโมงเลย ชวนคุณแม่ไปซีคะ ท่านคงจะชอบ

ซีดี และหนังสือโยคะ มีเพียบเลยค่ะ แต่ยังไม่ได้ลงมือเล่นเลย รู้สึกทำคนเดียวมันไม่สนุก ไม่มีแรงจูงใจพอ ด้วยความขี้เกียจมีมากกว่า ขอบคุณค่ะที่น้องมีน้ำใจ

 

สวัสดีครับผมสนใจครามมากและมานานแล้ว ผมได้ฟังคนแก่ในหมู่บ้านเล่าว่าสมัยก่อนมีการย้อยครามแต่ตอนนี้ครามได้สูนหายไปจากหมู่บ้านเกือบ80ปีแล้ว   ผมอยากจะได้เมล็ดครามมาปลูกเพื่อศึกษา(บริเวณนี้ไม่มีต้นครามเหลืออยู่เลย)
ผมเป็นคนที่ อ.สูงเนิน จ.นคราชสีมา ตอนนี้ผมอยากได้เมล็ดครามมาก มาปลูกเพราะมีคนแก่ในหมู่บ้านที่ยังรู้วิธีทำคราม(แต่ไม่มีต้นครามเลย)ผมอยากจะขอเมล็ดครามจากคุณแม่ฑีตา หรือท่านใดที่มีเมล็ดคราม เพื่อเป็นการอนุรักษ์การย้อมคราม ในหมู่บ้านของผมไม่มีต้นครามใหญ่หรือครามย้อมเหลืออยู่เลย(และหาไม่มีเลย)มีแต่ต้นซ่าครามหรือชะครามที่ขึ้นอยู่มากแต่ต้นเหล่านี้ไม่สามารถที่ที่จะนำมาทำน้ำย้อมได้ (ผมจึงอยากขอเมล็ดครามจากท่านเพื่อเป็นการอนุรักษ์การทำผ้าย้อมครามขอขอบพระคุณมากครับ)ติดต่อ087-2475660ขอคุณครับ
ได้ตอบคุณณัฐพงษ์ไปแล้วนะคะ ที่จริงน่าได้คุยกับคุณออตด้วย เขาก็กำลังเพาะต้นครามอยู่ค่ะ
ครับ ขอบคุณครับ

เผอิญผ่านมาเห็นน่าสนใจ แลเข้าท่า เข้าทีดี

เลยเสียเวลาอ่าน แล้วก็ เป็นการเสียเวลาที่คุ้มค่าจริงๆ

ได้สาระประโยชยน์มากทีเดี๋ยว ทำให้รักผ้าย้อมคราม(ผ้าคาม ดั่งเดิมอีสาน) ขึ้นอีกโข

ผ้าของครูจิ๋วเน้นแต่ย้อมครามเป็นหลัก  แต่หากจะให้กว้างและเล่นลวดลายผ้าได้มากขึ้น ต้องเอาสีอื่นจากธรรมชาติมาผสมมากขึ้น

ไม่ทราบว่าสีนอกจากใบไม้ เปลือกไม้ ดินหินแล้ว เอาจากสนิมโลหะได้หรือไม่ ? คุณนายดร.กรุณาให้ความกระจ่างที

สวัสดีค่ะคุณแจ๋วไทบ้าน ขอบคุณที่เผอิญผ่านมา และแวะอ่านกันนะคะ

ที่จริงผ้าของคุณจิ๋วนั้น มีความหลากหลายมาก ทั้งการผสมเส้นใยธรรมชาติอื่นเข้าไป เช่นใยกัญชง และการใช้สีจากพืชชนิดอื่นๆย้อมเส้นใยสอดประสานได้สีที่แสนมีเสน่ห์ ลวดลายก็ได้มีการ ดัดแปลงตัดทอนให้น้อยหรือเล็กลง เหมาะกับการนำมาทำเสื้อผ้าของคนยุคสมัยนี้ค่ะ

ดิฉันไม่มีความรู้ด้านเทคนิคทั้งการทอและการย้อม หากสนใจจริงๆอยากแนะนำให้ได้คุยกับ รศ.อนุรัตน์ สายทอง แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ที่ดิฉันกล่าวถึงในเรื่องค่ะ

 

สวัสดีค่ะ คุณนายดร.

   มีข้อสงสัยประการหนึ่งว่า ทำไมครูจิ๋ว กะคุณหน้าเหมือนกันจังเลย ทั้งๆที่เกิดกันคนละภาคเลย

   ฉันเป็นลูกค้าครูจิ๋วมานานแล้ว เอาเงินตัวเอง เงินเพื่อนไปช่วยซื้อผ้าครูจิ๋วเป็นเลข 6 หลักหลายตัวแล้วกระมัง

   แต่ก็ไปหลงเสน่ห์ผ้าที่สะหวันเขด(สปป.ลาว)เหมือนกัน เป็นผ้าที่ญี่ปุ่นออกแบบลายให้ และจะหลากสีมากกว่าของครูจิ๋ว

   แต่เขาก็เน้นผ้าฝ้าย"เข็นมือ"ผ้าเลยหนา เหมาะกะเมืองหนาวเสียมากกว่า(ส่งออกญี่ปุ่นเป็นหลัก)

   ดีใจค่ะที่มีคนสนใจผ้าย้อมคราม และผ้าย้อมสีธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวอีสานจะได้ภูมิใจในความเป็นคนอีสาน ในบรรพบุรุษ ไงค่ะ

    

สวัสดีค่ะคุณ Noi (แจ๋วไทบ้าน) คุณจิ๋วและดิฉันดูหน้าคล้ายกันคงเพราะไว้ผมทรงเดียวกัน และนุ่งห่มผ้าครามเหมือนกันมังคะ

ดีใจที่ได้รู้จักผู้สนับสนุนภูมิปัญญาไทยค่ะ หากเราไม่ช่วยกันใช้ด้วยความชื่นชม รู้ค่า ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แล้วเราจะหวังให้ชาติไหนมาช่วยเราได้ โดยที่เรายังดำรงความรู้และความเคารพตนเองไว้ได้ ใช่มั้ยคะ

เรียน ดร.ยุวนุช

กำลังเตรียมสอนค่ะ หัวข้อ "ลักษณะนักส่งเสริมวิทยาศาตร์" พอรับหัวข้อมา (ช่วย น้องด็อกเดอร์เขาสอน 3 ชั่วโมงค่ะ)ภาพของ คร.ยุวนุช ผุดขึ้นในใจทันที จึงเข้าเวปมานี่แหละค่ะ จะเอาข้อมูลต่าง ๆ ไปเสนอนักศึกษา แล้วให้เขาดึงออกมาให้ได้ว่านักส่งเสิมวิทยาศาสตร์ต้องเป็นอย่างไร ขออนุญาตนะคะ แต่ที่เข้ามาคุยจะเรียนว่า ยังอยู่กับผ้าย้อมครามและยังชื่นชมภูมิปัญญาอันลึกล้ำของชาวบ้านอยู่ แต่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องส่วนตัว มีไม่กี่คน(รวม ดร.ยุวนุช)เท่านั้นรู้จริง รู้แจ้งเรื่องนี้ ด้วยยืนยันว่ายังอยู่กับผ้าย้อมครามจึงขอบอกข่าวว่า วันที่ 8 สิงหาคม 2551 นี้ จะจัดเสวนา หัวข้อ

"มาตรฐานผ้าย้อมครามสกลนคร" ที่ใช้ชื่อแคบ ๆอย่างนี้ก็ด้วยเหตุผลแคบ ๆ ว่ามีไม่กี่คนที่รู้แจ้งในผ้าคราม ผู้ที่มาคุยด้วยก็คือ คุณสงบัณฑิต จากสวันนะเขต คุณประสาท ตงศิริ นักธุรกิจรถจักรยานยนต์ แต่หลงใหลในความงามของวัฒนธรรมและผ้าย้อมคราม เป้าหมายผู้ฟังก็คือสมาชิกกลุ่มทอผ้าย้อมครามทั้งหมดของสกลนคร(ราว70 กลุ่ม)และยินดีอย่างยิ่งหากท่านอื่นสนใจ และร่วมเสวนา ที่ห้องดุสิตา โรงแรมภูพานเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หรือท่านรออ่านข้อมูลจากเวปไซต์ ศูนย์คราม คณะวิทย์ ม.ราชภัฏสกลนครก็ได้ค่ะ

เมื่ออ่านพบหลายท่าน มองภูมิปัญญาเป็นฐานชีวิตของชุมชน ก็เป็นกำลังใจที่จะดูแลภูมิปัญญของชุมชนในส่วนที่ตนเองทำได้ ขอบคุณ ดร. ยุวนุช ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในเรื่องนี้ โอกาสหน้าจะแวะมาอีกค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์อนุรัตน์ ที่ให้เกียรตินุชอย่างยิ่งเช่นนี้ค่ะ

การเสวนาน่าสนใจมากเลยค่ะ เสียดายจริงๆที่ติดอย่างอื่น เดี๋ยวจะลองจัดเวลาของตัวเองอีกที โอกาสเช่นนี้ไม่ได้หาง่ายๆเลยค่ะ อยากมาร่วมฟังด้วยจริงๆค่ะ

ที่อาจารย์เล่าถึงการสอน หัวข้อ "ลักษณะนักส่งเสริมวิทยาศาตร์" ทำให้คิดเชื่อมถึงสายวิชาการที่ตัวเองจบมาคือPublic Communication of Science and Technology และตอนนี้ก็ช่วย มรภ.สุรินทร์ทำหลักสูตรกลุ่มวิชา "การสื่อสารวิทยาศาสตร์" ในหลักสูตร "ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค" เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมากเลยนะคะ น่าจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้

คนสกลแต่มาอยู่อุบล ชอบผ้าครามมากสะสมอยู่หลายผืนทีเดียว ดีใจที่สกลมีอะไรดีๆเยอะ หากลมหายใจอยู่จะกลับไปเป็นคนสกลจนวันตายยยยยยย

ค่ะ เป็นคนสกลนครตั้งแต่เกิด มาเรียนกรุงเทพด้านศิลปะ ออกแบบเครื่องประดับค่ะ ตอนนี้ขายงานให้ต่างชาติส่วนใหญ่ เพราะขายคนไทยที่ไร เสียใจจัง เพราะว่า คนไทยเอง มองงานออกแบบเป็นเรื่องแพง ทั้งๆที่ได้จับต้อง ได้เข้าใจภาษา แต่เรากลับดูถูกกันเองซะงั้น สนใจและได้นัดกับสาวภูไทเหมือนกันเอาไว้ จะไปชมความงดงามที่เรามองข้ามจ้ะ

มันทิราลัย ชัยะโสตถิ

ลืมแนะนำตัวเองค่ะ ชือมันทิราลัย ชื่อเล่น โคล่าค่ะ ตอนนี้สินค้าชิ้นใหม่จะใช้ฝ้ายย้อมธรรมะชาติ ลองแวะดูงานออกแบบของเราได้ค่ะที่ www.montira.weloveshopping.com ค่ะ ชื่อดูฝารั่ง แต่เป็นสาวภูไท ค่ะ

วันพรุ่งนี้ 29 สิงหาคม 2553 เป็นวันสุดท้ายงานโอทอป ชิม ชม ช้อป ค่ะ ได้ไปวันแรก พบกับจิ๋วและพี่แขก(สามีจิ๋ว)ด้วยอุดหนุนกันนิดหน่อยค่ะ งานใหญ่เสียดายไม่ได้มาแจ้งข่าวชวนกันไปชม เพราะหมู่นี้งานมากอยู่ไม่ค่อยติดบ้านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท